“ในอนาคต AI จะมาแปลแทนเราได้ไหม…ถ้าเป็นคำพูด AI ก็อาจจะแปลดีกว่าเรา แต่ถ้าเป็นความรู้สึกอะ เขาคงส่งต่อแบบเราไม่ได้” นี่คือมุมมองของล่ามภาษาไทย-เกาหลี ที่บอกกับเรา
เราเองก็เป็นแฟนคลับคนหนึ่งที่ชื่นชอบศิลปินเกาหลี และในหลายๆ ครั้งที่มีโอกาสได้จมดิ่งอยู่ในช่วงเวลาที่แสนพิเศษกับศิลปินผู้เป็นที่รัก อย่างในงานคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้ง ก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘ล่าม’ ก็เป็นเสมือนตัวช่วยเชื่อมรู้สึกของแฟนคลับตัวเล็กๆ อย่างเรา ทะลายกำแพงภาษา ให้สามารถรับรู้และเข้าใจสิ่งที่ศิลปินต้องการจะถ่ายทอดมาให้
หนึ่งในล่ามศิลปินที่อยู่ในใจของหลายๆ คน จนอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘เสียงที่คุ้นเคย’ หรือ ‘เสียงที่เชื่อใจได้’ ก็หนีไม่พ้น ชอย เจยอง ล่ามภาษาเกาหลี-ไทย ผู้มีประสบการณ์ในสายงานนี้มากว่า 18 ปี
ด้วยผลงานและการเดินทางในสายอาชีพล่ามที่ยาวนานของเจยอง เราจึงอดไม่ได้ที่จะชวนเธอ มานั่งพูดคุยและเม้าท์มอยถึงเรื่องราวชีวิตของล่ามผู้นี้กัน
คนเกาหลี ที่เคยคิดว่าเป็นล่ามไม่ได้ เพราะ ‘ไม่เก่งเกาหลี’
“สวัสดีค่ะ อันยองฮาเซโย ชื่อเจยอง เป็นล่ามค่ะ”
เจยองแนะนำตัว พร้อมเล่าว่าเธอเป็นคนเกาหลี เกิดที่เกาหลีใต้ ก่อนจะเดินทางมาที่ประเทศไทยพร้อมกับครอบครัวตอนอายุประมาณ 6-7 ขวบ แล้วจึงค่อยเข้าเรียนชั้น ป.1 ที่ไทย เรียนในโรงเรียนไทย ท่ามกลางคนรอบตัวที่เป็นคนไทย จนเรียกได้ว่าเธอโตมาเหมือนเด็กไทยคนหนึ่ง
กระทั่งแม่ของเจยองตัดสินใจส่งเธอไปเรียนภาษาเกาหลีเพิ่มเติม จากนั้นเธอก็มีโอกาสได้ย้ายไปเรียนในโรงเรียนอินเตอร์ที่มีนักเรียนเกาหลีจำนวนมาก ซึ่งการได้พบเจอกับเพื่อนๆ ชาวเกาหลี ก็เป็นส่วนช่วยทำให้เธอได้เรียนรู้ภาษาเกาหลีมากขึ้น
เจยองยังแอบเล่าให้เราฟังด้วยว่า ตอนเด็กๆ เธอเคยมีความฝันที่อยากเป็นหลายอย่าง ทั้งอยากเป็นคุณครูอนุบาล อยากเป็นทนาย อยากเป็นล่าม แต่ก็คิดว่าการเป็นล่ามคงยาก เพราะไม่ได้เป็นคนที่พูดเกาหลีเก่ง และคิดว่าคงไม่มีโอกาสหรอก เพราะภาษาเกาหลีไม่ได้แข็งแรง
คอนเสิร์ตเรนในไทยครั้งแรก จุดเริ่มต้นของเจยองในฐานะล่าม
เจยองได้เริ่มงานในฐานะล่ามให้กับผู้กำกับเสียง ในงานคอนเสิร์ตครั้งแรกของศิลปินเกาหลีใต้ชื่อดังอย่างเรน เมื่อช่วงปี 2005 – 2006 ผ่านการแนะนำจากคนที่เธอรู้จัก ซึ่งทำงานอยู่ในโปรดักชั่นคอนเสิร์ตของทีมไทย เพราะตอนนั้น เขากำลังหาคนที่สามารถพูดได้ทั้งภาษาไทยและภาษาเกาหลีอยู่พอดี
หากจะถามถึงความรู้สึกของการเป็นล่ามครั้งแรก เจยองก็ตอบเลยว่า “จำได้ว่ากลัวเหมือนกัน” เพราะในตอนนั้นไม่รู้เลยว่าจะเจออะไรบ้าง กังวลว่าตัวเองจะเข้าใจไหม ทักษะภาษาของเธอเป็นอย่างไร งานจะยากมากหรือน้อยเพียงไร เธอไม่รู้เลย ดังนั้น สิ่งที่เธอทำตอนนั้นก็คือถ้ามีส่วนไหนไม่รู้ ‘ก็ถามตรงๆ ไปเลย’ ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีที่ทีมงานคอยช่วยเหลือและตอบคำถาม
จุดเริ่มต้นของการเป็นล่ามในคอนเสิร์ตเรนครั้งนั้น ทำให้เจยองได้พบกับโอกาสอีกมากมายตามมา เพราะในช่วงเวลานั้น เรียกได้ว่างานเกาหลีในไทยมีน้อยมาก นั่นก็หมายความว่าคนทำงานในส่วนนี้ก็มีน้อยเช่นกัน แล้วเวลาที่มีงาน ทางผู้จัดก็พยายามหาคนที่มีประสบการณ์ ซึ่งเธอก็โชคดีที่มีโอกาสได้ลงสนามเป็นล่ามให้ผู้กำกับเสียงมาแล้ว
หลังจากนั้น เจยองก็ค่อยๆ เก็บเกี่ยวประสบการณ์ เริ่มจากเป็นล่ามให้ทีมเบื้องหลัง ค่อยๆ ฝึกทีละนิด ดูแลทีมงาน ช่วยดูแลทีมศิลปิน แปลงานในกองถ่าย แปลสิ่งที่ผู้กำกับพูดให้ศิลปินฟัง พอเริ่มคุ้นเคย ก็เริ่มขยับขึ้นมาแปลสัมภาษณ์พิเศษ (exclusive interview) แปลในรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ แล้วจึงค่อยก้าวขึ้นมาเป็นล่ามบนเวทีอย่างที่หลายๆ คนเห็นกันในทุกวันนี้
การเตรียมตัวก่อนเริ่มทำหน้าที่ผู้ถ่ายทอดความรู้สึกของศิลปิน
“คิดว่ายังไงคอนเสิร์ต ก็จะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขของทั้งศิลปินและแฟนคลับที่ชอบศิลปินนั้น แสดงว่าแฟนคลับที่มาดู เป็นคนที่รู้จักศิลปินดีมากกว่าเจยองอยู่แล้ว”
การเป็นล่ามให้กับศิลปินเกาหลีไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะต้องทำการบ้านและศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อน
เจยองจึงต้องเตรียมตัว และทำการบ้านว่า ศิลปินคนนั้นกำลังทำกิจกรรมอะไรอยู่บ้างในช่วงนี้ ถ้าเป็นนักร้องก็จะไปดูว่ามีอัลบั้มใหม่หรือเปล่า มีทั้งหมดกี่เพลงในอัลบั้ม มีเพลงอะไรบ้างแล้วเขียนชื่อทุกเพลงในอัลบั้มออกมา
ถ้าเป็นวงที่มีสมาชิกในวงหลายๆ คน เจยองก็จะพยายามจำชื่อของทุกคน เพราะว่าไม่อยากจะเรียกผิด และในกรณีของศิลปินที่ไม่เคยแปลมาก่อน ก็จะเข้าไปดูรายการที่เขาเคยออก หรือรายการที่เคยให้สัมภาษณ์
นอกจากชื่อสมาชิกและชื่อเพลงแล้ว อีกประเด็นที่เจยองจะหาข้อมูล ก็คือ แต่ละคนมีนิสัยแบบไหน คอยดูว่าคนไหนเป็นคนที่พูดเก่ง หรือขยันตอบ ดูว่าลีดเดอร์ (หัวหน้า) เป็นใคร มักเน่ (น้องเล็ก) เป็นใคร ทั้งยังต้องคอยเข้าไปหาข้อมูลจากใน X (ทวิตเตอร์) เพื่อดูว่าแฟนๆ ของวงนั้นกำลังพูดอะไรอยู่อีกด้วย
1 วันก่อนทำงาน ก็เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากๆ เช่นกัน โดยเจยองจะไม่ออกไปไหน แล้วอยู่บ้านเพื่อดูยูทูปของศิลปินคนนั้น
วัฒนธรรม และสภาพสังคมของ 2 ประเทศ สิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
ในการเป็นล่าม ประเด็นเรื่องวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ ก็เป็นรายละเอียดสำคัญที่มองข้ามไม่ได้
เจยองเล่าให้ฟังว่า บางครั้ง คนที่พูดอาจจะไม่รู้ว่าวัฒนธรรมของอีกประเทศ ห้ามใช้คำแบบนี้นะ ซึ่งเขาก็ไม่ได้มีเจตนาร้าย เพียงแต่เขาพูดโดยเขาไม่รู้ ถ้าล่ามแปลตรงๆ คนฟังก็อาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมเขาพูดอย่างนั้น ทำให้ในบางที ล่ามก็ต้องอธิบายความหมาย ประกอบกับเล่าถึงบริบทของสังคมนั้นๆ เพิ่มเติม
รายละเอียดในส่วนนี้ ก็เป็นสิ่งที่เจยองให้ความสำคัญมากๆ เช่นกันเพราะการเป็นล่ามสำหรับเจยอง ไม่ใช่แค่เรื่องของการแปลภาษา การเขียน การพูด หรือการฟังอย่างเดียว แต่ล่ามก็ยังต้องเข้าใจภาพรวมทั้งหมดด้วย
“คำพูด ถ้าเราแปลออกไป แปลไม่ดี คนคนนั้นอาจจะเสียภาพลักษณ์เพราะเราก็ได้ หรือถ้าเราแปลดี เราพูดออกมาดี คนคนนั้นก็อาจจะมีภาพลักษณ์ที่ดีก็ได้ มันเป็นอะไรที่ต้องระมัดระวังมากๆ ในการพูด พูดออกไปแล้ว…คนอื่นเขาฟังไปแล้ว พอฟังไปแล้วมันอยู่ในสมอง มันอยู่ในหัว มันอยู่ในใจไปแล้ว”
การทำงานที่ (หลายครั้ง) ก็มาพร้อมกับอุปสรรค
หลังจากเตรียมตัวมาอย่างดี ก็ถึงเวลาของการลงสนาม เริ่มแปลสารจากศิลปินให้กับคนฟังได้เข้าใจ ซึ่งในช่วงเวลานี้ เจยองคิดว่า การมอง การฟัง และการให้ความสนใจในสิ่งที่ศิลปินกำลังสื่อสารอยู่ คือสิ่งที่ทำให้เธอสามารถเข้าใจความรู้สึกและคำพูดของศิลปิน เพราะเมื่อเข้าใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกนั้นแล้ว ก็จะทำให้สามารถจดจำเนื้อหาเหล่านั้น และถ่ายทอดไปยังผู้ฟังภายในงานได้
อย่างไรก็ตาม นอกจากทักษะ ข้อมูลต่างๆ ที่เตรียมมา อีกหนึ่งสิ่งที่ล่ามจะขาดไม่ได้เลยก็คือ ‘อุปกรณ์’
ในการทำงานเป็นล่ามให้ศิลปิน ส่วนใหญ่จะมีจอมอนิเตอร์ ไมค์ และอินเอียร์ให้ แต่เมื่อขึ้นชื่อว่าอุปกรณ์ ความไม่สมบูรณ์ของเครื่องมือก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
รวมถึงบางครั้ง อินเอียร์ที่เจยองใส่ จะเป็นอินเอียร์ที่ทางทีมงานสามารถใช้สื่อสารกับเธอได้ แล้วบางทีที่กำลังแปลอยู่ มีทีมงานพูดขึ้นมา ก็แยกไม่ออกว่าใครเป็นคนพูด จนทำให้ลืมสิ่งที่กำลังแปลอยู่ไปก็มีเหมือนกัน
“บางครั้งเจยองก็เลยจะรู้สึกผิด เพราะว่าอยากจะแปลในสิ่งที่แค่ศิลปินพูดออกมา แต่พอข้อมูลอื่นเข้ามาปุ๊บ…มีคนพูดใส่หูเรา เราจะพูดต่อได้ไหม มันก็จะลำบากตรงนั้นในบางครั้ง”
นอกจากนี้ ในคอนเสิร์ต หรืองานแฟนมีตติ้ง เจยองก็เล่าว่าเคยมีบางครั้งที่ไม่ได้ยิน อาจจะเป็นเพราะว่าหูไม่ดี แล้วเวลาที่แฟนๆ กำลังกรี๊ดอยู่ แต่ศิลปินพูดขึ้นมา หรือเวลาที่ศิลปินหลายๆ คนพูดพร้อมกันก็ต้องใช้ความพยายามในการฟังเหมือนกัน
18 ปี กับงานที่เจยองรัก
“…เจยองรักในอาชีพที่เจยองทำ เจยองรู้สึกมีความสุขมากๆ ที่ได้แปล แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าเจยองไม่มีอุปสรรค”
เส้นทางชีวิตของเจยองในสายอาชีพล่ามตลอดระยะเวลา 18 ปีไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบตลอดทาง เพราะการเป็นล่าม ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับความกดดันและความกังวล
เจยองเล่าว่าเคยมีช่วงหนึ่ง ที่รู้สึกกดดันและวิตกกังวลมากๆ จนต้องไปพบจิตแพทย์เนื่องด้วยปัญหาจากการทำงาน โดยตอนนั้นแพทย์วินิจฉัยว่าเธอเป็นโรควิตกกังวล (anxiety disorder) เพราะก่อนที่จะเริ่มทำงาน เธอมักจะต้องลองจินตนาการว่าศิลปินที่เธอจะไปแปลให้ น่าจะพูดว่าอะไรบ้าง
“ต้องลองรู้สึกกังวลดูก่อน จึงจะหาวิธีแก้ได้” นั่นเป็นวิธีที่เจยองใช้ในการเตรียมตัว จนเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลในการทำงาน
อย่างไรก็ตาม เจยองบอกว่าตอนนี้อาการของเธอดีขึ้นแล้ว
หากจะถามต่อว่า แล้วอะไรที่ทำให้เจยองยังอยู่ในเส้นทางสายนี้ เธอก็ตอบติดตลกว่า “เพราะมีงานเข้ามาเรื่อยๆ ค่ะ”
เจยองมองว่าทางผู้จัด หรือคนที่ทำงานด้วยกันเห็นถึงความตั้งใจของเธอ ที่ทุ่มเท และสนุกไปกับทุกๆ งานที่ได้รับมอบหมาย รวมไปถึง แฟนคลับหลายๆ คน ก็ยอมรับในตัวเธอ รู้ว่าเธอเป็นล่าม แฟนๆ ก็จะไม่ค่อยล้ำเส้น เพราะรู้ขอบเขต รู้ว่าเธอกำลังทำงานอยู่
ในการทำงานแต่ละครั้ง เจยองยังมีกฎเหล็ก ที่เธอสร้างขึ้นมาให้กับตัวเธอเอง นั่นคือการเก็บความลับ ไม่ถ่ายรูป ไม่ขอลายเซ็น ไม่เข้าไปคุยกับศิลปินก่อนที่เขาจะถามอะไร แต่จะเข้าไปพูดคุยเมื่อจำเป็นและจะต้องเรียกผู้จัดการก่อนเท่านั้น เพราะเธออยากจะให้ศิลปินและทีมงานรู้สึกสบายใจที่จะทำงานร่วมกัน
“อยากให้เขารู้ว่าเราเป็นล่าม เรามาทำหน้าที่ของล่าม เราไม่ได้เป็นคนที่มากรี๊ดเขา ก็คือเคารพในงานของเขา ก็เหมือนคนทำงานด้วยกัน เขาจะได้เป็นตัวของตัวเองได้ด้วย”
ตรงนี้ เป็นกฎที่เธอตั้งขึ้นจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะเธอเคยทำงานเป็นล่ามให้ทีมงาน และรู้ว่าเบื้องหลัง ศิลปินเดินทางมาไกล ดังนั้น ตอนที่ศิลปินอยู่ในห้องพัก เธอจึงอยากจะให้พวกเขาได้ใช้เวลาพักผ่อนเต็มที่ โดยคิดว่าน่าจะเป็นส่วนช่วยให้ศิลปินมีความทรงจำที่ดีต่อประเทศไทย มีความรู้สึกว่าแฟนคลับมีระเบียบ เวทีก็ดี ล่ามก็ดี พอถึงตอนแสดงจริง ศิลปินก็จะได้สนุกไปกับการแสดง
ทางข้างหน้า ที่เจยองจะเดินต่อ
“ในอนาคต AI จะมาแปลแทนเราได้ไหม?” นี่คือสิ่งที่เจยองเคยนั่งคิดเล่นๆ
ต่อมา เธอก็ได้คำตอบว่า “ถ้าเป็นคำพูด เขาก็อาจจะแปลดีกว่าเรา แต่ถ้าเป็นความรู้สึกอะ เขาคงส่งต่อแบบเราไม่ได้ อันนี้คือที่เจยองคิด…”
ตอนนี้ เจยองก็ก้าวไปข้างหน้าอีกก้าวหนึ่ง เธอเริ่มเปิดบริษัทที่ให้บริการจัดหาล่ามในงานเกาหลี โดยเธอจะเป็นคนคัดเลือก จากนั้นก็จะคอยหางานที่เหมาะกับทักษะของแต่ละคน รวมถึงยังต้องดูความต้องการของตัวล่ามเอง ว่าอยากทำงานในส่วนไหน แล้วจึงค่อยมอบหมายงานให้พวกเขา
แต่การเปิดบริษัทจัดหาล่ามก็ไม่ได้หมายความว่าเจยองจะบอกลางานที่เธอรักในตอนนี้ เพราะเธอจะยังคงทำงานตรงนี้เต็มที่ไปเรื่อยๆ
ก่อนที่เจยองจะออกจากวงการนี้ เธออยากจะสอน อยากจะส่งต่อทักษะและประสบการณ์ที่มีอยู่ ให้กับคนที่เขามีความฝันว่าอยากจะเป็นล่ามบนเวที และพยายามช่วยให้พวกเขามีโอกาสแปลบนเวที