น้องวัวตัวใหญ่ยักษ์ เวทีแสงสี และลานอันกว้างงงงงงงงเสียเหลือเกินที่เขาใหญ่ พูดมาขนาดนี้ชาวคอนเสิร์ตเป็นต้องรู้กันอยู่แล้วว่าคือ Big Mountain
จุดนี้คงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า Big Mountain คือเทศกาลดนตรีที่ใหญ่ที่สุดของบ้านเรา และงานครั้งที่ 12 ในปี ค.ศ.2022 นี้ ก็ใหญ่ไปอีก เพราะได้พื้นที่ใหม่มา ปีนี้เห็นเขาบอกมาว่าเราจะได้เข้าป่ากันด้วยนะ
และใครๆ ก็คงรู้กันว่ามีศิลปินไทยเบอร์ใหญ่มารวมตัวกันแน่นอน แต่ถึงอย่างนั้นตัวเทศกาลที่ใหญ่ก็ใช่ว่าจะมีแค่ศิลปินเบอร์ใหญ่เท่านั้น การให้พื้นที่กับศิลปินวงเล็กๆ หรือศิลปินอินดี้ยังเป็นสิ่งที่ ‘ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม’ และ ‘ป่าน-ป่านแก้ว สัตยาวุฒิพงศ์’ สองคนเบื้องหลังการจัดงานของทีม ‘GAYRAY’ ภายใต้ ‘GMM SHOW’ ยังให้ความสำคัญกับ Big Mountain มาทุกปี โดยเฉพาะ Big Mountain Music Festival 12 “มัน ใหม่ มาก” ครั้งนี้ด้วย
สำหรับใครที่กำลังเตรียมตัว หรือคิดอยู่ว่าจะไป Big Mountain ดีไหม อยากชวนมาฟังจากป๋าเต็ดและป่านว่า ปีนี้เทศกาลดนตรีที่ว่าใหญ่และใหม่จะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์บ้าง แถมด้วยวีรกรรมของเหล่าศิลปินจากครั้งก่อนๆ จะสนุกแค่ไหน มาฟังกัน
ธีมงานปีนี้คืออะไร
ป่าน: ง่ายมากเลย ปีนี้คือ Pepsi Present Big Mountain Music Festival 12 “มัน ใหม่ มาก” มันมาจากที่เราพยายามหา ว่าเราจะทำให้ Big Mountain เป็นที่ใหม่ และเป็นพื้นที่ใหญ่ขึ้นได้ยังไง แล้วปีนี้เราได้พื้นที่ใหม่มา ซึ่งเหมือนเปิดโลกใหม่ของ Big Mountain เลย มันจะมีพื้นที่แปลกๆ ที่คนเคยไปเมื่อ 3-4 ครั้งที่แล้วไม่เคยเจอ ไม่เคยเห็นมาก่อน พอเราได้พื้นที่มา มันก็เลยเป็นธีมของปีนี้ว่า ALL- NEW มันเริ่มคิดจากว่าเราได้พื้นที่ใหม่มาก่อน
ในพื้นที่ใหม่จะมีอะไรใหม่บ้าง
ป่าน: สิ่งที่น่าตื่นเต้นมากก็คือ พื้นที่ใหม่ของเรามันเป็นพื้นที่ที่มีต้นไม้ใหญ่เยอะมาก เป็นต้นไม้ใหญ่แบบที่เวลาเราเดินเข้าไปในสวนสาธารณะ เช่น สวนลุม สวนรถไฟ เราจะเห็นต้นก้ามปู ต้นจามจุรีใหญ่ยักษ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ Big Mountain จะไม่มีพื้นที่ที่เป็นร่มเงา แล้วเราใช้พื้นที่ตรงนี้ เอาเวทียัดเข้าไปในป่า บรรยากาศที่ทุกคนเคยเจอว่าไป ไป Big Mountain แล้วเป็นลานโล่งๆ หญ้าเขียวๆ ยืนเต้นกัน 30,000-40,000 คน มันจะมีโซนใหม่นี้เกิดขึ้น ที่ทําให้คนเข้าไปอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น เต้นกันในป่า เอาเวทีและวงดนตรีที่น่าสนใจไปแสดงในป่า มันก็จะมีบรรยากาศตรงนี้ที่มันไม่เคยเกิดขึ้นใน Big Mountain มาก่อนเลย
แปลว่าจะมีศิลปินเยอะขึ้นกว่าเดิม?
ป่าน: เรามีเวทีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งเวทีในปีนี้ แต่ศิลปินจํานวนเท่าเดิม และพยายามเลือกคนที่ยังเป็นขวัญใจคนดู ซึ่งต้องมาแน่ๆ แล้วก็มีวงหน้าใหม่ ในวงการเพลงก็มีวงอินดี้ที่ดังขึ้นเรื่อยๆ เราพยายามเลือกเขามาลงในพื้นที่เวทีใหม่ๆ เปิดโอกาสให้วงใหม่ๆ เยอะขึ้น
ป๋าเต็ด: มันมีอย่างหนึ่งซึ่งเป็นรายละเอียดที่บางคนอาจจะไม่ได้สังเกตก็คือว่า ในแง่ของปริมาณวง มันอาจจะไม่ได้เพิ่มขึ้นชัดเจน แต่ว่าแต่ละวงได้เล่นนานขึ้น ซึ่งตรงนี้มันเป็น pain point ของคนที่อยู่ในเทศกาลดนตรีขนาดใหญ่แบบ Big Mountain นั่นก็คือเขาอยากดูหลายวง ถ้าเราสังเกตเทศกาลดนตรี เขาจะให้แต่ละวงเล่นสั้นๆ อาจจะเป็นเพราะว่าเวทีเขามีน้อย เขาอยากมีวงเยอะก็ต้องไปอัดๆๆๆ กัน ปัญหาก็คือ สมมติคนดูดูวงนี้ แล้วอยากดูอีกวงหนึ่งที่อีกเวทีหนึ่งด้วย บางทีวิ่งไม่ทัน เพราะว่าระยะเวลาการแสดงมันสั้น แล้วตั้งแต่ Big Mountain สัก 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ถ้าเกิดใครที่ไป Big Mountainทุกปีแล้วสังเกต น่าจะเห็นเลยว่า เออเว้ย แต่ละวงเล่นนานขึ้น คราวนี้การเล่นนานขึ้นนอกเหนือจากการที่วิ่งดูหลายเวทีทันแล้ว มันยังหมายถึงการเซ็ตโชว์ของศิลปินที่เขาจะให้ความสําคัญกับมันมากขึ้น เขาจะรู้สึกว่าเขาต้องเตรียมโชว์ที่มันพิเศษสําหรับคนดู Big Mountain เท่านั้น เพราะว่ามันคล้ายๆ กับเป็นอีกหนึ่งคอนเสิร์ตของเขาเลย
หลายๆ วงโชว์ยาวกว่าปกติที่เล่นในผับด้วยซ้ำไป ซึ่งมันก็ส่งผลให้เขาต้องทําสคริปต์ใหม่ ซ้อมใหม่ ซึ่งมันก็ประโยชน์ไปตกสู่คนดู ก็คือได้ดูโชว์ที่ไม่เหมือนกับที่เขาเคยเห็นมาก่อน
เผื่อเวลาให้วิ่งนะครับ เพราะว่าเวทีมันห่างกันเป็นกิโลฯ เลยตามแต่ละเวที จะได้วิ่งทัน
แต่ละเวทีเป็นยังไง
ป่าน: ทั้ง 9 เวทีก็จะมีคอนเซ็ปต์ ทั้งในเรื่องของการเลือกโชว์ไปลง เรื่องการดีไซน์ เรื่องบรรยากาศการตกแต่ง แต่ละเวทีก็จะแตกต่างกันหมดเลย สามเวทีหลักของงานก็มี Mountain Stage, Cow Stage, และ Block Stage ที่จะเต็มไปด้วยวงที่เป็นระดับซูเปอร์ฮิต ซูเปอร์เมนสตรีม วงไฮไลต์ คนที่จะได้ขึ้น Mountain Stage จะต้องเป็นวงที่เรียกแฟนๆ 30,000-40,000 คน มารวมตัวกันแล้วสนุก เช่น PALMY POTATO หรือว่าปีนี้เราก็จะดันน้อง MILLI หรือ Three Man Down ให้ขึ้นเวที Mountain Stage คือศิลปินขวัญใจมหาชนเลย เข้าไปแล้วสนุกแน่นอน ร้องเพลงฮิตตามได้หมด
เวทีที่ใหญ่รองลงมาก็เป็น Cow Stage อันนี้เป็นอีกเวทีเอกลักษณ์ของ Big Mountain นั่นคือหน้าตาพี่วัวที่เราเคยเห็นว่ามีตั้งแต่โบนันซ่า ก็ยังอยู่ยืนยาวมาจนถึงทุกวันนี้ แล้วก็วงที่ขึ้นก็จะเป็นวงป๊อป วงไอดอล วงที่จะคอยเอนเตอร์เทน TATTOO COLOUR, INK WARUNTORN, ป๊อบ ปองกูล, โอ๊ต ปราโมทย์, หรือ LULA จะขึ้นที่เวทีนี้ ก็จะเป็นโชว์ที่สนุกแน่นอนและมีความสดใส
อีกเวทีหนึ่งคือ Block Stage ที่แปลงร่างมาจากเวที Black Stage ซึ่งมีการเปลี่ยนชื่อมาหลายเวอร์ชั่นมาก ก่อนหน้านี้จะเป็นเวทีชาวร็อค แค่คราวนี้ก็จะทําโปรดักชั่นดีไซน์ใหม่ ปรับเปลี่ยนหน้าตาของวิธีการโชว์ใหม่ให้เป็นเวทีที่เราจัดเตรียมอุปกรณ์ แสง สี จอทุกอย่างเพิ่ม คนที่จะมาขึ้นที่เวทีนี้จะไม่ใช่แค่วงร็อคแล้ว แต่จะเป็นวงที่มีโชว์ที่น่าสนใจและมีวิชัล มีไลต์ติ้งที่ส่งเสริมให้โชว์เต็มอิ่มมากขึ้น เวที่นี้จะรวมฮิบฮอบด้วย รวมวงร็อคด้วย รวมไปจนถึงป๊อปไอดอล ไบร์ท-วิน พีพี-บิวกิ้นหรือ 4EVE ก็ขึ้นที่เวทีนี้ได้ด้วย
นอกจากนี้ก็ยังจะมีเวทีที่รองลงมา แต่ว่าก็ศิลปินที่ขึ้นโชว์ก็จะเป็นศิลปินถูกใจวัยรุ่น เวที Egg Stage, Chic Stage, และมีเวทีใหม่ชื่อเถียงนา สามเวทีนี้เป็นเวทีที่อยู่ในป่าโซนใหม่ แล้วก็จัดสามเวทีนี้เป็นเวทีที่เอาวงอินดี้ทั้งอินดี้เมนสตรีม อินดี้เพิ่งเกิด อินดี้สไตล์โฟล์ก หรือว่าวงโชว์ที่พิเศษๆ เอาไปลงในสามเวที เลือกกันตามปริมาณคนดู ว่าถ้าเป็น Egg Stage ก็คนดูจะเยอะหน่อย ประมาณพันคน วงที่จะขึ้นที่นี่ เช่น โจอี้ ภูวศิษฐ์, SAFEPLANET
เวที Chic Stage ก็จะเล็กลงมาหน่อย คือยังเป็นศิลปินที่อาจจะขึ้น Block Stage ไม่ได้ หรือยังไม่ถึง Egg Stage แต่ว่าเขาก็มีเพลงดังมาก เช่น เบล วริศรา ‘เอาปากกามาวง’ ส่วนเถียงนานี่เป็นวงอินดี้ระดับที่เพิ่งเกิดเลย แต่มีโชว์ที่น่าสนใจ มีเพลงที่น่าสนใจ รวมจนถึงว่าโชว์ของวงโฟล์คก็มาเล่นที่เถียงนาด้วย แล้วก็ยังมีอะไรพิเศษๆ เช่น POTATO อาจจะมาเล่นเพลงเวอร์ชั่นอะคูสติกที่เถียงนาด้วย
อีกสามเวทีก็คือ For rest Stage เป็นเวทีพักผ่อน เวทีเปิดหมวก มีดนตรีเปิดหมวก มีดีเจเปิดแผ่น chill out ก็จะเล่นในช่วงตอนบ่ายๆ ค่ำๆ
และอีกสองเวทีเป็นผับที่เป็นผับหลักของงาน คือ บาร์รำวง ของพี่โจอี้บอยก็ยังมาเหมือนเดิม แล้วก็มี อโคจร ของน้าเน็ก เรียกว่าครบ อยากจะดูอะไร อยากจะดูลูกทุ่ง อยากจะนั่งกินเหล้าชิลๆในผับฟังน้าเน็กเอนเตอร์เทน เฮฮากับคนเยอะเยอะ30,000-40,000 คน ดูวงเมนสตรีม หรือจะเข้าป่าไปดูอินดี้ แล้วแต่ความชอบและแต่ความสนใจ
Big Mountainยังให้ความสำคัญกับวงดนตรีเล็กๆ อยู่?
ป๋าเต็ด: จริงๆ แล้ว Big Mountain มีดนตรีทุกรูปแบบมาตั้งแต่ปีแรกเลย เพียงแค่ว่าในแง่ของการจัดวางที่ต้องดูว่า วงไหนควรจะอยู่เวทีไหน การจัดวางผังงานแบบไหนที่จะทําให้ทุกคนเดินได้ทั่ว ได้ดูครบทุก เวทีมีแรงดึงดูดพอที่จะทําให้แม้แต่เวทีที่เล็กที่สุดคนก็จะอยากไป กว่าเราจะทําให้มันเข้าที่เข้าทางได้เนี่ยก็น่าจะสักประมาณ 3-4 ครั้งที่ผ่านมา คือเราจะวัดกันตรงที่ว่าเมื่อไหร่ก็ตามที่ทุกเวทีคนแน่นทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเวทีที่จุ 30,000 คน หรือเวทีที่ความจุ 500 คนแน่นพร้อมๆ กันทั้งหมดแปลว่าเราทําสําเร็จแล้ว เพราะว่าศิลปินแต่ละคนอาจจะมีความเหมาะสมต่างกัน ความอาจจะไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องอายุมากอายุน้อย ความดังมากดังน้อยด้วยนะ แต่ว่าดนตรีบางรูปแบบ การโชว์ของแต่ละวง บางคนเหมาะสมที่จะโชว์ให้ 500 คนดูแล้วมันจะพอดี บางคนเหมาะที่จะไปโชว์ให้ 30,000 คนดู วงที่ดังมากๆ หลายครั้งขอเราด้วยซ้ำไปว่าขอไม่ขึ้นเวทีที่ใหญ่สุดเพราะเขารู้สึกว่าโชว์ของเขาเหมาะกับเวทีขนาดกลางมากกว่า
วงไปส่งกู บขส. ดู๊ เนี่ยมาขึ้นตั้งแต่ครั้งที่สี่ครั้งที่ห้า
คือตั้งแต่คนยังไม่รู้จักมันเลย
แล้วมันเป็นอย่างนี้มาเสมอ LOMOSONIC ขึ้นเวที Big Mountain ครั้งแรกตั้งแต่ตอนที่เขายังไม่ดัง เขาไปขึ้นเวทีที่เล็กที่สุดของ Big Mountain ในปีหนึ่งมีคนไปดูอยู่ 15 คน ซึ่งเราไม่ได้ดีใจนะ ที่มีคนไปดู 15 คน เรารู้สึกว่า โห ทํายังไงจะให้มีคนไปดูเยอะกว่านั้น จนกระทั่งเมื่อสักประมาณ 4-5 ปีที่เราเริ่มจัดวางเวทีที่เราเชื่อว่าชื่อเสียงนักดนตรีอาจจะดึงดูดคนได้ไม่มาก เราจะไปวางไว้หน้างานเลยให้ทุกคนต้องเดินผ่าน เขาจะได้เห็นก่อนที่จะเข้าไปสู่เวทีใหญ่ๆ
เราตั้งใจให้ดนตรีครอบคลุมทุกแนว ทุกเลเวล ทุกขนาดของวงมาโดยตลอด แล้วสิ่งที่เราพยายามมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ทํายังไงให้คนที่ไม่ได้ตั้งใจจะไปดูวงที่เขาไม่รู้จัก โดนหลอกไปดูวงที่เขาไม่รู้จักโดยที่เขาไม่รู้ตัว อาจจะหลอกด้วยการที่ โห เวทีออกแบบสวยมาก หรือ โห เวทีมันเข้าไปอยู่ในสถานที่ที่ฉันต้องไปให้ได้เพื่อจะไปถ่ายรูป แต่ปรากฏว่า โอ้โห พอไปเห็นวงที่เขาอาจจะไม่เคยรู้จักมาก่อนเล่นอยู่ แล้วเขาก็เลยเป็นแฟนคลับวงนั้นไปโดยไม่รู้ตัว
ตัวอย่างที่ชัดเจนมากก็คือเวทีรําวง เวทีรําวงปีแรกที่เราลองเอามาใส่ในงาน เราจะคิดกันมากเลยว่ามันเหมาะกับ Big Mountain รึเปล่าวะ? ยุ้ย ญาติเยอะ มาอยู่ใน Big Mountain เนี่ยวัยรุ่นจะดูไหม? เขาจะชอบรึเปล่า? เราก็เลยตัดสินใจว่างั้นเราทําก็อตซิลลาตัวใหญ่ๆ วางไว้กลางเวทีรําวง เพื่อให้อย่างน้อยคนเห็นก็อตซิลลาก็เดินเข้ามาดูก่อนแล้วกัน เขาชอบไม่ชอบเดี๋ยวว่ากันอีกที ปรากฏพอคนเข้ามาอาจจะเพราะก็อตซิลลาก็ตาม ก็อยู่แล้วก็สนุกกับดนตรี จนในที่สุดเวทีรําวงเป็นหนึ่งในเวทีที่ฮิตที่สุดของ Big Mountain ไปแล้ว หลายคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ถ้าอยากดูศิลปินให้ครบ อย่าเดินผ่านเวทีรําวง เพราะว่าถ้าเดินผ่านแล้วมันจะออกไปไหนไม่ได้เลย มันจะโดนดูดอยู่ที่นั่นตลอดเวลา
นั่นก็คือความตั้งใจของเรา เราอยากให้ เราอยากให้การมาเทศกาลดนตรีเป็นการค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ต่างออกไปจากการนั่งดูคอนเสิร์ตในห้องติดแอร์สบายๆ ดังนั้นเมื่อพาออกมาจาก comfort zone ของแต่ละคน เขาควรจะได้ค้นพบอะไรที่มันคุ้มค่ากับการผจญภัยครั้งนี้
เราต้องมีดนตรีทุกแนว ทุกรูปแบบ มีเวทีทุกขนาด ตั้งแต่ขนาด30,000-40,000 คน ไปจนถึงขนาด 500 คน เพื่อที่จะได้รองรับดนตรีทุกรูปแบบ ทุกจังหวะชีวิตของศิลปิน ตั้งแต่วันที่ไม่มีใครรู้จักเลย จนวันที่คนรู้จักมากมาย ดังนั้นถ้าถามว่าดีไซน์ไหม ดีไซน์มากนะครับ และการจัดตารางโชว์ ทุกวันนี้เนี่ยก็ยังจัดไม่เสร็จ
ป่าน: ก็ยังแก้อยู่ จัดไม่เสร็จจริงๆ (หัวเราะ)
ป๋าเต็ด: คือมันยากมากในการที่จะทําให้มันลงตัว เพราะว่าเป้าหมายของเราคือมันไม่ใช่แค่จับศิลปินใส่ไปให้มันเยอะๆ นะ แต่อยู่ที่ว่าอยู่ตรงไหนแฟนเขาจะแฮปปี้ที่สุด อยู่ตรงไหนศิลปินเขาจะได้เป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่ที่สุด มีคนดูที่เหมาะสมกับเขามาอยู่ด้วยกันในบรรยากาศที่เหมาะสม หลายคนจะเข้าใจว่า การที่ไม่ได้ขึ้นเวทีใหญ่ที่สุดในงานเป็นเรื่องน่าน้อยใจ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เลยนะครับ ศิลปินเองก็เข้าใจด้วย บางคนเขารู้สึกไม่มั่นใจเลยด้วยซ้ำไปถ้าเราจับเขาไปอยู่ในที่ที่เขารู้สึกว่ามันไม่เหมาะกับเขา ดังนั้น การจัดวางตารางโชว์เนี่ยความยากมันอยู่ตรงนี้ครับ ตรงไหนมันถึงจะพอดี ทั้งในแง่ของขนาดเวที ทั้งในแง่ของเวลา บางวงเหมาะที่จะเล่นดึกๆ
บางวงเหมาะที่จะเล่นหัวค่ำ ที่มันเหมาะจะเล่นหัวค่ำ
เพราะว่าถ้าดึกแล้วมันจะเมาจนเล่นไม่ได้ ต้องให้รีบเล่นซะก่อน
นอกจากเวทีมีอะไรใหม่บ้าง?
ป๋าเต็ด: อาจจะเป็นคนทํางานที่เห็นชัดมากขึ้น โดยเฉพาะปีนี้จะให้ความสําคัญกับเรื่องนี้มากศิลปินได้ทํางานในสภาพแวดล้อมที่มันส่งเสริมให้เขาได้โชว์ผลงานออกมาให้ดีที่สุด ทีมงาน ทีมเทคนิก บรรดากลุ่มที่ติดตามศิลปินมาทํางานได้สะดวก คือเมื่อคนเหล่าเนี้ยทํางานสะดวก โชว์มันจะดีพอ โชว์ทีคนดูก็มีความสุข แปลว่าเวลาที่เราบอกว่าเราจะปรับปรุงให้คุณภาพมาตรฐานมันดีขึ้นเนี้ย เราปรับตั้งแต่ส่วนที่คนดูไม่เห็น เพื่อที่ในที่สุดแล้วมันจะมาโชว์ให้คนดูเห็นผ่านความสุขของคนทํางานที่มันเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมทุกอย่าง
ป่าน: ปีนี้สิ่งที่พยายามดูแลก็คือ เราแคร์คนดูมากขึ้น Big Mountain มันอาจจะเคยลําบากมากเรื่องห้องน้ำไม่สะอาด ทางเข้าทางออกไม่ได้กว้างขวาง ต้องต่อแถวเยอะ เราจะคิดถึงเรื่องนี้เยอะขึ้น เรื่องความสะดวกสบายของผู้ชม ทางเข้าต้องใหญ่เพียงพอที่จะต้องรองรับคน 50,000-60,000 คน มาต่อแถว เพื่อจะเช็กอินเข้าไปพร้อมๆ กันได้ พอเข้าไปถึงแล้วทางเดินมันจะต้องสว่าง เพื่อจะให้รู้ว่าจะต้องไปไหนต่อ ป้ายสื่อสารในงานจะต้องชัดเจน เพื่อจะให้เขารู้ว่าเขาอยู่ในตําแหน่งไหน อะไรที่มันมอบประสบการณ์ที่ดีขึ้นได้ไม่ใช่แค่เรื่องโชว์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการอํานวยความสะดวก
ป๋าเต็ด: เรื่องประสบการณ์ที่ผมจะอยากเล่าเพิ่มเติม เช่นพื้นที่หน้างานทําไมต้องเข้าแถวยาว ก็เพราะว่ามาตรการที่เข้มข้น เราต้องการที่จะให้ทุกคนมั่นใจได้ว่าเมื่อเข้าไปในงานเนี่ย เราดูแลคุณอย่างดี อย่างปีที่ผ่านมามีเรื่อง COVID-19 ก็จะต้องตรวจละเอียดมากยิ่งขึ้นไปอีก ดังนั้นในระหว่างที่เราเห็นทุกคนเข้าคิวต่อยาวต่อแถวกันยาวๆ ข้างหน้างาน จริงๆ พวกเราทุกคนไม่มีใครสบายใจเลย แต่ว่าเราก็ไม่สามารถที่จะบอกว่า อะ โอเค เข้าไปเลยไม่ตรวจแล้ว ก็ไม่ได้อีก เพราะว่ามาตรการเรื่อง COVID-19 ก็เป็นเรื่องสําคัญ
ปีนี้มีอะไรที่ไม่ควรพลาด?
ป่าน: อย่างแรกเลยอยากให้ไปโซนป่ามาก เพราะมันเป็นเหมือนซิกเนเจอร์ใหม่ เป็นพื้นที่ใหม่ที่จะต้องเดินไกลสุด อยู่ลึกสุดในงาน แต่ว่าจะมอบประสบการณ์ที่พิเศษ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งโซนป่าใหม่มันมีสามเวทีอยู่ในนั้น ก็คือ Egg Stage, Chic Stage, และมีเวทีใหม่ชื่อเถียงนา จงเดินไปซะ แล้วคุณจะพบสิ่งใหม่ใหม่รออยู่
อีกอย่างคืออยากให้ ไปดู POTATO โชว์พิเศษอะคูสติก คือ POTATO ก็ยังมีโชว์ที่เวที Mountain Stage เหมือนเดิมนะ แต่ส่วนนี้วงขอมาว่าวงอยากเล่นเวทีเล็ก เราก็เลยรู้สึกว่า เอ้ย ลองทําอะไรสนุกๆ ดู ไม่เคยคิดว่าจะได้นั่งดู POTATO ในระยะเวทีที่มันใกล้ชิดกันขนาดนี้อะไร
ป๋าเต็ด: เสริมนิดหนึ่งว่า ถ้าพูดถึงเรื่องดนตรี คนจะนึกภาพว่า เออ ก็รอแดดร่มลมตกรอเย็นๆ ค่ำๆ เดี๋ยวดนตรีจะเริ่ม ช่วงบ่ายๆ ก็ออกไปเที่ยวนู่นเที่ยวนี่ข้างนอก ซึ่งก็ไม่ผิดนะ เราก็อยากให้ไปทําให้ธุรกิจที่เขาใหญ่เฟื่องฟู เพียงแต่ว่าปีนี้เราเพิ่มเรื่องของกิจกรรมยามบ่ายเข้าไป แล้วเราทําอย่างนั้นได้ก็เพราะว่าโซนใหม่ที่มีต้นไม้ร่มรื่นนี่แหละ โชว์พิเศษของ POTATO ที่ป่านว่ามาเมื่อกี้อาจจะเกิดขึ้นบ่ายๆ ซึ่งแปลว่าปีนี้อย่าได้ประมาทเป็นอันขาด โชว์ของ POTATO เนี่ยบอกได้เลยว่าพื้นที่จํากัด ออกแบบมาให้คนได้ดูกันในจํานวนจํากัดมาก และเมื่อไหร่ที่เราประกาศรายละเอียดออกไปก็วิ่งมา เราก็เตือนว่าต้องขอให้วิ่งอย่างเดียวเลยครับ ไม่ฉะนั้นแล้วจะไม่ทัน
ป่าน: อีกอย่างหนึ่งที่อยากให้ไปดูคือ ระเบียบวาทะศิลป์คอลแล็บกับกับเวทีรําวงของพี่โจอี้บอย ระเบียบวาทศิลป์นี่ก็คณะหมอลําที่ดังที่สุดใหญ่ที่สุดทุกวันนี้ แล้วมาคอลแล็บกันกับ Big Mountain และพี่โจอี้บอย มันเลยน่าจะสนุกมาก สิ่งที่เคยสนุกอยู่แล้วในเวทีรําวง พอเจอระเบียบวาทะศิลป์เข้าไปน่าจะม่วนหลาย เซิ้งกันยับที่หน้าเวที
ป๋าเต็ด: ของผมบ้าง ผมก็ต่อจากระเบียบวาทะศิลป์เลยเวทีใกล้ๆ กันคือเวทีอโคจร ความพิเศษของอโคจรคือเดิมทีอโคจรเป็นเวทีที่จริงๆ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าใน Big Mountain มันเต็มไปด้วยความหลากหลาย เวทีอโคจรเป็นหนึ่งในเวทีที่ฮิตที่สุดใน Big Mountain ทั้งที่ขนาดเวทีออกแบบออกแบบมาให้คนอยู่รวมกันได้แบบพันคนก็แน่นเอี๊ยดแล้ว เป็นเวทีที่เล็กมาก แต่ว่าความเป็นเอกลักษณ์ของมันก็คือน้าเน็กมาเป็นโฮสต์ มาเป็นเหมือนเจ้าของบาร์ เจ้าของผับแห่งนี้ แล้วเขาเป็นคนที่จะคัดเลือกว่า เอ๊ะ เอาวงอะไรเล่นดี มีอะไรในร้านของเขาบ้าง แม้กระทั่งเครื่องดื่มเขาก็ตั้งชื่อเอง ภาษาที่ใช้ก็เป็นเอกลักษณ์ของอโคจรผับอยู่แล้ว ทุกคนชื่นชอบกันมาก เพียงแต่ว่าครั้งนี้ น้าเน็กประกาศว่าจะเป็นอโคจรครั้งสุดท้าย หลังจากนี้จะไม่มีอีกแล้ว มันก็เลยจะพิเศษ คือแค่ปกติอ่ะมันก็แน่นมากอยู่แล้ว ผมเองถ้าให้เดินเข้าทางช่องปกติ ผมไม่เคยเข้าได้สักปี ผมต้องอาศัยใช้บัตรสตาฟแล้วเข้าหลังเวทีผมถึงจะเข้าอโคจรได้
ฉะนั้นปีนี้ เราก็พยายามขยายพื้นที่แล้วก็จัดให้ผู้คนต้องเห็น เวทีอยู่ตรงประตูทางเข้าเลย ทุกคนต้องเห็นแล้วก็วางคู่กันกับระเบียบวาทะศิลป์เลย เพราะเชื่อว่าคนที่อยู่ดึกๆ เพราะสองเวทีนี้จะเป็นสองเวทีเปิดดึก ก็คงจะเลือกไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งหรือไม่ก็เดินสลับไปมา เพราะว่ามันเป็นความบันเทิงจริงๆ มันมีแต่ความสนุกสนาน ก็อย่าพลาดสําหรับเวทีอโคจรเพราะเชื่อว่าบรรดาศิลปินก็จะมาร่วมส่งท้าย มาอําลาอโคจรด้วยกันด้วย ดังนั้นอาจจะได้เห็นศิลปินหลายหลายคนที่จบการแสดงของตัวเองแล้วก็มารวมตัวกันอยู่ที่เวทีอโคจร
ที่อยากให้เดินโดยรวมเลยคือเวที ปีนี้ทุกเวทีใหม่หมด เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่เราดีใจมาก ปีที่ 12 นี้ ตอนที่เรามานั่งฟังดีไซเนอร์ส่งการบ้าน โอ้โห เราเห็นเด็กๆ เต็มไปหมด เราเห็นดีไซเนอร์รุ่นใหม่ไอเดียพลุ่งพล่านมาก ปีนี้ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด ทุกอย่างเป็นไปตามที่เราวางแผนไว้ คนดูจะได้เห็นเวทีที่น่าตื่นตาตื่นใจได้เห็นเวทีที่สวยมากๆ หรือบางงานก็ตามสไตล์ Big Mountain มันก็จะมีความขําๆ มีความกวนตีนในการวางเวที อยากให้เดินให้ครบ ไปถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึกก็ยังดีเพราะว่ามันจะกินพื้นที่ค่อนข้างเยอะหน่อยนะครับ
เล่าวีรกรรมต่างต่างของศิลปินกันหน่อยดีกว่า
ป๋าเต็ด: เอาเร็วๆ นี้ก่อนเลยก็ได้ ก็วงไปส่งกู บขส. ดู๊ นี่คือวงที่มันแบบ… อ๋องแอ๋งเนี่ย จริงๆ เราอยากให้เล่นหัวค่ำ เพราะว่ายิ่งทิ้งไว้นานเนี้ยสติสตางค์จะไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ครั้งล่าสุดที่เห็นเขาเล่น เขาเล่นเวทีไข่เมื่อสองปีก่อน คือเขากระโดดมั้ง จะกระโดดลงมาแล้วไม่มีคนรับมั้ง คือประมาณว่าจะ bodysurf ลงมา ซึ่งปกติแล้วก็ต้องมีคนคอยรับใช่ไหม แต่คนก็แกล้งมัน แล้วมันก็ตกลงไปนอนกับพื้นอะไรอย่างนี้
หรือ PARADOX แต่วงนี้ก็ไม่เชิงเรียกว่าวีรกรรม มันเป็นธรรมชาติของมันอยู่แล้ว เช่น เอาของขึ้นไปแจกบนเวที แต่ว่าของที่แจกก็เป็นผักบุ้งไฟแดง ไปผัดผักบุ้งไฟแดงบนเวที หรือที่มันชอบมากเลยคือ ชอบไปพ่นไฟบนเวที ซึ่งผมก็จะต้องคอยบอกว่าอย่าพ่น เพราะว่าบนเวทีมีของที่ติดไฟได้ เดี๋ยวจะอันตราย แต่ว่า PARADOX ก็ยังทําอยู่เป็นประจํา ไม่ค่อยเชื่อ (หัวเราะ)
ป่าน: ชุดแต่งตัว PARADOX ก็ใช่ ลงทุนกับชุดแต่งตัวมากกว่าเตรียมตัวกับลิสต์เพลงที่จะไปโชว์ วางแผนว่าจะใส่ชุดอะไร เปลี่ยนกี่ชุดบนเวที ต้องมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าของเขาอยู่ข้างๆ เวทีด้ว
ป๋าเต็ด: เป็นวงดนตรีที่ต้องมีห้องเปลี่ยนชุดอยู่ข้างๆ คือถ้าแบบ มาช่า วัฒนพานิช ก็ว่าไปอย่าง
ป่าน: หรือถ้าเรื่องการเล่นบนเวทีก็จะมีสลับกันขึ้นเล่น มีหลายวง มีการ featuring กันแบบแปลกๆ อยู่ๆ ก็ชวนกันขึ้นไป วีรกรรมอื่นๆ น่าจะไปดูตามผับน้าเน็ก (หัวเราะ)
ส่วนใหญ่ มันจะเล่าไม่ค่อยได้ (หัวเราะ)
Big Mountain จะใหญ่ไปได้อีกแค่ไหน?
ป๋าเต็ด: คือตอนเริ่มต้นครั้งแรก ความฝันก็คืออยากให้เป็นอย่าง Glastonbury Festival ให้ได้ แต่ตอนนั้นมันคิดแบบคนที่ไม่มีประสบการณ์ทาง outdoor festival ในระดับเดียวกับ Big Mountain พอเราเริ่มทําไปสัก 2-3 ปี เราเริ่มค่อยๆ เรียนรู้ทําความรู้จักกับกลุ่มเป้าหมาย กับผู้คน กับตลาดเทศกาลดนตรีในบ้านเรา เราก็พบว่า จริงๆ แล้วการเติบโตไปเป็นเทศกาลดนตรีระดับโลก มันไม่จําเป็นต้องใช้เป็นศิลปินระดับโลก
ดังนั้นฝันของเราตอนนี้ มันเลยจะเป็น Big Mountain แบบนี้แหละ เป็นงาน local แต่คุณภาพระดับโลก ในอนาคตถ้าจะมีคนอยากมา Big Mountain ไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยวจากต่างชาติ เขาไม่ได้มาที่ Big Mountain เพราะเขาอยากดู Coldplay หรือเพราเขาอยากดู Billie Eilish แต่เขามา Big Mountain เพราะว่า โห นี่มันคือเทศกาลดนตรีของคนไทยที่มันโคตรเจ๋งเลยว่ะ จริงๆ ถ้าจะให้เทียบก็อาจจะเทียบกับ Fuji Rock Festival จริงจริง Fuji Rock Festival เขาก็เป็น international music festival แต่ถ้าเกิดคุณดูไลน์อัพของเขาแต่ละปี เขาให้ความสําคัญกับศิลปินต่างชาติไม่เท่ากับวง local วงดนตรีส่วนใหญ่มันก็เป็นวงคนญี่ปุ่นแล้วก็ ในงานก็จะเป็นไลฟ์สไตล์แบบคนญี่ปุ่นที่อยู่ในงาน
ดังนั้นความฝันเราเลยเป็นแบบนั้น
Pepsi Present Big Mountain Music Festival 12 “มัน ใหม่ มาก” ปีนี้จัดวันที่ 10-11 ธันวาคม ค.ศ.2022 ที่ The Ocean เขาใหญ่ เปิดขายบัตร Early Cow ตั้งแต่วันที่ 1-2 กันยายน ค.ศ.2022 อยากดูรายละเอียดเพิ่มเติมไปที่นี่เลย Big Mountain Music Festival | Facebook