โรคระบาดมา วงการฟู้ดเดลิเวอรีโตไม่หยุดฉุดไม่อยู่ ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่แฮปปี้ เพราะว่าหลายร้านอาหารออกมาโอดว่าสู้ค่า GP ไม่ไหว ขายดีแค่ไหนกำไรก็ไม่คุ้ม
ในการ (เกือบจะ) ล็อกดาวน์ครั้งที่สามที่ห้ามนั่งทานในร้าน หนักหนาสุดคงจะเป็นบรรดาร้านอาหารเล็กๆ เพราะอ่วมจากยอดขายตลอดปีแห่งการระบาดอันยาวนาน แม้พยายามปรับตัวเข้าสู่สมรภูมิเดลิเวอรี แต่ก็ยังเจอกำแพง GP หนาหนัก
ค่า GP (Gross Profit) คือค่าดำเนินการของแอพลิเคชั่นฟู้ดเดลิเวอรี เป็นค่าคอมมิชชั่นที่ร้านอาหารจะต้องจ่ายให้กับผู้ให้บริการโดยหักจากราคาอาหารที่ขายได้
ซึ่งพอไม่ให้นั่งหน้าร้าน หลายร้านอาหารต้องผันตัวมาส่งเดลิเวอรีผ่านแอพฯ แทน ซึ่งค่า GP เฉลี่ยอยู่ที่ 30-35% ของราคาอาหารที่ขายได้ และยังมีต้นทุนอื่นที่ร้านต้องแบกอีกคือ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าที่ ค่าวัตถุดิบ ฯลฯ หลายร้านจึงบ่นว่าไม่ไหวกันเป็นแถว
ลองมาส่องกันดูว่า ค่า GP ของแต่ละแอพฯ เป็นอย่างไรบ้าง (ตัวเลข GP เป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ยังไม่รวม VAT)
Grab
จุดเด่น: ยืนหนึ่งในเมืองหลวง เข้าตลาดไทยมาเป็นเดลิเวอรีเจ้าแรก มีผู้ใช้งานมากที่สุด
ค่า GP: หัก GP 30%
การจ่ายเงินให้ร้านอาหาร: โอนเงินให้ร้านอาหารวันถัดไป
จำนวนร้านอาหาร: 80,000 ร้าน
LINE MAN Wongnai
จุดเด่น: ด้วยความที่ไลน์แมนจับมือกับเว็บไซต์วงใน (Wongnai)—เว็บรีวิวอาหารอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่มีข้อมูลร้านอาหารในกว่า 4 แสนร้าน ทำให้ LINE MAN Wongnai มีจำนวนร้านอาหารให้ลูกค้าได้เลือกเยอะ
ค่า GP: หัก GP 30% (รวม VAT เป็น 32.1%) แต่ร้านอาหารเลือกไม่ให้แอพฯ หัก GP ได้ หากคิดค่าส่งตามระยะทาง
การจ่ายเงินให้ร้านอาหาร: โอนเงินให้ร้านอาหารวันถัดไป (ถ้ามูลค่าเกิน 500 บาท)
จำนวนร้านอาหาร: 200,000 ร้าน
foodpanda
จุดเด่น: แบรนด์แพนด้าเน้นตลาดต่างจังหวัด ด้วยการรุกเข้าไปในกว่า 77 จังหวัด
ค่า GP: หัก GP 32%
การจ่ายเงินให้ร้านอาหาร: โอนเงินให้ร้านอาหารได้ตั้งแต่ 1, 7, 15 หรือ 30 วัน ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข
จำนวนร้านอาหาร: 120,000 ร้าน
Gojek
จุดเด่น: รีแบรนด์มาจาก GET เนื่องจากเป็นน้องใหม่จึงยังมีโปรโมชั่นมาก และพัฒนาแอปฯ ด้วยไอเดียการเป็น super app ที่ทำได้มากกว่าส่งอาหาร เช่น การแชต และอาจจะสามารถเรียกบริการทำผม ไปจนทำเล็บมาถึงบ้านได้ในอนาคต
ค่า GP: หัก GP 30%
การจ่ายเงินให้ร้านอาหาร: โอนเงินให้ร้านอาหารวันถัดไป (ถ้ามูลค่าเกิน 100 บาท)
จำนวนร้านอาหาร: 40,000 ร้าน
Robinhood
จุดเด่น: เป็นแบรนด์ที่พัฒนาโดยธนาคารไทยพาณิชย์ คอนเซปต์คือต้องการคืนกำไรให้สังคมผ่านเทคโนโลยี Robinhood จึงเก็บค่า GP ร้านอาหาร และจ่ายให้ร้านอาหารอย่างรวดเร็ว
ค่า GP: ไม่คิดค่า GP
การจ่ายเงินให้ร้านอาหาร: โอนเงินให้ร้านอาหารภายในหนึ่งชั่วโมง
จำนวนร้านอาหาร: 80,000 ร้าน
แพลตฟอร์มส่วนใหญ่เรียกเก็บค่า GP ในระดับ 30% โดยการแบ่งสัดส่วนรายได้จากการขายอาหารคร่าวๆ (อ้างอิงข้อมูลจาก Grab) ร้านอาหารจะได้รับทั้งหมด 70% และใน 30% ที่เหลือทางแพลตฟอร์มจะหักไป 5% เหลือเป็นของพาร์ทเนอร์คนขับได้ 25% ส่วนเจ้าอื่นอาจจะแตกต่างเล็กน้อยกันไปตามแต่ละแพลตฟอร์ม
จับตาคลายล็อกให้ทานในร้านอาหาร และเมื่อรัฐขอให้แพลตฟอร์มลดค่า GP
ความเคลื่อนไหวในวันนี้จากศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบค. ระบุว่า เห็นชอบให้มีการผ่อนคลายมาตรการนั่งทานข้าวในร้านอาหารทั่วประเทศ โดยพื้นที่สีแดงเข้มให้นั่งได้ถึง 21.00 น., สีแดง นั่งได้ถึง 23.00 น. และสีส้มสามารถนั่งทานได้ปกติ แต่ยังไม่ให้ขายแอลกอฮอล์
ในพื้นที่สีแดงจำกัดไม่ให้เกิน 25% ของความสามารถในการรองรับ และไม่เกินโต๊ะละสี่คน The MATTER ได้ลองฟังเสียงจากแหล่งข่าวร้านอาหารในพื้นที่สีแดงบอกว่า การเปิดให้นั่งทานในร้านน่าจะทำให้ยอดขายดีขึ้น แต่ยังตั้งคำถามกับการจำกัดให้นั่งแค่สี่คน เพราะสุดท้ายแล้วถ้ามาเป็นครอบครัวเกินห้าคน คนกลุ่มนั้นก็ยังเดินทางมาด้วยรถยนต์คันเดียวกันอยู่ดี นอกจากนี้ยังบอกว่า สิ่งที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหารจริงๆ คือเงินเยียวยา การควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ลดลง และการเร่งฉีดวัคซีน
ส่วนเดลิเวอรีก็ยังเป็นทางเลือกของร้านอาหารอยู่ดี เพราะเชื่อว่ายังมีหลายคนที่ไม่กล้าออกมาทานข้าวนอกบ้าน
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา กรมการค้าภายในเปิดเผยกับหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ว่า ทางกรมการค้าภายในได้หารือร่วมกับผู้ให้บริการส่งอาหารและขายสินค้าออนไลน์ 11 เจ้า คือ LINE MAN Wongnai, Grab, foodpanda, Robinhood, Gojek, Lazada, Shopee, JJMall, ไปรษณีย์ไทย, Ohlala Shopping และ Lalamove เรื่องของค่าบริการ ซึ่งทั้ง 11 เจ้ายืนยันว่าไม่มีการขึ้นราคาในช่วงการระบาด
โดยอธิบดีกรมการค้าภายในได้ระบุว่า ได้มีการขอให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มปรับลดค่า GP ช่วยเหลือร้านผู้ประกอบการร้านอาหารในช่วงเวลานี้ด้วย
ถือว่าเป็นสองความเคลื่อนไหวสำคัญที่เกิดขึ้นระหว่างการระบาดรอบใหม่ และการกึ่งล็อกดาวน์ครั้งที่ 3 ในจังหวะที่ร้านอาหาร—โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดเล็ก—กำลังหมดแรงหลังจากประคองร้านให้รอดมากว่าหนึ่งปี
อ้างอิงข้อมูลจาก