ถึงไอดอลเกาหลีที่เรารัก: ในที่สุดเราก็จะได้เจอกันแล้วนะ…ว่าแต่ทำไมคราวนี้บัตรแพงขึ้นอีกแล้วล่ะ?
เคยไหม รอเขามาตั้งหลายปี กว่าจะได้เจอทั้งทีก็แสนลำบาก ไหนจะต้องรอให้ศิลปินมีเพลงมากพอที่จะมาจัดคอนเสิร์ตได้ รอให้ค่ายประกาศคอนเสิร์ต สมัครเมมเบอร์ชิปที่ไม่รู้ว่าสมัครไปแล้วจะกดบัตรได้ไหม ไหนจะต้องรอเวลาเพื่อไปบนองค์เทพที่ว่าแมสๆ ขอให้พระองค์ประทานพรให้เราได้เจอเขาด้วยเถอะ
แต่สุดท้าย เมื่อถึงวันที่ผู้จัดประกาศราคาบัตรคอนเสิร์ตเท่านั้นแหละ รีบเปิดดูเลยว่าเดือนนี้เรายังเหลือเงินอีกเท่าไรนะ แล้วว่าถ้าจ่ายค่าบัตรไปเดือนนี้จะมีเงินพอเหลือซื้อบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปประทังชีวิตไหม ยิ่งถ้าศิลปินที่เราอยากเจอมาพร้อมกันหลายคน ยิ่งต้องแคะกระปุกหนักเข้าไปใหญ่
ว่าแต่ราคาบัตรแพงขึ้นนี่มันแพงขึ้นจริงๆ หรือเราแค่คิดไปเองกันแน่ แล้วเกณฑ์ในการตั้งราคาบัตรมาจากไหน The MATTER ขอพาทุกคนไปหาคำตอบในเรื่องนี้กัน
ภาพจาก <Facebook: Live Nation Tero>
ราคาบัตรคอนฯ แพง(ขึ้น)จริงไหม?
ถ้าย้อนกลับไปช่วง 4-5 ปีที่แล้ว เมื่อนึกถึงราคาบัตรแพงสุด ภาพจำของใครหลายๆ คนก็คงนึกถึงบัตร 6,000 บาท ส่วนบัตรดอยก็ 1,500 บาทเท่านั้น แต่ตอนนี้ ถ้าเรามีงบ 6,000 บาท ในบางคอนเสิร์ตเราอาจจะต้องขึ้นไปอยู่ชั้น 2 ของอิมแพคอารีน่าแล้วก็ได้ ส่วนสำหรับคนที่มีงบ 1,500 บาท ก็อาจจะไปได้แค่โซนหน้าคอนฯ เท่านั้นแล้ว (ถ้าทางผู้จัดยังอนุญาตให้ไปนั่งรออยู่ตรงนั้นได้นะ)
เมื่อย้อนดูราคาเฉลี่ยในแต่ละคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีที่จัดที่เมืองทองธานีตามตารางการจัดคอนเสิร์ตจนถึงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ จะพบว่า
- ปี 2023 ราคาโดยประมาณอยู่ที่ 5,270 บาท
- ปี 2022 อยู่ที่ 4,848 บาท
- ปี 2020 อยู่ที่ 4,262 บาท
- ปี 2019 อยู่ที่ 4,470 บาท
- ปี 2018 อยู่ที่ 4,336 บาท
- ปี 2017 อยู่ที่ 4,034 บาท
- ปี 2016 อยู่ที่ 3,884 บาท
- ปี 2015 อยู่ที่ 3,823 บาท
- ปี 2014 อยู่ที่ 3,736 บาท
- ปี 2013 อยู่ที่ 3,302 บาท
ส่วนปี 2021 เป็นช่วงที่ COVID-19 กำลังระบาดหนักในหลายๆ ประเทศ จึงไม่มีศิลปินจัดคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย
แต่ราคาแบบนี้ ถือว่าแพงหรือไม่สำหรับแฟนคลับชาวไทย เณศรา สุขพานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า คงไม่สามารถบอกได้ว่าราคาบัตรคอนเสิร์ตตอนนี้แพงหรือไม่ เพราะว่าแต่ละคนรู้สึกถึงความแพง-ความถูกไม่เหมือนกัน
ถึงอย่างนั้น ก็สามารถวัดได้ว่าผู้บริโภคมีความเต็มใจจ่าย (willingness to pay) สูงสุดเท่าไร เช่น ถ้าเต็มใจจ่าย 10,000 บาท แต่ราคาขายคือ 6,500 บาท ตรงนี้คนจะรู้สึกไม่แพง แล้วถ้าขยับราคามาเป็น 9,500 บาท คนจะเริ่มรู้สึกว่าแพงขึ้นแล้ว แต่ถามว่ายังซื้ออยู่ไหม ก็ยังคงซื้ออยู่เพราะราคายังต่ำว่าที่เขาเต็มใจจ่าย แต่ถ้าต่อไปราคาขึ้นเป็น 12,000 บาท ถึงตรงนี้บางคนก็อาจจะเริ่มไม่ซื้อแล้ว เพราะราคาเกินกว่าที่เต็มใจจะจ่าย ซึ่งความเต็มใจจ่ายก็ไม่ได้ขึ้นอยู่แค่เพียงรายได้เท่านั้นเพราะบางคนรายได้ไม่ได้มาก แต่พวกเขายินดีจ่ายสูงเพราะรู้สึกว่าการไปคอนเสิร์ตเป็นสิ่งสำคัญกับชีวิต
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บรวบรวมข้อมูลราคาบัตรคอนเสิร์ตในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ อาจารย์เณศราให้ความเห็นว่า เราสามารถบอกว่า “ราคาแพงขึ้น” ได้ เพราะราคาสูงขึ้นจริงๆ แต่หากจะถามว่าแพงเกินไปไหม เรื่องนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่า ผู้บริโภคยังเต็มใจจ่ายหรือยังจ่ายได้อยู่ไหม
นอกจากนี้อาจารย์เณศรายังอธิบายถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาแพงขึ้นว่า ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัยด้วยกัน คือความต้องการของคนซื้อมากขึ้น ซึ่งส่วนนี้เป็นกลไกตลาด หากผู้ซื้อยังยอมจ่ายอยู่ คนขายก็ขึ้นราคาได้เรื่อยๆ เพราะเขายังขายได้อยู่ จนกระทั่งมันถึงจุดที่คนเริ่มไม่ซื้อแล้ว คนขายก็ขายได้ไม่มากทำให้กำไรลดลง ตรงนี้คนขายจึงจะไม่ขึ้นราคาต่อ ยกเว้นว่ากลยุทธ์ของผู้จัดไม่ได้ต้องการกำไรในตอนนี้
ส่วนอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ราคาสูงขึ้นก็คือ ต้นทุนในการจัดสูงขึ้น ถ้าค่าใช้จ่ายของสิ่งเหล่านี้สูงขึ้น ราคาบัตรก็จะแพงขึ้นตามมาด้วย
ก่อนจะไปอธิบายถึงต้นทุนการจัด เราขอพาทุกคนไปทำความเข้าใจถึงขั้นตอนของการจัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีในไทยก่อน ซึ่ง ตรีทิพ บุญแย้ม อาจารย์จากสาขาธุรกิจดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายถึงรูปแบบการจัดคอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีไว้ว่ามีทั้งสิ้น 2 รูปแบบ
รูปแบบแรก คือแฟนคลับรวมตัวกันติดต่อผู้จัดเพื่อให้ติดต่อไปที่ค่ายต้นสังกัดของศิลปินกลุ่มนั้น แต่กรณีนี้จะพบไม่มากเท่าไร
อีกรูปแบบหนึ่งคือ เมื่อค่ายต้นสังกัดจะเป็นผู้ประกาศว่าศิลปินจะมีทัวร์คอนเสิร์ต แล้วถ้าผู้จัดรายไหนสนใจก็จะไปติดต่อขอประมูลคอนเสิร์ตนั้นๆ มาจัด ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่ามีผู้จัดให้ความสนใจกับศิลปินนั้นๆ มากน้อยแค่ไหน ถ้ามีผู้จัดสนใจมาก ราคาประมูลก็จะสูง โดยผู้ที่ชนะการประมูลก็คือผู้จัดที่ยินดีจะจ่ายในราคาที่สูงสุด แต่ในบางครั้งค่ายต้นสังกัดของศิลปินเองก็จะพิจารณาถึงความเชี่ยวชาญของผู้จัดด้วยเช่นกัน
อีกทั้ง การจัดงานของศิลปินเกาหลีจะเป็นรูปแบบของการยกเอาโปรดักชั่นมาจากทางต้นสังกัดเองทั้งหมด ซึ่งตรงนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ต้นทุนที่รวมอยู่ในราคาประมูล สูงขึ้นไปอีก
แต่เมื่อก่อน ราคาบัตรคอนเสิร์ตก็ไม่แพงขนาดนี้หรือเปล่า?
ประเด็นนี้ อาจารย์ตรีทิพให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่ทำให้คอนเสิร์ตของศิลปินเกาหลีเมื่อ 10 ปีที่แล้วราคาถูกมาก เป็นเพราะตอนนั้นมีสปอนเซอร์เข้าไปช่วยถึง 70% ดังนั้น เมื่อมีคนช่วยจ่าย ผู้จัดจึงไม่จำเป็นต้องคิดราคาสูงมาก แต่ในช่วง 7-8 ปีที่ผ่านมาผู้จัดคอนเสิร์ตศิลปินเกาหลีจะได้เงินจากสปอนเซอร์เฉลี่ยไม่เกิน 30% ของต้นทุนทั้งหมดที่ต้องจ่าย นั่นจึงเป็นที่มาว่าทำไมผู้บริโภคต้องซื้อบัตรราคาแพง เพราะทางฝั่งสปอนเซอร์เองก็มองว่าเอาเงินไปทำอย่างอื่นดีกว่าที่จะมาสนับสนุนค่าใช้จ่ายตรงนี้ และการที่สปอนเซอร์ช่วยจ่ายน้อยลง ส่วนหนึ่งก็เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจด้วย
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ตรีทิพ ยังได้ตั้งข้อสังเกตถึงราคาต้นทุนที่สูงขึ้นมาอีกประเด็นคือ เงินเฟ้อ อัตราค่าเงิน และรวมไปถึงค่าสถานที่การจัดคอนเสิร์ตของประเทศไทยซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่แห่ง ผู้จัดก็ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งสถานที่ แล้วแต่ละที่ค่าเช่าก็ราคาสูงมาก อีกทั้งค่าเช่าสถานที่ของไทยส่วนใหญ่ยังคิดเป็นรายวัน นั่นหมายความว่าถึงคอนเสิร์ตจะมีเพียง 1 วัน แต่ก็ต้องจ่ายค่าเช่าที่ 2-3 วันเพราะต้องมีวันที่เตรียมงานแล้วก็เก็บงานให้ทางผู้ให้เช่าสถานที่ด้วย ซึ่งแตกต่างจากกระบวนการของต่างประเทศที่ผู้ให้เช่าสถานที่ปล่อยเช่าเป็นงานๆ ไป
เช่นเดียวกันกับคำกล่าวของอดีตพีอาร์ผู้จัดคอนเสิร์ตที่ให้สัมภาษณ์ไว้กับเว็บไซต์ sanook ว่าราคาบัตรแพงขึ้นนั้น มีผลมาจากปัจจัยหลายอย่าง
“ค่าตัวศิลปินมีแสตนดาร์ดประมาณหนึ่ง แต่กว่าจะมาถึงบ้านเรา มันผ่านอะไรหลายอย่าง ทั้งเรื่องค่าเงิน ผ่านซัพพลายเออร์เอย เอเจนต์เอย แล้วแต่ว่าดีลกันมายังไง แล้วค่าฮอลล์กับค่าโปรดักชั่นก็สูงขึ้นด้วย”
“พวกฮอลล์คอนเสิร์ต (เช่นอิมแพคอารีน่า หรือธันเดอร์โดม) ต้องจองกันเป็นปีๆ ไม่ใช่ผู้จัดไม่อยากได้นะ แต่มันไม่ว่าง ยิ่งพอ COVID-19 ซาลง คิวฮอลล์ต่างๆ ก็แน่นมาก พอต้องไปจัดฮอลล์ที่มันต้องเติมแสตนด์เข้าไปเอง บางทีก็มีปัญหา แต่ผู้จัดหลายรายก็เรียนรู้เพื่อปรับปรุงในงานถัดๆ ไปนะว่า ต้องยกสูงแค่ไหน ต้องวางตำแหน่งจอยังไง อีกอย่างคือเวลาวางผังในคอนเสิร์ตมันไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนปุบปับได้เองด้วย มันต้องส่งไปให้ทางเกาหลี ตรวจสอบก่อน ซึ่งการส่งไปส่งมาบางทีก็ใช้เวลาพอควร เรียกได้ว่ากระบวนการเกือบทุกอย่างต้องผ่านทางเกาหลีก่อน รวมถึงเรื่องราคาบัตรด้วย ดังนั้นงานไหนบัตรแพงก็ไม่ใช่เพราะฝ่ายผู้จัดไทยฝ่ายเดียว”
<ภาพจาก Facebook: SM True>
ราคาบัตรคอนฯ ที่แพงนี้ สะท้อนให้อะไรบ้าง?
เมื่อความต้องการสินค้าสูง ราคาของสินค้านั้นก็จะสูงตามไปด้วย
ดูจะเป็นคำอธิบายที่เข้าใจง่ายที่สุด ซึ่งในกรณีของบัตรคอนเสิร์ต อาจารย์เณศรา ก็กล่าวว่า ราคาบัตรที่แพงขึ้นนี้สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น อย่างในช่วง COVID-19 หลายคนอัดอั้นอยากไปดูคอนเสิร์ตจะแย่แล้ว ดังนั้นเมื่อรัฐผ่อนคลายมาตรการ คนอยากไปดูคอนเสิร์ตมาก ทางผู้จัดเขาก็เลยยังขึ้นราคาได้อยู่ โดยพิจารณาจากความต้องการซื้อตรงนี้ ถ้าคนซื้อเริ่มหายไป เขาก็จะเริ่มรู้สึกไม่คุ้มแล้ว
นอกจากนี้ อาจารย์เณศรายังมองว่า ราคาที่แพงขึ้นอาจสะท้อนถึงความนิยมของศิลปินที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะถ้าศิลปินคนนั้นมีฐานแฟนเยอะ พอกลุ่มนี้เข้ามาก็จะทำกำไรให้ผู้จัด รวมไปถึงตอนนี้ตลาดเมืองไทยมันยังเติบโตได้อยู่ ขายราคาแพงก็ยังขายได้ ความต้องการซื้อยังมีอยู่
แต่เวลาเห็นแฟนคลับออกมาบ่นๆ ว่าราคาบัตรแพง ทำไมเขายังซื้ออยู่ล่ะ ประเด็นนี้ เราก็ได้ไปสัมภาษณ์กับแฟนคลับของศิลปินเกาหลีเช่นเดียวกัน
“เพราะเราไม่รู้เลยว่าศิลปินที่เราชอบเขาจะมาไทยได้อีกตอนไหน บางวงไม่ได้เป็นที่นิยมในไทยมากแต่เขายังมาไทย ถ้าเราไม่ไปเเล้วเขาจะเสียใจไหมนะที่บัตรขายไม่หมด หรือเห็นที่นั่งว่างเยอะๆ …” ชีส (นามสมมติ) แฟนคลับของศิลปินเกาหลีกลุ่มหนึ่งกล่าว
“เหตุผลหลักๆที่ตัดสินใจไปคือเหตุผลทางใจเลยค่ะ อยากไปเจอ อยากไปเห็น performance…การไปเจอน้องๆ (ศิลปินที่เขารัก) มันเหมือนเพิ่มพลังชีวิตให้ เพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อไป อาจจะดูเหมือนเหตุผลเวอร์มาก แต่น้องๆ เป็นแรงใจแล้วก็กำลังใจให้คนหลายๆ คนจริงๆ” เค้ก (นามสมมติ) ให้ความเห็นเพิ่มเติม
อาจารย์ตรีทิพ จากสาขาธุรกิจดนตรี ยังได้ชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมของชาวไทยที่เป็นแฟนคลับศิลปินเกาหลีไว้ว่า ลักษณะของแฟนลับชาวไทยมีความเป็น ‘แม่ยก’ มาตั้งแต่ในสมัยปู่ ย่า ตา ยายแล้ว เพียงแต่ในตอนนั้นเปลี่ยนจากศิลปินเกาหลีเป็นลิเก โดยแฟนคลับชาวไทยจะมองว่าศิลปินที่เขารักก็เป็นเหมือนคนในครอบครัว อยากจะช่วย แม้ว่าจะไม่ได้ครอบครอง และในบางครั้งพวกเขาก็ยังเต็มใจที่จะอดเพื่อให้คนที่เขารักได้รับประทานอาหารอร่อยๆ แทน จึงเป็นสิ่งที่ทำให้แฟนคลับหลายๆ คนรู้สึกผูกพันธ์กับศิลปินเกาหลีมากๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้มักไม่ค่อยพบกับศิลปินกลุ่มอื่น ที่ใกล้เคียงสุดก็อาจจะเป็นแฟนคลับนักแสดงซีรีส์ในไทย
นอกจากนี้ อาจารย์ตรีทิพยังกล่าวไว้อีกว่า ประชากรแฟนคลับศิลปินเกาหลีไม่ได้มีเพียงแค่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาเท่านั้น แต่อายุพวกเขายังอยู่ในช่วง 15-50 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่กว้างมาก และจากความผูกพันธ์ระหว่างแฟนคลับและศิลปินแล้ว จึงทำให้แฟนคลับศิลปินเกาหลีมีกำลังซื้อที่มากกว่า เพราะการซื้อบัตรคอนเสิร์ตของพวกเขาคือการแสดงความรักต่อศิลปิน ในขณะที่แฟนคลับศิลปินไทยหรือตะวันตกมักเป็นกลุ่มที่ซื้อเพื่อผ่อนคลายหรือไปตามเพื่อนเท่านั้น
บัตรคอนเสิร์ตจะถูกลงกว่านี้ได้ไหม?
ที่ผ่านมาเชื่อว่าหลายคนคงเริ่มเห็นกระแสออกมาตั้งแฮชแท็กแบนผู้จัด เพื่อส่งเสียงความไม่พอใจออกไปให้ผู้จัดและคนอื่นๆ ได้รับรู้ หรือบางคนก็ยอมตัดใจไม่ไปงานของผู้จัดที่พวกเขาไม่ชอบ รวมไปถึง ยังเริ่มเห็นกลุ่มแฟนคลับที่รวมตัวกันเพื่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐในประเด็นราคาบัตรแพงบ้างแล้ว แต่เสียงของพวกเขาจะไปถึงผู้จัดไหมนะ?
อาจารย์ตรีทิพ เชื่อว่าฟีดแบ็กเหล่านี้ ผู้จัดเองก็น่าจะรับเอาไปพิจารณาถึงวิธีในการแก้ไขปัญหาในอนาคตแล้ว เพราะหากทางผู้จัดยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ทางฝั่งแฟนคลับที่แม้ว่าตอนนี้เขายังยอมเปย์เพื่อให้ได้เจอศิลปิน แต่ในระยะยาวเขาก็อาจมองมากขึ้นไปกว่าการได้เจอศิลปินก็ได้ เช่น มองว่าผู้จัดเป็นใคร ถ้าผู้จัดคนนี้มาก็จะไม่ไป
อย่างไรก็ตาม อาจารย์ตรีทิพก็ยังมองว่าปัจจัยเรื่องความยากในการได้เจอก็มีส่วนสำคัญในการสร้างอำนาจต่อรองกับทางผู้จัด เพราะถ้าเจอยากมาก ผู้บริโภคก็มีอำนาจในการต่อรองต่ำ แต่ถ้าได้เจอแน่ๆ ปีละครั้ง ความเป็นไปได้ที่ผู้บริโภคจะแข็งข้อก็มากตาม
แล้วถ้าหากบัตรขายไม่หมด ต่อไปศิลปินเขาจะไม่มาไทยอีกหรือเปล่า? อาจารย์ให้ความเห็นไว้ว่า สถานการณ์จะไม่ไปถึงจุดนั้น เพราะสุดท้ายธุรกิจการจัดคอนเสิร์ตของไทยมีผู้จัดหน้าใหม่ที่เกิดขึ้นมาเสมอ ถ้ามีผู้จัดยังเห็นว่าศิลปินกลุ่มนั้นมีฐานแฟนคลับอยู่ เขาก็จะไปขอประมูลใหม่ได้ นอกจากนี้ ถ้าศิลปินนั้นๆ สามารถสร้างฐานแฟนคลับในประเทศไทยได้หนาแน่นพอ แฟนคลับก็ยังสามารถไประดมกันขอให้ผู้จัดมาจัดให้ก็ได้เช่นกัน
ส่วนในเรื่องของราคา จากมุมของอาจารย์ตรีทิพ เห็นว่า ราคาจะไม่พุ่งอย่างไร้ขีดจำกัด และผู้จัดเองก็คิดมาอยู่แล้วว่าราคาบัตรต้องไม่เกินเท่าไรจึงจะขายได้ ถ้าผู้จัดรู้ว่าราคาขายจะเกินไปจากที่เขาประมูล เขาก็จะไม่ประมูลแต่แรก อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของราคาตั๋วก็มีจุดจำกัดที่จะไม่เพิ่มไปมากกว่านี้ เพราะไม่เช่นนั้น ความต้องการของลูกค้าจะลดลง
“ราคามันจะสูงเท่าที่ลิมิตมันจะไปได้ ต่อให้ศิลปินดังขนาดไหนมันก็มีลิมิตของมันอยู่ แล้วผู้บริโภคก็จะรู้ลิมิตตัวเองที่จะสามารถสนับสนุนศิลปินได้ที่ราคาเท่าไร”
ส่วนในประเด็นเรื่องการที่รัฐจะเข้ามาควบคุมราคา แม้ว่าเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ร.ต.จักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จะกล่าวถึงกรณีที่มีผู้ร้องเรียน เรื่องราคาบัตรคอนเสิร์ตของ ‘STRAY KIDS 2 ND WORLD TOUR MANIAC’ ของบริษัทไลฟ์ เนชั่น เทโร เอ็นเทอร์เทนเม้นท์ จำกัด ว่าถ้ามีผู้ประกอบการจำหน่ายสินค้าและบริการ ฉวยโอกาสกำหนดราคาสินค้าและบริการแพงเกินควร จะถือว่าเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542
แต่ในทางเศรษฐศาสตร์ อาจารย์เณศรา มองว่าคอนเสิร์ตไม่ใช่สินค้าที่รัฐจะเข้ามาควบคุมราคาได้ เพราะรัฐไม่ได้มีข้อกำหนดหรือมีกฎหมายกำหนดตรงนี้ไว้ก่อน และคอนเสิร์ตก็ไม่ได้จัดอยู่ในหมวดสินค้าจำเป็น ดังนั้นทางเอกชนจะขายเท่าไรก็ได้ ซึ่งก็ต้องอยู่ที่กลไกตลาดของเอกชน ตราบใดที่ความต้องการยังสูง ราคาก็จะยังแพงอยู่ อีกทั้งตลาดตอนนี้ก็ยังคงร้อนแรง เพราะเราเพิ่งออกมาจาก COVID-19 แต่ไม่แน่ว่าพอปีนี้คนได้เจอศิลปินที่ชอบแล้ว ในปีหน้าความต้องการก็อาจจะร้อนแรงน้อยลง
“แต่ก็นั่นแหละ ศิลปินบางคนไม่ได้มาทุกปี ไม่ไปดูรอบนี้ก็คงไม่ได้ดูแล้ว ตรงนี้คนเลยยินดีจ่าย”
นอกจากนี้ อาจารย์เณศรายังมองถึงความเป็นไปได้ในอนาคตว่าถ้าวันใดรัฐบาลอยากส่งเสริมศิลปินไทย รัฐอาจจะไม่ได้ถึงกับควบคุมราคา แต่สนับสนุนบางอย่างให้แทน เช่นให้สถานที่ฟรี ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง เพื่อให้ขายราคาได้ถูกลง แต่ในกรณีของศิลปินต่างชาติ รัฐจะไม่ได้ออกมากำหนดนโยบายสนับสนุน แต่อาจจะออกมาในรูปแบบข้อตกลงความร่วมกับระหว่างไทย-เกาหลีแทนก็ได้
เช่นเดียวกับทางด้านอาจารย์ตรีทิพ จากสาขาธุรกิจดนตรี ที่มองว่าคอนเสิร์ตอยู่ในกลุ่มของสินค้าที่เป็นความบันเทิง จึงยากมากที่หน่วยงานรัฐจะเข้ามาควบคุมได้ โดยเฉพาะเมื่อเป็นคอนเสิร์ตเกาหลีเงินกว่า 70% คืออยู่ค่ายต้นสังกัดของศิลปิน เงินที่หมุนในประเทศมันน้อยเกินไป แล้วเมื่อไรที่รัฐเข้ามาช่วยเหลือมันจะเกิดข้อถกเถียงต่อทันทีว่า “แล้วทำไมเงินค่าอาหารกลางวันเด็กยัง 20 บาทอยู่เลย ทำไมต้องเอาเงินมาช่วยคอนเสิร์ต”
อาจารย์ตรีทิพยังเสนอทิ้งท้ายว่า สิ่งที่เราอาจพอทำได้คือการส่งเสียงออกไปให้ถึงภาคเอกชนว่าถ้าคุณเข้ามาช่วยเป็นสปอนเซอร์ ให้เขารู้ว่าเขาจะได้อะไรกลับไปบ้าง เมื่อกลุ่มแฟนคลับเข้าใจว่าการเข้ามาของสปอนเซอร์เป็นการช่วยให้ราคาบัตรถูกลง แน่นอนว่าแฟนคลับก็คงยอมซื้อผลิตภัณฑ์เขามากขึ้นเพื่อเป็นการตอบแทน ซึ่งสุดท้ายก็จะเกิดเป็นสถานการณ์ที่วิน-วินทั้งสองฝ่าย
อ้างอิงจาก