ศิลปะ – ศาสนา – วิทยาศาสตร์
ในศตวรรษที่ 21 เมื่อวิทยาศาสตร์เฟื่องฟูและดูเหมือนเวทมนตร์มากขึ้นเรื่อยๆ สามเรื่องนี้อาจดูเป็นโลกคู่ขนานสามใบ ปะทะสังสรรค์กันบ้างเป็นบางครั้ง แต่ไม่มีวันจะมาบรรจบพบกันได้เลย
หลายคนอาจค่อนขอดด้วยซ้ำว่า ‘ศาสนา’ นั้นล้าหลังคลั่งคัมภีร์ ไม่มีวันไปด้วยกันได้หรอกกับวิทยาศาสตร์
ทว่ากาลครั้งหนึ่ง จนถึงเมื่อไม่นานมานี้เอง ผลผลิตจากศรัทธาและความคิดของมนุษย์เหล่านี้ล้วนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างแนบแน่น ตลอดระยะเวลานานนับพันปี
มีน้อยเรื่องที่จะกระตุ้นให้เราตระหนักในข้อเคยจริงข้อนี้ได้อย่างลึกซึ้งเท่ากับการเพ่งมองและศึกษาศิลปะอิสลาม โดยเฉพาะลวดลายอลังการบนแผ่นเซรามิก ไม้ หิน กระดาษ ปลาสเตอร์ ฯลฯ ซึ่งดารดาษตามมัสยิดน้อยใหญ่ทั่วทุกมุมโลก
เนื่องจากหลักศาสนาอิสลามนั้นห้ามวาดหรือสลักรูปเคารพเป็นอันขาด ลวดลายนามธรรมจึงเบ่งบานในศาสนสถานและสถาปัตยกรรมอิสลาม แบ่งออกเป็นสกุลศิลปะหลักๆ ได้สามสกุล ได้แก่ อักษรวิจิตรอารบิก (Arabic calligraphy) ลวดลายดอกไม้อารเบสก์ (Arabesque) และลวดลายเรขาคณิต บ่อยครั้งช่างจะนำทั้งสามสกุลมาผสมผสานในงานออกแบบ แผ่นเซรามิกหนึ่งแผ่นอาจบรรจุชื่อพระอัลเลาะห์อย่างประณีตงดงาม อ่อนช้อยอยู่ภายในลายเรขาคณิตแซมดอกไม้
ในบรรดาศิลปะอิสลามทั้งสามสกุล ลวดลายเรขาคณิตแตะระดับซับซ้อนลึกซึ้งสูงสุดในศิลปะอิสลาม บางคนมองว่าเป็นเพราะลวดลายแบบนี้สวยงาม ทั้งยังสื่อหลักคิดเรื่อง ‘ศูนย์กลาง’ และ ‘ความสมมาตร’ ของอิสลามได้ดียิ่ง แต่เหตุผลอีกข้อที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ การที่วิทยาศาสตร์ได้รับความนิยมและยกย่องในวัฒนธรรมอิสลามมาเป็นเวลานาน
อารยธรรมอิสลามให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเก่งกาจทั้งสองศาสตร์มาช้านาน นักปราชญ์มุสลิมหยิบยืมปัญญาของอารยธรรมอื่นที่รุ่งเรืองก่อนอิสลาม โดยเฉพาะกรีซโบราณ มาลอกเลียนแบบ ต่อยอด และดัดแปลงให้เข้ากับยุคสมัย เริ่มตั้งแต่ ‘ยุคทองของอิสลาม’ ภายใต้การปกครองของราชวงศ์อับบาสิยะฮ์ (Abbasid Caliphate, ค.ศ. 749 – 1258) ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากน้าชายของพระนบีโมฮัมหมัด มีศูนย์กลางความเจริญอยู่ที่กรุงแบกแดด ประเทศอิรักในปัจจุบัน
ในยุคทองของอิสลาม มีการคิดค้นคำว่า มิซัน อันหมายรวมตั้งแต่ ความสมดุล ความสมมาตร ความเหมาะเจาะได้ส่วน และช่องว่างที่เหมาะสม
ด้วยเหตุนี้ ‘เรขาคณิต’ ในคติของอิสลามจึงไม่ใช่เรื่องของความสวยงามเพียงอย่างเดียว หากเป็นความสวยงามที่มาพร้อมกับความสมดุลและสมมาตร – สมดุลในความหมาย ‘ความยุติธรรม’ และสมมาตรในความหมาย ‘ความกลมเกลียว’ ในชุมชน นอกจากนี้ยังสะท้อนปรัชญาที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า นั่นคือ ความเชื่อที่ว่าพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาในฉายาของพระองค์ หรืออีกนัยหนึ่งพระองค์คือ ‘กระจก’ สะท้อนตัวเรา
การรังสรรค์ลวดลายเรขาคณิตในศิลปะอิสลามนั้นไม่เพียงแต่ต้องอาศัยสายตาเฉียบแหลม อารมณ์สุนทรีย์ และความประณีตเท่านั้น หากยังต้องอาศัยความเข้าใจในหลักคณิตศาสตร์ขั้นสูง
งานวิจัยเขย่าโลกปี 2007 ของ ปีเตอร์ หลิว (Peter Liu) และ พอล สไตน์ฮาร์ท (Paul Steinhardt) สองนักฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและฮาร์วาร์ด ชี้ว่า ศิลปินชาวมุสลิมในยุคกลาง (ราวปี ค.ศ 1200) ผลิตแบบแผนการตกแต่งโดยใช้เทคนิคเรขาคณิตซึ่ง “คณิตศาสตร์ตะวันตกเพิ่งมาเข้าใจในครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 นี้เอง”
ศิลปินมุสลิมยุคกลางคิดค้น ‘ชุดคำสั่ง’ หรือ ‘อัลกอริธึม’ (algorithm – คำคำนี้ก็มาจากภาษาอาหรับเช่นกัน) สำหรับการออกแบบลวดลายเรขาคณิต บางแบบไปพ้องกับรูปแบบโครงสร้างของ ‘ควอซีคริสตัล’ (quasicrystal) ผลึกในธรรมชาติซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตะวันตกเพิ่งค้นพบเพียงในปี 1984
นานกว่า 700 ปี หลังจากที่ลวดลายเดียวกันปรากฎในศาสนสถานอิสลาม!
ความมหัศจรรย์ของศิลปะอิสลามนั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ในทุกถิ่นทั่วโลกที่เคยเป็นหรือยังเป็นแหล่งอาศัยของชาวมุสลิม
และในปี 2017 เราก็มีสื่อที่แสดงความมหัศจรรย์ที่ว่านี้ — เกมอินดี้ Engare โดย มาห์ดี บาห์รามี (Mahdi Bahrami) ดีไซเนอร์ชาวอิหร่านวัย 24 ปี
มาห์ดีทั้งชื่นชอบคณิตศาสตร์และซึมซับความงดงามของศิลปะอิสลามตั้งแต่เด็ก ความที่เขาเกิดและเติบโตในกรุง อิสฟาฮาน (Isfahan) เมืองหลวงเก่าของอาณาจักรเปอร์เซียอันเกรียงไกร ทั้งเมืองเต็มไปด้วยมัสยิดอลังการมากมาย โดยเฉพาะที่สร้างในยุคทองของราชวงศ์ซาฟาวิด สมัยคริสตศตวรรษที่ 16-17
Engare เป็นเกมปริศนาสุดเจ๋งที่เล่นง่ายมากแต่เล่นให้ดีสุดแสนยาก ไม่ต่างจากเกมปริศนาดีๆ ทั่วไป แต่ยังเป็นเกม ‘มากกว่าเกม’ แสนมหัศจรรย์ เพราะมันสามารถ ‘แสดง’ ความวิเศษของเรขาคณิตผ่านลายวิจิตรของศิลปะอิสลาม โดยที่ไม่ได้ ‘สอน’ อะไรตรงๆ เลย
ผู้เขียนเชื่อว่า ผู้เล่น Engare จำนวนไม่น้อยจะออกไปค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับคณิตศาสตร์และอิสลาม หลังจากที่แก้ปริศนาชิ้นแรกๆ ในเกมนี้สำเร็จ และประสบการณ์การเล่นจะทำให้ผู้เล่นวัยเยาว์จำนวนไม่น้อยอยากโตขึ้นเป็นนักคณิตศาสตร์ หรือนักวิทยาศาสตร์ ยังไม่นับว่าครูทั่วโลกสามารถใช้ Engare ประกอบการสอนวิชาเรขาคณิตได้อย่างดีเยี่ยม
มาห์ดีเล่าให้ผู้เขียนฟังว่า วันนี้มีครูหลายคนแล้วที่อีเมลมาบอกเขาว่านักเรียนชอบ Engare และเกมนี้ทำให้เรขาคณิต ‘มีชีวิตชีวา’ ขึ้นมาไม่น่าเบื่อ ไม่เหมือนกับตำราเรียนทั่วไป
มาห์ดีสรุปว่า “Engare เป็นตัวอย่างเล็กๆ เท่านั้นเองที่พิสูจน์ว่า การศึกษากับความบันเทิงไม่ใช่สิ่งที่ต้องแยกออกจากกันอย่างเป็นเอกเทศ”
วิธีเล่น Engare เรียบง่ายอย่างไม่น่าเชื่อจนเด็กสามขวบก็เล่นได้ แต่ละฉากเราต้องสร้างรูปให้ตรงกับโจทย์ทางด้านบนของจอ รูปที่ว่านี้เราจับเม้าส์วาดเองไม่ได้ตรงๆ ต้องวาดด้วยการคลิกปุ่มซ้ายของเม้าส์เพื่อจรด ‘จุดเริ่มต้น’ บนรูปใดรูปหนึ่งที่กำลังเคลื่อนไหวบนจอ ไม่ว่าจะเป็นวงกลม สี่เหลี่ยม ฯลฯ แล้วให้การเคลื่อนไหวไม่กี่วินาทีของจุดนี้ลากเส้นออกมาเป็นรูปที่ตรงตามโจทย์
ยกตัวอย่างเช่น ฉากแรกๆ โจทย์บอกให้วาดเส้นตรงแนวนอน บนจอมีวงกลมหนึ่งวงกลิ้งไปข้างหน้า จุดที่เราต้องคลิกเพื่อตอบโจทย์ก็คือจุดศูนย์กลางของวงกลม เพราะถ้าคลิกจุดอื่นอย่างเช่นขอบของวงกลม การเคลื่อนไหวจะสร้างเส้นโค้ง ไม่ใช่เส้นตรง
ถ้าเราวางจุดผิดตำแหน่ง เราก็เพียงแต่คลิกจุดใหม่เท่านั้นทันทีที่เส้นเดิมหยุดวาด และถ้าอยากชะลอความเร็วเพื่อศึกษาการเคลื่อนไหวของรูปทรงบนจอ หรือเพื่อให้เล็งจุดได้ง่ายขึ้น ก็เพียงแต่คลิกขวาแล้วกดค้าง ระหว่างนั้นยังคลิกซ้ายได้ตามปกติ
ใครที่เคยชอบใช้ดินสอสีวาดเรขาคณิตด้วยชุดไม้บรรทัดวงกลมหมุนๆ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า spirograph เมื่อครั้งยังเด็ก (เด็กสมัยนี้คงไม่รู้จักแล้ว) จะ ‘เก็ต’ ปริศนาใน Engare ภายในไม่กี่วินาที แต่ปริศนาในเกมนี้จะยากขึ้นเรื่อยๆ อย่างรวดเร็วจนสร้างจาก spirograph ไม่ได้แน่ เพราะไม่เพียงแต่ต้องเลือกจุดเริ่มต้นที่ถูกต้องเท่านั้น ปริศนาบางอันให้ปรับความยาวหรือเปลี่ยนองศาของรูปที่กำลังเคลื่อนไหวประกอบ ก่อนที่จะตอบโจทย์ได้ถูกต้อง
การแก้ปริศนาชิ้นแรกๆ ในเกมนี้สนุกก็จริง แต่ก็ไม่ถึงขนาดที่ทำให้อัศจรรย์ใจ ความมหัศจรรย์ของ Engare จะเผยโฉมออกมาหลังจากที่เราแก้ปริศนาไปถึงจุดที่เกม ไม่หยุดวาด หลังจากที่เราตอบโจทย์สำเร็จแล้ว …มันเริ่มวาดเส้นใหม่ๆ ที่ปรับองศาเส้นเดิมของเราไปทีละนิด พร้อมระบายสีสวยงามตามช่องที่เกิดขึ้น
จากจุดเล็กๆ เพียงจุดเดียว ก่อเกิดเป็นรูปทรงเรขาคณิตอันงดงามเหนือกาลเวลา เบ่งบานพร้อมไคลแมกซ์ของดนตรีบรรเลง ซึ่งก็ใช้ดนตรีดั้งเดิมของอิหร่านมาประยุกต์เป็นสมัยใหม่เช่นกัน
นี่เองคือ ‘น้ำเสียง’ ของมาห์ดี นี่คือสิ่งที่เขาอยากแสดงให้เรารู้สึก
นี่คือมุมมองทางวัฒนธรรมที่สดใหม่ แตกต่างจาก ‘วัฒนธรรมชายผิวขาวจากโลกตะวันตก’ ที่ครอบงำวงการเกมมาช้านาน
และนี่คือหลักฐานสะท้อนประโยคอมตะของมหากวี จอห์น คีตส์ (John Keats) – “ความงามคือความจริง และความจริงคือความงาม”
เล่นไปไม่ช้าไม่นานเราจะเจอวงกลมหลายวงหมุนพร้อมกัน บางวงหมุนรอบวงกลมอีกวง ซึ่งก็หมุนอยู่ข้างในวงกลมวงใหญ่อีกที ปริศนาบางชิ้นมาพร้อมกับแท่งสี่เหลี่ยมแกว่งไกวไปพร้อมกับวงกลม ต้องเพ่งพินิจพิจารณานานสองนาน จินตนาการว่าควรจรดดินสอดิจิทัลตรงไหนในจอ ปรับความยาวของแท่งสี่เหลี่ยมประมาณไหน ปริศนาแรกๆ ให้เราสร้างเส้นโค้ง เส้นตรง และเส้นซิกแซกง่ายๆ แต่กว่าจะจบเกม เราจะได้ฝึกสมองอย่างเข้มข้นกับปริศนาสุดยาก เรียกร้องให้เราต้องศึกษาองค์ประกอบต่างๆ ของชิ้นส่วนจำนวนไม่น้อยที่กำลังเคลื่อนไหวบนจอ ค้นหาซีรีส์องศาที่ถูกต้องให้เจอ ก่อนที่จะสามารถหย่อนเจ้าจุดเริ่มต้นที่ต้องการ วาดเส้นที่ตอบโจทย์ได้สำเร็จ
ปริศนาน่าปวดเศียรเวียนเกล้าในช่วงท้ายๆ ของ Engare ให้ความรู้สึกคล้ายได้กลับไปทำการบ้านในวิชาเรขาคณิต แต่เราก็จะอยากพิชิตให้ครบ เพราะ ‘รางวัล’ ของการแก้ปริศนาสำเร็จในเกมนี้ คือ การให้เราถึง ‘บางอ้อ’ เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ส่วนผสมอันน่าทึ่งของการเคลื่อนไหวและการจัดวางรูปทรงพื้นๆ อย่างเส้นและวงกลมนั้น สามารถก่อเกิดเป็นแบบแผนอันสวยงามละลานตา แบบแผนที่ชาวอิหร่านจะคุ้นเคยจากพรมอาหรับและแผ่นกระเบื้องในมัสยิดอิสลามได้อย่างไร
รางวัลอีกอย่างของการเล่นเกมนี้ คือ โปรแกรมวาดภาพ (drawing tool) ที่ฝังอยู่ในตัวเกม เราจะปลดล็อกเครื่องมือตัวนีได้เมื่อแก้ปริศนาไปสักพัก และมันก็จะใส่ฟีเจอร์และลวดลายใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาเมื่อเล่นไปเรื่อยๆ
โปรแกรมนี้เรียบง่ายไม่ต่างจากปริศนาในเกม มาห์ดีบอกว่าเขาโค้ดเครื่องมือนี้ขึ้นมาช่วยพัฒนาเกม โดยได้แรงบันดาลใจจากกฎการสร้างลวดลายในศิลปะอิสลาม เป้าหมายคือให้เราสามารถเลียนแบบหรือสรรค์สร้างลวดลายเรขาคณิตที่ซับซ้อนอย่างในมัสยิดได้ตามใจชอบ เพียงใช้เม้าส์คลิกเลื่อนไม้บรรทัดและวาดเส้นหรือจุดง่ายๆ บนจอ ผลลัพธ์แสดงในเวลาจริง (real time) ทางด้านขวา
วันนี้เครื่องมือนี้เป็นเพียง ‘ของเล่น’ ในเกมที่แยกต่างหากจากชุดปริศนา แต่มาห์ดีบอกว่าเขากำลังเตรียมปล่อยโปรแกรมนี้ออกมาเป็นซอฟต์แวร์ต่างหาก ให้คนสามารถวาดและเซฟไฟล์เป็นฟอร์แมทต่างๆ เพื่อนำไปใช้ในซอฟต์แวร์กราฟิกตัวอื่น
Engare เป็นเกมในศตวรรษที่ 21 เกมที่สองที่ผู้เขียนคิดว่าควรได้รับการติดตั้งในคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในโรงเรียน (เกมแรกที่คิดว่าควรได้รับเกียรตินี้ คือ Minecraft)
เพื่อที่เยาวชนคนรุ่นใหม่จะได้มองเห็นความซับซ้อนในความเรียบง่าย รู้สึกถึงความมหัศจรรย์อันสง่างามของคณิตศาสตร์ และบางคนก็อาจจะได้ครุ่นคิดถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง ซึ่งดูจะถูกบั่นทอนลงทุกขณะในยุคแห่งความรีบเร่งที่เราถูกรายล้อมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
ความสัมพันธ์ระหว่างศรัทธา ธรรมชาติ ความงาม และความจริง.
หลังฉากกับ มาห์ดี บาห์รามี (Mahdi Bahrami) ผู้พัฒนาเกม Engare
ถาม: คุณชอบมัสยิดไหนมากที่สุดในโลก ในแง่การออกแบบเชิงศิลปะ? มัสยิดที่ว่านี้อยู่ใน Engare หรือเปล่า?8
ตอบ: อืม ผมคงเลือกมัสยิด ชี้ค ลอตฟอลลาห์ (Sheikh Lotfollah Mosque ในกรุงอิสฟาฮาน อิหร่าน) ครับ แต่ไม่ง่ายเลยถ้าต้องเลือกแห่งเดียว ผมคิดว่ามัสยิดแต่ละแห่งมีสไตล์และการออกแบบที่น่าทึ่งและเป็นเอกลักษณ์ส่วนตัวมากๆ ส่วนมัสยิดที่อยู่ในเกม Engare คือมัสยิด จาเมห์ (Jameh Mosque) ในอิสฟาฮานบ้านเกิดของผม
ถาม: Engare เป็นเกมปริศนาที่มหัศจรรย์ที่สุดเกมหนึ่งในประสบการณ์การเล่นเกม ที่น่าทึ่งคือคุณสามารถแสดงทั้งความงามของคณิตศาสตร์ และความพิศวงของศิลปะและคณิตศาสตร์อิสลามในคราวเดียว คุณคิดค้นกลไก ‘วาด’ ในเกม กลไกเรียบง่ายแต่สามารถผลิตแบบแผนอันสลับซับซ้อนของศิลปะอิสลาม ออกมาได้อย่างไร?
ตอบ: จุดเริ่มต้นของ Engare อยู่ในคำถามที่ครูสอนวิชาเรขาคณิตของผมเคยตั้ง เมื่อครั้งที่ผมยังเรียนมัธยมปลาย ครูเสนอให้เราทำการทดลองทางความคิดแบบนี้ครับ ลองจินตนาการว่ามีลูกบอลหนึ่งลูกบนพื้นดิน เลือกจุดจุดหนึ่งบนผิวลูกบอล เพ่งความสนใจไปที่จุดนั้นเมื่อลูกบอลเริ่มกลิ้งไปตามพื้น “จุดที่เธอเลือกบนลูกบอลจะวาดภาพบนพื้นเป็นรูปอะไร ระหว่างที่ลูกบอลกำลังกลิ้ง?”
ผมตัดสินใจทำเกมจากความคิดนี้ตั้งแต่ตอนนั้น ผมเพิ่งมาตระหนักหลังจากนั้นเองว่า รูปทรงต่างๆ ที่เป็นผลผลิตของระบบนี้มีความเชื่อมโยงที่แนบแน่นกับรูปทรงเรขาคณิตในศิลปะอิสลาม
ถาม: ความท้าทายที่ยากที่สุดที่คุณเจอคืออะไร ในฐานะนักพัฒนาเกมที่ทำงานคนเดียวในอิหร่าน?
ตอบ: ในอุตสาหกรรมเกมทุกวันนี้ การทำให้เสียงของคุณดังพอให้คนอื่นได้ยิน คือความท้าทายที่ยากที่สุดถ้าคุณไม่ได้ใช้ชีวิตในโลกตะวันตกครับ