การจับคู่เพศเดียวกัน (Homosexual) เป็นพฤติกรรมพบเห็นได้ทั่วไปในอาณาจักรของสัตว์ทั้งมวล มีการบันทึกพฤติกรรมดังกล่าวในกว่า 1,500 สายพันธุ์ เหล่าสัตว์จำเป็นต้องพึ่งพาเพศเดียวกันในหลายๆ สถานการณ์เพื่อลดความตึงเครียดในฝูง สร้างพันธมิตรปกป้องลูกน้อย หรือไม่ก็เพื่อความบันเทิงใจล้วนๆ
ผู้เขียนเชื่อว่าท่านทั้งหลายมีความเข้าใจอยู่แล้วว่า ในอาณาจักรของสัตว์โลกนั้น ‘ความเป็นเกย์’ เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเป็นธรรมชาติ มิใช่ในมนุษย์เท่านั้น แต่ความเป็นเกย์จัดเป็นคุณลักษณะสำคัญ จำเป็นต่อการดิ้นรนของสัตว์นานาชนิด
แม้ในอดีตพฤติกรรมนี้จะถูกมองอย่างค่อนแคะว่า ‘ฝืนธรรมชาติ’ แต่ในระยะหลังๆ นักพฤติกรรมสัตว์พบเห็นการจับคู่เพศเดียวกันมากขึ้นจากรายงานทั่วโลก อย่างไรก็ตาม การทำความเข้าใจธรรมชาติของการรักเพศเดียวกันของสัตว์ (Homosexual behavior) โดยทั่วไปยังบิดเบือน เพราะเราเอากระบวนความคิดของมนุษย์เข้าไปจับพฤติกรรมตามธรรมชาติดังกล่าว
เราไม่สามารถนิยาม ‘ชายแท้’ ‘หญิงแท้’ หรือ ‘เกย์’ ในสัตว์ได้เลย เพราะในสัตว์กลุ่มที่แสดงออกถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องสลัดความชอบในเพศตรงข้าม (Heterosexual) อย่างถาวร เราไม่มีทางชี้ชัดอัตลักษณ์ทางเพศได้ ส่วนใหญ่พวกมันร่วมเพศกับเพศเดียวกันก็เพราะอยาก ไม่ได้เกิดจากการนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร การสลับสับเปลี่ยนเกิดขึ้นได้เมื่อปัจจัยแวดล้อมอำนวย
เพนกวินเหงาๆ กลางเมืองหลวง
มีเรื่องเล่าของผู้ดูแลในสวนสัตว์เซ็นทรัลพาร์กใจกลางย่านแมนฮัตตันที่หนาแน่นไปด้วยผู้คนนับล้าน ในช่วงปี 1998 เพนกวิน 2 ตัวสายพันธุ์ ‘ชินสแตรป (Chinstrap penguin)’ ถูกส่งตรงมาจากทวีปแอนตาร์กติกา พวกมันมีชื่อว่า Roy และ Silo ทั้งสองมาเจอกันในแทงก์ปรับอุณหภูมิขนาดใหญ่แต่ดันเงียบเหงา เพราะเป็นส่วนแสดงเปิดใหม่ยังมีประชากรเพนกวินไม่มากนัก
ความเปลี่ยวเหงาดึงดูดเพนกวินทั้งสอง พวกมันค่อยๆ ใกล้ชิดกัน ซุกไซ้กัน ส่งเสียงร้องเรียกเมื่ออีกตัวอยู่ห่าง บางครั้งก็บรรเลงเพลงรักผสมพันธุ์ แถมยังพยายามสร้างรังโดยเอาหินมาเรียงอย่างเป็นระเบียบ ความสัมพันธ์ของ Roy และ Silo ค่อนข้างเป็นที่สนใจของชาวสวนสัตว์ จนมีการตีพิมพ์เรื่องราวของพวกมันในหนังสือพิมพ์ย่านแมนฮัตตัน ก็เพราะคนในย่านนั้นไม่เคยเห็นพฤติกรรมเพนกวินเพศเดียวกันจู๋จี๋
ความเป็นเกย์ในสัตว์จึงเป็นของใหม่แม้แต่ในมุมมองของมนุษย์ก็ตาม
เรื่องมันซับซ้อนไปอีก เมื่อไข่ของเพนกวินสาวอีกตัวดันไหลไปตกอยู่ในรังของ Roy และ Silo มันเป็นไข่ที่ฟักยาก และเพนกวินสาวก็ไม่ได้ใส่ใจเท่าไหร่นัก แต่เมื่ออยู่ในความดูแลของเพนกวินหนุ่มๆ พวกมันช่วยกันให้ความอบอุ่นจนกระทั่งเวลาผ่านไป 34 วัน ไข่ก็ฟักออกมาเป็นตัว Roy และ Silo จึงกลายเป็น ‘พ่อและแม่’ ของเพนกวินน้อยผ่านการอุปการะเป็นลูกบุญธรรม
ชาวสวนสัตว์ตั้งชื่อน่ารักน่าชังให้เพนกวินน้อยว่า Tango เป็นเพนกวินเพศเมีย
Tango โตขึ้นก็มีพฤติกรรมสร้างความสัมพันธ์กับเพนกวินเพศเมียด้วยกัน ส่วน Roy และ Silo เมื่อถูกแยกออกจากกัน Silo เองก็สามารถมีความสัมพันธ์กับเพศตรงข้ามกับเพนกวินสาวอีกตัวที่ชื่อ Scrappy ได้
เรื่องราวความสัมพันธ์ของ Roy และ Silo ถูกนำไปเล่าขานต่อในนิทานสำหรับเด็ก ล้อเลียนในกลุ่มผู้เกลียดชังรักร่วมเพศ หรือถูกยกย่องว่าเป็นไอดอลแห่งชาวเกย์ จนพัฒนาเป็นละครเวทีที่แสดงครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะมันแสดงให้เห็นว่าแม้ครอบครัวเพศเดียวกันก็สามารถเลี้ยงลูกได้ไม่ขาดตกบกพร่อง
ความสัมพันธ์ของเพนกวินหนุ่มๆ เป็นเพียงการค้นพบ 1 ใน 1,500 สายพันธุ์ในอาณาจักรสัตว์ นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าแท้จริงแล้วอาจมีมากกว่านั้น และพฤติกรรมรักเพศเดียวกันของสัตว์เกิดได้ทุกช่วงวัยไม่ว่าจะเด็กหรือจะแก่ มันอาจจะเป็นหนึ่งในกลไกวิวัฒนาการอันซับซ้อนของสิ่งมีชีวิตด้วยซ้ำ เพื่อจุดประสงค์ลดความตึงเครียดในฝูงหรือสร้างพันธมิตรปกป้องลูกน้อยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะแม้แต่มนุษย์อย่างเราๆ Homo Sapiens ยังสามารถใช้ความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันในการปูทางสู่สังคมให้แน่นแฟ้นขึ้นได้
มากกว่านั้นรูปแบบความสัมพันธ์เพศเดียวกันยังเกิดได้บ่อยหากสัตว์อยู่ในสภาพแวดล้อมปิด (Captivity) เช่น การเลี้ยงในสวนสัตว์หรือขังไว้ในกรงก็เร่งให้สัตว์เกิดความเครียดมากขึ้น ยิ่งเป็นปัจจัยเร้าให้เกิดความสัมพันธ์แบบเพศเดียวกัน เฉกเช่นในกรณีของมนุษย์เมื่อต้องอยู่ในเรือนจำ โรงเรียนชายล้วน หญิงล้วน หรือแม้แต่ทีมกีฬาเดียวกัน
บางครั้งความใกล้ชิดภายใต้ความเครียด
ก็นำมาซึ่งความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ
นักพฤติกรรมสัตว์นิยามกลไกนี้ว่า ‘Captivity Effect’
ใกล้แค่ไหนถึงเรียกว่าใกล้
แม้แต่สัตว์ที่มีธรรมชาติสุงสิงน้อย และไม่เคยมีรายงานถึงพฤติกรรมรักเพศเดียวกันเลยก็อาจมีแนวโน้มเมื่อมันถูกเลี้ยงไว้ในกรง อย่าง ‘โคอาลา (Koala)’ สัตว์กระเป๋าหน้าท้องแสนน่ารักซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็น Heterosexual โดยสายพันธุ์ แต่ในปี 2007 สัตวแพทย์จากมหาวิทยาลัย Queensland ในออสเตรเลียพบว่าโคอาลาที่เลี้ยงไว้ในกรงกว่า 43 ตัวในส่วนรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Lone Pine ก็มีพฤติกรรมรักเพศเดียวกัน โดยเฉพาะในกลุ่มโคอาลาเพศเมีย
ผลกระทบของ Captivity Effect เกิดในโคอาลา เนื่องจากพวกมันเผชิญความเครียดจากการแข่งขันเพื่อจับคู่กับเพศตรงข้าม การแย่งชิงคู่ครองหรือพยายามสร้างความประทับใจล้วนต้องใช้พลังงานสูงในการดึงดูด และสมาชิกเพศผู้มีจำนวนน้อยกว่าจึงเกิดการแย่งชิงที่เข้มข้น บางครั้งก็เลยเถิดเป็นความรุนแรง เลือดตกยางออก
เมื่อโคอาลาเพศเมียเข้าสู่ช่วงฮีต (Heat) รังไข่ของพวกมันจะปล่อยฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน (Estrogen) ไปกระตุ้นให้เกิดการผสมพันธุ์ไม่ว่าจะมีตัวผู้อยู่ด้วยหรือไม่ก็ตาม กลไกนี้จะไปเร่งให้ตัวเมียที่อยู่ในอาณาเขตใกล้เคียงพร้อมผสมพันธุ์ด้วย พวกมันจึงมีแนวโน้มสานความสัมพันธ์กับเพศเดียวกันที่อยู่ใกล้เพื่อบริหารกลไกการตอบสนองทางเพศให้พร้อมอยู่เสมอ เห็นได้ว่า Homosexual เองก็เป็นทางออกของสิ่งมีชีวิตที่ล้วนดำเนินไปอย่างเป็นธรรมชาติ เกิดได้จากหลายปัจจัยร่วม แต่เน้นไปที่การลดความตึงเครียดภายใต้ความกดทับทางสังคม
หรือในอีกมุมมองหนึ่งการรักเพศเดียวกันก็นำมาซึ่งสันติสุขในสังคมสัตว์
Making Peace
ช่วงต้นศตวรรษที่ 19 การศึกษาพฤติกรรมสัตว์มักเห็นความสัมพันธ์เพศเดียวกันเป็นเรื่องผิดแปลกไปจากธรรมชาติ (Abnormal) แต่จากงานวิจัยยุคหลังๆ ที่สะสมขึ้นเรื่อยๆ ก็พบว่ามันเป็นของปกติ นับตั้งแต่นักวิจัย Gilbert Van Tassel Hamilton รายงานการติดตามพฤติกรรม ‘ลิงแม็กแคกญี่ปุ่น ( Japanese Macaques)’ 20 ตัวและ ‘ลิงสายพันธุ์โบโนโบ (Bonobo)’ ในปี 1914 พบว่า พวกมันใช้พฤติกรรมรักเพศเดียวกันในการสร้างสายใยพันธมิตร และสร้างอิทธิพลในการควบคุมอำนาจมิให้เกิดความขัดแย้งจนถึงเลือดถึงเนื้อ
ลิงเพศเมียยื่นโอกาสในการร่วมเพศให้กับลิงเพศเมียด้วยกันที่ทรงอิทธิพลกว่าในฝูง โดยการลูบคลำอวัยวะเพศหรือทำออรัลเซ็กซ์เป็นการแลกเปลี่ยน ลิงโบโนโบมีพฤติกรรมทางเพศค่อนข้างคล้ายมนุษย์ โดยกิจกรรมทางเพศเกือบครึ่งหนึ่งทำในคู่ของตัวเอง และเข้าใจกลไกของเซ็กซ์ในการปลดปล่อยความเครียดและสร้างสมดุลระหว่างอำนาจไม่ให้บานปลาย
เข้าทำเนียม Make Love Not War ที่เผลอๆ อาจจะเชี่ยวชาญกว่ามนุษย์ด้วยซ้ำ
รสนิยมทางเพศในสัตว์ มิได้ยึดถือเป็นอัตลักษณ์สุดโต่ง สามารถสลับไปมาได้เมื่อปัจจัยเอื้ออำนวย แต่มนุษย์มักคิดว่าสัตว์มีการแสดงออกอย่างหุ่นยนต์ตรงไปตรงมาอันฝังอยู่ในยีน แท้จริงแล้วพวกมันก็ล้วนมีอารมณ์ความรู้สึก มีความต้องการทางเพศเป็นแรงผลักดัน เมื่อมันรู้สึก ‘ใช่’ มันก็ทำ
กลับกันในสังคมมนุษย์กลับมองความสัมพันธ์เพศเดียวกันเป็นความผิดปกติของธรรมชาติ มีประเทศกว่า 70 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีการลงโทษและหลายครั้งถึงขั้นประหารชีวิตกลางสาธารณชน
ความไม่เข้าใจธรรมชาติเท่านั้นที่ทำให้เราเกลียดตัวเอง เกลียดคนที่แตกต่าง
อ้างอิงข้อมูลจาก
A Research in Marriage by Gilbert Van Tassel Hamilton
Animal Homosexuality: A Biosocial Perspective: Cambridge University Press
Cover Illustration by Kodchakorn thammachart