ไม่มีใครเคยกำหนดไว้ว่าเพลงที่ดีจะต้องมีความยาวแค่ไหน ศิลปินหลายคนก็เลยเล่นใหญ่จัดไปเลยยาวๆ บางเพลงเหมือนวัดใจคนฟังว่าจะอยู่กับเพลงนี้ได้นานแค่ไหน แต่พอฟังจบคนฟังอย่างเราก็อยากกลับไปฟังซ้ำซะงั้น
ถ้าเทียบกันเรื่องความยาว เพลงที่มีเนื้อร้องคงเทียบไม่ได้กับความยาวของดนตรียุคคลาสสิก ดนตรีในยุคนั้นมักจะมีเพลงที่มีความยาวมากกว่าห้านาทีเป็นเรื่องปกติ อันเป็นผลพวงจากการที่เพลงยุคนั้นเป็นมหรสพที่เล่าเรื่องราวต่างๆ ผ่านบทเพลง หรือบางครั้งก็มีการดัดแปลงเป็นอุปรากร (Opera) ทำให้การเล่าเรื่องผ่านบทเพลงบรรเลงใช้เวลามาก แล้วยิ่งเจอศิลปินไอเดียบรรเจิดในยุคนั้นก็พานจะทำให้เพลงยาวขึ้นไปอีกหลายเท่า ยกตัวอย่างเช่น แหวนวิเศษของนีเบอลุง (Der Ring des Nibelungen) ของ Richard Wagner ที่จับเอาปกรณัมท้องถิ่นเยอรมันมาบอกเล่าเป็นเรื่องราวอลังการจนถ้าจะรับฟังรับชมเพลงเหล่านี้ต้องใช้เวลายาวนานกว่า 15 ชั่วโมง
ความยาวเวอร์ของเพลงของวงดนตรียุคคลาสสิกค่อยๆ ถูกหั่นให้สั้นลงจากหลายสาเหตุ นอกจากที่การจะหิ้ววงดนตรีขนาดใหญ่ไปไหนมาไหนไม่ใช่เรื่องง่าย การเล่นเพลงพื้นบ้านด้วยเครื่องดนตรีไม่กี่ชิ้นแบบสั้นๆ ก็ได้รับความนิยมเคียงคู่มาด้วยในช่วงนั้น และเมื่อเทคโนโลยีการอัดเสียงมาถึง ข้อจำกัดหนึ่งคือ การอัดเสียงบนลงแผ่นเสียงซึ่งผลิตจากยางแข็งที่ในช่วงแรกมีขนาดใหญ่ 10 นิ้ว และเล่นด้วยความ 78 RPM (Ronds Per Minute) มีความสามารถในการบันทึกเสียงได้แค่ประมาณ 3 นาที ก่อนที่จะมีการพัฒนาแผ่นเสียงความกว้าง 12 นิ้ว ที่บันทึกเสียงได้ราว 4 นาที
เมื่อการอัดเสียงมีเวลาจำกัดจำเขี่ย การทำเพลงเลยโดนบีบให้อยู่เวลาที่สั้นลงเพื่อให้ลงล็อคกับช่วงเวลาที่จำกัดจึงกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากขึ้นในยุคหลัง จนกระทั่งเทคโนโลยีการอัดเสียงถูกพัฒนามากขึ้น ทั้งแผ่นเสียงที่อัพเกรดวัตถุดิบมาเป็นไวนิล แล้วจึงมีการผลิตเทปคาสเซ็ต ก่อนจะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ยุคซีดี และตอนนี้ที่กลายเป็นไฟล์ดิจิทัลคุณภาพสูง ทำให้พื้นที่ในการบรรจุเพลงต่ออัลบั้มมีมากขึ้น (อย่างกรณีของซีดีที่ถูกสร้างขึ้นโดยคำนึงจากการให้สามารถอัดเพลงของ บีโทเฟน ที่มีความยาวกว่า 72 นาทีได้) เพลงต่างๆ เลยเริ่มกลับมามีความยาวที่มากขึ้นอีกครั้ง ซึ่งก็ทำให้ศิลปินหลายคนที่อยากจะแสดงศักยภาพของตัวเองได้มีโอกาสปล่อยของได้มากขึ้น ไม่ว่าจะในด้านการร้อง การเต้น หรือการเล่นดนตรี
เพลงยาวๆ ที่จะมาแนะนำในวันนี้เป็นเพลงร่วมสมัยที่มีเนื้อร้องและไม่ใช่เพลงคลาสสิกหรืออุปรากร เป็นเพลงที่มีนักร้องเดี่ยวหรือกลุ่มเดียวกันที่ไม่ใช่การยำเพลงขนานใหญ่มาร้องต่อเนื่องแบบเพลงเมดเลย์ ทั้งนี้เพลงย้าวยาวยังมีอยู่อีกเยอะ ถ้าใครมีเพลงไหนน่าฟังก็บอกกันมาได้ วันนี้เราเปิดโอกาสในคุณเป็นดีเจ
Queen – Bohemian Rhapsody, 5 นาที 55 วินาที
ยามใดที่พูดถึงเพลงยาว หลายคนก็จะนึกถึงเพลของวง Queen เพลงนี้ขึ้นมาก่อนทุกครั้ง อาจจะเพราะความหลากหลายของสไตล์ดนตรีที่ถูกใช้งานในเพลงนี้ นับตั้งแต่การร้องประสานเสียงเกริ่นนำ บัลลาดร็อคนุ่มลึก ตามติดมาด้วยการลีดกีตาร์ส่งไปยังช่วงการร้องโอเปร่า และเข้าสู่ช่วงร้องร็อคชัดเจนอีกครั้งก่อนจะกลับสู่จังหวะช้าลงคล้ายกับตอนต้นเพลงเป็นการทิ้งท้าย
ด้วยความหลากหลายแนวในเพลงเดียว บวกกับความพยายามที่ผู้ฟังอยากจะเข้าใจเนื้อหาเพลงนี้ เลยทำให้รู้สึกว่าเพลงนี่ยาวมากๆ แต่จริงๆ แล้ว ตัวเพลงมีความยาวแค่เพียง 5 นาที 55 วินาที เท่านั้น ซึ่งจริงๆ ถือว่ายาวกว่าเพลงร่วมสมัยไม่มากนัก แต่เพราะเนื้อหาของเพลงที่ลึกล้ำ ขนาดที่ปัจจุบันสมาชิกของวงที่เหลืออยู่ก็ยังพูดได้แบบไม่ชัดเจนว่าความหมายแท้จริงคืออะไรกันแน่
The Beatles – Hey Jude, 7 นาที 6 วินาที
เพลงจากวงสี่เต่าทองเพลงนี้มีความสำคัญอยู่ไม่เบา เพราะซิงเกิลนี้ถือว่าเป็นเพลงยาวเกิน 5 นาที ที่สามารถไปถึงอันดับหนึ่งของ Billboard Top 100 ในอเมริกา (ทั้งนี้อีกเพลงหนึ่งที่มีความยาวเกิน 5 นาที และได้อันดับ 1 ของ Billboard Top 100 คือเพลง American Pie แต่เพลงดังกล่าวถูกตัดแบ่งเป็นซิงเกิลสองด้าน ส่วน Hey Jude อยู่ในแผ่นเสียงหน้าเดียวกัน) และกล่าวกันว่าเป็นเพลงที่ช่วยให้วงดนตรีจากอังกฤษสามารถดังทะลุทะลวงไปถึงอเมริกาที่มักจะมีรสนิยมแตกต่างจากฝั่งอังกฤษอยู่มาก
จุดกำเนิดของเพลงนี้มาจากเพลงที่ Paul McCartney แต่งเพื่อปลอบใจ Julian หรือ Jules ลูกชายของ John Lennon ที่ต้องรับมือกับการหย่าร้างของพ่อแม่ ก่อนจะดัดแปลงชื่อของคนในเพลงมาเป็น ‘Jude’ ตัวเนื้อหาของเพลงที่โดนแก้ไขแล้วกลายเป็นการบ่งบอกให้ใครก็ตามที่รู้สึกสูญเสียได้ก้าวเดินต่อไปจนกว่าจะได้เจอคนที่รักและอยากจะปลอบใจในสักวัน และคนคนนั้นก็อาจจะช่วยปลอบใจกลับด้วยในอนาคต สุดท้ายเพลงจบลงด้วยการร้องคำว่า ‘Nah’ เป็นจำนวนกว่า 200 ครั้ง ซึ่งฟังดูแล้วเหมือนเสียงเชียร์ให้ใครสักคนนั้นก้าวเดินต่อไปได้ และทำให้เพลงยาวขึ้นเกือบสามนาทีด้วย
ด้วยเนื้อหาให้กำลังใจคนและตอนที่วางแผงครั้งแรกเป็นช่วงปลายยุค 1960 ที่โลกอยากได้ ‘คำพูดสนับสนุน’ ทำให้ซิงเกิลนี้ฮิตกระจายข้ามแผ่นดินแผ่นน้ำ และเป็นเสาหลักซึ่งทำให้ The Beatles กลายเป็นวงดังระดับตำนานจนถึงทุกวันนี้
1994-2004 Thai Artists – Pass The Love Forward (Original Version), 7 นาที 16 วินาที
บอย โกสิยพงษ์ เป็นนักร้องนักแต่งเพลงที่มีฝีมือน่าจดจำ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง เบเกอรี่ มิวสิค ค่ายเพลงที่สร้างนักร้องที่ตราตรึงใจคนฟังเป็นจำนวนมาก อย่างที่เราพอจะเห็นภาพได้จากการที่เพลงดังจากค่ายหลายเพลง ที่แม้จะผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วมากกว่า 20 ปี ก็ยังมีคนเอาเพลงต้นฉบับมาเปิด หรือต่อให้มีการคัฟเวอร์ใหม่ เพลงเหล่านั้นก็ยังเตะหูของผู้ฟังอยู่เสมอ และเราก็มีเพลงยาวๆ จากฝีมือของพี่บอยคนนี้อยู่หนึ่งเพลง แรกเริ่มเดิมทีเพลงที่ว่านี้เป็นเพลงที่มีความยาว 5 นาที 11 วินาที ในอัลบั้ม Songs from Different Scenes #3 อัลบั้มรวมเพลงประกอบละคร/โฆษณา ที่ถือว่าเป็นอัลบั้มที่คนอาจจะรู้จักน้อย แต่ด้วยเนื้อหาเผื่อแผ่ความรักชวนอบอุ่นใจให้อยากโอบกอดใครสักคน เพลงนี้จึงถูกนำมาใช้อีกครั้งในซิงเกิลที่ใช้ชื่อว่า Pass The Love Forward และกลายเป็นเพลงที่ใช้ ‘ปิดค่าย’ ในคอนเสิร์ต ‘B.Day Bakery Music Independent Day’ ที่ถูกจัดขึ้นในปี 2004
ตัวเพลงในฉบับร้องใหม่ใช้เนื้อร้องเดิมตามฉบับดั้งเดิม แต่เพลงมีการสลับสับเปลี่ยนนักร้องด้วยการให้นักร้องทั้งค่ายเท่าที่เคยร่วมงานกันในเวลานั้นมาร้องในแต่ละท่อน ไม่ว่าจะเป็นนักร้องที่ยังมีชีวิตอยู่ รวมไปถึงอัมรินทร์ เหลืองบริบูรณ์ หรือ โจ้ วงพอส ที่จากโลกไปก่อนวัยอันควรก็มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเพลงด้วยการใส่แทร็คที่ร้องคำว่า ‘รัก’ อันเป็นสาสน์สำคัญในท่อนท้ายๆ ของเพลง ผลก็คือ เพลงนี้มีความยาวเพิ่มขึ้นเป็น 7 นาที 16 นาที ซึ่ง ณ ตอนที่เพลงถูกปล่อยมานั้นมีดีเจเพลงบางคนพูดแซวเล่นๆ ว่า ถ้าเกิดเปิดเพลงนี้กับเพลงอื่นๆ อีกสักสองสามเพลง ให้เข้าใจได้เลยว่าตอนนั้นดีเจอาจจะหนีไปเข้าห้องน้ำ เพราะความยาวนั้นไม่ใช่ระดับสามัญธรรมดานั่นเอง
เพลงนี้ถูกหยิบมาใช้งานในหลายโอกาส ทั้งเป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ หรือเป็นเพลงที่นักร้องหลายท่านจะเลือกนำไปใช้แสดงสดในโชว์ที่อยากแสดงความรักกับแฟนๆ ส่วนนักร้องของ เบเกอรี่ มิวสิค ที่ได้ร้องเพลงนี้ก็มีส่วนหนึ่งที่ได้มีโอกาสร้องเพลงยาวๆ แบบนี้อีก กับเพลง ‘ในอากาศ’ เพลงรวมศิลปินของทาง Sony Music กับ Love Is ซึ่งเป็นการเมดเลย์ของนักร้องดังแต่ละคน
Guns N’ Roses – November Rain, 8 นาที 57 วินาที
เพลงบัลลาดร็อคที่มีเนื้อหารักหวานแต่ก็มีความแมนกรุ่นอยู่ เพราะตัวเอกของเพลงเหมือนจะกำลังพูดปลอบประโลมฝ่ายตรงข้ามที่เหมือนจะมั่นคงในความรักที่เพิ่งเกิดขึ้น แต่ก็มีความหวั่นใจว่าอาจจะมีเหตุเหมือนรักครั้งก่อนหน้า เหมือนฝนในเดือนพฤศจิกายนที่ตกมาอย่างกะทันหันแถมยังชวนหนาวเหน็บกาย ซึ่งไปกระทบถึงจิตใจจนอยากจะอยู่ตัวคนเดียวไม่เปิดใจให้ใคร แต่กระนั้นเลยฝนเดือนพฤศจิกายนไม่ได้ตกตลอดไป เพราะฉะนั้นการมีใครสักคนเคียงข้างน่าจะเป็นดีกว่าใช่ไหม
ด้วยความหมายที่จะมองว่าเป็นเพลงสุขหรือเพลงเศร้าก็ได้ ทำให้เพลงนี้ได้รับความนิยมจากแฟนเพลงทั้งขาประจำและขาจร และถึงเพลงจะยาวเกือบ 9 นาที แต่แรกเริ่มเดิมที Axl Rose ผู้แต่งเพลงเคยสัมภาษณ์ว่า ตอนแรกเขาแต่งเพลงได้ความยาวถึง 25 นาที ก่อนที่จะทำการหั่นทอนเพลงให้สั้นลงเพื่อให้ไปออกอากาศบนวิทยุหรือโทรทัศน์ได้ง่ายๆ ซึ่งเขาคิดถูกทีเดียวเพราะนอกจากเพลงจะถูกจดจำในฐานะเพลงบัลลาดร็อคที่มีท่อนเปียโนชวนซึ้งกับโซโล่กีตาร์ที่แสนเมามัน การที่เพลงสั้นลงทำให้เกิดการถ่ายทำมิวสิควิดีโอ ที่ Axl แต่งงานกับนางเอกของ MV (ซึ่งในตอนนั้นเป็นแฟนกันกับ Axl จริงๆ) ทั้งสองมีความสุขจนกระทั่งสายฝนเดือนพฤศิกายนตกลงมา ก่อนที่เราจะเห็นว่าแฟนสาวของเขาได้จากโลกนี้ไปจากสาเหตุที่ไม่ชัดเจน ทำให้ตัวเพลงนั้นเต็มไปด้วยความรักแต่ก็มีกลิ่นการจากลารุนแรง หลายคนจึงจำได้ทั้งเพลงและ MV ของเพลงแบบตราตรึงไปอีกนาน
MV ของเพลง November Rain เพิ่งมียอดรับชมใน YouTube ทะลุหนึ่งพันล้านวิวไปเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่าน ซึ่งถือว่าเป็นเพลงแรกของยุค 1990 ที่สามารถยอดรับชมได้สูงขนาดนี้
Daft Punk – Too Long, 10 นาที
สองคู่หูเพลงอิเล็กทรอนิกส์จากฝรั่งเศสที่ตอนนี้หลายคนน่าจะจดจำได้จากการใส่หน้ากากโลหะสะท้อนแสงสีสัน นอกจาที่ Daft Punk จะมีเพลงชวนโยกย้ายส่ายสะโพกบรรยากาศดีๆ อยู่หลายเพลง พวกเขายังมีอารมณ์ขันแบบชวนกวนโอ๊ยเล็กๆ อย่างการที่ชื่อวงของพวกเขาในปัจจุบันนี้ก็เป็นการตั้งชื่อมาจากการถูกวิจารณ์เพลงอัลบั้มแรกว่าเป็น ‘ขยะงี่เง่า’ (a daft punky thrash) เพราะงั้นเพลงยาวๆ ที่เราเอามาแนะนำในวันนี้ก็เป็นเพลงที่ใส่ความกวนไปเล็กๆ เพราะเพลงดังกล่าวชื่อว่า Too Long
Too Long มีความยาว 10 นาทีถ้วน (สะท้อนความกวนเล็กๆ เข้าไปอีก) เนื้อหาเพลงเกี่ยวกับชายหนุ่มที่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกภายในตัวที่เขาต้องการมานานแล้ว แล้วก็รู้สึกว่าอยากจะแบ่งปันมันให้กับให้คนอื่นร่วมรู้สึกดีด้วย จะตีความว่าเป็นความรัก ความสนุก หรืออะไรก็ได้ทั้งนั้น ด้วยทำนองแบบพร้อมเต้นในผับก็ทำให้รู้สึกว่าเพลงนี้ไม่ยาวเกินไปที่จะไปเปิดในวันที่ต้องการจะมีปาร์ตี้มันๆ แม้ว่า 5 นาทีหลังของเพลงจะไม่ได้มีการร้องเพลงเพิ่มแต่เป็นการมิกซ์การร้องท่อนมันๆ แทน
Lana Del Rey – Venice Bitch, 9 นาที 36 วินาที
มากันที่เพลงใหม่ของ Lana Del Rey กันบ้าง ตัวเพลงมีความทึมๆ อึนๆ ในการปล่อยอารมณ์ผ่านเสียงเพลง แถมชื่อเพลงก็ชวนให้คิดว่า แม่หญิงนางนี้อารมณ์จัดเต็มเลยล่ะ
Venice Bitch เป็นซิงเกิลเปิดตัวอัลบั้ม Norman Fucking Rockwell อัลบั้มที่หกของ Lana Del Rey ตัวเพลงเป็นการเปรียบเปรยตัวของคนร้องที่กำลังงอแงคิดถึงคนรักว่าเป็นแม่นางดอกไม้จากเวนิส (ขอลดความหยาบคายเล็กน้อย) ภาวะเวิ่นเว้อนั้นยาวนานไปสิบนาที สอดคล้องกับการสัมภาษณ์ของตัว Lana ที่บอกว่า เธอต้องการให้เพลงนี้ยาวสิบนาทีและต้องการให้ออกขายมาเป็นซิงเกิล ระดับที่ผู้จัดการของเธอตกใจว่าเธอล้อเล่นหรือเปล่าที่เธอจะให้เพลงมันออกมาแบบนี้ แล้วเธอก็บอกว่า ก็เพลงมันชื่อ ‘Venice Bitch’ แล้วก็ตัวเธอรู้สึกว่าสมัยนี้ก็มีคนที่ขับรถแล้วปล่อยตัวปล่อยใจไหลไปกับเสียงกีตาร์ไฟฟ้าซึ่งดังก้องตลอดแบบในเพลงของเธอด้วย
ถือว่าเป็นเพลงที่ยาวแต่ก็จำลองอาการเพ้อหาคนรักที่คนอื่นอาจจะบอกว่าเข้าใจยาก แต่ถ้าใครเคยต้องมนต์รักมาก่อนน่าจะเข้าใจบรรยากาศที่ Lana Del Rey อยากจะสื่อได้อยู่นะ
ภูมิจิต – ทุกวันนั้น, 9 นาที 56 วินาที
วงดนตรีที่บอกว่าพวกเขาเป็นแนวป๊อปเพื่อชีวิต แต่ออกจะมีความเป็นบริทป๊อปหรืออัลเทอร์เนทีฟด้วย สำหรับคนทั่วไป พวกเขาคืออาจจะเป็นวงอินดี้เด็กแนวของยุค 2010s นี้ กระนั้นการที่ภูมิจิตระบุว่าเป็นวง ‘เพื่อชีวิต’ ก็อาจจะไม่ผิดนัก เพราะเนื้อร้องมักจะเป็นการบอกกล่าวเรื่องราวของคนเมืองที่ไม่โลกสวย แต่ก็ยังคงไปด้วยความงดงาม จึงทำให้วงที่ไม่ประสบความสำเร็จเชิงรายได้ (ทางวงบอกกล่าวเองนะ) มีแฟนพันธ์แท้คอยติดตามอย่างเหนียวแน่น
เพลงที่ย้าวยาวขอวงนี้ที่ขอแนะนำคือเพลงที่มีชื่อว่า ทุกวันนั้น เพลงจากอัลบั้ม Found And Lost หรืออัลบั้มเต็มอัลบั้มแรกของภูมิจิต เพลงเล่าเรื่องเรียบๆ ของการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ทำงานสักคนหนึ่ง ที่เราหาเจอได้ตามเมืองใหญ่อันจืดชืดน่าเบื่อ และเต็มไปด้วยข่าวร้าย แต่ถ้าทุกวันนั้นได้เจอกับรอยยิ้มของเธอที่คอยหล่อเลี้ยงหัวใจ เรื่องมันก็พร้อมจะดีขึ้นได้ ก่อนเพลงจะจบลงไปด้วยมุมที่ชวนคิดว่า เราได้เจอ ‘เธอ’ คนนั้นแล้วหรือยัง และถ้าได้เจอแล้ว เราจะทำให้เธออยู่ข้างเราต่อไปทุกวันได้หรือไม่
Rush – 2112, 20 นาที 38 วินาที
เมื่อเช็กรายชื่อเพลงยาวๆ ในฝั่งดนตรีสากล เราจะเจอกับเพลงชื่อ 2112 ของวง Rush วงร็อคจากประเทศแคนาดาที่ถูกปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1975 หรือกว่า 40 ปีที่แล้ว ตัวเพลงเป็นการเดินเรื่องแบบนิยายไซไฟ โดยวงดนตรีได้รับแรงบันดาลใจมาจากนิยายของ Ayn Rand ตัวเพลงบอกเล่าเรื่องของมนุษย์ที่ถูก คณะสงฆ์ของวิหารแห่งไซนิกซ์ (Temples of Syrinx) ควบคุมสื่อต่างๆ ที่พวกเขาจะเสพได้จนกระทั่งตัวเอกของเรื่องได้พบกับเครื่องดนตรีโบราณที่ถูกทอดทิ้งไว้ แม้ว่าจะไม่รู้วิธีการใช้งานอุปกรณ์ดังกล่าวเขาก็พยายามควบคุมมันและพยายามนำเอาท่วงทำนองให้คืนมาสู่ดวงดาวที่ไร้ซึ่งความชุ่มชื้นทางจิตใจอีกครั้งหนึ่ง
ถึงเพลงหน้า A ของอัลบั้มจะกลายเป็นเพลงเดียวยาวๆ กว่า 20 นาที แถมเรื่องในเพลงยังดูเหนือจริงไม่ได้เป็นเรื่องราวใกล้ตัวคนฟังเท่าไหร่นัก ระดับที่ตัวสมาชิกวง Rush บอกกล่าวว่าอัลบั้มนั้นถูกสร้างออกมาในฐานะอัลบั้มที่แสดงความต่อต้านกระแสข่าวดราม่าที่พวกเขาเจอในช่วงนั้น กระนั้นยอดขายของอัลบั้มนี้สามารถไปไกลถึงสามล้านชุด ทั้งยังมีการออกอัลบั้มใหม่อีกครั้งในปี 2010 กับปี 2016 นอกจากนั้น ตัวเพลง 2112 กลายเป็นแรงบันดาลใจให้วงดนตรีแนวโพรเกรสซีฟร็อค (Progressive Rock) รุ่นหลังจาก Rush กล้าทำเพลงแนวกึ่งทดลองที่บอกเลาเรื่องราวต่างๆ ออกมาในภายหลังอีกจำนวนมาก
ถึงจะเป็นไอดอลของวงโพรเกรสซีฟร็อครุ่นหลัง อย่าง Dream Theater, Iron Maiden หรือ Anthrax แต่สมาชิกของวง Rush นั้นเคยให้สัมภาษณ์เป็นเนืองๆ ว่าพวกเขาเองไม่ได้มองว่าวงเป็นแนวโพรเกรสซีฟร็อคเท่าไหร่ และเมื่อต้นปี 2018 ทาง Alex Lifeson ก็เพิ่งประกาศออกสื่อว่าทางวงได้ยุติการทำงานอย่างเป็นทางการแล้ว แต่เขาก็มีสัมภาษณ์ผ่านบางสื่อว่า พวกเราลืมประกาศว่ายุบวงตั้งแต่ออกทัวร์สุดท้ายเมื่อปี 2015 …หรือจะบอกว่าเก๋าตั้งแต่หนุ่มยันการประกาศเกษียนวงก็น่าจะไม่ผิดนักนะ
มาโนช พุฒตาล – ไกล, 23 นาที 53 วินาที
ครั้งหนึ่ง มาโนช พุฒตาล ถูกจดจำได้ในฐานะดีเจหรือคนทำงานหนังสือ บางคนอาจจะจำได้ว่าเขาเป็นพิธีกรรายการทีวีกับเจ้าของค่ายเพลงเล็กๆ ที่เน้นจัดจำหน่ายวงดนตรีที่เล่นเพลงเข้มข้นเฉพาะทาง และเขาเองก็ถือว่าเป็นศิลปิน และ หัวหน้าวงดนตรีของตัวเองด้วย
เพลงของมาโนชเป็นแนวโปรเกรสซีฟร็อคปนกับการเล่าเรื่องต่างๆ นานา บางทีก็เป็นการพูดสั้นๆ เกริ่นเข้าหรือเกริ่นออกบทเพลงที่นำเสนอ บางครั้งอาจจะเป็นการพูดถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติซึ่งเป็นเรื่องที่ตัวนักร้องสนใจ หรือบางคราวก็เล่าเป็นนิทานขนาดยาวที่อาจจะเป็นเรื่องบันเทิงโดยแท้ หรือบางทีก็เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สังคม ด้วยสไตล์การเล่นเพลงเช่นนี้ทำให้เพลงของมาโนชมีความยาวที่มากกว่าเพลงร้องโดยทั่วไป ยกตัวอย่างเช่นเพลง ‘อยู่อยุธยา’ (With Stories) ที่เล่าเรื่องสลับร้องจนความpk;ทะลุทะลวงไปถึง 28 นาที 24 วินาที แต่เพลงดังกล่าวได้มีการตัดแยกซิงเกิลออกมาเป็นช่วงร้องเพลงล้วนๆ ที่ใช้ชื่อว่า ‘อยู่อยุธยา’ มีความยาว 11 นาที 40 วินาที ซึ่งเป็นการบอกโดยนัยว่าเพลงนี้จริงๆ ไม่ยาวขนาดนั้น ที่ยาวเพราะการเล่าเรื่องของมาโนชเสียมากกว่า
ลองค้นหาอีกเล็กน้อยก็พบอีกเพลงหนึ่งของมาโนชที่ชื่อว่า ไกล ซึ่งเพลงดังกล่าวไม่ได้อยู่ในอัลบั้มของตัวมาโนชเอง แต่ไปอยู่ในอัลบั้ม ไตรภาค ซึ่งเป็นอัลบั้มรวมศิลปินสามกลุ่มประกอบด้วย ดิ โอฬาร โปรเจ็คต์, เดอะ เรน และ มาโนช พุฒตาล ตัวเพลงดังกล่าวมีความยาว 23 นาที 52 วินาที ซึ่งจริงๆ ก็ยังมีการพูดเกริ่นเข้า-ออกอยู่เล็กน้อยเพื่อเป็นการเริ่มต้นและจบการเดินทางของเนื้อเพลง เนื้อหาเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชายหนุ่มที่เดินทางตามหาที่มาของสายน้ำ ซึ่งระหว่างทางเขาได้พบกับคนที่ต่างบอกเล่าถึงความหมายของสายน้ำ ก่อนที่ตัวละครหมอผีจะเข้ามาบอกว่าสายน้ำอยู่ในการควบคุมของผู้มีอำนาจ ทำให้ชายหนุ่มผู้เล่าเรื่องพบว่า ไม่มีใครครอบครองสายน้ำได้ถ้าใช้ชีวิตอยู่กับสายน้ำด้วยเหตุผล แต่ก็มีการทิ้งไว้ว่าหมอผีนั้นไม่ได้หายไป หากมีความคลั่งไคล้พลังอำนาจ มันจะกลับมาได้เสมอ
การอุปมาอุปมัยในเพลงนี้ก็ทำให้คนฟังต้องฉุกคิดว่า เพลงนั้นกำลังเปรียบเปรยการอยู่ร่วมกันของคนกับธรรมชาติหรือเป็นการเสวนาถึงเรื่องราวการคลั่งอำนาจที่ปรากฏขึ้นมาอยู่ทุกระยะในประวัติศาสตร์ ทำให้เกือบ 24 นาทีนี้ เราได้ฟังเพลงที่น่าสนใจและได้มองลึกลงไปในตัวของเราและสังคม
Dream Theater – Octavarium, 23 นาที 58 วินาที
ถ้าสังเกตจากสองเพลงที่ผ่านมา คุณอาจจะคิดว่าวงดนตรีแนวโพรเกรสซีฟร็อคอาจจะมีเส้นบางๆ ระหว่างความทันสมัยของเครื่องดนตรีไฟฟ้าที่สอดคล้องกับการเล่นเพลงท่วงทำนองที่เกรี้ยวกราด แต่อีกด้านหนึ่งพวกเขาก็ดูเหมือนจะเก็บวัฒนธรรมของเพลงคลาสสิกไว้หนึ่งประการ นั่นก็คือวงที่มีฝีมือลมปราณแก่กล้ามากพอมักจะทำซิงเกิลเพลงยาวๆ ที่มีการเปรียบเปรยเนื้อหาของเพลงเพื่อแสดงความเห็นต่อเรื่องบางอย่าง ละม้ายคล้ายกับวงดนตรีคลาสสิก ซึ่งถ้าเอาเพลงบรรเลงเพียวๆ ก็เช่น Tubular Bells ของ Mike Oldfield ที่มีความยาวสูงถึง 48 นาที 53 วินาที (และองก์แรกของเพลงถูกตัดไปใช้ประกอบหนังเรื่อง The Exorcist เลยกลายเป็นเพลงประจำหนังและละครสยองขวัญไประยะหนึ่ง)
แต่ถ้าเป็นเพลงที่มีการร้องร่วมอยู่ด้วย วงดนตรีรุ่นตรีแนวเดียวกันอย่าง Dream Theater ก็ขึ้นชื่อในการจัดทำเพลงยาวๆ เช่นกัน พวกเขาจัดทำ ‘เพลงชุด’ ออกมาหลายครั้ง อย่างในอัลบั้ม Metropolis Pt. 2: Scenes From A Memory พวกเขาตั้งใจทำเพลงเป็นภาคต่อของเพลง Metropolis—Part I (ซึ่งเพลงภาคแรกก็มีความยาวถึง 9 นาที 30 วินาที แล้ว) และเพลงทั้ง 12 แทร็ค ถือว่าเป็นเพลงใหญ่หนึ่งเพลง กินความยาวถึง 77 นาที 6 วินาที หรือ ในอัลบั้ม Six Degrees of Inner Turbulence พวกเขาก็อุทิศ CD แผ่นที่สองทั้งแผ่นให้กับเพลงที่ใช้ชื่อเดียวกับอัลบั้ม แต่แบ่งแยกเป็น 8 แทร็ค ใช้เวลา 42 นาที 2 วินาที ยังไม่นับว่าหลายๆ เพลงนั้นมีภาคต่อที่อยู่ข้ามอัลบั้มกันอีก
แต่ถ้าพูดถึงเพลงเดียวที่เล่นยาวๆ และวางอยู่ในอัลบั้มเดียวกันไม่แยกแผ่นออกมาต่างหากของวงนี้ก็คงเป็นเพลง Octavarium ซึ่งถูกบรรจุอยู่ในอัลบั้มชื่อเดียวกันในปี 2005 แถมแนวดนตรียังเป็นสไตล์โพรเกรสซีฟร็อคผสมเมทัล ถึงอย่างนั้นตัวเพลงยังถูกแบ่งออกได้เป็นสามองก์ และเล่าเรื่องของผู้คนที่มีปัญหาแตกต่างกันไป องก์แรกเป็นเรื่องของใครคนหนึ่งที่อยากจะเติบโตโดยไม่เหมือนกับใครคนหนึ่ง แต่สุดท้ายกลับพบว่าเมื่อตัวเองโตขึ้นแล้วสิ่งที่ตัวเองต้องการคือการเป็นใครคนนั้นที่เขาเคยปฏิเสธมาก่อน องก์ที่สองกล่าวถึงคนไข้คนหนึ่งที่อยู่ในสภาพนอนหลับมาถึงสามสิบปี แต่เมื่อสามารถทำให้คนไข้คืนสติได้แล้ว ก็เหมือนว่าสติของคนไข้คนดังกล่าวจะฟื้นสติได้ไม่นานนักและกลายเป็นว่าจู่ๆ คนไข้ก็กำลังจะจากไป แต่เขาก็บอกหมอที่รักษาว่าไม่ใช่ความผิดของหมอ องก์ที่สามเป็นการกล่าวถึงเพลงที่วง Dream Theater ได้รับแรงบันดาลใจ ก่อนที่องก์สุดท้ายจะเป็นการเล่นเพลงที่พวกเขาเองเคยบรรเลงเอาไว้ในอัลบั้มก่อน
เนื้อหาเพลงโดยเฉพาะในสององก์หลังดูตีความยาก แต่มีคนกล่าวไว้ว่าหากดูภาพในปกอัลบั้มที่เป็นลูกตุ้มเหล็กโมเมนตัมที่สามารถสะท้อนไปมาได้ยาวๆ ตัวเพลงนี้อาจจะหมายถึงการที่วงดนตรีวงนี้ก็พร้อมจะสร้างผลงานซ้ำแล้วซ้ำเล่าแม้จะมีคนห้ามปรามด้วยความหวังดีเพราะมันอาจจะกระทบต่อสุขภาพ แต่พวกเขาก็พร้อมจะทำสิ่งนี้ต่อไป
X Japan – Art of Life, 29 นาที
อีกหนึ่งวงแนวโพรเกรสซีฟร็อค วงจากฟากฝั่งทวีปเอเซีย อย่าง X Japan ก็มีผลงานที่ตามรอยรุ่นพี่ที่พวกเขานับถืออย่าง Kiss หรือ David Bowie ที่มักจะมีโอกาสปล่อยเพลงยาวๆ สักเพลงเพื่อสะท้อนตัวตนของตัวเอง ซึ่งวงร็อคจากแดนอาทิตย์อุทัยก็ทำมันออกมาในอัลบั้มที่สี่ของพวกเขา ซึ่งทั้งแผ่นมีเพลงอยู่เพลงเดียว แต่กว่าจะมาเป็นเพลงนี้พวกเขาใช้เวลาอัดเสียงอยู่เกือบสองปี ซึ่ง ณ ตอนที่ปล่อยอัลบั้มออกมานั้นก็ชวนคิดดีว่า พวกเขากินยาขนานไหนถึงทำผลงานที่สวนทางความหวังคนฟังที่ตอนนั้นอยากจะได้อัลบั้มเต็มๆ ตามรอยชุดก่อนหน้า แต่ในอัลบั้มนี้มีแค่เพลงหนึ่งเพลงที่มีความยาว 29 นาที แบบไม่มีช่วงพัก
Art of Life มีเนื้อเพลงทั้งเพลงเป็นภาษาอังกฤษ ร้องด้วยเสียงสูงปรี๊ดแบบคนอยากเอาไปคาราโอเกะตามต้องคิดหนักมาก ความหมายของเพลงถ้าแปลตรงตัวก็ค่อนข้างจะมึนงงสักหน่อย ในวูบหนึ่งก็มีบอกเล่าถึงความห่วงใยในดอกไม้ดอกหนึ่ง แต่มาอีกระยะก็เหมือนจะพูดถึงตัวคนร้องเองที่สูญเสียตัวเองไปกับเหตุการณ์ต่างๆ พยายามหลับตาหลบเลี่ยงแล้วพบว่ามีคนใกล้ชิดพยายามฆ่าเขาในทางอ้อม แต่สุดท้ายเขาก็เลือกที่จะมีชีวิตต่อเพื่อสร้างงานศิลป์ของชีวิต
แต่จากปากคำของ Yoshiki ผู้แต่งเพลงนี้ระบุว่าเขาพยายามเขียนเพลงเพื่อส่งข้อความให้ตัวเองยังมีชีวิตต่อไปในวันพรุ่งนี้ แม้ว่าเนื้อหาระหว่างทางอาจจะมีความสิ้นหวังสูงแต่ในตอนจบเพลงนั้นก็บอกว่าเขามีหวังจากงานที่เขาสร้างได้ หรือถ้ามองอีกแง่เป็นการเข้นความในใจที่อึดอัดออกมาเป็นบทเพลงที่หนักแน่น ยาวเหยียด ก่อนจะจบลงด้วยความสวยงาม เพื่อให้ทั้งผู้สร้างเพลงและผู้ฟังสามารถเดินหน้ารับวันใหม่ได้อย่างเต็มใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก