(คำเตือน : บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของอนิเมชั่น)
การต่อสู้ กับการท้าทายคู่แข่งที่ยากจะต่อกร น่าจะเป็นธีมที่เราได้เห็นในการ์ตูนหลายต่อหลายเรื่อง อย่างผลงานอนิเมะดังๆ ไม่ว่าจะเป็น ดาบพิฆาตอสูร, Fairy Tail หรือต่อให้เป็นงานการ์ตูนสายกีฬาอย่าง ไฮคิว คู่ตบฟ้าประทาน หรือ Prince Of Tennis เองก็มีบรรยากาศของการเผชิญหน้ากับคู่ต่อสู้ที่เหนือกว่าเช่นกัน
แต่ในวันนี้ เราอยากจะพูดถึงผลงานอนิเมะดังๆ ที่พูดถึงการต่อสู้อีกแบบหนึ่ง อย่างการต่อสู้กับระบบ หรือ ระบอบต่างๆ ที่มีอยู่ในเรื่อง เพราะเรื่องเหล่านี้ ไม่ได้เกิดขึ้นได้แค่การต่อสู้ให้ชนะคู่ต่อสู้เท่านั้น แต่มันยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่จะทำให้เห็นว่า มีการเอาชนะกรอบเดิมๆ ที่เคยมีอยู่ได้ และเราคาดว่าจะทำให้หลายคนกลับไปรับชมอนิเมะเรื่องต่างๆ โดยสังเกตถึงเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้นอีกด้วย
และถ้ามีอนิเมะเรื่องอื่นที่พูดถึงการต่อสู้กับระบบที่น่าสนใจ ก็มาแบ่งปันกันได้เหมือนเช่นเคยครับ
Code Geass: Lelouch Of The Rebellion
หากจะพูดคุยถึงอนิเมะที่มีหุ่นยนต์และการเมืองเป็นส่วนสำคัญของเรื่อง หลายท่านอาจจะนึกถึง Gundam เป็นเรื่องแรก แต่เมื่อดูในเชิงรายละเอียดแล้ว Gundam อาจจะไม่ได้แสดงถึงการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอย่างชัดเจนเท่าใดนัก
ก็เลยจะชวนพูดถึงอนิเมะที่เป็นผลงานจากทาง Sunrise อีกเรื่องหนึ่ง ที่มีองค์ประกอบเป็นหุ่นยนต์และการเมือง อีกทั้งยังมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบ ที่ประสบความสำเร็จไม่ว่าจะในเชิงจุลภาคหรือมหภาคด้วย กับอนิเมะ ‘Code Geass: Lelouch Of The Rebellion’ ที่ถือว่าเป็นเนื้อเรื่องแกนกลางหลักของแฟรนไชส์อนิเมะเรื่องนี้
Code Geass: Lelouch Of The Rebellion เล่าเรื่องโลกสมมติที่ ‘จักรวรรดิบริทาเนีย’ สามารถพิชิตอเมริกา จนขยายอำนาจไปทั่วทั้งโลก ทำการลบล้างประวัติศาสตร์ของดินแดนที่ครอบครองด้วยการเปลี่ยนชื่อพื้นที่ที่ถูกยึดไปว่า ‘แอเรีย (Area)’ และเรียกประชาชนท้องถิ่นด้วยเลขหมายประจำแอเรีย อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นที่ถูกยึดครองแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น ‘แอเรีย อีเลฟเว่น (Area 11)’ ก็จะถูกชาวบริทาเนียเรียกอย่างดูถูกว่าเป็นชาว ‘อีเลฟเว่น’ นั่นเอง
ความวุ่นวายไม่ได้มีเฉพาะจากการขยายอำนาจเท่านั้น แต่กลุ่มราชวงศ์ของจักรวรรดิบริทาเนียก็มีปัญหาอยู่อย่างต่อเนื่อง มีการลอบสังหารสมาชิกราชวงศ์เพื่อหวังเปลี่ยนตำแหน่งผู้มีอำนาจบ่อยครั้ง ซึ่ง ‘ลูลูช วี บริทาเนีย’ ก็เป็นหนึ่งในเจ้าชายที่ได้รับผลกระทบนั้น แต่เมื่อถามไถ่พระราชาผู้เป็นพ่อ เขากับน้องสาวกลับถูกถอดจากตำแหน่งกลายเป็นสามัญชน ต้องไปอาศัยอยู่เงียบๆ ที่แอเรีย อีเลฟเว่น
จนกระทั่งวันหนึ่ง ลูลูชได้พบกับรถบรรทุกของจักรวรรดิบริทาเนีย ที่ขนส่ง ‘ซีทู’ หญิงสาวผู้มีเรือนผมสีเขียวที่มอบพลังแห่งราชัน (Geass) แก่ลูลูช แถมโชคชะตายังนำพาให้ลูลูช ได้พบกับเพื่อนสนิทในวัยเด็กอย่าง ‘คุรุรุกิ สุซาคุ’ ด้วยความบังเอิญหลายอย่างนี้ ทำให้ลูลูชสามารถเริ่มแผนการที่จะโค่นล้มขั้วอำนาจ เพื่อสร้างโลกที่น้องสาวผู้พิการสามารถอยู่ได้อย่างมีความสุข
เรื่องราวหลังจากนี้มีรายละเอียดค่อนข้างมาก จึงขอสรุปรวบยอดว่า หลังจากที่ ลูลูชกับซีทูได้ร่วมมือกับชาวญี่ปุ่นที่ไม่อยากโดนเรียกว่าอีเลฟเว่น ก่อตั้งกองกำลังใหม่ในชื่อว่า ‘ภาคีอัศวินดำ’ จนทำให้ผู้ภักดีต่อจักรวรรดิบริทาเนียต่างพยายามกำจัดเสี้ยนหนามชุดใหม่นี้
ซึ่งด้วยไหวพริบและความสามารถในการวางแผนการรบของลูลูช ทำให้สุดท้ายเหล่าราชวงศ์ของบริทาเนียต้องออกมารับมือด้วยตนเอง เช่นเดียวกับ สุซาคุที่กลายเป็นทหารของจักรวรรดิทาเนีย ก็เข้ามาขัดขวางแผนของลูลูชหลายต่อหลายครั้ง จนถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งสามารถสยบลูลูชให้ถูกขุมขังเอาไว้ได้ อย่างไรก็ตาม ด้วยความช่วยเหลือของซีทูกับพรรคพวกที่ไว้ใจได้ ทำให้ลูลูชกลับมาคุมเกมเพื่อโค่นล้มระบอบที่มีปัญหาอีกครั้ง
ท้ายที่สุดเกมการรบก็ถึงจุดที่ ลูลูชกับสุซาคุได้กลายเป็นพวกเดียวกัน และตัดสินใจใช้แผนการ ‘ซีโร่เรเควี่ยม’ ที่ส่งผลให้ลูลูชกลายเป็นจักรพรรดิเผด็จการ ที่กุมอำนาจการปกครองทั่วทุกพื้นที่บนโลกเอาไว้ แต่เหตุผลไม่ได้มาจากการที่เขาคลั่งอำนาจแต่อย่างใด เพราะแผนการนี้จบลงด้วยการตั้งใจปลิดชีพตัวเองของลูลูช เพื่อให้คนเข้าใจว่าการรวบอำนาจแบบไม่เป็นธรรมเป็นอย่างไร และสุดท้าย ลูลูชก็สามารถคืนอำนาจอธิปไตยทั้งหลายไปสู่ผู้คนหลายกลุ่มที่ถูกชิงมา และพลิกระบอบจนสร้างโลกที่สงบสุขกว่าก่อนหน้าได้สำเร็จ
เราขอเชียร์ให้ทุกท่านได้ลองรับชมอนิเมะเรื่องนี้สักครั้ง เพราะรายละเอียดต่างๆ ในเรื่อง มีความน่าสนใจทั้งในเชิงการเล่นเกมชิงอำนาจ และสถานการณ์ในเรื่องหลายอย่าง ก็แสดงให้เห็นว่า การปกครองด้วยอำนาจจนเกินเลยส่งผลเสียอย่างไรกับคนกลุ่มหนึ่ง และมีคนอีกกลุ่มหนึ่งไม่เข้าใจว่าคนที่ลำบากกว่าต้องเผชิญเรื่องใด
Attack On Titan
ในช่วงแรกหลายคนคิดว่า ‘Attack On Titan (ผ่าพิภพไททัน)’ น่าจะจบเรื่องราวแค่การเอาไขปริศนาเพื่อเอาชนะไททันที่บุกทำร้ายมนุษย์ก็น่าจะเพียงพอแล้ว แต่สิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดก็คือ ผลงานที่อาจารย์อิซายามะ ฮาจิเมะ เป็นผู้เขียนนี้จะกลายเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้น, เผ่าพันธ์ และความเท่าเทียม แบบที่ไม่มีใครคาดคิด และเมื่อผลงานเรื่องนี้ถูกสร้างเป็นอนิเมะ ทีมงานผู้ดูแลการผลิตอนิเมะก็ได้ทำให้เรื่องราวเหล่านี้โดดเด่นมากขึ้น
เรื่องราวโดยคร่าวของอนิเมะเรื่องนี้ เริ่มต้นจากการที่เมืองหน้าด่านของ ‘เอเรน เยเกอร์’ ที่เป็นตัวเอก ได้ถูกไททันขนาดยักษ์ทำลายกำแพงที่ปกป้องชาวบ้านทิ้ง ทำให้เด็กชายเก็บความคับแค้นไว้ในใจและพยายามฝึกตนเข้าร่วมกองทหาร เพื่อวันหนึ่งจะได้มีโอกาสในการจัดการเหล่าไททันที่คอยทำร้ายมนุษยชาติ แต่เรื่องราวกลับพลิกผัน เมื่อเอเรนสามารถแปลงร่างเป็นไททันได้ และถูกมองว่าเป็นภัยต่อผู้คนภายใน เขาจึงถูกลากเข้าไปเป็นสมาชิกหน่วยสำรวจ ที่คอยตรวจสอบว่าพื้นที่นอกกำแพงปลอดภัยพอจะอยู่อาศัยได้หรือไม่
แต่ยิ่งเอเรนกับพรรคพวก ทำความเข้าใจกลุ่มไททันและเรื่องราวของโลกภายนอกมากขึ้น พวกเขาก็กลับได้เจอว่า แท้จริงพลังไททันนั้นมีความเกี่ยวข้องกับเกมการเมืองเป็นอย่างยิ่ง เพราะตัวผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองหลังกำแพงนั้น แท้จริงแล้วต่างเป็นผู้คนจากอาณาจักรเอลเดีย หรือที่เรียกกันว่า ‘ลูกหลานของยูมีร์’ ที่ถูกกษัตริย์พามาอาศัยอยู่บนเกาะ พร้อมกับใช้พลังของ ‘ไททันก่อกำเนิด’ ในการล้วงความทรงจำผู้คน เนื่องจากไม่อยากจะข้องเกี่ยวกับสงคราม แต่ก็ไม่ได้สนใจเจตจำนงค์อิสระใดๆ ของประชาชนที่อยู่ภายใต้การปกครอง
แต่ด้วยการเคลื่อนไหวของพวกเอเรน จึงทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติภายในเมืองหลังกำแพง จนถึงจุดที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากกษัตริย์องค์เดิมที่เชื่อมั่นกับในการปิดบังความจริงกับประชาชน มาเป็นผู้สืบทอดบัลลังก์ที่แม้ว่าจะไม่มีพลังไททันเหมือนเดิม แต่ก็เชื่อมั่นให้ประชาชนเลือกเส้นทางของตัวเอง
แต่เรื่องราวยังไม่จบลง เพราะตอนนี้ชัดเจนแล้วว่า ผู้คนที่อยู่นอกเกาะ หรือผู้คนของอาณาจักรมาเลย์ที่เคยขับไล่ชาวเอลเดีย ก็ยังคงต้องการจะคว้าเอาพลัง ‘ไททันก่อกำเนิด’ มาเป็นกำลังเสริมสร้างอำนาจให้พวกตัวเอง และการต่อสู้ขั้นต่อไปก็ไม่พ้นเป็นการปะทะกันครั้งใหญ่ที่ต้องโดยแน่แท้
ณ เวลาที่เขียนบทความนี้ ตัวเรื่องราวในอนิเมะ Attack On Titan ยังไม่ถึงตอนอวสาน แต่ถ้าอ้างอิงจากมังงะต้นฉบับ ก็มีเหตุการณ์พลิกผันที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามอีกมากว่า ขั้วอำนาจใดที่ถูกต้อง และการกระทำใดที่จะทำให้ผู้คนของเอลเดียและมาเลย์กลับมาใช้ชีวิตร่วมกันได้อีกครั้ง ก็น่าจะมีการเปลี่ยนแปลงระบบและระบอบกันภายในเรื่องอีกไม่มากก็น้อยอย่างแน่นอน
One Piece
เชื่อว่าหลายคนน่าจะนึกถึงเรื่องนี้กันตั้งแต่เห็นหัวข้อแล้ว เพราะการผจญภัยของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางในเรื่อง ‘One Piece’ ไม่ว่าจะฉบับมังงะหรืออนิเมะ แม้วาจะมีฉากต่อสู้ตามสไตล์การ์ตูนโชเน็น แต่ก็แอบแฝงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มคนที่ท้าทายระบบและระบอบมาโดยตลอด
นับตั้งแต่ ตัวละครหลายคนในเรื่องก็เข้ามาเป็นโจรสลัด เพื่อเป็นการท้าทายกับทหารเรือที่มักจะหลงในอำนาจ แล้วกดขี่ประชาชนโดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกลจากฐานบัญชาการ, การเดินทางของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางหลายต่อหลายครั้งได้เข้าไปพบกับการปกครองที่ผิดปกติ ตั้งแต่ การเข้ามาของทุนนิยมที่พยายามกลืนกินการอุปโภคบริโภคดั้งเดิม, ผู้นำที่สนใจในการพัฒนาด้านใดด้านหนึ่งจนไม่สนใจจะดูแลผู้คนบนเกาะ ฯลฯ
หรือแม้แต่เรื่องราวที่มีความแฟนตาซีอย่างเหล่ามนุษย์เงือก, มนุษยยักษ์ ใน One Piece ก็มีประเด็นที่เทียบเคียงได้กับ ‘ชนกลุ่มน้อย’ ที่แม้ว่าจะอยู่ในถิ่นตนเองมายาวนานกว่าแต่ก็ถูกกลุ่มบุคคลที่มาทีหลังแล้วกดขี่ข่มเหง จนต้องผันตัวไปก่อเหตุร้าย และกลายเป็นเป้าที่หลายคนพร้อมจะประณามหยามเหยียด (แม้ว่าบางคนจะทำตัวแย่จริงๆ ก็ตาม)
และที่ไม่พูดถึงก็คงจะไม่ได้ก็คือเรื่องราวของเหล่า ‘เผ่ามังกรฟ้า’ สมาชิก 19 ราชวงศ์ที่ร่วมกันก่อตั้งรัฐบาลโลก แต่ไม่เคยมองว่าผู้คนทั่วไปนั้นเป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกันกับพวกตน สามารถควบคุมกองทัพได้ระดับหนึ่ง หวาดกลัวกับคนที่มี ‘D’ อยู่ในชื่อ และสามารถใช้กำลังได้ตามความพึงพอใจของตนเอง (อีกทั้งในกลุ่มมังกรฟ้าอาจจะมี ‘อิม’ อยู่ในนั้นด้วย) จึงทำให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นภัยต่อสามัญชนมาโดยตลอด ซึ่งกลุ่มมังกรฟ้านี้ก็นำพาให้เกิดกองทัพปฏิวัติ ที่หมายจะโค่นล้มรัฐบาลโลก เพื่อทำลายการใช้อำนาจเกินควรของเผ่ามังกรฟ้า
ถึง One Piece ทั้งฉบับมังงะและอนิเมะยังคงเดินเรื่องอยู่ แต่เราก็ได้เห็นว่า ลูฟี่และเพื่อนๆ กลุ่มโจรสลัดหมวกฟางก็ได้ต่อสู้จนสร้างความเปลี่ยนแปลงกับระบอบต่างๆ ในโลก One Piece มาอย่างต่อเนื่อง และการเข้าไปงัดข้ออำนาจของรัฐบาลโลกกับเผ่ามังกรฟ้าจนเกิดความเปลี่ยนแปลง น่าจะเป็นจุดสำคัญในเนื้อเรื่องช่วงหลังของการ์ตูนเรื่องนี้เป็นแน่
Fullmetal Alchemist
แขนกลคนแปรธาตุ เป็นการ์ตูนที่ถูกสร้างอนิเมะถึงสองครั้ง นั่นคือฉบับ ‘Fullmetal Alchemist’ และ ‘Fullmetal Alchemist: Brotherhood’ แต่แก่นเรื่องหลักนั้นก็ยังเป็นการเดินทางของสองพี่น้องนักแปรธาตุ ‘เอ็ดเวิร์ด เอลริค’ และ ‘อัลฟอนเซ่ เอลริค’ ที่ตามหาวิธีการคืนร่างและอวัยวะที่สูญเสียไป ก่อนที่เรื่องราวจะพาให้พี่น้องคู่นี้พบว่า ประเทศที่พวกเขาอาศัยอยู่มีแผนการจะสังเวยชีวิตของผู้คนจำนวนมาก เพื่อผลประโยชน์ของบุคคลเพียงหนึ่งคน
ถึงเรื่องราวจะเป็นแนวแอ็กชั่นผจญภัยเป็นหลัก แต่ถ้ามองไปยังโครงสร้างระบอบการปกครองในเรื่องก็น่าสนใจไม่เบาทีเดียว เพราะประเทศอเมทิสที่เป็นฉากหลังของเรื่อง แสดงตัวอย่างชัดเจนว่าเป็นรัฐเดี่ยวขนาดใหญ่และให้อำนาจการปกครองสูงสุดทั้งในด้านบริหารและการทหาร อยู่ในมือของ ผู้นำสูงสุด (Führer)
จึงทำให้การพัฒนาใดๆ ในประเทศมุ่งเน้นไปยังเรื่องราวที่ให้ผลประโยชน์ต่อกองทัพเป็นหลัก รวมไปถึงการพัฒนาด้านการแปรธาตุ ก็ถูกใช้เพื่อผลประโยชน์ของกองทัพ จนในท้องเรื่องมีการระบุว่า นักเล่นแร่แปรธาตุของทางการ ก็มีสภาพเป็น สุนัขรับใช้ของกองทัพ มิหนำซ้ำ การก่อสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านก็แทบจะเป็นงานอดิเรกของประเทศนี้ก็ว่าได้ ทำให้การบริหารในแต่ละภูมิภาคมีความเป็นอิสระต่อกันอยู่ในระดับหนึ่ง แม้จะทำตามคำสั่งของผู้นำสูงสุดเป็นหลักก็ตาม
ความแตกต่างกันที่เกิดขึ้นในแต่ละท้องที่ ทำให้มีการต่อสู้เพื่อแข็งขืนกับระบบระบอบต่างๆ แทรกอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่เรื่องราวของพี่น้องเอลริคที่ทำให้พื้นที่ตะวันออกของประเทศมีความเป็นอิสระมากขึ้น ไม่ว่าจะจากศาสนาเถื่อน หรือการตั้งกำแพงภาษีที่เกินจริงของทหารจากกองทัพ และการเดินทางไปทั่วทุกทิศของเอ็ดเวิร์ดก็ทำให้ตัวละครในเรื่องหลายคนในเรื่องเข้าใจว่าประเทศอเมทิสยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้
การเคลื่อนไหวของ ‘รอย มัสแตง’ ที่ได้เห็นความโหดร้ายของสงครามที่ไม่จำเป็น จนอยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศผ่านระบบภายใน ก็สำคัญอยู่ไม่น้อย แม้ว่าเขาจะใช้วิธีไต่เต้าแบบไม่โดดเด่น จนเหมือนจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงในทันทีทันใด แต่เมื่อการปฏิวัติประเทศตามท้องเรื่องจบลง รอยก็สานต่อเส้นทางที่เขาวางไว้จนทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงหลายประการ ทั้งการผูกมิตรกับประเทศชินที่ไม่เคยมีสัมพันธ์ใดๆ มาก่อน และการก่อตั้งพื้นที่ให้ชาวอิชวาลได้อยู่อาศัยอยู่เหมาะสม หลังจากที่ถูกไล่ล่ามาเป็นเวลานาน
แต่สุดท้ายที่เราคิดว่าเป็นประเด็นสำคัญจากการ์ตูนเรื่องนี้ก็คือ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบและระบอบใดๆ ของประเทศ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยตัวคนเดียว และมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่จะต้องถกเถียงกันอย่างดุเดือด ก่อนที่จะหาจุดลงตัวว่าการปรับแก้แบบใดที่เหมาะสมกับปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นๆ
Tengen Toppa Gurren Lagann
สำหรับท่านที่ไม่คุ้นเคย ‘Tengen Toppa Gurren Lagann’ เล่าเรื่องของ ‘ชิมอน’ กับ ‘คามินะ’ เด็กหนุ่มสองคนในหมู่บ้านใต้ดินที่บังเอิญพบหุ่นยนต์ขนาดเล็กชื่อ ‘ลากันน์’ และเริ่มต้นทำตามความฝันของพวกเขาเองในการจะออกเดินทางไปยังโลกเบื้องบนที่มีท้องฟ้าสวยงามรอพวกเขาอยู่ และการเดินทางของชิมอนกลับเดินหน้าไปไกลจนถึงการก่อสงครามระดับอวกาศที่มีอิสรภาพของมนุษย์ทั้งปวงเป็นเดิมพัน ?!
เห็นพล็อตมาแบบนี้หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงหยิบเรื่องนี้มา แต่สำหรับท่านที่เคยรับชม น่าจะพอนึกออกว่า แทบจะทุกตอนของอนิเมะเรื่องนี้ ต่างเล่าเรื่องของการต่อสู้กับระบบอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะตั้งแต่ที่ตัวเอกพยายามออกมาจากหมู่บ้านใต้ดิน แม้ว่าหัวหน้าหมู่บ้านจะบอกว่าเรื่องนั้นเป็นไปไม่ได้, การต่อสู้ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์สัตว์ที่ครองพื้นที่บนโลก ก็ถูกมองว่าไม่น่าจะเอาชนะได้ หรือการต่อสู้กับแอนตี้สไปรัล ที่ถือว่าเป็นบอสใหญ่ของเรื่อง ก็ถูกบอกมาตลอดว่า ไม่มีทางที่จะสำเร็จ
แต่สุดท้ายแล้ว ตัวเอกของเราก็เดินหน้าฝ่าคำทัดทานของคนนอก หลายทีก็เตะเหตุผลให้กระเด็นออกไป เพราะการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบนั้น หลายๆ ที ก็ต้องมีลูกบ้าในการเริ่มต้นไม่ต่างอะไรกับตัวละครในอนิเมะเรื่องนี้นั่นล่ะ
Magic Knight Rayearth
‘Magic Knight Rayearth’ เป็นผลงานการสร้างจากทีมนักเขียนหญิง CLAMP ที่มักจะเล่าเรื่องที่เข้าใจง่ายแต่แฝงประเด็นอะไรมากกว่านั้นอยู่เสมอ เช่นเดียวกับผลงานเรื่องนี้ ที่เล่าเรื่องราวของเด็กนักเรียนหญิงสามคนที่ถูกพาตัวไปยังโลกต่างมิติชื่อ ‘เซฟีโร่’ ในฐานะ ‘เมจิคไนท์’ นักรบที่สามารถกอบกู้สถานการณ์ที่เลวร้ายของโลกต่างมิติได้ แต่ความจริงแล้วเมจิคไนท์ทั้งสามถูกเรียกมาเพื่อสังหารผู้เป็นเสาหลักของโลกใบนั้น
และในช่วงภาคสองของอนิเมะ ก็ขยายเรื่องราวไปว่าเมื่อเซฟิโร่สูญเสียเสาหลักที่เป็นระบบพลังดั้งเดิมของโลกใบนี้ไป ทำให้คนจากโลกอื่น หวังจะเข้ามาใช้ประโยชน์จากพลังของเซฟิโร่ที่ยังเหลืออยู่ เมจิคไนท์ทั้งสามจึงต้องต่อสู้อีกครั้ง และนอกจากที่จะต้องช่วยเหลือคนอื่น ในอนิเมะก็ยังเพิ่มเติมว่าพวกเธอต้องสู้กับความรู้สึกผิดที่สังหารเสาหลักไป
แต่จุดที่ถือว่าเป็นตัวเอกต่อสู้จนเกิดการพลิกระบบได้ก็คือในช่วงท้ายเรื่องที่ต้องมีการตัดสินว่า ใครที่จะสามารถเป็นเสาหลักของเซฟิโร่คนใหม่ได้ ซึ่งตัว ‘ฮิคารุ’ หนึ่งในเมจิคไนท์ ได้ถูกคัดเลือกให้เป็นว่าที่เสาหลักคนใหม่ของเซฟิโร่
แต่สิ่งที่เธอกับเพื่อนอีกสองคนเลือกที่จะทำลายระบบเสาหลักนั้นทิ้ง เพราะข้อเสียของระบบเดิมก็คือ คนที่เป็นเสาหลักเพียงหนึ่งคนต้องคำนึงถึงความสุขของเซฟีโร่เท่านั้น หนทางที่เมจิคไนท์เลือกก็คือการกระจายพลังเหล่านั้นให้กับทุกคนที่มาอาศัยอยู่บนโลกต่างมิตินี้ เป็นผู้จุนเจือโลกอย่างเท่าเทียม และสามารถมีความรู้สีกรักชอบ หรือความสุข โดยไม่ต้องพ่วงไว้กับใครหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น
การตัดสินใจของเมจิคไนท์ก็ทำให้เห็นว่า หากระบบยังมีปัญหาก็ควรที่จะปรับเปลี่ยนให้ดีมากขึ้นได้โดยไม่ต้องยึดติดกับภาพลักษณ์เดิม
The Rose of Versailles
ตอนแรกเรานึกถึงการ์ตูนโชโจอยู่หลายเรื่อง ที่เล่าถึงการต่อสู้กับระบบและระบอบ ก่อนที่จะลงเอยว่า คงไม่มีผลงานเรื่องไหนที่ทำให้เห็นการต่อสู้ได้ดีไปกว่าผลงานที่ฉากสุดท้ายของเรื่องอยู่ที่สงครามปฏิวัติฝรั่งเศสอยาง ‘กุหลาบแวร์ซายส์’ ไปอีกแล้ว
กุหลาบแวร์ซายส์ ฉบับอนิเมะ ตั้งใจปรับเรื่องราวมาโฟกัสให้ ‘ออสการ์ ฟรังซัวส์ เดอ จาร์เจ’ กลายเป็นตัวเอกหลักแทนที่จะเป็นตัวเอกคู่กับ ‘พระนางมารี อองตัวเนต’ ในมังงะต้นฉบับ ด้วยเหตุนี้ทำให้คนดูได้เห็นว่า เด็กหญิงออสการ์ต้องต่อสู้กับระบบตั้งแต่เธอถูกผู้เป็นบิดาตัดสินใจที่จะชุบเลี้ยงประหนึ่งบุรุษ เพื่อให้มารับช่วงต่อในฐานะทหารผู้ชำนาญการคนหนึ่ง และเธอก็ต้องฝ่าฝันอุปสรรคไปพอตัวกว่า ที่เธอกลายเป็นหัวหน้านายทหารรักษาพระองค์ของฝรั่งเศส ตามเจตจำนงค์ของผู้เป็นพ่อได้
เมื่อต้องรับหน้าที่ดูแลพระนางมารี อองตัวเนต ออสการ์ก็รู้สึกไม่พอใจในการมารับหน้าที่เป็นเป็นพี่เลี้ยงให้กับเจ้าหญิงจากแดนไกล จนออสการ์ ได้พบว่า มารี อองตัวเนตไม่ได้เป็นอย่างที่เธอคิดและทำให้คนทั้งสองที่ต่างต้องเข้ามาอยู่ในกรอบวิธีของระบบที่ถูกสร้าง และเริ่มยอมรับซึ่งกันและกัน แม้ว่าทั้งสองอาจจะไม่ได้เอาชนะระบบหรือระบอบใดๆ ได้ แต่ก็เห็นแล้วว่าเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในราชวงศ์ขึ้นมา ณ จุดนี้
ออสการ์ยังมีความน่าสนใจตรงจุดที่ว่า แม้เธอจะเป็นทหารที่รับหน้าที่เป็นทหารองค์รักษ์ แต่อาจจะเพราะตัวตนของเธอเองก็ขัดแย้งกับระบบความเชื่ออยู่แล้ว ผสมรวมกับการเดินทางไปในท้องที่ต่างๆ ทำให้ออสการ์ไม่ได้มองโลกแบบเข้าข้างราชวงศ์แต่เพียงอย่างเดียว จนทำให้เนื้อเรื่องช่วงท้าย เธอตัดสินใจที่จะขยับตัวเพื่อเปลี่ยนระบอบการปกครอง ทั้งๆ ที่รู้ว่า มันจะทำให้เธอเองที่เป็นทายาทขุนนาง เสียผลประโยชน์ในภายหน้าก็ตาม
แต่สุดท้าย การต่อสู้ของออสการ์ในเรื่องก็นำพาไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง แม้ว่ามันจะลงเอยด้วยการสูญเสียคนรักและชีวิตของเธอเองก็ตามที
Psycho-Pass
ในยุคอนาคตที่ประเทศญี่ปุ่นสามารถวิเคราะห์คลื่นสมองให้กลายเป็นค่าสัมประสิทธิ์ จนสามารถทำประเทศญี่ปุ่นสามารถสร้างระบบซิบิล (Sibyl System) ที่สามารถช่วยตัดสินได้ว่าประชาชนคนไหนควรจะเลือกสายงานใด และใครที่มีโอกาสเป็นอาชญากร
ฟังดูแบบนี้แล้วสังคมแบบนั้นน่าจะเป็นสถานที่สงบสุขอยู่ไม่น้อย แต่อนิเมะเรื่อง ‘Psycho-Pass’ ได้ชวนคนดูไปสำรวจว่า ถ้าหากสิ่งที่ดูสมบูรณ์แบบนั้น แท้จริงแล้วมันยังมีจุดอ่อนที่ไม่มีใครสามารถระบุได้อยู่ล่ะ? สังคมนั้นอาจจะไม่ใช่ยูโทเปีย แต่อาจจะเป็นโลกดิสโทเปียที่ผู้คนโดนควบคุมได้ยิ่งกว่าที่ใครคาดคิดก็เป็นได้
แล้วแบบนี้จะมีการต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบในอนิเมะเรื่องนี้ได้หรือ? คำตอบคือ มีการต่อสู้เปลี่ยนแปลงในอนิเมะเรื่องนี้อยู่อย่างต่อเนื่อง และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ทั้งจากการกระทำฝั่งตัวละครร้าย (Antagonist) ที่ปรากฏตัวมาเพื่อโจมตีช่องว่างในระบบ อย่าง ‘มากิชิมะ โชโกะ’ ผู้ที่ไม่สามารถถูกประเมินค่าอาชญากรรมได้จากระบบซิบิล และต้องการตั้งคำถามว่าระบบซิบิลที่ตัดสินตัวเขาไม่ได้นั้นแท้จริงเหมาะสมกับการตัดสินมนุษย์หรือไม่, ‘คิริโตะ คามุอิ’ และพวกพ้องที่อยู่ในตัวต้องการพิสูจน์ว่าพวกเขา ‘ยังมีตัวตนในระบบอยู่’
และในทางกลับกันนั้น การเปลี่ยนแปลงของระบบซิบิลเอง ก็เกิดจากการเคลื่อนไหวของฝั่งตัวละครเอก (Protagonist) เช่นกัน โดยเฉพาะจาก ‘สึเนโมริ อากาเนะ’ บุคคลที่ทั้งเห็นพ้องกับการมีอยู่ของระบบซิบิล ที่ตอนนี้ค้ำจุนสังคมไว้ แต่ในขณะเดียวกันก็เห็นจุดอ่อนและตั้งคำถามกับระบบซีบิลเป็นระยะ และการตั้งคำถามของเธอไม่ได้จำกัดอยู่แค่การลดบทบาทของเครื่องจักร แล้วเสริมค่าของมนุษย์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่เธอยังคิดเผื่อให้กฎหมายในอนาคตรองรับระบบซีบิลเสียด้วยซ้ำ
และอีกอย่างหนึ่งที่เห็นชัดในอนิเมะ Psycho-Pass ก็คือ การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงระบบนั้น ไม่ได้สำเร็จได้เพียงชั่วข้ามคืน บางครั้งอาจจะต้องใช้เวลานานนับเดือนนับปี บางครั้งก็ต้องยอมพูดคุยกับคนที่มีแนวคิดตรงข้ามโดยสิ้นเชิง บางครั้งก็ต้องเสียอิสระหรือความเป็นตัวของตัวเองไป แต่ถ้าเดินหน้านำเสนอในสิ่งที่เป็นไปได้ ก็จะมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ดี