ที่พูดแบบนี้ก็เพราะว่าหวังดีทั้งนั้นนะ
หลายคนคงเคยได้รับความหวังดีจากคนรอบข้างอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น การให้คำแนะนำเรื่องการเรียน เพราะหวังให้เรามีรายได้มากขึ้น สั่งงานกองโต ด้วยเหตุผลว่าเราจะได้พัฒนาเป็นเก่งเป็นนัมเบอร์วัน หรืออาจเคยเจอคนที่ซื้อของฝากราคาแพงเป็นประจำ ทั้งที่เราอาจรู้สึกลำบากใจที่จะรับ
แน่นอนว่าความหวังดีจากคนรอบข้างเป็นเรื่องที่ดี เพราะนั่นหมายถึงเรายังมีคนที่คอยอยู่เคียงข้าง คอยช่วยเหลือในวันที่ยากลำบาก แต่บางครั้งความหวังดีก็อาจไม่ทำให้เรารู้สึกดีเสมอไป เพราะความซับซ้อนของมนุษย์บางครั้งความหวังดีก็อาจทำร้ายคนรอบตัว ด้วยการแสดงออกที่บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกอึดอัด จากสิ่งที่อีกฝ่ายคิดว่าดี ทั้งที่จริงอาจไม่ใช่สิ่งที่เราต้องการ
มีเหตุผลอะไรที่ทำให้ความหวังดีจึงกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ผิดไหมถ้าบางครั้งเราจะรู้สึกไม่สบายใจเมื่อต้องรับความหวังดีจากอีกฝ่าย แล้วถ้าเจอเหตุการณ์เราจะมีวิธีสื่อสารกลับไปยังไงได้บ้าง
ความซับซ้อนของเจตนาดี
พูดถึงเจตนาดี หลายคนก็มักนึกถึงสิ่งที่คนทำด้วยความตั้งใจดี และคาดหวังว่าผลที่ได้จะออกมาดีด้วย อย่างที่เห็นได้บ่อยๆ ในพ่อแม่ที่อบรมมารยาทลูกน้อย เพราะอยากให้อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ หรือเพื่อนที่คอยให้กำลังใจ เพราะหวังอยากให้เราทำตามเป้าหมายให้สำเร็จ
แต่ความหวังดีก็เหมือนกับยาบำรุงกำลัง ถ้าใช้อย่างถูกวิธี ก็ช่วยให้เรามีกำลังใจทำสิ่งต่างๆ ให้สำเร็จง่ายขึ้น แต่บางครั้งหากใช้ไม่ถูกวิธี จากยาดีก็อาจกลายเป็นยาพิษโดยไม่รู้ตัวได้เหมือนกัน การมอบสิ่งต่างๆ ที่ตัวเองคิดว่าดีให้อีกฝ่าย แล้วแปะป้ายด้วยคำว่า ‘หวังดี’ ต่อท้าย อาจทำให้คนรับรู้สึกอึดอัดใจได้
แล้วอะไรที่ทำให้เจตนาดีสามารถทำร้ายคนอื่นได้กันนะ? แอนิตา โอวูซู (Anita Owusu) นักสังคมสงเคราะห์และนักจิตบำบัดบอกว่า แม้ว่าอีกฝ่ายจะหวังดีแค่ไหน แต่เพราะผลลัพธ์จากการกระทำเป็นสิ่งที่คาดเดาไม่ได้ หากความหวังดีทิ้งผลกระทบเชิงลบให้กับคนรับ บางทีความตั้งใจดีนั้นก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ดีเสมอไป
นักจิตวิทยาอธิบายเพิ่มว่า เจตนาเป็นแรงผลักดันให้คนเราทำสิ่งต่างๆ แต่ผลกระทบคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งทั้งสองอย่างต่างก็มีความสำคัญในการกระทำของมนุษย์ ดังนั้นเมื่อต้องตัดสินใจว่าสิ่งใดเป็นเรื่องที่ดีหรือไม่ดี เราอาจต้องกลับมาดูที่ ‘ผลกระทบ’ เป็นหลัก
แม้อีกฝ่ายจะบอกว่าทำไปด้วยเจตนาดี แต่ก็วิธีการที่แสดงออกมาอาจส่งผลกับจิตใจและสร้างความทุกข์ให้กับเรามากกว่า เช่น พ่อแม่บางคนที่พยายามเคี่ยวเข็ญให้เป็นคนเก่งขึ้น ด้วยการบังคับให้ทำตามความต้องการ แทนที่จะพูดคุยด้วยเหตุผล หรือเพื่อนที่คอยพูดจาตำหนิอยู่บ่อยๆ แทนที่จะรับฟังอย่างเข้าใจ
นอกจากวิธีการสื่อสารเจตนาแล้ว สาเหตุที่ทำให้เจตนาดีถูกเข้าใจผิดได้ นั่นก็เพราะผลลัพธ์จากความหวังดีนั้นไม่ใช่สิ่งที่ควบคุมได้ง่ายๆ แม้อีกฝ่ายเจตนาดีทำไปเพราะอยากให้เราได้ดี แต่ก็ยังมีปัจจัยมากมายทำให้สิ่งต่างๆ ไม่เป็นไปตามที่คิด เช่น ความไม่รู้ หรือความต้องการแต่ละคนไม่เหมือนกัน ทำให้บางครั้งของฝากราคาแพง ไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดหากเราไม่ต้องการ หรือคำแนะนำจากความหวังดีอาจไม่ตรงกับนิสัยเดิมของเรา
จะเห็นว่าเจตนาดีบางครั้งก็ถูกใช้นอกจากจะทำร้ายคนรอบข้างได้ ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องความรับผิดชอบด้วย เพราะเชื่อว่าสิ่งที่ทำเป็นเรื่องที่ดีต่ออีกฝ่าย ต่อให้ใช้วิธีรุนแรงแค่ไหนก็ไม่เป็นไร ด้วยความเข้าใจผิดว่าสุดท้ายผลลัพธ์ต้องออกมาดีแน่นอน ทั้งที่ไม่ใช่ความจริงเสมอไป
เจตนาดีเริ่มต้นที่การสื่อสาร
ย้อนกลับไปดูที่ต้นเหตุของความเข้าใจผิดจากความหวังดีไปสู่ความไม่หวังดี บางครั้งก็อาจเป็นเพียง ‘การสื่อสารที่ล้มเหลว (Communication Breakdown)’ หรือการที่เราไม่ได้รับสารที่อีกฝ่ายต้องการสื่ออย่างถูกต้องก็ได้
การสื่อสารที่ล้มเหลว อาจเกิดได้จากการเดาโดยไม่ถามก่อน การเข้าใจผิดไปเอง หรือมีเจตนาอื่นแอบแฝงอยู่จริงๆ ดังนั้นแม้ว่าอีกฝ่ายจะหวังดี แต่หากถ่ายทอดออกไปไม่ถูกต้อง เป็นห่วงนะแต่ก็ใช้น้ำเสียงดุด่า หรือใช้วิธีประชดประชัน แบบนี้ไม่ว่าใครก็ต้องตีความผิดแน่นอน
หากเรารู้ว่าคนรอบข้างมีเจตนาดี แต่ก็ทำร้ายจิตใจเราโดยไม่ตั้งใจ อาจทีเราอาจต้องกลับมาดูที่วิธีการสื่อสารของตัวเองอีกครั้ง เพื่อให้แต่ละฝ่ายให้เข้าใจกันมากขึ้น โดย แม็กส์ เทรเนอร์ (Mags Treanor) นักจิตวิทยาด้านการสื่อสาร ก็ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้
- สื่อสารอย่างมีความรับผิดชอบ: ขั้นตอนแรกอาจเป็นวิธีที่ต้องเริ่มด้วยตัวเองสักหน่อย อย่างการยอมรับว่าเราเองก็มีส่วนรับผิดชอบด้วย เมื่อการที่อีกฝ่ายทำสิ่งที่เราไม่ต้องการ อาจเกิดจากเราที่ไม่เคยบอกความต้องการของตัวเองให้ชัดเจนหรือเปล่า หรือเป็นเราเองที่ไม่กล้าปฏิเสธความหวังดีนั้นเอง ดังนั้นเพื่อไม่ให้รู้สึกอึดอัดใจอยู่คนเดียว เราอาจเริ่มด้วยการเผชิญหน้า แล้วบอกความต้องการให้อีกฝ่ายรับรู้ว่าอยากให้ทำหรือไม่อยากทำอะไรแทน
- สื่อสารแบบเปิดใจ: ขั้นต่อมาคือการเริ่มพูดคุยกับอีกฝ่าย หาเวลาพูดคุยอย่างอย่างจริงจัง ด้วยบรรยากาศที่ผ่อนคลาย พยายามทำให้เห็นว่าความเห็นของอีกฝ่ายมีค่า และเราพร้อมจะรับฟัง ขณะเดียวกันก็พูดคุยถึงความกังวลหรือความอึดอัดของเราอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งช่วงเวลานี้จะทำให้แต่คนเข้าใจอีกฝ่ายมากขึ้น และหาทางออกร่วมกันได้
- ถามคำถามสำคัญ: สุดท้ายหากเรายังไม่แน่ใจว่าอีกฝ่ายตั้งใจดีจริงหรือเปล่า หรือมีเจตนาอะไรกันแน่ ทั้งที่ปากก็บอกว่าหวังดี แต่สิ่งที่ทำกลับบั่นทอนกำลังใจเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางทีเราอาจเริ่มถามตรงๆ ไปเลยว่า เกิดอะไรขึ้นกันแน่ ทำไมเขาจึงทำแบบนี้ และใช้เหตุผลจากการพูดคุยนี้ตัดสินว่าเราควรอยู่ในความสัมพันธ์นี้ต่อไปดีหรือเปล่า
เพราะสุดท้ายแล้วเจตนาที่ดีไม่ได้เกิดจากความต้องการของผู้ให้อย่างเดียว แต่การนึกถึงจิตใจคนรับด้วย ก็ช่วยให้ความหวังดีไม่กลายเป็นความอึดอัดใจของใครได้เช่นกัน
อ้างอิงจาก