ถ้าพูดถึงหมากรุก เรามักจะนึกถึงเกมกระดานสีขาวดำ ตัวหมากที่เราต้องหยิบและเดินหมากด้วยความระมัดระวัง ใช้สมองคิดเยอะๆ เพื่อที่จะเอาชนะ แต่สำหรับเกมแนว auto chess ที่หลายคนกำลังติดกันงอมแงมในช่วงนี้ ดูแล้วแทบจะไม่เหมือนเกมหมากรุกที่เราคุ้นเคยเอาซะเลย แต่ที่แน่ๆ มันเป็นเกมที่สนุก
แม้จะมีคำว่า chess แต่เกมแนว auto chess ไม่ได้มีหน้าตาเป็นกระดานที่มีแค่สองฝั่งสองสีเลยสักนิด—มีสีสันมากกว่าเลยด้วยซ้ำ เป็นเกมแนววางแผนที่เราแค่เลือกหมากแล้วปล่อยให้มันสู้กันเอง และจริงๆ คำว่า auto chess ก็ไม่ได้เป็นชื่อเรียกเกมประเภทนี้อย่างเป็นทางการเหมือนเกม RPG MOBA หรือเกมต่อสู้ (fighting) แค่เรียกตามต้นกำเนิดแรกเท่านั้น
แต่แค่ช่วงเวลาเพียงเดือนเดียว เกมแนว auto chess กลายเป็นเกมที่มีคนสนใจเล่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีบริษัทพัฒนาเกมหลายเจ้าทำเกมแนวนี้ในเวอร์ชั่นของตัวเองมาแข่งกันแย่งผู้เล่นอย่างดุเดือด ทั้ง Valve (ผู้ให้บริการเกม Dota 2) ที่ทำออกมาในชื่อ Dota Underlords เกม Teamfight Tactics ของค่าย Riot (ผู้ให้บริการเกม League of Legends) หรือแม้กระทั่งยักษ์ใหญ่อย่าง Tencent เอง ก็มี Chess Rush ออกมาให้เราเล่น
ความสนุกของเกมพิสูจน์ได้ด้วยตัวเลข ผ่านไปหนึ่งวันหลังจากปล่อยเกมให้เล่นช่วงเบตา เกม Dota Underlords ก็มีคนเล่นสูงถึงประมาณ 170,000 คน มีคนเล่นสูงสุดเฉลี่ย 70,000 คนต่อวัน ส่วน Teamfight Tactics ถ้าดูสถิติจาก Twitch ตัวเกมมีคนดูสตรีมมิ่งเฉลี่ยต่อวันถึง 90,000 คน และติดอันดับสามเกมที่คนดูเยอะที่สุดในไม่กี่วันมานี้
เกมที่พัฒนามาจากเกมหลัก
ในตอนแรก เกมประเภท auto chess ไม่ได้มาจากผู้พัฒนาเกมหลักในตลาดอย่างที่เห็น จุดเริ่มต้นของเกมประเภทนี้เริ่มจากการเป็น mod ในเกม Dota 2 ในโหมดอาเขตที่ให้คนได้มาสร้างเกมในแบบของตัวเอง โดยใช้องค์ประกอบและกราฟิกในเกม Dota 2 เป็นหลัก
เมื่อมีอุปกรณ์พร้อมอยู่แล้ว ผู้พัฒนาเกมเจ้าเล็กอย่าง Drodo Studio ก็ได้ทำ mod ของตัวเองขึ้นมา เป็นเกมกระดานที่ให้ผู้เล่นหยิบเอาตัวละครใน Dota 2 มาสร้างกองทัพเพื่อใช้ต่อสู้กับผู้เล่นอื่นอีก 7 คน ปล่อยให้ตัวหมากสู้รบกัน (auto battler) จนได้ผู้ที่ยังเหลือพลังชีวิตและรอดเป็นคนสุดท้าย Drodo Studio ปล่อย mod นี้ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. 2019 (ปีนี้แหละ) ตัวเกมได้รับเสียงตอบรับที่ดีเอามากๆ จนเรียกได้ว่าแซงหน้าเกม Artifact ซึ่ง Valve พัฒนาออกมาเองเสียด้วยซ้ำ
หากเรามองย้อนกลับไป Dota 2 ไม่ได้เป็นเกมหลักเกมใหญ่จากผู้พัฒนาดังเหมือนกัน เพราะตัวเกมเคยมีที่มาจากการเป็น mod ที่ IceFrog สร้างไว้ใน Warcraft III: The Frozen Throne เกมโดยค่าย Blizzard Entertainment ก่อนจะกลายเป็นเกม Dota หรือเกมประเภท MOBA อย่างที่เราเห็น
เป็นไปได้ว่า ในอนาคต ค่ายเกมใหญ่อาจจะไม่ได้เป็นผู้กำหนดประเภทเกมใหม่ๆ อีกต่อไป แต่เป็นผู้พัฒนาเล็กๆ เอารูปแบบเกมของตัวเองมาปล่อยให้ผู้คนได้เล่นกันจนวางมือไม่ได้
ความสนุกของ auto chess ความสนุกของการผสมสิ่งต่างๆ มาสร้างสิ่งใหม่
นอกจากการได้เอาตัวละครที่เราคุ้นเคยจากเกมเดิมมาสร้างกองทัพ ความสนุกของเกมแนวนี้อยู่ที่เราได้เลือกและหยิบเอาความหลากหลายมาผสมเป็นอะไรใหม่ๆ
ตัวเกมมีวิธีเล่นเข้าใจง่าย ที่แม้เราไม่รู้จักตัวละครแต่ก็สนุกไปกับมันได้ หมากแต่ละตัวจะมี ‘เผ่า’ (composition/alliance/build) ที่สังกัดอยู่ เราแค่สร้างกองทัพที่มีส่วนผสมของเผ่าที่ลงตัวตามคอมโบ เช่น Kunkka สังกัดเผ่าคนและนักรบ ถ้ากองทัพเรามีคนและนักรบตัวอื่น ระบบก็จะบัฟให้ทีมเราเก่งขึ้น
ด้วยการที่เกมประเภท auto chess นั้นมีเผ่าให้ตัวละครที่เยอะมากทีเดียว การได้สร้างกองทัพที่มีรูปแบบไม่จำกัดจึงทำให้เราได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไหนจะมีระบบสุ่มตัวละครออกมาให้เราได้ลุ้นว่าจะได้ตัวที่วางแผนไว้มั้ย ตรงนี้เองที่ทำให้หลายคนสนุกไปเกม ถึงขั้นอดนอนกันเลยก็มี
สำหรับความสำคัญของการเอาอะไรใหม่ๆ มาผสมกัน จูเลียน บานส์ (Julian Barnes) นักเขียนรางวัลพูลิตเชอร์เคยบอกเอาไว้ว่า
“ถ้าคุณลองนำสองอย่างที่ไม่เคยนำพาให้พบปะกันมาก่อนมาเจอกัน ก็ถือว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว แม้ผู้คนจะยังไม่รู้ในเวลานั้น แต่มันไม่สำคัญหรอก ยังไงโลกก็เปลี่ยนอยู่ดี”