ไม่บ่อยนักที่เราจะได้สัมภาษณ์นักเขียน และแทบไม่มีสักครั้งที่เรายังไม่เคยได้เห็นหน้าของเขาหรือเธอคนนั้นก่อนถึงวันนัดหมาย
เรื่องของเรื่องคือนักเขียนคนนี้ไม่เคยให้สัมภาษณ์ที่ไหน แทบจะไม่โพสต์ภาพของตัวเองลงในโซเชียลมีเดียใดๆ และกระทั่งภาพที่ใช้ในการประชาสัมพันธ์หนังสือก็เป็นเพียงภาพวาด
ทั้งหมดทั้งมวล เราจึงทำได้เพียงรู้จักกับเธอผ่านผลงาน และรู้แค่ว่านามปากกาที่เป็นตัวแทนทางจิตวิญญาณของเธอคือ ‘LADYS (ลา-ดิด)’
หากมองแบบผิวเผินคงเหมือนว่า LADYS เป็นนักเขียนที่เต็มไปด้วยเรื่องลึกลับ นักอ่านไม่ได้ทราบชีวิตจริงของเธอมากนัก อย่างไรก็ดี หากชายตาไปบนหน้ากระดาษ จริงๆ แล้ว เธอได้ประกาศอย่างเด่นชัดถึงความรู้สึกและความทรงจำ ผ่านหลากหลายตัวละครที่เธอเนรมิตขึ้นอย่างประณีตบรรจง
LADYS เริ่มเป็นที่รู้จักจากผลงานใน readAwrite เว็บไซต์เขียน-อ่านนิยาย ซึ่งเป็นพื้นที่แจ้งเกิดของหลากหลายวรรณกรรม ต่อมาเมื่อได้รับความนิยม เธอจึงตีพิมพ์ส่วนผสมของตัวอักษรออกมาเป็นรูปเล่ม เริ่มมีสำนักพิมพ์ติดต่อขอร่วมงาน จนถึงวันนี้ที่ไม่เพียงออกหนังสือกับสำนักพิมพ์อย่าง Salmon Books ทว่ายังมีสำนักพิมพ์เป็นของตัวเองด้วย
เรานัดสัมภาษณ์กับ LADYS ที่ออฟฟิศของ The MATTER เธอกับแม่มีนัดเดินทางจากจังหวัดเพชรบุรี เพื่อเข้ามาส่งหนังสือที่กรุงเทพฯ จึงแวะพูดคุยกับเราสั้นๆ
รอยยิ้มเปื้อนใบหน้าของคุณแม่ที่เดินนำ ส่วนเธอเดินตามในเสื้อเชิ้ตสีขาว พร้อมบุคลิกช่างเจรจา ชวนเรานึกย้อนเล่นๆ ว่า ถ้านักเขียนคนนี้เรียนคณะแพทยศาสตร์จนจบปี 6 ชีวิตของเธอจะเป็นอย่างไร พลางสงสัยต่อว่า ทั้งที่บากบั่นทนเรียนจนถึงปี 5 ทำไมสุดท้ายเธอถึงเลือกวางเสื้อกาวน์ แล้วก้าวออกมาจับแป้นพิมพ์
เธอค่อยๆ นั่งลงตรงหน้า วางงานเขียนแทบทั้งหมดที่เธอสรรค์สร้างขึ้นในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปีลงบนโต๊ะไม้สีน้ำตาล เรากวาดตามองหลากผลงานว่าด้วยประเด็นเรื่องเพศ การกดทับ และความสัมพันธ์ ในหนังสือ ทั้งอดาไลน์ และเรื่องสั้นอื่นๆ, Beau (Is Non-Binary of Everything), คุณเคนต์และข้าพเจ้า รวมถึงเล่มล่าสุด พัทยาและมาหยา
และต่อไปนี้คือบทสนทนาว่าด้วยตัวตนของ LADYS และชีวิตนักเขียน ที่เราเชื่อว่าอ่านแล้วคงสัมผัสได้ถึงอารมณ์ ทั้งเจ็บปวดและอบอุ่น ไปจนถึงประสบการณ์ที่มีทั้งหวานละมุนและขมขื่น
‘L’
A Little Writer
ถ้าเราไม่รู้จักนักเขียนที่ชื่อ LADYS เลย คุณจะแนะนำให้เรารู้จักเธอว่าอย่างไร
ก็คงแนะนำว่า LADYS เป็นนักเขียนเต็มเวลาคนหนึ่ง ซึ่งเขียนงานด้วยภาษาไทย ชอบงานเขียนแนวกระแสสำนึกเป็นพิเศษ และเป็นนักเขียนที่อยากทำอาชีพนี้อาชีพเดียวเพื่อเลี้ยงตัวเองไปจนตายมั้งคะ (หัวเราะ)
หมายความว่าคุณชอบการเขียนหนังสือมากจนไม่อยากทำอย่างอื่นเลยเหรอ
สำหรับเรา การเขียนเป็นงานที่ต้องการเวลา เราคิดว่าถ้าตัวเองทำอย่างอื่นไปด้วย สุดท้ายการเขียนจะกลับไปเป็นแค่งานอดิเรก ซึ่งเราไม่อยากให้เป็นแบบนั้น ทุกวันนี้งานเขียนเป็นงานที่แม้จะมีบางส่วนที่เราไม่ชอบ เราก็ยังยินดีที่จะทำ แต่ลึกๆ เราก็รู้ดีนะว่ามีนักเขียนน้อยมากที่จะทำงานนี้แค่งานเดียวได้
นั่นหมายถึงว่าชอบมากๆ หรือเปล่า
อ๋อ ชอบแหละ (นิ่งไป) ชอบ ชอบมาก
เริ่มตกหลุมรักการเขียนเพราะอะไร
น่าจะเริ่มเหมือนกับหลายๆ คน คือชอบอ่านก่อน จำได้ว่าตอนเด็กๆ เด็กแบบเด็กจิ๋วเลยนะ ถ้าเป็นของเล่นชนิดอื่น เราจะต้องเก็บเงินซื้อเอง แต่ถ้าเป็นหนังสือ ป๊ากับแม่จะมีโควตาซื้อให้เดือนละเล่ม แล้วตอนนั้นแถวโรงเรียนเรามีร้านหนังสือ ชื่อร้านดอกหญ้า เราก็เลยไปประจำ เป็นพื้นที่แห่งความทรงจำในวัยเด็กของเรา พูดแล้วยังจำกลิ่นได้อยู่เลย
เริ่มต้นจากการอ่าน แต่ถ้าถามว่ามาเขียนได้ยังไง จำได้ว่าครั้งแรกที่เขียนน่าจะประมาณ ม.1
LADYS ตอนเรียน ม.1 เขียนอะไร
เขียนนิยาย คุ้นๆ ว่าได้แรงบันดาลใจมาจากนิยายของสำนักพิมพ์แจ่มใส เราจำไม่ค่อยได้นะว่าเขียนเกี่ยวกับอะไร แต่จำได้ว่าตัวเอกเป็นหมอ จำได้แค่นี้ (หัวเราะ) และตอนนี้ก็ไม่รู้ด้วยว่ามันหายไปไหนแล้ว คือเด็กนักเรียนก็ต้องซื้อสมุดทุกเปิดเทอมใช่มั้ย ซึ่งโรงเรียนก็จะบอกเลยว่าต้องซื้อ 20 เล่ม 25 เล่ม แล้วแต่ แต่มันจะไม่มีวันใช้หมด
คุณก็เลยเอามาเขียนนิยายเหรอ (ยิ้ม)
ใช่ (หัวเราะ) เรื่องนี้แม่ไม่รู้เลย ก็จะแบ่งสมุดเอาไว้เขียนนิยาย หรือบางทีก็วาดการ์ตูน ตอนนั้นติดมังงะด้วย ก็เริ่มเขียนตั้งแต่ตอนนั้น สลับไปมาระหว่างอ่านกับเขียน อ่านอะไรแล้วชอบก็อยากลองเขียนบ้าง แต่ส่วนมากเขียนไม่จบนะ
‘A’
Anxiousness of a Medical Student
คุณเคยเขียนในกิตติกรรมประกาศของหนังสือว่า ‘ขอบคุณป๊าและแม่ ที่เข้าใจว่าข้าพเจ้าเป็นนักเขียน มิใช่แพทย์’ ที่บ้านเคยอยากให้คุณเป็นหมอเหรอ
ไม่ใช่แค่อยาก จริงๆ เราเรียนหมอ (ยิ้ม) แต่ถ้าไม่รู้ก็ไม่แปลกเลย เพราะเมื่อก่อนเราไม่กล้าพูด เราแทบจะกดสคิปข้ามช่วงเรียนมหาลัยไปเลย เหมือนเกิดมาก็เป็นนักเขียนแล้ว มันเป็นช่วงเวลาที่จิตใจเราบอบช้ำมาก ตอนนั้นอ่านนิยายที่ตัวเอกเป็นหมอไม่ได้ด้วยซ้ำ ไม่ชอบชีวิตตัวเองเลย แต่ถึงวันนี้ก็ผ่านมา 2 ปีแล้ว เริ่มมองมันเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วจบไป มีส่วนที่แย่นะ แต่มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวเราทุกวันนี้ องค์ความรู้หลายอย่างเราลืมไปแล้ว แค่วิธีคิดบางอย่างของการเป็นนักศึกษาแพทย์ยังอยู่ เช่นบางทีเราก็เอาวินัยการอ่านหนังสือสอบหมอมาใช้ตอนปั่นต้นฉบับ นั่นแหละ เราเพิ่งจะกล้าพูดเรื่องนี้ไม่นานเอง
ถ้าหนักขนาดนั้น ทำไมถึงทนเรียนถึงตั้งปี 5
จริงๆ ตั้งแต่ปี 2 เราก็เริ่มรู้แล้วว่าไม่ได้อยากเป็นหมอ มันไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ แต่ถ้าใครได้ลองเข้าไปอยู่ในคณะแพทย์จะรู้ว่า การจะออกมามันยากมาก ยิ่งเรียนไปเรื่อยๆ เราจะยิ่งเห็นตัวเองเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เราจะเริ่มละทิ้งการเป็นสิ่งอื่นเพื่อที่จะเป็นหมอคนหนึ่ง มันเรียนหนักจริงๆ
เราเริ่มบอกที่บ้านว่าไม่อยากเป็นหมอตั้งแต่อยู่ปี 2 แต่เราเองก็ไม่กล้าออกขนาดนั้น เพราะคิดไม่ออกว่า ถ้าไม่ใช่หมอ เราจะไปทำอะไร และที่สำคัญคือตอนเรียนหมอ เราก็ไม่ได้ว่างมากพอที่จะลองหาอะไรที่ชอบด้วย
แล้วคุณได้เป็นคนเลือกเข้าไปเจอความหนักนี้ด้วยตัวเองหรือเปล่า
ใช่นะ ไม่ใช่แค่ป๊าแม่หรอกที่อยากให้เราเป็นหมอ เราเองก็อยากเป็นด้วย ไม่งั้นคงไม่สอบเข้า เราเรียนสายวิทย์มาตอนมัธยม เป็นห้องคิงที่มีกัน 30 คน ส่วนมากเข้าหมอ ไม่ก็วิศวะ ซึ่งพอนึกย้อนไป เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมตัวเองถึงอยากเป็นหมอขนาดนั้น
แล้วท้ายที่สุด จากนักเรียนแพทย์กลายมาเป็นนักเขียนนิยายได้ยังไง
จุดเปลี่ยนคือตอนปี 5 เราตัดสินใจดรอปเรียน ไม่ไหวแล้ว ขอพักสักปี พอดรอปเราก็ลองไปทำงาน เป็นบาเทนเดอร์ในกรุงเทพฯ (ยิ้ม) เริ่มมีเวลาว่างมากขึ้น ก็ไม่ได้ว่างมากนะ แต่ว่างกว่าตอนเรียน ซึ่งระหว่างที่ชงค็อกเทลนั่นแหละ เรากลับมาลองเขียนอีกครั้ง เริ่มเลย ลองดู ก็ได้ออกมาเป็นเล่ม Beau (Is Non-Binary of Everything) ที่ดันขายได้แบบไม่น่าเชื่อ
คุณพิมพ์เอง ทำเองเลยเหรอ
ใช่ จำได้ว่าเราเปิดให้สั่งล่วงหน้าเพื่อจะได้มีเงินส่วนหนึ่งเป็นต้นทุนในการพิมพ์ สมมติเขาสั่ง 60 เล่ม เราก็พิมพ์มาขายประมาณ 100 เล่ม
ตอนนั้นเริ่มเห็นตัวเองเป็นนักเขียนรึยัง
นิดหนึ่ง (หัวเราะ) พอขายได้ปุ๊บก็มีเงินเข้ามา เริ่มเห็นว่า เฮ้ย เราอาจจะไม่ควรเป็นหมอก็ได้นะ คือก่อนหน้านี้ก็อยากออก แต่เราไม่กล้า มันคิดไม่ออกว่าออกไปแล้วจะทำอะไร เราไม่ใช่คนที่จะกล้าออกมาแล้วขอเงินป๊าแม่ไปก่อน พูดวันนี้เหมือนง่ายนะ แต่จริงๆ ตอนนั้นเครียดมาก เหมือนเป็นการละครที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตของตัวเอง คุณแม่ไม่เท่าไหร่ แต่ป๊าเขาเห็นภาพเราเป็นหมอไปแล้ว ซึ่งทุกวันนี้ภาพนั้นยังไม่หายไป แต่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ เราเคยรู้สึกว่า ชีวิตมีแค่ ‘ไม่เป็นหมอก็ตายไป’ เหมือนมีความเป็นไปได้แค่ 2ทาง แต่ตอนที่ Beau ขายได้ มันกลายเป็น 3 คือเป็นหมอ เป็นนักเขียน หรือตาย คือมันเริ่มมีอีกเส้นทางหนึ่ง ซึ่งวันที่จะออกก็คุยกับแม่ ร้องไห้หนักมากๆ ตอนนั้นเราถามแม่ว่า ‘ถ้าไม่เป็นหมอจะให้เราเป็นอะไร’ ไม่รู้แม่จำได้มั้ย (หันไปมองแม่) แต่แม่ตอบเราว่า ‘เป็นนักเขียนก็ได้นะ’ วันต่อมาก็เลยไปขึ้นวอร์ดรอบสุดท้าย แล้วก็ไม่ได้กลับไปเรียนอีกเลย
‘D’
Deep into the Stream of Consciousness
หลังจาก Beau (Is Non-Binary of Everything) ได้รับความนิยม คุณต่อยอดความสำเร็จยังไง
พอเขียน Beau เสร็จ ตอนนั้นเรายังต้องกลับไปเรียนปี 5 ต่อ แต่ก็คิดกับตัวเองว่า ถ้าเล่มแรกขายได้ เราควรรีบออกอีกเล่มเพื่อให้เครื่องยังติด ก็เลยเขียน Adaline and Other Short Stories (อดาไลน์ และเรื่องสั้นอื่นๆ) กับ Stream of Concetta คือเรียนไปเขียนไป อย่างตอนขี้นวอร์ดก็พิมพ์เอาในโทรศัพท์ เดือดมาก แต่พอทั้ง 2 เล่มออกมา มันก็ขายได้จริงๆ ซึ่งก็เป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้กล้าออกจากการเป็นนักเรียนแพทย์
ถ้าให้ลองวิเคราะห์ตัวเอง คิดว่าอะไรที่ส่งให้ผลงานของ LADYS ถูกใจนักอ่าน
เรารู้สึกว่าโซเชียลมีผลมาก คือถ้าเล่มไหนมีสักประโยคที่โดนใจคนในสังคม มีข้อความที่ instagramable เล่มนั้นจะขายได้ แต่เราไม่รู้นะว่าจะขายได้เยอะมั้ยหรือจะขายได้นานแค่ไหน แต่อย่างเล่ม Beau ก็มีคนตัดประโยคหนึ่งไปแชร์ แล้วมันก็ถูกพูดถึงเยอะมากๆ
แต่ลำพังแค่ประโยคโดนๆ คงไม่พอทำให้หนังสือขายดีรึเปล่า ประเด็นหรือภาษาต้องดีด้วย
ก็คงใช่ คือเรารู้สึกว่า ใจความของ Beau ตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับหลายคนในยุคนี้ เรื่องเพศ ตัวตน สภาวะกดทับ แต่มันก็ไม่ใช่ทุกคนนะ วิธีเขียนในเล่ม Beau คือเราเว้นช่องว่างให้คนอ่านได้ใส่ตัวเองลงไป ซึ่งข้อดีคือถ้ามีของจะใส่ เขาก็จะรู้สึกว่า เฮ้ย หนังสือเล่มนี้เข้าใจเขามากๆ แต่ถ้าเขาไม่มีอะไรจะเติม มันจะกลายเป็นหนังสือแบบ ‘มึงเขียนสิ่งนี้ขึ้นมาทำไมเนี่ย ไม่เห็นมีอะไรเลย’ คือในเรื่องไม่มีตัวละครไหนเลยที่เพอร์เฟ็กต์ ทุกคนมีความทุกข์ในชีวิตที่เราไม่ได้เล่าตรงๆ ว่าเขาและเธอทุกข์เรื่องอะไร เราบอกแค่ว่าตัวละครเจ็บปวดนะ เศร้านะ อยากตายนะ แต่ผู้อ่านคือคนที่จะเข้าไปเติมสาเหตุของความทุกข์เหล่านี้ ซึ่งถ้าคุณไม่ได้ทุกข์ คุณก็อาจจะไม่มีอะไรจะใส่ แต่ถ้ามีของ คุณก็ใส่ได้ มันจะกลายเป็นหนังสือของคุณ
แล้วนักอ่านที่ใส่ตัวเองเข้าไปในหนังสือ เคยคุยกับคุณว่ายังไงบ้าง
ก็มีนักอ่านที่บอกว่า เราตีความตัวละครออกมาได้ใจดีมากๆ คือเรามองว่า แค่ถ่ายทอดตัวละครออกมาให้เป็นมนุษย์ นั่นก็คือการใจดีแล้ว ถ้าถามว่าความเป็นมนุษย์ในนิยายคืออะไร เราว่ามันคือก้อนก้อนหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยความทรงจำและความรู้สึก ซึ่งหนังสือเราก็เต็มไปด้วยสิ่งเหล่านี้
ถ้ามีเด็กสักคนถามว่า ‘เขียนยังไงให้ภาษาสวย’ คำตอบของคุณคือ
เป็นคำถามที่ดีนะ แต่อาจจะต้องถามต่อว่าสวยแบบไหน ถ้าเป็นงานของเรา สิ่งที่เด่นชัดคืออารมณ์และสภาพแวดล้อมที่มีผลต่อความรู้สึกของตัวละคร คือเราจะไม่อธิบายว่าห้องนี้เป็นห้องสี่เหลี่ยม ขนาดเท่าไหร่ สีอะไร (มองไปรอบห้อง) แต่เราจะอธิบายออกมาในลักษณะที่ว่าตัวละครรู้สึกอย่างไรกับสถานที่นั้นๆ เช่น เรารู้สึกว่าห้องนี้อบอุ่นอย่างประหลาด ทั้งที่เราก็ไม่เคยเข้ามาก่อน…อืม อาจจะเป็นเพราะสีห้องเหมือนกับห้องของเราตอนเด็กๆ ล่ะมั้ง เป็นต้น เรามักจะอธิบายแบบนี้ มันเรียกว่าการเขียนแบบกระแสสำนึก
การเขียนแบบกระแสสำนึกคืออะไร
ไม่ได้เรียนมานะ ไม่มั่นใจเหมือนกัน แต่สำหรับเรา มันคือการทำให้คุณค่ากับสิ่งต่างๆ เช่น นี่คือกำไลหินลาพิสลาซูรี (ยกข้อมือให้ดู) มันก็เป็นแค่หินสีน้ำเงินธรรมดา แต่ถ้าเขียนแบบกระแสสำนึก มันจะไหลไปได้ว่า ตอนที่เห็นเรานึกถึงอะไร อย่างเรา เห็นก้อนหินนี้แล้วนึกถึงท้องฟ้าในคืนที่มืดจนมองเห็นแสงของดวงดาว เราคิดถึงความทรงจำวัยเด็กที่ได้ไปเชียงใหม่กับที่บ้าน ท้องฟ้าคืนนั้นมืดในแบบที่ไม่เคยเห็นที่บ้านเกิดของตัวเอง เหมือนจะเหงา แต่ก็อบอุ่น ทั้งที่ปีนั้นเชียงใหม่ยังหนาวอยู่ แต่เรากลับรู้สึกดีมากๆ เพราะในวัยนั้น เรายังมีโอกาสได้ไปสนุกแบบนั้น
ทั้งหมดนี้เกิดจากแค่มองกำไล?
ใช่ เกิดจากแค่มองสิ่งหนึ่ง ซึ่งนิยายเราก็จะเป็นประมาณนี้ คนที่ชอบก็ชอบ คนที่ไม่ชอบก็คงคิดว่า อธิบายว่ามันเป็นก้อนหินไปเลยได้มั้ย (หัวเราะ)
‘Y’
You Will Never Own Your Life
ในผลงานล่าสุด คุณเขียนไว้ที่ต้นเล่มว่า “สำหรับฉัน งานแบบพัทยาและมาหยานี่แหละคืองานที่ฉันอยากแต่ง” ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
หนึ่งคือนี่เป็นงานกระแสสำนึกที่ยาวที่สุดเท่าที่เราเคยเขียน พอเป็นกระแสสำนึก เราก็อยากเขียนอยู่แล้ว ยินดีมากๆ กับสองคือมันเป็นงานที่เราใช้คำว่า ‘เขียนเพื่อเขียน’ ก็คือไม่ได้คาดหวังตัวเงินหรือความโด่งดัง เราแค่อยากเขียนมันออกมา แค่นั้นเลย ซึ่งสารภาพนะว่า ไม่คิดนะว่าจะมีสำนักพิมพ์รับไป ก็ต้องขอบคุณทาง Salmon ด้วย
จริงๆ อยากให้เล่าเรื่องย่อของ พัทยาและมาหยา ใน 25 พยางค์ แต่ถ้าเกินก็ไม่เป็นไร
ไม่เกิน พอดีเราคิดมาน่ะ (ยิ้ม)
โห งั้นเต็มที่เลยครับ
“คนรักเก่าในรถที่มุ่งหน้าขึ้นเหนือ เส้นทางทอดยาว อดีตหนักหนา อนาคตจะเป็นอย่างไร” เท่านี้แหละ ครบ 25 พยางค์พอดี
แถมใจความครบถ้วนด้วย (หัวเราะ)
ใช่ ถ้าจะเอาให้ง่ายกว่านี้คือ แฟนเก่าที่นั่งรถไปเชียงใหม่ด้วยกัน จบแล้ว (หัวเราะ) เราว่ามันคือเรื่องราวที่เห็นทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต แฟนเก่าแปลว่าต้องเป็นเมื่อก่อน ปัจจุบันเราอยู่ในรถคันนี้ อนาคตคือจะไปเชียงใหม่ แล้วจะไปถึงมั้ย ไปแล้วจะดีหรือแย่ แล้วจะยังกลับมาด้วยกันรึเปล่า ก็เป็นสิ่งที่เราอยากลองสำรวจ
แล้วแอบคาดหวังให้คนอ่านได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้มั้ย
ตายแล้ว ยากจัง พูดแล้วกลัวจะดูหลงตัวเอง แต่ไม่หรอก มันเป็นข้อเท็จจริง ข้อแรกต้องบอกว่างานกระแสสำนึกที่คนไทยเขียนมีน้อยมาก เพราะฉะนั้น เรารู้สึกว่าแค่ได้เพิ่มจำนวนหนังสือประเภทนี้เข้าไปในตลาดก็คงช่วยให้คนไทยอ่านง่ายขึ้น เพราะมันไม่ต้องแปลต่อมาอีกทอด
แล้วก็ข้อสองคือ ตัวละครหลักทั้ง 2 ตัวในเรื่อง พวกเขาเคยคบกันในจุดที่คนหนึ่งโตกว่าอีกคนมากๆ เป็น 10 ปี เมื่อก่อนเราก็เคยอยู่ในความสัมพันธ์แบบนี้ ซึ่ง ณ วันนั้น เราไม่รู้ตัวเลยว่า เราถูกกดทับจนเลือกบางสิ่งบางอย่างไม่ได้ การเขียน พัทยาและมาหยา ในทางหนึ่งก็ช่วยให้เราปลดล็อกบางอย่างในตัวเอง ในเรื่องเราไม่ได้โทษว่าเป็นความผิดของใคร ทุกคนมีความอิหยังวะกันหมด แต่ใช่ มันจะได้เห็นว่าในบางความสัมพันธ์มี Power Dynamic (การใช้ความต่างของอำนาจเพื่อกดขี่อีกฝั่ง) แบบเอียงจัด เหมือนกับการขับรถเลยล่ะ
ก็คือคนขับได้คุมพวงมาลัย
ถ้าคนขับเด็กกว่า เขาจะได้คุมจริงรึเปล่า ความจริงสารตั้งต้นของเรื่องราวการขับรถเกิดจากตอนที่เราขับรถให้พ่อนั่ง ซึ่งเรารู้สึกว่า ทั้งที่เราเป็นคนขับนะ แต่ทำไมเรากลัว กลัวไปหมดเลย เรากลัวว่าจะทำอะไรผิด กลัวที่จะกลับรถทั้งที่ถ้าขับคนเดียวก็กลับได้อย่างมั่นใจ แต่พอนั่งกับคนที่โตกว่า เขาจะโตกว่าเสมอในความรู้สึกของเรา ตัวละครนี้ก็เหมือนกัน ฉันเป็นคนขับนะ แต่ทำไมถึงรู้สึกว่าฉันเลือกไม่ได้ แค่จะฟังเพลงที่ชอบในรถของตังเองยังทำไม่ได้เลย
งั้นในมุมหนึ่ง การขับรถที่มีคนที่โตกว่านั่งอยู่ด้วยก็คล้ายๆ กับการที่คุณเลือกเรียนหมอนะ
ก็เป็นไปได้ค่ะ (ยิ้ม)
‘S’
Sexual Fluidity
แทบทุกผลงานของ LADYS บอกเล่าประเด็นแซฟฟิกหรือความสัมพันธ์ระหว่างหญิงกับหญิง ทำไมสิ่งนี้ถึงสำคัญสำหรับคุณ
เรารู้สึกว่า มนุษย์คือความหลากหลาย และการถูกรับรู้ว่ามีอยู่ก็เป็นสิ่งสำคัญ เราเลยพยายามสร้างตัวละครหลายเพศ หลายสัญชาติ หลายฐานะ ซึ่งแซฟฟิกก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่เราอยากนำเสนอ ในชีวิตคนเรา เราไม่มีทางได้รู้จักกับทุกคนบนโลก เพราะฉะนั้น อย่างน้อยถ้าคนชายขอบได้ปรากฏบนหน้าวรรณกรรมบ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้เป็นตัวเอกด้วย มันคือการยืนยันว่าฉันมีตัวตนอยู่จริง
มากไปกว่านั้น เราเองก็เป็นนอนไบนารี่ แพนเซ็กชวล-แซฟฟิกคนหนึ่ง อย่างที่บอก เราถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความทรงจำและความรู้สึก ซึ่งข้อเสียของมันคือ ถ้าไม่รู้สึก เราจะเขียนไม่ได้ เราไม่สามารถเขียนตัวละครที่รวยล้นฟ้าได้ เพราะเราไม่ได้รวยล้นฟ้า เราจินตนาการไม่ออกว่าการมีเงินเยอะขนาดนั้นเป็นยังไง และก็เช่นกัน เรานึกภาพตัวละครที่ชอบแค่เพศเดียวไม่ออก เพราะเมื่อมองย้อนกลับไป ความรักของเราก็ไม่ได้มีแค่เพศเดียวแน่ๆ ตัวละครที่ออกมาเลยมีความลื่นไหลตามไปด้วย
แล้วการเปิดสำนักพิมพ์ของตัวเองอย่าง ลาดิดแอนด์มูนสเคป มีจุดประสงค์เพื่อช่วยขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลายด้วยหรือเปล่า
มันก็ซ่อนอยู่ในเป้าหมายแหละ แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นคำขวัญว่าฉันจะผลักดันเรื่องนี้ เราแค่คิดกันไว้ว่าจะพิมพ์งานที่เราเขียน แต่พอดีว่างานที่เราเขียนพูดถึงความหลากหลายทางเพศอยู่แล้ว ถามว่าถึงขนาดสร้างการผลักดันมั้ย อาจจะไม่ คงเกินมือสำนักพิมพ์เล็กๆ อย่างเราไปหน่อย แต่โอเค อย่างน้อยเราคงพยายามยืนยันว่าฉันมีตัวตนนะ
แล้วในฐานะนักเขียนนิยาย ภาพฝันของสังคมที่คุณไม่ได้อยากให้อยู่แค่เพียงบนหน้ากระดาษคืออะไร
เราคงต้องการเห็นตัวตนที่ถูกยอมรับโดยไม่มีข้อกังขา ตัวละครเราไม่ใช่คนดีนะ หมายถึงเราไม่เคยตีกรอบว่าตัวละครไหนต้องดีชั่วอย่างไร ไม่มีการบอกว่าจะเป็นนอนไบนารี่ก็ได้ แต่เธอต้องเป็นคนดี เรารู้สึกว่า การจะเป็นอะไรสักอย่างมันอยู่นอกเหนือคำว่า ‘ต้อง’ จริงๆ แล้วมันคือไม่กี่สิ่งในโลกนี้ที่เราเลือกได้ เราเองอาจจะอยากเป็นคนขาวก็ได้ งานเราคงง่ายกว่านี้มากถ้าเราเป็นคนขาว แต่แน่นอนว่าเราเลือกไม่ได้ แต่การบอกว่า ฉันอยากเป็นนอนไบนารี่ มันไม่ได้หนักหัวใคร ไม่ทำให้ใครลำบากเลย และเราก็ไม่อยากให้ใครต้องมาพิสูจน์อะไรด้วย อย่างตัวละครที่เราเขียน เปิดเรื่องมาก็เรียกตัวเองว่า ‘ผม’ แต่พูด‘ค่ะ’ ได้ เพราะงั้นถ้าถามว่าอยากจะเห็นอะไร คำตอบคงเป็นเรื่องพื้นฐานอย่างการให้ทุกคนหยุดกังขาในตัวตนของคนอื่นสักที นี่น่าจะเป็นสิ่งที่เราอยากเห็นมั้ง (นิ่งไป) ไม่ใช่มั้ง อยากเห็นมากๆ ในโลกความเป็นจริง
มาถึงคำถามสุดท้าย ที่จริงๆ ควรจะถามตั้งแต่แรก ทำไมใช้นามปากกาว่า LADYS
เดิมทีเราใช้นามปากกาว่า LADY’S LADY ใช้มาตั้งแต่ม.ต้นมั้ง เพิ่งมาเปลี่ยนประมาณ 2 ปีนี้เอง เราเปลี่ยนเพราะเริ่มรู้สึกว่าตัวเราที่เราเห็นไม่ได้เป็นผู้หญิงขนาดนั้น จริงอยู่ที่หลายคนอาจมองว่า ‘LADY’ ก็สื่อถึงผู้ชายได้ แต่ความรู้สึกที่เรามีต่อตัวเอง คำคำนี้ดูผู้หญิงเกินไป เราต้องการอะไรที่ดูเป็นเพศกลางมากขึ้น ก็เลยเอาตัวอักษรมาเรียง เราไม่ได้อยากตั้งชื่อใหม่ ยังอยากได้ชื่อเก่า แต่เธอช่วยเป็นผู้หญิงน้อยลงได้มั้ย สุดท้ายก็ได้เป็น L-A-D-Y-S ซึ่ง ‘DYS’ ในทางการแพทย์ บางครั้งก็สื่อถึงความแปลกแยก ผิดปกติด้วย ซึ่งเราว่าก็โอเคมั้ง ผิดๆ เพี้ยนๆ นิดๆ
ดูเหมาะกับคุณนะ ไม่ใช่ความเพี้ยน แต่หมายถึงความเป็นกลางทางเพศที่คุณตั้งใจจะสื่อ (ยิ้ม)
เหรอ (ยิ้ม) ถ้าเป็นแบบนั้นก็ดีเลย