อีกสัก 20 30 หรือ 50 ปี อนาคตของประเทศไทยจะมีหน้าตาเป็นยังไงกันนะ? ด้วยข้อมูล ประสบการณ์ หรือความคิดเห็นต่างๆ เราอาจจะพอตอบคำถามและวางแผนต้อนรับอนาคตที่พอจะคาดเดาได้ แต่ก็คงมีอีกหลายอย่างที่ต้องอาศัยการพูดคุยและการร่วมลงมือทำของคนในสังคมด้วย นั่นคือสิ่งที่เวที TEDxChiangMai ปีนี้ชวนให้รับฟังและแลกเปลี่ยน ภายใต้ธีม ‘Our Common Future’
The MATTER ได้มีโอกาสไปร่วมงานทอล์กที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา บอกเลยว่ามีเรื่องอยากเล่าให้ฟังเยอะม๊ากกก ตั้งแต่นิทรรศการหน้างานที่มีอะไรสนุกๆ ให้เล่นตลอดวัน (อย่างเครื่องปรินท์ 3 มิติให้ลองเล่นใน Test Lab หรือปักหมุดรายงานปัญหาเมืองในโซน Voice of the Future) ไปจนถึงทอล์กต่างๆ ที่สปีกเกอร์และเพอร์ฟอร์เมอร์ทั้ง 23 คนมาแบ่งปันกันบนเวที
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม การศึกษา เทคโนโลยี สังคม ศิลปะ หรือตัวตน ทั้งหมดล้วนกรุยทางให้เราเห็นโครงสร้างของอนาคตที่น่าจะเป็น อยากให้เป็น รวมถึงไม่อยากให้เป็นได้ ก่อนที่ทอล์กจากงานจะถ่ายทอดสู่สายตาของทุกคนผ่านช่องทางออนไลน์ ขอแอบหยิบ 3 ประเด็นที่กระทบหูแล้วกระแทกใจจากเวที TEDxChiangMai 2018 มาสปอยล์กันตรงนี้ก่อนเลย!
“เราไม่สามารถเปลี่ยนประเทศนี้ได้ หากเรายังเชื่อในบุญพาวาสนาส่ง”
ดร.ธานี ชัยวัฒน์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ดร.ธานีขึ้นเวทีมาพร้อมคำถามที่ว่า “ทำยังไงพวกเราถึงจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ครับ”
ใช่ เราพูดถึงการเปลี่ยนเยอะมาก แต่ทำยังไงล่ะเราถึงจะเปลี่ยนประเทศของเราได้
ดร.ธานีได้ยกเอาข้อมูลจากศูนย์เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาเล่าให้ฟัง ว่าจากการถามคำถามข้างต้นกับประชากร 800 คนในเชียงใหม่และโคราช ได้คำตอบมาว่า
87% บอกว่าเราต้องเป็นคนดี ทำความดี และเป็นชาวพุทธที่ดี
77% บอกว่าเราต้องร่วมมือกัน สามัคคีกัน และไม่ขัดแย้งกัน
70% บอกว่าเราต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด และมีความรับผิดชอบ
แต่นี่คือคำตอบของคน 30% เท่านั้น เพราะอีก 70% ตอบในทันทีที่ได้ยินคำถามว่า “เปลี่ยนไม่ได้”
คำถามต่อไปในการสำรวจคือ ระหว่าง ‘สิ่งที่ตัวเองทำ’ กับ ‘อำนาจ ชื่อเสียง และเงินทอง’ อะไรจะเปลี่ยนประเทศได้มากกว่ากัน คำตอบเทไปทางเลือกหลังโดย 77% เลือกเงินทอง 19% เลือกอำนาจ และ 4% เลือกชื่อเสียง คนส่วนใหญ่ที่เลือกเงินทองให้เหตุผลว่า “เงินทองซื้ออำนาจและชื่อเสียงได้”
อีกคำถามหนึ่งถามว่า “เป้าหมายในชีวิตคืออะไร” คนส่วนใหญ่ตอบว่า “อยากรวย” นั่นก็เพราะโครงสร้างสังคมพ่วงทุกอย่างไปกับเงินทอง ถ้ารวยแล้วจะได้ทุกอย่าง แต่ถ้าถามว่ารวยแล้วจะเอาเงินไปทำอะไร คนส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้
เมื่อถามต่อไปว่า “เราจะมีเงินทองได้ยังไง”
76% บอกว่าต้องเกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวย (ต้องมีบุญ)
11% บอกว่าต้องถูกล็อตเตอรีรางวัลที่ 1 และต้องถูกหลายๆ รอบด้วย (ต้องมีโชค)
8% บอกว่าการทำงานหนัก ขยัน อดออม จะทำให้เราเป็นคนร่ำรวยในสังคมนี้ได้
5% บอกว่าต้องกตัญญูบิดามารดา ทำความดี หรือทำบุญถวายสังฆทาน (นี่ก็บุญอีกเช่นกัน แต่อาจจะเป็นบุญส่งผลไปในชาติหน้า)
ผลสำรวจนี้สะท้อนว่าในความคิดของคน ถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมหรือประเทศ ต้องมีเงินทอง และเงินทองเหล่านั้นก็มาจากบุญจากโชค ความคิดนี้ยังอธิบายคำตอบของคำถามแรก ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่า ‘ความดี’ จะเปลี่ยนแปลงประเทศได้ด้วย นั่นก็เพราะว่าการมีบุญมีโชคมีเงินทอง ไม่ใช่สิ่งที่คนส่วนใหญ่มีได้ แต่ความดี อาจจะเป็นอะไรที่คนธรรมดาพอจะทำได้จริง
อีกคำถามหนึ่งคือ “เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร” คนไทยตอบว่าอยากรวย เพราะโครงสร้างสังคมพ่วงทุกอย่างไปกับเงินทอง ถ้ารวยแล้วจะได้ทุกอย่าง แต่ถ้าถามว่ารวยแล้วจะเอาเงินไปทำอะไร ส่วนใหญ่จะตอบไม่ได้
ดร.ธานี อธิบายความเชื่อในเรื่องบุญเรื่องโชคของสังคมไทยด้วยโครงสร้างสังคมที่มีมาตั้งแต่อดีต สังคมไทยเป็น ‘สังคมเกษตร’ ชีวิตและการกินอยู่ขึ้นกับฟ้าฝน เชื่อในโชคลางและความรู้สึกที่มากับฟ้ากับฝน และส่งผลให้เชื่อว่าฟ้าเป็นคนลิขิตความร่ำรวยของเรา นอกจากนี้ สังคมไทยยังเป็น ‘สังคมศักดินา’ ซึ่งเรียงตามจำนวนที่ดิน (ซึ่งก็คือความร่ำรวย) และถ้ามีที่ดินเยอะ ก็มีอำนาจเยอะ เป็นสังคมที่เอาอำนาจและเงินทองมารวมกัน จากนั้นชื่อเสียงก็ตามมา
สังคมไทยซับซ้อนกว่านั้น เพราะนอกจากเป็น ‘สังคมเกษตร’ บวก ‘สังคมศักดินา แล้ว ยังมีเรื่องของ ‘ศาสนา’ มีความเชื่อเรื่องบุญและกรรมผูกเข้าไปอีกด้วย ดูได้จากคำขอพรยอดนิยมของคนไทยคือ ขอให้ได้เป็นเจ้าคนนายคน (ขออำนาจ) ขอให้ร่ำรวยเงินทอง (ขอเงินทอง) และขอให้ใครๆ ก็รัก (ขอชื่อเสียง) อาจจะแปลได้เลยนะว่า ‘บุญ’ เป็นตัวกำหนดทั้งอำนาจ เงินทอง และชื่อเสียงในสังคมนี้
ดร.ธานียังยกตัวอย่างำการทดลองทางเศรษฐศาสตร์ ที่สะท้อนให้เห็นว่า เรื่องโชคเรื่องบุญกรรมทำให้คนยอมจำนนกับโชคชะตาในชีวิต โดยเป็นเกมที่ให้หลายๆ คนเล่นบวกเลข พอได้แต้มมาเท่าไหร่ ให้เอาไปแลกเป็นเงินได้ โดยแต่ละคนจะรู้ว่าแต้มที่ตัวเองได้สูงหรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของคนทั้งกลุ่ม และคนที่ได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จะสามารถเรียกร้องแต้มจากคนที่สูงได้
รอบที่ 1 เมื่อจบเกม อัตราการเรียกร้องอยู่ที่ 0-10% ซึ่งถือว่าต่ำ เพราะว่าทุกคนถือว่าแต่ละคนใช้ความพยายามเท่ากัน ก็เลยไม่มีใครรู้สึกว่าอยากเรียกร้อง
รอบที่ 2 มีการแจกแต้มฟรีเกิดขึ้น แต่ละคนได้มากน้อยไม่เท่ากัน พอเป็นแบบนี้ อัตราการเรียกร้องเพิ่มขึ้นไปที่ 40-50% เพราะรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม และการเรียกร้องจะมากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับแต้มฟรีที่ได้
รอบที่ 3 เล่นเหมือนรอบที่สอง แต่มีการให้คนที่ได้แต้มสูงกว่าเสนอแต้มให้คนที่ได้ต่ำกว่าก่อนจะมีการเรียกร้องเกิดขึ้น มีอัตราการเสนออยู่ที่ 10-15% (ซึ่งจริงๆ ก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับที่ได้ไป) แต่ก็ทำให้การเรียกร้องลดลงมาที่ 5-10% เพราะคนที่ได้แต้มน้อยกว่ารู้สึกว่า ถึงจีงเองจะดวงไม่ดี แต่คนที่ดวงดีก็มีน้ำใจช่วย อย่าไปเรียกร้องเขาเลย เป็นการถูกความเชื่อเรื่องโชคและดวงไปกดทับ
รอบที่ 4 เล่นเหมือนรอบที่สาม แต่แต้มฟรีที่แจกมาจากการหักจากคะแนนทุกคน 30% ปรากฏว่าได้ผลเหมือนกับรอบที่สาม
เกมการทดลองนี้สะท้อนให้เห็นว่า ความเชื่อเรื่องโชค ดวง และการเอาบุญไปผูก เป็นความรู้สึกที่กดทับสังคมเราอยู่
ความเชื่อเรื่องบุญเรื่องกรรมถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีตเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้ และเราก็อยู่แบบนี้มาโดยที่ไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลง วันหนึ่งโลกมันเปลี่ยนไป เราจะอยู่ในโลกใหม่ โลกที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากๆ ด้วยวัฒนธรรมแบบดั้งเดิมได้ยังไง วัฒนธรรมถือเป็น Social Technology ของโลกทุกวันนี้ เป็นเครื่องมือที่ช่วยพัฒนาเราไปสู่อนาคตได้ เราควรต้องมาคิดทบทวนกันไหมว่าวัฒนธรรมอะไร รูปแบบไหนที่จะพาเราไปสู่อนาคต
“คำถามแรกที่ผมถามว่า ทำยังไงพวกเราถึงจะเปลี่ยนประเทศไทยได้ ผมไม่รู้ครับ แต่สิ่งที่ผมรู้ก็คือ ถ้าเรายังเชื่อว่าความไม่เท่าเทียมกันเกิดจากบุญพาวาสนาส่ง เราจะเปลี่ยนประเทศไม่ได้ครับ”
“Creativity means to create something, not just thinking, and isn’t limited in school.”
นที แสง ผู้ก่อตั้ง Makerspace Thailand ห้องปฏิบัติการนวัตกรรมชุมชน
นทีพูดถึงทอล์กของ Sir Ken Robinson บนเวที TED ในหัวข้อ ‘Do school kill creativity?’ ที่เขาเห็นด้วยว่าความคิดสร้างสรรค์มักถูกบั่นทอนจากระบบการวัดผลในสถานศึกษา เพราะเราวัดค่าความเก่งและความฉลาดในเชิงวิชาการมากเกินไป ทำให้หลายคนที่อาจจะมีความสามารถหรือความคิดสร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่ในการทำข้อสอบ อาจจะถูกมองข้ามไป
เขาชวนให้หันไปมองเรือหางยาวหรือรถอีแต๊กที่ดัดแปลงเป็นรถบรรทุก สิ่งเหล่านี้ก็เป็นนวัตกรรม แต่อาจจะเป็นนวัตกรรมที่ไม่ค่อยได้รับการเชิดชู เพราะไม่ได้เกิดจากคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัย ไม่ได้สร้างโดยรัฐ แต่มาจากชาวไร่ชาวนา เขายังยกตัวอย่างรถพลังงานไฟฟ้าที่สร้างโดยช่างก่อสร้างคนหนึ่ง ซึ่งทำตามคลิปใน Youtube แม้ว่าเขาจะฟังภาษาอังกฤษไม่ออกสักคำ
นทีบอกว่าตอนนี้เราอยู่ในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ยุคที่ใช้การผลิตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Fabrication) อย่าง 3D Printing, Laser Cutter หรือเครื่อง CNC (Computer Numerical Control) สร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาให้เราได้อย่างง่ายดาย เป็นยุคที่ไม่ต้องทำทุกอย่างด้วยสองมือ แต่สั่งให้เครื่องจักรทำแทนได้ พร้อมกับต้นทุนที่ถูกลงเรื่อยๆ
ด้วยความต้องการที่จะกระตุ้นให้คนไทยลุกขึ้นมาสร้างอะไรใหม่ๆ และต้องการทำให้เห็นว่าทุกคนทำได้ นทีเลยเปิด Makerspace Thailand ขึ้นที่เชียงใหม่ สร้างห้องทำงานและจัดหาอุปกรณ์สำหรับการสร้างนวัตกรรมแบบง่ายๆ มาให้ เขาต้องการให้ที่นี่เป็นชุมชนสร้างสรรค์ (Creative Community) ที่มีหลักในการขับเคลื่อนเพียง 4 อย่างคือ
1. มันต้องไม่ใช่โรงเรียน เพราะอย่างที่บอกว่าระบบโรงเรียนและระบบวัดผลแบบเดิมๆ เป็นตัวบั่นทอนความคิดสร้างสรรค์
2. มันต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ คือไม่คิดค่าใช้สถานที่และเครื่องมือแพงเกินไป ไม่งั้นการสร้างนวัตกรรมก็จะถูกจำกัดอยู่กับคนเฉพาะกลุ่ม
3. สอนการใช้เครื่องมือต่างๆ ให้ฟรี เพราะไม่ต้องการให้ความรู้มีราคา ไม่ต้องการให้คนหวงความรู้ แต่ต้องการให้คนแบ่งปันสู่คนอื่น
4. ถ้าคุณมาที่นี่ คุณต้องสร้างบางอย่างให้เกิดขึ้นได้จริง
ที่ผ่านมา ก็มีคนแวะมาที่ Makerspace Thailand และสร้างนวัตกรรม รวมไปถึงตั้งธุรกิจของตัวเองสำเร็จหลายรายแล้ว นับตั้งแต่งานศิลปะ เฟอร์นิเจอร์ เครื่องต้มกาแฟที่ควบคุมการต้มได้ตามสั่ง เกมรถแข่ง AR หรือว่าเครื่องทำช็อกโกแลตในราคา 20 เหรียญ
นทีมองว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นทักษะที่จำเป็นสำหรับโลกอนาคต โดยเฉพาะอนาคตที่คนเฝ้ากลัวว่าหุ่นยนต์มาแย่งงาน การมี Makerspace หรือชุมชนความคิดสร้างสรรค์ที่สนับสนุนให้เกิดการคิดและการลงมือทำ สร้างอะไรออกมาได้ จึงจำเป็นสำหรับทุกๆ พื้นที่ ตั้งแต่ระดับจังหวัดไปจนถึงระดับหมู่บ้าน
“เพราะคนที่มีแค่ความคิด ไม่ได้หมายว่าเป็นคนสร้างสรรค์ อันนั้นผมเรียกมันว่าจินตนาการ แต่คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ สำหรับผม คือคิดแล้วสร้างมันออกมาได้ด้วย”
“ประเทศไทยกำลังจะมีผู้สูงวัย 1 ใน 3 ของประเทศ และมันเป็นเป็นเรื่องของเราทุกคน”
ดร.กิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสและผู้อำนวยการด้านการวิจัยและคำปรึกษาระหว่างประเทศ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
ดร.กิริฎาชวนคุยถึงสิ่งที่หลายคนไม่อยากให้ตัวเองเดินทางไปถึง นั่นก็คือ ‘ความแก่’ ด้วยความกังวลทั้งเรื่องสุขภาพ รายได้ หรือว่าการต้องเป็นภาระคนอื่น แต่อย่างที่เราพูดกันมาตลอดหลายปีว่า สังคมไทยกำลังเริ่มเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุ วันนี้ ประเทศเรามีผู้สูงวัยอยู่ราว 12 ล้านคน และในอีก 15 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านคน ซึ่งตอนนั้น 1 ใน 3 ของประเทศเราจะเป็นผู้สูงวัย
นอกจากเราจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างรวดเร็วแล้ว เรายังอยู่กันนานด้วย เมื่อ 40 ปีที่แล้ว อายุเฉลี่ยคนไทยอยู่ที่ 63 ปี แต่ตอนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 75 ปี และต่อไปก็น่าจะขยายเพิ่มไปอีก ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์ที่ก้าวหน้าและโภชนาการที่ดีขึ้น แต่ในทางกลับกัน คนในวัยทำงาน (อายุ 15-59 ปี) ก็กำลังลดลง และจะเหลือแค่ 40 ล้านคนในอีก 15 ปีข้างหน้า เมื่อนำมาเปรียบเทียบกัน สัดส่วนของคนวัยทำงานที่ต้องดูแล:ผู้สูงวัย ตอนนี้คือ 4:1 ส่วนในอนาคตก็จะเป็น 2:1 และ 1:1 รวมถึงว่ามีแนวโน้มที่จะเพิ่มต่อไปอีก
นั่นเป็นเหตุผลว่าสังคมสูงวัย ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้สูงวัยอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของทุกคน มันจะเป็นภาระที่หนักสำหรับคนวัยทำงาน กระทบภาคเอกชนในการหาแรงงาน รวมถึงกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ
งบประมาณของภาครัฐที่ใช้ในการดูแลผู้สูงอายุ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 5 แสนล้านบาท/ปี แต่ในอีก 15 ปีข้างหน้าจะต้องใช้งบถึง 1.5 ล้านล้านบาท/ปี ซึ่งถ้าเทียบให้เห็นภาพก็คือ สร้างรถไฟฟ้าใต้ดินได้ 10 สายทุกปี คำถามต่อไปคือรัฐบาลจะเอาเงินมากมายขนาดนั้นมาจากไหน เพราะคนวัยทำงานก็ลดลง เก็บภาษีได้น้อยลง เป็นไปได้เหมือนกันว่าอาจจะต้องตัดงบจากส่วนอื่นๆ ที่ใช้พัฒนาประเทศ
ในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ ดร.กิริฎาแสดงความห่วงใยประเทศและเราทุกคนว่าจะอยู่กันยังไง พร้อมทั้งมองว่าเราต้องร่วมมือกันแก้ไข โดยแนะนำให้เริ่มจากตัวเองคือ
1. ดูแลสุขภาพตัวเอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐที่ต้องใช้ในการดูแลสุขภาพ เพราะจริงๆ แล้วทุกวันนี้ง บประมาณถูกใช้ไปกับการรักษาโรคที่เกิดจากการทำร้ายตัวเอง เช่นโรคอ้วน ความดัน มะเร็งปอด
2. ดูแลสุขภาพการเงิน เช่น การใช้แอพฯ วางแผนการเงินของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET)
3. ดูแลสุขภาพความรู้ เนื่องจากโลกเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเรายังอยากเป็นผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพและทำงานได้ เราก็ควรขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว ปรับตัวให้ทันโลกเสมอ อย่างเช่นการเข้าคอร์สเรียนสำหรับผู้สูงอายุของ Young Happy ที่สอน e-commerce ให้กับผู้สูงวัย
ดร.กิริฎายังชวนคิดด้วยว่า ในเมื่อคนทำงานลดลง ทำไมเราต้องเกษียณตอนอายุ 60 ปี ถ้าเราดูแลร่างกายและพัฒนาความรู้ของเรา เราก็จะยังทำงานได้แม้อายุเกิน 60 ปีไปแล้ว