อยากหนีกลียุคไปอยู่ยุคพระศรีอาริย์จะทำยังไง? หรืออยากย้ายไปอยู่ที่ฮอกวอร์ดจะทำได้มั้ย?
เราอยู่ในดินแดนที่อะไรๆ ก็ไม่เป็นอย่างหวัง ความถูกต้องเอยอะไรเอยเริ่มเลวร้ายลงเรื่อยๆ ทีนี้ก็เลยไม่แปลกที่เรารู้สึกว่าดินแดนที่เราอยู่มันหมดหวังแล้ว เราก็เลยเกิดกระแสอยากหนีไปเสียจากบ้าน แต่อย่างว่าด้วยเงื่อนไข ด้วยอะไรหลายอย่างทั้งสภาวะโรคระบาด ความรับผิดชอบ ความรู้สึกผูกพัน การเคลื่อนย้ายตั้งถิ่นฐานใหม่จึงไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่ายนัก
กระนั้น ในกระแสอยากหนีออกจากไปทีนี่ ส่วนหนึ่งนั้นคือการรักษาและแสวงหาความหวังใหม่ๆ ในโลกที่เราสิ้นหวัง แต่ดังที่ว่าคือการย้ายถิ่นไม่เคยง่ายและทำไม่ได้ในทันที หลายครั้งมนุษย์จึงเกิดการหลีกหนีในทางจินตนาการขึ้น เราอ่านงานเขียนที่เป็นเรื่องแต่ง จินตนาการถึงโลกอันเป็นทิพย์ อันเป็นดินแดนที่สุขสมบูรณ์ หรืออย่างน้อยก็มีความยุติธรรมอยู่ในนั้น วรรณกรรมและเรื่องแต่งบางประเภทจึงเรียกว่ามีคุณสมบัติเป็น escapism คือใช้หนีจากโลกแห่งความจริง อ่านๆ หรือนึกฝันไปแล้วก็ช่วยให้เราหนีจากโลกที่โหดร้ายไปได้เป็นครั้งคราว หรือยิ่งไปกว่านั้น ดินแดนในจินตนาการบางส่วนนั้นก็เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์เรายังคงรักษาความหวัง และเชื่อในวันพรุ่งนี้หรือชีวิตที่รออยู่ข้างหน้าต่อไป
ในช่วงเวลาที่ตัวยังย้ายไปไหนไม่ได้ และเป็นช่วงเวลาที่น่าจะหนีไปจากโลกแห่งความจริง The MATTER จึงอยากชวนหนีไปจากโลกแห่งความจริง หาทางลี้ไปยังดินแดนในจินตนาการ ที่เอาเข้าจริงในแทบทุกวัฒนธรรมล้วนมีเมืองที่สูญหาย เป็นเหมือนดินแดนอันอุดมสมบูรณ์ให้ผู้คนได้ฝันถึงและเฝ้าตามหา
ยุคพระศรีอาริย์
ขอเริ่มที่ดินแดนอุดมคติแบบไทยๆ คือโอเคอาจจะไม่เชิงเป็นเมือง คือหลายที่แม้แต่ในพุทธศาสนาเองก็มีแนวคิดเรื่องยูโทเปีย (Utopia) คือภาพจินตนาการของดินแดนอันเป็นอุดมคติ จักรวาลแบบพุทธจะพูดถึงอุตรกุรุทวีป ดินแดนที่ตรงข้ามกับชมพูทวีป เป็นที่ที่ไม่มีทุกข์ ไม่มีโรค ผู้คนมีใบหน้าทรงจัตุรัส แต่เวลาพูดถึงดินแดนที่ทุกคนรอคอยคือเราเชื่อเรื่องชาติหน้าเนอะ คนไทยเรายุคหนึ่งก็จะตั้งตารอให้ถึงยุคพระศรีอาริย์ คือเป็นยุครุ่งเรืองของพุทธศาสนา ในความเชื่อเรื่องยุคของพุทธคล้ายๆ ของพราหมณ์คือเชื่อเรื่องคาบ และในพุทธศาสนาจะเชื่อว่ายุคนั้นสัมพันธ์กับการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ ในสมัยเราก็คือพระโคตมเป็นองค์ที่ 4 จากพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ทีนี้ในคาบหนึ่งของพระพุทธเจ้าเชื่อว่าจะมีระยะที่ 5,000 ปี ดังนั้นช่วงปี 2500 เราจึงเรียกว่ากึ่งพุทธกาล
แนวคิดเรื่องวัฏจักรแบบพุทธจึงค่อนข้างน่าสนใจคือ ยุคที่ดีที่สุดนั้นผ่านมาแล้ว และอีกทีก็อยู่ในอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ทีนี้ในความเชื่อของไทย ความเชื่อเรื่องพระศรีอาริย์ หรือพระศรีอริยเมตไตรยที่จะเสด็จลงตรัสรู้และสืบสานพระศาสนานั้นค่อนข้างเป็นส่วนสำคัญของประเพณีของเราหลายอย่าง มีการการทำเควสต์ตามเงื่อนไขเพื่อให้ไปเกิดทันยุคดังกล่าวและอาจได้ก้าวพ้นเข้าสู่พระนิพพาน เช่นมีข้อความหรือคำอธิฐานในการประกอบพุทธบูชาและขอให้ไปเกิดทันยุคเช่นในจารึกโบราณ เช่น ที่วัดโนนศิลาในพุทธศตวรรษที่ 14 ก็จารึกความว่าขอให้ผลบุญนำไปเกิดในยุคพระศรีอาริย์
หนึ่งในผลของความเชื่อก็เช่นการจัดเทศน์มหาชาติทั้งของราชสำนักและของชาวบ้าน คือความเชื่อเรื่องยุคพระศรีอาริย์นั้นค่อนข้างปรากฏหลายที่ในคัมภีร์พระศาสนา ในระดับความเชื่อของพุทธของเรานั้นที่มาสำคัญหนึ่งก็เรื่องพระมาลัยนี่แหละ เรามีพระมาลัยสูตรที่ใช้สวดในงานศพและกลายเป็นวรรณคดีสำคัญปรากฏหลักฐานอย่างน้อยคือสมัยอยุธยา ทีนี้ในเรื่องพระมาลัยก็ว่าด้วยภิกษุที่มีฤทธิ์เหาะเหินไปท่องสามภูมิ มีตอนหนึ่งก็ขึ้นไปบนสวรรค์ ไปสักการะเจดีย์จุฬามณีแล้วก็ไปชิตแชตกับพระอินทร์ แล้วพระศรีอาริย์ที่เป็นพระโพธิสัตว์อยู่ก็เล่าให้ฟังว่ายุคของมนุษย์จะแย่ลงและค่อยๆ เข้าสู่กลียุค พระองค์จะลงไปตรัสรู้เมื่อสิ้นสุดพระศาสนา เรื่องนี้ก็เลยเป็นเหมือนอุบายให้คนรักษาศีลรักษาธรรม ซึ่งพระศรีอาริย์ก็บอกว่าให้ทำบุญแหละ แต่มีเงื่อนไขพิเศษคือต้องฟังเทศน์มหาชาติสิบสามกัณฑ์พันคาถาให้ครบ
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์จึงมีการชำระและประชุมแต่งเทศน์มหาชาติขึ้นมาหลายฉบับทั้งฉบับหลวงและฉบับราษฏร ทุกวันนี้ในหลายพื้นที่ก็ยังมีประเพณีเทศน์มหาชาติอยู่ หลังๆ มีเควสต์พิเศษเช่นว่าต้องฟังให้จบภายในคืนเดียว นอกจากเงื่อนไขเรื่องฟังเทศน์คัมภีร์อื่นก็มีพูดถึงบ้าง แต่ก็ว่าด้วยการถือศีลทำนุบำรุงพระศาสนา จริงๆ ถ้าเรามองยุคสมัยปัจจุบันก็เข้าข่ายกลียุคอยู่เหมือนกัน แต่ตามตัวเลขเราก็ต้องรออีก 2,500 ปีแน่ะ
Narnia
เวลาเราพูดถึงการหลบหนีจากโลกที่สวยงามเรามักนึกถึงงานแนวแฟนตาซีและงานวรรณกรรมเด็กที่เราอ่านและนึกฝันไปสู่ดินแดนอื่นสมัยที่ชีวิตยังเชื่อในจินตนาการ และแน่นอนดินแดนสำคัญที่มีกิมมิกเรื่องการข้ามไปมาก็คือนี่เลย ‘นาร์เนีย’ ดินแดนของคุณทัมนัส โลกที่สรรพสัตว์พูดได้และเวทมนตร์เป็นเรื่องธรรมดา กิมมิกสำคัญของนาร์เนียคือการเข้าสู่นาร์เนียด้วยการมุดเข้าไปเล่นในตู้ ตามชื่อเล่มแรกคือ The Lion, the Witch and the Wardrobe (ราชสีห์ แม่มด และตู้เสื้อผ้า/ตู้พิศวง) หรือภาคไทยฉบับเก่าแก่จะเรียกว่า ‘เมืองในตู้เสื้อผ้า’ ซึ่งในเล่มหลังๆ จะมีการอธิบายว่าเจ้าตู้นี้มาอยู่บนโลกได้ไง คือมันเป็นเหมือนต้นลูกของต้นแอปเปิลศักดิ์สิทธิ์ในนาเนียร์ที่เอามาปลูกไว้ที่สวน จนวันนึงต้นแอปเปิลเจอพายุหักโค่นลงก็เลยเอามาสร้างเป็นตู้
จุดสำคัญในนาร์เนียเล่มแรกคือกิมมิกเรื่องตู้เสื้อผ้านี่แหละที่ทำให้เด็กๆ ทุกคนเหมือนเชื่อมต่อเข้าสู่ดินแดนมหัศจรรย์ได้ด้วยเฟอร์นิเจอร์ธรรมดาๆ ภายในบ้าน ในตอนนั้นเชื่อว่าหลายคนคงแอบไปมุดสำรวจตู้เสื้อผ้าที่บ้าน เผื่อว่าพื้นที่เคยแข็งๆ จะกลายเป็นปุยหิมะบ้าง ทีนี้อีกจุดหนึ่งที่น่าสนใจคือการหนีของเหล่าเด็กๆ จากโลกแห่งความจริงไปสู่ดินแดนวิเศษนั้น ปมหนึ่งของเรื่องคือการที่เด็กๆ ใช้โลกจินตนาการนี้หนีไปจากปัญหา จุดหนึ่งของเรื่องคือจริงๆ เด็กๆ ที่ต้องย้ายไปอยู่บ้านในที่ห่างไกลนั้นก็เพราะภัยของสงคราม ตู้เสื้อผ้านั้นจึงเป็นเหมือนที่หลบภัยและดินแดนที่ให้ความรู้สึกปลอดภัยในการพลัดจากบ้านและครอบครัว
Hades’s Hell
บางทีอยู่บนโลกกับย้ายไปอยู่ยมโลกก็อาจจะพอๆ กัน นรก—หรือจริงๆ อาจจะเรียกว่าโลกใต้พิภพตามความเชื่อของกรีก คือเป็นที่ที่ใครๆ ที่ตายไปแล้วก็ต้องไปเมื่อตายลง นรกแบบกรีกนอกจากจะมีการวาดภาพอย่างมีสีสันที่เป็นเหมือนพื้นที่กายภาพ และเป็นเหมือนอุปมาของปลายทางของชีวิตแล้ว ในตำนานของกรีกจะมีเรื่องราวของฮีโร่ที่ไปนรกและกลับขึ้นมาได้ กรีกและโรมันเองก็มีจุดที่เหมือนระบุว่า ตรงเนี้ยคือปากประตูนรก ลงไปโลกใต้พิภพต้องไปทางนี้จ้า
ทางเข้าโลกใต้พิภพของเจ้านรกฮาเดส ตามความเชื่อของกรีกคือเชื่อกันว่าตั้งอยู่ที่บริเวณถ้ำชื่อ Cape Matapan เป็นแหลมที่อยู่ใต้ที่สุดบนแผ่นดินกรีซ ตัวถ้ำหน้าตาคือเหมาะยิ่งที่จะเป็นปากทางนรกที่จะเดินทางไปสู่โลกหน้า ในตำนานกรีกเหล่าฮีโร่ที่ไปเยือนนรกไม่ว่าจะเป็นออร์เฟอุสหรือเฮอร์คิวลิสก็ล้วนกล่าวว่าใช้ถ้ำนี้เพื่อลงไปทำภารกิจ จริงๆ โลกใต้พิภพของกรีกมีทางเข้าหลายทาง ทางน้ำอันเป็นทางหลักเชื่อว่าสามารถเข้าทางวิหาร Necromanteion of Ephyra ของเทพยากรณ์แห่งความตายที่เมืองโบราณ Ephyra วิหารแห่งนี้ตั้งอยู่ที่แม่น้ำ Acheron หนึ่งในแม่น้ำสายที่ทอดไปสู่โลกแห่งความตายและเป็นแม่น้ำที่มีเรือของ Charon พายพาดวงวิญญาณข้ามไปส่ง
แม่น้ำถือเป็นเส้นทางหลักที่กรีกเชื่อว่าทอดไปสู่ยมโลก ว่ากันว่ามีแม่น้ำที่ปรากฏบนโลกและทอดไปสู่บาดาลทั้งหมดหกสาย แต่ละสายมีความหมายแตกต่างกันไป แม่น้ำ Acheron คือสายน้ำแห่งความเจ็บปวด แม่น้ำ Styx หมายถึงความเกลียดชัง แม่น้ำ Lethe หมายถึงการหลงลืม Phlegethon คือแม่น้ำแห่งไฟ Cocytus คือแม่น้ำแห่งความอาดูร และสุดท้ายคือ Oceanus คือแม่น้ำใหญ่ที่ไหลวนรอบโลก การข้ามแม่น้ำเป็นกระบวนการสำคัญ ดวงวิญญาณจะอมเหรียญไว้ในปากเพื่อจ่ายเป็นค่าผ่านทาง ปากทางเข้านรกเฝ้าไว้ด้วยสุนัขสามหัว ในความเชื่อแบบกรีกการข้ามแม่น้ำสำคัญยิ่ง ตามความเชื่อคือดวงวิญญาณที่ไม่ได้รับการฝังอย่างถูกต้องจะไม่สามารถขึ้นเรือข้ามฝั่งไปได้
นาครเขษม
คุณรู้จักเวิ้งนาครเกษมมั้ย มันเป็นที่ที่มีของเก่าไปขาย ในย่านโบราณๆ คำถามคือ เราในฐานะคนที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไล่ตามความฝันลมๆ แล้งๆ ไปวันๆ ถ้าถึงวันที่เรากลายเป็นของเก่า—คนแก่—เข้าล่ะ และนี่คือ ‘นาครเขษม’ ดินแดนแปลกประหลาดจากนวนิยายขนาดสั้นในชื่อเดียวกันของคอยนุช ผู้สร้างกรุงเทพฯ ในฐานะเมืองที่มีคนเหงาเท่าเสาไฟฟ้าจากหมานคร งานของคอยนุชมีลักษณะค่อนไปทางสัจนิยมมหัศจรรย์ คือทำเหมือนว่าโลกแห่งความจริงมีความแปลกประหลาดเกิดขึ้นเป็นปกติ ในเรื่องนี้ก็เช่นกัน คือเล่าถึงเมืองแปลกประหลาดชื่อ นาครเขษม เป็นเมืองที่เมื่อเราอายุถึง 40 ปีแล้ว เราจะไปอยู่ที่นั่นโดยอัตโนมัติ
ฟังแล้วก็ร้าวใจ อะไรคือเมืองคนที่เริ่มเก่าต้องไปอยู่รวมกัน แถมที่เมืองนั้นก็เต็มไปด้วยคน ด้วยของที่แปลกประหลาดหรือผุพังไปคนละอย่าง มีพนักงานออฟฟิศที่ต่อมเหงื่อไม่ทำงาน เครื่องพิมพ์ดีดที่ไม่มี ฟ. ฟัน คุณดำรงที่เฝ้าฝันแต่เพียงว่าจะมีบ้านเล็กๆ ที่บ้านนอก เรื่องราวที่ดูบ้าบอนี้พอเราซึมซับเรื่องราวไป เราก็อาจจะเริ่มสะท้อนใจว่า แล้วเราล่ะ เมื่อไหร่เราถึงจะเก่า พอเราอายุ 40 ปีแล้ว เราจะยังดำเนินชีวิตต่อไปทางไหน เราจะเริ่มนับถอยหลังไหม อะไรคือความฝันของเรา เราเริ่มพัง เริ่มมีตำหนิแล้วรึยัง และเราอยากมีบ้านเล็กๆ ที่บ้านนอกอันไม่มีจริงอยู่รึเปล่า วันหนึ่งคุณอาจต้องไปอยู่ในนาครเกษมจริงๆ ก็ได้
Wizarding World
ดูเหมือนจะเป็นความฝัน ที่แม้เราจะอายุเยอะแล้วแต่ถ้าเป็นไปได้ ถ้ามีเวทมนตร์ เป็นพ่อมดแม่มดเหมือนกับในนิยายก็คงจะดี ซึ่งก็นี่เลยโลกของพ่อมดแม่มดจาก แฮร์รี่ พอตเตอร์ เป็นอีกหนึ่งโลกที่เราเองแอบหวังลึกๆ ว่าถ้ามีจริง ได้รับจดหมายเข้าเรียนบ้างก็คงจะดี ความพิเศษของโลกผู้วิเศษของ เจ. เค. โรว์ลิง คือการซ้อนทับแต่แยกขาดออกจากกันระหว่างโลกผู้วิเศษและโลกของพ่อมด มีทางเชื่อมพิเศษที่ผู้ได้รับเลือกหรือผู้วิเศษเท่านั้นจะเข้าออกได้ แน่นอนว่าช่องทางสำคัญคือชานชาลาที่ 9 ¾ ที่ทำให้ตัวชานชาลาจริงๆ โด่งดังระดับโลกเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญของลอนดอน
อันที่จริงโลกพ่อมดของแฮร์รี่นั้นไม่ได้พิเศษแค่การมีเวทมนตร์คาถา ไม่ต้องล้างจานทำอาหารเองแต่อย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วโลกพ่อมดและเรื่องราวของแฮร์รี่ยังสัมพันธ์กับการเป็นพื้นที่ที่ความเป็นอุดมคติยังคงมีความหมายอยู่ เราจะเห็นดินแดนที่ยังคงมีความหวัง มิตรภาพมีความหมาย ความกล้าหาญและคุณธรรมเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด อนึ่ง การเข้าออกโลกพ่อมดแม่มดนั้นมีอีกหลายช่องทางทั้งเครือข่ายฟลู รถเมล์อัศวินราตรี การบินเข้าไปโดยตรงและอีกหลายช่องทาง
Totoro’s Forest
ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราโหยหา และเรื่องราวของฮายาโอะ มิยาซากิ—สตูดิโอจิบลิ—ก็ล้วนพูดถึงความสัมพันธ์ ความเคารพ และอำนาจของธรรมชาติ ป่าของโตโตโร่เป็นหนึ่งในดินแดนแสนสงบและสวยงามที่เราต่างอิจฉาซะสึกิกับน้องเม (Mei) ที่มองเห็นและหลงเข้าไปพบกับเทพพิทักษ์ป่าขนปุยได้
ทีนี้ ทำไมสองสาวน้อยพี่น้องถึงเป็นเพียงสองคนที่สามารถเข้าไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของป่าเขาได้ ประเด็นการเข้าถึงโลกของเทพแห่งป่าจึงอาจไม่ได้อยู่แค่การไปหาบ้านเก่าๆ ชายทุ่ง หรือการเจอภูติฝุ่นในบ้าน ไปจนถึงการไปเจอต้นการบูรเก่าแก่อันเป็นที่สถิตของโตโตโร่ สิ่งสำคัญที่เด็กหญิงทั้งสอง—และในเรื่องมีเด็กชายด้วยแต่เด็กชายมองไม่เห็นเหล่าภูต ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความเชื่อ ความไร้เดียงสาทำให้ไม่เกรงกลัวต่อสิ่งที่มองไม่เห็น การเคารพที่ในที่สุดแล้วทำให้สองพี่น้องสามารถเชื่อมต่อกับธรรมชาติ จนกระทั่งสามารถปลูกเมล็ดพันธุ์ป่าโบราณของโตโตโร่ได้
Avalon
Avalon เป็นเกาะในตำนานจากปกรณัมของชาวเคลต์ คือเป็นเรื่องเล่าพื้นที่ของอังกฤษที่พูดถึงเกาะศักดิ์สิทธิ์อันเป็นตำนานและเกี่ยวข้องกับกษัตริย์อาเธอร์ ตัวเกาะเข้าใจว่าเป็นที่ๆ ดาบเอ็กซ์แคลิเบอร์ถูกตีขึ้น เป็นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพืชพรรณ และเป็นสถานที่เยียวยากษัตริย์อาเธอร์ให้หายจากบาดแผลสาหัส ตามชื่อเกาะแอวาลอนมีชื่อภาษาพื้นเมืองว่า Insula Avallonis เชื่อว่ามีความหมายว่าเกาะแห่งต้นแอปเปิล คำว่า Aval หมายถึงผลไม้ คือเป็นเกาะที่อุดมไปด้วยพืชพรรณธัญญาหารที่ล้วนเติบโตผลิดอกออกผลได้ด้วยตัวเอง บ้างก็เรียกว่า Ynys Witrin หมายถึงเกาะแก้ว คล้ายๆ เกาะแก้วพิสดาร คือมีความมหัศจรรย์งดงาม ตัวเกาะแห่งนี้บางตำนานเล่าว่าเป็นที่ที่ราชินีภูตทั้งเก้าพาร่างที่บาดเจ็บสาหัสของกษัตริย์อาเธอร์กลับไปรักษาจนรอดชีวิต
ตามตำนานเกาะแห่งนี้ปรากฏขึ้นใน History of the Kings of Britain เขียนขึ้นราวศตวรรษที่ 12 เกาะแห่งนี้มีลักษณะเป็นดินแดนในอุดมคติ ด้านหนึ่งสัมพันธ์กับตัวตนของความเป็นอังกฤษ ความเชื่อเรื่องอัศวินและการรักษาเกียรติยศ รวมไปถึงความอุดมสมบูรณ์และการมีสำนึกร่วมกันของคนบนเกาะอังกฤษ แน่นอนว่าความเชื่อเรื่องเกาะนี้จริงจัง มีการส่งทีมค้นหาเพื่อไปค้นหาเช่นพระเจ้าเอ็ดเวิร์ดที่สองก็ส่งคณะเดินทางออกตามหา และเชื่อว่าได้โลงศพของกษัตริย์อาเธอร์กลับมาไว้ที่มหาวิหารแกลสตันบูรี พื้นที่ที่ปัจจุบันจัดคอนเสิร์ตใหญ่ที่กันเชื่อว่าเป็นที่ตั้งของเกาะศักดิ์สิทธิ์นี้
El Dorado
มนุษย์เรามีความเชื่อเรื่องมหานครอันสาบสูญ หรือดินแดนอันเป็นอุดมคติในด้านต่างๆ และเรามุ่งตามหาสิ่งนั้นกันอยู่เสมอ ในยุคล่าอาณานิคมและการเดินทางสำรวจทั่วโลก ในศตวรรษที่ 16-17 นั้น โลกตะวันตกมีความเชื่อลึกๆ ว่า ในดินแดนลี้ลับอันห่างไกลของอเมริกาใต้มีนครต้องมนต์อันมั่งคั่งรอคอยให้ค้นพบอยู่ นอกจากมหานครในป่าแอเมซอน สุสานที่เต็มไปด้วยภูตผีและสมบัติล้ำค่าในพีระมิด ในการเดินทางไปยังโลกใหม่คืออเมริกานั้น มีเมืองในตำนานชื่อ El Dorado อันเป็นเรื่องเล่าที่ชาวสเปนและ Sir Walter Raleigh นักสำรวจชาวอังกฤษผู้เป็นกวีได้ไล่ตามหามหานครโบราณที่ว่ากันว่าปกคลุมด้วยทองคำ
El Dorado หมายถึงผู้ซึ่งเป็นทองคำ มาจากเรื่องเล่าและตำนานชองชนพื้นเมืองบริเวณเทือกเขาแอนดีส (Andes)—แถวประเทศคอลอมเบียในปัจจุบัน ว่าชนพื้นที่เมืองนั้นมีความแปลกประหลาดและมั่งคั่ง ดินแดนของพวกเขาเต็มไปด้วยทองคำและอัญมณี มีตำนานเล่าอย่างหลากหลายว่ามีเจ้านครทำการบูชาเทพเจ้าอย่างสุดขั้วโดยการใช้ทองคำคลุมร่างของผู้ปกครองและโดดลงทะเลสาบ Lake Guatavita เพื่อบูชาเทพเจ้าพร้อมกับโปรยของมีค่าต่างๆ ตามลงไป ในการเดินทางสำรวจของชาวสเปน และต่อมาคือนักเขียนและนักสำรวจชื่อดัง Sir Walter Raleigh ของอังกฤษที่ลงทุนข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงสองครั้งเพื่อมองหานครทองคำแห่งนี้ ในการเดินทางครั้งที่สองถึงกับสูญเสียลูกชายไป
อย่างไรก็ตามตำนานนี้มีเค้าความจริง ในปี ค.ศ.1545 เจ้าอาณานิคมทำการลดระดับทะเลสาบลงได้สำเร็จบางส่วนและค้นพบชิ้นส่วนของทองคำตามตำนาน
อ้างอิงข้อมูลจาก
www.madchima.orgtopic=25309.0&fbclid=IwAR2FDVyxcwXJajy9CgSIVM2qcl3SbgekrrFSZKVVzabwXrV-7-j6ppNXSAA
มาลัยสูตร : เกร็ดความรู้ จากสารานุกรมไทย (baanjomyut.com)