คำอธิบายสำหรับจันทรุปราคามีทั้งในมุมมองความเชื่อและวิทยาศาสตร์
ในทางวิทยาศาสตร์บอกว่า จันทรุปราคาเกิดขึ้นจากเมื่อโลกบดบังแสงจากดวงอาทิตย์ไม่ให้ไปสะท้อนบนดวงจันทร์ แต่ก่อนหน้าที่เราจะมีข้อมูลนี้ ความเชื่อทางปกรณัมพราหมณ์ฮินดูเชื่อเกี่ยวกับเหตุการณ์นานๆ ครั้งจะเกิดนี้มาจากตำนานของพระราหู
พระราหูเป็นอสูรผู้รู้ทันแผนการเอาเปรียบโดยเทพเทวดาในพิธีการกวนน้ำอมฤติ เขาจึงมีแผนการปลอมตัวเป็นเทพเข้าแถวดื่มน้ำอมฤติด้วย แต่ด้วยความไม่รู้ธรรมเนียมปฏิบัติของเหล่าเทพเวลาดื่มทำให้พระอาทิตย์และพระจันทร์จับได้และฟ้องพระนารายณ์เข้า ทำให้พระราหูโดนหั่นครึ่งตัวโดยพระนารายณ์ แต่ด้วยความที่ดื่มน้ำอมฤติเข้าไปผสมกับความเคียดแค้นที่มีต่อพระอาทิตย์และพระจันทร์ นานๆ ครั้งเมื่อท่อนบนและล่างของพระราหูปะเข้ากับเทพทั้งสอง พระราหูจะนำทั้งสองไปอมเล่น
จากสายความเชื่อทางโหราศาสตร์หลายๆ สายบอกว่าในวันที่มีจันทรุปราคาเต็มดวงเช่นนี้ห้ามออกจากบ้าน ห้ามชี้ ห้ามโดนแสงจันทร์ ถ้าต้องออกต้องท่องบทสวด ห้ามโดนฝน ห้ามออกไปลอยกระทงในค่ำคืนแบบนี้ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าในหลายๆ สายความเชื่อมองว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุแง่ลบ ‘ช่วงเวลาอาถรรพ์อุบาทว์’ ที่จะมีผลระยะยาวต่อชีวิตของคนที่ตกอยู่ภายใต้ปรากฏการณ์นี้
และเมื่อพูดถึงเหตุการณ์อาถรรพ์ที่นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลระยะยาวต่อชีวิตเรา ใครจะห้ามใจไหวที่จะไม่เอาราหูมาเชื่อมโยงกับอาถรรพ์ในชีวิตประจำวันของพวกเรา?
มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก อมยอดรีช
ทำคอนเทนต์กันมือแทบหงิก อาจจะทั้งถ่ายรูป คิดแคปชั่น ตัดต่อวิดีโอ ทำกราฟิกแทบตาย แต่ทำไมเหมือนว่าในโลกเฟซบุ๊กที่เราเชื่อมโยงกับใครๆ ก็ได้เหมือนไม่มีใครเห็นอะไรที่เราทำเลย? ไม่ใช่แค่กับนักทำคอนเทนต์ แต่สำหรับบางคนแทบไม่เห็นเรื่องราวของคนที่เป็นเพื่อนกัน แต่ทั้งไทม์ไลน์เต็มไปด้วยโฆษณา ฟังก์ชั่นวิดีโอสั้นๆ หรือจากกลุ่มและเพจที่เราไม่ได้ไลก์ไม่ได้เป็นสมาชิกด้วยซ้ำ
สำหรับหลายๆ คน หน้าเฟซบุ๊กทำหน้าที่เหมือนเว็บเพจส่วนตัวของเรา และการเปลี่ยนแปลงอันไม่รู้จบของเฟซบุ๊กนี้อาจส่งผลระยะยาวถึงรูปแบบและโฟกัสของการทำคอนเทนต์โดยรวมของพวกเขาเลยก็ได้
ประยุทธ์ อมประเทศไทย
นึกออกรึเปล่าว่า เมื่อปี 2557 เราทำอะไรกันอยู่? ถ้าเป็นเด็กมัธยมปลายตอนนี้เราก็เรียนจบทำงานกันหมดแล้ว หรือถ้าเป็นผู้ใหญ่วัยทำงานเราย้ายงานมากี่ที่? ถ้าใครมีลูกในปีนั้น ตอนนี้เขาอายุ 8 ปีโดยไม่เคยเห็นสภาพบ้านเมืองในรูปแบบอื่นมาก่อนเลย ถ้าเป็นประเทศไทยเป็น ‘จันทร์’ ต้องบอกเลยว่าน่าจะโอชามากๆ เพราะอมมาแล้วแปดปี ความเปลี่ยนแปลงและความไม่เปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเวลาเหล่านั้นพาประเทศเราไปหรือไม่ไปที่ตรงไหนบ้าง?
กองงาน อมเวลาพัก
เหมือนกับเงาก้อนใหญ่ที่บดบังดวงจันทร์ บางครั้งคราวเงาอันยิ่งใหญ่ของกองงานก็บดบังเวลาพักอันน้อยนิดของเรา โดยเฉพาะเดือนไร้วันหยุดแบบนี้ การไม่มีคนมาบังคับให้หยุดพักพ่วงเข้ากับกองงานขนาดใหญ่และเดดไลน์แน่นขนัดก็ทำให้การพักดูเป็นเรื่องรองไปเลย
การทำงานโดยไม่พักนั้นนอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานให้ลดลงแล้ว ผลระยะยาวของมันลบตั้งแต่ร่างกาย เช่น ตารางการนอนที่พังทลาย ความดันเลือดสูง ระบบการย่อยอาหารทำงานไม่เป็นปกติ หรือทางใจ เช่น ความเครียดสะสม ความสามารถในการการตัดสินใจที่ลดน้อยลง ความสร้างสรรค์ที่หดหาย ฯลฯ ฉะนั้นการพักผ่อนเป็นเรื่องจำเป็น อย่าปล่อยให้จำนวนงานตรงหน้าบดบังมันทั้งหมด เพราะในนัยหนึ่งการหยุดพักอาจทำให้เราขจัดมันได้อย่างรวดเร็วกว่าก็ได้
บัตรคอนเสิร์ต อมเงินในกระเป๋า
ต่างจาก 2 ปีที่แล้วที่โลกเหมือนรกร้างคอนเสิร์ต ในปี 2565 เราแทบจะไม่สามารถหลุดรอดจากการประกาศขายบัตรได้เลยไม่ว่าจะสายไหน เคป๊อป ทีป๊อป อัลเทอร์เนทีฟ ฮิปฮอป ร็อค ฯลฯ แต่มากับจำนวนคอนเสิร์ตที่มากันแบบไม่ยั้ง ก็มาพร้อมกันกับวันกดบัตรที่กระชั้นชิดไม่เหลือเวลาให้ตัดสินใจหรือเก็บออม และราคาบัตรเองก็ทำเอาเหวอเผลอพูดกับตัวเองว่า ‘อันนี้ราคากดเองหรือซื้อต่อน้อ?’ อยู่บ่อยครั้ง
ผลระยะยาวอาจไม่เท่ากับข้ออื่น แต่ที่แน่ๆ เดือนที่ต้องกดบัตรก็อดออกไปเที่ยวกับเพื่อนและซื้อของปรนเปรอตัวเองแล้วแหละ
เวการ์ ‘อม’ อาร์แร็กซ์
*เนื้อหาส่วนนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของซีรีส์ The House of Dragon
ใน The House of Dragon นอกจากเราจะได้ไปรู้จักกับราชวงษ์ ฝักฝ่าย ระบบการเมือง บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์และความสัมพันธ์ของพวกเขา อีกหนึ่งจุดขายของซีรีส์ที่โฟกัสอยู่กับบ้านทาร์แกเรี่ยน นอกจากการตั้งชื่อที่งุนงงก็คือมังกรจำนวนมากในยุคสมัยนั้นๆ และแม้ว่าตลอดทั้งซีซั่น มังกรน้อยใหญ่จะทำหน้าที่เป็นฉากหลังอลังการให้กับเรื่องเสียมากกว่า เราก็ได้เห็นมังกรสู้มังกรครั้งหนึ่งในซีนไคลแม็กซ์ของเรื่อง
เวการ์ (Vhagar) มังกรตัวใหญ่ที่สุดในขณะนี้ที่มีผู้ขี่เป็นเอมอนด์ ทาร์แกเรียนไล่ล่ากับมังกรตัวน้อยอาร์แร็กซ์ (Arrax) ของลูเซริส เวลาเรี่ยน นำไปสู่ความตายของมังกรตัวเล็กและผู้ขี่ของมัน ความตายนี้เกิดขึ้นในตอนสุดท้ายของเรื่อง และ The House of Dragon จบลงด้วยซีนที่เรนีร่า ทาร์แกเรียนรับรู้ถึงความตายของลูกชายคนที่สองของตัวเอง ต้องรอดูกันแล้วว่าซีซั่นถัดไปเหตุการณ์นี้จะนำไปสู่ผลกระทบระยะยาวแบบไหน
กระทง อมแม่น้ำ
และเพื่อวกกลับมายังเทศกาลลอยกระทงใต้วันจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ สถิติโดยสำนักประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานครพบว่าแม้ในเวลา 10 ปีที่ผ่านมาจำนวนกระทงที่เก็บได้จากแม่น้ำต่างๆ นั้นลดน้อยลงเรื่อยๆ เช่น ในปี 2562 พบกระทงทั้งสิ้น 502,024 ใบ ปี 2563 พบกระทง 492,537 ใบ และล่าสุดปี 2564 พบกระทง 403,235 ใบ จำนวนดังกล่าวก็ยังเป็นจำนวนที่สูงมากอยู่ดี
และแม้ว่ากระทงเหล่านั้นโดยมากจะทำมาจากวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนมาก ไม่ได้แปลว่ามันจะส่งผลดีต่อแม่น้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการย่อยสลายกระทงตามรูปแบบวัสดุพบว่า ‘กระทงจากวัสดุธรรมชาติ’ เช่น กระทงขนมปังที่ใช้เวลาย่อยสลายราวๆ 2-5 วันและกระทงจากต้นกล้วย ใบตอง กะลามะพร้าวใช้เวลาย่อยสลายราวๆ 14 วัน ทั้งหมดทำให้แหล่งน้ำเน่าเสียทั้งสิ้น นอกจากนั้นวัสดุอนินทรีย์ เช่น โฟมก็ใช้เวลานาน 50 ปีในการย่อยสลาย
แม้จะเป็นวัฒนธรรมที่มีมาอย่างยาวนาน การปล่อยให้กระทงอมแหล่งน้ำนี้คือการสร้างขยะที่ทำลายแหล่งน้ำนั้นๆ ด้วยเหตุผลในการ ‘ขอขมา’ พระแม่คงคา ซึ่งโดยอย่างไม่ต้องกังขามันสามารถส่งผลเสียระยะยาวต่อสิ่งแวดล้อมแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก