“Monday’s child is fair of face,
Tuesday’s child is full of grace.
Wednesday’s child is full of woe,
Thursday’s child has far to go.”
“เกิดวันจันทร์ใบหน้าผ่องเพ็ญ
วันอังคารงดงามแรกเห็น
เกิดวันพุธนั้นแสนลำเค็ญ
ส่วนพฤหัสบดีไซร้อนาคตไกลเอย”
เชื่อว่าหลายคนคงได้รับพลังงานดีๆ จากตัวเอกใหม่ของซีรีส์ยอดฮิต น้องสาวเวนส์เดย์ (Wednesday) ลูกสาวคนโตของตระกูลอาดัม ที่เรียกได้ว่าคัมแบ็ก กลับมามีซีรีส์ชีวิตของตัวเองเต็มๆ แต่จากเรื่อง มีช่วงหนึ่งที่คุณแม่อธิบายว่า ทำไมถึงตั้งชื่อลูกสาวว่าชื่อน้องวันพุธ ทั้งที่เธอเกิดวันศุกร์ที่ 13 (ในฉบับซีรีส์ชื่อเต็มของเวนส์เดย์คือ Wednesday Friday Addams ชื่อกลางหมายถึงวันเกิดจริงๆ ของเธอ) ซึ่งก็อ้างอิงกลอนท่อนหนึ่งว่า “วันพุธเป็นเด็กผู้ทุกข์ระทม” คือ “Wednesday’s child is full of woe”
ไม่แน่ใจว่า แม้แต่คนไทยเอง ก็มีความเชื่อในทำนองเดียวกัน คือมีการทำนายคร่าวๆ ว่าการเกิดในวันไหนของสัปดาห์อาจจะสามารถชี้นำลักษณะและชะตาชีวิตได้ และที่บังเอิญกว่านั้น คนวันพุธมักจะเป็นวันที่ถูกนิยามและทำนายในทำนองที่ไม่ค่อยดีนัก เป็นวันที่โชคร้ายที่สุดในบรรดาวันทั้งหมด
ทีนี้ ในความเชื่อแบบตะวันตก ก็เลยน่าสนใจว่า ชุดคำทำนายที่ภายหลังกลายเป็นเพลงกล่อมเด็ก (nursery rhymes) ที่ร้องกันทั่วไปทั้งในยุโรปและอเมริกา ที่ว่าเด็กวันพุธร้องไห้จ้ากันทุกภาษามันมาจากไหน แล้วคนวันพุธทำผิดอะไร ตัวเพลงร้องเล่นนี้มีที่มาเก่าแก่มาก ชนิดที่ว่าสืบสาวไปได้ในรากฐานความเชื่อท้องถิ่นของอังกฤษในยุคก่อนศตวรรษที่ 16 เป็นอังกฤษที่ยังมีความเชื่อจากสมัยแองโกล-แซกซัน คือมีความเชื่อจากตำนานนอร์สเข้ามากำกับความเชื่อประจำวันเกิดเด็กด้วย
Monday’s Child เพลงกล่อมเด็กโบราณ
คำทำนายเรื่องคนเกิดวันพุธตามตำราฝรั่ง ดังกล่าวว่ามาจากเพลงกล่อมเด็ก เพลงนั้นมีชื่อว่า Monday’s Child ตัวเพลงก็เป็นการไล่วันของเด็กที่เกิดวันต่างๆ เนื้อเพลงเต็มจะทำนายไล่ตั้งแต่วันจันทร์ไปจนจบวันอาทิตย์ ในเพลงนี้ฉบับที่รู้จักกันในปัจจุบันจะทำนายไล่ไปว่า เกิดวันจันทร์มีใบหน้างดงาม วันอังคารกิริยางามสง่า เกิดวันพุธแสนสุดทุกข์ระทม ส่วนวันศุกร์นั้นเป็นที่รักและเป็นผู้ให้ วันเสาร์นี่กึ่งๆ คือบอกว่าเป็นคนที่ต้องทำงานหนัก (ทั้งๆ ที่เกิดวันหยุด) ส่วนวันอาทิตย์คือดีที่สุดเพราะเป็นวันสะบาโต คือทั้งสวย ทั้งมีความสุข เป็นเด็กดีแถมยังร่าเริงด้วย (“Is bonny and blithe, good and gay”)
เราจะเริ่มเห็นว่า ในเพลงร้องเล่นเริ่มมีความเชื่อบางอย่างมาประกอบด้วย อันที่จริงเพลงร้องเล่นเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าพื้นบ้านที่ใช้ทั้งร้องกล่อมเด็ก เล่าเรื่องโดยเพลงและเรื่องเล่านิทานเหล่านั้นก็จะถูกเล่ากระจายไปทั่วทวีป หรือบางเรื่องคือทั่วโลก ดังนั้นด้วยความที่เรื่องถูกเล่าด้วยปากและด้วยกาลเวลา บางส่วนก็จะมีความเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย สำหรับเพลงกล่อมเด็กทำนายชีวิตนี้ มีคำอธิบายว่าเอาไว้ให้เด็กๆ ได้เชื่อมโยงตัวเองและจดจำวันในสัปดาห์ได้
โดยทั่วไปเพลงกล่อมเด็ก Monday’s Child จะถูกโยงรวมเข้ากับนิทานและเพลงกล่อมเด็กที่รวบรวมโดย ชาร์ล แปโร (Charles Perrault) แปโรเป็นนักคติชนและนักแต่งนิทาน (ที่ดังๆ ก็จะมีรวมนิทานที่มีซินเดอเรลล่า) แกก็รวบรวมนิทานและเพลงกล่อมเด็กที่เล่ากันในช่วงศตวรรษที่ 17 ทั้งในฝรั่งเศสและอังกฤษ และตีพิมพ์ออกมา พอแปลออกเป็นฉบับภาษาอังกฤษ ตัวรวมนิทานและเพลงกล่อมเด็กนี้มีการสร้างตัวละครเรียกว่าเป็น Mother Goose หรือนิทานแม่ห่าน ที่มาของชื่อแม่ห่านก็มีหลากหลายเช่นเป็นนิทานของพระราชินีในตำนาน แต่รวมๆ ก็จะเป็นเหมือนความคิด ความเชื่อที่กระจายอยู่ในยุโรป
นอกจากเพลงร้องเล่นแล้ว ความเชื่อเรื่องเกิดวันพุธเป็นวันลำเค็ญยังมีหลักฐานในตำรา เป็นหนังสือรวบรวมความเชื่อท้องถิ่นอีก 2 เล่ม ซึ่งย้อนไปได้ถึงศตวรรษที่ 16 โดยพบความเชื่อและเพลงร้องดังกล่าวในหนังสือรวบรวมเรื่องความเชื่อท้องถิ่นในแถบเดวอนไชร์ชื่อ Traditions of Devonshire ในหนังสือระบุว่าความเชื่อเรื่องเด็กเกิดวันไหนเป็นอย่างไรนี้น่าจะมีอายุเก่าแก่นับถอยไปได้เป็นศตวรรษ ในหนังสืออีกเล่มที่บันทึกเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่นอังกฤษช่วงปี 1500-1700 ระบุว่าในช่วงทศวรรษ 1570s ก็พูดถึงกลุ่มหญิงชราในเมืองซัฟฟอล์กที่พูดถึงโชคของเด็กๆ ที่สัมพันธ์กับวันเกิด
ก่อนจะก้าวไปสู่วันพุธ อันที่จริงด้วยความที่เพลงกล่อมเด็ก บทกวี และนิทาน มีการเล่าในหลายพื้นที่และหลายช่วงเวลา บางส่วนสัมพันธ์กับการเข้ามาของความเชื่อใหม่ๆ มีบันทึกว่าบางช่วงคำทำนายก็สลับกันบ้าง เช่นในฉบับที่ลงนิตยสาร Harper’s Weekly ในปี 1887 มีการสลับเป็น “Friday’s child is full of woe” สันนิษฐานว่า เป็นการเชื่อมโยงความเชื่อในยุคนั้นที่เชื่อวันศุกร์เป็นวันที่ไม่ดี เกี่ยวข้องกับโชคร้ายเพราะชาวคริสต์เชื่อมโยงเข้ากับวันที่พระเยซูถูกตรึงกางเขนในวันศุกร์ หรือในเวอร์ชั่นชาวสกอตฯ กลับบอกว่าเด็กเกิดวันพุธแฮปปี้น่ายินดี (“merry and glad”) ส่วนวันพฤหัสนั้นฉลาดแต่อมทุกข์ (“wise and sad”)
วันพุธ กับเทพเจ้าโอดิน?
ด้วยการเชื่อมโยงอย่างยาวนานและค้นหาหลักฐาน นักคติชนผู้ศึกษานิทานความเชื่อต้องการจะบอกว่าเพลงร้องเล่นเรื่องวันเกิดนี้มันเก่าม้ากกกกก และมันน่าจะมีที่มาจากเกาะอังกฤษในยุคที่นานนมมากแล้ว ดังนั้นทฤษฎีหนึ่งเลยอธิบายว่า ทำไมวันพุธถึงกลายเป็นวันที่ลำบากสุด ก็คงต้องไปดูความเชื่อแบบแองโกล-แซกซัน รากฐานความเชื่อพื้นถิ่นของอังกฤษนั่นเอง
ในข้อเสนอนั้นระบุว่า ความลำบากของคนวันพุธนี้อาจจะสัมพันธ์ตั้งแต่ชื่อของคำวันว่าวันพุธ โดยวันพุธเดิมนั้นสะกดว่า Wodnesdaeg ซึ่งวันต่างๆ จะตั้งชื่อตามเทพเจ้าในความเชื่อโบราณ โดยคำว่า Wodnesdaeg ตั้งตามเทพเจ้า Woden ชื่อแปลก แต่เทพนี้คือเทพเจ้าโอดิน เทพบดีแห่งปกรณัมนอร์ส (ที่พ่อโล้นของเราไปไล่ตื้บใน God of War Ragnarök นั่นเอง)
ทีนี้ ทำไมการเกิดตามวันของเทพเจ้าที่น่าจะใหญ่สุดในตำนานถึงได้กลายเป็นวันซวย ด้านหนึ่งเราอาจต้องตีความคำว่า woe ที่บอกหมายความว่าซวยในอีกมิติ ในคำอธิบายเขาบอกว่าโอดินเป็นเทพผู้ยิ่งใหญ่ก็จริง แต่โอดินเป็นเทพนักเดินทาง และเป็นเทพผู้ปรารถนาความรู้เป็นสำคัญ ในการครอบครองและได้มาซึ่งความรู้นั้นทำให้โอดินยินดีที่จะลำบากและสละสิ่งต่างๆ เพื่อให้ได้ความรู้และความจริงมา เช่นโอดินยินดีสละดวงตาข้างหนึ่งเพื่อเข้าถึงความรู้แจ้ง
คำว่า woe ในที่นี้จึงอาจหมายถึงบุคลิกอันเข้มงวด การยินยอมที่จะตรากตรำลำเค็ญเพื่อการใช้ชีวิตอย่างจริงจังและพินิจพิเคราะห์ความรู้หรือความจริงอย่างเข้มขม ในทางกลับกัน การครอบครองสัจจะ มองเห็นความเป็นจริงของชีวิตอย่างที่เป็นไป ก็อาจจะทำให้เด็กคนนั้นเลือกทางที่เจือด้วยรสขมมากกว่าการย้อมฉาบด้วยน้ำตาลและสีสันสดใส
ก่อนจะเข้าถึงบทส่งท้าย เผื่อมีผู้สงสัยแล้ววันอื่นๆ เชื่อมโยงกับเทพนอร์สองค์ไหนบ้าง วันจันทร์มาจากเทพ Mona หรือ Mani คือพระจันทร์ เป็นน้องชายของ Sunna คือพระอาทิตย์ที่มาของ Sunday วันพุธคือ Woden หรือ Odin ส่วนวันพฤหัสมาจากเทพเจ้า Thor ส่วน Friday มาจาก Freya ส่วนวันเสาร์นับว่าไม่ได้อิทธิพลจากแองโกล-แซกซัน เท่าไหร่ เดิมเรียกว่า laugardagr (sunnunótt) คำว่า laugardagr หมายถึงอ่างน้ำร้อน คล้ายๆ เป็นวันหยุดของสัปดาห์และได้ลงแช่ในอ่างน้ำร้อน ส่วน sunnunótt หมายถึงคืนก่อนวันอาทิตย์ (the night before Sunday) ในภาษาเยอรมันยังมีร่องรอยของคำอยู่คือเรียกวันเสาร์ว่า Sonnabend โดยวันเสาร์ปัจจุบันมาจาก Saturn เทพเจ้าโรมัน
สุดท้ายดูเหมือนว่าพอเราพิจารณาความขมเข้มจากคำทำนายอายุนับร้อยปี ก็ดูจะทำให้เรามองเห็นสัจธรรมในชะตาชีวิตหรือการมองโลก เมื่อเรามองโลกอย่างที่เป็นไป แสวงหาหรือรับรู้ความจริงของโลกใบนี้ ความเข้มขมหรือลำเค็ญของชีวิตก็อาจจะเป็นเส้นทางที่ไม่ได้น่าหลีกเลี่ยง แถมคิดๆ ดู ก็ออกจะเข้ากับตัวละครเอกคือเวนส์เดย์ ผู้มองโลกอย่างขมๆ และกลายเป็น ‘ฮีโร่’ ในแบบยุคสมัยใหม่ที่ปกคลุมด้วยความมืดดำ แต่ก็มีความน่ารักและความปรารถนาแก่โลกใบนี้ที่ ก็ดีแหละมั้ง
อ้างอิงจาก
Proofreader: Tangpanitan Manjaiwong
Graphic Designer: Manita Boonyong