ในช่วงที่ตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเป็นขาลงเหมือนในปัจจุบันนี้ ก็ไม่ใช่ว่านักลงทุนจะหาทางทำกำไรไม่ได้ บนโลกของสินทรัพย์ดิจิทัล ในช่วงเวลาเดียวกับที่ตลาดคริปโตฯ ราคาตก กลับกลายเป็นนาทีทองของ ‘DeFi’ หรือการเงินแบบกระจายศูนย์
คำๆ นี้เป็นคำใหม่ แน่นอนว่ามันอาจจะไม่เคยผ่านหูใครหลายคน แต่ขณะเดียวกันคำนี้ก็น่าจะผ่านหูชาวเน็ตอีกหลายคนในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมานี้
DeFi ย่อมาจากคำว่า Decentralized Finance แปลแบบตรงไปตรงมาจะได้ว่า ‘การเงินแบบกระจายศูนย์’
ที่ว่ากระจายศูนย์นั้นเป็นอย่างไร อาจจะต้องอธิบายให้เข้าใจจากการกำเนิดขึ้นของ ‘บิตคอยน์’ (Bitcoin) สกุลเงินดิจิทัลเหรียญแรกของโลก ที่ปัจจุบันได้ชื่อว่าเป็นทองคำของโลกคริปโตฯ เพราะมูลค่าของมันขึ้นอยู่กับการให้มูลค่าของนักลงทุนร่วมกัน
บิตคอยน์ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นสกุลเงินบนโลกดิจิทัลที่ไม่มี ‘ตัวกลาง’ ในการทำธุรกรรม เพราะผู้สร้างเกิดความไม่เชื่อใจในตัวผู้กำกับนโยบาย และคิดว่าทำไมเราต้องเชื่อใจเอาเงินไปให้ใครสักคนยืนยันธุรกรรมให้ด้วยล่ะ?
เหมือนเวลาไปธนาคารจะมีพนักงานคอยฝาก-ถอนเงินให้ ดังนั้นธนาคารในที่นี้คือตัวกลางในการทำธุรกรรม ทำหน้าที่ให้บริการและค้ำประกันความเชื่อใจของทุกคนในสังคมด้านทรัพย์สิน
ดังนั้นธุรกรรมของคริปโตเคอร์เรนซีที่เกิดขึ้นจึงอยู่บนฐานคิดที่ว่า ตัวกลางทั้งหมดไม่ว่าจะธนาคาร รัฐ หรือผู้กำกับนโยบายไม่สามารถเข้าแทรกแซง อนุญาต อายัดธุรกรรม หรือห้ามไม่ให้เราถือครองทรัพย์สินนั้นได้
ถ้าเป็นแบบนั้นแล้วใครจะเป็นคนยืนยันธุรกรรมในโลกคริปโตฯ ล่ะ? คำตอบคือบิตคอยน์ดำเนินการบนเทคโนโลยีบล็อกเชน เทคโนโลยีที่แบ่งข้อมูลเป็นบล็อก (block) และร้อยต่อเข้ากันเป็นโซ่ (chain)
เมื่อการทำธุรกรรมเกิดขึ้นบนบล็อกเชน ข้อมูลการทำธุรกรรมจะถูกบันทึกและกระจายสำเนาไปยังทุกคนที่อยู่บนบล็อกเชนนั้นๆ ร่วมกัน ดังนั้นจึงเกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ การฉ้อโกงหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลจึงเป็นไปได้ยาก พูดอีกแบบก็คือ การทำธุรกรรมมี ‘คอมพิวเตอร์’ คอยบันทึกเป็นโค้ดไว้ทุกฝีก้าว
ฟังก์ชั่นของบิตคอยน์คือการเป็นสกุลเงินแลกเปลี่ยน ดังนั้นสิ่งที่บิตคอยน์ทำได้คือการโอนสินทรัพย์ไปมาระหว่างบุคคลเท่านั้น แต่บนโลกสินทรัพย์ดิจิทัลที่เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญ และนักลงทุนรวมถึงผู้พัฒนาเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีจะเป็นคำตอบของอนาคตการเงินโลก เทคโนโลยีที่เป็น ‘ขั้นกว่า’ ของบล็อกเชนคือสิ่งที่เรียกว่า ‘smart contract’ ชุดคำสั่งทางคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมที่สามารถดำเนินการได้ด้วยตัวเองเมื่อครบเงื่อนไขที่ตกลงกันไว้ก่อนที่จะเขียน
อธิบายต่ออีกนิดว่า สมมตินาย A ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากนาย B บน smart contract ถ้าใช้วิธีโอนปกตินาย A ต้องตรวจสอบว่าเงินเข้าไหมก่อนจะไปดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ แต่บนเทคโนโลยีตัวนี้ ทันทีที่คอมพิวเตอร์ตรวจสอบว่าธุรกรรมถูกยืนยัน กรรมสิทธิ์จะถูกโอนต่อทันทีโดยไม่ต้องมีตัวกลางหน่วยงานใดในการทำหน้าที่โอน ปั๊มกระดาษ หรือเซ็นเอกสาร
ตัวอย่างของ smart contract คือ ‘อีธีเรียม’ Ethereum (เหรียญคริปโตฯ ที่นิยมเป็นอันดับสองรองจากบิตคอยน์) ถูกสร้างขึ้นโดย ‘Vitalik Buterin’ เมื่อหกปีที่แล้ว โดยอีธีเรียมเป็นเทคโนโลยีบล็อกเชนที่ให้ผู้พัฒนาอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่เขียนโปรแกรมซับซ้อนลงไป หรือนำแพลตฟอร์มอื่นมาปลั๊กอินกับบล็อกเชนของอีธีเรียมเพื่อสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจของตัวเองได้ เช่นเว็บขายงานศิลปะ NFT ดังๆ หลายเว็บที่กำลังไฮป์ในยุคนี้ ก็เป็นหนึ่งในแพลตฟอร์มที่ดำเนินการบนอีธีเรียมเหมือนกัน ซึ่งการซื้อขายแลกเปลี่ยนก็แน่นอนว่าด้วยเหรียญอีธีเรียมนั่นเอง
และบน smart contract นี่แหละที่ๆ บรรดา DeFi ถือกำเนิดขึ้น ผู้พัฒนาหลายรายบอกว่าถ้ามันโอนเงินโดยไม่ต้องมีตัวกลาง ธุรกรรมอื่นๆ ก็ไม่ต้องมีตัวกลางได้สิ ไม่ว่าจะเป็นการกู้ยืมเงิน การแลกเปลี่ยนสกุลเงิน การค้ำประกันต่างๆ ก็เกิดขึ้นได้ถ้าเราเชื่อใจร่วมกันในโค้ด
“และด้วยการที่แพลตฟอร์ม DeFi ต่างๆ ทำงานด้วยโค้ดหรือรหัสคำสั่งโปรแกรมบนบล็อกเชน (smart contract) ที่มีความน่าเชื่อถือ หากโค้ดนั้นๆ ระบุว่าจะมีเพียงเราซึ่งเป็นเจ้าของเท่านั้นที่สามารถฝาก-ถอนเงินของเราได้ มันก็จะเป็นเช่นนั้นเสมอ จึงไม่มีทางเลยที่เจ้าของแพลตฟอร์ม DeFi จะสามารถขโมยหรือถอนเงินของเราออกไปได้ และสิ่งนี้เองที่ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเชื่อใจในมนุษย์อีกต่อไป เราเพียงแค่เชื่อใจในโค้ดก็พอ
“แต่ในทางตรงกันข้ามหากโค้ดของแพลตฟอร์ม DeFi นั้นๆ ตั้งใจเขียนออกมาเพื่อขโมยเงินของเรา และเราไม่ได้ตรวจสอบให้ดี เราก็สามารถสูญเสียเงินได้เช่นกัน ผมจึงขอนิยามโลก DeFi ว่า ‘Code is law’ หรือโค้ดคือกฎของทุกสิ่ง”
นี่คือคำอธิบายของ ‘กานต์นิธิ ทองธนากุล’ ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊กเพจ Kim DeFi Daddy และ Bitcoin Addict Thailand ซึ่งเขาเขียนไว้บนบทความของ Techsauce
เอาล่ะ มาลองดูภาพ DeFi การใช้งานจริงให้เห็นภาพกันชัดขึ้นดีกว่า มีธุรกิจหนึ่งเกิดขึ้นมาเพราะโลกธุรกรรมการเงินของคริปโตฯ ต้องการสภาพคล่องทางการเงิน (liquidity) ธุรกิจที่ว่าเปิดให้คนถือคริปโตฯ เอาเงินมาฝากไว้ เพราะถ้าถือไว้เฉยๆ มูลค่าจำนวนโทเคนก็เท่าเดิม แต่ถ้ามาฝากไว้บนแพลตฟอร์ม เมื่อมีคนมากู้ยืมหรือมาแลกเปลี่ยนอัตราเงิน (ซึ่งต้องมีการเสียดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมอยู่แล้ว) คนที่เอามาฝากก็จะได้กินดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมดังกล่าวไปด้วย
‘SushiSwap’ เป็น DeFi บนอีธีเรียมที่เปิดให้คนมาฝากเหรียญได้ และเมื่อมีคนมาเทรดเหรียญบนแพลตฟอร์ม คนที่มาเทรดจะซื้อขายกับ liquidity pool หรือแหล่งเงินฝากของแพลตฟอร์มนั้นๆ ดังนั้นคนที่ฝากเงินไว้ก็จะได้โทเคนหรือ liquidity provider (LP) เป็นผลตอบแทน คล้ายๆ ดอกเบี้ยเงินฝาก
DeFi อื่นๆ ที่มีชื่อเสียงก็เช่น Uniswap และ PancakeSwap ที่ก็จะมีค่าธรรมเนียม ข้อดี-ข้อดีต่างกันไป แน่นอนว่ายิ่งมีคนมาแลกเปลี่ยนสินทรัพย์บนแพลตฟอร์มมากขึ้นเท่าไหร่ คนที่เอาเงินมาฝากไว้พลู (pool) ก็ยิ่งได้ผลตอบแทนมากขึ้นเท่านั้น
DeFi จึงเป็นอีกช่องทางลงทุนที่น่าสนใจนอกเหนือจากการเทรดเหรียญคริปโตฯ ปกติ ในประเทศไทยเองก็มีกลุ่มคนที่สนใจเรื่อง DeFi กันอย่างเหนียวแน่น ถึงขั้นว่ามีห้อง DeFi ในคลับเฮาส์ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงติดกันหลายวัน เป็นห้องให้คนเข้ามาแลกเปลี่ยนความเห็น อัพเดต DeFi ใหม่ๆ ที่น่าเข้าไปลงทุน—เพราะว่าโลกของสินทรัพย์ดิจิทัลไม่มีเวลาเปิดตลาดยังไงล่ะ ตอนที่เรานอนอยู่ อีกซีกโลกเขาก็ตื่นมาทำธุรกรรม
การลงทุนใน DeFi ที่เป็นที่นิยมแบบหนึ่งคือการฝากเหรียญ stable coin หรือเหรียญดิจิทัลที่มูลค่าขึ้นลงตามเงินสกุลหลักโลก (เช่น เหรียญคริปโตฯ 1 USDT = 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งกานต์นิธิบอกไว้ว่า ฝากเงินวิธีนี้กับพลูได้ผลตอบแทนเพิ่มปีละ 7-20% เลยทีเดียว แน่นอนว่ามากกว่าเงินฝากธนาคารหลายเท่า นอกจากนี้ DeFi ยังสามารถทำอะไรได้อีกมากนอกจากที่กล่าวไป และเราน่าจะได้เห็นกันในอนาคต
นี่จึงเป็นยุคการเงินที่คนถกเถียงเกินไปกว่าคำถามว่า เราจะฝากเงินกับธนาคารไหน รูปแบบไหนถึงได้รับผลตอบแทนดีที่สุด? เพราะมันมาถึงจุดที่เรามีช่องทางธุรกรรมที่ผลตอบแทนดีกว่า แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราเชื่อมั่นในเทคโนโลยีแค่ไหน ถัดมาด้วยคำถามว่าเราจะต้องมีตัวกลางไหม? และถ้ามีคนบอกว่าคริปโตฯ เป็นสินทรัพย์ไร้พื้นฐาน ไม่มีตัวกลาง ไม่น่าเชื่อถือ ลงทุนไปก็เสี่ยง ก็จะมีคนอีกกลุ่มเถียงกลับว่า แล้วทำไมเราจึงเชื่อใจในธนาคารหรือรัฐที่เป็นผู้จัดการธุรกรรมของเราในฐานะตัวกลางกันล่ะ? เพราะมนุษย์มีความรู้สึก แต่โค้ดไม่มี
ถึงจุดนี้ก็คงจะเห็นแล้วล่ะว่า โลกการเงินแบบกระจายศูนย์มันได้ตั้งคำถามโลกการเงินแบบดั้งเดิมด้วยตัวของมันเอง
อย่างไรก็ตาม โลกของสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง DeFi ก็มีความเสี่ยง ด้วยความใหม่และยังไม่ได้ถูกกำกับให้ชำระได้ตามกฎหมาย และด้วยตัวแพลตฟอร์มที่เปิดแบบ open source ให้ใครก็ได้มาเขียนโค้ดปลั๊กอินพัฒนาบนบล็อกเชนนั้นๆ นี่เอง เป็นเหตุผลให้ผู้พัฒนาหลายรายมุ่งเน้นแต่การพัฒนาตัวธุรกิจ และละเลยเรื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์
เราเลยได้เห็นข่าวการโจรกรรมไซเบอร์บน DeFi อยู่เนืองๆ ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ต้องประเมินก่อนเอาไปลงทุน และคงต้องถามตัวเองซ้ำๆ ว่าเรายอมเสียเงินให้กับตลาดที่เหมือนนั่งรถไฟเหาะแบบนี้ได้มากน้อยแค่ไหน
*ไม่ใช่บทความนี้ไม่ใช่บทความแนะนำการลงทุน ผู้สนใจลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนการลงทุน
อ้างอิงข้อมูลจาก