การกลับมาอีกครั้งของอนิเมชั่นจิบลิ (Ghibli) โดยเฉพาะการเป็นผลงานของฮายาโอะ มิยาซากิ (Miyazaki Hayao) คือการเข้าฉายของ The Boy and the Heron หรือเด็กชายกับนกกระสา ค่อนข้างเป็นกระแส และได้รับผลตอบรับที่ค่อนข้างดีในระดับโลก ล่าสุดก็ได้รับรางวัลลูกโลกทองคำไปทั้งในสาขาอนิเมชั่นและดนตรีประกอบยอดเยี่ยม
*บทความนี้กล่าวถึงสัญญะและเนื้อหาบางส่วนของเด็กชายกับนกกระสา*
ท่ามกลางกระแสว่าอนิเมชั่นเรื่องนี้สนุกจริงไหม ส่วนตัวในฐานะผู้สนใจผลงานของจิบลิขอออกตัวเลยว่า เรื่องนี้ดี ปู่มิยาซากิยังทำผลงานออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม มีความสลับซับซ้อน เป็นแฟนตาซีแบบที่ไม่หวานฉ่ำหรือขมปร่าจนเกินไป ตัวเรื่องยังคงองค์ประกอบที่น่าสนใจของความเป็นจิบลิไว้ โดยเฉพาะการใช้สัญญะต่างๆ การเล่นกับคู่ตรงข้ามของความเป็นธรรมชาติ และการเอาตำนานเก่าแก่อย่างการก้าวไปยังโลกความตาย มาเจือกับกลิ่นอายของความเป็นไซไฟได้อย่างน่าสนใจ
ถ้าพูดอย่างรวบรัด เด็กชายกับนกกระสาถือเป็นหนังที่ยังรักษาฟอร์ม ซึ่งอาจจะทำได้น่าประทับใจขึ้น จนบางรีวิวเรียกว่าเป็นคำอำลา การบอกรัก และการเยี่ยมเยียนโลกมหัศจรรย์ครั้งสุดท้ายของมิยาซากิ สำหรับเด็กชายกับนกกระสา ถ้าหัวใจของเรื่องที่ฟังดูธรรมดา ทั้งความเป็นแฟนตาซี การก้าวไปอีกโลกเพื่อนำพาคนที่รักกลับมา และการรับมือความสูญเสีย แต่ด้วยองค์ประกอบหลายๆ อย่างเราอาจพบว่า หนังเรื่องนี้มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการหยิบเอาสัญญะต่างๆ ที่มีความซับซ้อนจากนกกระสาและการใช้นกน้ำ การเล่นกับสัญญะของธรรมชาติ คือไฟกับน้ำ และสิ่งที่เกี่ยวพันกับเรื่องที่จิบลิมักพูดถึง เช่น สงคราม เด็ก การเติบโต และการเยียวยาบาดแผล บางส่วนก็อาจตีความในฐานะความรู้สึกส่วนตัวของผู้สร้างสรรค์ คือมิยาซากิเองได้
นกกระสา นกน้ำ และพื้นที่ชุ่มน้ำ
สำหรับแฟนจิบลิ หน้าหนังเด็กชายกับนกกระสาถือเป็นหนังที่รวมองค์ประกอบแบบเวรี่จิบลิ และอาจสะท้อนความคิดพื้นฐานความเป็นจิบลิของมิยาซากิ ชนิดที่เรารู้สึกว่าคุ้นเคยดี ทั้งนี้ตัวอนิเมชั่นยังพูดเรื่องเด็กผู้ชายที่สูญเสียแม่ไปด้วยไฟสงคราม การพบเจอพื้นที่ธรรมชาติและทางเข้าพื้นที่เหนือจินตนาการ และการเดินทางเพื่อกลับไปเยียวยาบาดแผลจากสงครามนั้นๆ
การเลือกใช้นกกระสานวล หรือ Heron ถือเป็นการเลือกสัตว์ที่มีความมหัศจรรย์ มีความเป็นปกรณัมที่น่าตื่นเต้นว่า ครั้งนี้มิยาซากิจะเอาตำนานการเดินทางไปยมโลก และตำนานสัตว์ญี่ปุ่นอย่างนกกระสากลับมาตีความใหม่ในปัจจุบันยังไง สำหรับนกกระสานวลเอง ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นก็มีความหมายที่ซับซ้อนและค่อนข้างตอบโจทย์กับปมสำคัญของเรื่อง
นกกระสาเป็นสัตว์สำคัญที่สัมพันธ์กับการจากลา อย่างแรกคือนกกระสาเป็นนกน้ำ หมายความว่าพวกมันสามารถเดินทางผ่านพื้นที่ 3 รูปแบบ คือผืนดิน น้ำ และอากาศได้ พวกมันจึงเป็นตัวแทนของการก้าวข้ามผ่านโลกหรือภพภูมิต่างๆ ในตำนานโรมันเอง นกกระสานวลเป็นตัวแทนของการกลับมาจากความตาย เป็นนกที่โผบินขึ้นเหนือกองเถ้าถ่าน และเป็นเค้าลางหนึ่งของตำนานนกฟีนิกซ์
ทีนี้นกกระสาในศิลปะแบบญี่ปุ่นก็มีความหมายซับซ้อน และสะท้อนประเด็นเรื่องความอาดูร การสูญเสีย ความรัก และความตายด้วย เช่น ในงานศึกษาภาพแทนของนกกระสานวลในศิลปะภาพพิมพ์ไม้ ภาพของกระสานวลมักถูกวาดไว้ในฉากของฤดูหนาว โดยเป็นภาพของความสงบนิ่งของสีขาวนวลตัดกับสีเทา ท่วงท่าของนกกระสามักตีความเชื่อมโยงกับการแบกรับความเศร้า การเฝ้ามองความเปลี่ยนแปลงของสรรพชีวิตและฤดูกาล หลายภาพของนกกระสาแสดงถึงการแบกรับความเศร้าในความสงบนิ่ง
นกกระสามีความหมายซับซ้อน ในศิลปะญี่ปุ่นนอกจากมันจะแสดงถึงความเศร้าแล้ว ภาพนกกระสานวลยังแสดงภาพการโผบินไปเป็นกลุ่ม ซึ่งตีความได้ถึงการเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอย่างไม่เกรงกลัว การมีคนรักหรือมิตรสหายร่วมเดินทางฝ่าฟันความเปลี่ยนแปลงนั้น
ความเศร้า การเผชิญความตาย และการสูญเสีย จึงเป็นความเชื่อมโยงที่เงียบงันของมาฮิโตะ เด็กชายที่แบกรับความสูญเสียแม่ ในความเชื่อมโยงนั้นเป็นความเชื่อมโยงที่แม้ว่าเรื่องจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย ความขบขันของเจ้านกกระสาและความแข็งกร้าวของเด็กผู้ชายเอาไว้ แต่ด้วยนัยของนกกระสา และการสร้างบรรยากาศที่ร้าวรานอย่างเงียบงัน ทำให้อยู่ๆ เราเองก็สัมผัสถึงความเศร้าที่ถาโถมออกมาได้โดยไม่ทันตั้งตัว
ความเงียบในช่วงต้นของเรื่องคือจุดพิเศษที่อยากพูดถึง ช่วงที่มาฮิโตะกำลังปรับตัว เราอาจสังเกตว่าหนังให้บรรยากาศของเสียงที่ไม่มีดนตรี เป็นความเงียบและเสียงของสรรพสิ่งที่ลั่นเอี๊ยดอ๊าด ความเงียบอาจเป็นความรู้สึกอึงอลที่ต้องแบกรับความเศร้า และเผชิญความเปลี่ยนแปลงในช่วงต้นเรื่อง เป็นความกดดันและความรู้สึกที่เราค่อยๆ สัมผัสถึงความกดดันที่มาติโตะต้องเผชิญและเก็บงำความร้าวรานไว้
ที่เกิดและที่ตาย กับความยอกย้อนของสัญญะ
นอกจากนกกระสาแล้ว ตัวเรื่องเด็กชายกับนกกระสายังคงประเด็นคลาสสิกของจิบลิไว้ นั่นคือการพูดถึงสงครามเป็นประจำ สงครามและมนุษย์มักไปสัมพันธ์กับการรบกวนธรรมชาติ ไปจนถึงภาพของธรรมชาติที่ทรงพลัง และกลับมาอันตรายโต้ตอบกับมนุษย์เราได้ ดังนั้นสำหรับเรื่องนี้เราจะเห็นการใช้สัญญะ 2 ด้านที่อยู่คู่กัน แต่มีนัยซ้อนทับกันอย่างน่าสนใจ ซึ่งในที่นี้หมายถึงน้ำกับไฟ
ตัวเรื่องเปิดเรื่องด้วยเปลวไฟ ซึ่งเปลวไฟเป็นสัญญะสำคัญที่ปรากฏในหลายเรื่อง ไฟเป็นตัวแทนของวิทยาการ เป็นสิ่งที่แผดเผา และทำลายสิ่งต่างๆ แต่ในเรื่องนี้ สุดท้ายเปลวไฟกลับถูกทำให้กลายเป็นตัวแทนของผู้เป็นแม่ เป็นพื้นที่ของการปกป้องคุ้มครอง ถ้าเรามองย้อนไปในบางเรื่อง ไฟที่น่ารักก็มีอย่างแคลซิเฟอร์ ไฟเป็นส่วนหนึ่งของครัว ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญที่จิบลิมักวาดภาพถึง เป็นส่วนหนึ่งของอาหาร ของความรัก และของความอบอุ่น
ในทางกลับกัน น้ำก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญ และเข้ามามีบทบาทต่อตัวละคร น้ำมีนัยที่ซับซ้อนและหลากหลายในตัวเอง เป็นสัญญะที่ตรงข้ามกับไฟ เป็นดินแดนของการเยียวยารักษา พื้นที่ชุ่มน้ำไปจนถึงท้องทะเลจึงเป็นตัวแทนของพื้นที่ให้กำเนิด ไปพร้อมๆ กับห้วงน้ำเองก็เป็นดินแดนของความตาย เราจะเห็นการจมลงจากผิวน้ำซึ่งสัมพันธ์กับการก้าวข้าม ไม่ว่าจะเป็นโลกความจริงและโลกความฝัน การก้าวไปสู่ความทรงจำและดินแดนอื่นๆ
ตรงนี้เองเราจะเริ่มจับสังเกตได้ว่า มิยาซากิยังคงใช้การอ้างอิง หรือการตีความตำนานที่เราคุ้นเคยกลับมาในเวอร์ชั่นของตัวเองได้อย่างน่าสนใจ เราจะเห็นการใช้น้ำ ใช้อุปมาของแม่น้ำในฐานะพื้นที่เชื่อมต่อสู่ยมโลกเหมือนกับความเชื่อแบบกรีกและโรมัน เห็นการพายเรือที่ชวนให้นึกถึงชารอน (Charon) ในตำนานกรีก บางช่วงที่พูดถึงการก้าวไปยังยมโลก และห้ามหันหลังกลับไปก็ล้อกับออร์ฟิอุส หรือการเจอกับประตูยักษ์ที่ทำให้นึกถึงวลีสำคัญ และประตูนรกในการเดินทางของดันเต้
ความเป็นไซไฟ และการตีความเรื่องกาล-มิติ
หัวใจหนึ่งของอนิเมชั่นจิบลิ คือการเล่าประเด็น เช่น บาดแผลและการเยียวยา โดยจิบลิมักจะใช้ความเป็นธรรมชาติ และความเหนือธรรมชาติเข้ามาร่วมเยียวยา ตรงนี้อาจจะเหมือนว่าเรามีโลกความฝัน เป็นอุปมาของการใช้สิ่งเหนือธรรมชาติ และเรื่องเล่าที่เป็นทั้งพื้นที่ปลอดภัย และพื้นที่การเรียนรู้ เบื้องต้นการอุปมาถึงน้ำและไฟ ไปจนถึงดินแดนธรรมชาติ ก็อาจเป็นขั้นตอนของการเยียวยาแรกๆ ในการหลบหนีจากโลกใบนี้
ทว่าดินแดนมหัศจรรย์ที่ตัวละครเดินทางเข้าไป เป็นอีกหนึ่งพื้นที่ที่ร่วมเยียวยา และเป็นพื้นที่การเรียนรู้สิ่งที่เป็นนามธรรมอย่างเป็นรูปธรรม ตรงนี้เองที่เราจะเห็นสัญญะอันน่าสนใจสำคัญ ซึ่งมีกลิ่นอายของการผสมหรือสัญลักษณ์จากงานแนวไซไฟเข้ามา สำหรับเรื่องนี้ ความเป็นไซไฟถือว่าทำงานกับความหมายของเรื่องได้ค่อนข้างดี เป็นพื้นที่ของการขมวดและคลายปมได้อย่างน่าประทับใจ
สัญญะแรกๆ ที่เราเห็นคือหอคอย ซึ่งจริงๆ หอคอยมีความคาบเกี่ยวระหว่างเรื่องเล่าตำนานกับหอคอยในมุมมองของไซไฟ ในเด็กชายกับนกกระสา หอคอยค่อนข้างค่อนไปทางความเป็นไซไฟ หากนึกภาพถึงนิยายวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงงานที่เป็นปรัชญามากหน่อย หอคอยมักสัมพันธ์กับดินแดนของความรู้ต้องห้าม เช่น บาเบล ความเป็นห้องสมุดเขาวงกตไร้ก้นบึ้งซึ่งสัมพันธ์กับความรู้ที่ไม่รู้จบ การมาถึงของหอคอยเองก็มีความไซไฟในตัวเอง
สิ่งที่น่าสนใจคือเด็กชายกับนกกระสา เล่าเรื่องผ่านหอคอยเขาวงกต ซึ่งหอคอยทำหน้าที่เป็นประตูหรือ Portal เชื่อมโยงทั้งมิติและเวลาเข้าหากันอย่างซับซ้อน การเข้าไปพบแม่ การคลายปมและบาดแผลในใจ การขมวดปมเข้าหากันของห้วงเวลา ที่มีทั้งกลิ่นอายของตำนานและความรู้สึกของนิยายวิทยาศาสตร์ ชวนให้คิดถึงอนิเมชั่นหรืองานสร้างสรรค์ของญี่ปุ่นเรื่องอื่นๆ เช่น หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ (Your Name) ที่ใช้แนวคิดเรื่องมิติเวลาเข้ามาขมวดและคลายปมได้อย่างน่าประทับใจ
สุดท้ายนอกจากเด็กชายกับนกกระสา จะเป็นหนังที่เล่นกับสัญญะความหมาย ไปจนถึงประเภทวรรณกรรม ทั้งไซไฟและแฟนตาซีที่เราคุ้นเคยได้อย่างสดใหม่ และเป็นจิบลิ คือทั้งสวยงาม ร้าวราน และยังคงมีความหวัง เรื่องนี้จึงยังอาจมีบางบทบาท เช่น การเป็นเหมือนพื้นที่ที่มิยาซากิสื่อสารถึงผู้ชม ในฐานะผู้สร้างสรรค์ที่เริ่มคิดถึงผู้สืบทอด การเล่าถึงการเลือกเส้นทางและการสร้างสรรค์ในแนวทางของตัวเอง ซึ่งมิยาซากิเองแม้จะมีข่าวว่าน่าจะยังทำหนังต่อไป แต่เรื่องนี้ก็อาจเป็นความรู้สึกบางอย่างของการอำลา และการเดินทางครั้งสุดท้ายที่อาจสะท้อนกลับไปยังการทำงาน รวมถึงเส้นทางทั้งของมิยาซากิ และผู้สืบทอดการงานของเขาต่อ
สรุปคืออนิเมชั่นเรื่องนี้ดีนะ เป็นอีกเรื่องที่ใช้ศักยภาพของความเป็นภาพยนตร์ การดูหนังในห้องมืดๆ และเปิดการรับรู้ต่อสิ่งต่างๆ ซึ่งอันที่จริงแค่การสร้างตัวละครด้วยการฝังบาดแผลไว้ และค่อยๆ เผยบาดแผล จนสุดท้ายบาดแผลนั้นกลายเป็นส่วนหนึ่ง (และความเท่) ของตัวละคร ก็รู้สึกว่ามันเท่จังเลยนะแล้ว
อ้างอิงจาก