ใครๆ ก็ชอบความสวยงาม ชอบคนหน้าตาดี ความหน้าตาดีถือเป็นทุน เป็นบุญพิเศษที่ติดตัวคนๆ หนึ่งให้มีข้อได้เปรียบกว่าคนอื่น อย่างน้อยๆ ก็สามารถไปเป็นดาวเฉิดฉายได้ หรือในระดับทั่วๆ ไปเราก็ยอมรับกันว่าคนที่หน้าตาดีมีโอกาสพิเศษบางอย่าง มักได้รับโอกาส ความเอ็นดู ความสนใจจากความหน้าตาดีนั้น
งานวิจัยจำนวนหนึ่งสนับสนุนว่าเด็กปริญญาโทในสายงานธุรกิจไปจนถึงทนายหล่อๆ สวยๆ มีโอกาสทำรายได้มากกว่าพวกหน้าตาพื้นๆ หรือเมื่อมีผู้บริหารบริษัทหน้าตาดีๆ ออกสื่อ ผลคือ บริษัทที่มีผู้บริหารหน้าดีภาพลักษณ์ก็เลยดีตาม ส่งผลเชิงบวกกับราคาหุ้นของบริษัทด้วย
แต่เดี๋ยวก่อน! นอกจากพวกหน้าดีจะมีข้อได้เปรียบแล้ว จากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์กลับพบว่า ไม่ได้มีแต่ความหน้าตาดีเท่านั้นที่ได้เปรียบ แต่พวกขี้เหร่ คนหน้าตาไม่ดีเองก็มีความได้เปรียบด้วย ซึ่งในทางกลับกันความหน้าตาดีก็อาจจะกลายเป็นภัยเช่นในแง่ของความน่าเชื่อถือไปซะได้
แต่โลกก็ได้ให้รางวัลและยังความปิติยินดีมาสู่คนขี้เหร่และพวกหน้าตาพื้นๆ เมื่อนักวิจัยชื่อซาโตชิ คานาซาวา (Satoshi Kanazawa) จาก London School of Economics (LSE) ร่วมกับแมรี สติล (Mary Still) จาก University of Massachusetts Boston พบว่าไอ้ความหน้าตาดีจะเป็นข้อได้เปรียบก็ต่อเมื่อไม่มีปัจจัยอื่นเช่น สติปัญญา สุขภาพ และบุคลิกภาพเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อมีการเอาปัจจัยอื่นๆ ข้างต้นมาร่วมด้วยแล้ว การเป็นคนหน้าตาดีก็ดูจะไม่ได้ส่งผลอะไรอีกต่อไป
แถมยิ่งไปกว่านั้นงานศึกษายังพบว่าคนที่หน้าตาแย่ที่สุด 3% ของประชากรทำรายได้มากกว่าคนทั่วๆ ไปถึง 50% ปรากฎการณ์พลังของคนหน้าแย่ดังกล่าวนักวิจัยเรียกว่า ‘รางวัลของคนหน้าแย่ (ugliness premium)’
ในบางพื้นที่การเป็นคนหน้าตาดีก็กลายเป็นขอเสียเปรียบไปซะได้ เช่นในดินแดนของนักวิจัย เช่น นักฟิสิกส์ และนักพันธุ์ศาสตร์ มีงานศึกษาของนักศึกษาระดับปริญญาเองที่ University of Essex บอกว่า เนี่ยการที่หน้าตาดี บางทีคนก็รู้สึกว่าไม่น่าจะทำงานดีนะ ในการศึกษาดังกล่าวได้ทำการรวบรวมภาพของนักฟิสิกส์และนักพันธุ์ศาสตร์จากทั่วโลก แล้วให้คนประเมินระหว่างหน้าตากับสติปัญญา ผลคือคนส่วนใหญ่ก็สนใจนักวิทยาศาสตร์หน้าตาดีๆ แหละ แต่มักจะบอกว่าพวกที่หน้าตาน่าเกลียดกว่าน่าจะทำงานได้ดีกว่า
ข้อสรุปของงานศึกษาสรุปว่านักวิทยาศาสตร์หน้าตาดีๆ มักจะได้ออกหน้า ออกงานทำโน่นทำนี่ ซึ่งก็แปลว่าไม่ได้ติดแหง็กอยู่ในแล็บ ผลคือนักวิจัยบอกว่านักวิชาการที่หน้าตาดีมักจะได้คะแนนในฐานะครูที่ดี แต่อาจจะไม่ประสบความสำเร็จในแง่ของการวิจัยเท่าที่ควร
จากงานศึกษาและประสบการณ์ของเรา รูปลักษณ์ภายนอกก็มีผลกับคนใดคนหนึ่งพอสมควร แต่การที่เราจะเป็นคนที่น่าดึงดูดใจก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่รูปลักษณ์ภายนอก ถึงเราไม่ได้หน้าตาเป็นณเดช แต่ความน่าดึงดูดใจ (attractiveness) เกิดมาจากตัวตน (personality) ของเราซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่อีกอย่างที่ชี้วัดว่าคนๆ นั้นน่าสนใจหรือไม่ เป็นคนน่าคบน่าคุยด้วยแค่ไหน
อีกอย่างความสวยงามก็แล้วแต่ว่าใครจะชอบแบบไหน ดังคำกล่าวว่า ‘ความงามขึ้นอยู่กับว่าใครมอง (beauty is in the eye of the beholder)’
อ้างอิงข้อมูลจาก
ขอบคุณภาพประกอบจากดิสนีย์