“สมเด็จพระราชาธิบดีทรงมีพระราชดำริว่าจะรับวัคซีนก็ต่อเมื่อพสกนิกรทุกคนในประเทศได้รับวัคซีนอย่างปลอดภัย … เราทุกคนจึงต้องก้าวออกมาเติมเต็มหน้าที่ของตนเองในฐานะประชาชนผู้มีความรับผิดชอบ … เพื่อให้กษัตริย์อันเป็นที่รักของเราทรงรับวัคซีนโดยเร็วที่สุด” แพทย์หญิง เดเชน วังโม รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขภูฏานระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่บนสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดียเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
ภูฏานคือประเทศเล็กๆ บนเทือกเขาหิมาลัยที่มีประชากรร่วมแปดแสนคน จัดเป็นประเทศรายได้ปานกลาง-ต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ไม่ติดทะเล และการเดินทางไปยังชุมชนห่างไกลยังแสนยากลำบาก บางแห่งไม่มีแม้กระทั่งถนนลูกรังเข้าถึง ประเทศแห่งนี้ถูกขนานนามว่า “ดินแดนแห่งความสุข” เพราะใช้ตัวชี้วัดความสุขมวลรวมประชาชาติ (Gross National Happiness: GNH) เป็นแนวทางในการพัฒนา แถมยังเป็นประเทศแรกของโลกที่เป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) เพราะพื้นที่ราว 2 ใน 3 ของประเทศยังปกคลุมไปด้วยป่าไม้ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
หลายคนอาจไม่ทราบว่าภูฏานเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอย่างราบรื่น โดยมีการจัดการเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2551 และครั้งล่าสุดผู้กำชัยคือพรรคสังคมนิยม Druk Nyamrup Tshogpa ส่งให้นายแพทย์ โลเท เชอร์ริง (Lotay Tshering) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 14 ของภูฏาน โดยในวันหยุดเขาก็ยังทำงานในฐานะศัลยแพทย์อีกด้วย
ตัวเลขผู้ติดเชื้อ COVID-19 ล่าสุดในภูฏานคือ 2,456 คนโดยมีผู้เสียชีวิต 2 คน โดยนับตั้งแต่ COVID-19 ระบาดจนถึงปัจจุบัน ภูฏานต้องเผชิญการล็อกดาวน์ทั่วประเทศสองครั้งสองครา บริการสาธารณะต้องหยุดชะงัก เด็กๆ ต้องหยุดเรียน รวมทั้งการปิดพรมแดนซึ่งกระทบต่อทุกภาคส่วนเนื่องจากการท่องเที่ยวคือหนึ่งในรายได้หลักของประเทศ แลกกับการจำกัดการระบาดท่ามกลางทรัพยากรและเงินทุนที่มีอยู่น้อยนิดหากเทียบกับประเทศอื่นๆ
ภูฏานได้รับบริจาคโควิชิลด์ (Covishield) หรือวัคซีนแอสตราเซเนก้าที่ผลิตในอินเดียจำนวน 150,000 โดสจากประเทศมหามิตรตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา แต่คณะสงฆ์สูงสุดของประเทศ (Zhung Dratshang) มองว่าขณะนั้นยังไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสม พร้อมแนะนำฤกษ์ยามตามตำราโหราศาสตร์พุทธว่าควรฉีดวัคซีนเข็มแรกในปลายเดือนมีนาคมโดยผู้ฉีดและผู้รับวัคซีนจะต้องเป็นหญิงที่เกิดในปีวอก
ทั่วโลกต่างประหลาดใจที่รัฐบาลภูฏานยอมทำตามคำแนะนำของคณะสงฆ์สูงสุด แต่นั่นอาจเป็นกุศโลบายในระหว่างที่รอเวลาอันเหมาะสมในทางธรรม นายกรัฐมนตรีของภูฏานก็ทำงานพบปะประชาชนผ่านโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอเพื่อขจัดความกังขาต่อวัคซีน ในขณะเดียวกันรัฐบาลก็จับมือกับองค์การอนามัยโลกเพื่อวางแผนกระจายวัคซีนและเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อีกทั้งยังเป็นการรอเวลาให้วัคซีนมาครบ 550,000 โดสซึ่งจะครอบคลุมประชากรผู้ใหญ่ทั้งหมดในภูฏานได้พอดิบพอดี
เช้าวันที่ 27 มีนาคม ท่ามกลางเสียงสวดมนต์ระงมในห้องโถงโรงเรียนมัธยม Lungtenzampa เมื่อนาฬิกาบอกเวลามงคล 9 โมง 30 นาที นินดา เดมา (Ninda Dema) หญิงวัย 30 ปีที่เกิดปีวอกก็ได้รับวัคซีน COVID-19 เข็มแรกของภูฏาน โดยมีหญิงสาวอีกคนหนึ่งซึ่งอายุเท่ากันและเกิดในปีนักษัตรเดียวกันเป็นผู้ฉีดให้ นี่นับเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศภูฏานโดยทีมอาสาสมัครชุดส้มที่ชื่อว่า Desuung (ผู้พิทักษ์ความสงบสุข) จำนวนกว่า 4,500 คนพร้อมตั้งจุดฉีดวัคซีนกว่า 1,200 แห่งทั่วประเทศ และมีบริการฉีดวัคซีนถึงบ้านสำหรับผู้ที่ลงทะเบียนแจ้งว่ามีความยากลำบากในการเดินทาง
เพียงวันแรก ภูฏานก็สามารถฉีดวัคซีนโดสแรกให้กับประชาชนกว่า 85,000 ชีวิตหรือมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั่วประเทศ ราวสองสัปดาห์ให้หลัง รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขก็แถลงว่าสามารถฉีดวัคซีนให้กับประชากรที่มีอายุระหว่าง 18–104 ปี ซึ่งสามารถรับวัคซีนได้ 93 เปอร์เซ็นต์ โดยตัวเลขอย่างเป็นทางการคือ 472,139 คน
ประเทศเล็กๆ ที่ยากจนกลับสร้างความตื่นตะลึงต่อสายตาประชาคมโลกอีกครั้งด้วยอัตราการฉีดวัคซีนที่รวดเร็วแซงหน้าประเทศพัฒนาแล้ว อีกทั้งยังนำกลุ่มประเทศที่มีขนาดประชากรใกล้เคียงกันอีกด้วย
หลายคนอาจประหลาดใจหากทราบว่าบุคลากรทางการแพทย์ของภูฏานมีจำนวนเพียงหยิบมือ ตามสถิติ พ.ศ.2562 ภูฏานมีบุคลากรสาธารณสุข 3,000 คนและมีแพทย์เพียง 376 เท่านั้น อีกทั้งมีแพทย์เพียงคนเดียวที่จบเฉพาะทางด้านการดูแลผู้ป่วยวิกฤติ ตัวเลขดังกล่าวจึงนับว่าห่างไกลจากอัตราส่วนที่องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าควรมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 1,000 คน บุคลากรทางการแพทย์จึงเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่งของภูฏาน
แพทย์หญิงวังโมให้สัมภาษณ์กับวารสาร The Lancet ว่า “พวกเราพยายามอย่างยิ่งเพื่อดูแลและป้องกันไม่ให้บุคลากรทางการแพทย์ของเราติดเชื้อ COVID-19” โดยมีวิธีปฏิบัติที่เคร่งครัดในโรงพยาบาลขนาดใหญ่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดเชื้อโดยทั้งบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยทุกคนจะต้องตรวจ COVID-19 ก่อนเข้าใช้บริการ
นอกจากนี้ ภูฏานยังบังคับใช้กฎเกณฑ์การกักตัวที่เข้มงวดอย่างเสมอหน้า ในเดือนมีนาคม สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีต้องต้องประทับอยู่ภายในโรงแรมเพียงลำพังหลังกลับมาจากการเสด็จพระราชดำเนินพบปะพสกนิกรในพื้นที่ภาคใต้ของภูฏาน ขณะที่นายกรัฐมนตรีก็ต้องกักตัว 21 วันหลังจากกลับจากการไปเยือนบังคลาเทศ
ภูมิศาสตร์ของภูฏานนับว่าเสี่ยงเพราะมีพรมแดนประชิดทั้งประเทศจีนและอินเดีย รัฐบาลจึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อพื้นที่ชายแดนซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการระบาด สำนักข่าว Reuters รายงานว่านับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 สมเด็จพระราชาธิบดีจิกมีเสด็จพระราชดำเนินร่วมกับนายกรัฐมนตรีหลายต่อหลายครั้งเพื่อเตือนประชาชนในชนบทให้ปฏิบัติตามมาตรการจำกัดการระบาด และเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาพระองค์ทรงพระดำเนินนาน 5 วันบนเทือกเขาสูงเพื่อเยี่ยมเยือนและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล
อาจนับเป็นอีกหนึ่งความบังเอิญที่แพทย์หญิงวังโมจบสาขาเฉพาะทางด้านการระบาดวิทยา เธอให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ประจำชาติว่าประสบการณ์และความรู้ที่ร่ำเรียนมาทำให้สามารถตัดสินใจ ‘อย่างมีเหตุมีผล’ เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 ผนวกกับระบบขนส่งและจัดเก็บวัคซีนแบบควบคุมอุณหภูมิซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนเด็กทั่วประเทศ ทำให้แม้แต่สถานีอนามัยซึ่งอยู่ห่างไกลที่สุดก็สามารถรับและจัดเก็บวัคซีนได้ นี่คือปัจจัยสำคัญที่การฉีดวัคซีน COVID-19 ทั่วประเทศไม่ใช่เรื่องเกินความสามารถ
แต่ที่ขาดไม่ได้คือความทุ่มเทของรัฐบาลและความพยายามของเหล่าอาสาสมัคร แม้แต่พื้นที่อย่างลูนานา (Lunana) ชุมชนใกล้กับพรมแดนฝั่งตะวันตกของประเทศจีน แวดล้อมด้วยทะเลสาบน้ำแข็งและยอดภูเขาสูงซึ่งไม่สามารถเข้าถึงด้วยรถยนต์ รัฐบาลก็ยังส่งวัคซีนมาให้ทางเฮลิคอปเตอร์ ส่วนทีมอาสาสมัครก็เดินเท้าฝ่าหิมะเพื่อฉีดวัคซีนให้กับประชาชน
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมที่ผ่านมาคือกำหนดเวลาที่ชาวภูฏานทั้งประเทศจะได้รับวัคซีนเข็มที่สอง การระบาดครั้งใหญ่ในอินเดียทำให้ภูฏานเผชิญความไม่แน่นอนเนื่องจากอาจไม่สามารถร้องขอวัคซีนจากมหามิตรได้เหมือนเดิมเพราะอินเดียจำเป็นต้องใช้วัคซีนทุกโดสที่ผลิตในประเทศเพื่อรักษาชีวิตประชาชน
แต่ปัญหาการจัดหาวัคซีนก็คลี่คลายลงอย่างรวดเร็ว เมื่อภูฏานได้รับวัคซีนโมเดอร์นา 500,000 โดส จากสหรัฐอเมริกา และวัคซีนแอสตราเซเนก้าจำนวน 250,000 โดส จากประเทศเดนมาร์ก รัฐบาลจึงพร้อมเดินหน้าฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เพียงพอต่อการรับมือ COVID-19 สายพันธุ์เดลตา
ภูฏานยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ตามเทรนด์ ‘มิกซ์แอนด์แมตช์’ วัคซีนโดยคณะที่ปรึกษาด้านเทคนิกด้านภูมิคุ้มกันแห่งชาติ (The National Immunization Technical Advisory Group) เสนอว่าประชาชนบางส่วนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนก้าเข็มแรกควรจะรับวัคซีนโมเดอร์นาเป็นเข็มที่สองเนื่องจาก “มีการศึกษาพบว่าประสิทธิผลของวัคซีนแอสตราเซเนก้าสองโดสในการป้องกันเชื้อสายพันธุ์เดลตานั้นมีเพียง 40 เปอร์เซ็นต์ แต่หากฉีดวัคซีน mRNA เป็นโดสที่สอง ประสิทธิผลที่ได้จะสูงกว่า 80 เปอร์เซ็นต์” ซึ่งคณะที่ปรึกษาฯ ได้อ้างถึงงานวิจัยในประเทศพัฒนาแล้วหลายชิ้นที่พบว่าการฉีดวัคซีนสองชนิดนั้นนอกจากจะไม่เป็นอันตรายแล้วยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการรับมือ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ อีกด้วย
แพทย์หญิงวังโมแถลงว่ารัฐบาลมีแผนจะผ่อนคลายมาตรการจำกัดการระบาดลงหลังจากประชาชนเริ่มทยอยรับวัคซีนเข็มที่สอง แต่เธอก็ยังไม่ไว้วางใจจนกว่าประชากร 80 เปอร์เซ็นต์ในประเทศจะได้รับวัคซีนครบทั้งสองเข็ม ซึ่งการจะบรรลุเป้าหมายนั้นได้อาจต้องเริ่มฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป โดยอาจใช้วัคซีนโมเดอร์นาที่ได้รับบริจาคมา หรือวัคซีนไฟเซอร์อีก 200,000 โดสที่รัฐบาลสั่งซื้อและคาดว่าจะได้รับภายในปีนี้ ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์บางส่วนที่รัฐบาลได้รับมาจากโครงการโคแวกซ์จะถูกนำไปฉีดให้เด็กๆ กลุ่มเสี่ยงที่อาศัยอยู่ตามชายแดน
ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์หลังจากเริ่มฉีดวัคซีนเข็มที่สอง ภูฏานก็ทำให้โลกตะลึงอีกครั้งเมื่อสัดส่วนผู้ใหญ่ในประเทศที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสกระโดดจากศูนย์สู่ 90 เปอร์เซ็นต์ และเตรียมขึ้นแท่นประเทศที่มีจำนวนประชากรที่ฉีดวัคซีนสูงติดอันดับโลก รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขภูฏานแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า “สำหรับเรานี่ไม่ใช่การแข่งขัน มันไม่สำคัญเลยว่าจะเป็นประเทศอันดับหนึ่งหรืออันดับสุดท้าย แต่มันเป็นเรื่องของการคุ้มครองประชาชนพร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นว่าเรามีการป้องกันอย่างเพียงพอ ระบบสาธารณสุขของเรายังต้องพัฒนาอีกมากหากเทียบกับหลายประเทศ เป็นเหตุผลว่าทำไมการฉีดวัคซีนประชาชนให้ครบทุกคนจึงมีความสำคัญสำหรับเราอย่างยิ่ง”
นี่คือตัวอย่างของรัฐบาลและทุกองคาพยพในสังคมที่ทำงานรับมือการระบาดได้อย่างน่านับถือ แน่นอนว่าภูฏานได้เปรียบเพราะมีประชากรจำนวนไม่มากจึงสามารถจัดหาวัคซีนได้ไม่ยากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในฐานะประเทศที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย รัฐบาลภูฏานก็ฟันฝ่าวิกฤติได้อย่างน่าประทับใจ
ส่วนประเทศไทยนั้น… ผมขอละไว้ในฐานที่ทุกคนน่าจะเข้าใจ
อ้างอิงข้อมูลจาก
Bhutan: small nation, big ideas affecting respiratory health
The Country That Vaccinated 93% Of Adults In Under 2 Weeks
Bhutan’s journey will not end with the second dose of the vaccine: Sowai Lyonpo
Bhutan restarts Covid vaccinations after flood of donations
Illustration by Sutanya Phattanisitubon