ถ้าสังเกตในฝั่งรายการทีวีในช่วงหลายๆ ปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งไทยหรือฝั่งเทศเองก็ตาม เราจะได้เห็นว่ามีรายการจำนวนมากที่ถูกรีเมก (remake) หรือรีบูต (reboot) โดยใช้โครงเรื่องหรือตัวละครเดิมแล้วเดินเรื่องใหม่เป็นภาคต่อบ้าง เป็นภาคที่ตีความใหม่เล็กน้อยบ้าง เพื่อให้เรื่องดำเนินเดินไปในเส้นทางที่ต่างจากรายการฉบับเดิม
ส่วนหนึ่งที่การรีเมกกับรีบูตเกิดขึ้นเยอะนั้น เหตุผลหลักก็เพราะกลุ่มผู้ชมที่มีกำลังซื้อ (กำลังเปย์) มากในยุคนี้คือกลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเด็ก 90s นั่นเอง ซึ่งหลายรายการถ้าเอากลับมาฉายทันทีทันควันเลยก็อาจจะไม่เวิร์กนัก ด้วยประเด็นทางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งทำให้เนื้อหาบางอย่างอาจจะไม่คลิกกับคนดูเท่าเดิมแล้ว
การผลิตรายการใหม่ในโครงสร้างเดิมเพื่อตอบสนองคนยุค 90s จึงเป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยม หรือในอีกทางก็คือกลุ่มเด็ก 90s ในวันนั้น ได้กลายเป็นนักลงทุนหรือคนทำงานสื่อในยุคนี้ และพวกเขาอยากจะสร้างงานที่พวกเขาคุ้นเคยในอดีตให้กลับมาโลดแล่นอีกครั้งหนึ่ง แล้วเรื่องนี้ก็เป็นผลดีสำหรับคนสร้างรายการด้วยเล็กน้อย เนื่องจากรายการกลุ่มรีเมกหรือรีบูตมีโครงเรื่องที่ชัดเจนโดยไม่ต้องแต่งใหม่ และในขณะเดียวกัน เรื่องโดยส่วนใหญ่ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับแฟนใหม่ที่จะทำความเข้าใจ
แต่ต่อให้แฟนใหม่ไม่เก็ท ก็ยังไม่ใช่ปัญหานัก เพราะบางซีรีส์ต้องการให้เกิดความงงแบบนั้นเพื่อให้มีการขายของเก่า ไม่ว่าจะเป็นขายแผ่นหรือขายแพ็คเกจสำหรับรับชมซีรีส์ดั้งเดิมผ่านทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ เกิดเป็นรายได้อีกทางให้กับตัวธุรกิจ อีกหนึ่งเหตุผลทางธุรกิจที่ทำให้มีการรีเมกหรือรีบูตเกิดขึ้นคือ งานบางเรื่องนั้น เจ้าของลิขสิทธิ์ในตัวผลงานอาจจะไม่ได้ทำภาคต่อด้วยตัวเองแต่ขายสิทธิ์ให้กับผู้ที่สนใจ จึงทำให้บางรายการต้องรีบเข็นออกมาด้วยเหตุผลว่า ถ้าไม่รีบสร้างงานมาขายสิทธิ์ในการสร้างที่ได้มามันจะบูดคามือไปเสียก่อน ซึ่งโดยส่วนใหญ่งานรีบเข็นรีบขายมักจะจบไม่สวยนักด้วยความล่กนั่นล่ะ
รายการประเภทหนึ่งที่ถูกรีเมกและรีบูตบ่อยๆ ก็คือการ์ตูนอนิเมชั่นนั่นเอง แม้ว่าจำนวนผลงานที่ออกมาต่อปีอาจไม่ได้มีเยอะมากนัก แต่ทุกครั้งที่มีการประกาศสร้างงานฉบับใหม่ เรื่องเหล่านี้ก็จะกลายเป็นกระแสข่าวโดยไม่ใช้พลังงานโฆษณามากนัก และที่หลายๆ เรื่องเอามาทำใหม่ เพราะตอนที่สร้างขึ้นครั้งแรกอาจเป็นการสร้างที่ยังไม่สามารถทำได้ตามวิสัยทัศน์ของเจ้าของผลงานดั้งเดิม
และนี่คือผลงานอนิเมชั่นฉบับรีเมกหรือรีบูตที่กลับมาฉายในช่วงเวลาไม่นานนัก และหลายท่านน่าจะหาโอกาสไปดูกันอีกครั้งว่ามีความเปลี่ยนแปลงอะไรจากฉบับเดิมบ้าง
Captain Tsubasa
กัปตันสึบาสะเป็นการ์ตูนฟุตบอลที่น่าจะมีชื่อเสียงที่สุดในโลกแล้ว ด้วยความเป็น ‘โชเน็น’ ที่ทำให้คนดูได้รับแรงบันดาลใจแล้วอยากจะลองไปเล่นบอลสักครั้ง—แบบเดียวกับที่ตัวละครหลายตัวในเรื่องทำตาม—ซึ่งก็มีนักฟุตบอลมืออาชีพหลายๆ คนที่อินกับการ์ตูนเรื่องนี้ตอนเด็กจนเล่นบอลจริงจังเป็นอาชีพด้วยซ้ำ แต่ในการสร้างอนิเมชั่นกัปตันสึบาสะเป็นฉบับแรกในช่วงปี 1983-1986 นั้น จะเป็นการสร้างที่ถูกยืดเนื้อเรื่องไปเล็กน้อย เพราะอนิเมชั่นตัวดังกล่างถูกสร้างขึ้นในช่วงที่ตัวมังงะต้นฉบับยังเขียนไม่จบ
ซึ่งในปี 2018 ก็มีการรีเมกอนิเมชั่นกัปตันสึบาสะ กล่าวกันว่าเหตุผลในการสร้างนั้นเป็นการสร้างงานต้อนรับการแข่งขันฟุตบอลโลกประจำปี 2018 แต่อีกเหตุผลที่น่าจะเป็นไปได้ก็คือ ทีมงาน David Production ได้แสดงผลงานว่าพวกเขาสามารถสร้างผลงานได้ใกล้เคียงกับต้นฉบับมากๆ อย่างที่พวกเขาเคยทำมาแล้วกับ โจโจ้ ล่าข้ามศตวรรษ จึงเป็นโอกาสดีที่จะได้รีเมกกัปตันสึบาสะในเวลานี้
กัปตันสึบาสะฉบับรีเมกมีแผนการจัดทำไปจนจบภาคชิงแชมป์ชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และถ้าเรตติ้งเป็นไปได้ด้วยดี อาจจะมีการขยายไปทำภาคอื่นๆ ต่อในอนาคต และมีโอกาสไม่น้อยทีเดียวที่เราจะได้เห็นสิงห์นักเตะคนนี้ไปจนถึงช่วงเวลาจัดงานโอลิมปิกฤดูร้อนปี 2020
Megalo Box
ด้วยชื่อเรื่องอาจจะงงนิดหน่อยว่ากำลังพูดถึงเรื่องอะไร แต่อนิเมชั่นเรื่องนี้คือการนำเอา โจ สิงห์สังเวียน หรือ Ashita No Joe กลับมาอีกครั้งในโอกาสที่ตัวมังงะต้นฉบับนั้นมีอายุครบรอบ 50 ปี ทั้งนี้ถ้าบอกว่า Megalo Box นั้นก็อาจจะไม่ใช่การรีเมกโดยตรงเท่าไหร่นัก แต่ถ้าระบุให้ถูกน่าจะเป็นคำว่า re-imagine หรือตีความใหม่โดยใช้ โจ สิงห์สังเวียน เป็นพื้นเพมากกว่า การปรับเปลี่ยนนั้นมีหลายอย่าง นับตั้งแต่การปรับเปลี่ยนฉากหลังของเรื่องจากยุค 1950-1960 กลายเป็นโลกแนวดิสโทเปีย และการต่อยมวยที่นิยมในโลกดังกล่าวกลายเป็นการต่อยมวยแบบติดแขนกล (Megalo boxing)
เนื้อเรื่องเริ่มที่ตัวเอกของเรื่องอย่าง จังก์ด็อก (Junk Dog) นั้น ต้องการจะแสดงทักษะและฝีมือของตัวเอง โดยเฉพาะหลังจากที่เขาได้พ่ายแพ้ในการต่อยมวยกับแชมป์ของการแข่งมวยดังกล่าวอย่าง ยูริ แต่ในการที่เขาจะกลับมาดวลกับแชมป์ได้นั้น จังก์ด็อกจะต้องเข้าแข่งขัน Megalonia อย่างเป็นทางการ แล้วเขาก็เดินเข้าสู่เส้นทางนั้นด้วยการลงทะเบียนในฐานะนักมวยชื่อ โจ ที่พร้อมจะไต่เต้าในสังเวียนแขนกลด้วยฝีมือมวยที่หลายคนหลงลืม
Megalo Box อาจจะไม่ใช่อนิเมชั่นที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มคนกระแสหลักมากนัก แต่งานที่ตั้งใจตามรอย โจ สิงห์สังเวียน เรื่องนี้ส่งข้อความบอกกับเราว่า การรีเมกงานใหม่นั้นอาจจะไม่ต้องทำให้มันตรงเป๊ะกับฉบับดั้งเดิม และในขณะเดียวกันก็ยังมีรายละเอียดงานบางอย่างที่ยังใช้สไตล์คลาสสิกร่วมเพื่อให้อารมณ์กับคนดูอยู่ในยุคปัจจุบันนี้
Devilman Crybaby
อาจารย์นากาอิ โก เป็นนักเขียนมังงะที่เขียนงานหลากหลาย ตั้งแต่การ์ตูนหุ่นแบบ Mazinger Z หรือ การ์ตูนเซ็กซี่นิดๆ อย่าง Cutie Honey และผลงานที่ทำให้หลายคนจดจำอาจารย์ในฐานะนักเขียนที่สร้างงานที่สามารถเรื่องราวที่โหดร้ายแต่น่าจดจำก็คือ เดวิลแมน ผลงานมังงะที่เล่าเรื่องของ ฟุโด อากิระ กับ อาสึกะ เรียว ที่เกี่ยวข้องกับการคืนชีพของปิศาจจนอากิระได้กลายเป็นเดวิลแมนที่เข้าต่อสู้กับปิศาจตนอื่นๆ จนกระทั่งเรื่องราวเปิดเผยว่าเรียวนั้นเป็นซาตานกลับชาติมาเกิดและดำเนินแผนการล้างโลกมาตั้งแต่จำความไม่ได้ แถมตัวเรื่องยังตั้งคำถามชวนคิดว่า สิ่งใดกันแน่ที่เป็นปิศาจที่แท้จริง
ความจริงแล้วเดวิลแมนเคยถูกสร้างเป็นอนิเมชั่นมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 1972-1973 แต่เป็นการดัดแปลงเรื่องราวจากฉบับมังงะที่ความรุนแรงทั้งด้านภาพและเรื่องราวอยู่ในระดับเรต R ให้กลายเป็นอนิเมชั่นปราบปิศาจอย่างปกติไปแทน จนกระทั่งมังงะเรื่องนี้ได้ถูกประกาศสร้างอีกครั้งในช่วงต้นปี 2017 ก่อนที่จะมีการประกาศว่า อนิเมชั่นภาครีเมกใช้ชื่อภาคว่า Devilman Crybaby และออกฉายในปี 2018 ผ่านทาง Netflix ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการฉลองการทำงานครบรอบ 50 ปี ของตัวอาจารย์นากาอิ โก
Devilman Crybaby ดำเนินเรื่องหลักตามมังงะต้นฉบับดั้งเดิมเกือบจะทุกประการ ที่มีปรับเปลี่ยนไปบ้างเล็กน้อยคือฉากหลังบางอย่างที่ถูกปรับให้สอดคล้องกับยุค 2010s มากขึ้น และสไตล์ภาพที่มีความหวือหวาทางศิลป์สูง อันเป็นเอกลักษณ์ที่ทำให้ตัวผลงานมีความโดดเด่นของผู้กำกับ ยูอาสะ มาซาอิกิ และในขณะเดียวกันก็ทำให้ฉากโหดร้ายที่เราจะได้เห็นอวัยวะหลุดแยกเป็นชิ้นๆ นั้น ยังโหดร้ายแต่สามารถรับชมได้อย่างไม่ขยะแขยงใจเท่าใดนัก กอปรกับการเดินเรื่องสลับกันระหว่างฉากที่สดใสกับมืดมนนั้นชัดเจนมากขึ้น งานชิ้นนี้จึงเป็นงานที่คนชอบอนิเมชั่นควรจะนั่งดูสักครั้ง
SSSS.Gridman
การสร้างงานใหม่อีกครั้ง บางทีก็ไม่จำเป็นต้องเป็นการสร้างในแบบเดิมกับที่ต้นฉบับเคยทำเอาไว้ อย่างเช่นผลงานที่เคยเป็นหนังคนแสดงมาก่อนก็อาจจะถูกสร้างเป็นงานแนวอื่นได้
เช่นเดียวกับ กริดแมน หรือที่ถูกเรียกในฉบับอเมริกาว่า Superhuman Samurai Syber-Squad ก็เป็นซีรีส์คนแสดงจากทีมงาน Tsuburaya Productions ผู้สร้างอุลตร้าแมน ที่ตีความว่าโลกไซเบอร์ในยุคนั้นต้องมีผู้ปกป้อง และคนที่ปกป้องโลกใบนั้นคือยอดมนุษย์ที่เรียกว่า กริดแมน
แต่เมื่อเวลาผ่านราว 20 ปี หลายคนก็คาดว่าซีรีส์นี้น่าจะเงียบหายไปอย่างสมบูรณ์จนกระทั่งปี 2015 สตูดิโออนิเมชั่น Trigger ได้สร้างอนิเมชั่นอุทิศให้กับเรื่อง กริดแมน จนทำให้มีหลายคนในโลกอินเตอร์เน็ตที่ได้รับชมคุยกันเล่นๆ ว่า น่าจะมีการจับเอาซีรีส์กริดแมนฉบับดั้งเดิมมาทำใหม่เป็นแบบอนิเมชั่นไปเลย
ไม่แน่ใจนักว่าเสียงเรียกร้องในเน็ตนั้นผ่านเข้าถึงหูของทีมผู้สร้างอนิเมชั่นขนาดสั้นและเจ้าของผลงานกริดแมนหรือไม่ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปไม่นานนักก็มีการประกาศว่าจะมีการสร้างอนิเมชั่นในลักษณะ เป็นกึ่งภาคต่อกึ่งรีบูตที่จะใช้ชื่อว่า SSSS.Gridman (ซึ่งเป็นการเอาชื่อของฉบับของอเมริกากับญี่ปุ่นมาผสมกัน) อนิเมชั่นภาคใหม่นี้นอกจากตัวกริดแมนแล้ว ตัวละครอื่นๆ ล้วนเป็นตัวละครใหม่ และเรื่องราวจะกลับด้านไปเล็กน้อยเมื่อสัตว์ประหลาดมาปรากฏตัวในโลกจริง ทำให้กริดแมนต้องออกมาจากโลกไซเบอร์ด้วยการรวมร่างกับเด็กชายวัยรุ่นในโลกจริง พร้อมกับมีกลุ่มเพื่อนที่คอยสนับสนุนการทำงาน และกลุ่มคนลึกลับที่เหมือนจะรู้ที่มาที่ไปของภัยครั้งใหม่
นอกจากจะกลับมาด้วยฉากแอ็กชั่นตระการตาซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของทางทีม Trigger แล้ว ตัว SSSS.Gridman ยังมีมุกหลายอย่างที่เป็นการวิพากษ์หนังแปลงร่างเรื่องอื่นๆ ที่ในหลายครั้งก็จะเป็นการชื่นชม แต่บางครั้งก็จะเรื่องชวนขำ อย่างเช่นการที่ตัวละครในเรื่องรู้สึกตื่นตะลึงว่าทำไมการซ่อมอาคารในเรื่องถึงเสร็จเร็วนัก และ SSSS.Gridman ยังเปิดให้ชมในไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ฟรีๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น Flixer ด้วย แฟนๆ ของซีรีส์ฉบับเดิมควรรีบกลับไปนั่งดูจริงๆ นะ
She-Ra and the Princesses of Power
ย้อนไปไกลๆ ถึงปี 1983 ณ ตอนนั้น การ์ตูนอเมริกาเรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้แต่ระดับเมืองไทยเองก็ยังรู้จักกันดีคือ Masters of Universe …ยังไงนะ ชื่อเรื่องไม่คุ้นเลย อะ งั้นเอาใหม่ เรื่องดังกล่าวคือ ฮีแมน ชายหนุ่มตัวใหญ่กล้ามโตที่มาพร้อมกับดาบยักษ์ ถือแล้วต้องตะโกนว่า “ข้ามีพลัง” แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดไปนะ ฮีแมนยังไม่ถูกรีเมกอีกรอบเพราะฉบับล่าสุดที่ออกฉายในปี 2002-2004 คงยังไม่นานพอที่คนจะลืมได้
เหตุผลที่พูดถึงฮีแมนขึ้นมาเพราะเรื่องที่จะกล่าวถึงเป็นซีรีส์ข้างเคียงที่ตอนนั้นถูกสร้างมาเพื่อผู้ชมที่เป็นเด็กผู้หญิง ด้วยความที่เด็กผู้หญิงชอบฮีแมนแต่ก็อาจจะมีความแมนแรงไปสักนิด ‘ชีร่า’ จึงถือกำเนิดขึ้น ในตอนแรกนั้นเธอเป็นตัวละครรับเชิญให้กับหนังของฮีแมน ก่อนจะออกมามีซีรีส์แยกเดี่ยวๆ ในภายหลัง ซึ่งตัวการ์ตูนฉบับดั้งเดิมนั้น ชีร่าจะมีเพื่อนร่วมรบที่เป็นตัวละครหญิงหลายคนพร้อมกับความสามารถหลากหลายที่ทำการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยดวงดาวเอเธเรีย (Etheria) ให้เป็นอิสระจากปิศาจร้าย
กระแสการการการ์ตูนยุค 80s นั้นมีมาแล้วระยะหนึ่ง และบางเรื่องก็ถูกสร้างไปแล้วด้วย กระนั้นเหตุผลที่ ชีร่าถูกรีเมกในครั้งนี้อาจจะมีผลมาทั้งจากกระแสสังคมที่เราได้เห็นผู้หญิงมีบทบาทมากขึ้น รวมถึงว่าอาจจะเป็นการปูทางให้กับฮีแมนภาคใหม่ในอนาคตก็เป็นได้
ตัวเนื้อเรื่องของ She-Ra and the Princesses of Power ยังยึดโครงหลักใกล้เคียงกับของเดิมที่ อโดร่า ทหารของฮอร์ดาคได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าหน่วยกวาดล้างกลุ่มต่อต้าน จนกระทั่งวันหนึ่ง อโดร่าได้รับดาบวิเศษซึ่งทำให้เธอกลายเป็น She-Ra Princess of Power ซึ่งเชื่อว่าเป็นนักสู้ในตำนาน ด้วยสถานะใหม่ของเธอ ชีร่าต้องรวมพลังกับเจ้าหญิงคนอื่นๆ และต้องต่อสู้กับอดีตเพื่อนของเธอด้วย
อนิเมชั่นตัวใหม่มีการปรับลายเส้นไปจากเดิมมาเป็นแนวที่ได้รับความนิยมตามยุคสมัยมากขึ้นจนเกิดดราม่าในช่วงแรกๆ ที่เปิดตัว แต่เมื่อตัวอย่างแสดงให้เห็นว่ายังมีเรื่องส่วนหนึ่งที่สอดคล้องกับต้นฉบับดั้งเดิม แฟนคลับยุคเก่าก็รับได้มากขึ้น และแฟนยุคใหม่ก็น่าจะชื่นชอบอนิมชั่นตัวนี้ที่มีกำหนดฉายในช่วงเดือนพฤศจิกายนปี 2018
Mega Man: Fully Charged
ร็อคแมนเป็นเกมที่ดังมากพอจนคนสนใจไปสร้างเป็นอนิเมชั่น แต่อนิเมชั่นของร็อคแมนนั้นออกจะมีวิบากกรรมอยู่เบาๆ เพราะตัวฉบับที่ฉายในญี่ปุ่นก็เป็นแบบ Original Video Animation หรือ OVA ที่ออกมาบอกเล่าเกี่ยวกับวัฒนธรรมญี่ปุ่น ไม่ได้เป็นการเล่าเรื่องตามเนื้อหาของเกมเท่าใดนัก ส่วนฉบับอเมริกาที่มีโครงเรื่องสอดคล้องกับฉบับเกมก็ถูกปรับดีไซน์จนมีคนเรียกชื่อเล่นว่า ‘มีกล้ามแมน’ ล้อเลียนชื่อของ Mega Man และถูกตัดจบไปอีก
หลังจากนั้นอนิเมชั่นของร็อคแมนออกจะรุ่งเรืองกับภาคแยกเสียมากกว่า เช่นเดียวกับตัวอนิเมชั่นที่ออกฉายในปี 2018 ที่ออกจะเป็นการรีบูตเพื่อสร้างอนิเมชั่นซีรีส์ใหม่ไม่เกี่ยวข้องกับตัวเกมเสียทีเดียว อนิเมชั่นภาคนี้ใช้ชื่อภาคว่า Mega Man: Fully Charged โดยเนื้อเรื่องเปลี่ยนแปลงจากฉบับเกมเป็นเรื่องของหุ่นยนต์เด็กชาย Aki Light ที่สามารถแปลงร่างเป็น Mega Man และสามารถใช้อาวุธหลากแบบเข้าต่อสู้กับหุ่นยนต์ตัวร้ายเพื่อรักษาความสงบสุขของมนุษย์กับหุ่นยนต์ที่ตอนนี้อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกัน
ด้วยลายเส้นและพล็อตเรื่องก็ทำให้แฟนเก่าไม่แฮปปี้กันพอตัว แต่การที่อนิเมชั่นเรื่องนี้ที่ยกเอาทีมสร้าง Ben 10 มาช่วยดูแลการผลิตนั้นคือการขายให้ผู้ชมวัยเด็กเสียมากกว่า เพราะงั้นถึงมันอาจจะไม่ถูกใจคนรุ่นเก่าที่อินกับเกม แต่คนรุ่นใหม่เขาอาจจะนั่งดูเรื่องนี้แล้วติดงอมแแงมนะ
Castlevania
เกมดังตั้งแต่สมัย 1990s ก่อนที่จะเงียบหายไปในช่วงปี 2010 เมื่อผู้พัฒนาเกมไม่ปล่อยเกมภาคใหม่ออกมาเสียที ตัวเกมเคยมีข่าวว่าจะถูกดัดแปลงเป็นสื่ออื่นอยู่หลายครั้ง แต่สิทธิ์การพัฒนาก็สลับมือไปมาหลายครั้งด้วยเหตุผลต่างๆ นานา (โดยหลักคือขาดเงินทุนนั่นเอง) จนกระทั่ง Powerhouse Animation Studios ได้เจรจากับทาง Netflix ในการออกฉาย และมีการนำเอาบทของ Warren Ellis ที่ถูกเขียนไว้ตั้งแต่ปี 2007 มาพัฒนาเป็นอนิเมชั่นเต็มรูปแบบ จนในที่สุดอนิเมชั่นของ Castlevania ก็ได้ออกฉายในปี 2017 เป็นครั้งแรก
อนิเมชั่น Castlevania เป็นการหยิบยกเอาเรื่องราวของเกม Castlevania III: Dracula’s Curse ที่ได้รับความนิยมจากแฟนเกมมารีเมก โดยปรับแก้พล็อตเล็กน้อยเพื่อให้เรื่องราวกระชับเข้าที่ขึ้น ซีรีส์เล่าเรื่องราวของตัวแดรคคูลาที่ได้พบรักกับมนุษย์ ก่อนจะเกิดเหตุต่างๆ ที่ทำให้เขาตัดสินใจล่าล้างมนุษยชาติไปแทน และตกเป็นหน้าที่ของเทรเวอร์ เบลมอนต์, อัลคาร์ด และไซฟา เบลนันเดส ที่จะปราบแดรคคูลาผู้แค้นเคืองโลกใบนี้ให้วางมือจากแผนการร้ายที่เขาวางไว้ในใจ
เมื่องานออกฉายจริงในปี 2017 เราก็ได้เห็นอนิเมชั่นที่มีความตั้งใจทำงาน เก็บรายละเอียดหลายอย่างที่มาจากเกมเอาไว้ พร้อมด้วยความโหดแบบพอประมาณ แต่น่าเสียดายในซีซั่นแรกเรื่องราวไม่ค่อยเดินหน้าไปเท่าไหร่นัก เหมือนกับเป็นแค่ช่วงรวมทีมของตัวละครมากกว่า ก่อนที่จะมีการประกาศว่าในปี 2018 จะมีการฉายอนิเมชั่นเรื่องนี้เพิ่มอีก 8 ตอน และน่าจะจบเรื่องราวของภาคได้พอดิบพอดี
ThunderCats Roar
ThunderCats เป็นอนิเมชั่นเกี่ยวข้องกับมนุษย์ต่างดาวร่างกายเหมือนกับแมวที่ต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดรูปร่างคล้ายมัมมี่ จริงๆ แล้วอนิเมชั่นเรื่องนี้เคยถูกรีเมกไปแล้วครั้งหนึ่งในปี 2011 ที่กลับมาในแบบจริงจังซีเรียสแต่เหมือนกระแสตอบรับจะไม่ดีเท่าไหร่นัก พอมากลางปี 2018 นี้ก็มีข่าวจากทาง Warner Brothers Animation ว่าพวกเขากำลังชุบชีวิตให้กับอนิเมชั่น ThunderCats อีกครั้ง ด้วยการรีเมกใหม่ที่ใช้ชื่อภาคว่า ThunderCats Roar แต่คราวนี้ตัวอนิเมชั่นถูกปรับทิศทางไปในเชิงติดตลกมากขึ้น แต่ก็ยังอุดมด้วยฉากแอ็กชั่นเหมือนเดิม
ตัวอนิเมชั่นได้รับกระแสตอบรับที่ปนเปกัน เพราะส่วนหนึ่งรู้สึกแปลกใจที่สไตล์ภาพกระโดดออกจากของเดิมไปมาก แต่ทางทีมสร้างอนิเมชั่นก็ยืนยันว่าบรรยากาศการต่อสู้ระหว่างพวก ThunderCats กับ Mumm-ra ยังอยู่เช่นเดิม และตัวอย่างที่ปล่อยมาก็ทำให้เห็นว่าอนิเมชั่นภาคใหม่จะมีแอ็กชั่นหวือหวาขึ้น แต่เราต้องรอดูในปี 2019 ว่าอนิเมชั่นภาคนี้จะทำให้แฟนเก่าโอเคอยู่หรือไม่
Animaniacs
ถ้ายังจำได้ ในช่วงปี 1993-1998 เคยมีการ์ตูนชุดหนึ่งที่ปั่นป่วนวงการเพราะมีชื่อของสตีเวน สปีลเบิร์ก ผู้กำกับที่ถูกเรียกว่าพ่อมดของภาพยนตร์มาร่วมวงด้วย และงานที่ออกมานั้นคือ Animaniacs การ์ตูนแนวตลกที่มีพี่น้องตระกูลวอร์เนอร์ (Warner) คือ แยคโก้ (Yakko), แวคโก้ (Wakko) กับ ดอท (Dot) ผู้คอยมาเดินเรื่องให้กับการ์ตูนมุกตลกที่แซววัฒนธรรมป๊อปทั้งอดีตและปัจจุบัน รวมไปถึงว่ายังมีการ์ตูนสั้นเรื่องอื่นๆ ซึ่งก็เป็นการแซวหนัง ซีรีส์ และการ์ตูนในยุคนั้นอีกที
พี่น้องทั้งสามคน (หรือตัว ?) กำลังจะกลับมาอีกครั้ง หลังจากมีลือกันมาระยะหนึ่งแล้วว่าจะมีรีบูตอนิเมชั่นเรื่องนี้แล้วหลายครั้ง ในตอนนี้ยังไม่มีรายละเอียดอะไรออกมามากนักนอกจากกำหนดการฉายที่ระบุว่าจะลงเฉพาะทางแอพพลิเคชั่นออนไลน์ Hulu และตัวสปีลเบิร์กที่จะมานั่งเก้าอี้อำนวยการสร้างเหมือนกับฉบับดั้งเดิมอีกครั้ง แต่ต้องรอกันอีกนานเพราะประกาศโดยคร่าวของอนิเมชั่นรีเมกนี้คือปี 2020 โน่นเลยล่ะ
อ้างอิงข้อมูลจาก