กลายเป็นสถานการณ์ในเวเนซุเอลา เข้มข้น รุนแรงมากขึ้น มี 2 ขั้วใน 1 ประเทศ หลังเผชิญทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ประชาชนอพยพออกนอกประเทศแล้ว ล่าสุด การเมืองยังร้อนระอุ พลังผู้นำพรรคฝ่ายค้านอย่าง ‘ฮวน กุยโด’ ประกาศสถาปนาตัวเอง ขึ้นมาเป็น ปธน. รักษาการของประเทศ
ไม่ใช่แค่มีปธน. 2 คน แต่ตอนนี้ประเทศยังแบ่งเป็น 2 ฝักฝ่าย ตอนนี้เริ่มมีการวิเคราะห์กันว่า สถานการณ์ในเวเนฯ ยังเข้าใกล้การเป็นสงครามตัวแทน ที่มีประเทศภายนอกเข้ามาร่วมด้วย ในการเลือกข้าง เลือกทีม ปธน.ที่สนับสนุน แสดงจุดยืนของแต่ละฝ่ายโดยชัดเจน
The MATTER ขอจัดทีม แบ่งฝ่ายให้เห็นกันชัดเจนระหว่าง ทีมมาดูโร กับทีมกุยโด รวมไปถึงทีมเป็นกลาง ว่าประเทศไหนอยู่ฝ่ายไหน เข้าข้างใคร สนับสนุนใครกัน
TEAM Guaidó
ฮวน กุยโดผู้นำของฝ่ายค้าน ที่ประกาศสถาปนาตัวเอง ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีอีกคนหนึ่งของประเทศ มีทีมประเทศนานาชาติเป็นผู้สนับสนุนคับคั่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่ประกาศไม่ยอมรับการเลือกตั้งที่มาดูโรเป็นผู้ชนะตั้งแต่ปี 2018 นำโดยสหรัฐอเมริกา ที่นอกจากสนับสนุนแล้ว ยังเสนอเงินช่วยเหลือจำนวน 20 ล้านดอลล่าร์ให้กับฝ่ายกุยโด และขอให้มีการประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในวิกฤตการณ์นี้ด้วย
พันธมิตรของสหรัฐฯ และทีมกุยโด ในตอนนี้ ยังมีแคนาดา ออสเตรเลีย รวมไปถึง 11 ประเทศในแถบลาตินอเมริกาอย่างอาร์เจนตินา, บราซิล, ชิลี, โคลัมเบีย, คอสตาริกา, เอกวาดอร์, กัวเตมาลา, ฮอนดูรัส, ปานามา, ปารักวัยและเปรู
ประเทศมหาอำนาจในยุโรป อย่างสหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส และสเปน ก็ได้ออกมาแถลงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 มกราคม ที่ผ่านมา) ว่า ทั้ง 4 ประเทศต้องการให้มีเลือกตั้งใหม่ โดยหากไม่มีการจัดเลือกตั้งภายใน 8 วัน จะยอมรับกุยโด เป็นปธน.รักษาการโดยทันที
TEAM MADURO
ทีมมาดูโรนั้น นำโดยพี่ใหญ่อย่าง รัสเซียที่ออกตัวมาพร้อมๆ กับจีน สนุบสนุนว่ามาดูโรคือ ปธน.ที่ถูกต้องตามกฎหมายของเวเนซุเอลา ทั้งยังประณามสหรัฐฯ ที่ออกมารองรับการสถาปนาของฝ่ายค้านอย่าง ฮวน กุยโด ว่าเป็นความพยายามแทรกแซงการเมืองภายในของเวเนฯ และสนับสนุนความพยายามในการปกป้องความเป็นอิสระ รวมถึงความมั่นคงของเวเนฯ ด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น ทีมนี้ ยังมีประเทศในตะวันออกกลางอย่างอิหร่าน และตุรกี ร่วมด้วย โดย ปธน.เจป ไตยิป แอร์โดอันของตุรกีก็ออกมาประกาศตัวชัดเจนเช่นกันว่าอยู่ข้างมาดูโร รวมไปถึงประเทศฝ่ายซ้ายในแถบลาตินอย่าง คิวบา และโบลิเวียที่ก็ร่วมจอยทีมนี้ เพราะมีแนวคิดทางการเมืองที่คล้ายคลึงกัน
นอกจากนี้ ปัจจัยสำคัญในการอยู่ในอำนาจของมาดูโร ไม่ใช่เพียงแค่การมีประเทศอื่นๆ สนับสนุน แต่ยังมีตัวละครสำคัญภายในประเทศอย่างกองทัพเวเนซุเอลา ที่รมต. กระทรวงกลาโหมปาดริโน โลเปซ ของเวเนฯ ออกมาทวีตข้อความว่าไม่ยอมรับปธน. ที่แต่งตั้งตนเองนอกวิถีกฎหมาย และออกประกาศผ่านโทรทัศน์ของประเทศว่าอยู่ข้างมาดูโร และวิจารณ์กุยโดว่าพยายามทำให้กองทัพ รัฐประหารมาดูโรเพื่อหาผู้นำใหม่ด้วย ซึ่งเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ สถาบัน และประชาธิปไตยของประเทศด้วย
TEAM เป็นกลาง
ฟาดฟันกันไปแล้ว 2 ทีม 2 ขั้วแล้ว ในวิกฤตการณ์นี้ ก็ยังมีทีมที่กำลังสังเกตท่าทีอยู่ นำโดยสหภาพยุโรป (EU) ที่แม้จะมีบางประเทศในสหภาพที่ประกาศจุดยืนไปบ้าง แต่ EU ก็ยืนยันว่าจะไม่ขอสนับสนุนทั้งมาดูโร และกุยโด แต่ขอให้เวเนฯ จัดเลือกตั้งใหม่โดยเร็วที่สุด
เช่นเดียวกับนิวซีแลนด์ ที่ประเทศพันธมิตรได้เลือกข้างกันไป และถูกกดดันให้ต้องเลือกทีม ก็ออกมาประกาศว่าไม่ขอสนับสนุนกุยโด หรืออยู่ฝ่ายใดๆ เลย โดย Winston Petersรมต. ต่างประเทศก็ได้แถลงว่า ไม่ใช้หน้าที่ของนิวซีแลนด์ในการสนับสนุนรับรองรัฐบาลของใคร แต่เป็นหน้าที่ของชาวเวเนฯ ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศตัวเอง ผ่านการเลือกตั้งที่เป็นธรรม
รวมถึงประเทศ ในลาตินอเมริกา อย่างเม็กซิโก, อุรุกวัย, กายอานา และเซนต์ลูเซีย ที่ขออยู่ตรงกลาง โดยเฉพาะเม็กซิโก กับอุรุกวัย ที่สื่อต่างประเทศหลายแห่งมองว่าอยู่ข้างมาดูโร เพราะไม่ได้ถอนการรับรอง ปธน. มาดูโร เหมือนอย่างประเทศในลาตินอื่นๆ ที่ออกมาสนับสนุนกุยโด แต่ ปธน. อันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโกยังออกมาให้สัมภาษณ์ว่าไม่เลือกฝ่ายใด รวมถึงล่าสุด รัฐบาลของเม็กซิโก และอุรุกวัยก็ได้เรียกร้องให้มีการจัดประชุมในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้ระหว่างประเทศที่เป็นกลาง เพื่อเป็นตัวกลางข้ามการเจรจาในเวเนฯ ด้วย
อ้างอิงจาก