ในฐานะประชากรที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ เชื่อว่าหลายคนคงเคยชินกับรถติด ความแออัดของเมือง แย่งกันกินแย่งกันใช้ ทุกอย่างขับเคลื่อนด้วยความเร่งรีบ หากมีโอกาสต่างก็ฝันอยากหนีความวุ่นวายจากเมืองใหญ่ ไปดื่มด่ำธรรมชาติและอากาศบริสุทธิ์สักที่ จริงมั้ย?
ผู้เขียนเองทราบว่า ‘ภูฏาน’ อาจไม่ใช่สถานที่แรกที่ทุกคนนึกถึงแน่นอน
แต่หลังจากมีโอกาสได้ก้าวไปสัมผัสแผ่นดินดังกล่าว เราอยากจะแชร์ความน่าสนใจอีกมุมหนึ่ง บอกเล่ารายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ว่าทำไมภูฏานคือจุดหมายปลายทางที่ไม่อยากให้พลาดหากมีโอกาส ด้วยความที่เป็นดินแดนแห่งหุบเขา มีทั้งธรรมชาติและทัศนียภาพที่งดงาม มรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คุณจะได้สัมผัสวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ความใจดี รอยยิ้ม และความสุขของผู้คนได้อย่างชัดเจนตลอดการเป็นผู้มาเยือน ณ ที่แห่งนี้
ดินแดงแห่งความสุข
ภูฏานได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งความสุข เป็นประเทศเดียวในโลกที่ให้ความสำคัญกับ ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ แนวคิดนี้เรียกว่า Gross National Happiness (GNH) ซึ่งแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ภูฏานมุ่งเน้นแนวทางการพัฒนาแบบองค์รวม รักษาสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ ประชาชน และการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่งเสริมนโยบายที่เข้มข้นในการอนุรักษ์วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมของประเทศ
แม้จะเป็นดินแดนแห่งความสุข แต่ไม่ได้หมายความว่าชาวภูฏานจะไม่มีความทุกข์เลย เพราะก็ยังมีประชาชนหลายคนเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำ การว่างงาน ความยากจน การเข้าถึงระบบไฟฟ้า การคมนาคม ซึ่งเป็นโจทย์ที่รัฐบาลภูฏานเองต้องหาทางแก้ไขปัญหานี้ต่อไป
ขณะเดียวกัน โครงสร้างพื้นฐานบางส่วนที่ รัฐบาลภูฏานให้ความสำคัญอย่างแรกคือการส่งเสริมสุขภาพและการป้องกันโรค ทำให้เกิดระบบสุขภาพถ้วนหน้าขึ้น เพื่อส่งเสริมนโยบายให้ประชาชนมีสุขภาพแข็งแรงและคุณภาพชีวิตที่ดี ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ครอบคลุมพลเมืองทุกชนชั้น ไม่ว่าจะยากจน ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงชาวต่างชาติที่เป็นผู้มาเยือนด้วยเช่นกัน
ประเด็นต่อมา การให้ความสำคัญกับการศึกษา รัฐบาลภูฏานกำหนดให้การศึกษาฟรีแก่ประชาชนทุกคน ตั้งแต่ระดับประถมศึกษาจนถึงระดับมหาวิทยาลัย เพราะเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ และยังช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น
อีกหนึ่งตัวอย่างที่ขาดไม่ได้ อาจไม่ใช่รัฐสวัสดิการโดยตรง แต่เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมที่รัฐบาลภูฏานสนับสนุนอย่าง การสร้างอาชีพให้กับพลเมืองในประเทศให้มีรายได้ จนสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้อย่างยั่งยืน ส่งเสริมธุรกิจขนาดเล็กที่สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาของประเทศ อาทิเช่น ธุรกิจการบริการสำหรับการท่องเที่ยว ตั้งแต่มัคคุเทศก์ พนักงานบริการ ผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่กลายเป็นอาชีพสำคัญของประเทศไปแล้ว
งานหัตถกรรม ก็เป็นอีกสิ่งที่เห็นได้ชัดจนกลายเป็นซอร์ฟพาวเวอร์ของภูฏาน ไม่ว่าจะเป็นงานแกะสลักไม้ การทอผ้า การจักสาน การปั้นดินเผา ที่ทำให้เห็นทั้งความเชื่อและวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากตัวอย่างที่ได้กล่าวมานั้น ทำให้เห็นว่าชาวภูฏานสามารถใช้ทรัพยากรของประเทศได้อย่างครบวงจร ยั่งยืน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจริงๆ
แน่นอนว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่องค์ประกอบเดียวที่ทำให้ประชาชนเป็นสุข แต่ยังมีอีกหลายองค์ประกอบผสมผสานร่วมกัน ไม่ต้องแบกรับภาระทั้งหมดเองในชีวิต อัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย ไม่แปลกหาก ณ ที่แห่งนี้จะกลายเป็นเมืองที่หลายคนอยากลองมาสัมผัส
ดินแดนแห่งธรรมชาติ
ภาพแรกที่ทุกคนนึกถึงภูฏาน คงหนีไม่พ้นภูเขาสูง พื้นหลังเต็มไปด้วยธรรมชาติสีเขียว สัตว์ป่ามีชีวิตที่อุดมสมบูรณ์
รัฐบาลภูฏานให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ธรรมชาติเป็นอย่างมาก เป็นหนึ่งในประเทศในโลกที่มีคาร์บอนติดลบ (Carbon Negative) ด้วยกว่า 70% ของภูฏาน ปกคลุมไปด้วยพื้นที่ป่าไม้ที่คงสภาพธรรมชาติไว้ได้อย่างสมบูรณ์ และเกินกว่า 50% ของประเทศยังได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย สำหรับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ นับว่ามีพื้นที่คุ้มครองใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงความพยายามในการใช้พลังงานสะอาด ทำให้ภูฏานเป็นหนึ่งในประเทศที่ขนานนามว่า อากาศบริสุทธิ์ที่สุดในโลก

Asia, Bhutan, Thimphu. Takin, the national animal of Bhutan.
ภูฏานยังมีสัตว์ประจำชาติขึ้นชื่ออย่าง ‘ทาคิน’ ลักษณะของมัน คือ มีตัวคล้ายวัว มีหัวคล้ายแพะ มักอาศัยอยู่ในป่าบนภูเขาสูง เคยมีตำนานเล่าขานว่า เป็นสัตว์ที่เกิดจากการร่ายมนต์ของนักบุญคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘ดรุกปะ คุนเลย์’ ท่านเป็นที่เคารพนับถือของชาวภูฏาน เลยทำให้ทาคินมีความเชื่อมโยงกับจิตวิญญาณของชาวภูฏานโดยตรง
นอกเหนือจากทาคินแล้ว ยังมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่หายากอีกมากมายบนพื้นที่คุ้มครองขนาด 5 ล้านเอเคอร์ของประเทศ ที่ทำให้เห็นความอุดมสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นเสือเบงกอล เสือดาวหิมะ กวางผา นกกระสาท้องขาว นกกระเรียนดำคอขาว โดยชาวภูฏานทั้งเคารพและเชื่อในเรื่องของการอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติอย่างลึกซึ้ง
นอกจากลักษณะภูมิประเทศที่โดดเด่นแล้ว ตามที่ได้กล่าวข้างต้น ภูฏานเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง มีทรัพยากรต่างๆ มากมาย ยังคงยึดหลักธรรมชาติและความยั่งยืน ชาวภูฏานจึงนิยมการทำการเกษตรแบบออร์แกนิก ใช้วิธีการเพาะปลูกแบบดั้งเดิม ให้ความสำคัญกับ ‘อาหาร’ ที่ผลิตขึ้นเอง มักมีส่วนประกอบของผักในทุกจาน มักเลือกบริโภคพืชผักตามฤดูกาล ปรุงอาหารอย่างเรียบง่าย ใช้เครื่องเทศและสมุนไพรเพื่อสรรพคุณทางยาและความอูมามิ การรังสรรค์เมนูจากธรรมชาติจึงกลายเป็นธรรมเนียมปกติของคนที่นี่

National Dish of Bhutan Ema Datshi closeup in the pan on the table. horizontal top view from above
หนึ่งในอาหารขึ้นชื่อของชาวภูฏาน ที่ไม่พูดไม่ได้ คือ ‘อิมา ดาตชิ (Ema Datshi)’
อาหารจานนี้จะถูกเสิร์ฟแทบทุกครัวเรือน ทุกวาระ และโอกาส เป็นสัญลักษณ์ของความเรียบง่าย ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นที่ได้จากธรรมชาติ นั่นก็คือ ‘พริกภูฏาน’ ที่ให้ความรู้สึกเผ็ดร้อน เหมาะกับบรรยากาศการคลายหนาว และ ‘ชีส’ ที่ใช้กระบวนการแบบชาวภูฏาน มักทำมาจากนมวัวหรือนมจามรี ให้ความรู้สึกเข้มข้น เมื่อนำมารังสรรค์ด้วยกันพร้อมปรุงรสอีกเล็กน้อย ก็จะกลายเป็นอาหารจานหลักที่ต้องวางอยู่บนโต๊ะอาหารของชาวภูฏานทุกมื้อเลยทีเดียว
ทำให้เห็นว่า อาหารและธรรมชาติเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ตามแบบฉบับของชาวภูฏาน อาหาร ธรรมชาติ และยั่งยืน
ดินแดนแห่งวัฒนธรรม
การร้อง เล่น เต้นระบำ
เอกลักษณ์การแสดงที่ประกอบไปด้วยสีสันฉูดฉาด เครื่องแต่งกายสุดอลังการ การรวมตัวของผู้คนที่เต็มไปด้วยความสนุกสนานและมีชีวิตชีวา เป็นภาพที่เราเห็นได้บ่อยเมื่อพูดถึงประเทศภูฏาน อย่างที่พอทราบกันว่า ชาวภูฏานมีความผูกพันกับศาสนาและความเชื่อเป็นอย่างมาก มีเรื่องเล่าตำนานปรัมปรา รวมถึงมีประวัติศาสตร์ของตนเอง ทำให้การแสดงถูกบอกเล่าออกมาหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การระบำหน้ากาก การแสดงทางศาสนา การละเล่นพื้นบ้าน การขอบคุณความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ทำให้ทุกครั้งที่มีเทศกาล ชาวภูฏานจะมารวมตัวกันอย่างอบอุ่นเพื่อเฉลิมฉลองในวันสำคัญ
‘เตชู (Tshechu)’ เป็นหนึ่งในเทศกาลที่ขึ้นชื่อของภูฏาน เป็นการแสดงระบำหน้ากาก แต่งกายด้วยสีสันสดใส บอกเล่าเรื่องราวของพุทธศาสนาและความเป็นมาของภูฏาน มักจัดขึ้นในวัดหรือป้อมปราการ (Dzong) ของเมืองต่างๆ เราจะได้เห็นผู้คนแต่งกายด้วยชุดประจำชาติที่สวยงาม ได้ฟังเพลงและดื่มด่ำกับการละเล่นพื้นบ้าน ชาวภูฏานมักจะมาขอพรจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเชื่อกันว่า การเข้าร่วมเทศกาลเตชู จะช่วยชำระล้างบาปในจิตใจ และเสริมความเป็นสิริมงคลให้กับตัวเองอีกด้วย
หมายเหตุ : เทศกาลเตชู มีกำหนดจัดงานในหลายเมือง แต่ละเมืองมีกำหนดช่วงเวลาที่แตกต่างกันไป
อีกเสน่ห์ของภูฏานที่เราสามารถสัมผัสได้ด้วยตาเปล่า คือ สถาปัตยกรรม ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ตึกรามบ้านช่องของชาวภูฏาน วัดวาอารม หรือแม้แต่ป้อมปราการ สถาปัตยกรรมเหล่านี้จะมีลักษณะเฉพาะตัวที่โดดเด่น มีจุดร่วมบางอย่างที่คล้ายกันจนเป็นภาพจำของตัวเอง
นั่นเป็นเพราะรัฐบาลภูฏานได้กำหนดนโยบายเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคารเอาไว้ โดยเฉพาะเรื่องของการออกแบบ สถาปัตยกรรมที่เห็นส่วนใหญ่มีการใช้สีไปในทิศทางเดียวกัน มีการใช้รูปทรงการออกแบบที่เรียบง่าย ก่อสร้างจากวัสดุธรรมชาติที่ทำให้แข็งแรงและทนทาน เหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศ เก็บความอบอุ่นภายในและช่วยป้องกันความหนาวเย็นจากภายนอก รวมไปถึงงานจิตรกรรมตามสถานที่สำคัญก็เช่นกัน มีการตกแต่งลวดลายอย่างประณีต ละเอียดอ่อน สะท้อนถึงอิทธิพลที่ได้รับจากศาสนา ประวัติศาสตร์ ตำนาน และการอยู่ร่วมกันอย่างธรรมชาติอย่างมีความหมาย
ทั้งหมดนี้ก็เพื่ออนุรักษ์สถาปัตยกรรมแบบดั้งเดิม และรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเอาไว้นั่นเอง
หากพูดถึงความภูมิใจของชาวภูฏานนั้น คงหนีไม่พ้นเรื่องของ ชุดแต่งกายประจำชาติ สิ่งนี้เป็นอัตลักษณ์ที่ชาวภูฏานยังคงให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่ในเชิงภาพลักษณ์ แต่ยังคงสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของพวกเขาเสมอมา
ชุดส่วนใหญ่ทำมาจากผ้าทอพื้นเมือง เป็นงานหัตถกรรมของคนท้องถิ่น ใช้วัสดุทางธรรมชาติ แข็งแรงทนทาน ปรับตัวได้กับทุกสภาพภูมิอากาศในประเทศ มักมีลวดลายและสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ ตัดเย็บด้วยความประณีต ยังคงสะท้อนถึงอิทธิพลจากความเชื่อและประวัติศาสตร์ มีความละเอียดอ่อนและสวยงามเฉพาะตัว ไม่เพียงแต่จะสวมใส่เฉพาะวันสำคัญเท่านั้น รวมถึงวันธรรมดาในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน อาจจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกันเล็กน้อยตามระดับความทางการ ทั้งหมดนี้เป็นเหมือนการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีเครื่องแต่งกาย และยังช่วยสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กับชาวภูฏาน
คาริสสา นีมาห์ (Carissa Nimah) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน เธอให้ความเห็นกับเราว่า
“ภูฏาน เป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่เหมือนใคร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มอบโอกาสอันล้ำค่าให้กับผู้มาเยือนได้สัมผัสกับดินแดนหิมาลัยอันบริสุทธิ์ เข้าถึงรากลึกของขนบธรรมเนียม ประเพณี และจิตวิญญาณ ทั้งยังโดดเด่นด้วยทัศนียภาพตระการตา ตั้งแต่หุบเขาเขียวขจีไปจนถึงยอดเขาหิมะที่สูงตระหง่าน
รวมถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่ยังคงมีชีวิตชีวาและได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดี ผู้มาเยือนสามารถเดินป่าผ่านอุทยานแห่งชาติสำรวจวัดโบราณ เช่น วัดทักซัง (Tiger’s Nest) ซึ่งตั้งอยู่บนหน้าผา ได้ดื่มด่ำกับเทศกาลท้องถิ่นที่เต็มไปด้วยการเต้นรำและพิธีกรรมอันงดงาม มีส่วนร่วมกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น และเมื่อความเป็นมิตรของชาวภูฏาน ผสานกับสิ่งแวดล้อมและประเพณีที่สวยงามแล้วนั้น จะทำให้ทุกการเดินทางสู่ภูฏานเปลี่ยนมุมมองต่อประสบการณ์ของนักเดินทางไปเลย”
ภูฏานนับเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางที่ผู้เขียนมองว่า ตอบโจทย์หากกำลังอยากหลบหนีความวุ่นวาย มาพักผ่อนและดื่มด่ำกับธรรมชาติอย่างเรียบง่าย สงบจิตสงบใจ ใช้ชีวิตปราศจากความเร่งรีบ ณ เมืองแห่งสติ มีทิวทัศน์ที่ดี อากาศบริสุทธิ์ สามารถเดินทางได้ตลอดทั้งปี ใช้เวลาเดินทางไม่นาน อยู่ใกล้กับประเทศไทย
เป็นหนึ่งในหมุดหมายที่อยากแนะนำผู้อ่านทุกท่าน ได้สัมผัสสักครั้งในชีวิต
… เมื่อมีโอกาส
อ้างอิงจาก
การเดินทางครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก The Marcom Pro และ สภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศภูฏาน