“ผมคิดว่าป่าไม้จะอยู่ได้ คนจะต้องอยู่ได้ก่อน เพราะว่าคนที่ด้อยโอกาสในสังคม เขาไม่สามารถจะไปเรียกร้องอะไร เขาไม่มีอำนาจ คนเหล่านี้อยู่กับธรรมชาติ ผมคิดว่าป่าจะอยู่หรือจะไป อยู่กับคนกลุ่มนี้ด้วย” – สืบ นาคะเสถียร
กรณี #Saveทับลาน กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงมากที่สุดบนโซเชียลมีเดียในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา ซึ่งมาจากกรณีการรับฟังความเห็นจะปรับปรุงพื้นที่แนวเขต ‘อุทยานแห่งชาติทับลาน’ โดยปรับพื้นที่ของอุทยานฯ ประมาณ 2.6 แสนไร่ ให้กลายเป็นของ ส.ป.ก. ซึ่งจะทำให้ชาวบ้านในพื้นที่มีสิทธิถือครองที่ดินและส่งต่อเป็นมรดกให้แก่ทายาทได้
คนจำนวนมากจึงออกมาแสดงความกังวลว่าอาจเป็นการ ‘เฉือนพื้นที่ป่า’ จนส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม และถึงที่สุดคือความกังวลว่าชาวบ้านจะขายที่ให้นายทุน และป่าจะกลายเป็นพื้นที่เพื่อผลประโยชน์ของนายทุนที่จะนำไปสร้างอสังหาริมทรัพย์เผื่อกำไรของตนเอง
อีกด้านหนึ่งก็มีนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน และนักเคลื่อนไหวบางส่วนออกมาพูดถึง ‘ข้อเท็จจริง’ ที่ว่า พื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนมาก่อนที่อุทยานฯ จะเข้ามาขีดเส้นเขตแดนแล้วทำให้ชาวบ้านที่อยู่มาก่อนต้องได้รับผลกระทบเดือดร้อน และต้องเรียกร้องสิทธิในที่อยู่อาศัยและที่ทำกินของตนกลับคืนมา
ท่ามกลางกระแสมากมายที่เรียกร้องให้ #Saveทับลาน The MATTER จึงติดต่อพูดคุยกับ ดร.สุรินทร์ อ้นพรม นักวิชาการอิสระ ผู้เชี่ยวชาญด้านวนศาสตร์ เพื่อทำความเข้าใจประเด็นนี้ในมุมมองวิถีชีวิตของคนในชุมชน เพื่อหาคำตอบของการอยู่ร่วมกันระหว่าง ‘คน’ กับ ‘ป่า’ ไปด้วยกัน
“ต้องแยกเป็น 2 เรื่องให้ชัดเจนคือ ข้อเท็จจริงที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ และอีกประเด็นที่สังคมกังวลเรื่องนายทุนจะเข้าไปซื้อที่ทำรีสอร์ท” สุรินทร์ระบุว่าจากกระแสที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดียในตอนนี้ เป็นการนำปัญหาคนละอย่างมาปะปนกัน อันเกิดจากการที่ภาครัฐไม่ได้ให้ข้อมูลที่ชัดเจนว่าสถานการณ์จริงในพื้นที่เป็นยังไง
ก่อนอื่น เพื่อให้เข้าใจเรื่องราวความข้อขัดแย้งตั้งแต่เริ่มต้น สุรินทร์เท้าความย้อนกลับไปเมื่อปี 2524 ขณะนั้นกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ประกาศเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานโดยทับซ้อนกับที่ดินทำกินของชาวบ้านชาววังน้ำเขียว ซึ่งสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ประกาศไว้ก่อน และมีชาวบ้านอาศัยอยู่จนเป็นชุมชน
สุรินทร์อธิบายว่า การประกาศเขตทับซ้อนกันนี้เกิดจากการที่เมื่อภาครัฐต้องการกำหนดแนวเขต ส่วนใหญ่จะขีดบนแผนที่โดยไม่ได้ไปสำรวจพื้นที่จริง จึงกลายเป็นว่าชุมชนที่อยู่มาก่อนต้องติดอยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ เป็นเหตุให้ชาวบ้านเรียกร้องขอคืนสิทธิของตัวเองมาแล้วกว่า 24 ปี นับตั้งแต่ปี 2543
ผลกระทบประการสำคัญที่ชาวบ้านต้องเผชิญ คือการที่เดิมทีกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่มักจะทำเกษตรแบบไร่หมุนเวียน แต่เมื่อรัฐประกาศที่ทับ ชาวบ้านก็ไม่สามารถหมุนพื้นที่ทำการเกษตรแบบเดิมได้อีกต่อไปเพราะต้องจำกัดการใช้พื้นที่ แม้นโยบายนี้จะมองว่าเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องการใช้ที่ดินป่าอนุรักษ์ แต่กลับกลายเป็นวิธีที่ทำลายทั้งสิ่งแวดล้อม และทำลายวิถีชุมชน
จากเดิมที่ทำไร่หมุนเวียน เป็นระบบธรรมชาติที่ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีใดๆ ทั้งปุ๋ย หรือยาฆ่าแมลง แต่เมื่อจำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นการทำไร่คงที่ จึงต้องปลูกพืชเชิงเดี่ยว และจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าแมลงและปุ๋ยเคมี
ไม่เพียงเท่านั้น เพราะการทำการเกษตรไร่หมุนเวียนไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการหากิน แต่ยังมีวัฒนธรรมที่ผูกโยงชุมชนไว้ด้วยกัน เช่น การไหว้พระแม่โพสพหลังจากสิ้นสุดฤดูปลูกข้าว ดังนั้นถ้าหากชุมชนไม่สามารถทำตามวิถีไร่หมุนเวียนดั้งเดิมได้อีกต่อไป วิถีที่ผูกพันไว้นี้ก็อาจเลือนหายได้เช่นกัน
ด้วยผลกระทบเหล่านี้ ทำให้หลัง #Saveทับลาน เป็นกระแส ได้มีคนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิคนชาติพันธุ์ออกมาเชิญชวนให้มองอีกด้าน ว่า ‘คนกับป่า’ สามารถอยู่ร่วมกันได้ และไม่ได้แปลว่าชาวบ้านจะต้องทำลายพื้นที่ป่าเสมอไป
แล้วอะไรทำให้คนออกมาต่อต้านเรื่องนี้? สุรินทร์อธิบายว่าข้อกังวลสำคัญที่ทำให้เรื่องนี้กลายเป็นกระแส คือประชาชนกลัวว่าพื้นที่ป่าจะตกไปอยู่ในมือของ ‘นายทุน’ ที่จะกว้านซื้อที่และนำไปสร้างรีสอร์ทหรือบ้านพักตากอากาศ ซึ่งเขาย้ำก่อนเริ่มอธิบายว่า “ในสถานการณ์จริง มีนายทุนที่คอยฉวยโอกาสในเรื่องพวกนี้อยู่จริง แต่เรื่องนี้มีความซับซ้อน เราต้องแยกเรื่องสิทธิของชาวบ้านในที่ดิน และปัญหาเรื่องนายทุนเข้าไปใช้พื้นที่ออกจากกัน”
กระบวนการที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือนายทุนใช้ ‘นอมินี’ (nominee คือ ผู้ที่ใช้ชื่อทำสิ่งต่างๆ แทนเจ้าของตัวจริง) ในการซื้อที่และเข้าใช้พื้นที่เพื่อผลประโยชน์ แต่สำหรับพื้นที่ในประเด็นที่เกิดขึ้น หากถูกเปลี่ยนให้เป็นของ ส.ป.ก. ก็มีข้อกำหนดที่ชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องใช้เพื่อทำเกษตรกรรมเท่านั้น ดังนั้นหากมีนายทุนเข้าใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด ทางกฎหมายก็สามารถยึดที่ดินกลับคืนเป็นของรัฐได้
ดังนั้น ปัญหาจึงอยู่ที่ภาครัฐซึ่งมีหน้าที่ต้องติดตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา “เป็นปัญหาที่ต้องแก้ในระดับนโยบาย เรื่องการแก้ไขนี้ควรเป็นกระแสมากกว่าที่จะกล่าวโทษว่าชาวบ้านได้ที่แล้วจะไปขายนายทุนทันที” สุรินทร์กล่าว เพราะการแก้ระดับโครงสร้างจะยั่งยืนกว่าการไล่บี้กับนายทุนทีละรายๆ เท่านั้น
สำหรับข้อกังวลเรื่องผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุรินทร์เห็นว่า “ไม่จำเป็นว่าเพิกถอนแล้วป่าจะต้องเสื่อมโทรมแน่ๆ และพื้นที่ตรงนี้มีการทำการเกษตรอยู่แล้ว” โดยจะเห็นว่าพื้นที่ที่จะทำการเพิกถอนนั้นไม่ใช่ผืนป่า หากแต่เป็นชุมชนที่มีคนอาศัยอยู่และทำมาหากินอยู่จริง นี่จึงไม่ใช่การ ‘เฉือนป่า’ อย่างที่เข้าใจกัน และสภาพเขตป่าในบริเวณนั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป จึงจะขึ้นอยู่กับข้อกำหนดในการใช้พื้นที่
“รูปแบบการจัดการในแต่ละพื้นที่ จะต้องไม่แค่มองว่ามันเป็นป่าสงวน เป็นอุทยาน เพราะการจัดการพื้นที่ยังมีความรู้ที่ทำให้จัดการได้หลากหลาย” สุรินทร์อธิบายถึงการจัดการป่าร่วมกันระหว่างภาครัฐกับประชาชน เพราะปัจจุบันยังขาดมุมมองแบบภาพรวมกันอยู่มาก และไม่มีความรู้ที่ยืดหยุ่นในการจัดการปัญหา ซึ่งไม่ใช่เพียงพื้นที่อุทยานฯ ทับลานเท่านั้น ยังมีพื้นที่อื่นๆ ที่พบปัญหาแบบเดียวกันอีก
ดังนั้น การจะมองเรื่อง ‘คนกับป่า’ จึงต้องหาวิธีการแก้ไขและอยู่ร่วมกันในระยะยาว ในฐานะที่สุรินทร์ทำงานด้านนี้ในบทบาทนักวนศาสตร์ เขาพบว่าชุดความรู้ยังวนอยู่ที่เดิม ยังคงเป็นวาทกรรมเดิมๆ ว่า ‘คนจนทำลายป่า’ หรือ ‘สิทธิเหนือพื้นที่ป่าต้องเป็นของรัฐเท่านั้น’ ชุดความรู้เหล่านี้จึงถูกขยายออกให้เห็นภาพกว้างมากยิ่งขึ้น ทั้งการจัดการพื้นที่ป่า ที่ดิน และสัตว์ป่า ให้มีการบูรณาการ เพราะไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะยังคงวนเวียนอยู่ที่เดิมไม่ว่าจะออกนโยบายมากี่ชุดก็ตาม
สำหรับคำถามว่าในฐานะประชาชนคนทั่วไป ควรแสดงความเห็นอย่างไรกันแน่ หรือควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้บ้าง? สุรินทร์เห็นว่า สิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ที่ไม่ควรมีใครถูกจำกัดสิทธิ แต่กลไกการแสดงความคิดเห็นควรมีความเหมาะสม จากแบบสอบถามบนอินเทอร์เน็ตที่เห็นนั้น จะพบว่าคำถามยังมีความกำกวม ขาดข้อมูลที่ชัดเจนและไม่ถูกย่อยออกมาให้คนเข้าใจได้ง่าย
“เราไม่โทษใครที่ #Saveทับลาน เพราะเขามีเจตจำนงค์ที่ดีที่อยากรักษาป่า”
สุรินทร์กล่าวสรุปถึงกระแสสังคมในตอนนี้ พร้อมเน้นย้ำว่าปัญหาสำคัญคือการขาดการสื่อสารอย่างครบถ้วนจากภาครัฐ ทำให้คนก็ตัดสินใจตามข้อมูลที่ได้รับมา ซึ่งอาจเป็นการสื่อสารที่ใช้เป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม ดังนั้นเพื่อให้ประชาชนเข้าใจความเป็นไปของประเด็นต่างๆ อย่างรอบด้าน ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญที่จะต้องสื่อสารให้คนเข้าใจความเป็นไปที่แท้จริง และตัดสินใจในประเด็นที่มีความสำคัญกับชีวิตของตนเองและต่อประเทศได้