อนาคตของมนุษย์พันธุ์ใหม่กำลังเริ่มขึ้น มีอะไรที่น่าสนใจ และมีอะไรที่น่ากังวล?
นวัตกรรมตัดแต่งยีนมนุษย์กำลังก้าวหน้าแบบกบกระโดดเหย่งๆ จากเครื่องมือที่มีชื่อว่า ‘CRISPR–Cas9′ เทคโนโลยีใหม่ด้านพันธุวิศวกรรมที่ทำให้เราปรับแต่งหรือแก้ไขยีนได้อย่างแม่นยำและง่ายดาย จนทำให้เราเข้าใกล้ความสมบูรณ์ในการออกแบบสิ่งมีชีวิตตามเป้าประสงค์อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน แน่ล่ะ! นวัตกรรมที่ทำให้เรารับบทพระเจ้าได้ขนาดนี้ ต้องนำมาซึ่งการโต้เถียงอย่างเมามันในแวดวงวิทยาศาสตร์ของทศวรรษนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
CRISPR–Cas9 ถูกทดสอบในสัตว์หลายชนิดแล้ว ล้วนประสบความสำเร็จอย่างดี ไม่ว่าจะแก้ไขโรคในระดับหนูทดลอง แกะที่ตัดแต่งพันธุกรรมจนเลือกลายขนได้ และการแก้ไขยีนในลิงแสมฝาแฝด ชื่อ ‘หมิงหมิง’ และ ‘หลิงหลิง’ (ล้วนเป็นผลงานของทีมนักวิทยาศาสตร์จีนทั้งหมด) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า เครื่องมือมหัศจรรย์จัดการกับสิ่งมีชีวิตได้หลากหลายเผ่าพันธุ์ และมีหรือที่อเมริกาจะยอมให้จีนนำหน้าไปก่อนเรื่องพันธุวิศวกรรม?
แล้วสำหรับมนุษย์ล่ะ? พวกเราพร้อมถูกแก้ไขแล้วหรือยัง?
21 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะบอร์ดสถาบันสุขภาพแห่งชาติอเมริกา US National Institutes of Health (NIH) มีข้อสรุป อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ทำการทดลองตัดแต่งยีนมนุษย์บนแผ่นดินอเมริกาได้ แต่มีข้อแม้ว่าต้องตั้งเป้าการทดลองในการปรับแต่งยีนเพื่อการรักษามะเร็งของผู้ป่วยด้วยการรักษาเซลล์ภูมิคุ้มกัน (T Cells) เท่านั้น (ซึ่งก่อนหน้านี้ NIH ‘เซย์โนว’ มาตลอด จนนักวิจัยอเมริกันหลายคนต้องแอบดอดไปร่วมมือกับสถาบันวิจัยในประเทศจีน)
“การฟื้นฟูผู้ป่วยมะเร็งด้วยเทคนิคเซลล์บำบัด (Cell Therapy) ที่ผ่านๆ มา ก็มีผลที่น่าชื่นใจ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากมีเนื้อร้ายกลับมาอีก แต่ด้วยเทคโนโลยีการตัดแต่งยีนชุดใหม่นี้ น่าจะทำให้พวกเขาสู้กับมะเร็งได้หายขาดมากกว่าเดิม โดยเน้นเจาะจงไปที่ระบบภูมิคุ้มกันโดยตรง” นายแพทย์ Edward Stadtmauer จากมหาวิทยาลัย Pennsylvania เป็นอีกเสียงหนึ่งที่สนับสนุน CRISPR–Cas9
สำหรับการทดลองครั้งแรกที่จะเริ่มขึ้นแบบตั้งไข่เบาๆ ก่อน (แต่ก็ใช้ทุนทรัพย์กว่า 250 ล้านเหรียญจากอดีตประธานบริหาร Facebook อย่าง Sean Parker เลยนะจ๊ะ) และออกแบบงานทดลอง เพื่อหาข้อสรุปว่า CRISPR ปลอดภัยต่อมนุษย์จริงๆ ที่สำคัญมันเวิร์คสำหรับการรักษามะเร็งอย่างที่ตั้งใจกันไว้หรือเปล่า? แล้วค่อยมาว่ากันในขั้นต่อๆ ไป
แล้วทดลองกันอย่างไรหนอ?
ทีมวิจัยวางแผนจะใช้ CRISPR ในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งจำนวน 18 ราย ใช้การตัดแต่งยีนทั้งหมด 3 ครั้ง
- การตัดแต่งยีนครั้งแรก จะสอดยีนเพื่อปรับแต่งโปรตีนที่ตรวจจับเซลล์มะเร็ง และควบคุมให้เซลล์ภูมิคุ้มกัน (T Cell) จัดการกับเจ้าเนื้อร้ายนั้นซะ
- การตัดแต่งยีนครั้งที่สอง จะเอาเซลล์ภูมิคุ้มกันเดิม (T Cell) ของคนไข้ออก ที่อาจขัดขวางการรักษามะเร็ง
- การตัดแต่งยีนครั้งที่สาม จะเน้นกลยุทธ์การป้องกัน โดยการเอายีนโปรตีนที่เซลล์มะเร็งกำลังหมายตาออกก่อนที่มันจะเติบโตลุกลาม
หลังจากการตัดแต่งครบทั้ง 3 ครั้ง นักวิจัยจะสอดยีนที่ตัดแต่งแล้วกลับไปยังตัวคนไข้ จากนั้นจะติดตามผลว่าเซลล์มะเร็งหยุดการเติบโตหรือไม่ และยีนที่ตัดแต่งแล้วเมื่ออยู่ในร่างกายมนุษย์จะไม่สำแดงอะไรแผลงๆออกมาในระยะยาว
ทั้งหมดทั้งมวล การทดลองครั้งประวัติศาสตร์จะเริ่มอย่างเร็วที่สุดปลายปีนี้แน่นอน และด้วยความที่ CRISPR เป็นเครื่องมือที่ง่ายและพัฒนาต่อยอดได้อย่างรวดเร็วมาก หากประเทศไหนวิจัยช้าไป ก็มีแต่จะกินฝุ่นจากเพื่อนๆ ที่นำไปก่อนแล้ว
โครงการต่อไปในการตัดต่อยีนมนุษย์จะเป็นตาของบริษัท Editas Biotechnologies ในอังกฤษ โดยใช้เทคโนโลยี CRISPR ในการทดลองเพื่อรักษาโรคเกี่ยวกับทางสายตา โดยเฉพาะอาการตาบอด ในปี 2017 (แต่ทางการยังไม่รับรองการทดลองนี้นะจ๊ะ) ซึ่งยังต้องเสนอรายงานอีกโขที่จะกำหนดทิศทางให้ชัด
นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มเริ่มกังวลกับประสิทธิภาพของเครื่องมือ CRISPR ที่อาจสร้างผลกระทบที่เราไม่ทันคาดคิดอีกไม่รู้กี่ตลบ และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และธรรมชาติที่มีมามาแต่ดั้งเดิมต้องขาดสะบั้นลง
US National Academies ออกมาแสดงความเห็นว่าพวกเราควรทำความเข้าใจและออกแบบ ‘กระบวนการตัดสินใจ’ ในการตัดแต่งพันธุกรรมกันยกใหญ่ และหากจะมองในด้านประโยชน์ในงานวิจัยแล้ว ยังต้องคำนึงถึงด้านจริยธรรมและออกกฎหมายอย่างมีความรับผิดชอบ
เราชื่อว่าความก้าวหน้าทางพันธุวิศวกรรมจะเปิดพื้นที่ให้พวกเราสำรวจความเป็นมนุษย์ในหลายแง่มุม เป็นธรรมดาของวิทยาการที่จะช้าหรือเร็วนั้น พวกเราก็ต้องจับตามองและคอยตั้งคำถามอยู่เสมอว่า “กำลังมาถูกทางแล้วจริงๆหรือ?”
อ้างอิงข้อมูลจาก
http://www.nature.com/news/crispr-technology-leaps-from-lab-to-industry-14299http://faculty.mdanderson.org/Dean_Lee/
http://www.scientificamerican.com/article/first-crispr-human-clinical-trial-gets-a-green-light-from-the-u-s/