อีแก่บ้าน้ำลาย พูดพล่ามอะไรไม่รู้เรื่อง!
ประเทศไทยอาจจะมีนักแสดงเด็กมากมาย ทว่าหลายคนก็ห่างหายไปจากหน้าจอตามระยะเวลาการเติบโต บางคนได้ค้นพบสิ่งใหม่ที่รู้สึกสนใจมากกว่า บางคนเริ่มเข้าใจว่าวงการบันเทิงน่ากลัวกว่าที่เคยคิด หรือบางคนก็มีธุรกิจครอบครัวที่ต้องกลับไปช่วยดูแล
อย่างไรก็ดี สาวใสวัย 18 ที่เรามาพูดคุยด้วยในวันนี้ไม่ใช่หนึ่งในนั้น เพราะเธอตบเท้าเข้าสู่วงการบันเทิงตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล 1 จนถึงวันนี้ที่เป็นนักศึกษาเตรียมขึ้นชั้นปีที่ 2 เธอก็ยังจับจองพื้นที่ในอุตสาหกรรมละครได้อย่างเหนียวแน่น มีผลงานไม่ขาดมือ แถมยังหลงใหลในศาสตร์การแสดงทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง
“สวัสดีค่ะ ชาร์เลท—วาศิตา แฮเมเนา รับบทเป็นจูนใน Delete ซีรีส์เรื่องใหม่ของ Netflix ค่ะ”
นักแสดงสาวกล่าวทักทาย พร้อมแล้วที่จะบอกเล่าเรื่องราวมากมายถึงผู้อ่าน โดยจะเริ่มเล่าตั้งแต่วันแรกที่เข้าวงการ ขวบปีที่ท่องบทโดยไม่รู้ความหมายของสิ่งที่พูด ละครที่ทำให้เธอกลายเป็นมีมครั้งแรก ไปจนถึงซีรีส์เรื่องใหม่ที่แสนภูมิใจนำเสนอ…
หากรู้สึกคุ้นหน้า แต่ทุกคนยังนึกไม่ออกว่าเธอผ่านงานละครเรื่องอะไรบ้าง เราก็อยากชวนให้ลองอ่านบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ดู เพราะในฐานะคนเขียน เรามั่นใจเหลือเกินว่าผลงานต่างๆ ของเธอต้องมีชื่อที่ทุกคนคุ้นหูอย่างแน่นอน!
ด.ญ.ชาร์เลทในวัย 3 ขวบครึ่ง เริ่มต้นเข้าวงการได้ยังไง?
อุ๊ย ตอนนี้หนูนางสาวแล้ว ตอนนั้นเป็นเด็กหญิงอยู่ (หัวเราะ)
ชาเริ่มต้นจากการแคสติ้งโฆษณาค่ะ ตอนนั้นมีโมเดลลิ่งติดต่อมาที่คุณแม่ ชามีพี่สาวที่โตกว่า 2 ปีอยู่คนหนึ่ง เขาติดต่อมาเพราะอยากให้พี่สาวชาไปแคสต์ แต่พอไป พี่ชาดูไม่ค่อยสนุกกับการอยู่หน้ากล้อง ตอนนั้นทีมงานก็คงกลัวคุณแม่มาเสียเที่ยว เลยบอกว่างั้นเดี๋ยวให้คนน้องเข้าไปลองแคสต์ดูแล้วกัน ปรากฏว่าชาดันได้ และการเล่นโฆษณาตัวนั้นก็ทำให้ผู้ใหญ่เริ่มรู้จัก สมัยนั้นในวงการอาจจะไม่ค่อยมีนักแสดงเด็กเท่าไหร่ เขาก็เลยแนะนำต่อๆ กัน มีบทเด็กเหรอ สนใจน้องคนนี้มั้ย จากโฆษณาก็เริ่มชวนเราไปเล่นละครต่อ แล้วก็ได้เล่นละครมาเรื่อยๆ จนเป็นชาทุกวันนี้
เท่ากับว่าชาร์เลทเติบโตมาในกองถ่าย?
ใช่ค่ะ ชาอยู่มา 15 ปี ตอนนี้อายุ 18 มันเกินครึ่งชีวิตของเราไปเยอะมากแล้ว
ชีวิต 15 ปีในกองถ่ายสอนอะไรชาร์เลทบ้าง?
อาจจะต้องแยกเป็นหลายด้านค่ะ ด้านแรกจะเป็นความรู้ล้วนๆ เลย ชาได้รู้ว่าคนเบื้องหลังทำงานยังไง ได้เห็นเครื่องมือต่างๆ ตั้งแต่เด็ก ได้ฝึกฝนการแสดง หรือถ้าได้เล่นละครแนวย้อนยุค เราก็จะได้ความรู้ประวัติศาสตร์ไปด้วย เป็นความรู้และประสบการณ์ดีๆ ที่เราได้จาก 15 ปีในกองถ่าย
ส่วนอีกด้านคือได้ทักษะชีวิตเยอะมาก ชาต้องทำงานกับคนที่อายุมากกว่า ได้เข้าใจวิธีการประพฤติตัวในสังคม ระเบียบวินัย ความรับผิดชอบ ไม่รู้ว่าเป็นข้อดีรึเปล่า แต่ชารู้สึกว่าตัวเองมองได้ไกลกว่าเด็กในวัยเดียวกัน เพราะชามีโอกาสทำงานก่อน เก็บเงินก่อน ได้ฝึกจัดสรรเวลาก่อนคนอื่น เหมือนเป็นการฝึกเราให้พร้อมสำหรับการเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น
ตอน 3 ขวบ รู้ตัวแล้วเหรอว่าตัวเองเป็นนักแสดง?
ไม่ค่ะ เราจำไม่ได้เลยว่าตอนเด็กๆ มีอะไรบ้าง (หัวเราะ) มันเด็กมาก แถมยังมีเหตุการณ์เกิดขึ้นหลายอย่าง แต่ส่วนมากชาจะมีคุณแม่ไปด้วย แม่ก็จะคอยแนะนำสิ่งต่างๆ ถ้าให้พูดจริงๆ คือจนถึงตอนนี้ชาก็จำไม่ได้เหมือนกันว่าตัวเองรู้ตัวตอนไหนว่านี่คือกองถ่าย นี่คือหน้าที่ของฉัน และฉันต้องทำอะไร เพราะรู้ตัวอีกที เราก็ทำมันจนเคยชินไปแล้ว การซ้อมบทและการแสดงกลายเป็นความรับผิดชอบของเราแล้ว
ชาร์เลทในวัย 3 ขวบท่องบทยังไง?
ช่วงแรกจะเป็นคุณแม่อ่านให้ฟังแล้วก็จำเอาค่ะ คำพูดของเด็กส่วนมากก็ไม่ได้ยาวหรือยากอะไรอยู่แล้ว แต่ก็มีเรื่องที่ยากเหมือนกัน (หัวเราะ) อย่างตอนที่เล่นเป็นเรยาวัยเด็กใน ดอกส้มสีทอง คุ้นๆ มั้ยคะที่เป็นเด็กใส่ชุดสีแดง ด่าคนในตลาด จนกลายเป็นมีม ‘อีแก่บ้าน้ำลาย’ บทพูดเรื่องนี้ยากมาก ตอนนั้นชาไม่เข้าใจความหมายของสิ่งที่ตัวเองพูดเลย แต่คุณแม่ก็อ่านให้ฟังหลายๆ รอบ ฟังเสร็จเราก็จำไปพูด อย่างคำว่า ‘อีแก่บ้าน้ำลาย’ เด็ก 3-4 ขวบก็ไม่เข้าใจหรอกว่า ‘บ้าน้ำลาย’ แปลว่าอะไร
ถ้าไม่เข้าใจความหมาย แล้วชาร์เลทในวัยนั้นรู้ได้ยังไงว่าต้องแสดงออกมาด้วยความรู้สึกแบบไหน?
ชาโชคดีที่มีแต่คนน่ารักอยู่รอบตัว เท่าที่จำได้คือทุกครั้งก่อนจะต้องแสดง ทีมงานจะเข้ามาช่วยว่า เนี่ย! ประโยคนี้คือด่าแรงมาก พูดแล้วฝั่งตรงข้ามจะโกรธมากๆ ทุกคนจะคอยบอก คอยอธิบายแบบเข้าใจง่าย แล้วด้วยความเป็นเด็ก พอคนมาส่งพลังงานเยอะๆ เราก็แอ็กทีฟตาม อยากใส่อารมณ์ตามที่เขาบอก พี่นักแสดงที่เล่นด้วยกันก็ช่วยส่งอารมณ์อีก ซึ่งตอนนั้นเรายังเด็ก ก็ยังไม่เข้าใจการแสดงมากนัก ไม่รู้อะไรที่ซับซ้อน ถ้าพี่ๆ บอกให้โกรธก็คือโกรธ เราทำได้ มันยังไม่มีโกรธแบบแค้น โกรธแบบเศร้า โกรธคือโกรธ ก็เลยง่ายสำหรับเราที่จะพูดหรือแสดงออกมา
หลายคนบอกว่า ชาร์เลทเป็นเด็กที่เล่นฉากร้องไห้ได้เก่งมาก พอจะเล่าเคล็ดลับให้เราฟังได้รึเปล่า?
จริงเหรอคะ อืม… จริงๆ ชาไม่ได้มั่นใจถึงขนาดว่าถ้ามีซีนร้องไห้ ชาจะทำได้นะ แต่เราก็ตั้งใจที่สุด ส่วนตัวชาคิดว่าการเตรียมตัวเพื่อซีนนั้นๆ น่าจะเป็นเคล็ดลับที่ดีที่สุด ซึ่งทุกคนก็มีวิธีการจัดการที่ต่างกัน เวลาต้องเล่นฉากดราม่า ชาพึ่งหลายอย่างค่ะ หนึ่ง พึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (หัวเราะ) สอง พึ่งนักแสดงคู่ตรงข้าม พอเรามีสมาธิอยู่กับสถานการณ์และคนตรงหน้า ความรู้สึกจะมาเอง จริงๆ นะคะ (เน้นเสียง) บางครั้งแค่คนตะโกนใส่เรา เราก็ร้องไห้ออกมาเลย และอีกอย่างที่ช่วยชาได้เยอะมากก็คือไดอาล็อก
บทพูดช่วยในการร้องไห้หรือเล่นฉากดราม่ายังไง?
ช่วยเยอะมาก อย่างในซีรีส์ Delete ตัวละครจูนที่ชาเล่น มุมหนึ่งเธอก็เหมือนชามากๆ แต่อีกมุมก็ไม่เหมือนเลย หลายครั้งชาก็ไม่เข้าใจว่าเขาทำสิ่งนี้ไปเพื่ออะไร แต่เพราะคำพูดที่ออกจากปากสะท้อนสิ่งที่ตัวละครรู้สึกอย่างเต็มที่ เราก็เลยเข้าใจ รู้สึกตาม และอยากร้องไห้ออกมา บทพูดช่วยให้เราเข้าใจสิ่งที่ตัวละครพบเจอมาทั้งหมด คำตอบมันอยู่ตรงนี้เลย เพราะฉะนั้น ถ้าเข้าใจและเรียบเรียงความรู้สึกได้ถูกต้อง เราก็อาจจะร้องไห้ได้ มันไม่ใช่ว่าจู่ๆ จะร้องก็ร้องได้เลยนะ โอเค อาจจะมีคนที่ทำได้ แต่ชาไม่ทำแบบนั้น ชาใช้วิธีทำความเข้าใจอารมณ์ตัวละครมากกว่า
ครั้งหนึ่งตอนเล่นวัยแสบสาแหรกขาด แอ็กติ้งโค้ชเคยสอนชาว่า คนที่ร้องไห้ได้ไม่ใช่คนที่เก่ง หลายคนชอบคิดว่า นักแสดงคนไหนร้องไห้ได้เท่ากับคนนั้นเก่งใช่มั้ยคะ แต่สำหรับชา ใครที่จัดการอารมณ์ได้ดีและให้ความจริงกับความรู้สึกได้ คนนั้นต่างหากคือคนเก่ง แต่ชาไม่ได้บอกว่าตัวเองเก่งนะคะ ชาแค่อธิบายให้ฟังว่า การร้องไห้ได้ไม่ใช่ทุกสิ่ง การควบคุมคาแรคเตอร์ ควบคุมความรู้สึกในปริมาณที่เหมาะสม ชาว่านี่แหละคือคนที่เก่งจริงๆ
เคยได้ยินคนเล่าว่า ถ้าอยากให้นักแสดงเด็กร้องไห้ ทีมงานอาจใช้วิธีหยิกหรือต่อว่าเด็ก ชาร์เลทรับรู้เหตุการณ์ทำนองนี้บ้างรึเปล่า?
บอกตามตรง ชาจำไม่ได้เหมือนกันนะว่าตอนเด็กๆ ตัวเองร้องไห้ได้ยังไง แต่พอมานั่งนึกดู จริงๆ ความรู้สึกของเด็กเปราะบางอยู่แล้ว แค่ได้เจอกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจในฉาก มันก็ร้องไห้ได้ไม่ยากเลย อย่างฉากร้องไห้ครั้งแรกในชีวิตของชา จำได้เลยว่าเป็นฉากที่มีคนเดินอยู่ แล้วก็ล้มลงไปตายต่อหน้าต่อตา ซึ่งด้วยความเป็นเด็ก เราก็ไม่เข้าใจหรอกว่า นี่คือซ้อม นี่คือเอาจริง พอเห็นสิ่งนี้เกิดขึ้นตรงหน้า เราก็ตกใจและร้องไห้ออกมาเอง ตกใจจริงๆ อะค่ะ ไม่ใช่การแสดง
เพราะงั้นที่ชาร์เลทตอนเด็กร้องไห้ได้ส่วนมากจะเป็นเพราะการแสดงที่สมจริงของพี่ๆ นักแสดงในแต่ละเรื่อง แล้วพอโตมาก็ใช้เทคนิคต่างๆ ตามที่บอก ชาไม่เคยมีเหตุการณ์ที่แม่บอกว่า ถ้าร้องไห้ไม่ได้จะไม่ซื้อขนมให้นะ ไม่มีเลย และชาก็ไม่สนับสนุนด้วยนะคะสำหรับการหยิกเพื่อให้เด็กร้องไห้ เพราะถ้าเราบังคับเขา เราก็อาจจะไม่ได้ความจริงจากเขาเลยด้วยซ้ำ
ขอให้ชาร์เลทลองทำอะไรท้าทายนิดนึงนะ จงพูดชื่อละครที่ตัวเองเคยเล่นให้ได้มากที่สุดภายใน 20 วินาที เริ่ม!
รักนี้หัวใจมีครีบ ลายกินรี Delete พระนคร 2410 สื่อรักสัมผัสหัวใจ วัยแสบสาแหรกขาด สายลับ 3 มิติ บุษบาเร่ฝัน ดอกส้มสีทอง บ่วง ค่าของคน เอ่อ… ซ่อนเงารัก
หมดเวลา!
วิวาห์ว้าวุ่น…ค่ะ (หัวเราะ)
เรียกว่าดังทุกเรื่องเลยนะ แล้วผลงานเยอะขนาดนี้มีสิ่งสำคัญในชีวิตที่ต้องแลกไปเยอะรึเปล่า
หลายคนจะพูดว่า โอ๊ย! ชีวิตช่วงหนึ่งต้องหายไปแน่ๆ คงไม่ค่อยมีเวลาแน่เลย แต่จริงๆ การที่ชาเป็นแบบนี้ก็มีทั้งข้อดีข้อเสียนะ ข้อดีก็อย่างที่ชาพูดไปทั้งหมด ประสบการณ์เยอะมาก ความรู้ต่างๆ ในวัยเด็กก็กลายเป็นผลพลอยได้ที่ช่วยในการเรียนมหาลัย แต่ข้อเสียก็มีเหมือนกัน เพราะเวลาในชีวิตเราอาจจะจัดสรรยากกว่าคนอื่น เรียนเสร็จต้องไปถ่ายละครต่อ แต่ได้อย่างก็ต้องเสียอย่างถูกมั้ยคะ ในโลกนี้ไม่ใครได้ทุกอย่างอยู่แล้ว
แล้วไม่มีความรู้สึกอยากไปเที่ยวกับเพื่อนบ้างเหรอ?
ทุกคนมักจะคิดว่าชายุ่งมาก ไม่มีเวลาว่างเลย ซึ่งไม่จริงนะคะ ชายังมีเวลาให้ตัวเอง ไม่อย่างนั้นชาคงเป็นบ้าตายค่ะ (หัวเราะ) ชาก็ได้อยู่กับเพื่อนบ้าง และที่สำคัญ การเป็นนักแสดงไม่ได้หมายความว่าชาจะไม่มีเพื่อนในกองถ่ายเลย ชาก็มีสังคมอีกแบบหนึ่ง มีเพื่อนเป็นรุ่นพี่ เป็นคุณป้า คุณอา หรือจริงๆ เพื่อนรุ่นเดียวกันที่เล่นละครมาด้วยกันก็มี ไม่ใช่ว่าเป็นนักแสดงแล้วจะต้องตัดขาดจากสังคม ชายังมีสังคม แต่แค่เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ไม่เหมือนคนอื่น
มีวันที่ต้องท่องบท อ่านหนังสือสอบ และเที่ยวกับเพื่อนในวันเดียวกันมั้ย หรือวันไหนที่ชาร์เลทคิดว่าหนักที่สุดในอาชีพนักแสดง?
โห พี่พูดเหมือนตาเห็นเลยนะคะ (ยิ้ม) มันมีอาทิตย์นั้นจริงๆ อาทิตย์ที่ชาต้องถ่ายพระนคร 2410 ถ่าย Delete เตรียมสอบปลายภาคของปี 1 พี่สาวไปเรียนต่อ เพื่อนสนิทไปเรียนต่อ ทุกอย่างรวมกันในอาทิตย์เดียวจนชาต้องทำงาน ทำงาน ทำงาน ปกติละครจะถ่ายกันวันจันทร์ อังคาร พุธ ชาต้องท่องบทสำหรับ 3 วันให้เสร็จภายในวันเดียว เพื่อจะได้เอาเวลาที่เหลือไปอ่านหนังสือสอบต่อ วุ่นมาก ถ่ายละครเสร็จ ไปสอบ สอบเสร็จก็กลับไปถ่าย ทำงานจนลืมวันเวลา ลืมว่าพี่ชาจะไปเรียน เพื่อนชาจะไปเรียน
ชาไม่ได้คิดว่าตัวเองจัดการเวลาแย่นะ แต่ก็จริงที่ว่าเราต้องเฉลี่ยให้ได้ ลำดับความสำคัญให้ถูก ตอนนั้นเราก็ทำให้เต็มที่ที่สุดแล้ว มองย้อนกลับไปก็ไม่ได้เสียใจ เพราะทุกคนก็คงมีสักช่วงที่จัดการชีวิตตัวเองได้ไม่ดี แต่สุดท้ายเราก็ผ่านมาได้
นักแสดงเด็กหลายคนไม่อยากไปต่อในเส้นทางบันเทิง แต่ชาร์เลทดูจะไม่ใช่หนึ่งในนั้น คุณติดใจอะไรในวงการนี้?
ที่ชายังอยู่ตรงนี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะในวงการบันเทิงยังมีอะไรที่หลากหลายมากกว่าแค่การแสดง มีตำแหน่งเบื้องหลังและหน้าที่อีกมากที่ชาสนใจ ทุกวันนี้ ชาเป็นนักแสดง ก็พอรู้ศาสตร์ด้านนี้อยู่บ้าง อาจจะไม่เยอะ ไม่ครบถ้วน แต่ก็คือสิ่งที่ทำเป็นประจำ แต่ก็แปลว่ายังมีอีกหลายหน้าที่ที่ชายังไม่เคยลอง มันคงเป็นความท้าทายของชามั้งคะที่อยากจะลองในหน้าที่อื่นๆ อีก คงเป็นแพสชั่นที่ทำให้ชายังอยากอยู่ในวงการนี้ต่อไป
อยู่มาแล้ว 15 ปี คิดว่าวงการบันเทิงน่ากลัวมั้ย?
อุ๊ยตายแล้ว คำถามดราม่า (หัวเราะ) มันมีทั้งด้านดีและไม่ดีค่ะ แน่นอนอยู่แล้ว ถ้าเปรียบง่ายๆ วงการบันเทิงก็เหมือนโรงเรียน สังคมโรงเรียนก็มีทั้งเด็กที่เรียนเก่งมากๆ เด็กที่เรียนไม่เก่ง มีวิชามากมาย มีสังคมหลายแบบ ซึ่งความต้องการของคนในโรงเรียนนี้ ในวงการนี้ก็แตกต่างกัน บางคนศิลปะก็ศิลปะเลย บางคนเพื่อเลี้ยงชีพก็เลือกเลี้ยงชีพด้วยอาชีพนี้ หรือบางคนที่ต้องการมีชื่อเสียง อยากประสบความสำเร็จ ก็จะไปอีกทางหนึ่ง แล้วแต่ว่าอยากมุ่งไปในทิศทางไหน แต่ในบางครั้ง วงการนี้ก็มีการแข่งขันด้วยเหมือนกัน
การรับบทในซีรีส์ Delete ท้าทายความสามารถของชาร์เลทยังไงบ้าง?
Delete น่าจะเป็นเรื่องที่เข้มข้นที่สุดในชีวิตของชาเลยค่ะ ด้วยความที่เป็นซีรีส์เรื่องแรกด้วย แถมยังเป็นผลงานของ Netflix ร่วมกับ GDH ด้วย ก็เลยตื่นเต้นและกดดันมากๆ ตอนแรกชาคิดว่า ตัวเองเตรียมตัวดีแล้ว ซ้อมมาเพอร์เฟ็กต์แล้ว แต่สุดท้ายกลายเป็นคำว่าเพอร์เฟกต์ฆ่าชาเอง ชาอ่านทุกตัวอักษรตั้งแต่ตัวแรกยันตัวสุดท้ายจนจำได้ขึ้นใจ รู้หมดว่าเดี๋ยวกล้องจะแพนมาตรงนี้ คนต่อไปจะพูดว่าอะไร รู้ทุกอย่างจนไม่ได้ความสดใหม่ของตัวละคร
สมมติเราพูดอะไรบางอย่าง เขาตอบกลับมา แล้วเราต้องอึ้ง กลายเป็นว่าชาไม่อึ้งแล้ว เพราะชารู้อยู่แล้ว พูดง่ายๆ คือชาเตรียมตัวมากเกินไป สุดท้ายเลยได้เข้าใจว่า บางครั้งเราก็ต้องปล่อยให้ตัวเองได้มีพื้นที่ในการไหลไปกับการแสดง อย่าเพิ่งเตรียมทุกอย่าง 100% คือเตรียมนะ แต่ก็ต้องเปิดใจรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ยังมีความเป็นธรรมชาติ ก็เป็นอย่างหนึ่งที่ Delete สอนให้ชาเข้าใจอะไรมากขึ้น
รู้สึกยังไงบ้างที่ได้ร่วมงานกับ GDH Netflix รวมถึงพี่ๆ นักแสดงในซีรีส์เรื่องนี้?
ต้องบอกว่า Delete มีโปรดักชั่นที่มืออาชีพมากๆ ทุกคนน่าจะรู้ชื่อเสียงของทั้ง GDH และ Netflix อยู่แล้ว และการได้ร่วมงานกับผู้กำกับอย่างพี่โอ๋—ภาคภูมิ วงศ์ภูมิ ที่ผ่านงานอย่างชัตเตอร์ฯ มาก็ง่ายและสนุกมาก เขาให้พื้นที่กับเราในการออกแบบตัวละคร เคารพความคิดเห็นของเรา ที่สำคัญคือนักแสดงทุกคนเต็มที่มาก ทีมงานทุกฝ่ายด้วย ทำให้พอเราได้เป็นส่วนหนึ่งของผลงานซึ่งทุกคนเต็มที่ขนาดนี้ มันก็รู้สึกเป็นเกียรติและดีใจมากจริงๆ ก็อยากให้ทุกคนได้รับชมกันค่ะ (ยิ้ม)