เงินเฟ้อหนักมาก ประเทศแตกแยก การเมืองทะเลาะกันรุนแรง ความยากจนเข้าถาโถม ผู้คนจำนวนมากอพยพหนีออกจากบ้านเกิด เหล่านี้คือปัญหาที่ประเทศเวเนซุเอลาเผชิญมาตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา
ปีที่แล้ว เราอาจได้ยินข่าวเรื่องการลอบสังหารประธานาธิบดี ‘นิโคลัส มาดูโร’ ด้วยการใช้โดรนระเบิด มาถึงปี 2019 สถานการณ์การเมืองในประเทศนี้ก็ยังคงเข้มข้น ยิ่งล่าสุด ผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่าง ‘ฮวน กุยโด’ ได้ประกาศสถาปนาตัวเอง ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกคนหนึ่งของประเทศ
ยังไม่หมดแค่นั้น หลังจากที่กุยโดประกาศตัวเป็นประธานาธิบดีได้ไม่นาน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ยังออกมารับรองการสถาปนาครั้งนี้ของกุยโดอีกด้วย เช่นเดียวกับ ผู้นำของบราซิล เปรู โคลอมเบีย ปารากวัย คอสตาริกา และแคนาดา
ฟังๆ ดูแล้วสถานการณ์วุ่นวายกันไปหมด ภายในก็แตกแยก ภายนอกก็โดนกดดัน ตกลงมันกำลังเกิดอะไรขึ้นกับการเมืองเวเนซุเอลากันแน่ แล้วทำไมถึงมีต่างชาติเข้ามามีส่วนร่วมกันด้วย?
กำลังเกิดอะไรขึ้นในเวเนซุเอลา?
วิกฤตการเมืองของเวเนซุเอลารอบล่าสุด เป็นผลที่ลุกลามต่อเนื่องมาจากปัญหาเศรษฐกิจที่ทำร้ายประเทศมานานหลายปี ทั้งภาวะเงินเฟ้อรุนแรง ผู้คนอดอยาก อาหารและยารักษาโรคหาได้อย่างยากเย็น รวมถึงความไม่มั่นคงทางการเมือง ผู้คนแตกแยกเป็นสองฝั่งทั้สนับสนุนและคัดค้านมาดูโร
หลายปีที่ผ่านมา เวเนซุเอลาอยู่ภายใต้การบริหารโดยรัฐบาลมาดูโร โดยการเลือกตั้งเมื่อกลางปีที่แล้ว เขาได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่สอง แต่มันก็เป็นการเลือกตั้งที่โดนวิจารณ์พอสมควร โดยเฉพาะข้อหาเรื่องความไม่โปร่งใสในการเลือกตั้ง รวมถึง จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 46.1 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งปี 2013 ที่มีผู้ใช้สิทธิกว่า 80 เปอร์เซ็นต์
การเลือกตั้งครั้งนี้ ถูกคว่ำบาตรจากพรรคการเมืองฝ่ายค้านส่วนใหญ่ ส่วนสหรัฐฯ สหภาพยุโรป แคนาดา และประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกา ก็ประกาศตัวตั้งแต่แรกว่าไม่ยอมรับผลการเลือกตั้งครั้งนี้ เพราะมองว่าเป็นการเลือกตั้งที่ไม่เป็นไปตามหลักการที่ถูกต้อง
สถานการณ์ในเวเนซุเอลาปะทุขึ้นมาอยู่เรื่อยๆ และเดินมาถึงช่วงต้นปีที่เกิดโมเมนต์สำคัญขึ้น
มาดูโร เข้าพิธีสาบานตนเป็นประธานาธิบดี เมื่อวันที่ 10 มกราคม ซึ่งเป็นการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 และหลังจากนั้นก็เริ่มมีการชุมนุมของประชาชนที่ต่อต้านมาดูโรในหลายเมืองทั่วประเทศ
ฝ่ายค้านเริ่มชุมนุมใหญ่ในวันที่ 23 มกราคม โดยประธานรัฐสภา ฮวน กุยโด ประกาศระดมเสียงสนับสนุนเพื่อโค่นล้มมาดูโรให้ออกจากอำนาจให้ได้ นอกจากนี้ กุยโด ยังสถาปนาตัวเองเป็นประธานาธิบดีรักษาการ ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นหลังจากที่กุยโดสามารถรวบรวมเสียงจากฝ่ายค้าน เพื่อประกาศมติว่าการปกครองของมาดูโรไม่ชอบธรรมอีกต่อไปได้สำเร็จ พร้อมกับแถลงด้วยว่า เขาจะนิรโทษกรรมให้กับฝ่ายความมั่นคงที่เลิกสนับสนุนมาดูโร
ในทางการเมืองแล้ว จุดยืนของกุยโด น่าจะผ่านการวิเคราะห์อารมณ์ของประชาชนที่คัดค้านมาดูโรเป็นหลักมาแล้ว โดยเฉพาะเมื่อคนจำนวนไม่น้อยไม่ได้ศรัทธาและเชื่อมั่นการบริหารประเทศของมาดูโรอีกต่อไป และการสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สองของมาดูโร ก็จึงเป็นทั้งจังหวะที่ดี รวมถึงปัจจัยซึ่งบีบให้ฝ่ายค้านต้องออกมาเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน
การประกาศตัวของกุยโด ทำให้สถานการณ์การเมืองยกระดับไปอีกขั้น โดยหลายฝ่ายจับตาว่า กุยโด กำลังเรียกร้องให้กองทัพเข้ามามีบทบาทที่จะโค่นล้มมาดูโรด้วยหรือไม่
หลังจากกุยโดสถาปนาตัวเองเป็นผู้นำรักษาการได้ไม่นาน เสียงตอบรับจากนานาชาติก็เกิดขึ้นตามมา คีย์แมนคนสำคัญคือประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนกุยโดอย่างชัดเจน
พันธมิตรของสหรัฐฯ ก็เช่นกัน จนถึงตอนนี้มี บราซิล โคลอมเบีย ชิลี เปรู เอกวาดอร์ อาร์เจนตินา ปารากวัย และแคนาดา ที่ประกาศตัวยืนอยู่ฝั่งกุยโด
หลังจากสหรัฐฯ ออกตัวมาแรงๆ มาดูโรก็โต้กลับแบบเข้มข้น เขาสั่งให้ทูตสหรัฐฯ ต้องออกจากประเทศโดยด่วน แต่ทางการสหรัฐฯ บอกว่าจะไม่ทำตาม เพราะตอนนี้มาดูโรไม่ใช่ผู้นำที่มีอำนาจสั่งการได้อีกแล้ว (แต่ถึงอย่างนั้น ทางกระทรวงต่างประเทศก็สั่งให้ทูตบางส่วนออกมาจากเวนเซุเอลาอยู่ดี โดยระบุว่า ต้องการดูแลความปลอดภัย พร้อมกับแจ้งให้ประชาชน ‘พิจารณาอย่างรอบคอบ’ ที่จะเดินทางไปเวเนซุเอลา)
หันมาดูในทางตรงกันข้าม ตอนนี้จีนและรัสเซีย กำลังเป็นเพื่อนผู้สำคัญของมาดูโร โดยทั้งสองรัฐบาลมีจุดยืนสนับสนุนมาดูโรต่อไป และเรียกร้องให้ต่างชาติยุติการแทรกแซงกิจการภายในของเวเนซุเอลา เช่นเดียวกับพันธมิตรของมาดูโร เช่น เม็กซิโก โบลิเวีย คิวบา และตุรกี
มีการวิเคราะห์กันว่า ตัวละครสำคัญที่จะเป็น game changer คือกองทัพของเวเนซุเอลา ถึงอย่างนั้น BBC รายงานว่า ตอนนี้ฝั่งกองทัพยังยืนอยู่ข้างมาดูโร โดยเฉพาะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปาดริโน โลเปซ ที่ทวิตข้อความที่สนับสนุนมาดูโรอย่างชัดเจน
“ทหารของชาติจะไม่ยอมรับประธานาธิบดีที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่น่าแคลงใจ หรือประธานาธิบดีที่ประกาศแต่งตั้งตนเองนอกวิถีกฎหมาย” รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของเวเนซุเอลา ย้ำผ่านทวิตเตอร์
คำถามคือ สถานการณ์จะไปทางไหนต่อ?
มีความเป็นไปได้ที่ความตึงเครียดในเวเนซุเอลาจะคงสภาพเดิม หรือเป็น Status quo ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะมาดูโรไม่ใช่คนที่จะโค่นล้มได้ง่ายๆ ขณะเดียวกัน บทบาทของกุยโดก็ไม่น่าจะเคลมความเป็นผู้นำในทางปฏิบัติได้มากนัก ขณะที่บทบาทของกองทัพนั้น ทางผู้นำที่ครองอำนาจอยู่ในกระทรวงค่อนข้างชัดเจนว่าอยู่ฝั่งมาดูโร แต่อาจมีเรื่องที่จับตากันคือ บทบาทของทหารที่อยู่ชั้นล่างๆ ลงไปว่าจะเป็นอย่างไร?
สถานการณ์การเมืองในเวเนซุเอลา จึงไม่น่าจะสงบลงง่ายๆ ทั้งในแง่การเมืองในประเทศ และการเมืองระหว่างประเทศ
ในขณะที่คุณภาพชีวิต และวิกฤตเงินเฟ้อชนิดรุนแรง ยังคงทำร้ายประชาชนควบคู่ไปกับวิกฤตการเมืองที่เกิดขึ้น
อ้างอิงจาก
https://www.nytimes.com/2019/01/24/world/americas/noticias-venezuela-protests-maduro-guaido.html
https://news.vice.com/en_us/article/gyabgx/venezuela-maduro-guaido-trump-president
https://www.aljazeera.com/news/2019/01/venezuela-crisis-country-190117184349473.html
https://www.aljazeera.com/news/2019/01/venezuelas-army-declares-loyalty-maduro-190125143946117.html
https://www.bbc.com/thai/international-46994553