ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าภาพอาเซียนในปีนี้ และในตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก็ได้มีการจัดประชุมอาเซียน ซึ่งมีรัฐมนตรีต่างประเทศจากทั่วโลกมาเข้าร่วม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มาเยือนประเทศไทยครั้งแรก หลังเข้ารับตำแหน่งด้วย
และนอกจากการเข้าร่วมประชุม พบปะรัฐมนตรี เมื่อเช้านี้ (2 สิงหาคม 62) ปอมเปโอ ก็ยังได้ร่วมกล่าวปาฐกถา ในประเด็น ‘การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก’ ที่ได้พูดถึงเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ทั้งไทย และจีนที่กำลังมีความขัดแย้งเรื่องสงครามการค้า รวมถึงตอบคำถามถึงกรณีต่างๆ เช่น เกาหลีเหนือ และจีนด้วย
The MATTER ตามไปฟังปาถกฐาของปอมเปโอ และอยากมาสรุปให้ทุกคนได้ฟังกัน
ปอมเปโอได้เริ่มพูดถึงความสัมพันธ์ของไทย-สหรัฐฯ ที่มีมายาวนาน 200 ปี และเชื่อมั่นว่าเราจะยังคงความเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันในศตวรรษหน้าอีก และได้พูดถึงความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ในเอเชีย ที่เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่ว่าจะเป็นการประกาศเอกราชจากประเทศอาณานิคม ประเทศต่างๆ ที่แยกตัวออกจากกัน แนวคิดคอมมิวนิสต์ที่มีอยู่ในหลายชาติ แต่ตอนนี้ เวลาผ่านไปแล้ประเทศในเอเชียได้พัฒนาขึ้นมาก
ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ที่มีบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ สิงคโปร์ที่กลายเป็นประเทศที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคของบริษัทต่างๆ มาก่อตั้ง หรือแม้แต่เซี่ยงไฮ้ และปักกิ่ง ที่กลายเป็นเมืองเศรษฐกิจ
ปอมเปโอตั้งคำถามว่า เราควรคิดว่า ‘สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ?’
รมต. ต่างประเทศสหรัฐฯ ยังย้ำว่า สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่ปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจ แต่ความเจริญรุ่งเรืองเหล่านี้ เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ ‘การค้า และเสรีภาพ’ (Trade and Freedom) ทั้งปอมเปโอยังกล่าวว่าที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้คอยดูแลเรื่องความมั่นคงให้แก่เส้นทางเดินเรือหลักในอินโด-แปซิฟิกมาโดยตลอดด้วย
ปอมเปโอกล่าวว่า การเติบโตและผลักดันประเทศโดยรัฐบาล อาจทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ระดับหนึ่ง แต่สุดท้าย ประชาชนจะเบ่งบาน เมื่อรัฐบาลถอยหลังลง ซึ่งเขามองว่าภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกจะเจริญขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อให้ความสนใจในเรื่องพื้นฐานอย่าง กรรมสิทธิในทรัพย์สิน หลักนิติธรรม ลดภาษี และการผ่อนกฎระเบียบของรัฐบาล ซึ่งสหรัฐฯ ได้คอยช่วยเหลือนานาชาติ ให้เติบโตได้มาตลอด ทั้งในการก่อตั้ง APEC และช่วยเหลือในการก่อตั้ง ASEAN
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ ได้ลงทุนในด้านทรัพยากรมนุษย์ในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา และมหาวิทยาลัย ประเทศ ทั้งยังมีบริษัทของสหรัฐฯ อีกกว่า 4,200 แห่งในอาเซียนที่ดำเนิการอยู่ มีการจ้างงานผู้คนหลายล้านในภูมิภาค มีการลงทุนหลายล้านล้าน ซึ่งปอมเปโอมั่นใจว่า ไม่มีประเทศไหนที่ทำได้ และทำได้ใกล้เคียงกับที่สหรัฐฯ ทำ
ปอมเปโอ ยังยกตัวอย่างถึงประเทศไทย ที่สามารถ ลดอัตราความยากจนมาได้ใน 30 ปี และปีล่าสุดยังอยู่ในอันดับที่ 20 ของเศรษฐกิจโลก ซึ่งเขากล่าวว่า อยากเห็นการเติบโตแบบนี้กับประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย และด้านประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ เองก็ให้ความสำคัญกับอำนาจอธิปไตย ความเข้มแข็ง และความรุ่งเรืองของทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงสหรัฐฯ ยังต้องการขยายความสัมพันธ์ในภูมิภาคด้วย
ปอมเปโอกล่าวว่า สหรัฐฯ เชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตย และอยากให้ไทยคืนกลับสู่ประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบ เชื่อในสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ซึ่งเหตุการณ์ในฮ่องกงก็แสดงให้เห็นว่า เสียงของประชาชนจะได้รับการรับฟัง
นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังต้องการการค้าที่เสรีและเป็นธรรม ไม่ใช่การค้าที่ทำลายการแข่งขัน และต้องการเห็นการลงทุนอย่างมากในภูมิภาคนี้ “การลงทุนของเราไม่ได้มีให้กับรัฐบาล, พรรคการเมืองใด หรือความทะเยอทะยานของประเทศ และเราไม่ได้สร้างถนนเพื่อปูทางเหนืออำนาจอธิปไตยในชาติของคุณ เราไม่ได้เปิดช่องทาง เพื่อปิดช่องว่างของความภักดี” เขากล่าว
ปอมเปโอ ยังเปรียบเทียบเศรษฐกิจของประเทศตนเอง กับจีน ที่กำลังมีสงครามการค้ากันว่า ในตอนนี้ เศรษฐกิจของสหรัฐฯ แข็งแรงเป็นอันดับ 1 ของโลก ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนกำลังเข้าสู่ภาวะปกติของการเติบโตที่ช้าลง ซึ่งเป็นคำเตือนแก่ประเทศที่อาจพยายามเลียนแบบ หรือจะยอมรับการลงทุน
เขายังพูดถึงปัญหาการค้าที่เกิดขึ้นกับจีนว่า “สหรัฐฯ ต้องการให้ประเด็นการค้าได้รับการแก้ไขโดยเร็วที่สุด สิ่งที่เราต้องการคือการที่จีนจะแข่งขันในสนามแข่งขันระดับเดียวกัน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่กับสหรัฐฯ แต่กับไทย และระบบการซื้อขายทั่วโลกเช่นกัน” ปอมเปโอกล่าว
หลังการกล่าวปาฐกถา ได้มีช่วงตอบคำถาม ซึ่งพิธีกรก็ได้ถามคำถามปอมเปโอเกี่ยวกับเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นสงครามการค้ากับจีน นิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ฮ่องกงด้วย
ในประเด็นสงครามการค้ากับจีน ปอมเปโอได้ตอบคำถามประเด็นที่ทรัมป์ เพิ่งขู่จะตั้งกำแพงภาษี 10% กับสินค้านำเข้าของจีน 300,000 ล้านดอลล่าร์ว่า จีนได้ใช้ประโยชน์จากการค้าขายมานานหลายทศวรรษแล้ว ถึงเวลาที่ต้องหยุด และประธานาธิบดี ทรัมป์ กล่าวว่า จะแก้ไขปัญหานี้ และในการแก้ไขมันต้องใช้ความตั้งใจ และในกรณีการหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลก จากความบาดหมางของสหรัฐฯ – จีน ปอมเปโอได้ตอบว่า “มีผลกระทบในแง่ลบ จากพฤติกรรมเลวร้ายของจีนที่มีมาหลายทศวรรษ”
คำถามประเด็นเกาหลีเหนือ และอาวุธนิวเคลียร์ ปอมเปโอยืนบันว่า การที่คิม จองอึน ไปเยือนวอชิงตัน ดี.ซี. เป็นความตั้งใจและพยายามให้มีส่วนร่วมทางการทูต และจะใช้การทูต การเจรจา ในการแก้ไขปัญหา “เรายังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่เพื่อให้บรรลุผลตามที่เราได้กำหนดไว้ คือการปฏิเสธอาวุธนิวเคลียร์ และเราจะทำอย่างเต็มที่ผ่านทางการทูต”
ซึ่งเมื่อถูกถามว่า จะมีการพบกันของผู้นำของสองประเทศอย่างทรัมป์ และคิม ครั้งที่ 3 อีกหรือไม่ ปอมเปโอก็ได้ตอบว่า “ต้องติดตามกันต่อไป”
ปอมเปโอยังถูกถามถึงเรื่องฮ่องกง ที่ขณะนี้ยังมีการชุมนุมต่อเนื่องที่กำลังจะเข้าสู่เดือนที่ 3 แล้วว่า สหรัฐฯจะเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ในกรณีที่จีนส่งทหารเข้ามาปราบปรามการประท้วงเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งปอมเปโอได้ระบุว่า “ผมจะไม่เปิดเผยว่าเราจะทำหรือไม่ทำ” แต่ได้ให้เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ สอบถามจีนให้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง
ทั้งเขายังกล่าวว่า สหรัฐฯ สนับสนุนสิทธิของผู้คนในการพูดอย่างอิสระ และประท้วงอย่างสันติ ซึ่งเขาเชื่อว่าเสรีภาพเหล่านั้นช่วยเพิ่มความเจริญรุ่งเรืองและการพัฒนา