“ถ้าอยากจะอ่านเรื่องที่ค่อนข้างเบาอาจจะแปลกๆ หน่อย แต่เพื่อความบันเทิงก็อ่านเรื่องนี้ได้”
จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท หรือ คุณลี้ บอกกับเราเมื่อเราถามว่า divine Being ไม่ใช่มนุษย์ และตัวตนอื่นๆ หนังสือรวมเรื่องสั้นเล่มล่าสุดเป็นหนังสือสำหรับใคร ในขณะที่ผงะไปชั่วครู่หลังจากอ่าน 8 เรื่องราวที่มักพูดถึงสถานการณ์สังคมและการเมืองของไทย ไม่ว่าจะในฉากหลังหรือเบื้องหน้า การตั้งคำถามเกี่ยวกับตัวตนและความเป็นมนุษย์ของตัวละครที่พบเจอตามแต่ละสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไปในเรื่อง สรุปแล้วเรื่องนี้มันเบาจริงเหรอเนี่ย?
เมื่อคิดไปคิดมา ภายใต้เรื่องราวความเป็น(และไม่เป็น)มนุษย์ของแต่ละเรื่อง หนังสือถูกเขียนออกมาด้วยโทนที่ไม่ได้มีแค่ท่าทีจริงจัง แต่บางครั้งก็ร่าเริง โรแมนติกหวานหยด หรือบางทีก็กดจุดความเหงา เศร้า และปล่อยวางอย่างเข้าใจ ทำให้การบอกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่เบาก็เป็นจริงเช่นกัน แต่เบาก็ไม่ได้แปลว่าเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับอะไรเลย ฉะนั้นมาคุยกันดีกว่าว่าผลงานล่าสุดโดยนักเขียนรางวัลซีไรต์ มีที่มาที่ไปอย่างไร
ทำไมต้องไซไฟ?
“ลี้ก็มองว่าเล่มนี้มันก็ไม่ได้ไซไฟมากนะ คืออย่างน้อยมันก็ไม่ใช่แบบสตาร์เทรค มียานอวกาศหรืออะไรอย่างนี้” เธอกล่าวเกี่ยวกับงานของตัวเอง “งานของลี้มันก็ไม่ใช่งานไซไฟกระแสหลักเสียทีเดียว อย่างเรื่อง วรรณกรรมที่แท้จริงน่ะ ต้องใช้คอมพิวเตอร์เขียนเท่านั้นไม่รู้เหรอ อันนั้นก็จะเป็น AI ที่เขียนวรรณกรรม คือลี้รู้สึกว่ามันเหมือนเป็นอนาคตที่ใกล้ปัจจุบันมากๆ แล้วเหมือนเราแค่กำลังเขียนว่าช่วงนี้มันมีสิ่งนี้เกิดขึ้นนะ พอให้เราจินตนาการต่อไปอีกนิดหนึ่ง”
เธออธิบายว่า เธอชอบมองหาปรัชญาของเรื่องราวนิยายวิทยาศาสตร์มากกว่าเรื่องของเทคโนโลยีล้ำยุค “ตัวเราคืออะไร หรือวิญญาณคืออะไร? หรือจิตสำนึกคืออะไร? ซึ่งนั่นคือสิ่งที่ divine Being ถามคำถามอยู่ว่า จิตสำนึก (Consciousness) ของมนุษย์คืออะไร ถ้าเธออยู่พันปี เธออยู่ร้อยปี เธอยังถือว่าเป็นมนุษย์ไหม? หรือถ้าสมมติ AI เทียบเท่าเราแล้ว มันคิดเหมือนเราได้ทุกอย่างแล้ว อันนี้ถือเป็นมนุษย์หรือยัง?” เธอกล่าว
เล่าที่มาและคอนเซ็ปต์หลักของเรื่องนี้ให้ฟังหน่อย
“เอาจริงๆ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นโดยอุบัติเหตุค่ะ คือมันเหมือนเราคุยกันกับบรรณาธิการในโปรเจ็กต์อื่นๆ แล้วเขาก็เหมือนกับว่า มีรวมเรื่องสั้นบ้างไหม เราก็บอกว่าเรามีเรื่องสั้นและเรื่องจำนวนหนึ่งอยู่นะที่ไม่ได้ตีพิมพ์ เอามารวมกันเป็นเล่มได้ เราก็ไปคัดๆ มา เรื่องที่มันดูคล้ายกันในแง่ที่มีตัวตนหรือจิตสำนึกที่ไม่ใช่มนุษย์” จิดานันท์กล่าว
เรื่องราวที่จิดานันท์เลือกเล่านั้นก็เกี่ยวข้องกับหลายๆ อย่างที่ไม่ได้โดนนับว่าเป็น “มนุษย์” ซึ่งควบรวมไปตั้งแต่ AI, ปีศาจ, วิญญาณ หรือเทพ ฉะนั้นแม้ว่าหน้าปกอาจทำให้ดูเหมือนหนังสือนิยายวิทยาศาสตร์ดิสโทเปีย แต่เนื้อในเรื่องนี้ยังควบรวมไปถึงพื้นที่เกี่ยวกับเรื่องราวทางจิตวิญญาณด้วย
จิดานันท์เสริมความหมายของชื่อเรื่อง “คำว่า divine มันจะเป็นประมาณว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรแบบนี้ สมมติว่าเราเรียนศาสนา ปรัชญาศาสนา มันจะหมายถึงพระเจ้าหรือ? มันแล้วแต่นะ ถ้ามันเป็น Divine ตัว D ใหญ่มันจะหมายถึง พระเจ้า พระเจ้าสูงสุดของศาสนาคริสต์ แต่ถ้าเป็นตัวเล็กแบบที่ใช้ในเล่มนี้ มันก็เป็นเหมือนตัวตนทางจิตวิญญาณอื่นๆ หรือแบบพระภูมิอะไรแบบนี้ก็อาจจะเป็น divine คือตัวตนที่เป็นในทางอิทธิปาฏิหาริย์ที่ไม่ใช่คนอะไรอย่างนี้ค่ะ แต่อันนี้ก็เหมือนกินความรวมไปถึง AI ด้วย”
แม้ว่าในเล่มจะมีเรื่องสไตล์นิยายวิทยาศาสตร์ Time Traveler Breakpoint at 2020 ที่เล่าเรื่องนักข้ามเวลาอมตะ ผู้ต้องใช้เวลาตลอดกาลของเธออยู่ในปี 2020 ปีสุดห่วยในกรุงเทพฯ วนลูปตลอดไป แต่ดันไปบังเอิญพบรักที่ถูกลิขิตให้ไม่สมหวังและกำเนิดซ้ำในห้วงเวลานั้น ก็ยังมีเรื่องอย่างเมื่อปีศาจยุติการเดินทาง ที่จิดานันท์รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่พิเศษสำหรับเธอ เนื่องจากมันเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเธอกับศิลปิน ชาติชาย ปุยเปีย ในนิทรรศกาลเวตาลสวีท (Vetal Suite) ซึ่งเล่าเกี่ยวกับเรื่องราวของคุณเวตาล ปีศาจผู้ล่วงลับที่คุณชาติชายออกแบบ ร่วมกับบรรยากาศกับบทสนทนาและความทรงจำที่เกิดขึ้นหลังจากความตายนั้น
เวลามันเป็นเรื่องสั้น ไม่ว่าจะไซไฟหรือไม่แฟนตาซี สิ่งที่มันเกิดขึ้นทุกเรื่อง คือการสร้างโลกใหม่ทุกเรื่อง เป็นความยากในการเขียนไหม?
“เราชอบ” จิดานันท์ตอบอย่างมั่นใจ ในทั้งหมด 8 เรื่อง ไม่ว่าจะความยาว 70 หรือ 30 หน้า เธอสามารถค่อยๆ ให้ข้อมูลกับโลกที่เราไม่เคยสัมผัสและทำให้เราอินไปกับมันได้ในทุกย่างก้าว “เราเป็นคนที่ไม่ชอบข้อมูล เพราะฉะนั้นการสร้างสิ่งอื่นๆ ขึ้นมามันง่ายสำหรับเรา เป็นจุดที่เราชอบ ว่างๆ ก็นั่งคิดว่าจะเป็นยังไงถ้าโลกเป็นอย่างนั้น”
เธอกล่าวอย่างนั้นแล้วอธิบายเกี่ยวกับการสร้างโลกของเธอว่าไม่ใช่การสร้างโลกที่ละเอียดนัก ต่างจากนักเขียนไซไฟแฟนตาซีหลายๆ คนที่อาจปูโลกขึ้นมาตั้งแต่จุดกำเนิดของมัน ประวัติศาสตร์พันปีก่อนเรื่องราวจะเริ่ม หรือสร้างภาษาขึ้นมาสำหรับเผ่าพันธุ์สักเผ่า “ตอนเราสอนเขียน เราก็บอกเขาไปว่าไม่ต้องสร้างสิ่งที่ไม่ต้องใช้ หรือถ้าชอบมากก็สร้างขึ้นมาแต่ไม่ต้องเขียนลงไป สมมติเรื่องนี้จะเกี่ยวกับการชิงบัลลังก์ เธอก็อธิบายระบบการปกครองลงไป แต่ว่าเรื่องวิธีการส่งออกส้มในไร่แถบชนบทของเมือง เธอไม่ต้องเขียน”
ถึงเธอจะกล่าวแบบนั้น แต่เมื่ออ่านแล้วก็พบว่าไม่มีคำถามคาใจที่ต้องการคำตอบเพิ่มเติม เพราะแม้แต่เรื่องปัญหาอัตราการเกิดของโลกที่ทุกคนเกิดเป็นผู้หญิง แต่จะเปลี่ยนเป็นผู้ชายตอนอายุ 30 ปีในเรื่องสั้นแรกอย่าง The Ordinary World Quasar ผู้เขียนก็คิดไว้แล้ว
โลกปัจจุบันมีแบบ AI รถยนต์ไร้คนขับ มี Metaverse แบบนี้เราอยู่ในโลก Sci-Fi หรือยัง?
จิดานันท์ไม่มั่นใจ เธอกล่าวว่ายังคงติดภาพของ “โลกอนาคต” ว่าต้องมีรถบินได้ หรือตึกหน้าตาแปลกประหลาดอยู่ แต่เธอคิดว่าเรากำลังอยู่ในหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของมนุษยชาติ “เรารู้สึกว่าโลกเราอยู่ตรงจุดที่สำคัญมากๆ ของมนุษยชาติ จุดที่ AI มันฉลาดมาก ตอนนี้มันเหมือนฉลาดขึ้นอย่างรวดเร็ว กราฟมันชัด ลี้รู้สึกว่ามันอยู่ในจุดที่กำลังจะแซงมนุษย์ แล้วช่วงวินาทีที่มันแซง เราอาจจะไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ทุกวันนี้เราอาจจะแบบว่า เฮ้ย มันก็ยังวาดคน 13 นิ้ว แต่ภายในช่วงเวลาแป๊บเดียวมันอาจจะแซงเราไปในเวลาเร็วมาก แล้วพอเรารู้ตัว เราอาจจะป้องกันความเสียหายไม่ทันแล้ว ลี้รู้สึกว่านี่คือจุดเปราะบางที่มันเกิดขึ้น แล้วเราก็กำลังดูมันว่าจะเป็นยังไง”
“คือเราไม่รู้ว่าชีวิตมนุษย์จะดีขึ้นจริงหรือไม่ แต่เรารู้ว่ามันคือสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วและมันจะไม่หยุดยั้ง” เธอตอบเมื่อเราถามเกี่ยวกับข้อเสนอว่า AI นั้นไม่ได้มาแทนที่ แต่มาสนับสนุนมนุษย์ “เอาจริงๆ ลี้ก็คิดอยู่ตลอดว่ามันจะแทนที่ไหม แต่ส่วนหนึ่งคือเราทำงานหนังสือเนอะ ส่วนหนึ่งที่เรารู้สึกว่ามันยังแทนเราไม่ได้ก็คือภาษาไทยมันค่อนข้างยาก…แต่ลี้ก็ไม่แน่ใจว่าในพลังการเรียนรู้ที่มากๆ ไม่แน่ ความยากมันอาจจะกลายเป็นสิ่งที่ AI เอาชนะได้ภายในไม่กี่เดือนก็ได้”
หนึ่งในเรื่องที่สะท้อนมุมมองของเธอต่อความสามารถของ AI คือมองเธอมาแสนนาน เรื่องสั้นจากโจทย์ “รักเกิดในรถไฟฟ้า” ที่ดำเนินเรื่องผ่านบทสนทนาสไตล์รายการทอล์กโชว์ปรึกษาปัญหาหัวใจระหว่าง “พิธีกรทั้งสาม” กับหนุ่ม “แสนดี” ที่หลงรักคนที่เขาเจอบนรถไฟฟ้าทุกวัน ฟังดูเป็นเรื่องเรียบๆ แต่จิดานันท์วางเกล็ดขนมปังที่คอยเฉลยธรรมชาติของตัวละครไว้ให้เราเดินติดตามตลอดทางได้จริงๆ
การเขียนเรื่องไซไฟและแฟนตาซี เปิดโอกาสให้เราหลีกหนีไปเขียน escapism ได้ แต่ทำไมยังเลือกจะเผชิญหน้ากับประเด็นต่างๆ อย่างตรงไปตรงมา?
“ตั้งแต่สมัย สิงโตนอกคอก เราบอกว่าเราเป็นคนชอบปรัชญา แล้วก็ทำงานทางปรัชญา เหมือนแบบความดีคืออะไร? การมีอยู่คืออะไร? หรือว่าการปกครองที่ดีคืออะไร? มันเป็นคำถามทางปรัชญา ซึ่งมันค่อนข้างวนในอ่าง” เธอพูดไล่มาว่าเป็นคำถามที่มนุษย์คุยกันมาตั้งแต่ยุคกรีกโบราณ ยุคเรเนซองส์ มาจนปัจจุบัน และมันเป็นคำถามที่ไม่อาจหลีกหนีได้ “เหมือนที่คุณเวตาลบอกว่า มนุษย์ถามแต่เรื่องเดิมๆ” เธอกล่าว
เธอยังกล่าวต่อว่า “ถามว่าทำไมไม่เขียนงานที่หลีกหนี ก็คือในเมื่องโครงใหญ่ของมนุษยชาติทั้งหมดเราคุยกันอยู่ในนี้ แล้วนักคิดจำนวนมากที่ฉลาดกว่าฉันมากก็อยู่ในนี้ แล้วถ้าฉันจะต้องหนี ฉันจะหนีไปทางไหน? ฉันจะหนียังไงให้มันไม่เจอ อิมมานูเอล คานต์ (Emmanuel Kant) ที่เขียนไปแล้วทุกเรื่อง?…
…เราไม่ได้ฉลาดพอที่จะหนีไปจากสิ่งเดียวที่มนุษยชาติสนใจได้ ให้เขียนเกี่ยวกับอะไร? ไม่ว่าจะเขียนยังไงก็จะวนอยู่ในสิ่งนี้”
Graphic Designer: Sutanya Phattanasitubon
Proofreader: Taksaporn Koohakan