เมื่อเร็วๆ นี้ เราคงได้ยินข่าวประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศยกเลิกโครงการรับผู้ลี้ภัย เป็นเวลา 120 วัน รวมถึงการแบนคนต่างด้าวจากอิรัก ซีเรีย อิหร่าน ลิเบีย โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน เป็นเวลา 90 วัน ซึ่งเรื่องนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันมาตั้งแต่สมัยทรัมป์หาเสียง และเขาได้ทำมันจริงๆ หลังจากที่เป็นประธานาธิบดี
เรื่องนี้ก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยเป็นจำนวนมากทั้งการประท้วงจากชาวอเมริกันเอง และการรุมประณามจากทั่วโลก ทั้งยังมีการถกเถียงกันว่าการกระทำแบบนี้จะไม่เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่าง ‘อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951’ เหรอ
ว่ากันว่าหลังจากที่ทรัมป์สั่งระงับโครงการรับผู้ลี้ภัยของสหรัฐอเมริกา อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้ต่อสายตรงถึงเขาเพื่อพยายามอธิบายให้ประธานาธิบดีมือใหม่เข้าใจถึงอนุสัญญาฉบับนี้ ว่ามันมีเงื่อนไขให้แต่ละประเทศปฏิบัติอย่างไร ซึ่งตรงนี้ก็ไม่รู้ว่าฝั่งทรัมป์จะเข้าใจมากน้อยแค่ไหน
เว็บไซต์ข่าว ‘The Conversation’ เลยทำไกด์ไลน์เพื่อเป็นความรู้เบื้องต้นให้กับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับระบบการรับผู้อพยพที่ใหญ่ที่สุดในโลก
อย่างแรกเลยก็คือ กฏหมายระหว่างประเทศที่สหรัฐฯ ผูกพันอยู่ ทำให้ต้องอนุญาตให้ผู้ที่มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย เข้ามาและหลบภัยในสหรัฐฯ
โดยไม่สามารถส่งคนเหล่านี้กลับประเทศตัวเองที่บุคคลนั้นๆ
อาจต้องเจอกับการทรมานหรือการกดขี่ประการอื่นๆ
โดยไม่มีเงื่อนไขอื่นใดให้สหรัฐฯ บิดพลิ้วได้
มาตราที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ. 1951 และพิธีสารปี 1967 ได้อธิบายว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ หมายถึง ‘ผู้อยู่นอกอาณาเขตรัฐแห่งสัญชาติของตน…และด้วยความหวาดกลัวซึ่งมีมูลอันจะกล่าวอ้างได้ว่าจะได้รับการประหัตประหารด้วยเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ว่าทางสังคมหรือทางด้านความคิดทางการเมืองก็ตาม และด้วยเหตุแห่งความกลัวนั้นจึงไม่สมัครใจที่จะขอความคุ้มครองจากรัฐแห่งสัญชาติดังกล่าว หรือผู้ใดที่เป็นบุคคลไร้สัญชาติที่อยู่นอกอาณาเขตรัฐที่เดิมมีถิ่นฐานพำนักประจำ แต่ไม่สามารถหรือไม่สมัครใจที่จะเดินทางกลับไปด้วยเหตุแห่งความหลาดกลัวที่กล่าวมาข้างต้น’
นั่นหมายความว่า แต่ละประเทศจะต้องรับรองสถานะผู้ลี้ภัยให้กับบุคคลนั้นๆ เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไม่ว่าด้วยวิธีการใดก็ตามทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย โดยไม่สามารถขับไล่ผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศได้ นอกจากจะมีความจำเป็นด้วยเหตุผลทางด้านความมั่นคง แต่ผู้ลี้ภัยนั้นจะต้องได้รับโอกาสในการหาที่ลี้ภัยอื่นก่อนถูกเนรเทศ ซึ่งความจริงแล้วสหรัฐฯ ก็มีระบบที่ใช้รับรองสถานภาพผู้ลี้ภัยมาอย่างยาวนาว แต่ก็นั่นแหละ ทรัมป์เพิ่งสั่งระงับโครงการนี้ไป
ซึ่งมาตรา 33 ของอนุสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัยก็ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า “รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) ผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่ง ณ ที่นั้นชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ว่าทางสังคมหรือความคิดด้านการเมือง”
จะเห็นได้ว่าข้อยกเว้นจะต้องเป็นเหตุผลที่เชื่อถือได้
มีการแจกแจงอย่างชัดเจน ภายใต้มาตรฐานของกฎหมาย
ดังนั้นการใช้คำสั่ง executive order ของทรัมป์ จึงเป็นการเหมารวมไม่ได้มีการพิจารณาถึงเงื่อนไขตามอนุสัญญาที่ตัวเองเป็นสมาชิกเลย นอกจากจะละเมิดต่ออนุสัญญาเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ลี้ภัยแล้ว ยังอาจละเมิด ‘อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน’ และ ‘อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ’ อีกด้วย
การที่ทรัมป์ทำตามคำพูดที่ให้ไว้เมื่อตอนหาเสียงนั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ก็น่าจะต้องพิจารณาถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ของโลก รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศด้วย คนธรรมดาอย่างพวกเราก็คงได้แต่หวังว่าผู้นำมือใหม่อย่างทรัมป์จะเข้าใจ และไม่ทำให้โลกวุ่นวายหนักไปมากกว่านี้
อ้างอิงข้อมูลจาก