“การเป็นนักเขียนอนุญาตให้เราเอาบาดแผลของตัวเองมาดู กลั่นมันออกมา และทำให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าเรารู้สึกยังไงกับเรื่องนี้…”
ตั้งแต่ ด้วยรักและผุพัง จนถึง ร่วงหล่นในอนธการ หลายคนคงคุ้นเคยกับงานเขียนอารมณ์หม่นปนเศร้า แต่เต็มไปด้วยจังหวะสดใหม่ ของ มิน—นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ นักเขียนที่เพิ่งคว้ารางวัลซีไรต์ในปี 2023 กันได้ดี
ถ้าจะหาคำตอบว่าทำไมงานเขียนของมินเข้าไปถึงใจของนักอ่านได้ ขนาดบางคนต้องพักจังหวะหายใจระหว่างที่อ่าน เมื่อเรื่องราวในเล่มดันไปสะกิดมวลอารมณ์ที่เคยคั่งค้างในใจปะทุออกมา แถมมินก็ไม่ได้เขียนแค่เรื่องที่ใกล้ตัวเองเท่านั้น แต่เป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นจริงด้วย ตัวตนและงานเขียนของเขาจึงแทบกลายเป็นกระจกสะท้อนซึ่งกันและกัน
หากอยากเข้าใจมินมากขึ้นอาจลองอ่านหนังสือที่เขาเขียน กลับกันหากอยากเข้าใจสิ่งที่มินเขียน การได้รู้จักตัวตนของมินจะทำให้งานเขียนของเขามีมิติเพิ่มขึ้นเช่นกัน
แม้มินจะตัดสินใจย้ายประเทศไปอยู่ญี่ปุ่น แต่งานเขียนก็ยังเป็นสิ่งที่เยียวยาเขาเรื่อยมา พร้อมปล่อยผลงานล่าสุดให้เราได้ติดตาม ไม่ว่าจะเป็น ฝากให้ฟังหลังลับลา (This is Your Someone Speaking) หนังสือรวมเรื่องสั้นซึ่งมินร่วมเขียนกับกลุ่มเพื่อนนักเขียนที่สนิทกัน อย่าง ลี้—จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท และ เบส—กิตติศักดิ์ คงคา รวมถึงเรื่อง รัก ฤดู และมนุษย์โตเกียวผู้เดียวดาย นิยายรักโรแมนติก Boy’s Love ออนไลน์เรื่องแรกของมินบนแพลตฟอร์ม MaReads ที่มีฉากหลังเป็นฤดูกาลทั้ง 4 ของกรุงโตเกียว และนี่ยังไม่รวมผลงานอื่นๆ ที่มินจะทยอยปล่อยออกมาหลังจากนี้
การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมมีผลกับงานเขียนของมินอย่างไร เขาได้ใส่ตัวตนด้านไหนในชีวิตลงไปในผลงานเรื่องใหม่บ้าง แล้วทำไมการเขียนจึงช่วยเยียวยาจิตใจ จนทำให้จากคนที่เคยเข้มงวดกับตัวเองกลายมาเป็นคนที่โอบรับความไม่สมบูรณ์กับความพร้อมพูดว่า “ไม่เป็นไร ทุกอย่างโอเคแล้ว” ตลอดบทสนทนา
คืนหนึ่ง เวลา 20.00 น. ประเทศไทย เราได้ต่อสายตรงวิดีโอคอลเพื่อพูดคุยกับมิน
ดีจังที่ยังมีชีวิตอยู่
ทำไมตอนย้ายประเทศถึงเลือกญี่ปุ่น
เรารู้สึกว่าญี่ปุ่นเป็นที่ที่เข้ากับเราได้
ช่วงประมาณปี 2021 เป็นช่วงที่การเมืองคุกรุ่น ทุกคนมีความอึดอัด อยากลองย้าย อยากเปลี่ยนอะไรดูบ้าง แต่ถ้าเปลี่ยนข้างในไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ เราก็เป็นคนหนึ่งที่คิดแบบนั้นเหมือนกัน แต่ว่าก็มีอะไรหลายๆ อย่าง สรุปสั้นๆ คือเราเลือกมาญี่ปุ่นในปี 2022 เราไม่ได้บอกว่ามันดีที่สุด แต่แค่เป็นที่ที่เข้ากับเราได้ และตอนอยู่ญี่ปุ่นเราก็เป็นพนักงานบริษัทธรรมดา เป็นคนต่างชาติที่มาทำงานเพื่อเอาวีซ่า
อะไรคือความเข้ากันได้ของญี่ปุ่นและตัวมิน
ญี่ปุ่นทำให้เรารู้สึกว่า ดีจังที่ยังมีชีวิตอยู่ ถ้ามันเป็นที่ที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้นได้ มันก็เป็นประเทศที่เราน่าจะอยู่กับมันได้ คุ้มที่จะลงแรงหรือว่าเสี่ยงกับมัน
“ดีจังที่ยังมีชีวิตอยู่” ของเราเริ่มตั้งแต่ระดับที่ง่ายมากเลย เช่น เราเดินไปนอกบ้านแล้วอากาศดี เราเป็นคนชอบเดินเล่นสวนสาธารณะมากๆ และแถวที่เราอยู่ก็มีสวนสาธารณะกับแม่น้ำ เราได้ไปเดินสวน นั่งมองแสงอาทิตย์ที่ตกลงมาบนแม่น้ำ ไอเหี้ย มันสวยมาก เรารู้สึกว่าแค่นั้นเองเว้ย
หรือว่าประมาณ 4-5 เดือนที่ผ่านมา เราซื้อจักรยานแล้วก็ปั่นจักรยานไปตามรูทแถวบ้าน ทุกวันเสาร์เราจะตื่นไปปั่นจักรยาน เรารู้สึกว่าแค่นี้เลย ไม่ต้องพูดถึงอะไรที่แฟนซี แต่ก็ต้องรีมาร์คไว้นิดหนึ่งว่า ทุกคนมีสิ่งที่ตอบโจทย์ชีวิตไม่เหมือนกัน ถ้าถามคนอื่นอาจจะไม่ได้ตอบแบบนี้ก็ได้
ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาๆ เหมือนกัน
ถ้าพูดแบบนี้ก็จะไปพูดเรื่องสังคมการเมืองอีกเนอะ แต่ว่าเป็นสิ่งที่เราคุยกับเพื่อนว่าพอเรามาอยู่ญี่ปุ่น จริงๆ กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ไม่ค่อยอนุญาตให้คนมีความสุข ตอนอยู่กรุงเทพฯ การมีความสุขเป็นเรื่องยากเหลือเกิน แต่พอมาอยู่ที่นี่เรารู้สึกว่าเรามีความสุขง่ายขึ้นเยอะ แต่เราก็จะย้ำอีกรอบหนึ่งว่าความสุขเป็นเรื่องปัจเจก ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย ส่วนเรื่องนี้มันใช้ได้กับเราได้คนเดียวเท่านั้น
ถ้าวันนี้มันจะต้องจบ ก็โอเคนะ
ในผลงานเรื่องหลังๆ อย่าง ฝากให้ฟังหลังลับลา หรือ รัก ฤดู และมนุษย์โตเกียวผู้เดียวดาย ก็มีการพูดถึงการใช้ชีวิตในญี่ปุ่นด้วย การย้ายมาอยู่ที่นี่ส่งผลกับงานเขียนบ้างไหม
การเปลี่ยนสภาพแวดล้อมมันส่งผลกับเรา คือวัตถุดิบที่เข้ามา หรือวิธีที่ถ่ายทอด แล้วก็อารมณ์ที่มีในงานหนึ่งชิ้นมากกว่า ตอนอยู่ไทยเราอาจจะเขียนงานด้วยอารมณ์แบบหนึ่ง แต่ว่าพอมาอยู่ที่นี่ ประสบการณ์ชีวิตที่ได้จากที่นี่ทำให้เรามองงานอีกแบบ มองชีวิตอีกแบบ งานที่ออกมาเลยพูดอีกแบบหนึ่ง เป็นวิวัฒน์ของมัน
อย่างเรื่อง รัก ฤดู และมนุษย์โตเกียวผู้เดียวดาย ก็มีใช้ฤดูกาลในญี่ปุ่นมาเล่าเรื่องด้วย โดยเล่าผ่านตัวละครชาย 2 คน และแมวดำ 1 ตัว ความรักและเรื่องราวชีวิตของพวกเขาจะสอดคล้องไปกับ 4 ฤดูกาลในประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง และฤดูหนาว ซึ่งถ้าคิดตามความเป็นจริงแล้ว ความรักของคนก็เป็นเหมือนฤดูกาลที่มีช่วงเวลาที่สดใส ร้อนแรง ร่วงหล่น และว้าเหว่
ฝากให้ฟังหลังลับลา ได้เขียนร่วมกับนักเขียนอีก 2 คน มินไปรู้จักกันได้ยังไง
เรากับลี้เจอกันที่ไต้หวันปีที่แล้ว (2024) ในงานหนังสือไต้หวัน เขาจะคัดหนังสือไปโชว์ ด้วยรักและผุพัง ก็ถูกคัดไป ของลี้คือเล่ม สิงโตนอกคอก แต่เหมือนเบสจะอ่านงานเราแล้วก็แอดเฟซบุ๊กเรามา เราเลยได้คุยๆ กัน คือประเทศนี้อาจมีนักเขียนไม่เยอะเนอะ พอเป็นนักเขียนเหมือนกัน วัยก็ใกล้ๆ กัน คุยกันแล้วมันก็ดูเป็นคนประสาทๆ เหมือนกัน เราก็เลยเป็นเพื่อนกันได้
ไอเดียตั้งต้นในการเขียนเรื่องนี้เกิดขึ้นได้ยังไง
มันมาจากสเตสตัสหนึ่งของเบสมั้ง เราก็คุยกันในสเตสตัสว่าอยากเขียนอะไรด้วยกันสักอย่าง แล้วก็เริ่มขึ้นอย่างนั้นเลย น่าจะเป็นลี้ไปคุยกับพี่กาย—ปฏิกาล ภาคกาย ว่าจะเขียนกัน 3 คน ตรงนี้พูดไปก็ไม่รู้จะดีไหม แต่คือเราก็เป็นนักเขียนซีไรต์ ลี้ก็เป็นนักเขียนซีไรต์ เบสก็เป็นคนเขียน กาสักอังก์ฆาต คือแบบเรามีเครดิตงาน เพราะฉะนั้นพี่กายก็ต้องซื้อดิวะ
พี่กายก็โอเคว่างั้นก็ไปเขียนเรื่องย่อมา เราก็เลยได้คอนเซ็ปต์เป็นเรื่องของเสียงกับวันสิ้นโลกที่เกิดขึ้นในสถานที่ที่ต่างกัน โดยมีโทรศัพท์เป็นจุดเชื่อมของแต่ละเรื่องราว จากนั้นก็ให้แต่ละคนตีความ ไปๆ มาๆ มันก็ถูกลดรูปลงเหลือโทรศัพท์กับเสียง แต่เราตีความโดยที่ยังมีเรื่องเสียงกับเรื่องของวันสิ้นโลกอยู่ และก็เลือกเซ็ตติ้งอยู่ที่ญี่ปุ่น เรานึกถึงญี่ปุ่นในวันที่ 11 มีนาคม 2011 วันที่มีแผ่นดินไหว 9 ริกเตอร์ เป็นภัยธรรมชาติที่ร้ายแรงที่สุดของญี่ปุ่น ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นคือในจังหวัดที่มีคนสูญหายจากสึนามิเยอะมากๆ เขาทำตู้โทรศัพท์ตู้หนึ่งไปตั้งไว้ให้ญาติพูดกับคนที่หายไปแล้วที่ไม่มีวันได้เจอกันอีก เราเลยอยากพูดถึงสิ่งนั้น ถ้าวันนี้โลกมันจะจบ หรือต้องจากกัน เราอยากพูดอะไรกับใครวะ มันก็เลยเป็นที่มาของเรื่องสั้นเรื่องนี้
แล้วเสียงสำหรับมินในเรื่องนี้มีความหมายยังไงบ้าง
เรารู้สึกว่าเสียงคือ การสื่อสาร (communication) คือคีย์ของมนุษย์เลย ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสียงเพื่อแสดงจุดยืนของตัวเอง เป็นการร้องขอความช่วยเหลือก็ได้ หรือเป็นการใช้เสียงเชื่อมเรากับคนอีกคนหนึ่งเข้าหากัน ทำให้เราเป็นเราและเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
การส่งเสียงผ่านตู้โทรศัพท์ในเรื่องอาจมาจากการที่เราเป็นคนคิดถึงเรื่องความตายเยอะ ไม่ได้คิดว่าฉันอยากตายจัง แต่เป็นการคิดเรื่องความตายของตัวเอง อาจเพราะด้วยวัยด้วย
อย่างเช่นพอมาอยู่ที่นี่ก็จะมีวันที่เราประเมินช่วงที่ผ่านมา หรือมันก็แค่ผุดขึ้นมาในหัวว่า เออ ถ้าตายวันนี้ก็โอเคนะ ไม่ได้เสียใจภายหลัง ไม่ได้รู้สึกว่า เชี่ย กูยังไม่อยากตาย แต่คิดว่า อืม ก็ได้ มันก็เป็นวันที่โอเคแล้ว ทำไมเรื่องนี้ถึงพูดในเรื่องเสียงสุดท้าย คงเพราะเราเป็นคนคิดถึงวาระสุดท้ายของตัวเองค่อนข้างบ่อย
การที่คนเราไม่รู้สึกเสียดาย หมายถึงว่าเราทำสิ่งที่เราต้องการไปหมดแล้วหรือเปล่า
เราไม่ได้รู้สึกอย่างนั้นนะ ชีวิตเรามีอะไรที่ยังอยากทำอีกเยอะมาก แต่แค่ว่าถ้ามันต้องจบตอนนี้ เราก็รู้สึกโอเคกับมัน เรารับมันได้ ถึงจะยังไม่ได้ทำนั่นทำนี่ แต่ถ้ามันต้องจบแล้วก็ไม่เป็นไร เราพอใจแล้ว
You can be your own friend
แล้วแบบนี้ในวัยเด็ก มินเป็นเด็กแบบไหน
เป็นเด็กที่ทำทุกอย่างตามที่สังคมคาดหวังว่าเราจะทำ ต่อให้เป็นช่วงที่ขบถ สังคมก็มองว่าอายุประมาณนี้ก็คงทำตัวแบบนี้แหละ ในความประพฤติหรือในการดำเนินชีวิตเรารู้สึกอย่างนั้น
แต่ว่าข้างในใจเราไม่ได้มองแบบที่คนอื่นมอง พอเราอยู่กับคนอื่นๆ เราจะพบว่าตัวเองมองเรื่องนี้ไม่เหมือนคนอื่น แต่ตอนนั้นเรายังไม่ได้อยู่ในจุดที่เราสามารถยอมรับว่า เราสามารถคิดไม่เหมือนคนอื่นได้ พอมันเป็นอย่างนั้นก็เลยรู้สึกโดดเดี่ยว ทำไมกูคิดไม่เหมือนคนอื่น ทำไมกูชอบไม่เหมือนคนอื่นวะ
แต่ว่าพอตอนอยู่ ม.ปลาย เราก็ได้เป็นหัวหน้าห้อง แต่ก็เป็นเด็กที่พูดจาหมาไม่แดก เป็นเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ ทั้งที่ตอนเด็กๆ ผู้ใหญ่ชอบมากเลยนะ ญาติรัก ครูรัก โตขึ้นมาเป็นเด็กที่ผู้ใหญ่ไม่ชอบ เคยโดนให้นั่งหลังห้องคนเดียว ไม่รู้ว่าเพราะอะไรเหมือนกัน น่าจะเป็นการสะสมแต้มว่า อ๋อ ไอ้เด็กคนนี้เหรอที่พูดจาแย่ๆ
ย้อนกลับไปตอนนั้นน่าจะเป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน
ใหญ่ เพราะว่าถ้าเราเป็นเด็กมัธยม แล้วยิ่งเป็นเด็กโรงเรียนชายล้วน ไม่มีเหี้ยอะไรในโลกนี้สำคัญไปกว่าการได้เป็นส่วนหนึ่งของเพื่อนแล้วเว้ย
ตอนนั้นมีอะไรเป็นเพื่อนอยู่บ้าง
โห ยาก เราเป็นเด็กที่มีคนรู้จักเยอะ เดินไปทักได้ทุกคนเลย แต่รู้สึกว่าไม่มีใครเป็นเพื่อนเราจริงๆ เลย และตอนนั้นเรายังไม่รู้วิธีเป็นเพื่อนกับตัวเอง ตอนเป็นเด็กเราไม่ได้มีคอนเซ็ปต์ You can be your own friend เราแม่งเป็นเพื่อนของตัวเองได้เว้ย มันไม่ได้มองว่าเรามีตัวเอง ตอนเด็กก็เลยเป็นเด็กเหงาๆ เป็นเด็กอีโม
ความเหงาทำให้เรากลายเป็นคนยังไง
มันทำให้เรารักตัวเองมากนะ เพราะว่าตอนนั้นแบบไม่มีใคร แต่มึงมีตัวเองอะ และมึงผ่านมาแล้ว ในช่วงที่แบบคิดว่า ไอ้เหี้ย โลกนี้แม่งโดดเดี่ยวฉิบหาย แต่มึงผ่านมาแล้วนะ ไม่เป็นไรเลยเว้ย ไม่เป็นไร
คือตอนนี้เป็นเพื่อนกับตัวเองได้แล้ว
รู้วิธีที่จะบอกตัวเองว่า มิน กูรักมึง ไม่เป็นไร
ในงานเขียนที่กำลังอยู่ระหว่างการทำงานมันก็พูดถึงสิ่งนั้นเหมือนกัน ตอนที่เขียนเรื่องนั้น เรามีคนที่อยากอุทิศให้ 2 คน คือตัวเราเองตอนเป็นเด็กวัยรุ่น กับตัวเราเอง ณ ตอนที่เขียน เพราะว่ามึงเก่งมาก มึงสมควรได้รับการสรรเสริญทั้งคู่ แค่ไอ้เด็กคนนั้นมันต้องการที่เกาะแล้วก็ลูบหัวหน่อยว่า โลกไม่ถล่ม ไม่เป็นไร
ถ้าย้อนกลับไปเจอตัวเองตอนเด็ก อยากจะบอกอะไรกับเด็กคนนั้นไหม
จะบอกว่าไม่เป็นไร ไม่เป็นไรเลย เดี๋ยวทุกอย่างจะผ่านไป มันจะมีวันที่ยากจนรู้สึกว่าทนไม่ไหว แต่ก็ไม่เป็นไรนะ แล้วก็จะกอดเขา ลูบหัวเขา เพราะเด็กคนนั้นชอบให้คนลูบหัว
มีความสุขกับวันนี้ให้ได้
แล้ววันนี้ สิ่งที่มินให้ความสำคัญกับช่วงวัย 30 คืออะไร
การมีความสุขกับวันนี้ครับ (ตอบทันที) เป็นโจทย์ที่เราพยายามทำให้ได้อยู่
เราไม่รู้คนอื่นเป็นยังไง แต่ว่าเราจะมีโจทย์ให้ตัวเองในแต่ละช่วงชีวิตเรา โจทย์ที่เราให้ตัวเองตอนที่มาญี่ปุ่นคือ ใจดีกับตัวเอง เพราะก่อนหน้านี้เราเป็นคนไม่ใจดีกับตัวเองเลย ช่วง 20 ต้นๆ โจทย์ของตัวเองคือ มึงต้องเก่งๆๆๆ แต่ว่าพอโตขึ้นมาอีกนิดหนึ่งโจทย์ก็เปลี่ยน กลายเป็นว่าใจดีกับตัวเองหน่อย มึงไม่เคยใจดีกับตัวเองเลย
ช่วงประมาณนี้แหละก็จะอยู่กับปัจจุบันหน่อย ก่อนหน้านี้มึงไม่เคยอยู่กับปัจจุบันเลย ไม่เสียใจกับอดีต ก็จะกังวลกับอนาคตตลอดเวลา มึงอยู่กับวันนี้หน่อย สัมผัสถึงลมที่ตีหน้าหน่อย ดูใบไม้ที่มันไหวต่อหน้าหน่อย ดูแม่น้ำที่มันไหลอยู่ข้างหน้าหน่อย นอนก่อนไหม ไป หายใจหน่อย
อะไรทำให้เปลี่ยนจากต้องเก่งมาเป็นใจดีกับตัวเอง
เราป่วยครับ ช่วงที่เราเครียดมากๆ เรามีปัญหาสุขภาพแล้วมันกลายเป็นสิ่งที่เรื้อรังมาจนถึงวินาทีนี้ที่เราคุยกัน เราก็เลยคิดว่า ไอ้เหี้ย มึงจะไม่ได้อะไรจากการทำสิ่งนี้เลยเว้ย นอกจากความพังทลายของร่างกาย เพราะฉะนั้นใจดีกับตัวเองหน่อย ที่ผ่านมาทำได้โอเคแล้ว
มันจะไม่เปลี่ยนเลยถ้าเราไม่ถูกบีบจริงๆ ตอนที่เรารู้สึกว่าต้องใจดีกับตัวเอง คือช่วงที่เรารู้สึกว่าโลกไม่ใจดีกับเราเลยเว้ย ไอ้เหี้ย โลกแบบมึงใจร้ายกับกูมากอะ และถ้ามึงยังจะต้องใจร้ายกับตัวเองอีก มันก็เศร้าไป
เคยเข้มงวดกับตัวเองมากขนาดไหน
สมมุติว่าถ้าเราทำอะไรได้ไม่ดี เราก็จะด่าว่า ทำไมมึงทำได้ไม่ดีวะ หรือสมมุติว่าถ้าเราทำได้ เราก็จะบอกว่าเพราะว่ามันง่ายไง มึงถึงทำได้ คือเราไม่อนุญาตให้ตัวเองรู้สึกดีกับสิ่งที่เราทำได้เลย แล้วถ้ามึงทำไม่ได้ มึงเป็นไอ้คนกระจอก มันโคตรจะไม่เฮลตี้เลย
กดดันตัวเองในงานเขียนด้วยไหม
พอเป็นงานเขียนเราแทบไม่เฆี่ยนตัวเองเลย
ถ้ารู้สึกว่าวันนี้พอก็พอแล้ว หรือถ้ารู้สึกว่าอยากเขียนต่อก็ไปอีกนิดหนึ่ง ไม่ต้องเขียนหมด เดี๋ยวพรุ่งนี้ไม่มีอะไรเขียน (ยิ้ม) เรารู้สึกว่าการเขียนมันค่อนข้างเป็นธรรมชาติด้วย ไม่ต้องเค้นเยอะ เราแค่เซ็ตในหัวว่าจะเขียนอะไร มันก็จะเขียนออกมา
ไม่เป็นไรถ้าเราจะมองโลกในไม่เหมือนคนอื่น
หลายคนบอกว่างานเขียนของมินทำให้คนอ่านเห็นภาพได้ง่าย
เราเป็นคนอยู่กับตัวเองเยอะ และพออยู่กับตัวเองเยอะๆ ก็สังเกตทั้งความรู้สึกตัวเอง สังเกตทั้งสิ่งที่เกิดขึ้น รอบข้าง กับอีกอย่างหนึ่งคือเราเป็นคนค่อนข้างอารมณ์อ่อนไหว (sentimental) อันนี้ลี้เป็นคนพูด
เรารู้สึกว่า เออจริง แต่ว่าถ้าเป็นเมื่อก่อนมีคนมาบอกเราว่าเป็นคนอ่อนไหว เราก็คงรู้สึก แง (เหมือนจะร้องไห้) แต่ว่าพอมาเป็นนักเขียน เรารู้สึกว่าจริงๆ แล้วมันเป็นจุดแข็งหนึ่ง ต้องเข้าใจว่าเวลาคนเราดิ่ง มันรู้สึกยังไงวะ มันคงไม่พูดว่าแบบ กูดิ่งจัง แต่มันจะรู้สึกเหมือนว่า กูถืออะไรอยู่ไม่รู้ แต่กูปล่อยไม่ได้ และกูไม่รู้เหมือนกับว่าก้อนนั้นคืออะไร มันพูดอย่างนั้นหรือเปล่า สิ่งนี้เราต้องสัมผัสมันด้วยตัวเอง
ก่อนหน้านี้มินมองการใช้อารมณ์เป็นแบบไหน
เมื่อก่อนเรารู้สึกว่า เราอาจจะอยู่ในสังคมที่การมีอารมณ์เยอะๆ เป็นเรื่องผิดปกติมั้งครับ เราเป็นเด็กโรงเรียนชายล้วน มันเป็นสังคมที่การแสดงอารมณ์ผิดแผกไป คนรอบข้างจะไม่รู้วิธีตอบสนองกับอารมณ์ เวลาคนไม่เข้าใจสิ่งที่ไม่เหมือนกับตัวเอง ก็มีแนวโน้มสูงที่จะโดนแปะป้ายว่าเป็นสิ่งที่แปลกปลอม แล้วพอยิ่งยูถูกแปะป้าย ก็ยิ่งจะเหมือนเป็นหินที่กลิ้งไปเรื่อยๆ
ฉะนั้นอารมณ์นั้นก็จะถูกแสดงออกมาในรูปแบบอื่น อ๋อ งั้นกูทำตัวก้าวร้าวแล้วกัน เป็นแสดงอารมณ์ตัวเองไปในช่องที่คนอื่นเข้าใจได้
การเขียนถึงความรู้สึกที่ค่อนข้างดาร์กก็เป็นตัวมินเหมือนกันเหรอ
เรารู้สึกว่างานเขียนโดยเฉพาะฟิกชั่น เป็นงานที่สะท้อนคนเขียนได้ดีที่สุด อยากรู้ว่าคนนี้เป็นยังไง อ่านสิ่งที่เขาเขียน ถ้าถามถึงที่มาที่ไป เรารู้สึกว่าตอนเด็กๆ เราเป็นเด็กที่โดดเดี่ยว สมมุติชีวิตมีเฉดสี เฉดของเรามันเป็นสีฟ้าเข้มๆ แล้วพอโตขึ้นมา เราเลยจะติดมองโลกไปในเฉดที่ค่อนข้างเข้ม
มันก็จะเป็นเรื่องเดียวกันกับความเป็นคนอ่อนไหวหมือนกัน เราเป็นคนมองโลกแบบเนกาทีฟ แต่ในการมองโลกแบบหม่นๆ มันก็ทำให้เราเป็นตัวเราที่เขียนงานแบบนี้ขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นก็ไม่เป็นไรถ้าเราจะเป็นคนแบบนี้ แต่ถ้ามันจะทำร้ายตัวเองหรือคนที่อยู่รอบข้าง เราก็ต้องควบคุมมัน ไม่มีใครอยากอยู่กับคนหม่นๆ ตลอดเวลาหรอก มันดูดพลังน่ะ
แล้วพอใจหรือเปล่าที่เขียนเกี่ยวกับความหม่นของตัวเอง
ตอนที่เราเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกๆ ตอนนั้นชีวิตเราหม่นฉิบหายเลย หมายถึงตอนนั้นนะ ไม่ใช่ตอนนี้ แล้วพอเราเขียนออกมา เรารู้สึกว่าความหม่นมันเบาบางลงไปได้นิดหนึ่ง
เราได้รับการเยียวยาทุกครั้งที่เขียน เรายังรู้สึกกับมันถึงทุกวันนี้ เพราะไม่ว่าจะจากชีวิตประจำวันอันแสนน่าเบื่อ ในฐานะ Copywriter ที่ต้องรับใช้นายทุน หรือว่าซาลาลีมังชาวญี่ปุ่นที่ต้องเบียดเหล่าคุณลุงโอจิซังไปทำงาน ทุกครั้งที่เราเขียน ไม่ว่าจะเขียนน้อยหรือเขียนมาก เรารู้สึกว่าได้เยียวยาทุกครั้ง มันถึงเป็นสิ่งที่ยังอยากทำไปเรื่อยๆ
มีเรื่องไหนที่รู้สึกไม่อยากเขียนหรือว่าเขียนได้ยากบ้างไหม
เรื่องที่ต้องใช้ความรู้เยอะๆ เรื่องที่ต้องทำการค้นคว้าเยอะๆ เพราะเรารู้สึกว่าเราไม่ใช่สายนั้น เราเป็นสายใช้ความรู้สึก เล่าความรู้สึก เราเป็นคนไม่ได้แม่นข้อมูลมากนัก แล้วเราแบบไม่อะ กูจะไม่อ่านหนังสือ 30 เล่ม เพื่อเขียนหนังสือ 1 เล่ม เราไม่ได้เป็นคนแบบนั้น งานที่ต้องใช้ข้อมูลแน่นๆ ปีนี้เกิดอะไรขึ้นอะไรอย่างนี้ เราไม่ทำ
มีภาพไหมว่าตัวเองอยากเป็นนักเขียนแบบไหน
หนึ่ง คงอยากเป็นนักเขียนที่มีวินัยครับ เหมือนฮารุกิ มุราคามิ คือนอกจากงานเขียน เขาเป็นครูเราในแง่ของการใช้ชีวิตอย่างมีวินัยด้วย เรารู้สึกว่าวินัยมันสำคัญมาก ไม่ใช่แค่นักเขียน แต่ถ้าคุณเป็นคนที่อยากทำอะไรสักอย่างหนึ่งได้ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายอะ คุณต้องมีวินัย มุราคามิสอนเรื่องนี้
สอง คือเป็นนักเขียนที่คนอ่านงานของเราแล้วรู้สึกอะ คือคำว่าดีหรือไม่ดีมันเป็นปัจเจกนะ แต่อ่านแล้วรู้สึกอะไรหรือเปล่า อ่านแล้วร้องไห้หรืออะไร เพื่อนเราบอกว่างานมึง กูอ่านติดๆ กันไม่ได้นะ อ่านแล้วมันต้องวาง เราอยากเป็นนักเขียนแบบนั้นต่อไป
การเป็นนักเขียนแล้วคนอ่านงานของเราแล้วรู้สึกกับมันสำคัญยังไง
เป็นเกียรติ เป็นเกียรติมาก (ยิ้ม) ถ้ามีคนที่ให้คุณค่างานของเรา เราก็อยากทำให้มันดีขึ้น คือมนุษย์อะเนอะมันไม่ใช่แค่ทำเพื่อตัวเองอย่างเดียวหรอก มันทำเพื่อคนอื่นที่เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำด้วย ยิ่งในโลกนี้ที่การหยิบหนังสือหนึ่งเล่มขึ้นมาอ่านเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเหลือเกิน แต่เขาเลือกอ่านงานของเรา เราควรจะขอบคุณเขาขนาดไหน แล้วเราควรจะทำให้มันดีหรือเปล่า เรารู้สึกอย่างนั้นนะ
แล้วการเขียนหรือว่าการได้เป็นนักเขียนมันให้อะไร
การเป็นนักเขียนอะโคตรจะมีบุญ เพราะคุณสามารถคว้านเอาสิ่งที่อยู่ลึกๆ ข้างในของตัวเองออกมาดูได้ สมานแผลมันได้ด้วยการเขียนมันออกมา แล้วได้เล่ามันไปให้คนอื่นๆ
อันนี้เราถือว่าเป็นอาชีพที่ดีจริงๆ ไม่รู้จะหาคำไหนมานิยาม มันจะมีอาชีพไหนที่ได้ทำแบบนี้ ชีวิตคนเราถ้ามันไม่ได้บังคับให้เรานั่ง เราก็แทบไม่มีช่วงเวลาที่ได้นั่งรีเฟล็กซ์หรือนั่งเยียวยาตัวเองนะ ถ้าชีวิตมันไม่กระหน่ำใส่คุณจนคุณต้องนั่งก่อน
แต่การเป็นนักเขียนอนุญาตให้เราเอาบาดแผลของตัวเองมาดู กลั่นมันออกมา และทำให้เราเข้าใจจริงๆ ว่าเรารู้สึกยังไงกับเรื่องนี้ เขียนเสร็จก็เหมือนได้จัดระบบมันแล้ว ตัวเราจะเบาลงและจะเข้าใจความเป็นตัวเองมากขึ้น