ในยุคที่อะไรๆ ก็ 4.0 นี้ คิดว่าควรใช้โทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต และแล็ปท็อป ในห้องเรียนกันไหม ?
ผู้ใหญ่หลายคนก็เป็นห่วงแหละว่า การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลอาจจะทำให้เด็กๆ ไม่ตั้งใจเรียนบ้าง ผลการเรียนแย่ลงบ้าง หรือขาดทักษะอะไรบางอย่างไปบ้าง แต่คำถามคือผลเสียเหล่านี้เกิดจากการที่อุปกรณ์ดิจิทัลไม่ได้ถูก ‘ใช้เพื่อเรียน’ ใช่ไหมนะ?
แล้วถ้าอุปกรณ์เหล่านั้นถูก ‘ใช้เพื่อเรียน’ ล่ะ? ไม่ว่านักเรียนหรือครู ผู้ใหญ่หรือเด็ก ก็น่าจะสามารถตักตวงประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยีในห้องเรียนได้มากเลย
The MATTER เลยอยากแนะนำแอพพลิเคชั่นสำหรับ ‘ใช้เพื่อเรียน’ ที่นักเรียนก็ใช้ได้ คุณครูก็ใช้ดี (แถมส่วนใหญ่ก็โหลดใช้ได้ฟรี) ให้ลองโหลดไปใช้เทคโนโลยีอย่างมีประโยชน์ในห้องเรียนกันดู ไหนๆ เราจะก้าวไปเป็น ‘ไทยแลนด์ 4.0’ กันแล้ว ลองเริ่มพัฒนาพื้นฐานคือเรื่องการศึกษา ด้วยการทำให้ห้องเรียน ให้เป็น ‘ห้องเรียน 4.0’ กันดูไหม?
1 Plickers
ต่อไปจะมาเนียนขานชื่อแทนเพื่อนเวลาครูเช็คชื่อไม่ได้ละนะ เพราะครูจะสามารถเช็คชื่อทุกคนพร้อมกันได้ ด้วยการกวาดสมาร์ทโฟนไปรอบห้องเพียงครั้งเดียว!
Plickers เป็นแอพฯ ที่ใช้สแกน AR Code เพื่อเพิ่มความเร็วและง่ายในการเก็บข้อมูลในห้องเรียน โดยนักเรียนจะมีกระดาษของตัวเองคนละใบที่มี ID ใช้ตอบคำถาม A, B ,C, D ได้ เวลาครูเช็คชื่อหรือถามคำถามเพื่อเก็บคะแนน ก็แค่ให้นักเรียนชูกระดาษแผ่นนั้นขึ้นมา แล้วครูก็แค่เปิดแอพฯ สแกน ก็จะเห็นคำตอบแบบเรียลไทม์บนหน้าจอได้เลย และแอพฯ ก็จะเก็บไว้เป็นสถิติให้ด้วย ตอนนี้ก็มีบางโรงเรียนและมหาวิทยาลัยที่เริ่มเอาไปใช้ในห้องกันแล้ว
โหลดใช้ได้ที่ https://www.plickers.com
2 Kahoot!
ระวังเสียงหัวเราะลั่นห้องเรียนเพราะแอพฯ นี้จะทำให้นักเรียนสนุกอย่างกับเล่นเกมโชว์
Kahoot! เป็นแอพฯ ที่ช่วยให้ครูสามารถสร้างแบบทดสอบเก็บคะแนน โดยที่นักเรียนอาจจะไม่รู้สึกว่าเป็นการสอบเลย (หรือจะทดลองให้นักเรียนสร้าง Quiz ให้เพื่อนเล่นก็ยังได้) เพราะแอพฯ นี้มีลูกเล่นหวือหวาอย่างนับเวลาถอยหลัง บอกว่าข้อนั้นมีใครตอบถูกบ้าง หรือมีการจัดอันดับคนที่มีคะแนนขึ้นนำเมื่อคำถามแต่ละข้อผ่านไป แถมสุดท้ายครูยังได้รีพอร์ตผลคะแนนของเด็กแต่ละคนมาในรูปแบบ excel สะดวกกับการนำไปประมวลผลต่ออีกด้วย
โหลดใช้ได้ที่ https://kahoot.com
3 Socrative
นี่ก็เป็นแอพฯ สำหรับสร้างแบบทดสอบอีกตัว แต่จะมีฟังก์ชั่นที่ล้ำกว่านิดหน่อย
คือไม่ได้มีแค่ให้ตอบแบบช้อยส์อย่างเดียว แต่สามารถดีไซน์คำถามแบบถูก-ผิด หรือให้นักเรียนพิมพ์คำตอบลงไปได้ สามารถแบ่งให้แข่งกันเป็นทีมก็ยังได้ เมื่อตอบคำถามครบ แอพฯ ก็สามารถสรุปออกมาเป็นเกรดให้ได้เลย พร้อมกับทำรีพอร์ตให้ครูเก็บไว้พัฒนาการสอนได้อีกด้วย
โหลดใช้ได้ที่ https://www.socrative.com
4 Zipgrade
จะไม่มีการสอบเดือนนี้ รู้ผลอีกทีเดือนหน้า เพราะมีคนลองใช้มาแล้วว่า Zipgrade สามารถตรวจข้อสอบได้ภายใน 5 วินาที!
คุณครูไม่ต้องเหนื่อยตรวจข้อสอบเป็นกองๆ ส่วนเด็กๆ ก็ไม่ต้องรอลุ้นเกรดกันนานถ้าลองใช้แอพฯ นี้ ในการตรวจและประมวลผลกระดาษข้อสอบแบบที่ระบาย 2B เป็นวงๆ มั่นใจได้ว่าถูกว่าแม่น แถมยังบอกค่าเฉลี่ย ค่าต่ำสุดและสูงสุดของคะแนนสอบ ให้ตัดเกรดได้อย่างรวดเร็ว แอพฯ นี้ยังน่าจะช่วยลดแรงลดเวลาให้กับการจัดสอบระดับประเทศหลายๆ วาระได้ด้วย
โหลดใช้ได้ที่ https://www.zipgrade.com
5 ClassDojo
เรียกได้ว่าเป็นทั้งห้องเรียนและห้องปกครองออนไลน์ ที่พาเอาครู นักเรียน และผู้ปกครองมาแลกเปลี่ยนกันบนหน้าจอ
แต่บรรยากาศบนแอพฯ ClassDojo นี้ ไม่เคร่งเครียดเหมือนห้องปกครองแน่นอน เพราะจะมีตัวการ์ตูนน่ารักๆ และเอ็ฟเฟกต์เรียกรอยยิ้ม เมื่อเวลาที่ครูมีคำแนะนำหรือพ่อแม่มีฟีดแบก แอพฯ ยังเปิดพื้นที่สำหรับให้นักเรียนบันทึกรูปภาพหรือวิดีโอ รวมถึงชิ้นงานที่ได้จากการเรียนวันนั้นไว้ ซึ่งตัวนักเรียนเองก็สามารถเก็บไว้ใช้เป็นพอร์ตฟอลิโอออนไลน์ได้อีกด้วย
โหลดใช้ได้ที่ https://www.classdojo.com
6 Seesaw
เรียนอะไรบ้าง มีการบ้านอะไรมั้ย ประโยคเหล่านี้จะไม่อยู่ในบทสนทนาช่วงนั่งรถกลับอีกต่อไป ถ้าครู นักเรียน และผู้ปกครองลองใช้แอพฯ นี้
Seesaw เป็นเหมือนตัวช่วยในการจัดการการบ้าน ซึ่งแทนที่จะพูดออกไปเฉยๆ ครูเองก็จะได้บันทึกไว้เตือนความจำตัวเองและนักเรียนว่าสั่งงานอะไรไปบ้าง ส่งเมื่อไหร่ แล้วก็จะรู้ได้ว่าใครส่งมาแล้วบ้างด้วย นักเรียนเองก็สามารถทำงานได้ในแอพฯ นี้เลย และสามารถเลือกใช้วิธีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพิมพ์เนื้อหา วาดรูป ถ่ายคลิป หรืออัดเสียง และครูก็สามารถคอมเมนต์ผลงานได้แทบจะในทันที รวมถึงแชร์ให้ผู้ปกครองรับรู้ได้ด้วย
โหลดใช้ได้ที่ https://web.seesaw.me
7 Prezi
ไม่อยากจะอวย แต่แอพฯ นี้คือความดีงามในการทำพรีเซนเตชั่น ไม่ใช่แค่สำหรับครูใช้สอนหรือนักเรียนใช้รายงานหน้าห้องเท่านั้นนะ แต่กับคนทำงานก็ยังใช้เสนอโปรเจคหัวหน้าหรือลูกค้าได้
Prezi เป็นเว็บไซต์สำหรับสร้างไฟล์พรีเซนเตชั่นออนไลน์ มีฟังก์ชั่นและลูกเล่นหวือหวาพอสมควร รวมถึงมีเครื่องมือช่วยเหลือค่อนข้างเยอะ สามารถเซฟเก็บไว้ที่เซิฟเวอร์ เพื่อเวลาจะเปิดใช้ก็แค่ล็อกอินเข้าไป ส่วนแอพฯ ก็มีไว้สำหรับดูไฟล์ได้ ซ้อมพูดได้ สรุปให้ว่าดีจนอยากให้ลองใช้ ถ้าจะติดนิดหน่อยก็คือตอนนี้โปรแกรมยังไม่รองรับภาษาไทยเท่านั้นเอง
โหลดใช้ได้ที่ https://prezi.com