“แน่นอนว่าถ้าไป ลูกจะต้องเสียอะไรบางอย่าง แต่พร้อมกันนั้น ลูกก็จะได้รับอะไรกลับมาเหมือนกัน”
เรื่องราวการเติบโตหรือ Coming-of-Age เป็นวัตถุดิบที่นักทำหนังหลายคนโปรดปราน และหลังจากได้ชมภาพยนตร์อย่าง Past Lives ครั้งหนึ่งซึ่งคิดถึงตลอดไป เราก็มั่นใจเหลือเกินว่า เซลิน ซง (Celine Song) ผู้กำกับชาวเกาหลีที่เกิดและโตในลอสแอนเจลิสเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
หากพิจารณาอย่างผิวเผิน หนังจากค่าย A24 เรื่องนี้ว่าด้วยความสัมพันธ์แบบรักสามเส้า ทำนองชายสอง-หญิงหนึ่ง ซึ่งถูกเพิ่มระดับความซับซ้อนด้วยประเด็นชาติกำเนิดและการอพยพ โดยนายองหรือนอรา ที่รับบทโดย เกรตา ลี (Greta Lee) คือนักเขียนบทละครเวทีสาววัย 36 ที่ข้ามน้ำข้ามทะเลจากเกาหลีมาตั้งรกรากในแคนาดาตั้งแต่อายุ 12 ก่อนจะโยกย้ายอีกทอดมาที่นิวยอร์ก เมืองซึ่งเธอตกลงปลงใจอยู่กินกับอาเธอร์ รับบทโดย จอห์น มากาโร (John Magaro) เพราะบังเอิญเจอกันในค่ายนักเขียนด้วยสถานะต่างคนต่างโสด ขณะเดียวกัน รักแรกของนอราอย่างแฮซอง ที่รับบทโดย ยู แทโอ (Yoo Teo) ก็บุ่มบ่ามบินจากโซลมาหาเธอถึงที่ และนี่คือการพบกันครั้งแรกของทั้งคู่หลังจากไม่ได้เจอมา 24 ปีเต็ม
ถึงหน้าหนังจะฉายภาพตามนั้น แต่เมื่อพินิจให้ชิดกว่าทีแรก คนดูจะพบว่า นอกเหนือจากเนื้อหาสาระรักๆ เจ็บๆ Past Lives ยังออกหมัดฮุกอย่างแง่มุมการละทิ้งตัวจนเพื่อการย้ายถิ่นฐาน วางตัวเองคนเก่าไว้ที่บ้าน แล้วแปลงโฉมเป็นคนใหม่เพื่อเอาตัวรอด ซึ่งตัวละครนอราก็ช่วยให้ตระหนักชัดเจนว่า เราทุกคนล้วนต้องกลายเป็นคนใหม่ผ่านการทิ้งบางอย่างไว้เบื้องหลัง โดยที่บางครั้ง เราก็อยากเป็นคนใหม่จริงๆ แต่บางที เราก็กลายเป็นแบบนี้โดยไม่ได้ตั้งใจ
*บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของ Past Lives*
ปล่อยวางอย่างเต็มใจ
เพื่อการย้ายสำมะโนครัวไปยังแคนาดา นอราจำต้องทิ้งหลายสิ่งอย่างไว้ที่บ้านหลังเก่าในเกาหลี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน รักแรก โรงเรียน ภาษา ตลอดจนวัฒนธรรม เธอต้องกลายเป็นอีกคนเพื่อดิ้นรนในดินแดนซึ่งไม่เคยรู้จักมาก่อน จริงอยู่ว่าในวันที่ออกเดินทาง นอราในวัย 12 ยังเด็กเกินกว่าจะมีอำนาจตัดสินใจไปหรือไม่ไปด้วยตัวเอง
แต่กระนั้น เธอก็ไม่เคยแสดงอารมณ์ขัดข้องหมองใจแต่อย่างใด ทั้งยังตั้งอกตั้งใจเลือกชื่อใหม่ที่เป็นภาษาอังกฤษอย่างพิถีพิถัน หรือพูดง่ายๆ เธอดู ‘พอใจ’ กับการย้ายบ้านครั้งนี้ไม่มากก็น้อย และนั่นก็เท่ากับว่า แม้จะรู้สึกเศร้าอยู่บ้าง แต่เธอก็ ‘ยินดี’ ที่จะปล่อยวางตัวตน เรื่องราว และชิ้นส่วนต่างๆ ของนอราคนเก่าไว้ที่เกาหลี พร้อมยืดอก แข็งใจ และเงยหน้ารับความท้าทายที่จะมาถึงในอีกซีกโลก
ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถละทิ้งตัวตนได้ง่ายดายเหมือนอย่างนอรา แต่หนังก็บอกเล่าอย่างมีน้ำหนักมากพอที่เราจะเชื่อว่า เด็กสาวชั้นประถมสามารถหันหลังให้กับความเป็นอยู่เดิมได้อย่างไม่ทุกข์ร้อนจนเกินไป ผู้ชมจะเข้าใจตั้งแต่ช่วงต้นของหนังว่า นอราเป็นเด็กที่มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับเป้าหมายเป็นอันดับแรก เธอตั้งใจเรียนจนสอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง และต่อให้มีเพียงครั้งเดียวที่แฮซอง เด็กชายที่เธอแอบปลื้ม คว้าอับดับ 1 ของเธอมาครอง เธอก็ยังไม่มีกระจิตกระใจจะไปแสดงความยินดี แถมยังใช้เวลาทั้งหมดที่มีไปกับการร่ำไห้ เป็นการสะท้อนได้อย่างแหลมคมว่า ความต้องการเบื้องลึกของคนคนนี้คือการทุ่มเทเต็มที่เพื่อความฝัน หาใช่การฝ่าฟันเพื่อความรัก
อย่างไรเสีย เราไม่ได้กำลังบอกว่านอราเกลียดกลัวความรัก เพียงแต่อยากชี้ให้เห็นว่า ถ้าต้องเลือกระหว่างเนื้อคู่กับรางวัลที่ใฝ่ฝันมาตลอด น้ำตาของเด็กวัย 12 ที่สอบได้ที่ 2 ก็บอกได้ว่า สำหรับเธอ คำตอบคืออย่างหลัง
จะว่าไป การละทิ้งบางสิ่งเพื่อทำตามเป้าหมายบางอย่างก็อาจเป็นหนทางที่เราในชีวิตจริงเคยทำมาบ้างพอสมควร หากเป็นคนต่างจังหวัดที่ย้ายเข้ามาเรียนหรือทำงานในเมืองกรุง เราก็อาจเต็มใจที่จะเปลี่ยนอุปนิสัยหรืออัตลักษณ์บางอย่างเพียงเพราะอยาก ‘กลมกลืน’ ไปกับสังคม
หลายคนพยายามเก็บงำสำเนียงพื้นถิ่นไว้เพราะไม่อยากโดนล้อหรือถูกทำให้กลายเป็นตัวตลก เช่นเดียวกับในวันที่ย้ายที่ทำงาน เราก็คงต้องกดสัญชาตญาณบางอย่างเพื่อให้อยู่ร่วมกับเพื่อนใหม่ได้อย่างราบรื่น ไม่ใช่ว่าเราไม่เป็นตัวเอง เพียงแต่ก็ต้องยอมรับว่า เราคงเป็นคนเดิมได้ไม่เต็มร้อย ซึ่งเศษเสี้ยวเปอร์เซ็นต์ที่ขาดไป เราอาจตั้งใจทิ้งมันไว้ที่บ้านเก่านั่นเอง
ทิ้งไปโดยไม่เคยรู้ตัว
ทุกครั้งที่นอราร้องไห้ แฮซองจะยืนมองอยู่ใกล้ๆ อยู่ด้วยเพื่อปลอบใจโดยไม่ต้องมีคำพูด แต่แล้วเมื่อที่อยู่ของเธอคือทวีปอเมริกาเหนือแทนที่จะเป็นเอเชีย ความขี้แยก็แปรเปลี่ยนเป็นเพียงข้อเสียที่ไม่เคยมีเพื่อนคนใดปลอบประโลม สุดท้ายเธอก็ต้องยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้ มิเช่นนั้นก็คงไม่สามารถใช้ชีวิตในต่างแดนได้อย่างมีความสุข จนเมื่อรู้ตัวอีกที เด็กหญิงขี้แยคนนั้นก็ลอกคราบ แล้วแปลงสภาพเป็นสาวแกร่งผู้มีจิตใจเข้มแข็งและไม่ต้องพึ่งพาใคร
การเปลี่ยนแปลงของนอราไม่ได้เกิดขึ้นจากความปรารถนาของตัวเธอเอง เพราะหากเลือกได้ เธอก็คงอยากร้องไห้โดยมีไหล่ของใครบางคนไว้พักพิง ทว่าบริบทและช่วงวัยกลับบีบบังคับให้เธอทำลายอุปนิสัยเหล่านั้น สิ่งต่างๆ รอบตัวทำให้เธอเชื่อว่า ‘ถ้าเราเข้มแข็งกว่านี้ ชีวิตเราจะง่ายกว่านี้’ จนท้ายที่สุด ไม่ว่าจะยินดีหรือไม่ก็ตาม เธอก็กลายเป็นคนที่ไม่ร้องไห้ง่ายๆ อีกต่อไป
ย้ายสายตาจากหน้าจอมายังชีวิตจริง หลายครั้งเหลือเกินที่เราต้องทิ้งความอ่อนแอ ความต้องการ และความสนุกสนานเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ผู้ใหญ่หลายคนก็เจ็บปวดและอยากร้องไห้ แต่เขาก็ดันเคยชินกับการข่มอารมณ์และโอบกอดความทุกข์เพียงลำพังจนแทบไม่สามารถระบายมันออกมาได้อีกแล้ว หรืออีกตัวอย่างที่น่าเศร้าคือเราในวัยเด็กเคยเป็นคนที่สนุกสนานกว่านี้หลายสิบเท่า ทว่าการเติบโต โลกการทำงานที่ต้องแข่งขัน ไปจนถึงค่าครองชีพที่สูงจนไปถึงดวงจันทร์ก็หล่อหลอมจนเรากลายเป็นคนจริงจัง เคร่งเครียด ไม่เหลือแม้เงาของหัวใจเปื้อนยิ้มแบบที่เราในวันวานเคยมีอีกต่อไป
ทิ้งแต่เก็บ
อย่างไรก็ดี ทั้งที่เปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ด้วยความตั้งใจ และทั้งที่ต้องปรับตัวอย่างไม่เต็มใจ จนแล้วจนรอด หลังจากย้ายออกจากแดนกิมจิได้ 12 ปี นอราก็นึกสนุกอยากออกตามหาสิ่งที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของเธอในอดีต เธอกดค้นหาเพื่อนวัยประถมทางเฟซบุ๊ก เฝ้ามองอยู่ห่างๆ ว่าแต่ละคนเติบโตแบบไหน มีความสุขหรือไม่ อย่างไร ทั้งยังทำถึงขนาดนัดพูดคุยกับคนที่แอบชอบในวัยเด็กอย่างแฮซองผ่านแพลตฟอร์มสไกป์ (Skype) จนคนดูพอจะเข้าใจแล้วว่า แม้นอราจะ ‘ทิ้ง’ ทุกอย่างมา แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เธอก็อยากกลับไป ‘เก็บ’ สิ่งสำคัญเท่าที่เรี่ยวแรงและเทคโนโลยีจะเอื้ออำนวย…
ไม่แน่ใจว่าทุกคนเป็นเหมือนกันมั้ย แต่ย้อนกลับไปในช่วงที่เฟซบุ๊กเริ่มบูม เราก็เป็นหนึ่งคนที่พยายามตามหาใครบางคนที่เคยพลัดหลงกันเพราะยุคของโซเชียลมีเดียยังไม่มาถึง นอกจากนั้น บางตัวตนที่เราเคยทอดทิ้งในวันที่เริ่มต้นเรียนหนังสือที่กรุงเทพฯ หรือเก็บซ่อนไว้ในนาทีแรกที่เข้าทำงาน วันหนึ่งที่ปรับตัวได้ มันก็ค่อยๆ ก้าวออกจากร่มเงาเพื่อเตือนให้รู้ว่า เราเป็นตัวของตัวเองได้มากกว่าที่คิด และเราไม่จำเป็นต้องฝืนไปเสียทุกอย่าง
แม้การได้สนทนาแบบเห็นหน้าของนอราและแฮซองในวัย 24 จะช่วยให้เสียงดนตรีในหัวใจกลับมาบรรเลงอีกครั้ง แต่การประคับประคองความสัมพันธ์ท่ามกลางระยะห่าง 6,800 ไมล์โดยไม่ได้เจอกันตัวเป็นๆ ก็ทิ่มแทงความรู้สึกและส่งผลลบต่อการทำงานมากกว่าที่นอราจะรับได้ สุดท้ายเธอจึงตัดสินใจยุติการคบหากับแฮซอง และไม่พูดคุยกันอีกเป็นเวลา 12 ปี เพราะฉะนั้น แม้จะอยากเก็บบางอย่างที่เคยทิ้งไป เธอก็คงรู้ดีแก่ใจว่าความสัมพันธ์กับแฮซองเป็นสิ่งที่ยากเกินกว่าจะโอบรับ
สิ่งที่ผู้ชมหลายคนน่าจะตั้งคำถามคือ ในเมื่อตัดสินใจปล่อยวางแล้ว เหตุใดนอราในวัย 36 ที่แต่งงาน และอยู่บ้านเดียวกับสามีอย่างอาเธอร์เป็นที่เรียบร้อยจึงยังตบปากรับคำเพื่อพบเจอกับแฮซองที่เดินทางมาพักร้อนที่นิวยอร์ก ในทางหนึ่ง ถ้าเราจะมองอย่างหลวมๆ ว่า มันคือการรียูเนียนของเพื่อนเก่าก็คงได้ แต่อีกมุม เราก็คงรับรู้ได้ว่า เบื้องลึกในหัวใจ นอราก็มีความรู้สึกเสน่หาให้กับแฮซองไม่น้อย และความรู้สึกที่ท่วมท้นกว่านั้นที่ตัวนอราก็น่าจะรู้ดีคือ แฮซองนี่แหละที่จะช่วยให้เธอได้พบกับตัวเองในวัย 12 เด็กหญิงขี้แยที่ชื่อนายองอีกครั้งหนึ่ง เพราะทุกอย่างรอบตัวและการเติบโตค่อยๆ ประกอบสร้างจนเธอหลงลืมเด็กคนนั้นไปแล้วระหว่างทาง แต่การได้ใช้เวลากับแฮซองนี่เองจะเตือนให้เธอนึกขึ้นได้ว่า ครั้งหนึ่งตัวเองเคยเป็นใคร
ทิ้งไว้ แต่ในใจยังเหลืออยู่
‘หลายครั้ง เราก็รู้ตัวว่าบางสิ่งเปลี่ยนไป แต่กลับไม่รู้ตัวว่าบางอย่างยังเหมือนเดิม…’
ระยะเวลากว่า 2 ทศวรรษช่วยให้นอราแทบจะกลายเป็นพลเมืองของอเมริกาโดยสมบูรณ์ มีอาชีพที่ดูดี มีการใช้ภาษาที่ชัดถ้อยชัดคำ ทั้งยังเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เธอเอ่ยออกมาอย่างมั่นใจด้วยซ้ำว่าการเป็นคนเกาหลีที่โตมาในสหรัฐแตกต่างจากคนเกาหลีที่เกิดและโตที่นั่นอย่างไร จึงไม่น่าเชื่อว่า สิ่งที่เธอเคยเข้าใจว่าทิ้งไปแล้วจนหมด ที่แท้กลับหลงเหลือเศษเสี้ยวซึ่งซุกซ่อนอยู่ตามซอกจิตใต้สำนึกของเธอเอง
มีฉากหนึ่งที่อาเธอร์เล่าให้นอรา รวมถึงผู้ชมฟังว่า ผู้เป็นภรรยามักจะละเมอออกมาเป็นภาษาเกาหลี ซึ่งนั่นหมายความถึงการมีโลกอีกใบในความฝัน เป็นดินแดนในอดีตที่ผู้เป็นสามีไม่สามารถย่างกรายเข้าไปหรือทำความเข้าใจได้เพราะกำแพงภาษา สภาวะนี้ชี้เป็นนัยๆ ว่า แม้จะเด็ดขาดกับการทิ้งขว้างบางอย่างออกไปให้ไกลแสนไกล สุดท้ายแล้วสิ่งนั้นอาจประทับอยู่ที่เดิมในหัวใจโดยที่เราไม่รู้หรือแกล้งไม่รู้ตัว กระทั่งหลับตาฝัน สิ่งที่เคยโยนทิ้งนั้นจึงส่องแสงสลัวเตือนให้รู้ว่ามันไม่เคยจากไปไหนเลย
‘เราตั้งใจลืมอะไรไม่ได้หรอกนะ’ คงเป็นข้อความสรุปสิ่งที่เกิดขึ้นในยามนอนของนอรา
คงไม่มีใครเปลี่ยนแปลงไปจนหมด เช่นเดียวกับที่คงไม่มีใครเหมือนเดิมไปตลอด แท้จริงแล้ว Past Lives คงเป็นหนังที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามว่า
สุดท้ายเราจะเลือกเติบโตแบบไหน และจะเลือกทำหรือเลือกจดจำสิ่งต่างๆ อย่างไร
อ้างอิงจาก