ในที่สุด หนึ่งในไฮไลต์สำคัญของดาบพิฆาตอสูร หรือการเดินทางและการฝึกฝนของทันจิโร่ที่เดินทางมายังหมู่บ้านช่างตีดาบ คือการได้อัปสกิล ได้ฝึกวิชาอันเป็นมรดกจากนักดาบจากยุคก่อนหน้า ในที่นี้คือการได้ใช้หุ่นกลหกแขนในการฝึกฝีมือ
สำหรับเกมเมอร์เอง เมื่อเร็วๆ นี้เราก็มีเกมชื่อ Wild Hearts เป็นเกมส์แนวล่าสัตว์ประหลาดที่มีธีมเป็นวัฒนธรรมญี่ปุ่นโบราณ ในเกมนั้นมีระบบสำคัญที่เรียกว่าคาราคุริเช่นเดียวกัน เจ้าคาราคุริหรือหุ่นกลนี้จึงมีความน่าสนใจในฐานะเครื่องกลโบราณที่อยู่คู่กับวัฒนธรรมญี่ปุ่นมานับพันปี
ย้อนกลับไปที่หมู่บ้านช่างตีดาบ การเลือกส่งต่อวิชา หรือกระทั่งความทรงจำหลายร้อยปีก่อนผ่านหุ่นกล นอกจากจะมีความน่าสนใจในความเก๋ต่อการอัปสกิลให้ทันจิโร่แล้ว การใช้คาราคุรินั้นยังมีนัยสำคัญทางประวัติศาสตร์ของยุคเซ็นโงคุที่สืบเนื่องมาจนถึงยุคไทโช ยุคสมัยที่คาบเกี่ยวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของทันจิโร่
หุ่นคาราคุริสัมพันธ์กับการรับเอาเครื่องยนต์กลไกแบบตะวันตก เข้ามาปรับปรุงความหลงไหลในกลไกของญี่ปุ่น เจ้าหุ่นกลและเครื่องกลมีความสัมพันธ์กับปรัชญาของความเป็นญี่ปุ่น การรับและดัดแปลงวิทยาการแบบตะวันตกที่ทั้งหมดนั้นอาจสัมพันธ์กับความเป็นญี่ปุ่นร่วมสมัยที่มีความรักในหุ่นยนต์เช่นโดเรม่อน ไปจนถึงปรัชญาการใช้กลไกเพื่ออำนวยความสะดวกในกิจการน้อยใหญ่ต่างๆ
คาราคุริ เครื่องกล และหุ่นยนต์โบราณ
คำว่า คาราคุริ ในที่นี้หมายถึง หุ่นคาราคุริ หรือ karakuri puppet ซึ่งก็คือหุ่นกลที่ประกอบขึ้นด้วยกลไกภายใน ทำให้หุ่นกลนั้นสามารถขยับหรือทำสิ่งต่างๆ คำว่า กลไก ในที่นี้จึงคล้ายกับในภาษาไทย คือนัยของกลไกสัมพันธ์กับความรู้สึกของผู้คนในการดูชมเจ้าหุ่นกลไกนั้นที่ให้ความรู้สึกเหมือนชมการเล่นกล (trick) คือผู้ดูชมหุ่นนั้นจะรู้สึกประหลาดใจระคนหวั่นใจ ในการทำงานอันเป็นปริศนาของเจ้ากลไกที่อยู่ภายใน
ในประวัติศาสตร์อันยาวนานของญี่ปุ่น อุปกรณ์ที่เหมือนกับตุ๊กตาหรือหุ่นกล มีการกล่าวถึงเก่าแก่ที่สุดในบันทึกโบราณชื่อ Nihon Shoki บันทึกที่เล่าถึงราชวงศ์ยุคก่อน คือราวศตวรรษที่ 6 ในบันทึกกึ่งตำนานนี้เล่าถึงเจ้าชายองค์หนึ่งที่แก้ปัญหาพื้นที่นาแล้ง ด้วยการสร้างหุ่นกลหน้าตาเป็นเด็กที่เมื่อเอาน้ำเทใส่แล้ว หุ่นเด็กนั้นจะเทน้ำรดหน้าตัวเอง ผลคือทั่วทั้งเมืองตักน้ำมา และเทใส่ถังในมือหุ่นเพื่อตลกกับกลไกนั้น ส่วนน้ำที่หุ่นนั้นเทลง ก็ลงไปสู่นาข้าวที่กำลังแล้ง
จากตำนานหุ่นกลโบราณ สู่ตุ๊กตาคาราคุริที่เป็นหุ่นที่ทำสิ่งต่างๆ ได้ เป็นนวัตกรรมในช่วงหลังศตวรรษที่ 16 นวัตกรรมและความนิยมนี้สันนิษฐานว่าสัมพันธ์กับการมาถึงของเรือของชาวดัตช์ โดยในปี 1551 บาทหลวงฟรันซิสโก ฆาบิเอร์ หรือที่เรารู้จักในนามนักบุญฟรังซิส เซเวียร์ (Francis Xavier) บาทหลวงโรมันคาทอริกคนสำคัญ ผู้เดินทางเผยแพร่ศาสนาในเอเชีย รวมถึงจีน ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย โดยเมื่อเดินทางถึงญี่ปุ่น ได้นำนาฬิกาที่มีระบบเฟืองและลานถวายแก่ไดเมียวโออุจิ โยชิทากะ (Ouchi Yoshitaka) ในสมัยเซ็นโงคุ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ชาวต่างชาติเดินทางมาเยือนญี่ปุ่น การรับความรู้และวิทยาการจากตะวันตกของญี่ปุ่นนั้นเป็นไปอย่างเคร่งครัด ประกาศที่ชัดเจนที่สุด คือสมัยเอโดะที่มีการห้ามเดินทางออกนอกญี่ปุ่นและโดดเดี่ยวบนเกาะญี่ปุ่น ในตอนนั้นเอง นาฬิกาแบบญี่ปุ่นจึงได้ถือกำเนิดขึ้น เป็นการนำระบบกลไกของนาฬิกาแบบตะวันตก มาสร้างเป็นนาฬิกาที่บ่งบอกเวลาในแบบของญี่ปุ่นเองเรียกว่า wadokei เป็นนาฬิกากลขนาดใหญ่ บอกเวลาเป็นระบบชั่วยามที่อิงกับปีนักษัตรทั้งสิบสอง ชั่วยามนั้นมีความเฉพาะตัวและเปลี่ยนความสั้นยาวไปตามฤดูกาล ซึ่งต้องอาศัยการประดิษฐ์และกลไกที่สลับซับซ้อน
ทั้งนี้ในการรับนวัตกรรมจากตะวันตกในยุคเซ็นโงคุและยุคเอโดะ ก็มีบางพื้นที่ที่ได้รับการยกเว้น คือสามารถนำเทคโนโลยีตะวันตกมาปรับใช้ได้ หลักๆ คือพื้นที่ที่สัมพันธ์กับศาสนาและการเฉลิมฉลอง ตรงนี้เองที่ในสมัยเซ็นโกคุ มีการนำกลไกแบบนาฬิกาตะวันตกประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาหรือหุ่นกลขึ้น ก่อนที่จะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในยุคเอโดะอันเป็นสมัยถัดมา
มีอะไรในหุ่นกล
ประวัติศาสตร์หุ่นกลของญี่ปุ่นก็ไม่ชัดเจนนัก โดยทั่วไปสันนิษฐานว่าประดิษฐ์ขึ้นก็เมื่อชาวญี่ปุ่นรู้จัก และช่างฝีมือได้นำกลไกของนาฬิกาตะวันตกมาใช้ในการประดิษฐ์ตุ๊กตากล คือในราวต้นศตวรรษที่ 17 ยุคเซ็นโงคุเป็นยุคสงคราม จนมาในยุคเอโดะที่เริ่มสงบสุขและเริ่มรับเทคโนโลยี ในยุคนี้เองที่ตุ๊กตากลเฟื่องฟูขึ้นจนได้รับฉายาว่าเป็นยุคทองของตุ๊กตากล
หุ่นกลโบราณของญี่ปุ่นก็มีหลายรูปแบบ ปรัชญาหลักของหุ่นกลเหล่านี้ คือการใช้ความเคลื่อนไหว หรือการขยับเขยื้อนเพื่อกระตุ้นความรู้สึก โดยเฉพาะความประหลาดใจในความเคลื่อนไหวที่เจ้าหุ่นนั้นทำได้ ดังนั้น แกนของการประดิษฐ์หุ่นกลคือการซ่อนกลไกอันเป็นความลับเอาไว้
สำหรับหุ่นกลของญี่ปุ่น ถ้าเรามองว่ามันคือนวัตกรรมที่ช่างญี่ปุ่นเอาระบบเฟืองและลานที่รู้จักจากการมาถึงของนาฬิกามาประยุกต์ใช้ หุ่นกลในยุคเฟื่องฟูอย่างยุคเอโดะ ก็น่าประทับใจไม่ต่างจากหุ่นดาบหกแขน ที่เป็นคู้ซ้อมให้เสาหลักหมอกและทันจิโร่เลย หุ่นกลในยุคเฟื่องฟูเป็นของเล่นและสิ่งบันเทิงราคาแพงของชนชั้นสูง ซึ่งหนึ่งในหุ่นกลที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ หุ่นกลเสริฟน้ำชา ประดิษฐ์ขึ้นในยุคเอโดะ (1603–1868)
เจ้าหุ่นกลเสิร์ฟน้ำชา มีหน้าตาเป็นตุ๊กตาที่ยืนตรง ในมือถือจานขนาดย่อมเอาไว้ เจ้าหุ่นนี้เมื่อเจ้าของวางถ้วยน้ำชาลงในจาน มันจะเดินไปข้างหน้าตามระยะ และเมื่อถ้วยชาถูกหยิบออกจากจานในมือ เจ้าหุ่นจะหันหลังและเดินกลับยังจุดเดิมที่มันเดินจากมา ฟังดูก็พอจะเห็นภาพว่าเจ้าหุ่นเดินไปเดินกลับเองได้โดยที่ไม่ต้องไขลาน แต่ต้องอาศัยความเข้าใจด้านกลไก รวมถึงความเข้าใจเรื่องการเคลื่อนไหว แรงโน้มถ่วง และอื่นๆ ที่ถูกคิดและประดิษฐ์ขึ้นอย่างซับซ้อน
นอกจากหุ่นเสิร์ฟชาที่น่าทึ่งและนับเป็นหุ่นกลที่มีชื่อเสียงที่สุดแล้ว ตุ๊กตากลของญี่ปุ่นยังมีอีกหลายระบบกลไก เช่น หุ่นที่เดินขึ้นบันไดได้โดยอาศัยแรงโน้มถ่วงในการสร้างหุ่นกลในยุคเอโดะ นับเป็นงานช่างที่แฝงปรัชญาของการรักษาจิตวิญญาณของญี่ปุ่นที่รับเอาเพียงนวัตกรรมตะวันตกเข้ามา เช่น การตัด เกลา และประกอบหุ่นที่ใช้การช่างไม้ที่มีความประณีตถี่ถ้วน ส่วนประกอบของหุ่นอย่างส่วนหัว มือ แขน และขา ต้องใช้ช่างที่ชำนาญแยกออกจากกัน การนำเอาความเข้าใจและงานช่างไม้มาประยุกต์ในการทำเฟืองที่มีความประณีตในสมัยนั้นเอง ช่างตุ๊กตาคาราคุริก็ได้ประกาศว่าผลงานของตนนั้นอยู่ได้ถึง 200 ปี โดยไม่ต้องปรับหรือจัดการอะไรเลย
การทำหุ่นคาราคุริค่อนข้างเป็นความลับ เป็นเทคนิคเฉพาะของช่างแต่ละสำนัก จนในปี 1796 ปรมาจารย์คาราคุริชื่อ Hosokawa Hanzo Yorinao เขียนหนังสือชื่อ Karakuri Zuii เป็นตำราว่าด้วยกลไกที่ในหนังสือสามเล่มนั้นได้แจกแจงภาพ และกลไกของนาฬิกาญี่ปุ่นแบบที่กล่าวไปข้างต้นและกลไกของตุ๊กตาคาราคุริ 9 รูปแบบ หนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อส่งต่อให้ช่างภายในสำนักของผู้เขียนเอง ก่อนจะได้รับการเผยแพร่ไปในวงกว้าง
สำหรับตุ๊กตาและหุ่นคาราคุริก็มีพัฒนาการ และมีหลายรูปแบบ เช่น หุ่นสำหรับชม เช่นหุ่นในบ้าน หุ่นที่ใช้แสดงในโรงละคร และหุ่นขนาดใหญ่ที่ใช้งานเทศกาลหรือขบวนแห่ทางศาสนา หลังจากยุคเอโดะมาในยุคเมอิจิ หุ่นคาราคุริก็ค่อยๆ เสื่อมความนิยมลง แต่ในช่วงศตวรรษที่ 19 ญี่ปุ่นก็มีปรมาจารย์ด้านกลไกที่ได้ฉายาว่า โทมัส เอดิสัน (Thomas Edison) แห่งโลกตะวันออกคือ ทานากะ ฮิซาชิเงะ (Tanaka Hisashige) นักคิดวิศวกรในยุคปลายเอโดะต่อเนื่องเมอิจิ เป็นผู้ก่อตั้งเครือโตชิบา (Toshiba) เขาเกิดในครอบครัวช่าง จึงได้อ่านตำราคาราคุริของฮันโซ และประดิษฐ์ตุ๊กตาคาราคุริขึ้นโดยใช้เทคโนโนยีสำคัญคือระบบเป่าลมไฮดรอริกและสปริงเข้าร่วมในกลไกการเคลื่อนไหว ตุ๊กตาคาราคุริ 2 ตัวที่มีชื่อเสียงคือ ตุ๊กตายิงธนู เป็นเด็กชายที่ถือคันธนู สามารถน้าวและยิงธนูออกไปยังเป้าได้ และตุ๊กตาอีกตัวหนึ่ง เป็นตุ๊กตาที่หยิบพู่กันและสามารถเขียนเป็นตัวอักษรขึ้นได้
ความเชื่อมโยงของศิลปะหุ่นกล จึงมีร่องรอยสืบต่อมายังนวัตกรรมร่วมสมัย ข้อสังเกตเรื่องความสนใจเรื่องหุ่นกลและกลไกในวัฒนธรรมญี่ปุ่น บ้างก็เชื่อมโยงความชื่นชอบในหุ่นกลเข้ากับมุมมองของคนญี่ปุ่นที่มีต่อเครื่องยนต์กลไก แต่เมื่อเทียบกับมุมมองของชาติอื่นๆ ที่มีต่อจักรกลรวมถึงหุ่นยนต์แล้ว ญี่ปุ่นนับเป็นชาติที่เป็นผู้นำในด้านกลไกที่เก่าแก่นับพันปี ตรงนี้เองที่อาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมญี่ปุ่นร่วมสมัยที่เปิดรับกับการใช้เครื่องยนต์กลไก
วัฒนธรรมร่วมสมัยของญี่ปุ่นนี้ก็เห็นได้จากร้านค้าที่ใช้เครื่องจักรเป็นตัวช่วย เป็นผู้คนที่คิด และใช้อุปกรณ์จากกลไกในแทบทุกส่วน รวมไปถึงการเป็นผู้นำของหุ่นยนต์ที่เห็นภาพโลกอนาคตของคนและหุ่นยนต์อยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว
อ้างอิงจาก