งานที่มักจะเลือกใช้ลายเส้นกับรูปลักษณ์ที่ดูสมจริง แต่การเล่าเรื่องของนั้นมักจะดูเกินจริง กับการเล่าเรื่องราวจากสองมุม แต่หลอมรวมอยู่ในฉากเดียวกัน และถึงเขาจะรับหน้าที่กำกับภาพยนตร์อนิเมะไว้ไม่ถึงสิบเรื่อง แต่งานของเขากลับส่งอิทธิพลให้กับทั้งคนที่ชื่นชอบการ์ตูน และมีแรงกระเพื่อมไปถึงภาพยนตร์ในฟากฝั่งฮอลลีวูดอีกด้วย
เรากำลังพูดถึง คอน ซาโตชิ (Kon Satoshi) ชายชาวญี่ปุ่นที่ชื่นชอบงานศิลปะ จนเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลป์ ก่อนที่จะมีโอกาสได้เข้าไปทำงานในวงการมังงะ กลายเป็นบุคลากรในอุตสาหกรรมอนิเมะของญี่ปุ่นในภายหลัง และเป็นเรื่องที่น่าเสียดายที่เขาไม่อยู่ในโลกใบนี้แล้ว จนมีคนเคยบอกเล่ากับผมว่า เขาคือชายที่มาเร็วก่อนกาลและจากไปก่อนเวลาอันควร
ในช่วงหลายปีหลังมานี้ มีคนพูดถึงงานของชายคนนี้มากขึ้น เราเลยถือโอกาสนี้มาพูดถึงศิลปินคนนี้กับงานที่ผู้คนจดจำได้ เผื่อว่าในช่วงเวลาว่าง ทุกท่านจะได้มีโอกาสหาผลงานของเขามารับชมกัน
แรงบันดาลใจแรกเริ่มก่อนวัยทำงาน
คอน ซาโตชิ ใช้ชีวิตวัยเยาว์ในภาคเหนือของประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวัยเด็กเขาก็ชื่นชอบอนิเมะ ที่ล้วนเป็นผลงานที่มักจะจุดไฟให้บุคลากรหลายคนในอุตสาหกรรมการ์ตูนญี่ปุ่น อาทิ ‘เรือรบอวกาศยามาโตะ’, ‘ไฮดี้ สาวน้อยแห่งเทือกเขาแอลป์’, ‘โคนัน เจ้าหนูล้ำยุค’ (Future Boy Conan), และ ‘โมบิลสูทกันดั้ม’ ก่อนที่การย้ายถิ่นอาศัยบ่อยครั้งตามการทำงานของผู้เป็นพ่อ ทำให้เขาเริ่มสนใจในประเด็น ‘การหลอมรวมระหว่างจินตนาการกับความเป็นจริง’ ขึ้นมา
คอน ซาโตชิ เลือกที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยศิลปะมุซาชิโนะ (Musashino Bijutsu Daigaku) ในสาขากราฟิกดีไซน์ และตั้งเป้าว่าจะเป็นจิตรกร หรือ นักวาดภาพประกอบ ในอนาคต ระหว่างที่เรียนอยู่ในขั้นอุดมศึกษานี้ เขาก็ได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนงานมาจากหลายทิศทาง ไม่ว่าจะจากผลงานมังงะเรื่อง Domu ของโอโตโมะ คัทสึฮิโระ (Otomo Katsuhiro), นิยายหลากหลายเรื่องของ สึสึอิ ยาสุทากะ (Tsutsui Yazutaka), ผลงานของมิยาซากิ ฮายาโอะ, รวมไปถึงภาพยนตร์จากหลายชาติอีกด้วย
โยกไปมาระหว่าง มังงะกับอนิเมะ และการพบพานกับคนดังในวงการ
ในช่วงที่ศึกษาอยู่ในมหาวิยาลัย คอน ซาโตชิ ก็เขียนผลงานเรื่องสั้นเรื่อง Toriko (ไม่เกี่ยวข้องกับมังงะเรื่อง โทริโกะ ของ Shueisha) ส่งเข้าแข่งขันรางวัล Chiba Tetusya ครั้งที่ 10 ที่สุดท้ายเขากลายเป็นผู้ชนะของรางวัลดังกล่าวในช่วงปี ค.ศ.1984 การคว้ารางวัลดังกล่าวเป็นใบเบิกทางให้เขาได้มีโอกาสไปทำงานเป็นผู้ช่วยให้กับ โอโตโมะ คัทสึฮิโระ ที่ตอนนั้นกำลังเขียน Akira ฉบับมังงะอยู่
แม้จะไม่มีการบันทึกอย่างชัดเจนว่า ทั้งสองคนต้องชะตากันขนาดไหน แต่เชื่อว่าทั้งสองท่านน่าจะนิยมชมชอบในการทำงานกันไม่น้อย เพราะในภายหลัง คอน ซาโตชิ ได้มีส่วนร่วมกับงานของ โอโตโมะ คัทสึฮิโระ อีกหลายครั้ง นับตั้งแต่การที่ คอน เป็นเจ้าของไอเดียดั้งเดิมของภาพยนตร์เรื่อง World Apartment Horror ผลงานแนวตลกกึ่งวิพากษ์สังคม ที่ถูกโอโตโมะนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง ก่อนที่ คอน ซาโตชิ จะเอาภาพยนตร์กลับมาวาดเป็นฉบับมังงะอีกทีหนึ่ง
แล้วก็เป็น โอโตโมะ คัทสึฮิโระ นี่เองที่ดึง คอน ซาโตชิ ให้เข้ามาทำงานเกี่ยวกับอนิเมะ ด้วยการจับเขาให้ทำหน้าที่ผู้ออกแบบฉากหลังกับหน้าที่คีย์อนิเมเตอร์ ภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Roujin Z ในช่วงปี ค.ศ.1991 ก่อนที่ คอน จะได้รับหน้าที่วาดเลย์เอาต์ฉากหลังกับคีย์อนิเมเตอร์ของภาพยนตร์อนิเมะ Hashire Melos! ในเวลาต่อมา
การเริ่มวนเวียนอยู่ในงานผลิตอนิเมะนี่เองที่ทำให้เขามีโอกาสได้ทำงาน ร่วมกับ โอชิอิ มาโมารุ (Oshii Mamoru) ผู้กำกับที่ช่วงนั้นสร้างชื่อจากผลงานอย่าง Tenshi No Tamago/Angel’s Egg กับ Patlabor ฉบับภาพยนตร์ ที่ดึงตัวให้ คอน ไปรับหน้าที่วาดวาดเลย์เอาท์ฉากหลังในภาพยนตร์อนิเมะ Patlabor 2 ในช่วงปี 1993
หลังจากทำงานในฟากอนิเมะมาหลายปี คอน ซาโตชิ ได้มีโอกาสกำกับและเขียนบทอนิเมะเป็นครั้งแรกกับผลงานเรื่อง โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ ฉบับปี ค.ศ.1993 ที่คอน ทำหน้าที่เป็นผู้กำกับรายตอน ของตอนที่ 11,12, และ 13 รวมไปถึงการดูแลการสร้างส่วนอื่นๆ
จากนั้นในช่วงปี ค.ศ.1994 โอชิอิ มาโมรุ ที่รู้จักมักคุ้นกับคอนในช่วงก่อนหน้านี้ ก็ร่วมกันสร้างมังงะเรื่อง Seraphim: 266613336 No Tsubasa โดยมีฝั่งโอชิอิรับผิดชอบเรื่องบท ส่วนคอนรับผิดชอบการวาด แต่มังงะดังกล่าวเป็นผลงานที่เขียนไว้ไม่จบ ซึ่งหลายคนคาดว่ามาจากการที่ทั้งคนแต่งเรื่องและคนวาดภาพต่างมีงานยุ่งกันทั้งสองคน
นอกจากเขียนมังงะแล้ว คอน ซาโตชิ ยังข้ามไปรับหน้าที่เขียนบทภาพยนตร์ให้กับเรื่อง Magnetic Rose ที่เป็นองก์หนึ่งของภาพยนตร์อนิเมะเรื่อง Memories ที่โอโตโมะ คัตสึฮิโระร่วมกำกับ
คอน ซาโตชิ กลับไปวนเวียนในสังเวียนมังงะอีกครั้งในช่วงปี ค.ศ.1995-1996 ด้วยการเขียนผลงานเรื่อง Opus มังงะที่เล่าเรื่องของ นักเขียนการ์ตูนที่ตัดสินใจจะจบผลงานที่ตัวเองเขียนอยู่ แต่ตัวละครในเรื่องไม่พึงพอใจกับฉากจบ เลยทำให้เกิดการผจญภัยระหว่างโลกแห่งความจริงกับโลกแห่งจินตนาการ ที่ยิ่งเดินเรื่องไปโลกทั้งใบก็เริ่มส่งผลกระทบต่อกันและกัน ผลงานเรื่องนี้ถือว่าเป็นการแสดงตัวตนของ คอน ซาโตชิ ออกมาอย่างเต็มที แต่ผลงานดังกล่าวก็ถูกตัดจบลง ครั้งนี้เป็นเหตุจากการที่นิตยสารที่ตีพิมพ์ผลงานเรื่องนี้ปิดตัวลง และ คอน ซาโตชิ ก็เดินหน้าเข้าไปทำงานในฟากฝั่งอนิเมะแบบเต็มตัว
สู่การนั่งเก้าอี้ผู้กำกับภาพยนตร์อนิเมะแบบเต็มตัว
หลังจากสั่งสมประสบการณ์มาเป็นระยะหนึ่ง คอน ซาโตชิ ก็มีโอกาสได้รับงานใหญ่กับเขาบ้าง กับการได้รับงานดัดแปลงนิยาย Perfect Blue: Complete Metamorphosis / Perfect Blue: Kanzen Hentai มาสร้างมาสร้างเป็น OVA ที่จะขายเป็นวีดีโอเทปกับแผ่น (แผนงานตอนแรกจะสร้างเป็นภาพยนตร์คนแสดง แต่มีการปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นแผนการสร้างอนิเมะ) ก่อนที่งานจะถูกขยายสเกลมาเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นเข้าฉายตามโรงแบบปกติ ทั้งยังมีชื่อของ โอโตโมะ คัทสึฮิโระ แปะไว้เป็นการการันตีความพิเศษของการ์ตูนเรื่องนี้
Perfect Blue เล่าเรื่องของ คิริโกเอะ มิมะ สมาชิกของวงไอดอล CHAM! ที่ตัดสินใจถอนตัวจากวงเพื่อผันตัวเองเข้าสู่การเป็นนักแสดงเต็มตัว และเธอก็ได้บทในละครนักสืบชื่อ ‘Double Bind’ แต่การเปลี่ยนเส้นทางการทำงานนี้ ทำให้โอตาคุกลุ่มหนึ่งไม่พอใจ สร้างความเครียดให้กับมิมะอย่างยิ่ง จนทำให้เธอไม่แน่ใจว่าควรจะมาทำงานเป็นนักแสดงหรือไม่ และยิ่งคนใกล้ตัวของมิมะโดนทำร้าย เธอจึงเริ่มไม่แน่ใจว่า เหตุการณ์นั้นเกิดแฟนคลับที่คลั่งไคล้เธอจนทำเรื่องรุนแรง หรือเป็นตัวเธอกันแน่ที่เป็นคนก่อเหตุร้ายนั้น
ด้วยพล็อตเรื่องที่แม้จะอ้างอิงจากนิยาย แต่ก็มีการเพิ่มเนื้อหาใหม่เข้าไปเพิ่มเติม เมื่อรวมกับการตัดต่อที่ทำให้คนดูไม่แน่ใจว่าเรื่องไหนเป็นความจริงและเรื่องไหนเป็นจินตนาการในมุมมของตัวเอกอย่ามิมะ จึงทำให้ผลงานเรื่องนี้กลายเป็นผลงานที่หลายคนต้องจดจำชื่อของ คอน ซาโตชิ ไม่ใช่เพราะเคยทำงานกับคนดังคนอื่น แต่เพราะการนำเสนอที่ไม่เหมือนใครของเขา จนทำให้ภาพยนตร์ได้รับรางวัลจากเวทีประกวดหลายประเทศ
Perfect Blue ยังกลายเป็นภาพยนตร์ที่มีประเด็นล้ำสมัย ณ ตอนที่ฉาย ก่อนจะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวไปในปัจจุบัน ด้วยเหตุที่วัฒนธรรมไอดอลกับโอตาคุไม่ได้มีแค่ในญี่ปุ่น, การสร้างตัวตนใหม่เพื่อใช้กลั่นแกล้งบนโลกอินเตอร์เน็ต, การได้เห็นว่าคนยึดติดกับตัวตนที่ถูกนำเสนอมากกว่าตัวตนที่แท้จริง กลายเป็นเรื่องราวใกล้ตัวแทบทุกคน จนทำให้ผู้ที่รับชมการ์ตูนเรื่องนี้ได้เกิดอาการขนลุกว่ามันอาจจะเกิดขึ้นกับใครเมื่อใดก็ได้
หลังจากที่เสร็จสิ้นการทำงานกับภาพยนตร์ Perfect Blue แล้ว แฟนการ์ตูนหลายคนก็เฝ้ารอผลงานภาพยนตร์เรื่องต่อไปของ คอน ซาโตชิ แต่ด้วยปัญหาการล้มละลายของบริษัทจัดจำหน่ายภาพยนตร์เรื่องแรก ผสมรวมกับวิสัยการทำงานของอุตสาหกรรมอนิเมะ ทำให้ คอน กลับไปช่วยเหลืองานสร้างอนิเมะเรื่องอื่น ก่อนจะเริ่มแผนงานผลิตภาพยนตร์เรื่องใหม่ในช่วงปี ค.ศ.1998
ในภาพยนตร์เรื่องใหม่นี้ คอน ซาโตชิ รับหน้าที่ทั้งกำกับ และเขียนบทภาพยนตร์ร่วมกับ มุราอิ ซาดายูกิ (Murai Sadayuki) ที่เคยร่วมงานกันมาก่อนใน Perfect Blue ในการเล่าเรื่องที่แต่งใหม่หมดและเหมือนกับจดหมายย้อนความทรงจำเกี่ยวกับวงการภาพยนตร์ของญี่ปุ่น กับผลงานเรื่อง Sennen Joyuu หรือที่ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Millennium Actress
ตัวภาพยนตร์เล่าเรื่องของคนทำงานทีวี ที่ติดตามเรื่องราวของสตูดิโอภาพยนตร์ที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งของญี่ปุ่นที่ ณ ปัจจุบันล้มละลายไปแล้ว เขาจึงถือโอกาสไปสัมภาษณ์ ฟุจิวาระ ชิโยโกะ นักแสดงหญิงระดับตำนานที่เคยทำงานกับสตูดิโอภาพยนตร์แห่งนั้น ก่อนที่นักแสดงหญิงจะบอกเล่าเรื่องราวของตัวเธอ กับชีวิตที่ผูกพันกับแผ่นดินไหว และการไล่ตามชายหนุ่มในโชตชะตาของเธอ
แม้ว่าเรื่องราวขั้นต้นของภาพยนตร์เรื่องนี้จะไม่ได้ซับซ้อน แต่ด้วยการเล่าเรื่องความทรงจำของดาราหญิงชื่อดังในเรื่อง ให้ไหลรวมไปกับความเป็นจริงของทีมงานจากสถานีโทรทัศน์ รวมกับการตัดต่อและนำเสนอภาพให้แปรเปลี่ยนไปและลื่นไหลอย่างต่อเนื่อง
Sennen Joyuu / Millennium Actress ทำรายได้ค่อนข้างดี หากเทียบกับทุนสร้างที่มีข่าวระบุว่าต่ำกว่าตอนสร้าง Perfect Blue เสียอีก และเมื่องานได้รับรางวัลทั้งในบ้านเกิดและจากงานประกวดประเทศอื่นๆ อีกหลายรางวัล ก็เป็นการยืนยันว่าวิสัยทัศน์ของ คอน ซาโตชิ สามารถใช้งานได้ไม่ว่าจะเล่าเรื่องราวที่ซับซ้อน หรือจะบอกเล่าเรื่องราวธรรมดาให้หวือหวามากขึ้น
คอน ใช้เวลาไม่นานนักในการวางแผนงานสร้างภาพยนตร์อนิเมะเรื่องใหม่ต่อจาก Sennen Joyuu / Millennium Actress ที่คราวนี้เขาไปหยิบเอาไอเดียที่เคยเขียนเป็นมังงะตอนสั้นมาปรับเปลี่ยนแล้วขยายความให้เล่าเรื่องของความบังเอิญกับปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นในวันคริสต์มาส ที่น่าแปลกใจสักหน่อยก็คือ คราวนี้เขาตั้งใจจะเล่าเรื่องราวแบบเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น แต่ก็ยังมีการเล่าเรื่องของโลกที่แตกต่างกันอยู่ในเรื่องอีกด้วย
Tokyo Godfathers เป็นภาพยนตร์แนวตลกชวนอบอุ่นหัวใจที่เล่าเกี่ยวกับคนไร้บ้านสามคน คนหนึ่งเป็นลุงขี้เหล้า, คนหนึ่งเป็นแดร็กควีนวัยเก๋า, และอีกคนเป็นเด็กสาวที่หนีออกจากบ้าน ทั้งสามได้เจอกับเด็กทารกถูกทิ้งไว้ในถังขยะ คนที่สังคมละทิ้งทั้งสามได้ตัดสินใจเดินทางเพื่อตามหาแม่ของเด็กน้อย และความบังเอิญที่เป็นเหมือนปาฏิหาริย์ในกรุงโตเกียวก็ได้เริ่มต้นขึ้น
ถึงจะเปลี่ยนมาเล่าเรื่องราว Feel Good แต่งานของ คอน ก็ยังได้รับความสนใจด้วยนัยยะที่แฝงไว้อยู่ไม่น้อย ทั้งส่วนที่ผู้กำกับเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาตั้งใจเล่าเรื่อง ‘คนที่ถูกทิ้ง’ ที่สังคมญี่ปุ่นมักจะทำเป็นมองไม่เห็นแล้วดูแคลนคนกลุ่มนั้นเป็นหลัก ไปจนถึงประเด็นที่คนดูนอกประเทศญี่ปุ่นได้เห็นลักษณะการนับถือศาสนาในญี่ปุ่น และวิพากษ์ถึงสังคมที่ติดกับอยู่พาณิชยนิยม (Commercialism) ตัวภาพยนตร์ได้รางวัลจากทั้งในและนอกประเทศอีกครั้ง
แวะเวียนไปทำงานอนิเมะซีรี่ส และงานสร้างภาพยนตร์ที่เขาที่รอคอย
ถ้าสังเกตุจากประวัติการทำงานของ คอน ซาโตชิ จะเห็นได้ว่าเขาเองก็เป็นคนที่มีไอเดียในหัวอยู่ไม่น้อยทีเดียว ด้วยเหตุนี้เลยมีไอเดียการทำงานจำนวนมากที่ถูกคิดขึ้นมาแล้วก็โดนเก็บเข้ากรุไว้ และตัว คอน ซาโตชิ ก็อยากจะลองทำอะไรที่แตกต่างจากผลงานก่อนหน้า เขาจึงเอาไอเดียเหล่านั้นไปเสนอเป็นงานสร้างอนิเมะแบบซีรีส์ และนั่นทำให้ผลงานเรื่อง Mousou Dairinin หรือที่มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Paranoia Agent
Paranoia Agent เป็นอนิเมะที่มีตัวละครหลากหลาย ที่เชื่อมโยงกันว่าด้วยคดีทำร้ายร่างกาย ซากิ ทสึกิโกะ ที่เธอบอกว่าโดน เด็กหนุ่มถือไม้เบสยอลใส่โรลเลอร์เบลดเข้ามาทำร้าย ที่ในเวลาต่อมาสื่อมวลชนเรียกขานคนร้ายว่า ‘โชเน็นแบต’ (Shonen Batto – เด็กหนุ่มถือไม้เบสบอล) การมาถึงของคนร้ายคนนี้กลับไม่ได้จบลงแค่นั้น เพราะโชเน็นแบตนั้นไปฟาดให้พื้นที่ระหว่างความจริงและภาพลวงของคนหลายคนจนทำให้เกิดเหตุวุ่นวายอื่นๆ ตามมาอย่างไม่มีใครคาดคิด
ด้วยความที่เนื้อเรื่องเล่าผ่านตัวละครหลายตัว จึงทำให้มีการใช้สไตล์ภาพที่หลากหลายไปในแต่ตัวละคร ด้วยเหตุนี้ผลงานเรื่องนี้เลยเป็นงานที่แหวกแนวกับพลอทเรื่องน่าสนใจ แต่สำหรับผู้ชมอนิเมะส่วนหนึ่งก็มองว่า เรื่องราวนี้หลุดโลกจนยากจะเข้าถึงไปสักหน่อยสำหรับในช่วงปี 2004 ที่อนิเมะเรื่องนี้ออกฉาย
การหยิบเอาไอเดียของตัวเองมาทำอนิเมะแบบซีรีส์นั้น อาจจะทำให้หลายคนคิดว่า คอน ซาโตชิ จะไม่กลับไปทำงานจอใหญ่แล้ว แต่ความจริงกลับตรงกันข้าม เพราะในช่วงที่คลุกคลีกับการสร้าง Paronoia Agent คอน ซาโตชิ ก็ได้รับโอกาสดัดแปลงนิยายเรื่อง Paprika ของ สึสึอิ ยาสุทากะ มาเป็นภาพยนตร์ ซึ่งจริงๆ แล้ว คอน ได้มีโอกาสได้พบกับนักเขียนนิยายที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 แต่กว่าจะได้เริ่มสร้างภาพยนตร์กันจริงจังก็ผ่านมาก็ผ่านไปหลายปีดีดัก
การพัฒนาภาพยนตร์ Paprika เป็นไปอย่างรวดเร็ว อาจจะเพราะในตอนนั้น คอน ซาโตชิ มีองก์ความรู้มากพอที่จะประกอบไอเดียจากนิยายไปสู่ภาพยนตร์แล้ว หรือไม่ก็เขาคิดภาพของนิยายเรื่องนั้นเป็นสตอรี่บอร์ดมาตั้งแต่ก่อนหน้าก็ได้ แต่ไม่ได้แปลว่า คอน ซาโตชิ จะไม่ทำการดัดแปลงเรื่องราวให้สอดคล้องกับวิธีการเล่าเรื่องที่เขาถนัด และตัวของคอนก็แสดงความสนุกกับการทำภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุผลที่ว่าตัวภาพนั้นพร้อมจะถูกนำเสนอแบบเหนือจริงได้มากกว่าผลงานก่อนหน้า เพราะเรื่องราวส่วนใหญ่เกิดขึ้นในโลกความฝัน และในขณะเดียวกันก็มีการวิพากษ์การใช้งานอินเตอร์เน็ต ที่ตัว คอน ซาโตชิ เริ่มเห็นแล้วว่า มันเป็นกระจกที่สะท้อนภาพลักษณ์ทั้งดีและด้านร้ายของสังคมได้อย่างดี
Paprika เล่าเรื่องของโลกในอนาคตที่มีการพัฒนาอุปกรณ์ ดีซีมินิ (DC Mini) สำหรับรับชมความฝัน ชิบะ อัตสึโกะ หนึ่งในทีมพัฒนาอุปกรณ์นี้ ได้แอบเอาอุปกรร์ณดังกล่าวไปใช้บำบัดอาการทางจิตของคนนอกออฟฟิศ แต่เธอจะใช้อวตาร์เป็นหญิงสาวผมสั้นมที่ใช้ชื่อว่า ‘ปาปริก้า’ ในการรับงานบำบัด แต่ก็เกิดเหตุวุ่นวายขึ้นเมื่อมี ดีซีมินิ ถูกขโมยไป คนร้ายยังแพร่กระจายความฝันของตัวเองไปกระทบคนอื่น ชิบะ และ ปาปริก้า จึงต้องรีบตามหาคนร้ายที่ขโมยอุปกรณ์ไป ก่อนที่โลกแห่งความจริงกับความฝันจะกลายเป็นหนึ่งเดียว
Paprika ออกฉายในช่วงปี ค.ศ.2006 กลายเป็นภาพยนตร์อนิเมชั่นที่โดดเด่นแทบจะทันทีที่ออกฉาย แล้วก็เหมือนกับผลงานก่อนหน้านี้ของ คอน ซาโตชิ ที่ภาพยนตร์ได้รับรางวัลระดับนานาชาติมาคว้าหลายรางวัลอีกครั้ง และทำให้ชื่อของ คอน ซาโตชิ โด่งดังยิ่งขึ้น
และในขณะเดียวกัน ก็เป็นเรื่องที่น่าเสียดายอีกเล็กน้อยเพราะนี่คือภาพยนตร์เต็มรูปแบบที่ คอน ซาโตชิ สร้างไว้นี้ แม้ว่าหลังจากนั้นเขาจะได้มีโอกาสกลับไปร่มวมงานกับ โอชิอิ มาโมรุ และบุคลากรคนสำคัญคนอื่นๆ ในอุตสาหกรรมอนิเมะ ในโปรเจคท์ภาพยนตร์ขนาดสั้น Ani*Kuri15 ที่ออกอากาศช่วงปี ค.ศ.2008
ในช่วงปี ค.ศ.2010 ผู้กำกับชื่อดัง ก็ยังคงมุ่งหน้าทำงาน แต่ในขณะที่เขาทำการพัฒนาภาพยนตร์อนิเมะ Yume Miru Kikai (เครื่องจักรความฝัน) เขาก็ตรวจพบว่าเขาเป็นมะเร็งตับอ่อนขั้นรุนแรง แถมอาการของเขาก็ทรุดลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ คอน ซาโตชิ จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ปี ค.ศ.2010 ด้วยวัยเพียง 46 ปี สร้างความตกใจให้กับคนทั้งโลกที่ติดตามผลงานของเขา
พลังของ คอน ซาโตชิ ที่เหลือไว้ให้อุตสาหกรรมบันเทิง
คอน ซาโตชิ เขียนมังงะไว้ 3 เรื่อง ภาพยนตร์อนิเมะ 4 เรื่อง กับ ซีรีส์อนิเมะอีก 1 เรื่อง หากนับเป็นจำนวนแล้ว ต้องถือว่าไม่มากมายเท่าใดนัก แต่วิธีการเล่าเรื่อง วิธีกาตัดต่อ และสไตล์งานของ คอน ซาโตชิ กลับส่งผลต่อคนทำงานสื่อบันเทิงอย่างมาก ไม่เว้นแม้แต่ฝั่งฮอลลีวูด อย่างที่เห็นได้จาก ภาพยนตร์ของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี (Darren Aronofsky) อย่าง Requiem For A Dream และ Black Swan ต่างก็มีฉากหลายฉากที่ได้รับอิทธิพลจาก Perfect Blue อย่างชัดเจน
ตัวของ ดาร์เรน อโรนอฟสกี ไม่เคยออกมาพูดผ่านสื่อด้วยตัวเองว่าเขาตั้งใจถ่ายฉากให้เหมือนกับภาพยนตร์อนิเมชั่นด้วยเหตุผลใด แต่ก็เคยมีข่าวไม่ยืนยันว่าเขาได้ทำการซื้อสิทธิ์ Perfect Blue เพื่อที่จะนำฉากในภาพยนตร์อนิเมะเรื่องดังกล่าวไปสร้างใหม่ใน Black Swan ออกมาเช่นกัน แต่ถ้าเอาข่าวที่มีการยืนยันแน่นอนก็คือ คอน เคยเขียนในบล็อกส่วนตัวว่า เคยได้พบกับ ดาร์เรน ในช่วงปี ค.ศ.2001 และเมื่อ คอน เสียชีวิต ดาร์เรน ก็เขียนถ้อยคำสรรเสริญให้กับหนังสือรวมผลรายละเอียดการทำงานของคอน ซาโตชิ ที่ตีพิมพ์ในประเทศญี่ปุ่น จึงพอจะเชื่อได้ว่าทั้งสองคนมีความเคารพซึ่งกันและกันอยู่ไม่น้อย
ภาพยนตร์ฮอลลีวูดอีกเรื่องที่เชื่อว่าได้รับอิทธิพลจากงานของคอน ซาโตชิ ไปไม่มากก็น้อย ก็คือภาพยนตร์ Inception ที่มีคอนเซปท์เกี่ยวกับการเข้าไปในความฝันเช่นกัน และมีฉาก ‘รอยแตกในความฝัน’ ที่แทบจะเป็นลายเซ็นประจำตัวของ คอน ซาโตชิ อย่างไรก็ตามไม่มีหลักฐานแน่ชัดแต่อย่างใดว่า คริสโตเฟอร์ โนแลน ผู้กำกับและเขียนบทของ Inception ได้รับอิทธิพลจาก Paprika
อย่างไรก็ตามหากกลับไปมองว่า ทั้ง คอน ซาโตชิ และ คริสโตเฟอร์ โนแลน ต่างก็ลุ่มหลงในภาพยนตร์หลากหลายแนวเช่นกัน ก็เป็นไปได้ว่าทั้งสองคนอาจจะได้รับอิทธิลมาจากภาพยนตร์แนวเดียวกันมาก่อน เลยทำให้แก่นเรื่องบางอย่างออกมาใกล้เคียงกัน และตัวภาพยนตร์ Paprika เองก็เคยถูกมองว่าได้รับอิทธิพลมาจาก eXistenZ ในปี ค.ศ.1999 เช่นกัน แม้ว่า Paprika จะอิงเรื่องราวมาจากนิยายที่ตีพิมพ์ในช่วงปี ค.ศ.1993 ก็ตามที
ส่วนผลงานเรื่อง Yume Miru Kikai ที่เป็นงานสุดท้ายของ คอน ซาโตชิ เดิมทีแล้ว มารุยามะ มาซาโอะ หนึ่งในผู้ก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่น Madhouse และ MAPPA ที่เคยดูแลการสร้างอนิเมะของคอน ซาโตชิ เรื่องอื่น เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ตัวของเขาเคยพยายามหาทุนสร้าง กับหาผู้กำกับคนอื่นมารับช่วงในการสร้างภาพยนตร์อนิเมะต่อ เพราะ คอน ซาโตชิ ได้เขียนบท, สตอรี่บอร์ด, รวมถึงวาดคีย์เฟรมสำคัญ ไว้เสร็จสิ้นแล้ว แต่เมื่อลองพินิจต่อไป ผู้ก่อตั้งสตูดิโออนิเมชั่น MAPPA ก็คิดได้ว่า ถ้าให้ผู้กำกับคนอื่นรับงานต่อ ตัวงานก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะแนวทางของ ‘คอน ซาโตชิ’ ไม่สามารถมีใครลอกเลียนแบบได้โดยง่าย
แต่มารุยามะยังกล่าวไว้ว่า เขายังอยากพัฒนาภาพยนตร์เรื่อง Yume Miru Kikai ต่อ เพียงแค่เก็บเอา ‘แนวคิดของคอน ซาโตชิ’ เอาไว้ แล้วให้คนทำงานต่อไปรับสิ่งเหล่านั้นไปสร้างเป็นผลงานของตัวเอง ซึ่งถ้าเป็นลักษณะนั้น ผลงานก็น่าจะออกมาเป็นสิ่งที่ดีต่อตัวเจ้าของงานดั้งเดิม และผู้ที่จะมารับช่วงต่อไป
ซึ่งเราเชื่อว่าในสักวันหนึ่ง จะมีผู้กำกับที่โดดเด่น และยินดีทีจะน้อมรับแนวคิดข้างต้น แล้วสร้างภาพยนตร์ที่มีสไตล์เฉพาะตัวแบบที่หาไม่ได้จากงานคนอื่น เหมือนกับที่ คอน ซาโตชิ เคยทำให้โลกเห็นมาก่อน และนั่นคงเป็นเรื่องที่น่ายินดี ไม่ว่าจะสำหรับฝั่งผู้ชม, ฝั่งคนทำงาน, และสำหรับผู้กำกับที่จากไปก่อนเวลาอันควร
อ้างอิงข้อมูลจาก
YouTube แชนแนล Every Frame a Painting
YouTube แชนแนล Accented Cinema