มีผลงานหนังสือเล่มหนึ่งที่มักได้รับการอ้างอิงเอ่ยถึงเนืองๆ ทั้งในงานเขียนวิชาการและงานเขียนอื่นๆ อันว่าด้วยเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 แต่เรื่องราวของผู้เขียนเองกลับไม่ค่อยเป็นที่รับรู้เท่าไหร่นักในปัจจุบันนี้
หนังสือเล่มดังกล่าวคือ ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร (เล่ม 1 และเล่ม 2) ผู้เป็นเจ้าของผลงานคือ บุญเลอ เจริญพิภพ
บุญเลอพยายามรวบรวมข้อมูลรายละเอียดและภาพถ่ายของเหตุการณ์ต่างๆ ที่อุบัติขึ้นนับแต่วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จนถึงวันที่ 2 กรกฎาคมปีเดียวกัน มาเรียบเรียงจัดทำเป็นหนังสือ (น่าจะเป็นเล่มแรกๆ ด้วยที่นำเสนอเรื่องนี้สู่สายตานักอ่าน) จำหน่ายราคาเล่มละ 25 สตางค์ โดยเล่มที่ 1 ตีพิมพ์ออกเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อต้นเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2475 เรียกว่าเพิ่งผ่านสถานการณ์มาหมาดใหม่สดๆ ร้อนๆ เขาได้แจกแจงจุดประสงค์ของหนังสือว่า
“การรวบรวมหนังสือเล่มนี้ขึ้น โดยมุ่งหมายที่จะให้เป็นประโยชน์ เป็นความรู้ในเหตุการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินของคณะราษฎร เพื่อที่จะผดุงประเทศสยามให้ก้าวหน้าสู่ความสุขความสมบูรณ์
หนังสือเล่มนี้ได้รับอนุมัติจากเจ้าหน้าที่แผนกตรวจข่าวสาส์นแห่งคณะราษฎรด้วยแล้ว และหวังว่า จะเป็นหนังสือที่ให้ความสะดวกในการค้นเรื่องราวต่าง ๆ สำหรับเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นอย่างดี”
สำหรับเนื้อหาที่บุญเลอนำเสนอในเล่ม 1 ได้แก่ เพลงชาติ (ทำนองมหาชัย), คำปริยายของผู้รวบรวม,ประกาศคณราษฎร,คำกราบบังคมทูลของคณะราษฎร, พระราชหัตถเลขาตอบคณะราษฎร, เสด็จกลับพระนครโดยรถไฟ, ประกาศของกรมพระนครสวรรค์ฯ,เสด็จกลับพร้อมกรมพระกำแพงฯ, เสด็จโดยลำลอง, รายงานประชุมเสนาบดีและปลัดทูลฉลอง, พระราชกำหนดนิรโทษกรรม, พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน, พระราชหัตถเลขาถึงพระยาวรพงศ์ฯ, รายนามประธานและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร, เปลี่ยนเสนาบดีและปลัดทูลฉลองฯ และ เลิกและงดภาษีอากรบางประเภท
ใน ‘คำปริยายของผู้รวบรวม’ บุญเลออธิบายความเป็นมาและความเป็นไปของเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองตามลำดับเวลา สิ่งที่เขาเน้นย้ำก็คือการที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่เปลี่ยนระบอบการปกครองภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ไม่ว่าจะเป็นเยอรมนี, ออสเตรีย-ฮังการี, ตุรกี, กรีซ และสเปน ดังความตอนหนึ่งว่า “…แต่แทบไม่มีสักประเทศเดียวที่หลบหลีกเรื่องเลือดตกยางออกไปได้ เพราะฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า กรุงสยามได้ชนะประวัติการณ์ของโลกสำหรับเหตุการณ์อย่างเดียวกัน กระทั่งต่างประเทศก็ได้ออกเสียงชมเชยกันกึกก้อง”
ส่วนหนังสือเล่มที่ 2 ตีพิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่โรงพิมพ์อักษรนิติ บางขุนพรหม คราวนี้บุญเลอจัดทำขึ้นเพื่อ “อภิวันทนาการแด่เพื่อนร่วมชาติทั้งหลาย” และเปิดเผยเจตจำนงว่า
“หนังสือประมวลเหตุการณ์เปลี่ยนการปกครองของคณะราษฎรเล่มนี้ เป็นเล่ม ๒ ซึ่งแถลงเหตุการณ์ต่อเนื่องจากเล่ม ๑ ที่ได้พิมพ์ออกจำหน่ายมาแล้ว
สำหรับเล่มนี้ได้พยายามเลือกสรรเอาแต่เรื่องที่ควรจะเป็นความรู้ทั่วไป พร้อมทั้งมีอธิบายความบางตอนในธรรมนูญการปกครองสยาม และสังเขปธรรมนูญการปกครองต่างประเทศรวมอยู่ด้วย หวังว่าจะเป็นหนังสือคู่มืออันดีอีกเล่มหนึ่ง”
เนื้อหาของเล่ม 2 ได้แก่ บทร้องคณราษฎร (ทำนองเพลงแขกสาหร่าย), แถลงการณ์ของผู้รวบรวม, สุนทรพจน์พระยาพหลและพระยามโนปกรณ์ฯ, ความจริงใจของพระเจ้าอยู่หัว, ประกาศจัดระเบียบป้องกันอาณาจักร, บุคคลในตำแหน่งสำคัญ,กำหนดหน้าที่เสนาบดีกระทรวงกลาโหม, แถลงการณ์เสนาบดีกระทรวงพระคลังฯ, ประกาศยกเลิกสภาและภาษีอากร, กรมพระนครสวรรค์ฯ,กรรมการวชิราวุธวิทยาลัย, ประวัติพระยาพหลพลพยุหเสนา,อธิบายความในธรรมนูญของสยาม, ธรรมนูญการปกครองประเทศอังกฤษ,ธรรมนูญการปกครองประเทศฝรั่งเศส, ธรรมนูญการปกครองประเทศอิตาลี และ ธรรมนูญการปกครองประเทศเยอรมันนี
ใน ‘แถลงการณ์ของผู้รวบรวม’ บุญเลอบ่งชี้ให้เห็นว่าหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 เรื่อยมาจนเดือนสิงหาคมก็ยังมีความสงบดี เนื่องจากประชาชนชาวไทยรู้รักสันติและน้ำใจกล้าแข็งมั่นคง และเสริมอีกว่า
“อันความเร่งเร้าของประชาชนชาวไทยที่ใคร่จะได้การปกครองโดยกฎพระธรรมนูญนั้น เป็นความเร่งเร้าที่ได้อบอวลมาช้านานแล้ว หาใช่เป็นพฤตติการณ์ที่แอบแฝงแต่อย่างไร ๆ ไม่ ทั้งนี้ก็เพราะประชาราษฎร์ทั้งหลายได้รู้สึกกันว่า ถึงเวลาแล้วที่ตนจะต้องได้มีเอกสิทธิแห่งมนุษยภาพโดยสมควร กล่าวคือ สิทธิในความเสมอภาค,สิทธิในการปกครอง, สิทธิในทางเศรษฐกิจ ฯลฯ ซึ่งสิทธิทั้งหลายเหล่านี้ เพื่อนโลกเขาได้รับกันอยู่แทบทั่วแล้ว”
ทุกวันนี้ปรากฏผู้ศึกษาค้นคว้าข้อมูลจาก ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร กันแพร่หลาย และใครๆ คงน่าจะคุ้นเคยหรือคลับคล้ายคลับคลาชื่อของบุญเลอ เจริญพิภพอยู่บ้าง แต่ดูเหมือนเราๆ ท่านๆ ก็ทราบเพียงแค่ว่าเขาเป็นผู้รวบรวมเรียบเรียงหนังสือเล่มนี้
นั่นชวนให้ฉุกนึกที่จะลองสืบเสาะแกะรอยว่า บุญเลอ เจริญพิภพ เป็นใคร? ซึ่งผมขะมักเขม้นค้นและคว้าได้ข้อมูลมาพอสมควร
บุญเลอเป็นบุตรชายของนายคุณและนางเห่ง เจริญพิภพ มีพี่น้องร่วมบิดามารดาอีก 7 คน ชื่อคล้ายๆ กัน เช่น บุญเรือน, บุญเกิด, บุญลือ, สมจิตต์ และสมใจ เขาน่าจะเกิดในช่วงต้นทศวรรษ 2450 โดยเฉพาะหลังปี พ.ศ. 2451 (เพราะนายคุณกับนางเห่งสมรสกันในปีนี้) เติบโตมาเป็นคนหนุ่มอายุราวๆ 20 กว่าๆ ในปีพ.ศ. 2475 อาจเป็นไปได้ว่ากำลังทำงานในสำนักหนังสือพิมพ์หรือสำนักพิมพ์สักแห่งหนึ่ง
บุญเลอย่อมมิแคล้วเป็นคนรักการอ่านและการทำหนังสือ พอมีเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง เขาจึงคอยติดตามข่าวสารรวมถึงรีบรวบรวมข้อมูลมาทำหนังสือถึง 2 เล่มอย่างทันท่วงที น่าเสียดายที่ยังตามไม่พบหลักฐานว่าหลังจากบุญเลอออกหนังสือเรื่องนี้แล้ว ชีวิตของเขาเป็นเช่นไรและไปทำอะไรต่อในช่วงทศวรรษ 2470 ถึงทศวรรษ 2500
ผมมาทราบความเคลื่อนไหวของบุญเลออีกทีก็ช่วงปลายทศวรรษ 2500 ตอนที่เขาหันมาสนใจเรื่องพุทธศาสนา เป็นสมาชิกตลอดชีพของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย พักอาศัยที่บ้านซอยสายลม ถนนพหลโยธิน
บุญเลอเคยเขียนจดหมายถึงพุทธทาสภิกขุขณะเป็นพระราชชัยกวีช่วงปลายเดือนธันวาคม พ.ศ. 2510 โดยเนื้อความกล่าวว่าเขาเคารพเลื่อมใสทั้งด้านเผยแผ่พุทธศาสนา ทั้งด้านหนังสือและปาฐกถาของพุทธทาสภิกขุอย่างยิ่ง เนื่องในโอกาสที่เขาจะจัดพิธีฌาปนกิจศพมารดาคือนางเห่ง เจริญพิภพ จึงกราบนมัสการมาเพื่อขอบทความของพุทธทาสภิกขุมาตีพิมพ์ไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพช่วงปลายเดือนมีนาคม พ.ศ. 2511 ซึ่งพุทธทาสภิกขุอนุญาตให้นำปาฐกถาเรื่อง ‘อุปสรรคของการเข้าถึงธรรม’ และ ‘อุปสรรคที่มีอยู่ในคำพูด’ มาตีพิมพ์ได้ บุญเลอยังเล่าถึงไว้ในหนังสืออนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนางเห่งตอนหนึ่งว่า
“ท่านพระเดชพระคุณ พระราชชัยกวี หรือเป็นที่รู้จักกันมากที่สุดในประเทศไทยและต่างประเทศในนามของ “พุทธทาสภิกขุ” สวนโมกขพลาราม ไชยา ได้กรุณาอนุญาตให้พิมพ์ปาฐกถาเรื่อง “อุปสรรคของการเข้าถึงธรรม” ซึ่งท่านได้แสดง ณ ลานอโศก วัดมหาธาตุฯ จังหวัดพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ และเรื่อง “อุปสรรคที่มีอยู่ในคำพูด” ซึ่งท่านได้แสดง ณ วัดนรนารถฯ เทเวศร์ จังหวัดพระนคร เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑ ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้ ยังมิได้เคยจัดพิมพ์ที่ใดมาก่อนเลย
ปาฐกถาของท่านอาจารย์พุทธทาสนี้ ขอท่านผู้อ่านโปรดทราบแต่ต้นนี้ว่า การจัดพิมพ์ครั้งนี้ได้ถอดจากเครื่องบันทึกเสียงขณะบรรยายโดยตลอด ทั้งนี้ย่อมเป็นที่ทราบกันโดยทั่ว ๆ ไปแล้วว่าหนังสือเกือบทุกเล่มของท่านพุทธทาส ที่จัดพิมพ์จำหน่ายหรือเป็นธรรมบรรณาการในงานมงคล และงานอวมงคลก็ดี ถ้าไม่มีข้อความว่าท่านเป็นผู้แต่งแล้ว การจัดพิมพ์แต่ละครั้งจึงเป็นการคัดลอกที่ถอดมาจากเครื่องบันทึกเสียงขณะบรรยายทั้งสิ้น และการจัดพิมพ์ในเล่มนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้อยคำโวหารจึงเป็นโวหารพูดทั้งหมด อีกทั้งไม่ได้ส่งต้นฉบับให้ท่านเจ้าของได้ตรวจแก้ใด ๆ ทั้งสิ้น
ฉะนั้นจึงขอกราบเรียนไว้ให้ชัดเจน หากท่านผู้ใดสงสัยหรือสนใจในข้อความบางประการ จะสอบถามไปยังท่านได้โดยตรง เชื่อว่าท่านจะกรุณาให้ความสว่างได้ อันจะเป็นการเสริมสร้างให้เราทั้งหลาย อบรมแน่นในธรรมปฏิบัติยิ่งขึ้น”
นอกเหนือไปจากบทปาฐกถาของพระราชชัยกวีหรือพุทธทาสภิกขุ บุญเลอยังไปรวบรวมงานเขียนและบทปาฐกถาในเชิงหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาตีพิมพ์ไว้ใน อนุสรณ์งานฌาปนกิจศพนางเห่งอีกหลายชิ้น ได้แก่ พระนิพนธ์เรื่อง ‘ความสงบสุขในครอบครัว’ ในสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ พระสังฆราช (จวน อุฏฐายี), พระนิพนธ์เรื่อง ‘สังคมพุทธ’ ของหม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก, บทปาฐกถาเรื่อง ‘พระพุทธศาสนากับสุขภาพจิตต์’ ของอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ซึ่ง “เรื่องนี้เป็นปาฐกถาที่ท่านเจ้าของได้แสดงเป็นภาษาอังกฤษชื่อว่า “BUDDHISM AND MENTAL HEALTH” เนื่องในการประชุมสุขภาพจิตต์แห่งโลก ครั้งที่ ๕ ณ ศาลาสันติธรรม เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๐๘ และได้เคยจัดพิมพ์จำหน่าย และแจกเป็นบรรณาการในรูปเล่มภาษาอังกฤษไปต่างประเทศทั่วโลกมาแล้ว” และ “สำหรับการจัดพิมพ์ครั้งนี้ ท่านเจ้าของได้กรุณาให้ความเมตตาอย่างสูงยิ่ง โดยถ่ายทอดเป็นภาษาไทยให้โดยตัวของท่านเอง ดังนั้นจึงเป็นการพิมพ์ในภาคภาษาไทยเป็นครั้งแรก” รวมถึงข้อเขียน ‘วิธีแก้ปัญหาเรื่องการนอนไม่หลับ’ ของอาจารย์พร รัตนสุวรรณ เจ้าของสำนักพิมพ์หนังสือวิญญาณ และผู้อบรมกรรมฐานสำนักวัดมหาธาตุ พระนคร
ผมยังเจอข้อมูลว่า บุญเลอได้ร่วมก่อตั้งสโมสรโรตารีราชบุรีเมื่อปี พ.ศ. 2515 โดยเขามีตำแหน่ง อน. หมายถึง Past President หรืออดีตนายก
ปฏิเสธมิได้ว่า ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร เป็นหนังสือเล่มสำคัญที่ผู้สนใจประวัติศาสตร์ไทยใช้ศึกษาค้นคว้าและนิยมอ้างอิงถึง แน่นอนครับ การที่เราได้รู้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้รวบรวมหนังสือเล่มนี้เยี่ยงบุญเลอ เจริญพิภพก็น่าจะเป็นอะไรที่พึงตื่นเต้นไม่เบาเช่นกัน
เอกสารอ้างอิง
บุญเลอ เจริญพิภพ. ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร.
พระนคร : โรงพิมพ์หนังสือพิมพ์ไทย, 2475
บุญเลอ เจริญพิภพ. ประมวญเหตุการณ์และภาพในการเปลี่ยนแปลงการปกครองของคณะราษฎร
เล่ม 2. พระนคร: โรงพิมพ์อักษรนิติ, 2475
ประวัติสโมสรโรตารีราชบุรี ดูที่ http://www.rotary3330.org/
อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นางเห่ง เจริญพิภพ ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 28 มีนาคม 2511.
กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนจำกัด อรุณการพิมพ์, 2511
เอกสารหอจดเหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ดูที่ http://archives.bia.or.th/