การศึกษาเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในสังคม พร้อมๆ กับที่รับรู้ว่า การศึกษาไทยยังมีปัญหาอีกหลากหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข ทั้งยังเกี่ยวพันกับสภาพสังคมอย่างที่แยกจากกันไม่ขาดอีกด้วย
เป้าหมายที่ควรเป็นของการศึกษาคืออะไร
เราคิดว่าการศึกษาควรทำให้มนุษย์คนหนึ่งรู้จักตัวเอง รู้จักศักยภาพตัวเอง แค่นั้นเลย แล้วก็ทักษะอื่นๆ ที่จำเป็นก็คือคุณปรับตัวได้ คุณมีทักษะการเรียนรู้ที่ไม่หยุดนิ่ง เพราะมันชัดเจนมากตอนนี้ว่า ต่อให้คุณเรียนไปแล้ว แต่ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปเร็วมาก ดังนั้น สิ่งที่คุณเรียนมาตอนปีหนึ่ง พอมาปีสี่ก็อาจใช้ไม่ได้เลยก็ได้ ถ้าคุณไม่มีทักษะ unlearn แล้ว relearn ใหม่ คุณไปไม่ได้ ในโลกที่วิ่งเร็วขนาดนี้ ดังนั้น ถ้าการศึกษาทำให้คนเกิดทักษะเหล่านี้ไม่ได้ แล้วทำให้คนมองเห็นตัวเองไม่ได้ ก็ไม่มีประโยชน์ มันก็เป็นสิ่งที่สูญเปล่า
นอกจากนั้น ถ้าการศึกษาไม่สามารถทำให้คนๆ หนึ่งมองเห็นว่าเขาสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่นในโลกนี้อย่างไร แล้วจะต้องแบ่งปันหรือมีมุมมองต่อคนอื่นที่อาจไม่เหมือนตัวเอง อาจแตกต่างหลากหลายอย่างไร ถ้าเขามองไม่เห็นสิ่งนี้ ไม่มีสิ่งนี้อยู่เลย เราก็รู้สึกว่าการศึกษาก็ไม่มีประโยชน์เช่นกัน ดังนั้น ก็จะแบ่งเป็นส่วนที่รู้จักตัวเอง เข้าใจคนอื่น แล้วก็ทักษะที่เอาไว้ใช้อยู่ในโลกที่ว้าวุ่นขนาดนี้
เรื่องรัฐธรรมนูญเกี่ยวข้องกับการศึกษาอย่างไรบ้าง
ข้อถกเถียงใหญ่ที่สุดคือตกลงแล้วการศึกษาเป็นหน้าที่หรือสิทธิกันแน่ คือหน้าที่ของรัฐหรือสิทธิของประชาชน ซึ่งมีแนวคิดเบื้องหลังคำสองคำนี้เยอะพอสมควรเกี่ยวกับการศึกษา ถ้าเรามองกันตามหลักการที่บอกว่าการศึกษาเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงมีอยู่แล้ว นั่นแปลว่าประชาชนคือผู้ทรงสิทธิ เป็นเจ้าของสิทธินี้ มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิ่งที่เรามีอยู่ตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
แต่พอมันถูกเขียนว่าเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องจัด กลายเป็นว่าในฐานะประชาชนก็ต้องรอให้รัฐเป็นผู้ให้หรือผู้มอบสิ่งนี้ให้กับประชาชน ซึ่งมันก็เป็นสองแนวคิดที่เราคิดว่าต้องถกเถียงในสังคม ว่าเรามองมันว่าควรเป็นแบบไหนกันแน่ ในส่วนตัวเรามองว่ามันควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ประชาชนพึงจะได้รับอยู่แล้ว เป็นเจ้าของสิทธินั้นในฐานะพลเมืองของประเทศๆ หนึ่ง
การศึกษาเกี่ยวข้องกับการแก้รัฐธรรมนูญที่ขับเคลื่อนกันอยู่ตอนนี้อย่างไรบ้าง
ประเด็นเรื่องนี้ชัดเจนมากๆ ว่า เป็นเรื่องที่ทุกคนจะต้องให้ความสำคัญกับมัน เพราะที่สุดแล้วมันจะมีผลต่อกฎหมายลูกต่างๆ ที่จะตามมาจากร่างรัฐธรรมนูญ จะว่าด้วยจะร่างไหนก็เถอะ มันมีผลต่อกฎหมายลูกทุกฉบับที่จะตามมา เช่น พ.ร.บ.การศึกษาที่เป็นแม่บทใหญ่ของการศึกษาทั้งหมด เช่น เราบอกว่าในกฎหมายที่เป็นรัฐธรรมนูญของประเทศได้เขียนไหมว่าประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาไหม ซึ่งถ้าไม่มี มันจะไปอยู่ในพระราชบัญญัติการศึกษาที่เป็นแม่บทใหญ่ได้อย่างไร
เป้าหมายของการศึกษาที่อยู่ในร่างรัฐธรรมนูญส่งผลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นที่เป็น blueprint การทำงานของการศึกษาทั้งหมด ถามว่าจะแยกกันได้ไหม มันแยกกันไม่ได้ มันคือเรื่องเดียวกัน มันส่งผลซึ่งกันและกันทั้งหมด
กฎหมายเกี่ยวโยงกัน มันไม่สามารถบอกได้ว่าไม่ยึดโยงกัน
ไม่สามารถบอกว่าทำอันนี้แล้วไม่ทำอันนั้น ทำอันนั้นไม่ทำอันนี้ มันเชื่อมโยงกันทั้งหมด มันเป็นหลักคิดใหญ่ของการศึกษาทั้งหมด ตกลงเราจะคิดว่าคือสิทธิอันพึงมี เป็นของเรา หรือเป็นสิ่งที่รัฐต้องจัดให้ เราจะคิดกับมันอย่างไร มันเกี่ยวข้องกับเราทั้งหมด เพราะเราจะเป็นผู้ต้องได้รับสิทธิหรือบริการนั้นจากภาครัฐ
รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน 60 ปลูกฝังเรื่องของประชาธิปไตย หรือความมีสิทธิมีเสียงในตัวเองมากน้อยแค่ไหน
เข้าใจว่าน้อย คำว่าประชาธิปไตยไม่ได้เชื่อมโยงกับการศึกษา ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 60 มีเขียนเรื่องการศึกษาเอาไว้คล้ายคลึงกับร่างอื่นๆ แต่ไม่มีคำว่าประชาธิปไตยอยู่ในนั้น เป็นเรื่องการบ่มเพาะให้นักเรียนเป็นคนดีต่อชุมชน มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่ว่าพื้นฐานของประชาธิปไตยไม่อยู่ตรงนั้น ดังนั้น ถ้าบอกว่าเราต้องร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ ทุกคนก็ต้องส่งเสียงกันว่าประชาธิปไตยควรเป็นแกนกลาง หรือเป็นพื้นฐาน รากฐานในการคิดถึงทุกๆ เรื่องในรัฐธรรมนูญหรือเปล่า ถ้าใช่แบบนั้นก็ต้องรวมตัวกัน แล้วถกเถียงกันว่าเราจะมองประชาธิปไตยเป็นส่วนใดของการศึกษา บางคนอาจมองว่าเอาเป็นแค่กลไกก็พอ
อย่างเรามองว่ามันคือทุกๆ องคาพยพของการศึกษา ตั้งแต่ระเบียบวิธีการจัดการต่างๆ หรือแม้กระทั่งชีวิตในห้องเรียนของเด็กๆ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การมาบอกว่า เราเลือกหัวหน้าห้องแล้วก็จบ แต่มันควรอยู่ในทุกๆ กระบวนการ ตั้งแต่กระบวนการจัดการงบประมาณ ไล่มาถึงการจัดการระบบหลักสูตร ไล่มาถึงการจัดการระบบที่พัฒนาครู มันควรอยู่ในทุกๆ ส่วน ก็จะมีคำถามว่าอะไรๆ ก็ประชาธิปไตย แต่ตอนนี้เรายังมองไม่เห็นว่าระบบไหนที่จะสร้างพื้นที่ให้คนที่แตกต่างหลากหลายมาร่วมแลกเปลี่ยน และตกลงกันให้ได้ว่าจะเอาแบบนี้แบบนั้น มันก็เป็นระบบที่ใช้ได้มากที่สุดในตอนนี้
คิดว่าการไม่เน้นย้ำเรื่องประชาธิปไตย จะส่งผลอย่างไรกับนักเรียนในอนาคตบ้าง
มันจะไม่มีเรื่องสิทธิอยู่ในนั้น จริงๆ แล้วปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชนของเด็ก ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใดก็ตาม ณ ตอนนี้ ปัญหากฎหมายไทยใช้กันอย่างสับสนมาก จะเกิดการว่า พอเราไม่รับรู้ หรือเราไม่เห็นสิทธิของเด็กอยู่ในนั้นคือไม่มีความชัดเจนในการระบุว่า สิทธิของเด็กอยู่ที่ตรงไหนอย่างไร ถ้าให้ลงไปที่กฎหมายฉบับเล็กหน่อยอย่างฟินแลนด์ มันพูดชัดเลยว่าเด็กมีสิทธิในการเล่น ซึ่งการเล่นเป็นสิทธิของเด็กเหมือนกัน ดังนั้น
ถ้าสิทธิของเด็กหรือสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาแบบต่างๆ ไม่อยู่ในภาพใหญ่ของร่างรัฐธรรมนูญ มันก็จะกระทบต่อการทำให้เกิดสิทธิต่างๆ ในกฎหมายที่จะตามมา
ถามว่าสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพเป็นอย่างไรบ้าง หรือที่ฟรีเป็นอย่างไรบ้าง ก็จะส่งผลถึงรายละเอียดที่จะตามมา ความลักลั่นของกฎหมายไทยตอนนี้คือเราจะใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก กับ พ.ร.บ.การศึกษาที่เป็นแม่บทใหญ่ด้วยกัน พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กเรารู้กันอยู่ลึกๆ ว่าเจ้าภาพก็คือ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วน พ.ร.บ.การศึกษา เจ้าภาพคือกระทรวงศึกษาฯ แล้วทีนี้กลายเป็นว่า ตกลงแล้วสิทธิของเด็ก ใครเป็นคนจัดการ พอมีปัญหาที่โรงเรียนบอกว่าเอาสิทธิเด็ก เอา พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กมาจัดการ แล้วโรงเรียนก็ยังไม่ต้องทำอะไร เพราะเป็นเรื่องของกระทรวง ไม่เกี่ยวกับเด็ก แล้วตกลงแล้วใครจะเป็นคนจัดงานไหนอะไรอย่างไร
เรามองว่าความลักลั่นแบบนี้ทำให้การปกป้องคุ้มครองดูแลสิทธิเด็กไม่เกิดผลจริงๆ เพราะแทนที่มันจะอยู่ทุกที่ ก็ไปแยกอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ดังนั้น ถ้าเรากำหนดให้สิทธิในการดูแลเด็ก ในการให้การศึกษาเด็กไปอยู่ในรัฐธรรมนูญภาพใหญ่ กฎหมายย่อยๆ ลงมาก็ต้องมีเรื่องนี้ในทุกๆ ชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานดูแลเด็กเหมือนกัน เพื่อที่จะไม่ให้แบ่งว่ากระทรวงคุณสิ กระทรวงฉันสิ ใครต้องดูแลเด็กล่ะ อ้าว เรื่องนี้ละเมิดสิทธิเด็กต้องไปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แต่ที่สุดแล้วในเรื่องการดูแลเด็กมันคือการทำงานด้วยกัน ไม่สามารถโยนไปให้ใครหนึ่งคนได้
ตอนนี้ ปัญหานี้เกิดขึ้นชัดเจนมากว่าจะดูแลเด็กทีก็มีปัญหา เรื่องละเมิดต้องไปกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงศึกษาธิการจะยังไม่ยุ่ง ถ้าไม่เกิดการพูดเรื่องการคุกคามเด็กในโรงเรียน หรือการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียนมากขนาดนี้ ก็คงไม่มีศูนย์เฉพาะกิจขึ้นมาของกระทรวงศึกษาฯ ซึ่งจริงๆ แล้วต้องมาทบทวนอีกว่าเจ้าศูนย์เฉพาะกิจนี้มีภารกิจเพื่ออะไร แล้วจริงๆ ถ้ากระทรวงศึกษาฯ ก็อยากเป็นเจ้าภาพ
มันอาจไม่ต้องมีศูนย์ที่ทำอะไรเยอะแยะ แต่คุณต้องเป็นแพลตฟอร์มที่รวบรวมเอาความช่วยเหลือในการดูแลเด็กด้านต่างๆ มาไว้รวมกัน แล้วคุณก็ประสานงาน หรือที่สุดแล้วมันอาจไม่ต้องสังกัดกับกระทรวงใดๆ เลย คุณเป็นหน่วยงานตรงกลางเลยก็ได้ ที่จัดการประสานงานทุกๆ ภาคส่วนว่า อ๋อ เด็กมีปัญหาแบบนี้ เราต้องดูแลเรื่องนี้เรื่องนั้น แต่ตอนนี้มันไม่เกิดขึ้น
ขณะเดียวกัน ก็มีคำถามว่า ตามกฎหมายที่กำหนดให้เด็กได้รับการศึกษาฟรี แต่ทำไมเด็กๆ ก็ยังต้องเสียค่าใช้จ่ายบางอย่างอยู่
นี่ก็เป็นคำถามก้อนใหญ่ว่าทำไมมันไม่ฟรีจริงๆ ทำไมมีค่าใช้จ่ายเยอะแยะเต็มไปหมด มันก็เป็นปัญหาในกฎหมายที่เขียนไว้กำกวมนั่นแหละ ว่าเข้าถึงการศึกษาที่ฟรี แต่เวลาเขาไปเก็บจริงตอนทำจริงๆ ก็ไม่ได้เก็บค่าที่เป็นค่าเทอมไง เขาเก็บค่าใช้จ่ายอย่างอื่น มันเลยเป็นการเก็บเพิ่มได้
แต่ถามว่าเป็นความผิดโรงเรียนอย่างเดียวไหม ก็ไม่ เพราะในตัวบทกฎหมายมันไม่ชัดเจนเอง เลยเกิดหลุมแบบนี้ แต่นั่นก็เรื่องหนึ่ง อีกเรื่องคือ รัฐได้บริหารจัดการให้เกิดการเรียนฟรีนี้อย่างมีประสิทธิภาพหรือยัง ก็ไม่เกิดอีก เพราะเราจะเห็นว่าเงินรายหัวเด็กไม่ขึ้นเป็นสิบปีแล้ว อาหารกลางวันไม่ขึ้นมาหลายปีแล้ว เมื่อเป็นอย่างนี้ คุณจะคาดหวังให้โรงเรียนจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพได้อย่างไร ในเมื่อคุณไม่ได้ให้ทรัพยากรที่เพียงพอกับเขา มันก็จำเป็นที่จะต้องไปเก็บเพิ่มโดยปริยาย โดยเฉพาะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ครึ่งหนึ่งของโรงเรียนทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งถูกจัดการทรัพยากรตามรายหัวเด็ก ถ้าคุณเด็กเยอะ คุณก็ได้เงินเยอะตามรายหัว พอมีเด็กน้อยๆ คุณก็ได้เงินน้อย แล้วพอเงินน้อยมันจัดการไม่ได้ คุณก็ต้องไปขอบริจาคเพิ่ม
กลายเป็นว่า ใครล่ะที่อยู่ในโรงเรียนเล็กๆ เหล่านี้ ก็คือคนที่ขาดแคลนอยู่แล้ว คนที่เข้าไม่ถึงทรัพยากรอยู่แล้ว ก็ไปกดทับให้เขาลำบากกว่าเดิมเข้าไปอีก จากกลไกความกำกวมของกฎหมายและการไม่เอาจริงของกระทรวงศึกษาฯ ในการจัดการ ไม่ว่าจะเป็นทั้งระบบจัดการและระบบตรวจสอบ ซึ่งทั้งหมดนี้ต้องไปรื้อวิธีจัดสรรทรัพยากรของกระทรวงศึกษาฯ ใหม่หมด
หรือมันไม่ได้เป็นการศึกษาที่ ‘ฟรี’ จริงๆ
ใช่ เพราะว่าเงินอุดหนุนไม่พอ สมมติเราบอกว่าเด็กต้องใส่ชุดนักเรียน แต่มันมีงบชุดให้แค่ 300 บาท มันจะไปพออะไร ชุดลูกเสือก็เป็นพันแล้ว ถ้า 300 ได้เสื้อตัวนึง กับกางเกงยังไม่ครบตัวเลย ยังไม่นับถุงเท้าและอื่นๆ อีก มันไม่พอ ก็เลยกลายเป็นค่าใช้จ่าย
เงินอุดหนุนที่จ่ายมาเพื่อจัดการเรียนการสอนพอจ้างครูต่างชาติไหม ไม่พอ ไม่พอก็เก็บ คือถ้ามันพอจริงๆ คุณจะไม่ต้องมีห้องเรียน Gifted ห้องติดแอร์ ห้อง EP กลายเป็นว่ารัฐเราไปสนับสนุนการเรียนแบบเหลื่อมล้ำเอง ในการเขียนระเบียบของรัฐด้วยซ้ำ เพราะอย่างห้องเรียน EP มันก็คือหลักสูตรที่รัฐเขียน กำหนดโดยรัฐแล้วให้โรงเรียนทำ ถามว่าให้งบไหม ไม่ แต่ให้ทำ โรงเรียนก็ต้องไปทำ พอทำไม่ได้ก็เก็บเงินจากผู้ปกครอง ซึ่งธรรมชาติของคนเราก็อยากให้ลูกเราได้สิ่งที่ดีที่สุด แล้วคุณก็ไปสร้างตัวเลือกเต็มไปหมดเลย แทนที่คุณจะทำให้คุณภาพใกล้เคียงกัน หรือไปสนับสนุนการอุดหนุนเงินที่มันเป็นเหตุเป็นผล และได้ประสิทธิภาพกว่านี้ แต่คุณกลับไปสนับสนุนการสร้างตัวเลือกแทน มันก็ไม่ถูกจุด
แต่ก็มีบางคนที่ตั้งคำถามว่า ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยแล้วความเหลื่อมล้ำจะหายไปเหรอ
ถ้าเราเป็นประชาธิปไตยเราสามารถส่งเสียงได้ เราสามารถบอกได้ว่าทรัพยากรที่มีอยู่ควรถูกใช้กับอะไรบ้าง เราเห็นการเรียกร้องในช่วงนี้ ซึ่งพื้นที่ประชาธิปไตยค่อนข้างจำกัดมากๆ แต่เราก็เห็นหลายอย่างที่เริ่มจะเรียกว่าประสบความสำเร็จก็ไม่ใช่ แต่เราก็หยุดยั้งการใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายไม่เป็นประโยชน์ได้ อย่างเรื่องเหมืองตะกั่วที่ผ่านมา ถ้าไม่มีเสียงของใคร เสียงประชาชน เสียงคนที่เดือดร้อน เสียงคนข้างนอกที่มองว่าอันนี้ไม่จำเป็นนี่ ทำไมคุณทำแบบนี้ เงินนี้คุณก็ขอมาโดยไม่โปร่งใส ซึ่งเงินเป็นร้อยๆ ล้านเอาไปทำอย่างอื่นได้อีกตั้งเยอะ
ดังนั้น กระบวนการที่ทุกคนมีส่วนร่วมในการออกแบบ การจัดสรรทรัพยากรมันจะทำให้ทรัพยากรที่มีในประเทศนี้ถูกจัดสรรให้ถูกที่ถูกทางมากขึ้น ถามว่าเรามีองค์ความรู้ในการจัดการสิ่งเหล่านี้ไหม เราบอกไว้เลยตรงนี้ว่าประเทศไทยมีองค์ความรู้ที่จะจัดการเงินอย่างมีระบบ มีงานวิจัย มีนักวิจัยที่พยายามทำเรื่องนี้ว่าตกลงแล้ว โรงเรียนขนาดเล็กเราต้องจัดครูกี่คน จัดแบบนี้ไม่ได้นะ เรามีองค์ความรู้นี้อยู่
แล้วเราก็รู้ว่า เงิน 20 บาทไม่เพียงพอสำหรับค่าอาหารกลางวันเด็ก มันจะพอต่อเมื่อมันเป็นค่าวัตถุดิบอย่างเดียว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่า ค่าแม่ครัวก็ต้องอยู่ในนี้ ค่าขนส่งวัตถุดิบก็ต้องอยู่ในนี้ ค่าของสิ้นเปลืองต่างๆ คุณเอาไปกองในนี้หมด มันก็ไม่พอสิ คุณจะแยกออกมาเป็นอีกกองก็ได้ หรือคุณบอกว่างั้นเราคิดราคาใหม่ก็ได้ เป็นตัวเลขที่เข้าใจว่าน่าจะพอในการจัดการโรงเรียนขนาดเล็กด้วยซ้ำ ดังนั้น ถามว่าเรามีงานวิจัย มีองค์ความรู้ไหม มี แต่มันไม่ถูกนำมาใช้เลย แล้วถ้าไม่มีคนเรียกร้อง ไม่มีคนโวยวายว่าไม่ไหวแล้วนะ จะให้ 20 บาทแล้วเด็กก็กินวิญญาณเนื้อสัตว์ไปวันๆ อย่างนี้ตลอดไป มันก็จะ 20 บาทไปเรื่อยๆ ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้มานานเท่าไรแล้ว
ช่วงแรกๆ ที่เราเข้าไปทำงานในสภา เราพบว่างบประมาณที่มีมันไม่เหมาะสมกับการจัดการคุณภาพการศึกษาสำหรับโรงเรียนหนึ่งเลย มันไปกองอยู่ที่โครงการอะไรก็ไม่รู้เยอะแยะไปหมด ซึ่งเป็นโครงการที่ทำให้ครูงานเยอะขึ้นด้วย
ถ้าติดที่ตัวบทกฎหมาย ก็ต้องแก้ที่ตัวบทกฎหมาย ซึ่งมันเกิดจากการเรียกร้องทั้งสิ้น ถ้าไม่เรียกร้อง เราก็จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆ
รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปลี่ยนช่วงเวลาของการศึกษาภาคบังคับ 12 ปี ให้ขยับช่วงจากชั้นประถมศึกษาถึงมัธยมปลาย มาเป็นเด็กอนุบาลถึงชั้นมัธยมต้นแทน เพราะอะไรถึงเป็นแบบนั้น
เขาเริ่มเล็งเห็นว่าปฐมวัยสำคัญ ซึ่งในหลักการก็ถูกต้อง ปฐมวัยเป็นวัยที่ถ้ารากฐานดีแล้วเด็กก็พร้อมมีพัฒนาการในทุกๆ ด้าน สังคม อารมณ์ ร่างกาย จิตใจใดๆ พร้อม ก็จะทำให้พื้นฐานที่จะไปต่อยอดในอนาคตมันดีด้วย ก็เข้าใจชัดเจน มันมีทฤษฎีบอกเลยว่าลงทุนตอนปฐมวัยดีที่สุด ก็เลยเข้าใจว่าการเขียนจึงย้ายลงมาปฐมวัยมากขึ้น
กลายเป็นว่ามันขาด ม.ปลายไป 3 ปี ซึ่งถ้าไปดูสถิติเด็กหลุดออกนอกระบบการศึกษา มักจะหลุดออกไปในช่วง ม.3 ถ้าเราจำไม่ผิด ประมาณ 30-40% เลยที่ไม่ได้เรียนต่อ ม.ปลาย ซึ่งเขาหลุดไปด้วยเหตุนี้แหละ เขาไม่สามารถไปต่อได้ เพราะมีค่าใช้จ่าย ถามว่าสิ่งที่รัฐอุดหนุนพอไหม ที่สุดแล้วก็ไม่พอ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กยากจน ถ้าเด็กยากจนมากๆ เขาอาจไม่ได้ไปต่อ และนั่นหมายถึงเราสูญเสียโอกาสการพัฒนาคนไปเยอะมาก
ยกตัวอย่างประเทศฟินแลนด์ การศึกษาภาคบังคับของเขาก็สุดที่ ม.3 แต่การศึกษาฟรี หลัง ม.3 คุณเลือกได้ว่าคุณจะทำอย่างไรกับชีวิตคุณ โดยมีรัฐดูแลคุณอย่างเบ็ดเสร็จทั้งระบบ แต่มันไม่ใช่กับบริบทประเทศไทย เรายังมีเด็กที่เข้าไม่ถึงการศึกษาและจะหลุดออกจากการเทรนนิ่งไปด้วยซ้ำ ดังนั้น มันอาจเป็นคำถามที่เราต้องคิดว่า ตกลงแล้วเราจะเอาแบบ 12 ปีแบบนี้ หรือจะเอา 12 ปี บวก 3 ที่อาจไปอุดหนุนเด็กโดยตรงก็ได้ แล้วให้เขาเลือกเรียนที่เหมาะกับเขา หรือจะอุดหนุน 15 ปีเต็ม แต่ก็จะกลับมาสู่คำถามเดิมคือมันจะฟรีจริงใช่ไหม คือไม่ว่าคุณให้การศึกษาภาคบังคับเป็น 12 ปีเริ่มปฐมวัย สุดที่ ม.3 หรือจะแบบไหนก็ตามแต่ คุณทำให้มันฟรีจริงได้หรือเปล่า คุณทำให้เป็นสวัสดิการจริงได้หรือเปล่า เพราะถ้าคุณทำไม่ได้ ไม่ว่าจะโมเดลไหนก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้น
ก่อนหน้านี้มีกระแสที่คนเปรียบเทียบสภาพของโรงเรียนนานาชาติซึ่งมีระบบต่างๆ พร้อมรับกับเด็ก ซึ่งจริงๆ มันควรเป็นสิทธิพื้นฐานที่เราควรได้หรือเปล่า แล้วทำไมเราถึงไม่ได้แบบนั้น
ใช่ เป็นสิ่งที่เราควรได้ แต่ที่มันเป็นไม่ได้ เพราะมันติดระบบราชการ เอาง่ายๆ โรงเรียนจะใช้เงินทำอะไร ติดระเบียบไปหมดเลย ทุกอย่างต้องเป็นครุภัณฑ์ ครุภัณฑ์มีอายุ ตึกที่เก่าไปแล้วก็ทุบไม่ได้นะ เพราะไม่มีค่าทุบ มันก็เป็นซากปรักหักพังในโรงเรียนให้อันตรายอยู่อย่างนั้น ถ้าอยากสร้างแบบตึกอย่างโรงเรียนนานาชาติ ก็ทำไม่ได้ เพราะคุณมีแบบตึกของราชการอยู่ จะแบบ ก ข ค ง อะไรก็ว่าไป พอมันเป็นแบบนี้ คุณก็สร้างตึกแบบที่คุณรู้สึกว่าเหมาะกับเด็กไม่ได้
แต่บางแห่งอย่างศูนย์เด็กเล็กที่เป็นสังกัดท้องถิ่น เขาทำได้นะ เขาสร้างตึกที่เขารู้สึกว่าเวิร์คได้ เราเคยเห็นที่บ้านราชการที่เป็นวงกลม ทำได้ แต่ถ้าเป็น สพฐ. ก็ทำไม่ได้ ตึกจะต้องเป็นกล่องๆ แบบที่เห็น มันติดระบบระเบียบแบบนี้
ถามว่าการที่คุณมีระบบระเบียบแบบนี้ครอบอยู่ คุณจะเอาความคิดสร้างสรรค์ที่ไหนไปจัดการศึกษา คุณโดนครอบตั้งแต่วิธีการทำงานยันวิธีการจัดสรรทรัพยากร ไปจนถึงวิธีการประเมิน ยันหลักสูตรที่ต้องใช้อยู่กับเด็ก ถูกครอบไว้หมด คุณไม่มีพื้นที่เหลือในการสร้างสรรค์อะไรเลย ยังไม่นับรวมวัฒนธรรมต่างๆ ที่แข็งตัวมาก ทำให้คุณไม่สามารถปล่อยของคุณได้
กลายเป็นเราอยู่ในประเทศที่การศึกษาห้ามคนปล่อยของ ให้ทำเป็นแบบลู่เป็นทาง มันเป็นมาอย่างนี้ มันต้องทำแบบนี้เท่านั้น
ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้น
เราก็ไม่เข้าใจ แต่เขาไม่เคยให้ความสำคัญในการแก้ไขระบบเลย ตอนนี้ เงินไปกองอยู่ที่บุคลากร คือเงินเดือนครูและข้าราชการ แล้วตอนนี้เราก็มีครูที่เป็นชำนาญการพิเศษ ซึ่งแรงค์สูงกว่า 40 % จากครูทั้งหมด แต่คุณภาพการศึกษาของเราไม่วิ่งขึ้นตามแรงค์ แน่นอนว่าเราโทษครูทั้งหมดไม่ได้ มันมีเรื่องการขาดแคลนทรัพยากร มันมีเรื่องการที่ครูยังไม่ได้ unlearn และ relearn ใหม่ด้วย ไม่ใช่แค่เขาไม่มีความสามารถอย่างเดียวหรอก ทุกเรื่องรวมกัน แต่ก็แปลว่าระบบจัดการทรัพยากรมนุษย์มีปัญหาแล้วทำไมคุณมีคนที่แรงค์สูงเต็มไปหมด ถ้ามีแรงค์สูงเยอะขนาดนั้นแล้วอลังการทุกคนก็โอเค แต่มันไม่ใช่ เพราะเราก็เห็นปลายทางอยู่ว่าสภาพเป็นแบบนี้
หรือกระทั่ง มีโครงการเอาครูที่เกษียณอายุไปแล้วกลับมาสอนในโรงเรียนอีก เราก็จะถามว่า แล้วมันเกิดอะไรขึ้น คือจ่ายเงินเดือนด้วยนะ แล้วก็มีบำนาญด้วยนะ ทำไมจัดสรรงบประมาณแบบนี้ แล้วเด็กๆ รุ่นใหม่ล่ะ แล้วครูที่กลับมาไปทำอะไรในโรงเรียนบ้าง
เราเคยถาม สพฐ. ถึงปัญหาเรื่องครูลงโทษเด็กที่เกิดขึ้นเยอะมาก ซึ่งพอไปไล่ดูหลักสูตร ก็พบว่า เรามีการอบรมเรื่องจิตวิทยาน้อยมาก จิตวิทยาพื้นฐานมีอยู่ 3 หน่วยกิตถ้วน ถ้วน เป็นวิชาเลกเชอร์ ก็ไม่แปลกใจที่ครูไม่รู้จักวิธีการจัดการ หนำซ้ำเขายังคุ้นชินกับระบบเดิมมาอีก เราถามว่าคุณทำโครงการอบรมล้านแปดเต็มไปหมดเลย มันมีสักโครงการไหมที่เป็น positive communication, positive discipline หรือ วินัยเชิงบวก คำตอบคือ มีนะ แต่อยู่ในวิชาลูกเสือ คือมันมีการจัดการที่งงๆ อยู่ในกระทรวงศึกษาเยอะมาก แล้วมันแก้ปัญหาไม่ถูกจุด
วิธีการคือคุณก็เอาเงินไปตั้งในศูนย์เฉพาะกิจดูแลเรื่องใดๆ ซึ่งเขาทำงานปลายทาง คือเกิดดหตุก่อนแล้วเขาค่อยทำ ซึ่งแน่นอน เขาพยายามเริ่มฝึกอบรมครูที่อยากใช้จิตวิทยาเชิงบวกกับเด็ก เริ่มพยายามฝึกแล้ว แต่เห็นไหมว่าวิธีการแก้ปัญหาของรัฐไทยมันเป็นก้อนอย่างนี้ คือไปแก้ปลายทาง แล้วหลักสูตรพวกคุณตั้งแต่ต้นทาง ตั้งแต่การผลิตครู คุณไปบริหารจัดการ ได้ไปดูหรือยัง มันมีตัวชี้วัดนี้ไหม ครูเข้าใจไหม จิตวิทยาเชิงบวกสำคัญกับเด็กมาก สำคัญต่อการเติบโต
ครูสามารถทำ personal lives learning ของเด็กได้ไหม รู้จักเด็กหรือเปล่า เขาก็มีโครงการไปเยี่ยมบ้านเด็ก ซึ่งก็เป็นปัญหาอีกก้อนใหญ่ คือไปเยี่ยมบ้านเด็กเป็นเรื่องดีไหม มันดีในแง่ที่ว่า ทำให้ครูรู้จักเด็ก แต่ก็ไม่ได้เทรนครูหรือ ให้ครูทำความเข้าใจอย่างถูกต้องว่า ไปเยี่ยมบ้านคือการทำให้ครูกับเด็กรู้จักกัน คุณก็ทำเป็นแบบฟอร์มไปไล่ถามพ่อแม่ แล้วเด็กนั่งอยู่ด้วน คุณก็ไปถามว่ารายได้เท่าไร เด็กเล่นเกมไหม มีปัญหาไหม ไปถามต่อหน้าเด็ก เพราะเขาเข้าใจว่ามันเป็นภาระงานหนึ่ง แล้วก็ต้องทำให้มันเสร็จ เขาไม่ได้เข้าใจว่าการไปเยี่ยมบ้านมีเป้าหมายที่สำคัญอย่างไร
แล้วเขาก็ไม่ได้รับการสนับสนุน บางคนเด็กอยู่ไกลมาก ไหนล่ะค่าน้ำมัน ไหนล่ะทรัพยากรที่จะมาช่วยให้เขาไปเยี่ยมบ้านได้ นอกเหนือจากการทำงาน คุณก็ไม่ช่วยเหลือดูแลเขา ดังนั้น การจัดการกระทรวงศึกษาฯ แยกส่วนมากจนคุณจัดการอะไรไม่ได้เลย แยกเป็นชิ้นๆ หมดเลย ไม่เคยมองภาพใหญ่ และไม่เคยทำให้ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นภาพใหญ่ คุณก็เลยได้อะไรที่ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำไปเรื่อยๆ เงินได้เยอะก็ละลายไป
คิดเห็นอย่างไรกับการปฏิรูปการศึกษาบ้าง
เราไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาโดยปราศจากการปฏิรูประบบราชการได้เลย และถ้าไม่พูดเรื่องนี้ คุณจะไม่มีวันแก้ปัญหาการศึกษาไทยได้ อย่างเรื่องงบประมาณเมื่อสักครู่นี้ที่บอก มันก็ผูกโยงกับระเบียบต่างๆ ของราชการ
ระเบียบต่างๆ ถูกร่างด้วยวิธีคิดแบบรัฐราชการ คือการหาคนผิดและจะอุดรอยรั่ว อุดเข้าไปคุณก็สร้างระเบียบเข้าไปสิ แล้วก็เอาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมาตรวจ บางคนอาจจะถามว่า จะโปร่งใสเหรอ คนที่อยู่รอบตัวเด็กก็คือคนหนึ่งที่สามารถตรวจสอบความโปร่งใสเหล่านี้ที่อยู่ตำหน้าตำตาคุณ ก็คือคุณสร้างระบบที่มันมีส่วนร่วมของทุกๆ คนที่อยู่ใกล้ตัวเด็กสิ แล้วคุณก็ตรวจสอบเลย ว่าตกลงแล้วเป็นอย่างไร ซึ่งถามว่าใช้เงินเยอะแยะไหม ไม่มาก บางทีอาจใช้แค่การบอกว่าผู้ปกครองต้องคอยถามลูกว่าวันนี้กินอะไรที่โรงเรียนเหรอ วันหนึ่งลูกมาเล่าว่ากินน้ำซุปเปล่าๆ คุณต้องวิ่งไปโรงเรียนแล้วนะ ว่าทำไมทำอย่างนี้กับลูกฉัน
กระบวนการเหล่านี้สะท้อนเลยว่า อำนาจทุกอย่างไปกองอยู่ที่รัฐราชการ โดยที่ผู้คน ประชาชน พลเมืองไม่มีส่วนร่วมอะไรอยู่ในนั้นเลย แม้ว่าเรื่องที่มันควรจะต้องมีส่วนร่วมที่สุด อย่างเรื่องการศึกษา ที่พ่อแม่ต้องเสียงดัง ต้องโวยวาย ต้องดูว่าลูกฉันได้อะไรบ้าง ได้รับบริการการศึกษาที่เหมาะสมจากภาครัฐหรือเปล่าในฐานะพลเมืองหนึ่งคน เขาก็ไม่ถูกสนับสนุนให้ทำสิ่งเหล่านั้น แน่นอน การทำสิ่งเหล่านั้นมันจะไปชนกับระบบรัฐราชการ และระบบโครงสร้างอำนาจในโรงเรียน ซึ่งเรื่องนี้ก็ไม่เคยถูกแก้ไข
ทำไมระบบเหล่านี้ถึงไม่เคยถูกแก้ไข
คือโครงสร้างอำนาจในโรงเรียนถ่ายทอดลงมาเป็นชั้นๆ มี ผอ. ซึ่ง ผอ.ก็ต้องกลัวเขตพื้นที่การศึกษา เสร็จแล้ว ผอ.ก็ลงมาที่ครู ครูก็ลงมาที่นักเรียน แล้วพ่อแม่กับครูก็เป็นอีกชั้นหนึ่งอีก ว่าถ้าฉันไปโวยวายเรื่องอาหาร ลูกฉันจะโดนตัดคะแนนไหม ถ้าฉันโวยวาย ผอ.คนนี้จะเกิดอะไรขึ้นกับลูกฉันไหม คือมันไม่มีการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็งและกระตือรือร้นเลย และมันไม่มีเจตนารมณ์นั้นเลยอยู่ในการปฏิรูปการศึกษาไทย เราไม่เคยเห็นเจตนารมณ์นั้น เรามองเห็นแต่การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร เปลี่ยนนั่นที เปลี่ยนนี่ที เปลี่ยนวิธีการสอบ ซึ่งมันเป็นกลไกจิ๋วมากๆ
คำถามที่เราถามบ่อยมากกับคนที่ทำงานการศึกษา คือลองคิดดีๆ นะ ถ้าเรามีหลักสูตรที่คุณปฏิรูปกันมาแล้วกี่รอบก็ตามเถอะ ดีมาก เป็นหลักสูตรที่ชั้นนำ world class อะ แต่เด็กคุณโดนไฟดูดตายในโรงเรียน เด็กคุณไม่มีข้าวกิน หรือเด็กคุณยังหิวมาโรงเรียนอยู่ ข้าวเช้าไม่มีกิน หรือถ้ามีกินก็เป็นอาหารอะไรไม่รู้ เขาจะพร้อมเรียนหลักสูตร world class ของคุณไหม
มันก็กลับมาสู่สิ่งที่เรียบง่ายที่สุด ก็คือระบบวิถีชีวิตเด็กๆ มันไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการศึกษาเลย
คุณปกป้องสิทธิอย่างไร เด็กโดนข่มขืนในโรงเรียน ซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยคนที่ใกล้ตัวเขา ทำไมปล่อยให้เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ระบบลงโทษอยู่ไหน ระบบความรับผิดรับชอบอยู่ตรงไหน ใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้บ้าง นี่คือสิ่งที่นักเรียนเขาออกมาเคลื่อนไหวกันและตั้งคำถามกันว่า ใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นเลยว่าระบบบริหารจัดการใช้ไม่ได้
เพราะถ้าคุณมีระบบรับผิดรับชอบที่มีประสิทธิภาพ คุณจะรู้แล้วว่าฉันไม่ได้มีอำนาจ หรือฉันไม่มีสิทธิที่จะทำสิ่งนี้ ฉันมีหน้าที่ มีงานที่ต้องรับผิดชอบคือการดูแลเด็ก ฉันไม่มีสิทธิคุกคามเด็ก เด็กมีสิทธิของเขา เหล่านี้ไม่เคยอยู่ในการปฏิรูปการศึกษานะ ไม่เคยอยู่ ในเมื่อประชาธิปไตยไม่ถูกพูดตั้งแต่ในระดับรัฐธรรมนูญ มันก็ไม่อยู่ตรงนั้นไง มันก็ไม่อยู่ในระบบคิดในการปฏิรูปการศึกษาไง
นอกจากการศึกษาในระบบสายสามัญแล้ว ยังมีการศึกษาของสายอาชีพด้วย ส่วนนี้อยู่ตรงจุดไหนในกฎหมาย ทำไมเขาถึงดูเหมือนไม่ได้รับความสำคัญเท่ากับสายสามัญ
ยังไม่เอาโครงสร้าง เอาทัศนคติมุมมองของคนในสังคมก่อน เขามักจะมองว่าเด็กอาชีวะ สายนี้เป็นพวกเกเร ไม่เท่าสามัญหรอก มันก็ถูกกดโดยโครงสร้างว่าเวลาคุณได้วุฒิอาชีวะแล้ว คุณจะไป plug in กับสายสามัญก็ลำบากยากเย็นเหลือเกิน จะถูกสามัญมองอีกว่าคุณไม่ได้คุณภาพ ในความเป็นจริงระบบสามัญกับอาชีวะควรอยู่ข้างกัน แล้วก็ควรจะสลับกันได้ มันแค่เป็นวิธีการเรียนที่ไม่เหมือนกัน อันนึงเน้นวิชาการ อันนึงเน้นทักษะเฉพาะทาง
ไปดูโครงสร้างเงินเดือนราชการสิ เด็กอาชีวะกับเด็กสามัญได้เงินเดือนเท่ากันหรือเปล่า เอาแค่นั้นก่อน ถ้ามันไม่เท่ากัน ก็เห็นได้ชัดเจนว่าสถานะของเขาไม่ได้อยู่เท่ากับสายสามัญแบบที่รัฐบาลเรียกว่าอาชีวะสร้างชาติ จะสร้างอย่างไร คุณยังเริ่มไม่เท่ากัน แล้วตำแหน่งอาชีวะอยู่ในระบบราชการเป็นสัดส่วนมากน้อยขนาดไหน ลองไปดูก็ได้ เอาราชการเองก่อน คุณยังไม่ต้องไปพูดถึงเอกชน เมื่อเขาไม่ได้มองว่ามันมีความสำคัญ เขาก็ไม่ส่งเสริมโดยปริยาย ดังนั้น ก็เหมือนเดิม เงินที่ให้ก็ไม่พอ แล้วลักษณะการใช้เงินก็มีปัญหา
ถ้าอย่างนั้น รัฐธรรมนูญที่แก้ปัญหาการศึกษา ต้องมีหน้าตาแบบไหน
ต้องระบุถึงสิทธิในการเข้าถึงการศึกษาที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ระบุเรื่องสิทธิเหนือเนื้อตัวร่างกายของเด็กอย่างชัดเจน ระบุว่าหน้าที่ของรัฐจะต้องดูแลสวัสดิภาพของเด็กๆ แต่ต้องมา พร้อมกับสิทธิบนเนื้อตัวร่างกายของเด็กนะ ไม่ใช่การดูแลแบบคุกคามสิทธิของเด็ก ไม่งั้นก็จะเกิดปัญหาอีกว่า ก็มาดูแลไง ตัดผมไง ซึ่งไม่ใช่ เด็กมีสิทธิที่จะไว้ทรงผมของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่กฎระเบียบที่มันถูกตั้งขึ้น มันเพื่อที่จะอยู่ร่วมกันในสังคม
มันควรจะเกิดกระบวนการพูดคุยว่าตกลงแล้ว สังคมนี้โรงเรียนนี้จะเอาแบบไหนอย่างไร เอาจริงๆ เรื่องนี้ก็ถูกพูดมาไม่รู้กี่ครั้งแล้ว แต่มันไม่เกิดการกำกับให้เป็นระเบียบบนกระดาษกลายเป็นสิ่งที่ใช้จริง เด็กก็ยังโดนละเมิดสิทธิอยู่ทุกๆ วัน
อย่างเช่นเรื่องการตีเด็ก ซึ่งเป็นวิธีทำโทษที่ผิดไปจากที่กระทรวงระบุไว้ตั้งนานแล้ว ก็ต้องกลับไปตั้งคำถามระบบราชการเหมือนเดิมว่า คุณวางระบบความรับผิดชอบไว้อย่างไร ซึ่งเรื่องแบบนี้มันมีอยู่เยอะมาก ชอบมีคนถามเราว่า มันเกิดการละเมิดเด็กยอะขนาดนี้มาตั้งนานแล้ว แร่เรามองไม่เห็นเพราะมันไม่มี social media รึเปล่า หรือมันค่อยๆ เพิ่มมาเรื่อยๆ ในรัฐที่เป็นเผด็จการ เราก็ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร แต่ลึกๆ เราเชื่อว่ารัฐที่เชื่อว่าตัวเองใช้อำนาจได้อย่างไม่จำกัด ส่งผลแน่นอนต่อวิถีปฏิบัติของผู้คนที่ต้องทำงานกับรัฐที่เชื่อแบบนี้ ที่คิดแบบนี้
แล้วทำอย่างไร เราถึงจะได้รัฐธรรมนูญแบบที่เราต้องการ
เสียงของประชาชนสำคัญมากๆ ไม่ว่าคุณจะลุกขึ้นมาส่งเสียงของคุณด้วยวิธีใด จงลุกขึ้นมาส่งเสียงของคุณ คุณคือผู้ทรงสิทธิ คุณคือผู้ที่เป็นเจ้าของประเทศนี้ร่วมกัน ดังนั้น ถ้าคุณอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร มันหมดยุคแล้วที่เราจะอยู่เฉยๆ แล้วรอให้มันเกิดขึ้น มันไม่เกิดขึ้น มันต้องลุกออกมาทำอะไรสักอย่างให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น
ดังนั้น เราอาจไม่มีสูตรสำเร็จรูปให้ทุกคน เราเข้าใจว่าทุกคนก็มีชีวิตและความจำเป็นที่แตกต่างกันออกไป แต่ขอให้เชื่อเถอะว่าเสียงของคุณสำคัญ และคุณต้องส่งเสียงนั้นในรูปแบบที่คุณทำได้ ในรูปแบบที่คุณสะดวกที่จะทำมัน หรือสะดวกน้อยหน่อย น้อยกว่าปกติหน่อยก็ลองทำได้ เสียงของคุณสำคัญจริงๆ
และไม่มีช่วงเวลาไหนในประวัติศาสตร์ประเทศไทยที่เสียงของคุณจะสำคัญขนาดนี้อีกแล้ว นี่คือช่วงเวลาที่คุณต้องออกมาส่งเสียงแล้ว