กลายเป็นกระแส #หัวหน้าฮงอ่าน กับซีรีส์เรื่อง Hometown Cha-Cha-Cha ที่ในเรื่องเราได้เห็นภาพของหัวหน้าฮง ชายหนุ่มมากทักษะที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเล็กๆ แต่ทว่ามีสัญญาณความลุ่มลึกหรือความซับซ้อนเช่นการอ่านงานระดับวรรณคดี และหนึ่งในหนังสือที่ฮงอ่านก็คือ Walden (วอลเดน) ของ เฮนรี เดวิด ธอโร งานเขียนระดับวรรณคดีที่พูดถึงการแสวงหาความสงบและความงามในธรรมชาติ
การหยิบวอลเดนขึ้นอ่านของหัวหน้าฮงนั้น เลยเป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลและกำลังไปปูไปสู่เรื่องราวของหัวหน้าฮง ในฐานะคนหนุ่มที่ ‘มีอะไร’ แต่เลือกที่จะกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในที่ห่างไกลแทนการอยู่ในเมืองหลวงเพื่อแสวงหาความสำเร็จตามแนวทางร่วมสมัย ดังนั้น Walden ก็เลยเป็นทั้งคำตอบและเป็นภาพของการที่คนรุ่นใหม่หนีออกจากเมืองด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เป็นงานเขียนที่กำลังพูดถึงการหลีกลี้ออกจากผู้คน การแสวงหาคำตอบและวิถีชีวิตใหม่ๆ ที่มีความสันโดษ มีการอยู่คนเดียวโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใครเป็นหัวใจในการแสวงหาความหมายและวิถีการใช้ชีวิต
ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่เราเองค่อนข้างต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ลำพังจากภาวะโรคระบาด ปัญหาของความรู้สึกเหงาและเดียวดายที่กำลังระบาดอยู่ในเมืองมาตั้งแต่ก่อนยุค COVID-19 รวมถึงปรากฏการณ์ที่คนรุ่นใหม่เริ่มออกจากเมืองหลวงไปใช้ชีวิตที่เงียบสงบแทนการอยู่ในเมืองอันคับคั่ง ประกอบกับสภาพแวดล้อมร่วมสมัยที่ทุกอย่างวิ่งไปอย่างรวดเร็ว ทั้งข่าวสารและการเชื่อมต่อกันในทุกวินาทีตั้งแต่ตื่นจนก่อนเข้านอน
ในวันที่ทุกคนอยากจะหยิบ Walden ขึ้นมาอ่าน และอาจจะอยากไปใช้ชีวิตที่ช้าและเงียบสงบแบบใน Hometown Cha-Cha-Cha การได้เรียนรู้เรื่องการอยู่ลำพังอย่างไม่พัง การได้ลองเรียนรู้และเข้าใจเรื่องความโดดเดี่ยว (solitude) แต่ไม่เหงาเดียวดาย (lonely) The MATTER จึงชวนอ่านงานเขียน วรรณกรรม ไปจนถึงบทกวีและถ้อยแถลงที่พาเรากลับไปสำรวจความงดงามของการอยู่ลำพัง
Walden, Henry David Thoreau
“I love to be alone. I never found the companion that was so companionable as solitude.”
Walden (วอลเดน) ถือเป็นงานระดับวรรณคดีในกระแสวรรณคดีอเมริกัน ตัวงานเขียนชิ้นนี้มีลักษณะเป็นทั้งบันทึกและข้อครุ่นคิดและภาคปฏิบัติทางปรัชญาของ เฮนรี เดวิด ธอโร ต้องไปย้อนไปนิดหนึ่งว่าในยุคทศวรรษ 1850 หรือกลางศตวรรษที่ 20 ในตอนนั้นเริ่มเกิดเมืองใหญ่ เกิดกระแสวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม กระแสความคิดที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาในยุคนั้นจึงมีกระแสที่เรียกว่า กระแสโรแมนติก (romanticism) คือเป็นกระแสที่หันออกจากเมืองใหญ่ กลับไปหาความหมายในธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก สำหรับทางอเมริกันจะมีแขนงย่อยที่เรียกว่า transcendentalism ก็จะเน้นการก้าวผ่าทางความรู้สึกโดยที่มีธรรมชาติพาเราไปเข้าใจชีวิตอะไรทำนองนั้น
ทีนี้ เฮนรี เดวิธ ธอโร เป็นลูกศิษย์ของ ราล์ฟ วอลโด เอเมอร์สัน ซึ่งเอเมอร์สันนับเป็นนักปรัชญาที่ทั้งเขียนกวีและงานปรัชญาที่ว่าด้วยเรื่องการกลับไปหาธรรมชาติ ธอโรบอกว่าจะลองทดลองใช้ชีวิตตามที่อาจารย์ว่า ก็เลยตัดสินใจไปใช้ชีวิตแบบลำพังอยู่ในกระท่อมน้อยริมบึงวอลเดนใกล้ๆ บ้านเอเมอร์สัน—ชื่อเดียวกับชื่อเรื่อง แล้วเทอโรก็ใช้ชีวิตไปราวๆ สองปีกว่าพร้อมบันทึกเรื่องราวการปลีกวิเวกและการพึ่งพาตนเองอยู่กับธรรมชาติ ในงานเขียนชิ้นนี้ค่อนข้างอ่านยากเพราะเป็นความเรียงที่ใช้ภาษาค่อนข้างเก่า มีสำนวนเขียนที่ยาว ใช้การเปรียบเปรยรวมถึงมีการครุ่นคิดต่างๆ หลักๆ แล้วจะบันทึกความสวยงามของธรรมชาติในฤดูต่างๆ การค้นหาความหมายและความงดงามในการอยู่เพียงลำพัง
The Rhodora, Ralph Waldo Emerson
“In May, when sea-winds pierced our solitudes, I found the fresh Rhodora in the woods, […]”
ถ้าพูดถึงวอลเดนไปแล้ว ในกระแสวรรณกรรมกลุ่ม transcendentalism หรือโรแมนติกสายอเมริกัน เราก็ต้องพูดถึงงานของเอเมอร์สันด้วย การไปอยู่ที่บึงวอลเดนของธอโรก็มาจากการทดลองใช้ชีวิตตามปรัชญาที่นำกระแสการกลับไปสู่ธรรมชาติโดยเอเมอร์สัน สำหรับเอเมอร์สันนั้นค่อนข้างมีผลงานสำคัญคืองานความเรียงเชิงปรัชญาที่เป็นงานเขียนสำคัญในงานกลุ่มโรแมนติกเช่น Nature งานเขียนที่พูดถึงการค้นพบเชิงจิตวิญญาณที่มนุษย์จะได้ก้าวข้ามผ่านทางความคิดโดยที่มีธรรมชาติและการอยู่กับตัวเองในการเดินทางภายใน
นอกจากงานเขียนเชิงปรัชญาแล้ว เอเมอร์สันยังโดดเด่นในการใช้บทกวีในการถ่ายทอดปรัชญาแบบโรแมนติก เน้นการให้ภาพของการกลับไปและมองเห็นอะไรบางอย่างเมื่อเราอยู่ลำพังและอยู่กับธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ บทกวีที่เลือกมาชื่อ The Rhodora เป็นชื่อดอกไม้ชนิดหนึ่ง ในบทกวีให้ภาพของผู้เล่าที่เดินอยู่โดยลำพังในป่า มีลมทะเลพัดอ่อนๆ ในขณะที่เดินนั้นผู้เล่าก็ไปพบฉากที่สวยงามคือภาพของดอกรอโดราที่บานอยู่ริมบ่อน้ำ กลีบสีม่วงบางส่วงร่วงและลอยตัดกับผิวน้ำสีดำ ในบทกวีพูดถึงความงามของฉากธรรมชาติได้อย่างเรียบง่ายและสงบงาม
ในบทกวีผู้เล่าก็เหมือนกับสงสัยเลยรำพึงกับตัวเอง—หรือกับธรรมชาติว่า ดอกไม้ที่สวยงามเช่นนี้ทำไมถึงมาหลบอยู่ในที่ห่างไกลพ้นสายตา เสียงหนึ่งก็ตอบว่า “ถ้าดวงตามีไว้มองชม ความงามนี้ก็มีเหตุให้ดำรงอยู่เช่นนี้” (“Tell them, dear, that, if eyes were made for seeing, Then beauty is its own excuse for being: […]) บทกวีของเอเมอรืสันโดดเด่นการใช้ภาษาที่เรียบง่ายแต่ก็ตรงจุดในการสื่อสารความคิดทางปรัชญาของเขา นัยหนึ่งคือความงามหรือความจริงอาจจะพบได้ในที่ที่ไม่มีผู้คน
Nobel Prize in Literature Acceptance Speech, Ernest Hemingway
“Writing, at its best, is a lonely life.”
เฮมิงเวย์เป็นนักเขียน และหลายครั้งด้วยความสำเร็จและการได้รับการยอมรับในฐานะนักเขียนคนสำคัญ เฮมิงเวย์มักจะมีบทสัมภาษณ์ มีข้อเขียนที่ครุ่นคิดและทบทวนถึงอาชีพนักเขียนรวมถึงประเด็นเกี่ยวกับการเขียนต่างๆ หนึ่งในความสำเร็จสูงสุดของการเป็นนักเขียนคือการได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม ซึ่งเฮมิงเวย์ได้รับรางวัลในปี ค.ศ.1954 โดยธรรมเนียมจะมีพิธีการมอบรางวัล ในพิธีและงานเลี้ยงนั้น ผู้ได้รับรางวัลจะมีการกล่าวสุนทรพจน์เพื่อรับรางวัลโนเบลนั้นๆ (เป็นคนละส่วนกับโนเบลเลกเชอร์) สำหรับเฮมิงเวย์ได้พูดถึง ‘การเขียน’ ในฐานะกิจกรรม ซึ่งเน้นไปที่การนิยามว่านักเขียนนั้นเป็นอาชีพที่ ‘โดดเดี่ยว’ เป็นการทำงานเพียงลำพัง
ความน่าสนใจของการปรากฏตัวในเวทีโลกในฐานะนักเขียน และสิ่งที่เฮมิงเวย์พูดถึงในแง่ของการทำงานเขียน (ที่เราอาจจะนิยามได้ว่าเป็นกระบวนการทำงานสร้างสรรค์ และการผลิตงานอย่างสำคัญในวัฒนธรรมของมนุษย์เรา) เฮมิงเวย์อธิบายการเขียนว่าเป็นชีวิตที่เดียวดาย (“Writing, at its best, is a lonely life.”) คือฟังดูหม่นเศร้านิดๆ แต่ก็เป็นแค่การสังเกตวิถีชีวิตของการทำงานเขียน สิ่งที่เฮมิงเวย์พูดถึงคือการเขียนเป็นการต่อสู้กับตัวเอง อยู่กับตัวเอง เริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยทำ สิ่งหนึ่งที่เฮมิงเวย์พูดถึงและอาจเป็นคำเตือนเล็กน้อย คือ นักเขียนเมื่อมีชื่อเสียงก็อาจจะเริ่มอยู่กับตัวเอง ทำงานกับตัวเองน้อยลง และงานก็มักจะแย่ลง ดังนั้นถ้าเรามองว่าการเขียนคือการทำงาน การอยู่กับตัวเอง—การสวมกอดยอมรับเส้นทางเดียวดายจึงเป็นกระบวนการสำคัญในการผลิตงานต่อไป
The Lonely City: Adventures in the Art of Being Alone, Olivia Laing
“I don’t believe the cure for loneliness is meeting someone, not necessarily. I think it’s about two things: learning how to befriend yourself and understanding that many of the things that seem to afflict us as individuals are in fact a result of larger forces of stigma and exclusion, […]”
เรามีคำถามสำคัญว่าความเหงาเป็นเรื่องส่วนตัว—คือเราเหงาเอง—หรือเป็นเรื่องเชิงสังคม โลกใบนี้กำลังทำให้เราเหงา โหยหาปฏิสัมพันธ์หรือบรรยากาศรอบด้าน วิถีร่วมสมัยกำลังทำให้เราเดียวดาย หนังสือ The Lonely City: Adventures in the Art of Being Alone เป็นเหมือนบันทึก(memoir) ที่ โอลิเวีย เลียง บันทึกประสบการณ์การย้ายไปใช้ชีวิตอยู่ในนิวยอร์ก แต่บันทึกชิ้นนี้ไม่ได้เป็นแค่บันทึก แต่เป็นเหมือนการครุ่นคิดและตั้งคำถามถึงประเด็นเรื่องเมือง กบความเหงา รวมถึงมีความพยายามในการหาคำตอบเพื่อให้เราอยู่ในเมืองแสนเหงานี้ได้
บันทึกเล่มนี้เป็นการเขียนเชิงครุ่นคิด เน้นการถ่ายทอดความรู้สึกการทบทวนความรู้สึกต่างๆ ในการใช้ชีวิตอยู่บนเกาะท่ามกลางคอนกรีตและกระจก แกนสำคัญของงานเขียนชิ้นนี้คือการชี้ให้เห็นว่าเราอยู่ในโลก—โดยเฉพาะพื้นที่เมืองและวิถีสมัยใหม่เช่นการออนไลน์ การเชื่อมต่อกันตลอดเวลา เงื่อนไขของการใช้ชีวิตร่วมสมัยทั้งการอยู่ในเมืองแห่งคนแปลกหน้า การคบหากันและการร่วมรักเพื่อเติมเต็มช่องโหว่ของเมือง ในที่สุดแล้วความเหงาและการแก้เหงาไม่ใช่แค่การพบปะ เชื่อมต่อหรือสวมกอดกับใครอีกคน แต่คือการรู้จักผูกมิตรกับตัวเองและการเข้าใจความเหงาซึ่งสัมพันธ์กับเงื่อนไขต่างๆ ที่มากระทบเราในฐานะปัจเจกบุคคล ไม่ใช่เรื่องที่เราเหงาเองเพียงคนเดียว
Party of One: The Loners’ Manifesto, Anneli Rufus
“The loner who looks fabulous is one of the most vulnerable loners of all.”
พวกลำพังมันจะพัง นอกจากเรื่องความรู้สึกส่วนตัวแล้ว สังคมโดยเฉพาะในหนัง ในนิทาน มักจะตีตราให้คนที่อยู่คนเดียวหรือใช้ชีวิตโดยลำพังว่าพังแน่ๆ เป็นพวกไม่มีคนคบ ประสาทหน่อยๆ ขี้แพ้ น่าสงสาร นึกภาพการไปกินหมูกระทะก็ลำบากและถูกมองแปลกๆ บ้าง หนังสือเล่มนี้เลยลุกขึ้นมาชี้ให้เห็นว่าเรากำลังมองการอยู่ลำพังผิดไป แค่ชื่อก็น่ารักแล้วคือเป็นคำประกาศ (manifesto) ของการอยู่โดยลำพัง
งานเขียนชิ้นนี้เลยเป็นงานเขียนเชิงสารคดี เป็นความเรียงที่พาเรากลับไปสำรวจความหมายของการอยู่ลำพังในมิติต่างๆ โดยเฉพาะมิติทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม เช่นนักคิดนักเขียนคนดังส่วนใหญ่ล้วนใช้ชีวิตลำพังไม่วาจะเป็นพระพุทธเจ้า, เรอเน เดการ์ต, หรือ เอมิลี ดิกคินสัน งานกึ่งวิชาการชิ้นค่อยๆ ถักทอคนเหงาให้กลายเป็นเรื่องธรรมดาจากหลักฐาน การสัมภาษณ์ และการเก็บเสียงของเหล่าหมาป่าเดียวดาย ทั้งหมดนี้ค่อยๆ กลายเป็นคำประกาศกล้าว่าคนเดียวดายก็แสนเก๋ได้
Silence: In the Age of Noise, Erling Kagge
“Shutting out the world is not about turning your back on your surroundings, but rather the opposite: it is seeing the world a bit more clearly, staying a course and trying to love your life.”
เรากำลังอยู่ในโลกของความอึกทึก ความเงียบแทบจะเป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยได้พบเจอ และหลายครั้งเป็นเรื่องแปลกประหลาด กระทั่งทำให้รู้สึกอึดอัดจากความเงียบนั้นๆ ทว่า ถ้าคิดทบทวน เราอยู่ในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยเสียงมากเกินไป และความเงียบก็เป็นสิ่งที่เราน่าจะหวนกลับไปหา เราน่าจะมีโอกาสที่ได้เจอความเงียบและตัดตัวเองออกจากโลกภายนอกบ้าง
หนังสือ Silence: In The Age of Noise ของ เออร์ลิง คักเก ตัวผู้เขียนเป็นนักเดินทางที่มีประสบการณ์เดินทางไปยังพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเงียบ เคยใช้เวลา 50 วันบนขั้วโลกเหนือและเดินอย่างเงียบงันพร้อมวิทยุพังๆ เครื่องหนึ่ง งานเขียนชิ้นนี้เลยพาเราจมดึ่งไปยังความเงียบ ความจำเป็นของความเงียบ และการซึมซับไปกับการตัดตัวเองออกจากโลกรอบๆ และไปอยู่กับตัวเองอย่างสงบเงียบอีกครั้ง
The Lion and the Bird, Marianne Dubuc
“And so it goes. Sometimes life is like that.”
ส่งท้ายด้วยผลงานอ่านง่ายแต่สวยงาม เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่แน่นอนว่าผู้ใหญ่อ่านแล้วอาจจะได้อะไรบางอย่างที่ต่างออกไป หนังสือภาพเรื่องสิงโตและนกนี้เล่าเรื่องความสัมพันธ์ฉันมิตรอันเรียบง่าย และพูดถึงการพานพบและจากลาอันเป็นกระบวนการที่สำคัญของชีวิต
ตัวเรื่องเล่าถึงสิงโตที่ช่วยเหลือนกตัวหนึ่งไว้ ก่อนที่ทั้งสองจะใช้เวลาด้วยกัน สร้างความทรงจำที่ดีต่อกัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เจ้านกจะต้องบินไปตามเส้นทาง ตามฤดูกาลของมันเอง ในวันที่นกบินจากไป คืนวันอันแสนสนุกของสิงโตก็ค่อยๆ เงียบเหงาลง หน้ากระดาษกลายเป็นสีขาวอยู่หลายหน้า ก่อนที่สิงโตนั้นจะค่อยๆ ซึมซับความเป็นไปและกลับไปใช้ชีวิตโดยลำพังได้อย่างสวยงาม รอวันที่วงรอบของตนจะวนกลับมาพบกับเจ้านกอีกครั้ง ซึ่งอาจจะมีวันนั้นหรือไม่มีก็ไม่ใช่ปัญหา
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan