เรารักสรรพสัตว์ และเราต่างตั้งอยู่ในเมตตาธรรม บ่อยๆ ที่เรามักได้ข่าวเรื่องหมาแมวเจ็บป่วย หลงทาง ไปจนถึงเรื่องวัวควายทั้งหลายที่ต่างรักชีวิตตนเอง มีการหลั่งน้ำตาเมื่อเข้าสู่กระบวนการการฆ่า นานๆ ครั้ง มนุษย์เลยมีการงดการเบียดเบียน มีการลดการกินสิ่งมีชีวิตอื่น งดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
จะว่าไป คำว่า ‘สรรพสัตว์’ ที่มนุษย์เรารัก ดูจะใช้คำว่า สรรพ ไม่ค่อยได้เท่าไหร่ เพราะจากที่ยกตัวอย่างไป สัตว์-สายพันธุ์ที่เราจะรักและเมตตากัน ก็ดูเหมือนความรักของเราค่อนข้างจำกัดสายพันธุ์พอสมควร ในด้านหนึ่งเราก็รักสัตว์อย่างเฉพาะเจาะจง เรารู้สึกรับไม่ได้เมื่อมีการกินสุนัขหรือแมว รู้สึกมากขึ้นหน่อยเมื่อเรากินเนื้อวัวหรือหมู…แต่ก็ยังกินได้อยู่โดยไม่ได้มีอารมณ์ร่วมมากเท่ากับการกินหมาหรือแมว
ถ้าเป็นสรรพสัตว์อื่นๆ ล่ะ อย่าง กุ้ง หอย ปู ปลา ปลาหมึก ปลาเล็กปลาน้อย แมงกะพรุนที่ถูกจัดแสดงไว้หน้าภัตตาคาร ไปจนถึงสิ่งมีชีวิตที่ไม่ได้ดูน่ารัก อย่างตะขาบ งู กิ้งก่า จระเข้หรือตัวเงินตัวทอง สิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กๆ ไม่ได้มีเลือดเนื้อ ไม่ได้มีเรื่องเล่าร่วมกับมนุษย์เราเท่ากับพวกขนฟู ดูเหมือนว่าการฆ่าและความตายของพวกมันจะส่งผลกับความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่
ดังนั้นเอง จากคำว่าเมตตาธรรม เป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมของเราๆ จากการฆ่าและการงดเว้นการฆ่า พอลองมาคิดแล้วกลับเต็มไปด้วยความซับซ้อน และเป็นปัญหาทางจริยธรรมอย่างหนึ่งเลยก็ว่าได้ อะไรที่ทำให้เรา (ไม่ใช่แค่บ้านเรา) เลือกรักสัตว์บางสายพันธุ์ เลือกกินบางสายพันธุ์ เลือกรู้สึกกับบางสายพันธุ์ และเลือกที่จะเฉยชากับสายพันธุ์อื่นๆ ความรู้สึกที่ว่าเรามีเมตตาช่วยเหลือสัตว์น้อยใหญ่นี้ จริงๆ มนุษย์เรากำลังตั้งอยู่บนความอยุติธรรมและการปากว่าตาขยิบหรือเปล่า (เป็นคำถามที่นักปรัชญาเขาถามน่ะ)
All animals are equal
แต่สัตว์บางประเภทเท่าเทียมกว่าพวกอื่น (but some animals are more equal than others)
วลียอดฮิตจากแอนนิมอล ฟาร์ม จริงๆ วลีนี้ต้องการล้อระบบสังคมนิยม แต่ความหมายตามตัวอักษร มันก็ล้อกับมุมมองของมนุษย์ที่มีต่อสัตว์ไปด้วยโดยบังเอิญ
อะไรทำให้มนุษย์รู้สึกต่อสัตว์แต่ละสายพันธุ์ในมิติที่ต่างกัน ซึ่งมันก็เป็นประเด็นเหมือนกัน เพราะจากระดับความคิดย่อมนำไปสู่การลงมือปฏิบัติ เช่นที่เคยมีงานศึกษาว่าเราสนใจแต่สัตว์ที่น่ารัก ทำให้องค์ความรู้หรือการลงไปศึกษาสัตว์อื่นๆ เช่น ค้างคาว อะไรพวกนี้ก็น้อยลง หรือในการปฏิบัติการทางศีลธรรม เราก็จะกระตือรือร้นมากกว่าในการเข้าช่วยเหลือสุนัขและแมวที่เรารู้สึกและทำกับพวกมันในฐานะสมาชิกของครอบครัว ส่วนการไถ่ชีวิตโคกระบือก็นานๆ ครั้ง ปล่อยปลาก็มีบ้าง (บางทีรู้สึกว่าคืนความอุดมสมบูรณ์มากกว่าจะอินว่า แกไม่โดนเอาไปแกง) แต่เวลาเราไปเดินตามตลาด ก็ไม่ค่อยมีความอยากปล่อยหมึก ปล่อยหอย ปล่อยแมงกะพรุน ปล่อยกบ คางคก งู หรือพวกหนอน นก แมงมุม หนูนาอะไรแบบนี้กันเท่าไหร่
Hal Herzog หนึ่งในนักจิตวิทยาแถวหน้าผู้เชี่ยวชาญเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และสัตว์ บอกว่าไอ้สิ่งที่มนุษย์เราเรียกว่าเป็นศีลธรรมของมนุษย์ มันวางอยู่บนสิ่งที่เรียกว่าทฤษฎีของจิต (Theory of mind) คือมนุษย์เราสามารถแทนความรู้สึกของตนเข้ากับมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสามารถจินตนาการว่ามนุษย์หรือสัตว์นั้นกำลังคิดหรือรู้สึกอะไร ตรงนี้เองที่ทำให้มนุษย์เกิดความรู้สึกร่วม หรือ empathy ซึ่งนำไปสู่ความคลุมเครือของศีลธรรม
ฟังดูแล้วก็ เอ้อ ก็ใช่ไง เรามีความเห็นอกเห็นใจ เข้าอกเข้าใจ ก็ถูกแล้ว ไม่ดีรึไง
ลองย้อนกลับไปยังปัญหาของความลำเอียงที่เรามีต่อแต่ละสายพันธุ์ ก็ฟังดูเข้าเค้าตามที่เฮีย Herzog พูดเหมือนกัน ว่าไอ้ความเห็นอกเห็นใจของมนุษย์ มันเป็นสิ่งที่กำหนดการกระทำของเราที่มีต่อสายพันธุ์อื่นๆ เช่น หมาแมวเป็นสิ่งที่เราเอามาเลี้ยงเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว เราก็มัก ‘ใส่’ ความเป็นมนุษย์เข้าไปให้มัน หมาตัวนี้ซื่อสัตว์มารอเจ้านาย แมวมีลักษณะของผู้หญิง การเล่าเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมด้วยจินตนาการแบบมนุษย์ๆ ก็เป็นสิ่งที่มากระตุ้นความเห็นอกเห็นใจและการอยากช่วยเหลือได้รุนแรงกว่าสิ่งมีชีวิตอื่นที่เราไม่ได้สร้างเรื่องเล่าให้กับมัน
สิ่งที่เห็นชัดที่มนุษย์โยงความรู้สึกของเราเข้ากับสัตว์ คือการมีองค์ประกอบบางอย่างที่เหมือนหรือใกล้เคียงกับตัวเรา เช่นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีขนาดใหญ่ มีเลือดเนื้อสีแดงสดเหมือนกับมนุษย์ มันทำให้เรารู้สึกกับการฆ่าสัตว์ที่มีเลือดสีแดงเหมือนเรา ในขณะเดียวกัน ปลาเนื้อขาว หรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีระบบประสาทและกล้ามเนื้อที่แตกต่างออกไป เมื่อฆ่าหรือชำแหละแล้วไม่มีเลือดนอง มันก็ทำให้เราจินตนาการถึงความเจ็บปวด ‘แบบเดียวกัน’ กับเราไม่ออก และก็ทำให้ empathy ของเราน้อยลง ความสงสารก็น้อยลง ซึ่งจริงๆ แล้วพวกมันก็ล้วนมีชีวิตเท่าๆ กัน
ดังนั้นคำว่า empathy เลยเป็นสิ่งที่มีปัญหาอยู่ด้วย เพราะเรากำลังเอาตัวเราเองเป็นศูนย์กลาง เอาเรื่องเล่าที่เราคุ้นเคย เอาลักษณะทางกายภาพ เอาความใกล้ชิดของเราเป็นที่ตั้ง
จริยธรรมกับกระบวนการของการชำแหละ
ปัญหาสำคัญ ในระยะหลังคือ เราออกห่างจากการผลิตอาหาร Herzog บอกว่า ปัจจุบันเราไม่ได้เห็นสัตว์ที่เราเอามากินแบบตัวเป็นๆ เราไม่ได้เห็นกระบวนการการฆ่าที่จริงๆ เรากำลังบริโภคเลือดเนื้อของสิ่งมีชีวิตพวกนั้นอยู่ ไก่ หมู รู้ตัวอีกทีก็อยู่ในห่อ ถูกทำให้ดูสะอาดสะอ้านสวยงาม มันเลยเป็นเรื่องที่ย้อนแย้งขึ้นมา เพราะในขณะที่บริโภคเนื้อสัตว์ เราไม่ได้รู้สึกถึงการเชือดชำแหละ เราแยกตัวเองออกจากกระบวนการการฆ่าโดยสิ้นเชิง
ถ้าเราเชื่อทฤษฎีของจิต ความย้อนแย้งอยู่ที่ว่า ในกระบวนการการกินสิ่งมีชีวิต จากกระบวนการที่ถูกทำให้ดูสะอาด มันทำให้เราไม่รู้สึกอะไรกับสิ่งที่กิน การบริโภคสิ่งที่สะอาด คือรูปลักษณ์สะอาด และทึกทักว่าถูกฆ่าอย่างสะอาดมีเมตตา ทำให้เรารู้สึกว่าไม่มีปัญหาในทางศีลธรรมอะไรนี่นา แต่ในทางกลับกัน การที่เราไม่เห็นกระบวนการที่ ‘ดูสกปรก’ ไม่เห็นภาพไก่ตัวมอมๆ เห็นการเชือดชำแหละ เห็นเครื่องในไส้และกลิ่นคาว คือถ้าเราเห็นอย่างหลัง มันทำให้เราใกล้ชิดกับสิ่งที่กินมากกว่า มีความเข้าอกเข้าใจ และเห็นค่าของสิ่งที่เรากินเข้าไปมากกว่า
ดังนั้นเอง ถ้าพูดในเชิง empathy การที่เราอยู่ห่างไกลจากกระบวนการการฆ่า มันอาจจะทำให้เรามีอคติทางสายพันธุ์และมีความปากว่าตาขยิบมากขึ้นกว่าเดิมก็ได้ เพราะเราอาจจะรู้สึกกับน้องหมาน้องแมว ในขณะที่เราก็กินเนื้อไก่เนื้อปลาที่ตัดแต่งอย่างสวยงาม พร้อมๆ กับความรู้สึกว่าเราเป็นคนที่มีศีลธรรมดีมาก
ระยะหลังเลยมีกระแสที่ให้ภาพของการเชือดชำแหละที่เน้นย้ำว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เรากำลังกินมันเข้าไป ตลาดปลาซึคิจิ วัฒนธรรมซูชิที่เราชื่นชม ส่วนหนึ่งของความอร่อยคือการใช้เทคนิคการฆ่าเพื่อคงไว้ซึ่งผิวเนื้อสดใหม่ของปลานั้นๆ หนังที่สวยงามและชวนหิวอย่าง My Little Forest พูดถึงการกินสิ่งที่เราสร้างหรือฆ่าด้วยสองมือของเรา ซึ่งถ้าเราเข้าใจ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่คือส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต
อาจจะไม่ผิดที่จะบอกว่าการฆ่าและการกินเป็นสิ่งที่อยู่ร่วมกับวัฒนธรรมมนุษย์อย่างยาวนาน เราไม่อาจปฏิเสธความเกี่ยวข้องการฆ่าและการเบียดเบียนของมนุษย์เราบนสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ได้
ไม่มากก็น้อย เราต่างอยู่รอดบนความเบียดเบียน เกี่ยวข้องกับการฆ่าและการทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ประเด็นจึงอาจไม่ได้อยู่ที่การบอกว่าฉันไม่ได้ฆ่าหรืองดเว้นเบียดเบียน (ซึ่งการงดการเบียดเบียนก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร) แต่อยู่ที่การรู้สึก เคารพและเข้าใจถึงการเบียดเบียนของเราที่มีสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ บนโลกใบนี้ จากการบริโภค ไม่ว่าจะในแง่ของการกิน การใช้ หรือการตั้งถิ่นฐานรุกรานก็ตาม