ฉันจะเป็นนักดนตรีแจ๊สอันดับ 1 ของโลกให้ได้!
Blue Giant เป่าฝันให้เต็มฟ้า คือภาพยนตร์ลำดับที่ 2 ต่อจาก Past Lives ที่ค่ายหนังอารมณ์จีดีเอชนำเข้ามาจัดฉายในประเทศไทย จริงอยู่ที่เราไม่อาจล่วงรู้ได้ว่า หลักเกณฑ์ในพิจารณาเลือกหนังเป็นแบบไหน มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง แต่หลังจากที่ Past Lives เพิ่งจะมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ปีล่าสุดไปได้หมาดๆ เราก็พอจะตั้งความหวังได้ลางๆ ว่า เรื่องถัดมาอย่าง Blue Giant จะต้องมีแง่มุมที่น่าสนใจบางอย่างซ่อนอยู่อย่างแน่นอน
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ Blue Giant*
‘จากมังงะสุดฮิต ยอดพิมพ์กว่า 11 ล้านเล่มสู่ที่สุดของภาพยนตร์สร้างแรงบันดาลใจ’ คือคำโปรยที่ค่ายใช้โปรโมต โดยเรื่องราวของ Blue Giant ว่าด้วยเส้นทางสู่ฝันของ 3 หนุ่มนักดนตรีต่างที่มา นำโดย ได มิยาโมโตะ นักแซกโซโฟนสมัครเล่นผู้มีเป้าหมายจะเป็นเบอร์ 1 ของโลก ยูกิโนริ ซาวาเบะ นักเปียโนที่ฝึกปรือฝีมือตั้งแต่ 4 ขวบ เพราะอยากไปเล่นดนตรีในร้านดังอย่าง So Blue ให้ได้ก่อนอายุ 20 และ ชุนจิ ทามาดะ มือกลองฝึกหัดที่พร้อมงัดทุกแรงใจมายกระดับความสามารถของตัวเอง
Blue Giant มีชื่อติด 1 ใน 5 ภาพยนตร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Japan Academy Film Prize (เทียบได้กับรางวัลออสการ์ของประเทศญี่ปุ่น) ในสาขาภาพยนตร์อนิเมชั่นยอดเยี่ยม ร่วมกับภาพยนตร์อย่าง The Boy and the Heron และ โคนัน เดอะ มูฟวี่ ภาคที่ 26 และด้วยเนื้อหาซึ่งว่าด้วยการไล่ล่าคว้าฝัน ดนตรีแจ๊สอันเปี่ยมไปด้วยมนตร์เสน่ห์ ตลอดจนงานด้านภาพที่โดดเด่น ทรงพลัง ปราศจากการประนีประนอม ก็ไม่แปลกเลยหากภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าไปอยู่ในใจของผู้ชม ไม่เว้นกระทั่งคนดูชาวไทย
อย่างไรก็ดี เพราะการเล่าเรื่องที่ค่อนข้างเป็นเส้นตรง บวกกับการที่ตัวละครเอกผู้เต็มไปด้วยความตั้งใจอย่างไดแทบจะไม่ต้องเผชิญอุปสรรคใดเลยเมื่อเทียบกับตัวละครอื่นๆ ก็ส่งผลให้ผู้ชมบางส่วนรู้สึกไม่เชื่อมโยง และอาจไม่อยากเอาใจช่วยนักแซกโซโฟนหนุ่มมากนัก ตรงกันข้ามกับอีก 2 ตัวละครหลักอย่างซาวาเบะและทามาดะ ที่ผู้สร้างไม่เพียงเลือกฉายแง่มุมความเป็นมนุษย์ให้ได้เห็นมากกว่า แต่ยังพาผู้ชมไปสำรวจตรวจตราถึงความฝัน ความต้องการ รวมถึงโอกาสต่างๆ ทั้งที่เราได้รับและไม่ได้รับในชีวิตอีกด้วย
ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้ผู้ชมทางหน้าจอส่วนหนึ่งจะค่อนขอดว่า ตัวดำเนินเรื่องอย่าง ได มิยาโมโตะ มีดีแค่พรสวรรค์ เกือบจะไม่มีการเติบโตผ่านจุดพลิกผันหรืออุปสรรคเลยตลอดความยาว 120 นาที การฝึกฝนแซกโซโฟนเพียง 3 ปีแล้วเป่าได้อย่างมิยาโมโตะถือว่ามีพรสวรรค์ก็จริง แต่หากจะบอกว่าเขามีดีเพียงเท่านั้นก็อาจจะเป็นการดูถูกไดเกินไปหน่อย เพราะนอกจาก ‘พรสวรรค์’ แล้ว เขาก็ยังมี ‘พรแสวง’ ในการฝึกซ้อมซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป่าแซกโซโฟนจนมือเจ็บปากปวดแม้จะไม่มีใครได้ยินท่วงทำนองที่เขาถ่ายทอดเลยก็ตาม
มิยาโมโตะเกิดและโตในชนบท ครอบครัวไม่ได้มีฐานะมากมาย สิ่งที่รายล้อมตัวเขาไม่ใช่ความเจริญทางวัตถุที่หาได้ในเมืองหลวง แต่เป็นภูเขา ต้นหญ้า และแม่น้ำ แต่ถึงอย่างนั้น หลังจากได้แซกโซโฟนเป็นของขวัญจากพี่ชาย เขาก็ทุ่มเทแรงกายฝึกซ้อมเพียงลำพังเสมอมา ต่อให้อากาศจะเหน็บหนาว น้ำในลำธารแปรเปลี่ยนน้ำแข็ง ต้นไม่ใบหญ้าถูกหิมะปกคลุม เขาก็ยังเป่า เป่า และเป่า โดยมีเป้าหมายเพียงการเป็นอันดับ 1 ของโลก เป็นความฝันที่เขามุ่งมั่น แต่ก็ไม่มีวันรู้ว่าตัวเองจะก้าวขาไปถึงได้หรือไม่
ผลักดันซึ่งกันและกัน
สมาชิกทั้ง 3 คนของวง Jass เล่นดนตรีด้วยความต้องการที่จะแตกต่าง เหตุผลของคนเป่าคืออยากเป็นนักดนตรีแจ๊สยอดฝีมือ นักเปียโนต้องการไปเล่นในสถานที่ที่ใฝ่ฝัน อยากก้าวไปอีกขั้นตามเส้นทางอาชีพ ในขณะที่มือกลอง เขาเพียงอยากทดลอง เก่งขึ้น และได้เล่นดนตรีร่วมกับเพื่อนผู้เป็นที่รัก ณ ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิต
แม้ต่างคนจะต่างมีเหตุผลเป็นของตัวเอง แต่เมื่อมาอยู่รวมกัน ต่างคนก็ต่างผลักดันและเติมไฟฝันให้อีกคนโดยไม่รู้ตัว เช่นเดียวกับในโลกแห่งความเป็นจริง เมื่อเราได้อยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยคนเก่งๆ ไม่มากก็น้อย เราคงอยากรีบเร่ง ถีบตัวเองให้เก่งขึ้นตามไป หรือในยามที่เหนื่อย ท้อ หมดแรง หรือต้องการแสงไฟ เพื่อนร่วมงาน ร่วมทีม หรือร่วมวงนี่เองที่อาจช่วยส่งต่อกำลังใจให้เรากลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง
บางครั้งเขาก็ชม บางทีเขาก็ตัดสิน ฝั่งเราเองก็รู้สึกขอบคุณบ้าง เสียใจบ้าง แต่ระหว่างทางที่ได้ใช้เวลาร่วมกันจะทำให้เราเติบโตขึ้น เป็นตัวเองในเวอร์ชั่นที่ดีขึ้น และอาจเข้าใกล้ความฝันได้มากขึ้น แม้ความฝันของเรากับเขาจะอยู่คนละเส้นทางกันก็ตาม
คำพูดหนึ่งของซาวาเบะอย่าง ‘ต่างคนต่างก็เป็นแท่นเหยียบให้กันเพื่อก้าวให้สูงขึ้น’ อาจฟังดูใจร้าย แต่ก็คงไม่ปฏิเสธไม่ได้ว่าในแง่มุมหนึ่ง มันก็เป็นความจริง และก็คงจะดีกว่านั้น หากเราไม่ได้ ‘เหยียบกัน’เพื่อขึ้นไปยังที่สูง แต่เป็น ‘ช่วยกัน’ เพื่อให้ความฝันของทุกคนเป็นจริงให้ได้มากที่สุด
ยังไม่เก่ง แต่ก็เก่งขึ้นนะ
เป็นที่เข้าใจตรงกันของทั้งตัวละครและผู้ชมว่า มือกลองอย่างชุนจิ ทามาดะ มีทักษะทางด้านดนตรีที่อ่อนด้อยกว่าคนอื่น แต่ถ้าถามถึงความพยายาม เขาเองก็มีไม่แพ้ใคร และเพราะเจ้าตัวก็รู้ดีว่าเพิ่งหัดเล่นได้ไม่นาน ยังห่างชั้นกับเพื่อนๆ อยู่มาก จึงยิ่งอยากบากบั่นมากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัว
เขารู้ดีแก่ใจว่าตัวเองยังไม่ใช่มือกลองที่เก่ง แต่คนที่ยังไม่เก่งหรือเชี่ยวชาญจะไม่คู่ควรกับการได้รับคำชื่นชมหรือเชิดชูบ้างเลยหรือ…
ฉากหนึ่งที่ติดอยู่ในใจของเรา และน่าจะในใจของคนดูอีกหลายคนคือฉากที่คุณลุงคนหนึ่ง เอ่ยปากชมทามาดะว่า “ครั้งนี้ทำได้ดีกว่าครั้งที่แล้วนะ”
น้ำตาของเราไหลพรากไม่ต่างจากตัวละครในเรื่อง เพราะเราทั้งเห็นใจและเข้าใจ ทามาดะตระหนักดีว่าตัวเองยังต้องฝึกอีกมาก แต่คำชมสั้นๆ เพียงครั้งเดียวก็อาจช่วยต่อลมหายใจให้คนอีกคนมีไฟที่จะไปต่อ เพราะก็ต้องยอมรับว่า การเป็นอันดับ 1 ไม่ใช่สิ่งที่หลายคนจะไปถึงได้ แต่การเก่งขึ้นกว่าเมื่อวานได้ก็เพียงพอและควรค่าแก่คำชื่นชมยินดีแล้ว
เวลาในการทำตามฝันอาจสั้นกว่าที่คิด
เพราะมีแม่เป็นครูสอนดนตรี ยูกิโนริ ซาวาเบะ จึงได้จับเปียโนตั้งแต่อายุเพียง 4 ขวบ ถึงวันนี้เขาก็เล่นดนตรีและเต็มที่กับแจ๊สมาแล้ว 14 ปีเต็ม เขาแน่วแน่มาเสมอ ฝึกฝนเปียโนเป็นประจำ ทั้งยังวางแผนอนาคตของตัวเองไว้อย่างรัดกุม ทว่าบางครั้งบางที ภาพฝันที่วาดไว้ก็อาจไม่สวยหรูแบบในจินตนาการ
อุบัติเหตุที่ผ่านเข้ามาอย่างไม่คาดคิดทำให้ความฝันของซาวาเบะจำต้องหยุดชะงัก ว่ากันตามตรง มันดูไม่ยุติธรรมเอาเสียเลยที่คนที่ออกแบบชีวิตอย่างรอบคอบอย่างเขาจะต้องมาประสบชะตากรรมเช่นนี้ ชั่วขณะหนึ่งมันก็ทำให้คนดูตัดพ้อว่า ความพยายามทั้งชีวิตของคนบางคนจะไม่มีทางผลิดอกออกผลเลยหรือไร และอีกชั่วขณะ มันก็ช่วยให้เราตระหนักได้ว่า เวลาของคนเราไม่ได้มีเหลือเฟือเผื่อใช้มากขนาดนั้น ความฝันอาจมีวันหมดอายุ ตราบใดที่ยังมีแรงอยู่ก็ควรลองไล่ตามก่อนจะหมดโอกาส
ยังดีที่ท้ายที่สุด หนังไม่ได้มอบบทสรุปที่ใจร้ายจนเกินไปนัก ความฝันของนักเปียโนวัย 18 จำต้องหยุดชะงักก็จริง แต่การหยุดไม่ใช่จุดจบ มันเป็นเพียงการพักผ่อน ทบทวน ก่อนที่รถไฟขบวนแห่งความฝันของเขาจะออกเดินทางอีกครั้ง และครั้งหน้า เชื่อเหลือเกินว่าเราคนดูก็จะอยากติดตามการต่อสู้สู่เป้าหมายของเขา รอฟังเสียงเปียโนอันไพเราะของเขา และเฝ้ามองชีวิตที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากขึ้นตามการเปลี่ยนผ่านของเวลา
ทุกความฝันต้องมีผู้สนับสนุน
ชายคนหนึ่ง บังเอิญผ่านมาได้ยินการฝึกซ้อมแซกโซโฟนกลางหิมะของมิยาโมโตะ แม้ครั้งนั้น ทักษะของมิยาโมโตะจะเข้าขั้นเลวร้าย แต่เพราะเห็นถึงความตั้งใจจริง ชายคนนี้จึงอาสาขัดเกลาวิชาให้เด็กชายด้วยความยินดี เป็นการกระทำที่ช่วยให้หนึ่งความฝันได้มีโอกาสงอกเงย
การขอสมัครเป็นรูมเมตตอนที่ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงโตเกียวของมิยาโมโตะอาจเป็นวิธีการกึ่งบังคับที่ดูไม่มีความเกรงใจ ทว่าสิทธิขาดว่าจะอนุญาตหรือไม่ก็ยังเป็นของชุนจิ ทามาดะอยู่ดี เพื่อนคนนี้เอื้อเฟื้อที่ซุกหัวนอนแก่มิยาโมโตะ เป็นการต่อยอดความฝันในเมืองหลวงให้กับเขา ส่วนตัวเจ้าของห้องเองก็ได้รับแรงบันดาลใจด้านดนตรีมาด้วยความบังเอิญ และนั่นก็เปลี่ยนชีวิตของเขาไปด้วยเช่นเดียวกัน
ถึงจะไม่ได้เล่าตรงๆ แต่คนดูก็คงทึกทักได้ว่า เจ้าของร้านค็อกเทลที่ชื่อ JAZZ Take Two น่าจะเคยเป็นนักร้องสาวในวงดนตรีแจ๊สมาก่อน และทั้งที่ไม่ได้รู้จักมักจี่ แต่เธอคนนี้ก็อนุญาตให้วงของ 3 หนุ่มเข้ามาใช้พื้นที่ในการซักซ้อมวงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แน่นอน มันอาจไม่ใช่การช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ อาจเป็นเพียงจุดเล็กๆ เมื่อเทียบกับความพยายามอันมากมายที่นักดนตiu 3 ชีวิตทุ่มเทฝึกซ้อม แต่ลึกๆ ในใจ ทั้งเราและนักดนตรีวัยรุ่นต่างรู้ดีว่า ร้านค็อกเทลแห่งนี้คือพื้นที่ที่อุ้มชูให้ความฝันของพวกเขาเป็นรูปเป็นร่าง น้ำใจเล็กๆ ของเจ้าของร้านคือการสนับสนุนอันมหาศาลที่ไม่มีใครควรลืม และในโลกความเป็นจริง ทุกเป้าหมายและความฝัน ต่างก็ต้องการโอกาสและแรงสนับสนุนแบบเดียวกันกับที่ครูคนแรก เพื่อนในกรุงโตเกียว และเจ้าของร้านค็อกเทลมอบให้นั่นเอง
นี่เองคือสัจธรรมแห่งความฝันและการไขว่คว้าที่ภาพยนตร์ดนตรีแจ๊สส่งตรงถึงผู้ชม มิยาโมโตะ ซาวาเบะ และทามาดะบอกเราว่า ไม่ว่าจะมีพรสวรรค์หรือไม่ แต่การฝึกซ้อมก็ไม่ใช่สิ่งที่จะละเลยได้อยู่ดี และในระหว่างทางที่พยายาม การมีกลุ่มคนที่คอยผลักดัน สนับสนุน พร้อมให้กำลังใจเราอยู่เป็นระยะก็นับเป็นพลังงานที่ควรมีติดตัว และเมื่อได้รับมาแล้ว เราก็ควรเต็มที่กับทางที่เลือก เพราะเราย่อมไม่มีทางล่วงรู้อนาคต ว่าตัวเราเองจะมีเวลาทำตามความฝันอีกกี่วัน กี่เดือน หรือกี่ปี
ผู้กำกับเรื่อง Blue Giant อย่าง ยูสึรุ ทาชิกาวะ (Yuzuru Tachikawa) ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า
“หลังจากเราให้สตอรี่บอร์ดแก่เหล่าอนิเมเตอร์ พวกเขาก็เนรมิตภาพออกมา แต่ไม่ได้สร้างสรรค์ตามภาพร่างที่เราให้ไป พวกเขาวาดสิ่งที่อยากวาด เป็นลายเส้นที่โคตรจะมีเอกลักษณ์แบบเดียวกับนักดนตรีแจ๊สที่ต้องเติมเต็มความสดใหม่ในทุกบทเพลงที่พวกเขาบรรเลง”
Blue Giant เป็นภาพยนตร์ว่าด้วยความฝันและดนตรีแจ๊ส แต่เมื่อดูจนจบ นอกจากประเด็นความฝันที่ถูกถ่ายทอดในเรื่องแล้ว เชื่อเหลือเกินว่าคนดูแทบทุกคนจะสัมผัสได้ถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของบรรดาผู้สร้างที่ตั้งใจถ่ายทอดออกมาผ่านทางชิ้นงาน เราจับต้องได้ถึงความรักที่มีต่อเสียงดนตรี เรามองเห็นการดิ้นรนทนทำ ปล่อยพลังลายเส้นกันสุดตัวแบบที่ในหนังใช้คำว่า ‘เอาลำไส้ออกมากางให้ดู’ และเรารับรู้ได้ถึงความไม่ยอมแพ้เพื่อสร้างงานที่ดีที่สุดเท่าที่ตัวเองจะทำได้
เราจึงสามารถพูดอย่างเต็มปากว่า การสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้เองก็คือส่วนประกอบของความฝัน พรสวรรค์ การไขว่คว้า และการให้โอกาส Blue Giant ไม่เพียงให้บทเรียนและแง่คิดกับเราผ่านทางหน้าจอ แต่ผู้คนที่อยู่หลังจอก็เป็นแรงบันดาลใจในชีวิตจริงให้กับพวกเราได้ไม่ต่างกัน
อ้างอิงจาก