ใครจะไปเชื่อว่าหนังสืออายุเกือบ 70 ปีอย่าง 1984 ของจอร์จ ออร์เวลจะกลับมาฮิตระเบิดระเบ้อ ติดเบสท์เซลเลอร์ ในปี 2017 และกลายเป็นหนังสือที่ ‘Relevant’ หรือ ‘ทันสมัย’ เป็นบ้า
ปีที่แล้ว, อย่างที่หลายคนรู้, ว่า Oxford English Dictionary ยกให้คำว่า Post-truth หรือ “ยุคข้ามความจริง” เป็นคำแห่งปี แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าคำนั้นจะมีคู่ต่อสู้ใหม่ที่สมน้ำสมเนื้อกันเสียแล้ว
นั่นคือคำว่า Alternative Facts หรือ “ความจริงทางเลือก”
รายงานล่าสุดบอกว่าที่ปรึกษาของทรัมป์ คือคุณ Kellyanne Conway ใช้คำนี้ในการให้สัมภาษณ์ เมื่อผู้สื่อข่าวไปถามถึงจำนวนผู้ที่มารวมตัวกันในวันเข้ารับตำแหน่งของทรัมป์ ว่าทำไมน้อยจัง แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทรัมป์เคยออกมาให้สัมภาษณ์ว่าคนที่มารวมตัวกันนั้น “เป็นฝูงชนขนาดใหญ่ที่สุดตั้งแต่มีพิธีสาบานตนเป็นต้นมา” ถึงแม้ว่าจะมีภาพที่แพร่หลายอยู่ในอินเทอร์เนตเพื่อเปรียบเทียบมากมาย, และแน่นอน กลายเป็นมีมไปแล้ว, ก็ตาม
แล้ว Conway ก็บอกว่า โอ๊ย ก็แต่ละคนก็มี “ความจริง” ต่างๆ กันไป นี่มันเป็น Alternative Facts หรือ “ชุดความจริงทางเลือก” ชัดๆ (ถึงแม้ว่าจะมีภาพแบบนี้ออกมา ก็ยังบอกว่าเป็นความจริงทางเลือก!)
การที่เธอออกมาให้สัมภาษณ์แบบนี้ คนจึงไปโยงกับภาษา newspeak ใน 1984 เพราะรู้สึกว่า “พูดอะไร ทำไมแอบเซิร์ดเหมือนหลุดออกมาจากในนิยาย”
ไปดูตอนที่ให้สัมภาษณ์สดๆ ที่ http://money.cnn.com/2017/01/22/media/alternative-facts-donald-trump/
พิธีกรบอกว่า “Alternative Facts are not facts. They’re falsehood.” (ความจริงทางเลือกไม่ใช่ความจริงโว้ย มันเป็นเรื่องปลอมๆ กุขึ้นมา!) แล้วพาแนลนักข่าวก็วิจารณ์ว่า คำว่า Alternative Facts นี่มันเป็นภาษาที่เหมือนกับภาษาของทนายเลย ทั้งๆ ที่จริงๆ ในเรื่องนี้มันมีแค่ “ความเป็นจริง” (Reality) หรือความไม่จริงเท่านั้น
ถ้าใครเคยอ่าน 1984 หรือรู้จักภาษา newspeak อยู่แล้ว ก็คงรู้ว่ามันเป็นภาษา (หรือชุดคำใหม่ วิธีพูดใหม่) ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อควบคุมความคิดของคน โดยมีคำอย่าง doublethink ซึ่งคือ “การยอมรับความจริงสองสามแบบที่ขัดแย้งกันได้” (the acceptance of or mental capacity to accept contrary opinions or beliefs at the same time, especially as a result of political indoctrination.) เป็นต้น
ตอนนี้ 1984 เลยพุ่งขึ้นมาเป็น Top 10 ของ Amazon อีกครั้งเรียบร้อย (อันดับ 6 บ้าง อันดับ 5 บ้าง Amazon อัพเดททุกชั่วโมง ขณะที่เข้าไปดูตอนนี้ อันดับ 1 แล้วจ้า!)
นิยาย 1984 ของจอร์จ ออร์เวลล์ ถูกพูดถึงมากขึ้นในช่วงสองสามปีนี้ เพราะความเป็นจริงเริ่มทับซ้อนกับนิยาย ในปีที่แล้ว มีการพูดถึงการสอน 1984 ในชั้นเรียน ในยุคปัจจุบัน
ก่อนปิดเทอมในช่วงเดือนตุลาคมของทุกๆ ปี Andrew Simmon คุณครูโรงเรียนมัธยมปลายแห่งหนึ่งในซานฟรานซิสโก จะสอนวรรณกรรมเรื่อง “1984” อันโด่งดังของ George Orwell ด้วยการจำลองบรรยากาศของห้องเรียนและพื้นที่รอบๆ โรงเรียนให้เหมือนกับโลกในนิยายดังเรื่องนี้
ในปีนี้ Simmon ประกาศว่า เขาจะทำสงครามกับระบบอาวุโสซึ่งเป็นสาเหตุของการขาดเรียนอย่างไม่มีสาเหตุ การอ่านหนังสืออย่างไม่ตั้งใจ และการที่งานของเด็กๆ ออกมาแย่ โดยเขาได้มอบหมายหน้าที่ให้เด็กๆ ไป “สอดแนม” พฤติกรรมการทำงานของเด็กคนอื่นๆ ในห้องมา
เมื่อเริ่มต้นชั่วโมง ทุกคนจะต้องท่องคำขวัญ และเมื่อมีการเปิดเผยรายงานที่พวกเขาได้รับมอบหมายให้ไปติดตามพฤติกรรมของเพื่อนๆ ทุกคนก็จะส่งเสียงเชียร์ให้กับ “ฮีโร่” ที่ทำตามคำสั่ง และร้องโห่ใส่คนที่ไม่ใส่ใจมีส่วนร่วมกับกิจกรรม
ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ โปสเตอร์ต่างๆ ที่เคยพูดถึงปัญหาของระบบอาวุโสก็เริ่มเปลี่ยนไป กลายเป็นโปสเตอร์ของคุณครู Simmon แทน เขาเริ่มเปลี่ยนกฎ และเข้มงวดกับการใช้สิทธิต่างๆ รวมถึงการเข้าห้องน้ำ Simmon ยังหักคะแนนตามอำเภอใจ และโกหกว่ามีขบวนการต่อต้านอำนาจของเขา และประกาศว่าจะขจัดคนที่กล้าคัดค้านนโยบายเพื่อเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ร่วมกันนี้ด้วย
และหากเจอใครแสดงความไม่พอใจขึ้นมา Simmon ก็จะตอบโต้ด้วยการจ้องหน้าอย่างถมึงทึง เขาทำตัวใจร้ายกับเด็กๆ มากขึ้น และจะให้คะแนนกับใครก็ตามที่มาแจ้งกับเขาว่ามีใครบ้างที่ไม่พอใจเขา ซึ่งก็มีหลายคนที่อยากได้คะแนนดีๆ มารายงานกับเขาหลังจบชั่วโมง เมื่อกิจกรรมผ่านไปสองสัปดาห์เขาก็ให้นักเรียนเริ่มอ่านหนังสือ และประกาศว่าการทดลองจบแล้ว
เมื่อเขาถามนักเรียนว่า พวกเขาเรียนรู้อะไรบ้างจากการจำลองเหตุการณ์ในห้องเรียน หลายคนบอกว่า เขารู้สึกได้ว่าความซื่อตรงจริงใจเนี่ยมันไม่ได้แข็งแกร่งกันอย่างที่ควรจะเป็นเลย หลายคนทำตัวเป็นสปายคอยสอดส่องคนอื่นโดยไม่ถามไม่สงสัย และ Simmon ยังบอกว่า เขาเคยเจอเด็กที่หิวคะแนนมาก จนเอาเรื่องของแฟนตัวเองมารายงานซะละเอียดยิบก็มี
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงยังได้เรียนรู้อีกว่า ปฏิบัติการเพื่อความดีอันสูงส่ง มันพร้อมที่จะออกนอกลู่นอกทางได้เสมอ โดยที่พวกเขาเองก็ยอมรับว่า แทบไม่รู้สึกตัวเลยว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหันนั้นมันมาเอาตอนไหน และพวกเขาก็นึกขึ้นได้ว่าตัวเองไม่เคยถามเลยด้วยซ้ำว่า ไอ้แผนที่เขา (Simmon) จะเอามาใช้จัดการกับปัญหาอาวุโสนี่มันคืออะไร
ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะได้เห็นความละม้ายกันระหว่างนิยายเรื่องนี้ กับความเป็นจริง เพิ่มขึ้นไหมในอนาคต
เพราะบางครั้ง เรื่องจริงก็ชวนอึ้งกว่านิยาย (ส่วนในบ้านเรานี่… โนคอมเมนต์เนอะ)
อ้างอิงจาก
http://www.theatlantic.com/education/archive/2016/11/teaching-1984-in-2016/508226/
https://en.wikipedia.org/wiki/Nineteen_Eighty-Four