เห็นภาพอาหารในอนิเมะทีไร หิวทุกทีเลย! ทำไมเป็นแค่ภาพวาดถึงมีผลกับใจขนาดนี้ สงสัยดูจบต้องออกไปหาอะไรกินหน่อยแล้ว
เราเชื่อว่าเวลาทุกคนดูอนิเมะแล้วเจอกับภาพอาหาร หลายคนจะต้องอยากกินสิ่งที่ปรากฏในจอตามตัวละคร ไม่ว่าจะเป็นโดรายากิที่เป็นของโปรดของโดราเอมอน ราเมนที่นารูโตะยกถ้วยขึ้นซดจนหมดชาม หรือจะข้าวหน้าเนื้อของคินนิคุแมน
ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสื่อบันเทิงหลายแบบให้เราได้เลือกดูกัน และพวกเขาก็สอดแทรกซอฟต์พาวเวอร์เข้ามาในสื่อเหล่านี้ได้อย่างแยบยล ภาพอาหารที่เราเห็นกันบ่อยๆ ในอนิเมะก็กลายเป็นภาพจำในหัวไปในทันทีว่า ‘นี่แหละ อาหารญี่ปุ่น!’ วันนี้เราจึงอยากพาทุกคนไปท่องในโลกแห่งอนิเมะ รู้จักกับอาหารต่างๆ ที่โผล่มาในอนิเมะบ่อยๆ ให้ได้ท้องร้องกัน
อาหารชุดคุณหนู จาก Tokyo Revengers
อาหารชุดคุณหนูจานนี้มาจากการ์ตูนนักเลงเรื่อง Tokyo Revengers ไม่น่าเชื่อว่านี่เป็นอาหารสุดโปรดของ ‘ไมกี้ไร้เทียมทาน’ หัวหน้าแก๊งโตเกียวมันจิไคที่แอบมีมุมน่ารักๆ ซ่อนอยู่ นอกจากเขาจะชอบอาหารชุดคุณหนูแล้ว ยังสะสมธงที่มากับอาหารชุดคุณหนูอีกด้วย
ไม่ว่าประเทศไหนก็ต้องมีอาหารชุดคุณหนูสำหรับเด็ก แต่ประเทศที่ทำอาหารชุดคุณหนูออกมาได้สวยงามล่อตาล่อใจและได้ประโยชน์จากสารอาหารครบถ้วนก็คือประเทศญี่ปุ่นนี่แหละ
อาหารชุดคุณหนูมีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า ‘โอโคซามะ ลันช์’ ว่ากันว่ามีมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1930 เลยทีเดียว โดยอาหารชุดคุณหนูถูกคิดค้นขึ้นโดยผู้บริหารระดับสูงของห้างมิทสึโคชิ ที่อยากให้เด็กๆ ได้กินอาหารที่ดูสนุกสนานขึ้นสักหน่อย
อาหารชุดคุณหนูจะมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นอยู่ คือข้าวผัดที่จะต้องอยู่ในรูปทรงภูเขาหรือหอคอย และมักจะมีธงชาติปักอยู่ด้านบนเสมอ โดยธงชาติจะมีหลายประเทศให้สะสม ส่วนกับข้าวมักจะเป็นแฮมเบิร์กที่มีรสชาติออกหวานเค็มกินง่าย และยังเคี้ยวง่ายอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีไส้กรอกที่บางที่จะทำเป็นรูปปลาหมึก และเอบิฟรายด์ หรือกุ้งทอด มักเสิร์ฟคู่กับน้ำส้ม นม นมเปรี้ยว หรือพุดดิ้ง
อาหารจานด่วนจากร้านสะดวกซื้อ จาก Weathering With You
ฉากที่เหล่าตัวละครนั่งล้อมวงกันกินอาหารจานด่วนจากตู้ขายของอัตโนมัติในเรื่อง Weathering with You ก็เป็นฉากที่ทำให้ชาวโลกสนใจอาหารจากร้านสะดวกซื้อในทันที
ในมุมมองของหลายคน อาหารจากร้านสะดวกซื้ออาจเป็นแค่อาหารที่เอาไว้กินกันตาย แต่ญี่ปุ่นกลับทำได้ดีกว่าที่คิด ไม่ว่าจะเป็นของกินเล่นอย่างคาราอะเกะ เฟรนช์ฟรายส์ หรืออาหารมื้อใหญ่อย่างยากิโซบะ ร้านสะดวกซื้อก็ตั้งใจทำให้หน้าตาออกมาสวยงามที่สุด และรสชาติก็ใช้ได้เลยทีเดียว
ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจอาหารจานด่วนจากร้านสะดวกซื้อกันมาก ไม่ว่าใครที่ไปเยือนก็ต้องแวะและลองอาหารจากร้านสะดวกซื้อกันสักครั้ง นอกจากหน้าตาและรสชาติที่ดีแล้ว ยังมีเรื่องของการดีไซน์บรรจุภัณฑ์ให้ง่ายต่อการกินอีกด้วย อย่างซองซอสสำหรับบีบลงบนไส้กรอก ก็สามารถบีบออกมาเป็นเส้นสายสวยงามได้โดยไม่เลอะเทอะเลยสักนิด
ข้าวหน้าปลาไหล จาก Detective Conan
ข้าวหน้าปลาไหลชุดนี้มาจากเรื่อง Detective Conan: The Scarlet Bullet ที่เรื่องราวเกิดขึ้นในจังหวัดนาโกย่าของประเทศญี่ปุ่น ตัวละครจึงได้กินข้าวหน้าปลาไหลในแบบฉบับนาโกย่า ที่เรียกว่า ‘ฮิทสึมาบูชิ’ ซึ่งมีที่นาโกย่าทีเดียวเท่านั้น และภาพที่ออกมาก็เรียกได้ว่าสวยจนน้ำลายไหลเลยทีเดียว เป็นการนำเสนอของดีประจำจังหวัดที่แยบยลมาก
ฮิทสึมาบูชิจะเป็นข้าวหน้าปลาไหลย่างที่เสิร์ฟมาในถังไม้ และมาเป็นชุดพร้อมกับซุป และผักหลากชนิดทั้งต้นซอย สาหร่าย ผักดอง และวาซาบิสำหรับเพิ่มรสชาติ และมีกาที่ดูเหมือนกาน้ำชา แต่ที่จริงแล้วข้างในเป็นน้ำซุปปลาสำหรับกินคู่กัน
แต่ที่พิเศษกว่านั้นคือฮิทสึมาบุชิจะมีวิธีกินที่แตกต่างกับข้าวหน้าปลาไหลทั่วไป ทำให้การกินสนุกยิ่งขึ้น เริ่มจากการที่ต้องแบ่งข้าวหน้าปลาไหลในถังไม้ออกเป็นสี่ส่วน และตักใส่ถ้วยใบเล็กที่ทางร้านจะแยกเอาไว้ให้
ส่วนแรกนั้นสามารถกินได้เลยโดยไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม เป็นการลิ้มรสชาติแบบดั้งเดิมของฮิทสึมาบูชิ ส่วนที่สองนั้นให้ลองหยิบผักต่างๆ ใส่ลงไป ไม่ว่าจะเป็นต้นหอมซอย สาหร่าย หรือพริกไทย การเพิ่มส่วนผสมเหล่านี้ลงไปนิดเดียวนั้นทำให้รสชาติของข้าวหน้าปลาไหลเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบในทันที
ส่วนที่สามนั้นจะถูกทำเป็นโอชาซึเกะ ด้วยการเทน้ำซุปปลาที่ทางร้านให้แยกไว้ในกาลงไปบนข้าว จะเติมด้วยผักเพิ่มก็ได้ และส่วนสุดท้ายนั้นเป็นส่วนที่เปิดโอกาสให้กินแบบไหนก็ได้ตามใจชอบ ตัดสินได้เลยจากสามส่วนที่เพิ่งกินเข้าไปเมื่อสักครู่
ซาซิมิ จาก When Marnie was There
ถึงคนไทยเราจะกินซาซิมิกันทุกที่ทุกเวลาที่สามารถทำได้ ที่ญี่ปุ่น ซาซิมิถือว่าเป็นอาหารหรูหราสำหรับโอกาสพิเศษ ชุดซาซิมิชุดนี้มาจากเรื่อง When Marnie was There ที่ครอบครัวโออิวะทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อต้อนรับการมาเยือนของหลานสาวของพวกเขา
ซาซิมิในนี้ประกอบไปด้วยซาบะดอง ทูน่า แซลมอน หอยโฮตาเตะ และกุ้งแดงใหญ่ โดยมีหอยสึบุไก สลัดเต้าหู้ และฟักทองเป็นจานเคียง ที่เห็นอาหารทะเลหลากหลายขนาดนี้ เพราะเนื้อเรื่องนั้นดำเนินอยู่ที่เกาะฮอกไกโด ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ทะเลโอคอสต์ ซึ่งอาหารทะเลในบริเวณนั้นจะอร่อยเป็นพิเศษด้วยลักษณะของน้ำทะเลที่ทำให้สัตว์ทะเลเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อและไขมัน อีกทั้งทะเลยังมีจำนวนแพลงก์ตอนมากเป็นพิเศษ ทำให้ความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลบริเวณนี้อุดมสมบูรณ์
ดังนั้นการเสิร์ฟอาหารทะเลคุณภาพดีแบบแน่นจานขนาดนี้จึงเป็นการแสดงการต้อนรับอย่างอบอุ่นในรูปแบบของชาวญี่ปุ่นนั่นเอง
เบนโตะ จาก From Up on Poppy Hill
เบนโตะ เป็นอาหารที่เห็นได้บ่อยที่สุดเลยเมื่อดูอนิเมะ และเบนโตะกล่องนี้มาจากเรื่อง From Up on Poppy Hill เป็นเบนโตะที่ตัวละครหลักตื่นแต่เช้ามาทำเพื่อเอาไปกินเป็นมื้อกลางวันที่โรงเรียน
เบนโตะกล่องนี้เป็นเบนโตะแบบง่ายที่ประกอบไส้กรอกทอด ไข่ม้วน ผักปวยเล้ง และสาหร่ายคมบุ และที่สำคัญที่สุดคือข้าวญี่ปุ่นที่มีบ๊วยดองวางอยู่ตรงกลาง หรือที่เรียกกันว่า ‘ฮิโนะมารุ’ ที่เป็นชื่อของธงชาติญี่ปุ่น เพราะเมื่อบ๊วยสีแดงวางอยู่บนข้าวสีขาว จะมีลักษณะคล้ายกับวงกลมสีแดงบนผืนผ้าสีขาวที่เป็นธงชาติของญี่ปุ่นนั่นเอง
การวางบ๊วยลงบนข้าวญี่ปุ่นนี้ไม่ได้เป็นแค่การตกแต่ง แต่เทคนิคการทำให้ข้าวไม่บูด เพราะข้าวญี่ปุ่นนั้นบูดง่ายมาก หากเก็บใส่ไว้ในกล่องนานจนเกินไป เมื่อถึงเวลาเปิดขึ้นมากินอาจทำให้บูดได้ การวางบ๊วยลงไปจะช่วยชะลอให้ข้าวบูดช้าลง
เบนโตะปรากฏในอนิเมะแทบทุกเรื่อง อย่างล่าสุด ‘Kotaro Lives Alone’ ก็ได้เล่าเรื่องราววัฒนธรรมเบนโตะของเด็กวัยอนุบาล ที่วันพุธของทุกสัปดาห์จะเป็นวันเบนโตะที่ผู้ปกครองจะต้องเตรียมให้เด็กๆ และเด็กๆ ทุกคนจะนำมาอวดกันว่าวันนี้ผู้ปกครองของพวกเขาทำเบนโตะออกมาได้สวยขนาดไหน ทำให้มีวัฒนธรรมการตัดสินกันในหมู่เด็กๆ เพราะความสวยของเบนโตะเลยทีเดียว
ราเมน จาก Naruto
เป็นที่รู้กันดีว่า ‘อุซึมากิ นารูโตะ’ ชอบกินราเมนที่ร้านอิจิราคุของลุงเทอุจิมากเหลือเกิน และหลายคนก็อยากลิ้มลองราเมนแบบที่นารูโตะกิน ราเมนชามนี้เป็นราเมนน้ำข้น มีเครื่องเป็นชาชูชิ้นใหญ่หลายชิ้น อะจิทามะหรือไข่ต้มซีอิ๊ว เมนมะหรือหน่อไม้ และลูกชิ้นปลารูปน้ำวนที่เรียกว่านารูโตะเหมือนกับชื่อของตัวละครหลักของเรื่อง
แม้ราเมนจะเป็นอาหารที่ได้รับอิทธิพลมาจากจีน แต่ราเมนก็ถือเป็นอาหารเมนูแรกๆ ที่ผุดขึ้นมาในใจหากให้ชาวต่างชาติอย่างเรานึกถึงอาหารญี่ปุ่นสักหนึ่งเมนู นั่นเป็นเพราะที่ญี่ปุ่นมีร้านราเมนอยู่ทั่วทุกหัวมุมถนน ทั้งร้านหน้าตาเป็นมิตร ราคาถูก และร้านที่นำราเมนมาคิดใหม่ทำใหม่ให้หรูหราขึ้น
ราเมนถูกใส่ลงไปในสื่อบันเทิงของญี่ปุ่นนับครั้งไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ ทีวีซีรีส์ที่ต้องมีฉากตัวละครนั่งกินราเมนในร้าน หรือทีวีซีรีส์ที่เกี่ยวกับราเมนไปเลยก็ยังมี รวมถึงอนิเมะหลายเรื่องก็เต็มไปด้วยฉากตัวละครนั่งกินราเมน
และยังมีอนิเมะที่เกี่ยวกับราเมนโดยตรงอย่าง ‘Ms. Koizumi Loves Ramen Noodles’ ที่เป็นเรื่องของเด็กสาวที่ไล่ตามชิมราเมนร้านต่างๆ พร้อมอธิบายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของราเมนในทุกตอน นับเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารที่ได้ผลมาก เพราะไม่ว่าใครที่ดูอนิเมะเรื่องนี้ก็ล้วนอยากกินราเมนกันในทันทีหลังดูจบ
เต้าหู้หม่าโผ จาก Food Wars!: Shokugeki no Soma
ชุดข้าวและเต้าหู้หม่าโผสุดแสนจะน่ากินจานนี้มาจากเรื่อง Food Warrs!: Shokugeki no Soma อนิเมะอาหารเรื่องดีเรื่องเดิมที่ดูทีไรก็เป็นต้องน้ำลายไหล เพราะความตั้งใจในการวาดอาหารทุกจานของเหล่าอนิเมเตอร์
เต้าหู้หม่าโผนั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศจีนเช่นเดียวกับราเมน แต่เมื่อเข้ามาในญี่ปุ่นก็ถูกปรับรสชาติให้มีความเผ็ดน้อยลง ตัดความเผ็ดชาจากเมล็ดฮวาเจียวทิ้งไป และเพิ่มความหวานกลมกล่อมให้มากขึ้น เพราะก่อนที่จะมีเมนูเต้าหู้หม่าโผเข้ามานั้น มุมมองของชาวญี่ปุ่นที่มีต่อเต้าหู้นั้นคือวัตถุดิบที่ใช้ทำเมนูรสชาติอ่อน เต้าหู้หม่าโผที่รสชาติเผ็ดจัดจ้านจากเสฉวนจึงกลายเป็นเมนูอาหารจากเต้าหู้ที่ค่อนข้างแปลกใหม่ในเวลานั้น
เต้าหู้หม่าโผในแบบญี่ปุ่นนั้นจะเสิร์ฟพร้อมกับข้าวสวย คล้ายกับชุดอาหารญี่ปุ่นปกติทั่วไปเลย ด้วยรสชาติเข้มข้นของซอสนั้นเข้ากันได้ดีกับข้าว เต้าหู้หม่าโผเลยกลายเป็นกับข้าวแบบหนึ่งไปเลย
การหยิบเอาอาหารจีนมาปรับรสชาติให้เข้ากับความเป็นญี่ปุ่นนี้ไม่ได้มีแค่เต้าหู้หม่าโผเท่านั้น แต่ยังมีเมนูอื่นอีกมากมาย และสามารถหากินได้ในย่านไชน่าทาวน์ของจังหวัดโยโกฮาม่า ซึ่งแต่ละร้านก็จะมีสูตรที่ไม่เหมือนกันด้วย
โอนิกิริ จาก One Punch Man
โอนิกิริ หรือที่บางพื้นที่ในญี่ปุ่นเรียกกันว่า โอมุซุบิ เป็นอาหารเมนูเรียบง่ายของญี่ปุ่นที่มีมานานกว่า 2,000 ปี นับจากซากฟอลซิลของโอนิกิริที่ญี่ปุ่นเคยขุดค้นพบ เมนูแสนง่ายนี้เพียงแค่ปั้นข้าวและห่อด้วยสาหร่ายก็สามารถพกไปกินที่ไหนก็ได้ นิยมใส่กล่องไปกินยามเดินทาง หรือเวลาไปร่วมงานเทศกาลชมดอกซากุระ หรืองานเทศกาลดอกไม้ไฟ
ไส้ของโอนิกิรินั้นมีหลากหลายมาก ไม่ว่าจะเป็นปลาแซลมอนย่าง สาหร่ายคมบุ เมนไทโกะ ปลาแห้ง บ๊วย หรือแบบที่นำไปย่างบนเตาถ่านหรือกระทะจนมีเท็กซ์เจอร์กรอบนอกนุ่มในก็มี
นอกจากนี้ยังมีเรื่องสนุกเล็กๆ น้อยๆ จากชาวเน็ตญี่ปุ่นเมื่อไม่นานมานี้ เพราะมีคนตั้งข้อสังเกตว่าโอนิกิริในร้านสะดวกซื้อของภูมิภาคคันโตและภูมิภาคคันไซนั้นมีรสชาติที่แตกต่างกัน ไม่ว่ารายการทีวีหรือชาวเน็ตก็ล้วนประหลาดใจกับหัวข้อนี้จนต้องหาโอนิกิริจากร้านสะดวกซื้อของทั้งสองภูมิภาคมาลองกินดู และพวกเขาก็ค้นพบว่ามันแตกต่างกันจริงๆ
โอนิกิริในร้านสะดวกซื้อของภูมิภาคคันโตจะมีรสชาติเบาและจางกว่า ส่วนโอนิกิริจากร้านสะดวกซื้อในภูมิภาคคันไซจะมีรสชาติจัดจ้านกว่า และเมื่อดูที่ฉลากของโอนิกิริ ก็พบว่าโอนิกิริของภูมิภาคคันไซนั้นใช้สาหร่ายที่ผ่านการปรุงรส ทำให้ทุกคำที่กินเข้าไปมีรสชาติกลมกล่อมจากสาหร่าย และช่วยชูรสชาติของไส้โอนิกิริให้ดียิ่งขึ้น
ข้าวแกงกะหรี่ จาก My Hero Academia
ถ้าประเทศไทยมีข้าวกะเพรา ประเทศญี่ปุ่นก็มีข้าวแกงกะหรี่เป็นอาหารที่คอมฟอร์ตหัวใจ ไม่รู้จะกินอะไรก็กินข้าวแกงกะหรี่นี่แหละ และข้าวแกงกะหรี่จานนี้มาจากเรื่อง My Hero Academia ในตอนที่ห้อง A ต้องช่วยกันทำอาหาร จึงออกมาเป็นแกงกะหรี่จากพลังเหนือธรรมชาติของพวกเขา
ข้าวแกงกะหรี่ถือว่าเป็นอาหารคอมฟอร์ตอันดับต้นๆ ของชาวญี่ปุ่น เพราะทำเองที่บ้านได้ง่ายด้วยก้อนแกงกะหรี่สำเร็จรูปที่หาซื้อได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต และอยากเติมเนื้อสัตว์หรือผักอะไรก็ใส่ลงไปได้ตามใจชอบ
มีการสำรวจในบุคคลทั่วไป พบว่าชาวญี่ปุ่นกว่า 36.3% กินข้าวแกงกะหรี่ถึง 2-3 ครั้งต่อเดือนเลยทีเดียว และแกงกะหรี่ที่นิยมที่สุดคือแกงกะหรี่เนื้อวัว ที่กวาดคะแนนไปถึง 64.9%
ความสนุกของเมนูแกงกะหรี่คือแต่ละบ้านจะมีสูตรลับเป็นของตัวเอง ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ดูจะไม่เข้ากับแกงกะหรี่เลยสักนิด แต่เมื่อใส่ลงไปแล้วเคี่ยวด้วยเวลานาน วัตถุดิบเหล่านั้นจะทำให้รสชาติของแกงกะหรี่เข้มข้นยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นวัตถุดิบพื้นฐานอย่างแอปเปิล น้ำผึ้ง ช็อกโกแลต ไปจนถึงบางอย่างที่เราก็ไม่คาดคิดอย่างสตรอว์เบอร์รี กาแฟผง และโยเกิร์ต
บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จาก Jujutsu Kaisen
อีกหนึ่งเมนูอาหารเรียบง่ายแต่เป็นที่นิยมไปทั่วโลกอย่างคาดไม่ถึงคือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และภาพนี้มาจากเรื่อง Jujutsu Kaisen ที่นำอาหารแสนธรรมดานี้มาทำให้สนุกกว่าเดิมด้วยการเติมส่วนผสมเล็กๆ น้อยๆ เพิ่มลงไป กลายเป็น ‘บะหมี่ซีฟู้ดสูตรนิชิมิยะ’
แม้จะไม่ได้เขียนชื่อยี่ห้อลงบนถ้วย แต่คนที่คุ้นเคยก็จะรู้ได้ในทันทีว่าบะหมี่กึ่งสำเร็จถ้วยนี้คือยี่ห้ออะไร และเราจะใบ้ให้ว่าเป็นรสซีฟู้ด รสชาติแสนคอมฟอร์ตที่คอยเยียวยาเวลาหิวในยามดึก
เป็นแค่บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปก็น่ากินอยู่แล้ว ยิ่งกลายเป็นบะหมี่ซีฟู้ดสูตรนิชิมิยะ ก็ยิ่งน่ากินเข้าไปใหญ่ ด้วยการนำพริกมาตัดด้วยกรรไกร ใส่ลงไปในถ้วยบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสซีฟู้ด ก่อนที่จะเติมนมสดลงไปครึ่งถ้วย และปิดท้ายด้วยการเติมน้ำร้อนจนถึงเส้นที่กำหนดไว้ ก็จะได้บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสซีฟู้ดที่มีความเข้มข้นหอมมนจากนมสด และความเผ็ดจากพริก ซึ่งรสชาติทั้งหมดนั้นเข้ากันได้ดีจนอยากกินเป็นถ้วยที่สองเลยทีเดียว
เมื่ออนิเมะตอนที่พูดถึงบะหมี่ซีฟู้ดสูตรนิชิมิยะออกอากาศ ก็ทำให้หลายคนรีบหาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสซีฟู้ดมาทำตามกันในทันที นับว่าเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารเล็กๆ น้อยๆ ที่ได้ผลไปทั่วโลก
ยากิโซบะปัง จาก Alice in Deadly School
ยากิโซบะปัง เมนูคู่โรงเรียนญี่ปุ่นที่เรามักจะเห็นตัวละครที่เป็นนักเรียนกินเป็นอาหารกลางวันอยู่เสมอ (และทำให้เราสงสัยว่า จะกินแป้งซ้อนแป้งได้อย่างไรนะ) เมนูนี้ไม่มีที่มาอย่างแน่นอน แต่ว่ากันว่าคิดค้นขึ้นโดยร้านขนมปังร้านหนึ่งในโตเกียวช่วงปี ค.ศ.1950 ก่อนที่จะโด่งดังไปทั่วประเทศ
ยากิโซบะปังเป็นของคู่กับร้านค้าของโรงเรียน เพราะต้นทุนในการทำที่ถูก ไม่ต้องใช้ภาชนะหรืออุปกรณ์การกินอะไรเลย ทำให้ขายได้ในราคาถูก และความที่เป็นแป้งซ้อนแป้งก็ทำให้กินหนึ่งชิ้นแล้วอิ่มไปอีกนาน บวกกับรสชาติที่ปรุงมาอย่างหนักหน่วงของยากิโซบะก็ทำให้เมนูนี้อร่อยขึ้นมาได้
ยากิโซบะที่ใช้เป็นไส้นี้จะต้องเป็นยากิโซบะที่ผัดแบบแห้งมาก ไม่มีซอสหลงเหลืออยู่เลย เพื่อให้ขนมไปไม่ชื้นแฉะไปเสียก่อน และทำให้ยากิโซบะปังสามารถเก็บได้นานขึ้นด้วย
แม้จะเป็นเมนูที่ชวนสงสัยในอะไรหลายอย่าง แต่ก็น่าลองสักครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเห็นตัวละครในอนิเมะกินกันบ่อยเหลือเกิน
พาร์เฟต์ จาก Polar Bear Cafe
อีกหนึ่งเมนูที่เห็นกันบ่อยมากในอนิเมะคือขนมหวานแสนสวยอย่างพาร์เฟต์ และพาร์เฟต์ถ้วยนี้มาจากอนิเมะน่ารักอบอุ่นหัวใจ ‘Polar Bear Cafe’ ที่มีฉากกินพาร์เฟต์อยู่บ่อยคร้ังจนคนที่ดูเรื่องนี้รู้สึกเหมือนถูกสะกดจิตให้ออกไปหาพาร์เฟต์กินสักถ้วยหนึ่ง
พาร์เฟต์นั้นมีต้นกำเนิดมาจากประเทศฝรั่งเศส แต่เมื่อเข้ามาในประเทศญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นเทียบให้พาร์เฟต์เหล่านี้เป็นเหมือน ‘ผืนผ้าใบ’ ในการสร้างสรรค์งานศิลปะ เพราะไม่ว่าจะเป็นพาร์เฟต์ของร้านไหนก็ตาม จะถูกเสิร์ฟมาอย่างสวยงามอลังการตลอด ไม่ว่าจะเป็นพาร์เฟต์ที่ตกแต่งด้วยคอนเซ็ปต์อย่างพาร์เฟต์รูปสัตว์ที่มักจะเสิร์ฟในร้านอาหารครอบครัวหรือเมดคาเฟ่
สำหรับร้านคาเฟ่ท้องถิ่นก็จะมีการใช้วัตถุดิบของดีประจำถิ่นมาทำพาร์เฟต์ด้วย ไม่ว่าจะเป็นพาร์เฟต์ชาเขียวและขนมญี่ปุ่น หรือพาร์เฟต์ผลไม้ท้องถิ่น และพวกเขาไม่ใช่แค่ใส่ของดีประจำเมืองลงไป แต่มีการตกแต่งให้สวยงามน่ากินด้วย เมื่อผู้คนถ่ายรูปพาร์เฟต์แชร์ลงในโซเชียลมีเดีย ก็เหมือนได้เผยแพร่เรื่องราวของดีประจำเมืองไปในตัว
นอกจากนี้ในญี่ปุ่นยังมีพาร์เฟต์ยักษ์ ที่เป็นกิจกรรมกลุ่มของเหล่าวัยรุ่น พาร์เฟต์ยักษ์นี้จะเป็นพาร์เฟต์ขนาดใหญ่สำหรับคนตั้งแต่ 4 คนเป็นต้นไป ในถ้วยจะอัดแน่นไปด้วยไอศกรีมและขนมอื่นใดอีกมากมายสำหรับแบ่งกันกินเป็นกลุ่มด้วย
หลังจากดูรูปอาหารจากอนิเมะไปขนาดนี้ หลายคนอาจรู้สึกหิวขึ้นมา เห็นไหมว่าการใส่อาหารลงมาในอนิเมะนั้นมีผลกับใจขนาดไหน
อ้างอิงข้อมูลจาก