การ์ตูนอนิเมชั่นไม่จำเป็นจะต้องสดใส และทำได้แค่แตะอารมณ์คนดูเพียงผิวเผิน ความจริงแล้วอนิเมชั่นเองก็เป็นสื่อบันเทิงแบบหนึ่งที่สามารถนำเสนอได้ทั้งเรื่องราว อารมณ์ และความรู้สึก จึงไม่แปลกเลยที่เราจะเห็นคนเสียน้ำตาให้กับอนิเมชั่น
และในคราวนี้ The MATTER ถือโอกาสหยิบยกเอาภาพยนตร์อนิเมชั่นหลายเรื่อง พร้อมกับเหตุผลว่า ทำไมน้ำตาของเราถึงไหลหลั่งให้กับอนิเมชั่นเหล่านี้
น้ำตาไหลและภาวนาไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้นอีก – Grave of the Fireflies
เราขอยกพื้นที่อนิเมชั่นเรื่องแรกให้กับภาพยนตร์อนิเมชั่นของญี่ปุ่น และแม้จะอยู่หลายเรื่องให้เลือก เช่นในช่วงหลังเรามีผลงานภาพยนตร์ของโฮโซดะ มาโมรุ อย่าง Summer Wars กับ Wolf Children มาทำแต้ม หรืองานชินไค มาโคโตะ อย่าง 5 Centimeters Per Second, The Garden of Words หรือแม้แต่ Your Name ก็เป็นตัวอย่างที่ดี
แต่เราก็คิดว่าอนิเมะหลายๆ เรื่อง อาจจะต้องใช้เวลาหรือเกี่ยวโยงกับความสัมพันธ์ส่วนตัวของคนดูสักหน่อย อย่างงานของโฮโซดะ มาโมรุ อาจจะต้องอินความเป็นครอบครัวใหญ่ หรืองานของชินไค มาโคโตะ มักจะซึมอยู่กับความเหงา ความอึน ที่ซึมลึกภายในใจมากกว่าชวนให้คนร้องไห้
ภาพยนตร์อนิเมชั่นของ Studio Ghibli จึงเป็นชื่อต่อมาที่นึกถึงทันที และถึงจะมีภาพยนตร์หลายเรื่องให้เลือกพูดถึง แต่งานที่แทบทุกคนที่ได้ดูจะต้องน้ำตาตก คือ ผลงานการกำกับของทาคาฮาตะ อิซาโอะ ผู้ล่วงลับ ซึ่งดัดแปลงเอานิยายกึ่งอัตชีวประวัติของอากิยูกิ โนซากะ มาทำเป็นอนิเมชั่นที่เล่าเรื่องของพี่น้องที่ต้องผ่านชีวิตอันยากลำบากในช่วงเวลาหลังสงคราม
เหตุการณ์ในภาพยนตร์เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่ 21 กันยายน ปี 1945 เมื่อภารโรงของสถานีรถไฟพบกับซากศพเด็กชายวัยรุ่นคนหนึ่งที่ในมือยังจับกล่องลูกอมเอาไว้ ภารโรงโยนกล่องลูกอมนั้นลงไปในทุ่งหญ้าข้างทาง ก่อนที่หิ่งห้อยจะโบยบินตอบรับ และนำคนดูย้อนไปสู่เรื่องราวที่จะได้เห็นเด็กชายที่ชื่อ เซตะ ที่มีน้องสาวที่ชื่อว่า เซ็ตสึโกะ ทั้งสองคนใช้ชีวิตอยู่กับแม่จนกระทั่งแม่เสียชีวิตด้วยแผลไฟคลอกที่เกิดจากการทิ้งระเบิด เซตะกับเซ็ตสึโกะต้องย้ายไปอยู่กับป้าที่เป็นญาติห่างๆ แล้วก็ด้วยภาวะฝืดเคืองจากสงครามทำให้ชีวิตของสองพี่น้องไม่เหมือนเดิม ป้าของเซตะออกปากให้เด็กทั้งสองไปอาศัยอยู่ในถ้ำ ซึ่งเซตะก็ตัดสินใจทำตามคำพูดของญาติ แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องเศร้าที่เซตะจะต้องเสียน้องสาวไปจากภาวะขาดอาหาร ก่อนเรื่องจนจะวนเวียนกลับมาให้เราเห็นว่าพี่ชายกับน้องสาวได้มาพบกันอีกครั้งในสภาพของวิญญาณ
ถึงแม้คนดูจะรู้ว่าปลายทางชีวิตของเด็กหนุ่มเป็นเช่นไร แต่พอได้เห็นรายละเอียดที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์แล้วก็อดสลดใจไม่ได้ ไม่ใช่เพียงเพราะนี่เป็นเรื่องของเด็กสองคนเท่านั้น แต่เป็นเพราะถึงเวลาจะผ่านมานานขนาดไหน เราก็อดคิดไม่ได้ว่า ยังมีพี่น้องอีกกี่คู่ที่จะต้องประสบพบเจอกับเรื่องราวที่ละม้ายคล้ายกับภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้ว่าตัวผู้กำกับทาคาฮาตะ อิซาโอะ จะเคยยืนยันว่าตัวของเขาไม่ได้ตั้งใจสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อใช้ต่อต้านสงคราม แต่เราเชื่อว่าหลายคนที่รับชมภาพยนตร์นี้จนจบแล้วอยากจะให้สงครามทั้งหลายหยุดลง เพื่อที่ว่าใครอีกหลายคนที่ไม่ได้รู้เรื่องเกมแห่งอำนาจจะไม่ต้องมารับผลกระทบจากเหตุการณ์เหล่านั้น
น้ำตาไหลให้กับบาดแผลในวันวาน – Anohana: The Flower We Saw That Day
งานอนิเมชั่นจากญี่ปุ่นมีหลายต่อหลายเรื่องที่ฉายในแบบซีรีส์ทางโทรทัศน์ แล้วก็มีหลายต่อหลายเรื่องที่เรียกน้ำตาคนดูได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น Air, Clannad แต่ขอหยิบจับอนิเมะที่มีชื่อเรื่องยาวเหยียดอย่าง Ano Hi Mita Hana no Namae o Bokutachi wa Mada Shiranai หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Anohana
Anohana เล่าเรื่องของกลุ่มเด็กที่ตั้งชื่อแก๊งของตัวเองว่า ซูเปอร์บัสเตอร์สันติสุข ก่อนที่เด็กๆ ในกลุ่มจะแยกย้ายกันไปใช้ชีวิต เนื่องจากความตายของ เม็มมะ เด็กสาวในกลุ่ม เวลาผ่านไปสิบปี จินตะ เด็กชายที่เคยเป็นหัวหน้ากลุ่มได้แปรเปลี่ยนตัวเองเป็นพวกเก็บตัวไม่เข้าสังคม ไม่คบหากับใคร จินตะได้เจอกับวิญญาณของเม็มมะที่มาร้องขอให้เขาทำคำอธิษฐานของเธอให้เป็นจริง แม้ว่าตัวเธอจำได้ไม่ชัดนักว่าคำอธิษฐานคืออะไร เมื่อจินตะเข้าใจแล้วว่าตัวเองไม่ได้หลอนไปเอง เขาจึงพยายามรวมตัวสมาชิกของกลุ่มซูเปอร์บัสเตอร์สันติสุขอีกครั้ง แต่เวลาที่ผ่านไปก็ทำให้ทุกคนมีบาดแผลทางใจในทางใดทางหนึ่ง และการทำคำอธิษฐานให้เป็นจริงนี้ไม่ใช่การกระทำเพื่อผู้ที่จากไปเท่านั้น แต่มันยังเป็นการคลายปมให้คนที่ยังอยู่อีกด้วย
เหตุผลที่เลือกอนิเมะที่ฉายในแบบซีรีส์ทางโทรทัศน์เรื่องนี้มีเหตุผลอยู่สองสามข้อ ข้อแรกก็คือ พล็อตเรื่องของ Anohana นั้น แม้จะมีความแฟนตาซีอยู่บ้าง แต่เรื่องราวโดยส่วนใหญ่ก็ง่ายที่คนดูทุกกลุ่มจะเข้าถึง อย่างที่สองคือ ซีรีส์เรื่องนี้มีจำนวนตอนไม่มากเกินไป แค่เพียง 11 ตอนเท่านั้น และประการสุดท้ายคือ งานสร้างเรื่องนี้เป็นผลงานของทีม Cho Heiwa Busters (ซูเปอร์บัสเตอร์สันติสุข) ที่ประกอบไปด้วยผู้กำกับอนิเมะ นากาอิ ทัตสึยูกิ, ผู้เขียนบท โอคาดะ มาริ และศิลปินชื่อ ทานากะ มาซาโยชิ ซึ่งทั้งสามเคยมีส่วนร่วมกับการสร้างอนิเมะชวนเรียกน้ำตาอีกหลายต่อหลายเรื่อง และกำลังจะมีภาพยนตร์ Sora no Aosa o Shiru Hito yo ที่หลายคนคาดว่าจะมากระทุ้งต่อมน้ำตาคนดูกันอีกครั้งในเร็ววันนี้
น้ำตาไหลให้กับเพื่อนในวัยเด็ก – Toy Story 1-3
หนังหลายๆ เรื่อง ดูเรื่องเดียวแล้วจบได้ในตัว แต่ก็มีหนังบางเรื่องที่คนดูควรจะเอาหลายภาคมาประกอบกันเพื่อความเข้าใจที่ดีขึ้น และจะทำให้มีความอินกับหนังมากขึ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คงไม่พ้น Avengers: End Game ที่คนดูหนัง MCU มาครบถ้วนทุกภาคจะมีความอินมากกว่า และหลายคนถึงขั้นน้ำตารื้นกับฉากบางฉาก ซึ่งมีภาพยนตร์อนิเมชั่นชุดหนึ่งที่เรียกน้ำตาคนดูได้ดีหากได้ดูมาตั้งแต่ภาคแรก หนังเรื่องที่ว่าก็คือ Toy Story
อนิเมชั่นชุด Toy Story เป็นเรื่องราวของเหล่าของเล่นที่จะมีชีวิตขึ้นมาหลังจากที่ไม่มีคนอยู่ในห้อง มีตัวละครหลักเป็นตุ๊กตาคาวบอย วู้ดดี้ กับตุ๊กตานักผจญภัยอวกาศ บั๊ซ ไลท์เยียร์ ของเล่นของแอนดี้ เดวิส ที่ในแต่ละภาคจะเจอกับปัญหาแตกต่างกันไป ในภาคแรก วู้ดดี้ต้องรับมือกับบั๊ซที่ไม่เชื่อว่าตัวเองเป็นของเล่น แถมยังถูกแย่งความสนใจจากแอนดี้ที่เป็นเจ้าของ ในภาคที่สอง วู้ดดี้ ถูกขโมยไป ทำให้บั๊ซกับเพื่อนของเล่นชิ้นอื่นๆ ต้องไปช่วยเหลือวู้ดดี้ และในภาคที่สาม แอนดี้ที่ตอนนี้กลายเป็นเด็กหนุ่มอายุ 17 ปี และกำลังจะไปเรียนต่อ เขาเก็บของเล่นสุดรักในวัยเด็กไว้แต่กลายเป็นว่าของเล่นโดนนำไปบริจาค ซึ่งในท้ายที่สุดหลังจากวู้ดดี้กับบั๊ซ และเพื่อนๆ ของเล่นได้กลับมาถึงมือของแอนดี้อีกครั้ง แอนดี้ก็ตัดสินใจจะส่งต่อของเล่นทุกชิ้นให้กับ บอนนี่ เด็กหญิงที่ถูกอกถูกใจวู้ดดี้
ในฉากส่งท้ายของ Toy Story 3 ที่แอนดี้พูดบอกลากับของเล่นในวัยเด็ก ก่อนจะเล่นของเล่นทั้งหมดเป็นครั้งสุดท้าย และส่งต่อให้บอนนี่ที่รักของเล่นเหล่านั้นไม่ต่างจากเขา ฉากนี้ทำให้คนที่ติดตามอนิเมชั่นเรื่องนี้มาตั้งแต่ภาคแรกต้องหลั่งน้ำตาออกมาด้วยความเข้าใจว่า ช่วงเวลาวัยเด็กของแอนดี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว แม้ว่าเราจะรู้ว่าทุกตัวละคร รวมถึงของเล่นอย่างวู้ดดี้กับบั๊ซจะยังอยู่ต่อไป แต่เจ้าของก็ต่างแยกย้ายไปตามทางของชีวิตที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลาแล้ว
และฉากจบที่ทำให้คนดู Toy Story มาตั้งแต่ภาคแรกรู้สึกเศร้าใจจนน้ำตาไหลกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทำให้แฟนเก่าหลายๆ คนยังไม่พร้อมที่จะรับการเดินเรื่องไปสู่องก์ใหม่ของหนังที่ตอนนี้เจ้าของแอนดี้กับบัซไม่ใช่แอนดี้อีกแล้วนั่นเอง
น้ำตาไหลให้กับความฝันและความทรงจำ – Up
ไม่แน่ใจว่าผู้กำกับหรือโปรดิวเซอร์คนใดในฝั่งงานอนิเมชั่นจากชาติตะวันตกริเริ่มการแทรกฉากเรียกน้ำตาระดับกระแทกหัวใจไว้ในช่วงองก์แรกของเรื่อง ตัวอย่างเช่น ฉากการตายของแม่แบมบี้ พ่อของซิมบ้า หรือแม่ตัวโตของลิตเติลฟุต (ซึ่ง The MATTER เคยพูดถึงฉากการตายดังกล่าวไปแล้ว) ภาพยนตร์อีกเรื่องหนึ่งที่ทำฉากชวนน้ำตาแตกไว้ในองก์แรกของเรื่อง แถมยังกลายเป็นการเซ็ตเรื่องราวทั้งหมดในหนังด้วย คงต้องยกให้ Up จากทาง Pixar
10 นาทีแรกของหนังไม่ได้มุ่งตรงไปเล่าเรื่องของบ้านที่ลอยด้วยลูกโป่งจำนวนมาก แต่เริ่มด้วยการเล่าเรื่องของ เอลลี่ เด็กหญิงที่ดูซุกซนและมีความฝันอยากจะเป็นนักผจญภัยให้กับ คาร์ล เด็กชายที่ดูขี้อาย ก่อนที่เวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็วและแสดงให้เห็นว่า เด็กชายกับเด็กหญิงเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ได้แต่งงาน ใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่งที่ทั้งสองคนเริ่มอยากจะมีลูกด้วยกัน แต่เอลลี่ก็แท้งลูกทั้งยังไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก ทำให้เป้าหมายของชีวิตคู่ทั้งสองคนคือการทำตามฝันในวัยเด็กที่ต่างอยากจะเป็นนักผจญภัยที่เดินทางไป พาราไดซ์ ฟอลล์ ดินแดนห่างไกลสุดขอบฟ้าในฝัน แต่ทั้งสองก็ไม่มีโอกาสได้ไปถึง จนเวลาพรากเอลลี่ออกไปจากคาร์ล และนั่นกลายเป็นเหตุว่าทำไม คุณปู่ในบ้านหลังน้อยถึงกลายเป็นคนที่ดูหน้ามุ่ยตลอดเวลา และพยายามพาบ้านให้บินไปยังดินแดนในฝันที่เขากับคนรักเคยมีร่วมกัน
เพราะฉากเริ่มเรื่องที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ จนอาจจะทำให้หลายดูหนังต่อจากจุดนั้นด้วยสภาพน้ำตาคลอเบ้า แถมฉากเปิดเรื่องยังทำให้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภายหลังของภาพยตร์นั้นมีความหนักแน่นและน่าประทับใจ แม้หนังจะมีความแฟนตาซีอยู่มาก เพราะลึกลงไปแล้ว หนังเรื่องนี้คือเรื่องราวของชายที่มีความมุ่งมั่น ไม่ใช่แค่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อคนที่เขารักด้วยนั่นเอง
น้ำตาไหลเพราะเราต่างมีความเป็นเด็กหลงเหลืออยู่ในตัว – Inside Out
ภาพยนตร์อนิเมชั่นอีกเรื่องจากทาง Pixar ที่จะนำมาพูดถึงในบทความนี้ คือ ภาพยนตร์ที่เล่าเรื่องยากๆ อย่างสภาพอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนและการเติบโตให้ออกมาดูเข้าใจโดยง่าย อย่าง Inside Out
Inside Out ตีความว่า มนุษย์ทุกคนมีเสียงของอารมณ์ในหัวของตัวเอง แต่ถ้าให้พูดถึงอารมณ์ทุกอย่างก็อาจจะมากเกินไป ตัวหนังเลยโฟกัสอยู่ที่ห้าอารมณ์พื้นฐาน ลั้ลลา, เศร้าซึม, หยะแหยง, ฉุนเฉียว และกลั๊วกลัว กับเดินเรื่องให้ตัวละคร ไรลีย์ เด็กหญิงวัย 11 ปี ที่เพิ่งย้ายบ้านเป็นตัวละครหลัก ที่จู่ๆ สองอารมณ์หลักที่อยู่กันคนละขั้วอย่างลั้ลลากับเศร้าซึม (กับความทรงจำอีกส่วนหนึ่ง) หลุดออกจากเครื่องควบคุมอารมณ์ อารมณ์ทั้งสองจึงต้องหาทางกลับไปก่อนจะเกิดเหตุวุ่นวายและได้รับความช่วยเหลือจาก ปิ๊งป่อง เพื่อนในจินตนาการของไรลีย์ในวัยเด็ก
ต่อมาลั้ลลาร่วงลงในหุบเหวของความทรงจำที่จะถูกลืมเลือน ณ จุดนี้เองที่ปิ๊งป่องพยายามเข้าไปช่วยด้วยการใช้จรวดที่ไรลีย์เคยใช้ในวัยเด็ก ทะยานขึ้นไปด้านบนของหุบเหว ทว่าจรวดดังกล่าวไม่สามารถพาหนึ่งอารมณ์กับความทรงจำไปถึงฝั่งได้ ปิ๊งป่องจึงยอมกระโจนลงจากจรวดเพื่อให้ลั๊ลลากลับไปช่วยเหลือไรลีย์ได้อย่างปลอดภัย ส่วนตัวของเพื่อนในจินตนาการนั้นก็จางหาย ลืมเลือน เพื่อให้เด็กหญิงได้เติบโตขึ้นอย่างมีความสุข
ทั้งๆ ที่ยังไม่ใช่บทสรุปของเรื่องแต่คนดูหลายคนก็ร้องไห้จนหน้าตาดูไม่ได้กันเสียแล้ว ทำไมน่ะหรือ เพราะทุกคนเคยเป็นเด็ก และฉากนี้ในภาพยนตร์ทำให้ทุกคนที่ยังมีความเป็นเด็กหลงเหลืออยู่ในใจได้ตระหนักว่า เราเองก็อาจจะลืมเลือนเพื่อนคนนั้นที่ไม่เคยมีตัวตน แต่คอยให้เป็นที่พึ่งทางอารมณ์ของเรามาก่อนนั่นล่ะ
น้ำตาไหลด้วยความยินดี – Stand By Me Doraemon
ไม่ใช่แค่ความเสียใจเท่านั้นที่จะสามารถเรียกน้ำตาของผู้คนได้ ความดีใจจนล้นปรี่เองก็สามารถทำให้หยดน้ำใสๆ รินไหลออกมาจากดวงตาได้เช่นกัน ซึ่งตัวแทนของภาพยนตร์อนิเมชั่นที่ทำให้คนดูและตัวละครในเรื่องน้ำตาไหลด้วยความยินดีก็คงจะเป็นเรื่อง Stand By Me Doraemon
Stand By Me Doraemon เป็นการจับเอาเนื้อเรื่องหลักของโดราเอมอนมาบอกเล่าใหม่ โดยจะเน้นเรื่องว่าโดราเอมอนมาอยู่กับโนบิตะได้อย่างไร เหตุที่ทำให้ชิซูกะมาแต่งงานกับโนบิตะ และเมื่อการเปลี่ยนแปลงอนาคตสำเร็จแต่โดยดี โดราเอมอนก็ได้รับสัญญาณว่าจะต้องกลับไปยังโลกอนาคตภายใน 48 ชั่วโมง นั่นทำให้โดราเอมอนกังวลใจว่าหลังจากที่ตัวเองกลับไปอนาคตแล้ว โนบิตะจะสามารถดูแลตัวเองได้หรือไม่ เพื่อให้โดราเอมอนสามารถกลับไปโลกอนาคตได้อย่างสบายใจ โนบิตะจึงท้าสู้กับไจแอนท์จนชนะ ทำให้โดราเอมอนหมดกังวลแล้วเดินทางกลับไปโลกอนาคต กระนั้นเมื่อถึงวันเอพริลฟูล ซูเนโอะกับไจแอนท์ก็หลอกโนบิตะว่าโดราเอมอนกลับมาแล้ว ทำให้โนบิตะทั้งเสียใจ ทั้งโมโห และหยิบเอาน้ำยาโกหก 800 ที่โดราเอมอนทิ้งไว้ให้ใช้ยามจำเป็นมาเอาคืนจนหนำใจ แต่สุดท้ายโนบิตะก็ยอมรับความจริงพร้อมกับพูดว่า โดราเอมอนจะไม่กลับมาแล้ว แต่ผลของน้ำยาวิเศษที่โนบิตะกินไปนั้นยังไม่หมดลง เมื่อเดินกลับไปถึงห้อง โนบิตะพบว่าโดราเอมอนได้กลับมา การกลับมาพบกันของทั้งสองคนจึงเต็มไปด้วยน้ำตาอาบหน้า แต่มันเป็นน้ำตาแห่งความสุขที่เพื่อนรัก เพื่อนรู้ใจ จะยังคงอยู่ข้างกายไม่หายไปไหนอีกแล้ว
ทั้งตัวละครและคนดูอาจจะต้องเสียน้ำตาให้ฉากนี้ก็จริง แต่เพราะความรู้สึกดีๆ จึงทำให้ไม่มีใครรู้สึกเสียดายหยดน้ำที่ไหลรินไปเลยแม้แต่น้อย