ถ้าอยู่ในหนังสยองขวัญหรือเรื่องเล่าโบราณ คืนนี้จะต้องนำไปสู่ตอนสำคัญ เป็นช่วงเวลาที่เหล่าพ่อมดแม่มดหรือปีศาจทรงพลังที่สุด เมื่อดวงจันทร์จะกลายเป็นสีแดง – หรือที่เรียกว่า Blood Moon ชื่ออาจฟังดูน่ากลัว แต่จริงๆ เป็นปรากฏการณ์ที่เราเรียกกันว่า จันทรุปราคา เป็นช่วงเวลาที่ดวงจันทร์โคจรอยู่ในระนาบเดียวกันกับเงาของโลก ในเงานั้นดวงจันทร์จะได้รับแค่แสงสีแดงซึ่งเป็นคลื่นที่ยาวที่สุด ทำให้เรามองเห็นพระจันทร์เป็นสีอิฐ
อย่าเพิ่งตกใจว่าจะเป็นอาเพศ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) บอกว่าคืนนี้ (31 มกราคม 2561) ในช่วงเวลา 19:51 น. – 21:07 น. บ้านเราจะสามารถมองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงได้นานเกือบชั่วโมง และสามารถเห็นได้จากทุกพื้นที่ของประเทศ
การคราสของพระจันทร์ ดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงาของโลกในช่วงเวลา 17.51 น.และเกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในช่วง 18.48 น. ก่อนที่จะเข้าคราสเต็มตัวในช่วงเวลา 19:51 น. – 21:07 น. ตั้งนาฬิกาเตรียมเงยหน้าดูพระจันทร์สีเลือดกันได้เลย
ก่อนที่เราจะรู้จักการคราสในฐานะปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ลองนึกภาพอยู่ๆ พระอาทิตย์ดับ พระจันทร์กลายเป็นสีแดง คนโบราณจึงมักโยงเหตุการณ์ดังกล่าวเข้ากับอาเพศและหายนะที่กำลังจะมาถึง ในพระคัมภีร์ในศาสนาคริสต์เองก็พูดถึงการเกิดคราสในฐานะส่วนหนึ่งของวันสิ้นโลก มีคำนายที่เกี่ยวกับการเกิดพระจันทร์สีเลือดถึงความเกี่ยวข้องในการกลับมาของพระเยซู
จริงๆ เดือนมกราคมของปี 2561 นี้ ถือเป็นเดือนพิเศษที่เกิดปรากฏการณ์ครบครันของพระจันทร์บนท้องฟ้า คือนอกจากคืนนี้ที่จะมีพระจันทร์สีเลือดตะวันแดงแล้ว ยังเป็นเดือนที่พระจันทร์สีน้ำเงิน (Blue Moon) อีกด้วย เจ้าปรากฏการณ์พระจันทร์สีน้ำเงินคือการที่ในหนึ่งเดือนเกิดพระจันทร์เต็มดวงสองครั้ง (ปกติจะเกิดครั้งเดียวตามรอบของดวงจันทร์ – เราตั้งปฏิทินตามวงจรของดวงจันทร์ (จันทรคติ) – เราถึงเรียกว่า ‘เดือน’ ไงล่ะ ซึ่งในเดือนนี้เกิดพระจันทร์เต็มดวงไปในวันที่ 1 และในคืนวันที่ 31 แถมความพิเศษสุดคือ ในคืนที่เกิดจันทรุปราคาเป็นคืนที่ดวงจันทร์เคลื่อนใกล้โลกมากที่สุดทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ใหญ่กว่าปกติ(เล็กน้อย)
Super Moon ในคืนนี้ จึงถือว่าเป็น Super Blue Blood Moon คือพระจันทร์สีเลือดระดับซูเปอร์ เรียกว่าเป็นทุกอย่างยิ่งกว่าเพลง Room39
ดังนั้นวันนี้จึงเป็นโอกาสเหมาะให้เราแหงนหน้าดูฟ้า ไม่ว่าเราจะเป็นคนที่ชอบเรื่องความเชื่อ หรือชอบเรื่องวิทยาศาสตร์ก็ตาม ถ้าใครอยากจะสังเกตการณ์แบบชัดๆ พร้อมความรู้ ทางสถาบันวิจัยฯ จัดกิจกรรมเพื่อดูพระจันทร์ 4 จุดคือ ลานหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล เชียงใหม่, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา, หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติฯ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ ลานชมวิวนางเงือก หาดสมิหลา จังหวัดสงขลา
ไม่ธรรมดาเนอะ พระจันทร์สีฟ้าสีแดง
อ้างอิงข้อมูลจาก