(บทความนี้ไม่มีการสปอยล์นอกเหนือไปจากที่ซีรีส์โชว์ในตัวอย่าง)
ณ โรงเรียนมัธยมปลาย Hanover, บนรถของคณะครูอาจารย์รวมทั้งสิ้น 27 คัน พบรอยสเปรย์สีแดงฉีดจนถ้วนทั่ว – ฉีดเป็นรูปไอ้จู๋ ไอ้จู๋อันใหญ่ ไอ้จู๋เต็มกระโปรงหน้า ไอ้จู๋เต็มกระบะหลัง ทุกคัน มีไอ้จู๋คันละหนึ่งอันไม่มีว่างเว้น – ใครเป็นตัวการก่อกวนในครั้งนี้ ดูเหมือนพวกอาจารย์จะมีคนร้ายในใจอยู่แล้ว นักเรียนหัวโจกชื่อดีแลน แม็กซ์เวลล์ เป็นคนที่ชอบเล่นตลกบ้าๆ บอๆ ในห้องเรียน จนบางครั้งทำให้อาจารย์สอนต่อไม่ได้ และเขาก็ยังเป็น ‘นักวาดไอ้จู๋’ ตัวยง
โดยไม่มีความลังเล คณะอาจารย์เรียกเขามาสอบสวน ข้อแก้ตัวของเขา ‘ไม่ดีพอ’ – ผลสรุป เขาถูกไล่ออกจาก Hanover ทันที
เขาเป็นคนร้ายแน่นอน นั่นคือสิ่งที่อยู่ในใจของอาจารย์ กระทั่งนักเรียนแทบทุกคนในคราวแรก
‘แทบทุกคน’ – แต่ไม่ใช่กับแก๊งเด็กเนิร์ดนักทำสารคดีกลุ่มหนึ่ง ที่รู้สึกว่าเรื่องนี้มีอะไรแหม่งๆ
นั่นคือที่มาของ American Vandal
American Vandal เป็นซีรีส์ที่ในตอนแรกที่ผมเห็นการโปรโมต ก็รู้สึกทันทีว่า “นี่มันเชี่ยอะไรเนี่ย!” – มันเป็นซีรีส์ล้อเลียนซีรีส์ประเภท True Crime (ตามสืบอาชญากรรมจริง) ที่ได้รับความนิยมขึ้นมาในช่วงสี่ห้าปีหลัง (มีคนสืบสาวว่าความชื่นชอบสารคดีประเภท True Crime นี้น่าจะก้าวเข้ามาสู่เมนสตรีมหลังจากที่พอดแคสท์ Serial ได้รับความนิยม)
นอกจากซีรีส์ประเภท True Crime จะทำให้เรารู้สึกได้บริหารสมองแล้ว มันยังกระตุ้นเร้าอารมณ์พวกเราอย่างช่วยไม่ได้ด้วย เราอาจตะโกนขึ้นมาขณะดู American Crime Story: The People v O.J. Simpson ว่า เฮ้ยยย ทำไมระบบยุติธรรมมันเชี่ยอย่างนี้ หรือเราอาจหงุดหงิดและเห็นใจไปกับครอบครัวในซีรีส์ Making a Murderer ด้วยความที่ซีรีส์ True Crime ดูจะตอบสนองทั้งสมองและหัวใจเช่นนี้ มันจึงได้รับทั้งความนิยม และได้รับทั้ง ‘กล่อง’ ด้วย
เมื่อ True Crime ได้รับความนิยม จึงไม่แปลกที่จะมีคนนำ ‘ฟอร์แมต’ ของมันมาล้อเลียน และ American Vandal ก็เป็นผลจากความพยายามล้อเลียนนั้น
ในตอนแรก ผมคิดว่าด้วยความยาวแปดตอน ตอนละประมาณ 30 นาที, American Vandal จะเฝืออย่างรวดเร็ว เพราะก็ดูสิครับ – มันเริ่มต้นด้วยความเหลวไหล – ด้วยอาชญากรรมที่ดูบ้าๆ บอๆ อย่างการวาดไอ้จู๋บนรถครู – แต่เอาเข้าจริงแล้ว American Vandal ไปไกลกว่าโจ๊กไอ้จู๋มาก ด้วยการพยายามเล่นตลกกับฟอร์แมตนี่แหละ ทำให้ซีรีส์เรื่องนี้สามารถพูดเรื่อง True Crime ได้หลายระดับ
เว็บไซต์อย่าง The Ringer ถึงกับยกให้ซีรีส์เรื่องนี้เป็น “การตีความมุกไอ้จู๋ที่ดีที่สุดเท่าที่เคยสร้างมา” และ Vulture ก็บอกว่า “American Vandal เข้าใจเรื่องความบิดเบี้ยวของการทำข่าวปลอมๆ (pseudo-journalistic twist) และมันก็ ‘จริงจัง’ มากพอที่จะซื่อตรงต่อความเป็นสารคดีทรูไครม์ของมัน จนทำให้คุณต้องแอบชื่นชมมันจนได้”
American Vandal อาจไม่ใช่ซีรีส์สำหรับทุกคน (มีบางคนที่ผมรู้จัก ที่ไม่สามารถดูซีรีส์แบบ ‘สารคดีปลอม’ หรือ mockumentary ได้เลย) มันอาจวกวนและไม่ไปไหนในบางจุด หรือคุณอาจรู้สึกว่า “นี่มันเชี่ยอะไรเนี่ย วิเคราะห์ไอ้จู๋อยู่นั่นแหละโว้ย” ในบางตอน แต่ด้วยความที่มันจริงจังในเรื่องที่ไม่ควรจริงจังนี้เอง ที่ทำให้เผลอแป๊บๆ ผมก็ดูมันจนจบแปดตอนไม่เหลือ (ที่ต้องชื่นชมอีกอย่างคือ ผมคิดว่านี่เป็นซีรีส์ที่สะท้อนภาพไฮสคูลในตปท. ได้ดีจริงๆ มีตัวละครบางตัวเป็นเซเล็บทวิตซ์ มีการพูดถึง ‘การเก็บแต้ม’ (การไปถึง second base, third base) แบบที่รู้สึกเป็นธรรมชาติ พูดถึง ‘การเลื่อนชั้นทางสังคม’ ที่ทำให้เราอาจนึกถึงหน้าเพื่อนบางคนขึ้นมา ฯลฯ)
นอกจากมีมุกบ้าๆ บอๆ อย่างมุกไอ้จู๋ (ที่เอาเข้าจริงก็ไม่ได้ ‘ห่าม’ อย่างที่คิด) แล้ว American Vandal ยังอาจทำให้คุณตั้งคำถามกับ ‘สังคมจับแพะ’ และ ‘การเชื่อโดยไม่มีหลักฐาน’ ยิ่งไปกว่านั้นมันอาจทำให้คุณกังขากับพลังของสื่อ ว่าสามารถชี้ซ้าย-ชี้ขวาได้ตามใจขนาดไหน สื่อสามารถ ‘สร้างเรื่อง’ เพื่อให้เราเอาใจช่วยใครคนใดคนหนึ่งได้แค่ไหน และถ้าสื่อทำอย่างนั้น สังคมเราจะสูญเสียอะไรไป
American Vandal ไม่ได้พูดตรงๆ หรอกครับ – มันก็เป็นแค่ซีรีส์มุกตลกไอ้จู๋ แต่ด้วยความที่มันดูโง่นี่แหละ ที่ทำให้มันฉลาดมากเลย
ดู American Vandal ได้ใน Netflix จ้ะ