ท่านเคานต์แดร็กคิวล่า ไม่ใช่แวมไพร์ตนแรกในโลกวรรณกรรม แต่เป็นแวมไพร์ที่ผู้คนจดจำได้มากที่สุดตนหนึ่ง
ชื่อเฉพาะทั้ง 2 อย่าง ‘แวมไพร์’ และ ‘แดร็กคิวล่า’ อาจกลายเป็นคำที่ไม่อาจแยกจากกันได้ในห้วงความคิดแรกที่นึกถึงขึ้นมา เมื่อภาพของแวมไพร์ถูกทาบทับด้วยภาพชายหนุ่มสูงวัย ผิวซีดเผือด นอนในโลงศพ ตัวละครเอกจากผลงานสร้างชื่อของแบรม สโตกเกอร์ (Bram Stoker) ในเรื่อง Dracula จนเราอาจกล่าวได้ว่า แวมไพร์ของแบรมนั้น ได้กัดกินผู้คนทั่วโลกจนทรงอิทธิพลเหนือกาลเวลาราวกับไม่เคยหายไปจากโลกใบนี้
เรื่องราวสุดคลาสสิกอย่าง ‘Dracula’ ตีพิมพ์ในปี 1897 โดยแบรม สโตกเกอร์ นักเขียนชาวไอริช ผู้ชื่นชอบการเดินทางเพื่อสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ๆ แม้จะไปไม่เคยเดินทางไป Transylvania แต่เขาสามารถหยิบยืมตัวตนของ Vlad the Impaler กษัตริย์นักรบแห่งโรมาเนีย บุตรชายแห่ง Vlad Dracul มาสร้างเป็นแวมไพร์ตนใหม่ ผู้มีหมุดหมายเป็นการเดินทางไปยังลอนดอน
แต่ข้อสันนิษฐานจากบางแหล่งเชื่อว่า ช่วงเวลาที่เขาเฝ้าเทียวเข้าเทียวออกห้องสุมดลอนดอน เพื่อค้นหาข้อมูลประกอบการเขียนนั้น ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจจาก ‘The Land Beyond the Forest: Facts, Figures, and Fancies from Transylvania’ งานเขียนของเอมิลี่ เจอราร์ด (Emily Gerard) นักเขียนชาวสก็อต ที่บอกเล่าความเชื่อพื้นถิ่นในเมืองทรานซิลวาเนีย ที่หลังจากนี้ผู้คนจดจำว่าเป็นเมืองต้นกำเนิดแวมไพร์
แวมไพร์สูงศักดิ์ในปราสาทลึกลับ ทนายความ เจ้าสาวทั้ง 3 การเดินทางเหนือน่านน้ำ ห้วงนิทราในโลงศพ ดินจากบ้านเกิด และมือปราบมาร วัตถุดิบชั้นดีที่ถูกนำมาปรุงใหม่นับจานไม่ถ้วน ทั้งในโลกวรรณกรรม จอแก้ว จอเงิน ชื่อของท่านเคานต์ไม่เคยจากไปไหน
แม้จะถูกนำไปตีความใหม่บ้าง ปรับเนื้อหาไปตามใจผู้สร้างบ้าง แต่ตราบใดที่ยังเป็นตัวละครท่านเคานต์ เราจะยังจดจำได้เสมอว่าสิ่งนี้มีรากมาจากไหน เลยอยากชวนมาลองทำความรู้จัก 7 วรรณกรรม หนัง ซีรีส์ ได้รับอิทธิพลจากงานชิ้นเอกของแบรม สโตกเกอร์นี้กัน
‘Salem’s Lot (1975)
Written by Stephen King
ผลงานชิ้นที่ 2 ของนักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เป็นอีกหนึ่งรากฐานสำคัญของวงการสยองขวัญและไซไฟ เรื่องราวของนักเขียนหนุ่มเดินทางกลับบ้านเกิดที่เขาเคยใช้ชีวิตวัยเด็กสั้นๆ ในรอบหลายสิบปี เพื่อหลีกลี้หนีความวุ่นวายมาหาไอเดียใหม่ๆ สำหรับผลงานชิ้นต่อไปของเขา
แต่เมื่อกลับมาถึงยัง Jerusalem’s Lot กลับพบว่าหมู่บ้านอันแสนสงบถูกบุกรุกโดยแวมไพร์ ผู้แฝงตัวมาในคราบของคนต่างถิ่นหน้าใหม่ มาตั้งรกรากพร้อมเครื่องเรือนโบราณ ใครมันจะน่าสงสัยไปได้มากกว่านี้อีกล่ะ
เรื่องราวนี้ถูกดัดแปลงไปสร้างเป็นซีรีส์และภาพยนตร์ในชื่อเดียวกันหลากต่อหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2024 ที่ผ่านมา เรื่องนี้กลับสู่จอแก้วอีกครั้งในชื่อเดิม แถมยังได้โปรดิวเซอร์อย่างเจมส์ วาน (James Wan) ลูกรักชาวสยองขวัญมาดูแลการถ่ายทำอีกด้วย
Anno Dracula (1992)
Written by Kim Newman
อีกหนึ่งการตีความใหม่ที่แตกแขนงเรื่องราวของตัวเองได้อย่างแข็งแรง โดยเรื่องราวยังคงอยู่ในลอนดอน แต่ขยับช่วงเวลาออกจากวิคตอเรียนมาเล็กน้อย เมื่อไม่มีใครเอาชนะเจ้าแห่งแวมไพร์ได้ แม้แต่มือปราบมารอย่างแวนเฮลซิ่ง (แบบฉบับหมอผี ไม่ใช่อย่างในภาพยนตร์ดัง) ก็ยังต้องพ่ายไป
จนแดร็กคิวล่าได้ครองอังกฤษ ผ่านการแต่งงานกับราชินีม่ายวิคตอเรีย เหล่าแวมไพร์ลูกกระจ๊อกที่เคยอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ ก็ออกมาผงาดด้วยชนชั้นทางสังคมที่ยกระดับขึ้นมาแต่ทุกอย่างก็ไม่ง่ายดั่งใจนึก เมื่อนักฆ่าปริศนา Jack the Ripper ออกตระเวนปลิดชีพแวมไพร์โสเภณี ดั่งเชือดไก่ให้ลิงดู ว่าเหล่าแวมไพร์นั้นไม่อาจอยู่ร่วมกับคนทั่วไปได้
เรื่องนี้มีการหยิบยืมตัวละคร บุคคลที่มีอยู่จริง มาเล่าเรื่องใหม่ในฉากหลังลอนดอน ซึ่งเล่มนี้เป็นเพียงปฐมบทเท่านั้น ยังมีเรื่องราวต่อจากนี้อีกนับนิ้วมือไม่หมด ให้เราได้ลองโลดแล่นในโลกที่แวมไพร์ขึ้นเป็นใหญ่
Bram Stoker’s Dracula (1992)
Directed by Francis Ford Coppola
หากถามว่าแดร็กคิวล่าในภาพยนตร์เรื่องไหนที่อยู่ในความทรงจำของผู้คนมากที่สุด เชื่อว่าเวอร์ชั่นนี้จะติดอยู่ในคำตอบอันดับต้นๆ ภาพยนตร์ที่หยิบเอาทั้งชื่อผลงานและผู้เขียนมาแบบ 100% เอาให้รู้กันไปเลย แบบไม่ต้องเฉลยว่าได้แรงบันดาลใจจากไหน
แม้เรื่องนี้อาจแตกต่างจากงานเขียนต้นฉบับในรายละเอียดบางอย่าง แต่พล็อตหลักยังคงดำเนินตามแบบไม่ออกนอกทางสักเท่าไหร่ ทนายหนุ่มเดินทางมาเยือนปราสาทลึกลับ รับบทโดยคีอานู รีฟส์ (Keanu Reeves) วัยละอ่อน และอีกหนึ่งภาพจำจากภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างแกรี โอลด์แมน Gary Oldman ที่เล่นเป็นท่านเคานต์ทรงเสน่ห์ได้สมกับที่มีพลังดึงดูดลึกลับ
Nosferatu: A Symphony of Horror (1922)
Directed by F.W. Murnau
ภาพยนตร์เงียบที่เป็นต้นแบบความสยองขวัญแห่งยุค กับฉากท่านเคานต์ฉายเงาไปยังผนัง ด้วยรูปร่างงองุ้ม หันใบหน้าซีดเผือด ตาเบิกโพลง ที่ยังคงหลอกหลอนผู้ชมได้จนถึงวันนี้
แม้จะเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน แต่ด้วยปัญหาด้านลิขสิทธิ์ที่ไม่ลงตัว ทำให้ผู้กำกับต้องเลือกเปลี่ยนชื่อตัวละครในเรื่องทั้งหมดเพื่อเลี่ยงปัญหา จาก Count Dracula เป็น Count Orlok ถึงอย่างนั้นก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากคดีความไปได้ ภรรยาม่ายของแบรม ได้ฟ้องร้องผู้กำกับ จนต้องทำลายภาพยนตร์ชิ้นนี้ไป แต่ก็มีบางส่วนที่หลุดรอดมาได้ และปัจจุบันภาพยนตร์เรื่องนี้ได้กลายเป็น สาธารณะสมบัติ (Public Domain) เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ กำลังจะมีเวอร์ชั่นใหม่เข้าฉายในไทยเดือนกุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ แฟนสยองขวัญห้ามพลาด
The Last Voyage of the Demeter (2023)
Directed by André Øvredal
เราอาจจะคุ้นเคยกับเรื่องราวที่ท่านเคานต์เป็นตัวเอก เปิดเรื่องมาด้วยการหลอกล่อ เกลี้ยกล่อมทนายความหนุ่มในปราสาทดำมืด จนเรื่องราวไปจบบนผืนแผ่นดินลอนดอน
แต่เรื่องนี้เลือกหยิบเอาบางส่วนจากงานเขียนมาเล่า ดัดแปลงจากเนื้อหาในช่วงบันทึกของกัปตัน เล่าถึงการเดินทางข้ามมหาสมุทรของท่านเคานต์ ที่ต้องซ่อนตัวในโลงและดินจากบ้านเกิด มาขยายเป็นเรื่องราวการเดินทางได้อย่างน่าสนใจ
ถามว่าสิ่งนี้เป็นการตีความใหม่สุดล้ำเลยหรือเปล่า คำตอบก็คงเป็นไม่ใช่เสียทีเดียว แต่ความสนุกอยู่ที่การเลือกหยิบเหตุการณ์สั้นๆ ที่เรื่องอื่นๆ ก็เคยเล่ามาแล้ว มาขยายเป็นเรื่องราวระทึกเหนือน่านน้ำได้ในความยาว 2 ชั่วโมงเต็ม ส่วนการปรุงรสนี้จะถูกปากหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยากเชิญให้มาชิมด้วยตัวเอง
Dracula (2013–2014)
มาที่ฝั่งจอแก้วกันบ้างกับอีกหนึ่งเวอร์ชั่นที่รับรองว่าถูกใจชาวโกธิก กับท่านเคานต์ที่ไม่ได้เป็นแค่ชายสูงศักดิ์ลึกลับ แต่มาในคราบของนักลงทุนชาวอเมริกัน ผู้นำเทคโนโลยีมาสู่ยุควิคตอเรียน ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าหยิบยืมคาแร็กเตอร์ของ ทอมัส แอลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) นักประดิษฐ์และนักธุรกิจชาวอเมริกัน
การมาถึงของเขาครั้งนี้ ไม่ได้นำสิ่งประดิษฐ์มาแสวงหาชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังกลับมาเพื่อแก้แค้นให้กับเรื่องราวในอดีต ถึงอย่างนั้นทุกอย่างก็ต้องสะดุดไปเมื่อเขาได้พบกับสาวน้อยที่เหมือนกับคนรักที่จากไปแสนนานของเขา
เป็นอีกเวอร์ชั่นที่มีการตีความเป็นของตัวเอง จนอาจพูดได้ว่าหยิบยืมมาเพียงพล็อตหลักเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการคงกลิ่นอายโกธิกที่เป็นรากของต้นฉบับไว้ได้
Dracula (2020)
มัวแต่ทำเนื้อเรื่องเดิมซ้ำๆ ก็ไม่รู้ว่าต้องซ้ำกันอีกกี่หน พอหยิบจับวัตถุดิบเดิมมาปรุงใหม่ เลยต้องเป็นจานที่ไม่เหมือนใครเสียหน่อย อีกหนึ่งการตีความใหม่ที่น่าสนใจ จากทีมผู้สร้าง Sherlock การันตีงานภาพเป็นเลิศ
หากใครมองหาการตีความแดร็กคิวล่าในแบบกรรมการอึ้ง ขอเชิญให้ลองมาชิมสิ่งนี้เสียหน่อย ส่วนจะชอบหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคุณได้เลย มันอาจไม่ได้หวือหวา แหวกขนบไปไกลอย่างภาพยนตร์ Renfield แต่มันแตกต่างในไอเดียของตัวท่านเคานต์ มุมมองบางอย่าง ทางลงของเรื่อง ที่ชวนให้เสียงแตกอยู่ไม่น้อย
ยังมีภาพยนตร์และซีรีส์อีกมากมายที่ได้แรงบันดาลใจจากงานชิ้นเอกของแบรมตราบใดที่เป็นชื่อของท่านเคานต์ ชื่อของ แบรม สโตกเกอร์ จะยังตามติดไปด้วยเสมอ
อ้างอิงจาก