ถ้าถามว่ารูปธรรมของ ‘ความก้าวหน้า’ ทุกวันนี้ในสายตาของคุณคืออะไร เชื่อว่าเกือบร้อยทั้งร้อยคงให้คำตอบที่มี ‘เทคโนโลยี’ เป็นส่วนประกอบสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นไอโฟนหรือสมาร์ทโฟนค่ายอื่น โซเชียลมีเดียและอินเทอร์เน็ต (ซึ่งเราอาจวัดระดับ ‘ความก้าวหน้า’ จากการที่รัฐพยายามควบคุมแต่คุมไม่สำเร็จเสียที) บิ๊กดาต้า (big data) หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence – AI) รถยนต์ไฟฟ้า หรือผู้ประกอบการใน “เศรษฐกิจแบ่งปัน” (ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้ ‘แบ่งปัน’ กันจริงๆ เพียงแต่นำศักยภาพหรือสินทรัพย์เหลือใช้มาหารายได้) อย่าง Uber, Grab, Airbnb ฯลฯ
หลายร้อยปีนับตั้งแต่วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ถือกำเนิดในยุครู้แจ้ง (Enlightenment) เป็นต้นมา ความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมักจะจุดประกายทั้งความหวังและความกลัว นิยายวิทยาศาสตร์ (ชื่อย่อ ‘ไซไฟ’ จาก science fiction: sci-fi) มีบทบาทสำคัญยิ่งในการสะท้อนความรู้สึกเหล่านี้ออกสู่กระแสสำนึกสาธารณะ ไซไฟสายดิสโทเปีย (dystopia) หลายเล่ม อย่าง A Brave New World (เล่มโปรดของผู้เขียน) หรือ 1984 ดูจะเป็นอมตะนิรันดร์กาลไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร เพราะแนวโน้มที่ว่าเทคโนโลยีทุกชนิดอาจมี ‘ด้านมืด’ และความกลัวว่า ‘อำนาจมืด’ อาจฉวยใช้เทคโนโลยีในทางที่ครอบงำสังคมนั้น ยังคงอยู่กับเราตลอดมาและน่าจะตลอดไป
ภาพยนตร์ใหม่ๆ อย่าง Her (กำกับโดย Spike Jonze) และเกมใหม่ๆ อย่าง SOMA (เคยเขียนถึงไปแล้วในคอลัมน์นี้) ยกระดับการครุ่นคิดถึงเทคโนโลยีกับอนาคต เพราะทำให้เส้นแบ่งระหว่าง ‘ดิสโทเปีย’ (สังคมอนาคตอันเลวร้าย) กับ ‘ยูโทเปีย’ (สังคมอนาคตอันสุขสงบ) พร่าเลือน พร้อมทั้งตั้งคำถามอันแหลมคมว่า เทคโนโลยีกำลังนำพาเราไปทางใด และเราเองเล่าอยากจะพามันไปทางไหน ?
ผู้เขียนหลงรักเกม Alien: Isolation ไม่ใช่เพราะมันเป็นเกมยิงแนวสยองขวัญเอาตัวรอด (survival horror FPS) ที่เจ๋งที่สุดเกมหนึ่งในประวัติศาสตร์เกมแนวนี้ ไม่ใช่เพราะมันทำให้กลัวจริงๆ แบบที่เกมอื่นน้อยเกมจะทำได้ ไม่ใช่เพราะมันวางจังหวะการเล่าเรื่องและการหักมุมต่างๆ ได้อย่างลืมไม่ลง และไม่ใช่เพราะมันทำให้ควานหาภาพยนตร์เมื่อสามสิบปีที่แล้วมานั่งดูใหม่ – ถึงแม้ว่ามันจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ทั้งหมดและมากกว่า – แต่ที่หลงรักก็เพราะ Alien: Isolation ฉายภาพอนาคตแบบที่ผู้เขียนชอบที่สุด และเชื่อว่าน่าจะเป็นไปได้มากที่สุด นั่นคือ อนาคตที่เทคโนโลยีแทรกซึมอยู่รอบตัวเรา ดูแสนจะธรรมดาสามัญ และบ่อยครั้งก็โกโรโกโสคล้ายผนังปูนลอกของบ้านเก่าก็ไม่ปาน
ไซไฟในเกมและภาพยนตร์จำนวนนับไม่ถ้วนฉายภาพโลกอนาคตแบบเวอร์วังอลังการ ผนัง พื้น และฝ้าทุกห้อง โดยเฉพาะในฉากยานอวกาศหรือสถานีอวกาศ แวววับไร้ฝุ่นผงแม้อณูเดียวก็ไม่เห็น เสื้อผ้าหน้าผมของคนทุกคน (และหุ่นยนต์ทุกตัว) ดูเป๊ะเรียบไร้รอยยับย่นหรือตีนกา ประหนึ่งอาร์ตดีไซเนอร์อยากจะอวดเราว่า ดูสิ ฉันทำให้โลก ‘ดูเป็นอนาคต’ (futuristic) ได้ขนาดไหน แต่สถานีอวกาศ ‘เซวาสโตปอล’ (Sevastopol) ใน Alien : Isolation กลับดู ‘จริง’ ยิ่งกว่า เพราะดูเหมือนสถานที่จริงที่คนจริงทำงานและใช้ชีวิตอยู่จริง ทั้งเกมเราจะชินกับคอมพิวเตอร์เก่าซอมซ่อที่หลายเครื่องก็ใช้การไม่ได้ อุปกรณ์กองรกรุงรังระเกะระกะ คราบกาแฟติดตามขอบโต๊ะ และอีเมลมากมายก่ายกองที่นินทาเพื่อนร่วมงาน บ่นน้อยใจเจ้านาย คิดถึงครอบครัวหรือคนรัก แลกเปลี่ยนทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับวาระซ่อนเร้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ (โลกอนาคตของ Alien ที่มนุษย์ท่องอวกาศเป็นเรื่องปกติธรรมดานั้น เป็นโลกที่ถูกครอบงำด้วยบริษัทข้ามชาติ หลายแห่งขยายขนาดจนเป็นบริษัทข้ามแกแล็กซี) ฯลฯ
ชัดเจนตั้งแต่ฉากแรกว่า ทีมดีไซเนอร์เบื้องหลัง Alien: Isolation ออกแบบเกมนี้เป็น ‘จดหมายรัก’ แด่ภาพยนตร์คลาสสิกเรื่อง Alien ซึ่งฉายครั้งแรกในปี ค.ศ. 1979 เกือบสี่สิบปีที่แล้ว
โดยเฉพาะการเน้นบรรยากาศและอารมณ์ระทึกขวัญมากกว่าแอ็กชั่นบู๊ล้างผลาญ (อันเป็นจุดเน้นของภาพยนตร์ภาคต่ออีกสามภาค รวมถึงซีรีส์ Alien vs. Predator ก่อนที่ Ridley Scott ผู้กำกับ Alien ภาคแรก จะนำซีรีส์นี้กลับคืนสู่รากเหง้าระทึกขวัญของต้นฉบับได้สำเร็จในภาพยนตร์เรื่อง Prometheus และ Alien: Covenant ปี ค.ศ. 2012 และ 2017 ตามลำดับ)
ไฟสลัวริบหรี่ติดๆ ดับๆ ตามทางเดิน เสียงหอบหายใจระหว่างวิ่งหนีเอเลี่ยนหรือแอนดรอยด์ ออกอุทานเมื่อราวบันไดเหล็กหักลงต่อหน้าต่อตา หรือกลั้นหายใจระหว่างที่อุดอู้อยู่ในตู้ ก่อนที่จู่ๆ เอเลี่ยน(แม่ง)ก็กระชากประตูตู้ออกมา คว้าตัวเราเข้าปากสองชั้น เผยคมเขี้ยวขาวเงินแวววาวก่อนที่สติจะวูบดับ…และเรากลับมาสบถต่อหน้าจอโหลดเซฟเกมอีกครั้ง (แถมเกมนี้ยังไม่ให้เซฟทุกเมื่อที่อยากทำ แต่ต้องไปเซฟตรง save station เท่านั้น ทำให้หลายครั้งต้องเล่นใหม่ไกลมากกกก) – ทั้งหมดนี้ทำให้เราเข้าใจหัวอกของ เอลเลน ริปลีย์ (Ellen Ripley) นางเอกของ Alien และนักเอาตัวรอดจำเป็น ทั้งที่เกมนี้ให้เราเล่นเป็น อแมนดา ริปลีย์ (Amanda Ripley) ลูกสาวของเธอซึ่งทำงานในอวกาศเหมือนแม่ แต่ในฐานะวิศวกร ด้วยความอยากรู้ว่าแม่ของเธอประสบชะตากรรมเช่นไร
เรื่องราวใน Alien: Isolation เกิดขึ้น 15 ปีหลังจากเหตุการณ์ในภาพยนตร์ Alien ต้นฉบับ หลังจากที่อแมนดาตกลงร่วมทีมสำรวจ เดินทางไปยังสถานีอวกาศ Sevastopol เพราะได้ข่าวว่ากล่องดำของยานอวกาศ Nostromo (ซึ่งเอลเลนแม่ของเธอเป็นลูกเรือ) ถูกพบโดยลูกเรือของยานอวกาศอีกลำชื่อ Anesidora และตอนนี้กล่องดำนี้อยู่บนสถานีอวกาศ ไม่นานอแมนดาหรือเราก็ถูกตัดขาดจากเพื่อนร่วมทีม ต้องสำรวจสถานีอวกาศซึ่งเสียหายยับเยินเพียงลำพัง ถูกไล่ล่าโดย ‘ซีโนมอร์ฟ’ (xenomorph) เอเลี่ยนจาก Alien ซึ่งเราไม่มีวันฆ่าให้ตายได้ ทำได้อย่างมากเพียงย่องหนี ซ่อนตัว หรือยิงขู่ด้วยปืนไฟให้มันตกใจปีนเข้าท่อระบายอากาศบนเพดาน หายตัวไปชั่วคราวแต่ไม่นานก็จะกลับมาใหม่อย่างก้าวร้าวกว่าเดิม แถมไม่ได้มีแต่เอเลี่ยนตัวนี้ตัวเดียวที่ต้องระวัง ยังมีกองทัพแอนดรอยด์ (android หุ่นยนต์ร่างมนุษย์) ที่โปรแกรมลัดวงจรตามล่าเราเป็นโขยง ไม่นับเจ้าหน้าที่พกปืนกลที่ไม่ฟังอีร้าค่าอีรม จะระดมยิงกราดเราท่าเดียวในนามของความมั่นคง
ทีมออกแบบ Alien: Isolation ตัดสินใจไม่ ‘อัพเดท’ หน้าตาเทคโนโลยีแบบ ‘อนาคตเรโทร’ (retrofuturism หมายถึงการจินตนาการอนาคตบนพื้นฐานของหน้าตาข้าวของเครื่องใช้หรือเทคโนโลยีในอดีต) ของ Alien ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ตัดสินใจใช้แนวศิลปะเดียวกันอย่างซื่อตรงต่อต้นฉบับ เทคโนโลยีทุกอย่างในโลกอนาคตของภาพยนตร์ Alien คือสิ่งที่มีอยู่แล้วในปี 1979 ปีที่ภาพยนตร์นี้ถูกสร้างฉันใด เทคโนโลยีใน Alien: Isolation ก็ฉันนั้น ตั้งแต่คอมพิวเตอร์หนาหนักจอเขียว ฟ้อนท์เหลี่ยมน่าเกลียดชนิดที่ สตีฟ จ๊อบส์ ผู้ก่อตั้ง Apple คงรับไม่ได้ถ้ามาเห็น ทุกอย่างในเกมนี้ราวกับกระโดดออกมาจาก Alien และสรุปได้ว่าฉายภาพอนาคตแบบ ‘โลไฟ’ (lo-fi) นั่นคือ มองอนาคตผ่าน ‘แว่น’ ของทศวรรษ 1970 เมื่อครั้งที่คอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย ไอโฟนยังไม่เกิด และคนทั่วไปยังไม่ไว้ใจเทคโนโลยีและบริษัทเทคโนโลยีเท่ากับทุกวันนี้
แนวศิลปะแบบ ‘อนาคตเรโทร’ ทำให้สิ่งของทุกชิ้นและสถานที่ทุกแห่งในเกม Alien: Isolation แลดูธรรมดาสามัญ ทุกคนในเกมเหมือนกับลูกเรือ Nostromo ในภาพยนตร์ ตรงที่ไม่ตกอยู่ในภวังค์หรือภาวะโรแมนติกเกี่ยวกับการเดินทางท่องอวกาศ หลายคนเพียงแต่อยากได้เงินเร็วๆ จะได้กลับบ้านไปพบหน้าครอบครัวที่จากกันมานาน ราวกับเป็นแรงงานข้ามชาติต้นศตวรรษที่ 21 พวกเขาและเธอใช้เทคโนโลยีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ก็ไม่เคยไว้ใจมันร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะบางครั้งมันก็เสีย บางคราวมันก็ล่ม และบ่อยครั้งมันก็ใช้การไม่ได้
ยกตัวอย่างเช่น อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวหรือ motion tracker ในเกม สำคัญมากเพราะเป็นสิ่งเดียวเท่านั้นที่บ่งชี้ตำแหน่งของศัตรู โดยเฉพาะเจ้าเอเลี่ยน แต่มันบอกพิกัดได้เพียงคร่าวๆ เท่านั้น ถ้าเอเลี่ยนนึกจะเลื้อยลงมาจากท่อบนเพดาน อุปกรณ์นี้ก็ช่วยอะไรเราไม่ได้เลย ต้องคอยสังเกตจากธารน้ำลายหนืดเหนียวที่หยดย้อยลงมาจากเพดาน หรือเสียงครางของเอเลี่ยนเท่านั้น แถมเวลาเราโฟกัสที่หน้าจอ motion tracker ฉากข้างหน้าจะเบลอมองไม่ชัด ซึ่งก็สมจริงเพราะสายตาเราโฟกัสทั้งใกล้และไกลพร้อมกันไม่ได้ แต่ความไม่สมบูรณ์แบบนี้เองก็นับเป็นตัวอย่างอันดีของ ‘สาร’ หลักชิ้นหนึ่งของเกมนี้
นั่นคือ เทคโนโลยีช่วยทุ่นแรงเราได้ แต่สุดท้ายเราก็ไว้ใจเทคโนโลยีไม่ได้ มีเพียงไหวพริบและสัญชาติญาณเท่านั้นที่จะทำให้เรารอดชีวิต
ไซไฟนับไม่ถ้วน ไม่ว่าภาพยนตร์ นิยาย หรือเกม ที่ฉายภาพอนาคตแบบพื้นผนังวาววับ มักจะนำเสนออาวุธหรืออุปกรณ์วิเศษลึกล้ำอะไรสักอย่างที่จะปัดเป่าให้ปัญหาทั้งหมดปลาสนาการไป (เกมใหม่ๆ บางเกมอย่าง Prey (ซึ่งผู้เขียนชอบมาก) ก็เช่นกัน) แต่ในเกมนี้สิ่งที่จะช่วยเราเอาตัวรอดคือ อุปกรณ์ตรวจจับการเคลื่อนไหวคร่ำครึ ปืนไฟที่กระสุนหายากหาเย็น ประแจอเนกประสงค์ และเหนือสิ่งอื่นใดคือไหวพริบปฏิภาณ เทคโนโลยีโลไฟทั้งหลายในเกมล้วนแต่ขับเน้นความรู้สึกสะพรึงกลัว เพราะทำให้เราไม่มีวันตั้งความหวังได้ว่า วิกฤติความเป็นความตายจะมีเทคโนโลยีอัศจรรย์มาชี้ทางออก
ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทุกวันนี้ โดยเฉพาะในพื้นที่ดิจิทัล จุดประกายความหวังครั้งใหม่ในสถานการณ์ที่โลกดูมืดมน แต่ก็จุดประกายความกังวลและความกลัวใหม่ๆ เช่นกัน เกี่ยวกับการจ้างงาน (หุ่นยนต์จะแย่งงานจนเราไม่มีงานทำหรือเปล่า?) ความเหลื่อมล้ำ (เทคโนโลยีจะทำให้คนรวยรวยขึ้น คนจนจนลงไหม?) ความเป็นส่วนตัว (เรายังมีมันหรือไม่เพียงใดในโลกอินเทอร์เน็ตของทุกสิ่ง – Internet of Things?) ประชาธิปไตย (จะพัฒนาให้มันดีกว่านี้ได้อย่างไรในโลกยุค ‘หลังความจริง’ – post-truth?) และคำถามอื่นๆ อีกมากมาย
ความหวังกับความกลัว ยูโทเปียกับดิสโทเปีย เส้นแบ่งดูจะพร่าเลือนลงเรื่อยๆ
Alien: Isolation ไม่เคยพยายามตอบคำถามเหล่านี้ ทว่าบอกเราเป็นนัยๆ – ระหว่างที่โดนเอเลี่ยนขย้ำไม่รู้เป็นครั้งที่กี่ร้อย ภาวนาให้มันเดินผ่านโต๊ะที่เรามุดอยู่ข้างใต้ไป โดนคนที่คิดว่าไว้ใจได้หักหลัง สงสัยเจตนาที่แท้จริงของปัญญาประดิษฐ์เบื้องหลังแอนดรอยด์ และกลั้นหายใจตอนที่ต้องออกไปเดินนอกสถานีอวกาศ – ว่า นี่แหละหนามนุษย์ แสนจะบอบบาง บกพร่อง และเจ้าคิดเจ้าแค้น ช่างแตกต่างอย่างยิ่งจากเอเลี่ยน xenomorph ซึ่งสมบูรณ์แบบทุกมิติในเชิงชีววิทยา ไม่จำเป็นต้องประดิษฐ์คิดค้นเทคโนโลยีใดๆ เลยเพราะร่างของมันมีสมบูรณ์แล้วทุกอวัยวะและฟังก์ชั่นที่จำเป็นต่อการล่าและสืบเผ่าพันธุ์ ผิวหนังของมันคือเกราะชั้นดี น้ำลายของมันก็ประกอบสร้างสถาปัตยกรรม สรีระและชีววิทยาของมันนั่นแหละคือเทคโนโลยี
มนุษย์บกพร่อง เอเลี่ยนสมบูรณ์แบบ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เผ่าพันธุ์มนุษย์ก็ยังคงหายใจ อแมนดาเอาตัวรอดมาได้เหมือนกับแม่ของเธอ แม้ความเป็นไปได้จะริบหรี่ลงเรื่อยๆ เธอก็ไม่เคยยอมแพ้ แม้จะมีท้อบ้างเป็นบางครั้งแต่ก็ชั่วครู่ยามเท่านั้น