“การจัดการของภาครัฐในลักษณะนี้ อาจส่งผลกระทบต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า และเพิ่มความรุนแรงความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่ามากยิ่งขึ้น” คือข้อกังวลของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กับกรณี #Saveทับลาน
2-3 วันที่ผ่านมานี้ เราอาจได้เห็น #Saveทับลาน บนโซเชียลมีเดีย ซึ่งพูดถึงกรณีที่มีการรับฟังความเห็นว่าจะปรับปรุงพื้นที่แนวเขต ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ เพื่อให้เป็นไปตามแผนที่ ONE MAP หรือกล่าวโดยง่ายคือเป็นการ ‘เฉือน’ พื้นที่ของอุทยานฯ ถึง 2.6 แสนไร่ ให้กลายเป็นของ ส.ป.ก.
แล้วจริงๆ มันเกิดอะไรขึ้น การเพิกถอนฯ นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และมีรายละเอียดอะไรบ้าง? The MATTER ชวนไปทำความเข้าใจกัน
- อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นอุทยานแห่งชาติในภาคอีสานและภาคตะวันออก ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติโดยยูเนสโก ภายใต้ชื่อ ‘กลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ตั้งแต่ปี 2548 จากการมีความหลากหลายทางชีวภาพ
- ปัญหาเริ่มต้นจากการที่ ‘แผนที่’ ของ 2 หน่วยงานไม่ตรงกัน ทำให้พื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติทับลานทับซ้อนกัน จนเกิดข้อขัดแย้งว่าพื้นที่นั้นเป็นของใครกันแน่ ระหว่าง สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ซึ่งระบุว่าเป็นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาทำกินได้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ซึ่งระบุว่าเมื่อเป็นเขตอุทยาน ชาวบ้านไม่สามารถเข้ามาได้ จนกลายเป็นปัญหา ‘ที่ดินทำกิน’
- ด้วยข้อขัดแย้งนี้ ทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ให้ใช้ ‘ONE MAP’ หรือการปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี 2543 เป็นแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 เพื่อให้เป็นแผนที่ดิจิทัลที่ให้ทุกหน่วยงานราชการใช้ร่วมกัน
- รายละเอียดในการปรับปรุง คือการปรับแนวเขตที่ครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ใน อ.ปักธงชัย อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี รวมเนื้อที่ 265,266 ไร่ โดยให้เปลี่ยนเนื้อที่อุทยานฯ ดังเกล่าวให้เป็นของ ส.ป.ก. ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านมีสิทธิถือครองที่ดิน และส่งต่อเป็นมรดกแก่ทายาทได้
- กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช จึงเริ่มเปิดรับฟังความเห็นในการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ตั้งแต่วันที่ 28 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2567 เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาเพื่อดำเนินการ ซึ่งหากมีการปรับปรุงตามแนวเขตใหม่จริง จะส่งผลให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดน้อยลงไป 265,266 ไร่
- จากการรับฟังความเห็นของชาวบ้านในพื้นที่เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ปรับแนวเขตใหม่เพราะมีปัญหาเรื่องเขตทำมาหากินมานาน
- ก่อนหน้านี้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้มีแนวทางแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนอยู่แล้ว โดยเฉพาะกลุ่มชาวบ้านในเขตป่าทับลานที่เป็นพื้นที่ทับซ้อน ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562 มาตรา 64 ระบุให้ชาวบ้านอยู่อาศัยและทำกินได้ตามกรอบกฎหมายแต่ไม่มีสิทธิถือครองที่ดิน ดังนั้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงเห็นว่าการจะแก้ที่ดินแบบเหมาเข่งเช่นนี้ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสม
- ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการให้เพิกถอนพื้นที่ฯ จึงมีดังนี้ อาจผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ เพราะจะเป็นการรุกล้ำป่าสงวนหลายพื้นที่ รวมเนื้อที่กว่า 164,960 ไร่, ขณะนี้ยังมีคดีเกี่ยวกับพื้นที่ดังกล่าวที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ รวม 495 คดี การให้เพิกถอนพื้นที่ฯ จึงอาจกระทบต่อรูปคดีได้, เป็นการเอื้อให้นายทุนเข้ามาซื้อขายเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท บ้านพักตากอากาศ ซึ่งปัจจุบันก็มีคดีที่มีผู้บุกรุกมาสร้างสิ่งปลูกสร้างเหล่านี้อยู่ด้วย,กระทบต่อการเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ, กระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะเปิดโอกาสให้ใช้ประโยชน์จากที่ดิน โดยขุด ถม อัด ตัดไม้ และยังลิดรอนพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า
- ภานุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร แสดงความกังวลว่า หากการเพิกถอนฯ สำเร็จ ก็อาจกลายเป็นแนวทางที่ทำให้เกิดการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งอื่น ๆ อีก ในเมื่อพื้นที่อื่นๆ ก็มีราษฎรที่อ้างว่าขาดแคลนที่ดินทำกินเช่นกัน
- มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงออกมาคัดค้านการเพิกถอนฯ และประชาชนบนโซเชียลมีเดียได้ร่วมเชิญชวนให้คนลงชื่อ ‘ไม่เห็นด้วย’ กับการเพิกถอนฯ ด้วยกังวลว่าหากการเพิกถอนฯ สำเร็จ คนที่ได้ประโยชน์จะไม่ใช่ประชาชน หากแต่เป็นนายทุนหรือกลุ่มทุนต่างประเทศที่จะเข้ามาสร้างสิ่งปลูกสร้าง เพื่อประโยชน์ทางผลกำไรในพื้นที่อุทยานฯ นี้ และประเทศไทยจะสูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 3 แสนไร่นี้ อันเป็นการสูญเสียพื้นที่ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุดในรอบ 10 ปี
- หลังจากนี้จึงต้องติดตามผลการรับฟังความคิดเห็น ที่คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติจะพิจารณาถึงแนวทางดำเนินการต่อต่อไป โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 1-2 เดือนนี้
- กลุ่มผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการเพิกถอนฯ ได้ทางช่องทางของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ทางเว็บไซต์ https://docs.google.com/forms/d/e/1FAIpQLSdOxZiTKKlqQFEBS_NHMbJ0wsBlkV9s8GNTrh9znEVsaGCnyg/viewform?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR1sJF2KLABS1h7X_QFmTUOYau065UBeOQWzLJGrc2kM4JJi9Ta5iToWd3s_aem_BmAqkOtGpIg92DJLA7y2bg&pli=1
อ้างอิงจาก