ถือว่าปิดฉากไปเรียบร้อยกับดาบพิฆาตอสูรภาคการสั่งสอนของเสาหลัก ส่งท้ายด้วยการเข้าสู่ปราสาทไร้ขอบเขตของเหล่านักล่าอสูร ตามข้อมูลจากผู้ผลิตคือหลังจากนี้เราก็ต้องรอตีตั๋วเข้าไปชมในโรงเป็นหนังไตรภาคเพื่อนำการต่อสู้อันยาวนานไปสู่บทสรุป
สำหรับแฟนคลับอย่างเราๆ การจบท้ายด้วยการร่วงหล่นเข้าสู่ปราสาท นำไปสู่การรอคอย ซึ่งทางค่ายก็ยังไม่ระบุวันฉายภาคต่อๆ ไปที่จะเป็นหนังโรง เราเองก็คงจะรู้สึกได้ว่า แฟนๆ อย่างเราๆ คงต้องรออีกนาน ดังนั้นในระหว่างรอ ประกอบกับช่วงนี้ที่ TCDC มีนิทรรศการภูตญี่ปุ่นหรือ Yokai จัดแสดงอยู่ ถ้าเราย้อนดูเรื่องราวของดาบพิฆาตอสูร ตัวเรื่องได้รับอิทธิพลจากเรื่องเล่าและตำนานญี่ปุ่น การต่อสู้กับอสูรกินคนและรายละเอียดต่างๆ ที่ล้อไปกับความเชื่อและเรื่องเล่าดั้งเดิม
เพื่อเป็นการแก้คิดถึง The MATTER จึงชวนย้อนดูบริบทและเรื่องเราตำนานท้องถิ่นของญี่ปุ่นที่ปรากฏในเรื่องดาบพิฆาตอสูร จากเจ้าพ่ออสูรทั้งปวงมุซันที่ก็อ้างอิงมาจากราชาภูติแห่งขบวนร้อยอสูร ดอกไม้สำคัญเช่นดอกฟูจิและฮิกังบานะที่มีความผูกพันกับเรื่องเล่าตำนานท้องถิ่น กระทั่งเรื่องราวของนักล่าอสูรก็มีข้อเขียนวิชาการที่เชื่อมโยงเข้ากับวัฒนธรรมการเข้าทรงหรือชาแมน
Fuji Flower
ดอกฟูจิหรือดอกวิสทีเรีย เป็นดอกไม้ที่มีบทบาทสำคัญของดาบพิฆาตอสูร ในเรื่องดอกฟูจิเป็นพิษกับอสูรและช่วยป้องกันและกำจัดอสูรบางระดับได้ ดอกและต้นฟูจิเป็นอีกหนึ่งพืชสำคัญทางวัฒนธรรมทั้งของญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ลักษณะของต้นฟูจิเป็นไม้เลื้อย มักเลี้ยงปกคลุมไปที่พืชอื่นๆ และต้นฟูจิมักจะออกดอกอย่างสวยงามตระการตา ความหมายของฟูจิจึงมักเกี่ยวกับความรัก ความลุ่มหลงในความรัก ความเอื้ออารี การเกาะเกี่ยวของต้นฟูจิถูกตีความเข้ากับการโอบกอดของชายหญิง
บางตำนานเชื่อมโยงดอกฟูจิเข้ากับความรักที่ไร้การตอบสนองกับเรื่องเล่าของนักแสดงคาบูกิชื่อ ‘ฟูจิมุสุเมะ’ สตรีพรมจรรย์ที่นั่งรอคนรักในภาพวาดใต้ต้นฟูจิ เธอตกหลุมรักกับบุรุษที่ชื่นชมภาพวาดของเธอจนก้าวออกมาจากภาพวาด ทว่าความรักของเธอไม่สมหวังจึงก้าวกลับเข้าไปในภาพวาดและรอคอยความรักที่ไม่มีวันเกิดขึ้นไปตลอดกาล
ดอกฟูจิจึงเป็นตำนานที่ทั้งงดงามและแสนเศร้าของความรัก นอกจากเรื่องความรักแล้ว ดอกฟูจิยังให้ภาพความลึกลับและเชื่อมโยงกับพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ สำหรับดาบพิฆาตอสูร สิ่งที่อสูรพ่ายแพ้คือแสงสว่าง ดอกฟูจิเป็นตัวแทนของฤดูร้อนด้วยว่ามักจะบานในช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป ในมิติพุทธศาสนา ต้นฟูจิมักจะเลื้อยปกคลุมไปทุกทิศทางเป็นตัวแทนของการแสวงหาการตื่นรู้ ขณะเดียวกันการแผ่กิ่งก้านต้องการการตัดแต่งเพื่อให้ดอกไม้เบ่งบาน เหมือนกับจิตของเราที่ต้องการการฝึกฝนควบคุม
ทั้งนี้ต้นและดอกฟูจิเป็นพืชที่มีพิษ ทุกส่วนของต้นวิสทีเรียโดยเฉพาะเมล็ดที่อยู่ในดอกฟูจิมีสารก่อพิษเรียกว่า ‘วิสเทอริน (wisterin)’ การบริโภคเข้าไปอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ วิงเวียน หรืออาเจียนได้
Blue Higanbana
‘ฮิกังบานะหรือดอกพับพลึงแดง (Red Spider Lily)’ เป็นดอกไม้สีแดงสดที่ตัวมันเองเต็มไปด้วยเรื่องเล่าแะตำนานที่เกี่ยวข้องกับความตายและการจากลา แต่เดิมชาวญี่ปุ่นนิยมปลูกต้นฮิกังบานะไว้บริเวณสุสานเนื่องจากพวกมันเป็นพิษ ช่วยป้องกันสัตว์โดยเฉพาะตุ่นขุดทำลายหลุมศพ ต้นฮิกังบานะเป็นไม้ที่มีพิษรุนแรงโดยเฉพาะในยาง แม้ยามอดอยากผู้คนจะสามารถขุดหัวของมันไปกินได้ แต่ยางที่ยังหลงเหลืออยู่ก็ทำให้เกิดอาการท้องเสีย เป็นอัมพาต กระทั่งเสียชีวิตได้ ทั้งตัวดอกของมันมักจะบานในช่วงวันชูบุนโนะฮิหรือวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ร่วง วันที่ชาวญี่ปุ่นจะเดินทางไปไหว้บรรพบุรุษซึ่งสุสานทั้งหลายก็มักจะปกคลุมไปด้วยดอกไม้สีแดงฉาน
ฮิกังบานะ เป็นดอกไม้ที่มีลักษณะประหลาด คือตัวมันจะออกดอกโรยราไปก่อนจึงจะแตกใบ ในบางตำนานเล่าถึงเทพยดาที่ลักลอบจากสวรรค์และหนีตามกันมา เมื่อถูกจับได้จึงถูกสาปให้กลายเป็นใบและดอกของฮิกังบานะ แปลว่าทั้งสองจะไม่มีวันพบเจอกันอีก ครั้งพระพุทธองค์พบดอกฮิกังบานะเข้าก็ตรัส ดอกไม้ได้กระทำความชอบและขอให้เบ่งบานในอีกด้านและนำทางดวงวิญญาญไป ตรงนี้เองทำให้เกิดความเชื่อว่าที่อีกฝั่งของแม่น้ำซันสึ แม่น้ำที่ทอดระหว่างแดนคนเป็นที่เรียกว่า ‘ชิกัง’ ไปสู่แดนคนตายคือฮิกัง ฟากฝั่งโน้น จึงเป็นที่ๆ ดอกฮิกังบานะเบ่งบานและนำทางวิญญาณกลับสู่วัฏฏะ
ดอกฮิกังบานะเป็นดอกไม้ที่ว่าด้วยความตาย การก้าวผ่านจากโลกคนเป็นสู่คนตาย การรอคอยอยู่ที่อีกฝากของแม่น้ำ ทว่าดอกฮิกังบานะไม่มีสีฟ้า ดังนั้น ดอกฮิกังบานะสีฟ้าจึงอาจเป็นการตีความด้านกลับของการก้าวผ่าน คือการก้าวจากดินแดนของคนตายคือยามราตรี เชื่อว่าทำให้อสูรสามารถเดินอยู่ใต้แสงอาทิตย์ในเวลากลางวันได้อีกครั้ง
Muzan: Nurarihyon
ดาบพิฆาตอสูรค่อนข้างอิงตำนานและเรื่องเล่าเหนือธรรมชาติ อสูรมีลักษณะคล้ายยักษ์หรือ Oni ตัวใหญ่ มีเขา มีพละกำลังมาก โอนิอาจนับเป็นสิ่งมีชีวิตเหนือธรรมชาติที่เรียกว่า ‘โยไค (yokai)’ หรืออาจแปลหลวมๆ ว่า ‘ภูต’
ซึ่งภูตแบบญี่ปุ่นมีความน่าสนใจ คือเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติที่เชื่อมโยงกับโลกมนุษย์ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสวรรค์หรือนรก เป็นจิตวิญญาณที่ยังมีห่วงอยู่ในโลกมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นความแค้น ความลุ่มหลง ความอยาก หรือแค่ความสนุกสนานเพราะชอบแกล้งคนเฉยๆ ก็มี โยไคมักเกี่ยวข้องกับลักษณะบางอย่างเช่นความเป็นสัตว์ หรือความเป็นมนุษย์ มีจุดเด่นคือการแปลงโฉมเพื่อแอบแฝงอยู่ในสังคมมนุษย์
ในหมู่ภูต มีหัวหน้าใหญ่เป็นราชาแห่งภูตชื่อว่า ‘นูระริเฮียง (Nurarihyon)’ นูราริเฮียงมีอิทธิพลในมังงะและสื่อสมัยหลายเรื่อง นูราริเฮียงอยู่ในสถานะของราชา เป็นตัวแทนของอำนาจ เป็นเจ้าของภูตผีปีศาจ จุดสำคัญของนูราริเฮียงคือการปลอมแปลงโฉม รูปโฉมที่รู้จักคือการอยู่ในรูปลักษณ์ชายชรา ทว่าที่มาของเจ้าแห่งภูตผีนี้มีลักษณะที่ไม่ชัดเจน บ้างก็เล่าถึงปีศาจไร้หน้า หรือปีศาจที่เชื่อมโยงกับท้องทะเล แต่จุดร่วมสำคัญคือการเป็นหัวหน้าของปีศาจที่มักหลอกลวงตบตาและเดินอยู่ทามกลางมนุษย์
Kagura
ดาบพิฆาตอสูรเป็นอีกมังงะและอนิเมะที่หยิบยืมบริบทญี่ปุ่นมาใช้อย่างเข้มข้นจึงมีงานศึกษาที่พูดถึงการนำเอาบริบทต่างๆ ไปใช้ในการสอนทั้งในด้านวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์และอื่นๆ ในบทความตีพิมพ์ในวารสาร Education About Asia (EAA) พูดถึงบริบทความเชื่อที่เชื่อมโยงกับกลุ่มนักล่าอสูร คือบริบทความเชื่อเกี่ยวกับคนทรงหรือชาแมน ร่องรอยแรกๆ ที่ค่อนข้างชัดเจนคือการพูดถึงระบำคางุระ ในเรื่องจะเป็นร่ายรำเพื่อบูชาเทพเจ้าและเกี่ยวข้องกับการใช้ปราณตะวัน โดยทั่วไปแล้วระบำคางุระเป็นการเต้นรำในความเชื่อแบบชินโต มักแสดงโดยนักบวชหญิงหรือมิโกะ ภายหลังระบำคางุระเริ่มแสดงโดยเหล่าชาวบ้าน เป็นการแสดงเพื่อความพึงพอใจของเทพเจ้าและอธิษฐานให้พืชผลงอกงาม
มุมมองจากบทความเสนอว่า การสืบทอดของนักล่าอสูรมีลักษณะคล้ายกับบทบาทเรื่องคนทรง การล่าอสูรเกี่ยวข้องกับการหยิบยืมพลังโดยเฉพาะพลังของธรรมชาติ ในศาลเจ้าแบบชินโตคนทรงหญิงมักทำพิธีชำระสำคัญสองประเภทเกี่ยวข้องกับไฟและน้ำคือ kagura เป็นการชำระด้วยเพลิงและ yudate เป็นการชำระด้วยน้ำ น่าสนใจว่าปราณสำคัญและกาชำระอสูรค่อนข้างเกี่ยวข้องกับไฟและน้ำเป็นสำคัญ
ทั้งประเด็นเรื่องความเป็นคนทรงยังสัมพันธ์กับทันจิโร่เป็นพิเศษ คือการที่สิบทอดความสามารถหรือภาระหน้าที่ผ่านสายเลือด อาชีพของครอบครัวทันจิโรที่เกี่ยวข้องกับไฟ การปรากฏปานดำเป็นอีกหนึ่งร่องรอยของการเป็นคนทรง
Nakime: Biwa-bokuboku
ถ้าพูดถึงปราสาทไร้ขอบเขต และสุดยอดอสูรข้างกายมุซัน ‘นาคิเมะ’ อสูรสาวที่เป็นเหมือนเลขาและทรงพลังระดับไม่เคยทุกข์ร้อนกับอะไร เธอจะนั่งอยู่นิ่งๆ พร้อม ‘บิวะ’ พิณประเภทหนึ่งของญี่ปุ่นอยู่ในมือ ในบรรดาภูติหรือโยไคของญี่ปุ่นมีภูตบิวะ เป็นหนึ่งในภูตจำพวกทสึคุโมกามิ (Tsukumogami) เป็นภูตที่กลายร่างจากสิ่งของเครื่องใช้ ภูตประเภทนี้มักเกิดจากสิ่งของที่มีอายุเก่าแก่นับร้อยๆ ปี
ภูตสิ่งของในกรณีนี้คือเครื่องดนตรีบิวะ เครื่องดนตรีชั้นดีที่ถูกทิ้งไว้ ยังอยู่ในสภาพดี บิวะชั้นดีจะกลายมีชีวิตจากความรู้สึกโดดเดี่ยวไร้ค่า พวกมันจะมีร่างเหมือนพระตาบอดที่มีหัวเป็นพิณบิวะ ใส่กิโมโลล้ำค่า นั่งอย่างเดียวดายบนเสื่อตาตามิและเริ่มบรรเลงเพลงด้วยความโศกเศร้า บางตำนานก็เล่าว่าพวกมันจะคอนไม้เท้าและเร่ร่อนเล่นบทเพลงอันไพเราะเพื่อแลกเงินตามท้องถนน ฟังแล้วก็น่าเศร้า ถูกทิ้งต้องหากินเอง
Rui: Tsuchigumo
ย้อนกลับไปในซีซั่นแรก กับอสูรแมงมุมและครอบครัวแมงมุมของรุย อสูรระดับข้างแรมตนแรกที่ทันจิโรเผชิญหน้า ในเรื่องรุยสร้างครอบครัวแมงมุมอยู่ในภูเขานาตากุโมะ ในตำนานญี่ปุ่นมีปีศาจแมงมุมเรียกว่า ‘สุจิกุโม (Tsuchigumo)’ แปลว่าแมงมุมดิน หรือ ‘ยามะกุโมะ (yamagumo)’ ปีศาจแมงมุมเป็นตำนานเก่าแก่บอกเล่าการต่อสู้ของวีรบุรุษกับแมงมุมยักษ์ในหลายเวอร์ชั่น
ลักษณะส่วนใหญ่เป็นแมงมุมที่มีขนาดมหึมา กินคนเป็นอาหาร การต่อสู้มักว่าด้วยนักรบหรือซามูไรที่พบเจอเหตุการณ์ประหลาด บ้างก็มาในร่างของสตรีงดงามที่มาล่อลวง เมื่อเอาชนะแล้ว ผ่าท้องของพวกมันมักจะให้ภาพกะโหลกมนุษย์นับพันไหลทะลักออกมาจากท้องของมัน ลักษณะร่วมของความเป็นภูตหรือปีศาจคือการล่อลวงและหลอกลวง น่าสนใจที่ตัวเรื่องนำมาสร้างเป็นครอบครัวจอมปลอมของเหล่าแมงมุม
Yahaba: Tenome
ในช่วงแรกๆ ที่ทันจิโรเริ่มเจอกับอสูรที่มีมนต์อสูรโลหิต คู่ต่อสู้ที่มีสีสันคือคู่ของฮายาบะและซุซามารุ จริงๆ ทั้งคู่มีที่มาจากตำนานและภูติญี่ปุ่น ยาฮาบะเป็นเด็กหนุ่มตาบอดที่มีดวงตาอยู่ที่มือ ลักษณะดังกล่าวคล้ายกับภูตที่มีชื่อว่า ‘เทโนเมะ (Tenome)’ แปลว่าดวงตาบนมือ
เทโนเมะเป็นภูตที่ใบหน้าโล้นไร้ดวงตา พวกมันจะใช้ชีวิตอยู่ตามสุสาน คอยดักรอคนที่เดินทางยามค่ำคืนและลอบเข้าใกล้ เมื่อคนพบว่าใบหน้าของมันให้เบ้าตาก็แปลว่าอยู่ใกล้พวกมันเกินกว่าจะหนี เทโนเมะกินเนื้อและกระดูกมนุษย์เป็นอาหาร คาดว่าที่มาเกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าเกี่ยวกับโจรป่าที่ดักปล้นฆ่าผู้คน
Kokushibo & Yoriichi: Tsukuyomi & Amaterasu
ในตำนานญี่ปุ่น เราคงเคยได้ยินชื่อของเทวีอามาเทราสึ เทวีแห่งดวงตะวัน ‘อามาเทราสึ’ เป็นหนึ่งในสามเทพและเทวีสำคัญเป็นตัวแทนของธรรมชาติ ร่วมกับ สึคุโยมิ จันทรเทพ และซูซาโนโอ เทพแห่งพายุและท้องทะเล เทพสามองค์เป็นพี่น้องกัน เทวีอามาเทราสึและสึคุโยมิ ซึ่งก็คือตะวันและจันทราเป็นพี่น้องที่สมรส ก่อนเทพแห่งจันทราไปลงมือสังหารเทวีแห่งธัญญาหาร ทำให้เทวีอามาเทราสึรังเกียจและไม่ยอมให้กลับสู่สรวงสวรรค์ ตรงนี้เองเป็นตำนานว่าทำไมดวงจันทร์ไล่ดวงตะวันและไม่มีวันเข้าถึงตัวได้
ทีนี้ตัวละครหลักสองตัวคือโคคุชิโบ อสูรจันทราข้างขึ้นลำดับที่ 1 ที่แต่เดิมเป็นนักล่าอสูรและเป็นฝาแฝดกับโยริอิจิ ผู้ใช้ปราณคนแรก ความสัมพันธ์ของทั้งสองคนจึงคล้ายกับตำนานเทพตะวันและจันทรา มีความขัดแย้งและเลือกเส้นทางคนละสาย ปราณของทั้งคู่ก็สะท้อนกลับไปยังเทพเจ้าทั้งสองคือปราณตะวันและจันทรา
Hachiman Kamado Shrine
ส่งท้ายด้วยพื้นที่จริงที่น่าจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่องดาบพิฆาตอสูร กับศาลเจ้าที่ชื่อว่า Hachiman Kamado ในเมืองเบปปุ ในภูมิภาคคิวชู ซึ่ง อาจารย์โคโยฮารุ โกโตเกะ (Koyoharu Gotouge) ผู้เขียนเป็นคนจังหวัดฟุกุโอกะ ในคิวชูด้วยเช่นกัน ที่เมืองเบบปุมีศาลเจ้าชื่อศาลเจ้าฮาจิมัง คามาโดะ ซึ่งแค่ชื่อศาลเจ้าก็เชื่อมโยงกับตระกูลคามาโดะของทันจิโร่แล้ว เรื่องราวในศาลเจ้ายังยิ่งคุ้นเข้าไปอีก
ศาลเจ้าแห่งนี้มีตำนานการปราบอสูรด้วย ตำนานเล่าถึงอสูรที่ออกอาละวาดกินคนทำให้ชาวบ้านมาขอพรกับเทพเจ้าฮาจิมัง เทพแห่งสงคราม เทพเจ้าจึงสั่งให้อสูรสร้างบันไดร้อยขั้น ไม่งั้นจะถูกลงโทษ แต่ยักษ์หรืออสูรตนนั้นสร้างได้แค่ 99 ขั้น ก่อนจะวิ่งหนีไปและทิ้งรอยเท้าไว้ซึ่งยังมีอยู่ในปัจจุบัน เทพเจ้าเลยส่งเทพมังกรไป จนสุดท้ายอสูรตนนั้นจึงทำหน้าที่รักษาประตูบ่อนรก (Kamado Jigoku) ของเมืองโดยมีเทพมังกรสถิตในศาลเจ้าไม่ให้เพื่อคุมพฤติกรรมเจ้าอสูรไม่ให้ก่อเรื่องอีก
นอกจากชื่อสกุล ตำนานอสูรกินคนแล้ว ในศาลเจ้ายังมีก้อนสลักชื่อเทพเจ้าที่สถิตชื่อว่า ‘ ทามาโยริฮิเมะ โนะ มิโคโตะ (Tamayori Hime No Mikoto)’ เทพสตรีซึ่งชื่อดังกล่าวเป็นเดียวกับทามาโยะ ตัวละครแพทย์สำคัญของเรื่อง ทั้งในศาลเจ้ายังขึ้นชื่อเรื่องระบำคากุระในช่วงปีใหม่ ทุกวันนี้ศาลเจ้าจึงขึ้นชื่อจากความเชื่อมโยงกับดาบพิฆาตอสูร มีเครื่องรางและแผ่นป้ายที่ใช้ลวดลายจากมังงะด้วย
อ้างอิงจาก