ในการเดินทาง เราจะสามารถเรียนรู้เรื่องราวของผู้คนและวัฒนธรรมของสถานที่นั้นๆ ได้จากอะไรบ้าง? ร้านอาหาร จุดชมวิว สถานที่ธรรมชาติ หรือร้านเครื่องเขียน..
พูดแบบนี้หลายคนคงสับสน งงงวยกันนิดหน่อย ว่าร้านเครื่องเขียนจะทำให้เรารู้จักผู้คนและวัฒนธรรมของสถานที่ไม่เคยไปเยือนได้อย่างไร แบบนี้เราคงต้องขอให้หนังสือ ‘ร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉัน’ เป็นคำตอบของคำถามนั้น
เพราะหนังสือกึ่งไกด์บุ๊กเล่มนี้ได้บันทึกความทรงจำ บทสนทนา และบรรยากาศระหว่างการไปเยือนร้านเครื่องเขียนอิสระของไทย ผ่านสายตาชาวเกาหลีอย่าง ‘ฮั่น—อี ฮยอนคยอง’ กราฟิกดีไซน์เนอร์ผู้หลงใหลในอุปกรณ์เครื่องเขียน พร้อมถ่ายทอดมุมมองที่มีต่อร้านค้าเล็กๆ เหล่านี้ออกมาอย่างอบอุ่น
เดิมทีฮั่นมีร้านเครื่องเขียนเป็นสถานที่ฮีลใจมาตลอด ตั้งแต่เด็กจวบจนวัยทำงาน ตั้งแต่เกาหลีจนถึงไทย เรียกได้ว่าร้านเครื่องเขียนอยู่กับเธอในทุกช่วงเวลาของชีวิต และเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอรู้จักวัฒนธรรมและผู้คนใหม่ๆ โดยมีร้านสารพัดอุปกรณ์เป็นตัวขีดเขียนเรื่องราวให้เธอ
เมื่อปี 2022 ฮั่นรวบรวมร้านเครื่องเขียนอิสระทั่วประเทศไทย และตีพิมพ์ในภาษาเกาหลี ในชื่อ ‘ร้านเครื่องเขียนไทย’ (태국문방구) ผลตอบรับดีเกินคาด ไม่เฉพาะชาวเกาหลีเท่านั้น ชาวไทยเองแม้จะอ่านภาษาเกาหลีไม่ออก แต่ก็ต้องซื้อมาเก็บไว้ ถึงจะเป็นร้านเครื่องเขียนในความทรงจำของใครหลายคน แต่พอถูกเล่าผ่านสายตาของคนต่างชาติก็ทำให้เห็นสิ่งที่ไม่เคยสังเกตมาก่อนด้วยเช่นกัน
ผ่านไป 2 ปี ในวันที่หนังสือเล่มนี้ถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยสำนักพิมพ์แซลมอนบุ๊กส์และเพิ่งวางขายไปในงานหนังสือแบบสดๆ ร้อน The MATTER จึงได้ชวนฮั่นมาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้นความหลงใหลในเครื่องเขียน แรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือ เสน่ห์ของร้านเครื่องเขียนไทย ไกลไปถึงที่ทางของร้านเครื่องเขียนไทยในวันที่ทยอยปิดตัวลง
ช่วงเวลาราว 6 ปีที่อยู่ไทย บวกกับการเรียนภาษาไทยอย่างตั้งใจ ทำให้บ่ายวันนั้นฮั่นพูดคุยกับเราเป็นภาษาไทยได้อย่างสบายใจ และมักเอ่ยคำว่า ‘ดีใจมาก’ ‘น่าสนใจมาก’ ทุกครั้งเมื่อได้พูดถึงเครื่องเขียนที่เธอรัก
พื้นที่ปลอดภัยในร้านเครื่องเขียน
“คุณพ่อคุณแม่บอกว่าตอนเด็กๆ ฮั่นจับดินสอเป็นอย่างแรก” ฮั่นเล่าพลางหัวเราะ ย้อนกลับไปถึงพิธีโทลจาบี (돌잡이) พิธีเสี่ยงทายของเกาหลีที่จะให้เด็กอายุ 1 ขวบ จับสิ่งของที่วางเรียงอยู่บนผ้า เพื่อทำนายว่าเมื่อโตขึ้นเด็กๆ จะได้ประกอบอาชีพอะไร หรือประสบความสำเร็จด้านไหน เธอบอกว่าบนผ้านั้นมีทั้ง เครื่องช่วยฟังสำหรับคุณหมอหรือสเต็ทโตสโคป ไมค์โครโฟน มือถือ และดินสอ แน่นอนว่าฮั่นจับดินสอ และอาจเป็นเครื่องเขียนชิ้นแรกที่เธอรู้จัก
“ตอนเด็กๆ ชอบวาดรูป แล้วก็เขียนอะไรก็ได้ เลยสะสมพวกเครื่องเขียน ปากกา ดินสอ เลยชอบไปที่ร้านเครื่องเขียนทุกวัน ก่อนไปโรงเรียนก็ไปหลังเลิกเรียนก็ไปอีก ได้ไปกับเพื่อนๆ หลายคน สนุกมากๆ”
หากบางคนมีสวนสาธารณะ คาเฟ่ แกลเลอรี่ หรือคอนเสิร์ตเป็นที่พักผ่อน สำหรับฮั่นก็คงเป็นร้านเครื่องเขียน นอกจากจะเป็นสถานที่ที่รู้สึกผูกพันตั้งแต่เด็กแล้ว พอถึงวัยทำงาน ร้านเครื่องเขียนยังเป็นเหมือนโลกอีกใบที่ทำให้เธอรู้สึกผ่อนคลายด้วย
“ทุกวันนี้เวลาทำงานเหนื่อยๆ จะไปร้านเครื่องเขียน ว่ามีสินค้าใหม่ๆ อะไร สนุกมากๆ พอได้ไปก็จะรู้สึกผ่อนคลาย” ฮั่นบอก ไม่ใช่แค่ช่วงเวลาที่ได้ขลุกในร้านเครื่องเขียนเท่านั้น แต่เวลาได้ลองใช้เครื่องเขียนก็ทำให้ฮั่นรู้สึกสบายใจด้วยเช่นกัน จนถึงขนาดถ้ามีเครื่องเขียนที่ชอบเธอจะซื้อมา 2 ชิ้นเลยทีเดียว
“ถ้าเราชอบชิ้นไหนจะซื้อ 2 อัน อันหนึ่งไว้ใช้ อีกอันไว้เก็บ (หัวเราะ) ก็เลยเต็มบ้านแล้ว เราใช้เครื่องเขียนตอนเขียนไดอารี่ ว่าวันนี้คิดอะไร วันนี้รู้สึกยังไง พรุ่งนี้ทำอะไร ต้องใช้เครื่องเขียนหลายๆ อย่าง เหมือนเป็นช่วงเวลาที่เราได้ผ่อนคลาย”
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ฮั่นเริ่มชอบร้านเครื่องเขียนในไทย ย้อนกลับไปราว 5-6 ปีก่อน หลังจากแต่งงานกับสามีชาวไทย ฮั่นตัดสินใจย้ายมาอยู่ที่ไทยด้วยแม้ว่าจะไม่มีเพื่อน หรือพูดภาษาไทยไม่ได้เลยสักคำ ความเหงาปนโดดเดี่ยวทำให้ฮั่นตัดสินใจเรียนภาษาไทย เพื่อที่ทำให้เธอเข้าใจสิ่งที่คนอื่นสื่อสารมากขึ้น เริ่มออกสำรวจร้านเครื่องเขียนอิสระรอบๆ กรุงเทพฯ และนั่นทำให้ฮั่นได้พบที่ทางและได้กลับมาเป็นตัวเองอีกครั้ง
“ตอนที่ย้ายมาจากเกาหลีไม่มีเพื่อนเลย มีแค่ครอบครัวสามี รู้สึกเหงาทุกวัน อ่านหรือพูดภาษาไทยไม่ได้เลย คิดว่าจะทำยังไงกับชีวิตดี กลับเกาหลีดีไหม เลยไปลงเรียนภาษาไทย เรียนเสร็จแล้วก็ไปร้านเครื่องเขียนทุกวัน ร้านเครื่องเขียนทำให้มีกำลังใจอยู่ต่อ
“ฮั่นชอบไปแถวๆ เจริญกรุง เยาวราช เลือกไม่ได้ว่าชอบที่ไหนมากที่สุด เพราะชอบทุกที่เลย แต่ถ้าให้เลือกจะแนะนำร้าน ‘นานมี’ อายุประมาณ 50 ปี ที่นี่มีสินค้าเยอะมากๆ สินค้าเก่า ระบบก็เก่าเหมือนกัน ไม่มีบาร์โค้ด เขียนมือทุกอย่าง แวะไปประมาณ 50 ครั้งได้ ไปครั้งแรกคุณป้าไม่ค่อยชอบ เพราะเขาบอกว่าถ่ายรูปไม่ได้นะ แต่ตอนนี้ไปจนสนิทแล้ว (ยิ้ม) พอไปก็จะทักทาย เช่น สวัสดีค่ะ วันนี้สบายดีไหม รู้จักกันแล้วก็รู้สึกอบอุ่นใจ”
ตกหลุมรักเสน่ห์ร้านเครื่องเขียนไทย
สำหรับกราฟิกดีไซน์เนอร์อย่างฮั่น สิ่งที่เธอสนใจเวลาไปร้านเครื่องเขียนมีอยู่ 3 ข้อคือ หนึ่งดูแพคเกจจิ้งดีไซน์ สองได้เรียนรู้วัฒนธรรม และสามอัปเดตสินค้าใหม่ๆ
“ถ้าไปร้านเครื่องเขียนไทยจะสนใจแพคเกจจิ้งดีไซน์ที่สุด แต่ละยี่ห้อจะมีดีไซน์ไม่เหมือนกัน ฟ้อนต์ภาษาไทย สีหรือเลย์เอาต์ไม่เหมือนกันเลย แต่ถ้าไปร้านเครื่องเขียนต่างประเทศ อย่างเกาหลีหรือญี่ปุ่นจะสนใจว่าสินค้าใหม่ๆ มีอะไรบ้างที่ต้องเก็บ ส่วนถ้าไปที่ยุโรปต้องไปหาร้านเครื่องเขียนเก่าๆ เพราะว่าที่ยุโรปจะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ภาษาหรือฟ้อนต์เป็นยังไง อยากรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมด้วย”
คนไทยอย่างเราอาจเคยเข้าใจเครื่องเขียนไทยมีไม่กี่แบรนด์ หรือคุณภาพไม่เทียบเท่ากับต่างประเทศ แต่สำหรับฮั่น ที่คลุกคลีกับร้านเครื่องเขียนมานานเธอแก้ความเข้าใจผิดนี้อย่างรวดเร็ว และเสริมว่าอันที่จริงแบรนด์เครื่องเขียนไทยก็ใช้ดีไม่แพ้กัน
“เปรียบเทียบกับประเทศอื่น ประเทศไทยก็มีเครื่องเขียนเยอะเหมือนกัน ซื้อเก็บไว้ที่บ้านเต็มหมดแล้ว (ยิ้ม) อย่างร้านนานมี แถวเจริญกรุง ที่นี่มีดินสอหลายๆ อย่าง พู่กัน ยางลบ กระดาษ เยอะมาก มีเครื่องเขียนแบรนด์เช่น ตราม้าหรือแลนเซอร์
“คุณภาพของเครื่องเขียนไทยก็โอเค เพราะเราก็ซื้อทั้งหมด ลองมาเยอะมากๆ ตอนนี้เราก็ใช้เครื่องเขียนไทยทุกวัน ชอบแลนเซอร์มากที่สุด ตอนเรียนภาษาไทยปากกานี้ดีมากๆ เหมาะกับตัวอักษรภาษาไทยหัวกลมๆ”
นอกจากดีไซน์และคุณภาพการใช้งานแล้ว สิ่งที่ฮั่นชอบที่สุดในร้านเครื่องเขียนไทยคือสิ่งของอื่นๆ ที่วางขายอยู่ในร้าน เพราะทำให้เธอได้เรียนรู้วัฒนธรรมไทยด้วย ฮั่นหยิบหนังสือ พลางชี้ไปที่รูปภาพในเล่มที่เธอได้เจอมา มีทั้งเครื่องหมายตราลูกเสือ ขนมวัยเด็ก รูปดาราสมัยก่อน ชุดสังฆทาน หรือชุดไหว้เจ้าจีน ที่ทำให้เห็นว่าร้านเครื่องเขียนแต่ละที่ก็ขายของแตกต่างกันไปแต่ละชุมชน
“ร้านเครื่องเขียนทำให้ได้รู้จักวัฒนธรรมไทยเยอะมากๆ สมมุติว่าถ้าไปที่ร้านเครื่องเขียนในมหาวิทยาลัยที่จุฬาหรือที่ธรรมศาสตร์ ก็จะได้เจอชีวิตมหาวิทยาลัยของไทย น่าสนใจมากๆ หรือถ้าไปร้านเก่าๆ ก็เจอรูปดาราเก่าๆ หรือได้เจอเกมเศรษฐี หรืออันนี้เจอเครื่องไหว้เจ้า เป็นการผสมวัฒนธรรมไทย-จีน ไม่ใช่แค่ร้านเครื่องเขียน แต่เรายังได้เห็นการผสมผสานวัฒนธรรมในร้านนี้ด้วย
“ฮั่นชอบร้านเครื่องเขียนเก่าๆ มาก เพราะมีเรื่องราวความเป็นมาเยอะมาก เมื่อก่อนอาจจะชอบเครื่องเขียน แต่ตอนนี้ชอบเรื่องราวในนั้นมากกว่า เพราะว่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ค่อยได้เห็นที่อื่น” ฮั่นสรุป
หนังสือเล่มแรกที่ว่าด้วยร้านเครื่องเขียนไทย
ความสนุกของการสำรวจร้านเครื่องเขียนไม่ได้จบเฉพาะในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่เรื่องราวและผู้คนในร้านเล็กๆ เหล่านี้เป็นแรงผลักดันให้ฮั่นอยากลองออกไปเยือนร้านเครื่องเขียนในต่างจังหวัดด้วย
“ช่วงแรกเราโพสต์ลงอินสตาแกรมแล้วก็เฟซบุ๊กหลายคนก็สนใจมาก เพราะไม่เคยเห็นร้านเครื่องเขียนไทยแบบจริงจังแบบนี้ เลยตั้งใจว่าอยากไปต่างจังหวัด เริ่มจากสงสัยว่าร้านเครื่องเขียนไทยในต่างจังหวัดจะเป็นยังไง ก็เลยไปวันเสาร์-อาทิตย์ ”
แต่ละจังหวัดนอกจากจะได้รับคำแนะนำจากคนในพื้นที่แล้ว เช่น จังหวัดขอนแก่น บ้านเกิดสามี ก็ได้ครอบครัวช่วยกันแนะนำว่าเธอควรไปที่ไหน ฮั่นยังลองรีเสิร์ชด้วยตัวเอง ทั้งจากกูเกิล บทความบนเว็บไซต์แหล่งต่างๆ เป็นภาษาไทย ไถ่ถามจากเพื่อนคนไทย รวมไปถึงคนที่ติดตามเธอบนโซเชียลมีเดียที่รู้ว่าเธอชอบไปร้านเครื่องเขียนก็มักส่งข้อความมาแนะนำร้านในจังหวัดอื่นๆ เช่น สงขลา นครปฐม หรือชลบุรีด้วย
“ในเล่มแนะนำเครื่องเขียนประมาณหนึ่ง แต่จริงๆ ฮั่นไปร้านเครื่องเขียนประมาณ 50-60 ที่ได้ รีเสิร์ช 2 ปี บางร้านในเล่มตอนนี้ก็ปิดไปแล้ว พอเริ่มรู้จักร้านเครื่องเขียนเยอะมากแล้ว เลยกำลังคิดว่าเขียนต่อเล่มที่ 2 ดีไหม” พูดจบฮั่นก็หัวเราะแก้เขิน แต่ในใจเราแอบหวังให้เล่ม 2 เกิดขึ้นจริง
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับหนังสือรวมร้านเครื่องเขียนเล่มนี้ ฮั่นบอกว่าเพราะเป็นหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทยที่ไม่เคยเห็นที่ไหนมาก่อน แตกต่างจากหนังสือแนะนำปกติ จนได้รับความสนใจจากคนเกาหลีและไทย แม้จะเป็นภาษาเกาหลีแต่ก็ได้วางขายในร้านขายหนังสืออิสระในไทย ทั้ง Vacilando Bookshop และ Note a Book ที่เชียงใหม่
“ภาษาเกาหลีตีพิมพ์เมื่อประมาณ 2 ปีก่อน คนอ่านเกาหลีสนใจมากๆ เลย เพราะว่าเมื่อก่อนหนังสือเกี่ยวกับไทยจะเป็นไกด์บุ๊กเฉพาะ แนะนำร้านค้า ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านนวด แต่ไม่เคยหนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ผ่านร้านเครื่องเขียนแบบนี้ หนังสือเล่มนี้ไม่ใช่แค่ไกด์บุ๊กเฉยๆ แต่มีความเรียงบันทึกความรู้สึกตอนที่อยู่ที่เมืองไทยด้วย
“ถึงเล่มนี้จะเป็นภาษาเกาหลี แต่ไม่เคยคิดเลยว่าคนไทยจะชอบมากๆ คนไทยบอกว่าไม่เคยเห็นเกี่ยวกับเครื่องเขียนแบบนี้เลย มีหลายคนก็ยังไม่รู้ว่ามีร้านเครื่องเขียนดีๆ เก่าๆ เยอะมาก มีเรื่องราวและอบอุ่นใจด้วย เลยอยากเขียนให้คนไทยรู้ด้วย
“เมื่อ 2 ปีก่อนคิดว่าต้องแปลภาษาไทยไหมนะ แต่คิดว่าต้องแปล เพราะเพื่อนไทยหลายๆ คนอ่านแล้วก็สนุกดี แต่ถึงอ่านไม่ได้ก็อยากเก็บหนังสือไว้ หลายๆ คนเปิดหนังสือแล้วก็ใช้ google translate ด้วย แต่ฉันเห็นว่าแปลผิด ถึงจะรู้สึกขอบคุณแต่ก็เสียใจมาก เลยตั้งใจแปลภาษาไทยดีกว่า” ฮั่นอธิบาย
ในที่สุดใช้เวลาประมาณ 1 ปี หนังสือร้านเครื่องเขียนไทยใกล้ฉันก็ถูกแปลเป็นภาษาไทยให้ทุกคนได้ไปตามรอยร้านเครื่องเขียนในตำนานกันแล้ว
หากร้านเครื่องเขียนหายไปเรื่องเล่าก็หายไปด้วย
การใช้เครื่องเขียนน้อยลง รวมถึงร้านค้าที่ย้ายไปบนออนไลน์ทำให้ร้านเครื่องเขียนอิสระค่อยๆ ทยอยปิดตัวลง สำหรับคนรักและผูกพันเครื่องเขียนแล้ว การปิดตัวลงของร้านเหล่านี้ทำให้รู้สึกเศร้าอย่างน่าใจหาย
“ช่วงนี้ร้านเครื่องเขียนที่เมืองไทยปิดตัวลงเยอะมาก ตั้งแต่โควิด ที่เกาหลีหรือทุกประเทศก็เหมือนกัน เพราะตอนนี้วัยรุ่นไม่ค่อยใช้ดินสอกับปากกา แต่ใช้ไอแพด หรืออุปกรณ์ต่างๆ
“นักเรียนที่เกาหลี ต้องซื้ออุปกรณ์เครื่องเขียนต้องสั่งที่ออนไลน์เพราะสะดวกแล้วก็ถูกกว่า ร้านออฟไลน์ก็เลยปิดตัวลง พ่อแม่ที่เกาหลีส่วนใหญ่จะออกไปทำงานกันทั้งสองคน เพราะค่าครองชีพสูง เลยไม่มีเวลาไปซื้อร้านเครื่องเขียน บางทีโรงเรียนก็เลยซื้อหรือสั่งให้พ่อแม่แทน”
ฮั่นบอกว่าสิ่งที่เสียดายที่สุดเมื่อร้านเครื่องเขียนปิดตัว คือการที่คนรุ่นใหม่จะไม่ได้รับรู้เรื่องราวที่ผูกติดกับร้านเครื่องเขียนอีกต่อไปแล้ว
“ร้านเครื่องเขียนเก่าๆ ทุกที่ที่ปิดตัวเรารู้สึกเสียดายจริงๆ เพราะว่าร้านเครื่องเขียนเก่าจะมีประวัติศาสตร์ ถ้าปิดไปแล้ว วัยรุ่นสมัยนี้จะไม่รู้ว่าเครื่องเขียนมีที่มาที่ไปยังไง มีประวัติศาสตร์ยังไง ร้านเครื่องเขียนไทยที่ฮั่นรู้สึกเสียดายคือร้าน ‘มูฮัมหมัด’ ชอบที่นี่มากๆ เจ้าของร้านสืบทอดมา 3 รุ่นแล้ว แต่ในที่สุดก็ปิดตัวในเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ ที่นี่มีเครื่องเขียนเก่าๆ เยอะเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์มากๆ
“ถึงร้านเครื่องเขียนจะมีสินค้าก็เหมือนกัน ดินสอ ยางลบ กระดาษ แต่ว่าร้านเครื่องเขียนแต่ละที่มีเรื่องราวไม่เหมือนกัน ร้านเครื่องเขียนที่หาดใหญ่มีร้านเครื่องเขียนเล็กๆ แต่มีเรื่องราวเกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ลูก แล้วก็มีเรื่องการดูแลเครื่องเขียนยังไงด้วย มีแพคเกจจิ้งดีไซน์ไม่เหมือนที่อื่น พอปิดตัวลงเรื่องราวเหล่านี้ก็หายไปด้วย”
นอกจากแผนการลับๆ อย่างเขียนหนังสือรวมร้านเครื่องเขียนเล่ม 2 แล้ว อีกหนึ่งความฝันของฮั่นคือการได้เป็นเจ้าของร้านเครื่องเขียนของตัวเองด้วย เธอบอกว่าสิ่งที่น่าจะทำให้ร้านเล็กๆ อยู่รอดในยุคนี้อาจเป็นการสร้างเรื่องเล่า และคอมมูนิตี้สำหรับคนรักเครื่องเขียนขึ้นมา นอกเหนือไปจากการขายสินค้าเพียงอย่างเดียว
“ฮั่นตั้งใจอยากเปิดร้านเครื่องเขียน แล้วก็รีเสิร์ชไว้เยอะมากๆ แต่ถ้าเปิดร้านเครื่องเขียน คิดว่าคงไม่ใช่แค่ร้านที่มาซื้อสินค้าอย่างเดียว แต่ต้องมีเวิร์กช็อปด้วย มีเรียนภาษาไทย-ภาษาเกาหลี รวมถึง เกี่ยวกับวัฒนธรรม และ typography ด้วย มีดีไซเนอร์ ครีเอเตอร์ นักเขียน ทั้งชาวเกาหลี ชาวไทย ชาวญี่ปุ่นหลายๆ คนมาร่วมกันทำโปรเจ็กต์คงสนุกมาก อยากเปิดคอมมูนิตี้ค่ะ” ฮั่นทิ้งท้ายถึงแผนการในอนาคตด้วยสายตาเป็นประกาย