‘ไทโย’ นากใหญ่ขนเรียบอายุ 8 ขวบที่อควาเรียมกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นกลายเป็นไวรัลในทวิตภพแทบจะทันทีหลังจากทำนายผลการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบแรกระหว่างทีมญี่ปุ่นและเยอรมันได้อย่างแม่นยำ โดยการฟาดแข้งนัดนั้นซามูไรสีน้ำเงินก็เอาชนะอินทรีเหล็กไปได้แบบหักปากกาเซียน
ในการแข่งขันฟุตบอลโลกนับตั้งแต่วันที่มีอินเทอร์เน็ต เรามักจะได้ยินได้ฟังข่าวคราวของ ‘สัตว์ผู้มองเห็นอนาคต’ นักทำนายผลฟุตบอลจากนานาประเทศ หลายคนคงคุ้นชื่อเจ้าหมึกพอลที่ทำนายผลบอลโลกปี 2010 ได้อย่างแม่นยำแทบทุกครั้ง แม้ว่าเจ้าหมึกพอลจะลาโลกไปไม่นานหลังจากนั้น แต่การให้สารพัดสัตว์มาร่วมทำนายผลฟุตบอลโลกดูจะกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สวนสัตว์ในหลายประเทศต่างร่วมสนุกกัน แม้ว่าส่วนใหญ่แล้วระดับความแม่นยำจะต่ำเตี้ยเรี่ยดินก็ตาม
คนจำนวนไม่น้อยหมกมุ่นกับการคาดทำนายอนาคต บ้างรับฟังความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ บ้างเชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์จะบอกอนาคตได้ราวกับตาเห็น บ้างมองว่าความคิดของมวลชนคือเครื่องบอกอนาคตที่แม่นยำที่สุด
หลายคนอาจไม่ทราบว่าการทำนายผลเกมกีฬาเป็นอุตสาหกรรมที่เม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล เพราะในหลายประเทศการพนันไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายเหมือนในไทย เจ้ามือจึงต้องการ ‘เครื่องมือ’ ที่ช่วยให้สามารถกำหนดแต้มของการแข่งขันแต่ละนัดได้อย่างเหมาะสมโดยที่บวกลบคูณหารแล้วบ่อนพนันยังมีกำไร
ลองมาเดากันดูไหมครับว่า ใครทำนายอนาคตได้แม่นยำที่สุด
ระหว่างผู้เชี่ยวชาญ ปัญญาประดิษฐ์ และความคิดมวลชน
ความเห็นผู้เชี่ยวชาญเชื่อได้แค่ไหน?
เมื่อสื่ออยู่ในมือของทุกคน โลกยุคปัจจุบันจึงอุดมไปด้วยเหล่า ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การเมือง เศรษฐกิจ หรือสิ่งแวดล้อม ผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยทำนายอนาคตราวกับนั่งไทม์แมชชีนกลับมาเล่า การคาดการณ์เหล่านั้นมีถูกบ้าง ผิดบ้าง แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีใครติดตามสอบทานว่ามุมมองของพวกเขาหรือเธอมี ‘ความน่าจะเป็น’ ที่จะถูกต้องแม่นยำมากน้อยเพียงใด
การศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่านักกีฬาฟุตบอลที่แขวนสตั๊ดซึ่งนับเป็นหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านเกมกีฬาฟุตบอลจะสามารถทำนายผลการแข่งขันได้แม่นยำกว่าคนสามัญธรรมดาเล็กน้อย กล่าวคือความเชี่ยวชาญจะช่วยเพิ่มความแม่นยำในการทำนายอนาคตได้บ้าง แต่ไม่ได้มากมายอย่างที่หลายคนคิด ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ได้พบเฉพาะในแวดวงฟุตบอลเท่านั้นนะครับ ในแวดวงการเมืองอย่างเรื่องผลการเลือกตั้ง หรือวงการการลงทุนเองต่างก็พบว่าผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ได้แม่นยำกว่าคนทั่วไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ส่วนผลการแข่งขันฟุตบอลโลกในปีนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ไว้ดังนี้ (หลังเห็นชื่อทีมที่เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย)
- Avi Creditor – บราซิลชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ
- Andrew Gastelum – ฝรั่งเศสชนะบราซิลในรอบชิงชนะเลิศ
- Marcus Krum – อาร์เจนตินาชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ
- Brian Straus – บราซิลชนะฝรั่งเศสในรอบชิงชนะเลิศ
- Jonathan Wilson – ฝรั่งเศสชนะบราซิลในรอบชิงชนะเลิศ
ผมเชื่อว่าหลายคนอ่านแล้วคงอดไม่ได้ที่จะอมยิ้มแล้วส่ายหน้าเพราะผู้เชี่ยวชาญกว่าครึ่งทายผิดถนัด เอาเป็นว่าเรามาดูผู้ท้าชิงรายถัดไปในการแข่งขันทำนายอนาคตนั่นคือปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence หรือ AI) นั่นเอง
ลาก่อนมนุษย์ ถึงยุคของ AI
ในยุคสมัยที่ใครๆ ก็บอกว่าข้อมูลคือแหล่งน้ำมันใหม่ เพราะข้อมูลไม่ต่างจากเชื้อเพลิงสำหรับขับเคลื่อนปัญญาประดิษฐ์เพื่อวิเคราะห์และกำหนดกลยุทธ์ที่ดีที่สุดซึ่งมนุษย์อาจคิดไม่ถึง การที่ AI สามารถประมวลผลข้อมูลจำนวนมหาศาลในคราวเดียวทำให้หลายคนมองว่าปัญญาประดิษฐ์คือคำตอบของอุตสาหกรรมทำนายอนาคต
ผมขอเริ่มด้วยบางส่วนของบทสนทนาระหว่างมนุษย์กับ GPT-3 ปัญญาประดิษฐ์ที่เกิดจากฐานข้อมูลขนาดยักษ์ใหญ่และสามารถประมวลผลภาษาได้อย่างดีเยี่ยม
มนุษย์: ถ้าต้องเลือกผู้ชนะการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 คุณจะเลือกใคร?
GPT-3: ฉันเกรงว่าฉันไม่สามารถทำนายผลการแข่งขันได้ เพราะฉันไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลใดๆ หรือข้อมูลในอดีตเกี่ยวกับการแข่งขันฟุตบอลโลกปี 2022 แต่จากการคาดการณ์ที่ดีที่สุด ฉันคิดว่าบราซิลมีแนวโน้มว่าจะชนะในรายการนี้
มนุษย์: จากคะแนน 1 ถึง 10 โดยที่ 10 คือโอกาสชนะสูงสุด คุณจะให้บราซิลเท่าไหร่?
GPT-3: ฉันคิดว่าโอกาสที่บราซิลจะชนะฟุตบอลโลกปี 2022 อยู่ที่ 8 จาก 10
แต่ปัญญาประดิษฐ์ก็เหมือนกับเหล่าผู้เชี่ยวชาญนั่นแหละครับ เพราะอัลกอริทึมและชุดข้อมูลที่ใส่เข้าไปย่อมส่งผลต่อวิธีคิดและความแม่นยำในการทำนาย หลายคนอาจไม่ค่อยเชื่อใจเจ้า GPT-3 เท่าไหร่ เพราะ AI นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเทคโนโลยีที่มีเป้าหมายทั่วไป (general purpose technology) ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำนายผลฟุตบอลแบบเฉพาะเจาะจง
แต่ไม่ต้องห่วงไปนะครับ เพราะเหล่านักวิทยาศาสตร์และนักวิเคราะห์ต่างแข่งขันประชันกันนำเสนอแบบจำลองผลฟุตบอลโลกตั้งแต่ก่อนนัดเปิดสนามด้วยซ้ำ หนึ่งในนั้นคือนักคณิตศาสตร์จากอ็อกซ์ฟอร์ดที่จำลองการแข่งขันถึง 100,000 ครั้งก่อนจะได้ผลลัพธ์ว่าบราซิลจะเอาชนะเบลเยียมไปได้ในรอบชิงชนะเลิศด้วยความน่าจะเป็น 61.3%
อีกหนึ่งปัญญาประดิษฐ์ที่น่าจับตาคือเจ้า Kashef ปัญญาประดิษฐ์ซึ่งพัฒนาโดยสำนักข่าวอัลจาซีราที่ใช้การวิเคราะห์ดัชนีชี้วัดกว่า 200 ตัวของแต่ละทีมเพื่อทำนายว่าใครจะชนะการแข่งขันโดยจะมีการปรับเปลี่ยนการทำนายไปเรื่อยๆ เมื่อทราบผลการแข่งขันในแต่ละรอบ ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์นี้มีอัตราการทำนายที่แม่นยำราว 67% อย่างไรก็ตามเจ้า Kashef ทำนายผลการแข่งขันระหว่างโครเอเชียและบราซิลผิดพลาด ล่าสุด (10 ธันวาคม 2022) จึงมีการปรับการทำนายแชมป์บอลโลกปีนี้จากบราซิลเป็นอาร์เจนตินา โดยมีโอกาสคว้าชัยเหนือฝรั่งเศส 50.2% ในรอบชิงชนะเลิศ
ดูเหมือนว่าปัญญาประดิษฐ์ก็ยังไม่อาจทำนายเรื่อง ‘เกินคาด’ อย่างการที่โครเอเชียเอาชนะบราซิลหรือโปรตุเกสที่พ่ายให้กับโมรอคโคในรอบแปดทีมสุดท้าย ผมจึงขอแนะนำผู้เข้าแข่งขันรายที่ 3 นั่นคือความคิดเห็นของมวลชน
ใครจะสู้ความรู้ของมวลชน
สมมติฐานสำคัญในระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนทุกคนมี 1 สิทธิ 1 เสียงในการเลือกตัวแทนไปบริหารจัดการประเทศคือ ‘ความคิดเห็นของมวลชน’ เป็นวิธีตัดสินใจที่ดีและเหมาะสมที่สุด ถ้าเราประยุกต์ใช้หลักคิดนี้กับเรื่องอื่นๆ อย่างการทำนายอนาคต ความคิดเห็นของประชาชนก็น่าจะทำนายผลลัพธ์ได้แม่นยำกว่าผู้เชี่ยวชาญหรือปัญญาประดิษฐ์ใช่ไหมครับ
การศึกษาพบว่าการคาดการณ์แบบกลุ่มจะได้ผลลัพธ์ที่แม่นยำกว่าการคาดการณ์โดยผู้เชี่ยวชาญเพียงลำพังเสมอ ตราบใดที่คนในทีมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปิดกว้างทางความคิด และไม่ยึดมั่นความเชื่อของตนเองมากเกินไป การคาดการณ์เป็นทีมจะมีความแม่นยำมากขึ้นเพราะจะช่วยมลายอคติส่วนบุคคลออกไปเพื่อให้เห็นภาพรวมของสถานการณ์ตามจริง
ในแวดวงเกมกีฬา การศึกษาบางชิ้นหยิบจับข้อมูลความคิดเห็นตามเว็บไซต์หลายแห่งโดยบางแห่งถึงขั้นมีการเก็บสถิติว่าผู้ใช้งานคนไหนทายแม่นกว่ากัน ตัวอย่างเช่น การวิเคราะห์ข้อมูลบนเว็บไซต์ Oddsportal พบว่าหากวางเดิมพันตามความคิดเห็นเฉลี่ยจากเว็บไซต์ดังกล่าวก็จะได้ผลตอบแทนเป็นบวก และการแบ่งกลุ่มข้อมูลย่อยโดยคัดกรองเอาเฉพาะคนที่ทายแม่นก็ไม่ได้ทำให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด กล่าวคือการรวมกลุ่มของคนที่ทายแม่นจำนวนหนึ่งก็ได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกับความคิดเห็นของมวลชน
การทำนายของมวลชนที่ตรงไปตรงมาที่สุดคือการพิจารณาจากโพลทายผลการแข่งขันที่หลายครั้งแม่นกว่าทั้งปัญญาประดิษฐ์และผู้เชี่ยวชาญ เช่นนัดระหว่างโมร็อกโกและโปรตุเกส ทั้งผู้เชี่ยวชาญและ AI ต่างเทเสียงให้กับโปรตุเกสแบบสุดลิ่มทิ่มประตู แต่ผลโพลโดย AJE Sports กลับสะท้อนความคิดเห็นไปอีกทางโดยมวลชนกว่า 63.5% เทเสียงว่าโมร็อกโกจะชนะ และโมร็อกโกก็ชนะจริงๆ
ถึงกระนั้นปัญญาของมวลชนก็ใช่ว่าจะถูกต้องเสมอไป โดยเฉพาะในกรณีของเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างความพ่ายแพ้ของบราซิลต่อโครเอเชีย ในการแข่งขันครั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นมวลชน ปัญญาประดิษฐ์ หรือผู้เชี่ยวชาญ ก็ทายไม่ถูกสักคน
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า. . . อนาคตเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา
เราทำนายอนาคตเสมือนหนึ่งว่ากำลังเดินแล้วมองไปข้างหน้า แต่ความจริงแล้วเราทุกคนต่างก้าวแบบหันหลัง เพราะสิ่งเดียวที่เรามองเห็นคือ ‘ข้อมูลในอดีต’ ส่วนอนาคตต่างเป็นสิ่งที่เราจินตนาการขึ้นทั้งสิ้น คนจำนวนไม่น้อยจึงยึดติดกับสมมติฐานที่ผิดพลาดว่าอดีตสามารถใช้ทำนายอนาคตได้เสมอ ความเข้าใจนั้นถูกต้องเพียงส่วนเดียว อดีตสามารถบอกแนวโน้มหรือความน่าจะเป็นได้บ้าง แต่ปัจจัยความไม่แน่นอนก็มีมากมายมหาศาลจนอะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น
เวลาใครทำนายอนาคตให้ฟังเราจึงต้องฟังหูไว้หู เพราะมนุษย์ปุถุชนรวมถึงปัญญาประดิษฐ์ต่างทำนายอนาคตแบบ ‘เดินหันหลัง’ กันทั้งนั้นแหละครับ!
อ้างอิงจาก